กล่าวหา ‘รัชกาลที่ 9’ ทราบแผนรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

กรณีการกล่าวว่า ‘ในหลวงทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ ของ ณัฐพล ใจจริง
ประเด็นสำคัญอีกประเด็น คือ

‘ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’

ซึ่งณัฐพล กล่าวว่า “โดยหนังสือพิมพ์ไทยร่วมสมัยได้พาดหัวข่าวขณะนั้นว่า ‘ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว’ ทั้งนี้ พล ท.กาจ กาจสงครามให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้พระองค์ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร”

โดย ณัฐพล อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พวกเราต้องการบอกทุกท่านเป็นอย่างแรกคือ จะเป็นไปได้อย่างไรที่หนังสือพิมพ์เอกราชจะลงข่าวในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ.1947) ?

เนื่องจากว่า “หนังสือพิมพ์เอกราชถือกำเนิดขึ้นโดยโรงพิมพ์เอกราชได้ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2500”!

กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งปี พ.ศ. 2500 จะนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปลงข่าว 10 ปีที่แล้วก่อนการก่อตั้งได้อย่างไร!? 

(ดูประวัติการก่อตั้งจาก พัชราภรณ์ ครุฑเมือง, การดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เอกราช ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม วิทยานิพนธ์นิเทศนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวารสารสนเทศ ภาควิชาสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552) 

มิหนำซ้ำ เรายังรู้สึกแปลกใจที่ ณัฐพล ใช้ปี ค.ศ. 1947 ในการระบุปี ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เขากลับใช้ พ.ศ. ทั้งหมด 

ดังนั้น การอ้างถึง ‘หนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947’ ของ ณัฐพลจึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีที่มาจากไหนกันแน่ ?  

เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่เคยปรากฏหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นในบรรณพิภพในเวลานั้น ประกอบทั้งการใช้ปี ค.ศ. ที่ไม่ปรากฏความต่อเนื่องสม่ำเสมอ (consistency) กับการเขียนวิทยานิพนธ์ในส่วนอื่น ๆ ของ ณัฐพล

เราจึงสงสัยว่าณัฐพลเอาข้อมูลในส่วนนี้มาจากไหนกันแน่ ? 
หรือถ้ามีจริงทำไมเขาไม่อ้างจากหลักฐานชั้นต้นเช่นในจุดอื่น ๆ ?  

นอกจากนี้ ก่อนการรัฐประหาร 2490 บรรยากาศขณะนั้นก็เป็นที่รับรู้ทั่วไป ดังปรากฏข่าวลือว่าจะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแน่ ๆ ไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง 

เนื่องจากสถานภาพของรัฐบาลปรีดี-หลวงธำรงฯ นั้นง่อนแง่นเต็มที่ ประชาชนไม่ให้ความเชื่อถือเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลที่คอร์รัปชันอย่างรุนแรง 

กระแสการรัฐประหารนั้นรุนแรงกระทั่งว่า หลวงธำรงฯ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นถึงกับให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า ‘นอนรอคอยอยู่ที่บ้านก็ไม่เห็นมีปฏิวัติ’

ดังนั้น ไม่ว่าจะใครก็ตามในประเทศไทยหรือนอกประเทศในเวลานั้นก็ย่อมต้องคุ้นเคยกับข่าวรัฐประหารอยู่แล้ว เพราะข่าวนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปไม่ใช่แค่เฉพาะในแวดวงชนชั้นสูง

เมื่อประมวลทั้งหมดแล้ว เราจึงขอถามกลับไปยัง ณัฐพล ว่า ในหนังสือขุนศึกฯ ที่เขาได้ตัดประเด็นทั้งส่วนทั้งสองนี้ออกไป ย่อมแสดงว่าณัฐพลรู้อยู่แก่ใจใช่หรือไม่ว่าไม่มีน้ำหนักใช่หรือไม่ ? 

ทั้งในประเด็นแรกที่ณัฐพลเชื่ออย่างสนิทใจว่า ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร’

ซึ่งหากณัฐพลต้องการจะให้น้ำหนักแก่สมมติฐานพวกเจ้าสนับสนุนการรัฐประหาร เขาก็ต้องคงเนื้อหาในส่วนนี้ไว้ เพราะได้จะสอดคล้องกับการให้ภาพที่ชัดขึ้นของพวกฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนคณะรัฐประหารโดยดุษฎี (ไม่ใช่มาพบความจริงตอนหลังว่าไม่ได้สนับสนุนแต่ต้น แต่เพราะถูกคณะรัฐประหารใช้ปืนจี้บังคับให้เซนแบบกรมขุนชัยนาทฯ เช่นที่พวกเราได้นำเสนอไปแล้ว) 

อีกทั้งในประเด็นหนังสือพิมพ์เอกราชที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2500 ซึ่งสามารถสาวโยงถึงในหลวงได้โดยตรง แต่ ณัฐพล ก็กลับตัดข้อเสนอสำคัญนี้ทิ้งเสียอย่างน่าแปลกใจ

อย่างไรก็ดี พวกเรามีความกังวลใจว่า สิ่งที่ณัฐพลกระทำไว้ในวิทยานิพนธ์นั้นได้แผ่ขยายออกไปไกลจนมีการอ้างอิงในวิกิพีเดียไปเสียแล้ว ควรบันทึกไว้ด้วยว่าไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลในประเด็นสมเด็จย่าสนับสนุนการัรฐประหารนี้ในวิกิพีเดียได้เลยจนบัดนี้ 

เพราะหากเมื่อทำการแก้ไขทีไร ก็มักจะมี ‘มือที่มองไม่เห็น’ แก้กลับให้เป็นข้อมูลของณัฐพลทุกครั้ง 
เราหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าการกระทำของพวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ในครั้งนี้ จะทำให้ทุก ๆ ท่านได้เห็นถึงการใช้หลักฐานและการพิจารณาบริบทแวดล้อมที่รายล้อมอยู่มากขึ้น 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียนข้อมูลวิชาการในฐานะผู้ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดที่ปรากฏขึ้นนี้ด้วย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม


ที่มา: ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย