๓ ข้าหลวงต่างพระองค์ ที่ ร.๕ วางพระราชหฤทัย มอบให้ดูแลบ้านเมือง ‘ต่างพระเนตร-พระกรรณ’

ตอนที่ผมกำลังเขียนบทความเรื่องนี้ ผมกลับมาอยู่บ้านในภาคอีสานพร้อมกับตระเวนไปตามจังหวัดใกล้เคียงบ้านเกิดของผม ซึ่งในอีสานจะมีถนนและสถานที่รำลึกถึงข้าหลวงต่างพระองค์อยู่หลายแห่ง อาทิ หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี ถนนสรรพสิทธิ์ จ.นครราชสีมา หรืออย่าง ถนนพิชิตรังสรรค์ จ.อุบลราชธานี ข้าหลวงต่างพระองค์คือตำแหน่งอะไร สำคัญอย่างไร แล้วมีกี่ท่านที่นับได้ว่าเป็น ‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ 

‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ นั้นเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าข้าหลวงปกติ ข้าหลวงเทศาภิบาลหรือสมุหเทศาภิบาล เพราะคำว่า ‘ต่างพระองค์’ มีความหมายว่าเป็นตัวแทนดูแลราษฎรและพื้นที่ ‘ต่างพระเนตรพระกรรณ’ และมีฐานะเป็น ‘ผู้สำเร็จราชการ’ ตีความได้รับมอบความสำเร็จเด็ดขาดมาจากองค์พระเจ้าแผ่นดิน เพื่อดูแลทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร ตำแหน่ง ‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ เท่าที่ปรากฏ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีทั้งสิ้น 3 พระองค์ คือ… 

๑.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร 
๒.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
และ ๓.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม 

ซึ่งพระประวัติและพระกรณียกิจของทั้ง ๓ พระองค์ผมจะนำเรื่องที่น่าสนใจมาเล่าโดยสังเขปดังนี้นะครับ

๑.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นพระเจ้าลูกยาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพึ่ง มีพระนามเดิมว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล’ เป็นต้นราชสกุล ‘คัคณางค์’ ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๕ เป็นหนึ่งในพระเจ้าน้องยาเธอที่ ‘เก่ง’ ทั้งทางการปกครอง ทางกฎหมาย และการประพันธ์ ทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกา พระองค์แรก มีหนังสือหลายเล่มโจมตีในหลวงรัชกาลที่ ๕ ว่าทรงกริ้ว จึงทรงให้ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ไปดูแลพื้นที่ห่างไกล แต่ถ้าหากมองจากบริบทของการปกครองแบบรวมศูนย์ในยุคนั้น การให้เชื้อพระวงศ์ระดับสูงไปดูแลภูมิภาคต่างๆ นั้นแสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างยิ่ง โดยกรมหลวงพิชิตปรีชากรนั้นได้ไปดูแลภูมิภาค ‘ต่างพระเนตรพระกรรณ’ อยู่หลายแห่ง เริ่มต้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ พระองค์ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็น ‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ ไปรักษาเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับปรับปรุงการศาลต่างประเทศ และจัดระเบียบการปกครองภาคเหนือใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ‘ข้าหลวงใหญ่’ หัวเมืองลาวกาว ประจำอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ ทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองทางภาคอีสาน ประมาณ ๒๐ หัวเมือง โดยขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้รวมเป็นมณฑล 

ต้องบอกว่าพระองค์มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านชายแดนลาว และกัมพูชาเป็นอย่างดี คือเรียกว่า เสด็จ ฯ ไปทั่วทุกพื้นที่ในหัวเมือง นอกจากนี้พระองค์ยังมีความชำนาญด้านภาษาอังกฤษ มีความเชี่ยวชาญด้านยาทรงเป็นคนไทยคนแรกที่คิดประดิษฐ์ปรุงยาไทยผสมกับยาต่างประเทศ เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้พิพากษาฝ่ายไทยร่วมกันพิจารณาคดีความร่วมกับฝรั่งเศส ในกรณี ‘พระยอดเมืองขวาง’ ก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ‘เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม’ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ สิริพระชันษาได้ ๕๔ ปีโดยการเป็น ‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ ของพระองค์นั้นคือการดำเนินการปรับระบบการปกครองและระบบการพิจารณาคดีความให้เป็นเนื้อเดียวกันกับกรุงเทพฯ เป็นหลัก 

๒.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพึ่ง เช่นเดียวกับ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มีพระนามเดิมว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช’ เป็นต้นราชสกุล ‘ชุมพล’ ทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งแรกทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกาและศาลแพ่งก่อนจะดำรงตำแหน่งอธิบดีในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ จนกระทั้งในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้นตามหัวเมืองทางตะวันออก ตั้งแต่เมืองนครราชสีมาลงไปจนถึงเมืองปราจีนฯ เจ้าเมือง กรมการเมือง ไม่สามารถที่จะปราบปรามให้สงบเรียบร้อยลงได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงพิเศษเสด็จขึ้นไปทรงบัญชาการปราบปรามโจรผู้ร้ายที่เมืองนครราชสีมา ซึ่งก็ทรงสามารถทำได้เป็นผลดีตามพระราชประสงค์ก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นข้าหลวงใหญ่เมืองนครราชสีมาจนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการว่างลง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ แต่ก็ได้ทรงดำรงตำแหน่งใหม่นี้อยู่ได้ไม่นานนัก ก็เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ จำเป็นต้องมี ‘ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ’ ไปดูแลพื้นที่มณฑลลาวกาว
และมณฑลอุดร กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้รับราชการสนอง พระเดชพระคุณในตำแหน่งข้าหลวงต่างประเทศสำเร็จราชการมณฑลลาวกาวอยู่เป็นเวลานานถึง ๑๗ ปี โดยประทับและตั้งกองบัญชาการข้าหลวงอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี 

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงปรับปรุง พัฒนามณฑลลาวกาว ซึ่งต่อมาคือ มณฑลอีสาน อย่างต่อเนื่อง ปรับรูปแบบ การปกครอง จากตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง ตำแหน่งอุปฮาดเป็นปลัดเมือง ฯลฯ จัดตั้งกองทหารในเมืองอุบลราชธานี เรียกคนเข้ารับราชการเป็นตำรวจ พ.ศ.๒๔๕๑ ทรงตั้งศาลยุติธรรมขึ้นที่เมืองอุบลราชธานี มีฐานะเป็นศาลเมืองอุบลราชธานี และศาลมณฑลอีสานอีกด้วย  โดยเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเป็นข้าหลวงต่างพระองค์นั้นก็คือ ‘การปราบกบฏผีบุญ’ โดยเริ่มต้นจาก โนนโพขององค์มั่นก่อนจะดำเนินการอย่างราบคาบเรียบร้อย ซึ่งมีนักเขียนหลายสำนักโจมตีเรื่องการปราบผีบุญนี้ว่าเป็นการปราบที่โหดร้ายป่าเถื่อน แต่เอาเข้าจริงๆ บริบทของยุคสมัยที่กบฏผีบุญกลายเป็นลัทธิแห่งความขี้เกียจ การมั่วสุมไม่ทำงาน ผิดลูกผิดเมีย และชิงเอาของชาวบ้านดื้อๆ ไม่ผิดกับโจร ไม่ปราบ ก็ไม่รู้จะปล่อยไว้ทำขี้เกลืออะไร? จนมาถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้เสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ และทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ พระชันษาได้ ๖๕ ปี

๓.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ เป็นต้นราชสกุล ‘ทองใหญ่’ มีพระนามเดิมว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่’ เพราะในวันประสูติมีผู้นำทองคำก้อนใหญ่ ซึ่งขุดได้ที่ตำบลบางสะพานในเวลานั้นได้เข้ามาทูลเกล้าฯ ร.๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ “ข้าหลวงหัวเมืองลาวพวน” รับผิดชอบเมืองใหญ่ ๑๓ เมือง เมืองขึ้น ๓๖ เมือง ในขณะนั้นฝรั่งเศสต้องการจะแบ่งดินแดนที่เคยเป็นของเวียดนาม ก็ต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย ทั้งได้ส่งเรือรบเข้าปิดล้อมอ่าวไทย บีบบังคับให้สยามลงนามในสนธิสัญญายอมรับสิทธิของฝรั่งเศสเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและให้ถอยกองกำลังทหารห่างจากชายแดนในรัศมี ๒๕ กิโลเมตร ภายในระยะเวลา ๑ เดือน ด้วยเหตุนี้เอง กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวน จึงต้องย้ายที่บัญชาการจากที่ตั้งอยู่ ณ เมืองหนองคาย ลงมาทางใต้จนถึง ‘บ้านเดื่อหมากแข้ง’ ในวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๖ ด้วยชัยภูมิเหมาะสม อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ เหมาะแก่การตั้งกองบัญชาการใหม่ จึงทรงทำหนังสือกราบฯ ทูลไปยังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงให้ได้ทรงทราบ ซึ่งทรงได้รับความเห็นชอบที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนแห่งใหม่นี้ซึ่งก็คือ ‘เมืองอุดรธานี’ ในปัจจุบันนี้เอง

เมื่อทรงจัดราชการบ้านเมืองมณฑลลาวพวน และวางระเบียบการปกครองหัวเมืองชายแดนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ มาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและผู้บังคับบัญชาการทหารเรือ ถึงตรงนี้แม้ว่ากรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจะมีความดีความชอบ แต่ก็มีเหตุให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ‘ปัพพานียกรรม’ จาก ‘คดีพญาระกา’ (เอาไว้จะมาเขียนเล่าให้อ่านนะครับ) ขับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม และพระโอรส - พระธิดาออกจากพระราชสำนัก ห้ามไม่ให้เข้าเฝ้าในที่รโหฐาน นอกจากท้องพระโรงหรือในที่มีผู้เฝ้าอยู่มากเท่านั้น ห้าม “หม่อมเจ้าไศลทอง ทองใหญ่” เข้าในเขตพระราชฐาน และห้ามหม่อมเจ้าหญิงชายอื่นๆ ในกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ขึ้นสู่พระราชมณเฑียร ตั้งแต่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๓ จนตลอดรัชกาลก็มิได้พ้นพระราชอาญา จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต แต่ในรัชกาลที่ ๖ ก็มิได้โปรดฯ ให้ทำราชการใดเป็นการสำคัญอีก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ สิริพระชันษาได้ ๖๘ ปี

นี่คือประวัติของ ‘ข้าหลวงต่างพระองค์’ ทั้ง ๓ พระองค์ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น เพราะสยามกำลังปรับปรุงรูปแบบการปกครองให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จากการครอบงำโดยขุนนาง ก็มาปรับเปลี่ยนใช้เจ้านายที่สนิทชิดเชื้อ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาควบคุม ดูแล สร้างความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นกับประเทศ เพื่อทานกระแสอันเชี่ยวกรากจากบรรดาจักรวรรดินิยมที่บุกเข้ามาในทุกทิศ ทุกทาง ณ เวลานั้น ซึ่งทุกวันนี้เมื่อผมได้เดินผ่านถนน หรือสถานที่นั้นๆ แล้วย้อนระลึกถึงคุณงามความดีที่บรรดาข้าหลวงพระองค์ต่างๆ ได้ทรงประกอบกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่สยาม จนตกทอดมาถึงทุกวันนี้ ก็ได้แต่ยกมือขึ้นท่วมหัวแล้วกราบความดีงามนั้นอย่างหมดหัวใจ


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager