‘คูดักรถถัง’ ยุทธศาสตร์ที่ ‘กองทัพไทย’ ผุด!! หวังป้องลัทธิคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา


ส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาติไทยและมีส่วนช่วยให้คนไทยรอดพ้นจากภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็คือ ‘คูคลองยุทธศาสตร์’ (ชายแดนไทย-กัมพูชา) และต่อมาได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับพี่น้องคนไทยที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาจนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ที่คนไทยที่โตและเกิดไม่ทันยุคที่กองทัพไทยต้องเผชิญหน้ากับกองทัพเวียดนามในกัมพูชา ภายหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม ลาว และกัมพูชาเรืองอำนาจโดยสามารถเอาชนะรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนได้ และแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการรคุกคามต่ออธิปไตยของไทย เป็นเรื่องราวที่ตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นของไทยที่จะต้องมีกองทัพแห่งชาติที่เข้มแข็งและมีอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยในการป้องกันเอกราชและอธิปไตยของชาติ 


ที่มาของ ‘คูคลองยุทธศาสตร์’ เกิดจากเหตุปะทะชายแดนไทย-เวียดนาม เมื่อกำลังทหารเวียดนามบุกเข้ากัมพูชาในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เพื่อล้มล้างระบอบเขมรแดง กำลังทหารกัมพูชาส่วนใหญ่ได้อพยพมาอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศที่ติดกับชายแดนไทย โดยมีกลุ่มชาวกัมพูชาที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1.) กลุ่มกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) หรือกลุ่มเขมรแดงของ พล พต และเขียว สัมพันธ์ มีสมาชิกประมาณ 40,000 คน มีฐานที่ตั้งอยู่บริเวณพนมกระวันและบริเวณตะวันตกของจังหวัดพระตะบอง
2.) กลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติของประชาชนเขมร (Khmer People’s National Liberation Front - KPNLE) ภายใต้การนำของซอนซาน มีสมาชิกประมาณ 4,000 คน 
3.) กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติเพื่อเอกราช ความเป็นกลาง และสันติภาพในกัมพูชา (Front d"union national pour un Cambodge independant, pacifiaue et cooperatif - FUNCINPEC) ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม สีหนุ 


การที่กลุ่มต่อต้านทั้ง 3 กลุ่มนี้มีฐานกองกำลังใกล้กับชายแดนไทยเพื่อเป็นง่ายต่อการหลบหนีเมื่อกำลังเวียดนามบุกเข้ามา กำลังกัมพูชาก็หลบหลีกเข้าสู่ดินแดนไทย ในการนี้เวียดนามเห็นว่า ไทยนั้นยินยอมให้กัมพูชาฝ่ายต่อต้านใช้พื้นที่เป็นที่หลบหนีและคุ้มกันการโจมตีของกำลังเวียดนามและกำลังของเฮงสัมริน


โดยปฏิบัติการที่สำคัญเกิดขึ้นระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเวียดนาม มีดังนี้

- การโจมตีบ้านโนนหมากมุ่น อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2523 เวียดนามได้ส่งกองกำลังมากกว่า 2 กองร้อยล้ำเข้ามาในดินแดนไทยเข้าโจมตี การปะทะกันดังกล่าวก่อให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายทังสองฝ่าย
- ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2524 กองทัพเวียดนามและกำลังของของเฮง สัมริน ล่วงเข้าดินแดนไทยลึก 500 เมตร ที่หมู่บ้านสะแดง อำเภอตราพระยา จังหวัดปราจีนบุรี และได้ปะทะกับทหารไทย ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 1 นาย และเมื่อวันที่ 3 มกราคม มีการยิงกระสุนอาวุธหนักเข้ามาในเขตไทย ทำให้เจ้าหน้าที่และราษฎรของไทยเสียชีวิตรวม 10 คน
- กองทัพเวียดนามและกองกำลังของเฮง สัมริน ได้บุกเข้ามาในเขนไทยที่บ้านซับสารี ตำบลปะดง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 17 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2525 และได้ปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 นาย และตลอดทั้งปีได้มีการลุกล้ำเข้ามาในเขตอธิปไตยของไทยหลายครั้ง
- เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2526 เวียดนามได้ส่งกำลังโจมตีค่ายอพยพชาวกัมพูชาที่ตรงข้ามบ้านหนองจาน อำเภอตราพระยา จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้เผาทำลายที่พักอาศัยและโรงพยาบาลจนหมดสิ้น มีชาวกัมพูชาบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ชาวกัมพูชาประมาณ 23, 000 คน ได้หลบหนีเข้ามาในอธิปไตยของไทย เวียดนามยังได้ยิงกระสุนปืนใหญ่เข้ามาตกในดินแดนไทยหลายสิบนัด เป็นผลให้ราษฎรไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และบ้านเรือนได้รับความเสียหาย
- ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2526 กำลังทหารเวียดนาม 1 กองพล สนับสนุนด้วยปืนใหญ่และรถถัง ได้เข้าโจมตีชาวกัมพูชาที่จังกาโก เขาพนมฉัตร และค่ายผู้อพยพตรงข้ามบ้านโคกทหาร ทำให้ชาวกัมพูชาเสียชีวิตหลายคน ที่พักและโรงพยาบาลถูกเผา และมีชาวกัมพูชาประมาณ 20,000 คน อพยพเข้าสู่เขตไทย


- วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 เวียดนามได้ส่งกองกำลังเข้าโจมตีค่ายผู้อพยพของกัมพูชา ตรงข้ามกับหมู่บ้านสำโรงเกียรติ อำเภอขุนหาร จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้ชาวกำพูชาหลายหมื่นคนได้อพยพเข้าสู่ดินแดนไทย และกองกำลังเวียดนาม 1 กองพันได้บุกรุกเข้าสู่ดินแดนไทยทางช่องเขาพระพะลัยและได้ปะทะกับทหารไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
- ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2527 เวียดนามได้ส่งกองกำลังพร้อมด้วยปืนใหญ่ และรถถังเข้าโจมตีค่ายอพยพกัมพูชาที่หมู่บ้านตาตูม ค่ายผู้อพยพอัมปิล และค่ายผู้อพยพบ้านสุขสันต์ ทำให้มีชาวกัมพูชาประมาณ 80,000 คน อพยพเข้าสู่เขตไทย
- ช่วงปลายปี 2527 ถึงต้นปี 2528 ทหารเวียดนามได้เข้าโจมตีชุมนุมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายซอนซานตลอดแนวชายแดนไทย โดยสามารถยึดชุมนุมเหล่านี้ได้หมด ทำให้ชาวกัมพูชาได้อพยพเข้ามาในเขตไทยรวม 160,000 คน
- วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ทหารเวียดนามได้เข้าโจมตีที่ตั้งหมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ 239 บ้านตระเวง อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ทำให้เจ้าหน้าไทยเสียชีวิต 18 นาย บาดเจ็บ 34 นาย
- ในปีเดียวกัน ทหารของเวียดนามได้โจมตีค่ายอพยพที่บ้านหนองจาน และมีการปะทะกันทางทหารรัฐบาลผสม 3 ฝ่าย ติดต่อกันหลายวัน ทำให้ผู้อพยพชาวกัมพูชาได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์รวม 62 คน เสียชีวิต 6 คน ค่ายผู่อพยพถูกทำลายเสียหาย และส่งผลให้ผู้อพยพจำนวน 22,262 คน ได้อพยพเข้ามาในเขตไทย
- ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ทหารเวียดนามได้ระดมกำลังโจมตีชุมนุมชาวกัมพูชาซึ่งเป็นกลุ่มเขมรแดง ทำให้ชาวกัมพูชาประมาณ 60,000 คน ได้หลบหนีเข้ามายังเขตไทยในช่วงเดือนกุมพาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม เวียดนามได้ปฏิบัติการอย่างรุนแรงที่สุด โดยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ทหารเวียดนามได้ยิงปืนใหญ่เข้ามายังเขตไทยที่เนิน 347 อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
- วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองทัพเวียดนามได้โจมตีฐานที่มันของไทยที่เนิน 361, 400 และ 427 โดยยึดพื้นที่บางส่วนของเนิน 361 ทหารไทยเสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 34 นาย และสูญหาย 3 นาย โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน กองกำลังเวียดนามประมาณ 100 คนได้ลุกล้ำเขตเขตไทยที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา 10 กิโลเมตร และจับกุมราษฎรไทย 62 คน ฆ่าตาย 11 คน และทหารไทยที่ส่งไปช่วยราษฎรดังกล่าวได้ปะทะกับกองกำลังเวียดนามทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 5 นาย
- ช่วงระหว่างวันที่ 5-10 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองกำลังเวียดนามได้ยิงปืนใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และรุกล้ำดินแดนไทย ในพื้นที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ทำให้ราษฎรไทยกว่า 7,500 คน ต้องหลบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยมีราษฎรเสียชีวิต 3 คน บ้านเรือนเสียหาย 40 หลัง และโรงเรียนเสียหาย 1 แห่ง
- วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองกำลังเวียดนามได้เข้าโจมตีฐานของเจ้านโรดม สีหนุในเขตกัมพูชา และรุกล้ำเข้ามาในเขตไทยในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีการปะทะกับทหารไทย ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 11 นาย บาดเจ็บ 68 นาย สูญหาย 3 นาย
- ช่วงปลายปี พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2529 ทหารเวียดนามได้เข้ามาวางระเบิดในเขตไทยหลายครั้ง ซึ่งเป็นผลให้ทหารและราษฎรไทยบาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากนี้ก็ยังมีการรุกล้ำเข้ามายังเขตไทยหลายครั้ง


เมื่อเปรียบเทียบกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว ขณะนั้นถือได้ว่ากองทัพไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้วนั้นถือได้ว่าเทียบกันไม่ติด เนื่องจากกองกำลังทางทหารของฝ่ายไทยไม่เคยผ่านการรบในลักษณะเต็มรูปแบบมาก่อน นอกจากการบภายในประเทศกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ซึ่งมีลักษณะเป็นการรบแบบจรยุทธ์หรือสงครามกองโจร หรือถ้าผ่านการรบก็เป็นการรบแบบสมัยใหม่มีแนวปฏิบัติในการรบแบบสหรัฐอเมริกา แตกต่างกับเวียดนาม โดยกองกำลังของเวียดนามมีทักษะในการรบที่ดีกว่า ทั้งการทำสงครามเต็มรูปแบบและวิธีการรบแบบกองโจร นอกจากนี้ทหารของเวียดนามก็ยังมีประสบการณ์รบจากสงครามเวียดนามอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ขณะที่เวียดนามบุกกัมพูชานั้นกองกำลังทางทหารของเวียดนามมีจำนวนราว 900,000 นาย โดยที่ยังไม่รวมกำลังทหารของฝ่ายเฮงสัมรินที่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ด้วยการรบแบบกองโจรและการรบตามแบบสมัยใหม่ ขณะที่ฝ่ายไทยนั้นมีประสบการณ์เพียงเรื่องการรบในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย และมีทหารบางหน่วยที่ผ่านสงครามในลาวและเวียดนาม ซึ่งชำนาญการรบตามหลักนิยมของสหรัฐอเมริกา ต้องอาศัยอำนาจการยิงที่เหนือกว่าจึงจะทำการรบได้ นอกจากนี้เวียดนามยังมีอาวุธของสหรัฐอเมริกาที่เหลือจากสงครามเวียดนามอยู่มาก รวมทั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2531 เวียดนามได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหภาพโซเวียตอีกเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัย และเพื่อการปราบปรามฝ่ายต่อต้านในการกัมพูชา กล่าวได้ว่า ไทยมีขีดความสามารถที่ด้อยกว่าเวียดนามอยู่มาก โดยนักวิชาการด้านการทหารตะวันตกประเมินว่า ขณะนั้นกองทัพเวียดนามน่าจะมีขีดสมรรถะทางทหารอยู่ในอันดับที่ 3-4 ของโลก ในขณะที่กองทัพไทยในขณะนั้นยังไม่ติด 20 อันดับแรกเลย ซ้ำร้ายยังถูกสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเชื่อว่าเป็นมหามิตรตัดความช่วยเหลือทางทหาร แม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์เหลือใช้จากสงครามเวียดนามจำนวนมากก็ไม่ยอมให้กองทัพไทยใช้ และได้ทำการขนย้ายไปเก็บยังฐานทัพอเมริกันในประเทศอื่น ๆ แทน 

(รถถังเวียดนามแบบ T-54 ในกรุงพนมเปญ)

หลังจากที่กองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินรบชนะกองทัพกัมพูชาสามารถบุกยึดกรุงพนมเปญ และดินแดนที่เขมรแดง (ซึ่งได้ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวกัมพูชานับล้าน) ไว้ได้เกือบทั้งหมด และมีความมุ่งหมายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของไทย โดยเคลื่อนกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะรถถังจำนวนมากมาประชิดชายแดนไทยด้านตะวันออก ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่าโปร่ง จึงทำให้กองทัพไทยต้องขุดคันคูยุทธศาสตร์ หรือ คูดักรถถัง ตลอดแนวชายแดน ไทย-กัมพูชา เพื่อป้องกันกำลังทหารเวียดนามและเฮงสัมรินด้วย หากไม่มีคูดักรถถังแล้วเมื่อเจอกำลังรถถังเวียดนามแบบ T-54 จากสหภาพโซเวียต ซึ่งมีสมรรถนะเหนือกว่าและมีจำนวนมากกว่ารถถังของกองทัพไทยทุกแบบที่มีอยู่รวมกันในขณะนั้น และมีแนวโน้มที่จะบุกข้ามชายแดนไทยในฤดูแล้งในปี พ.ศ. 2524 


ช่วงที่เกิดการสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารเวียดนามและทหารเวียดนามกับทหารกัมพูชากลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่แนวชายแดน กองทัพไทยได้ส่งกำลังทหารหลายกองพันไปตั้งรับยันกำลังทหารเขมรเฮงสังรินกับทหารเวียดนามไว้ตลอดแนวชายแดนไทย-เขมร โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนแถบอำเภอตาพระยากับอำเภออรัญประเทศ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบป่าโปร่งขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘ที่ราบฉนวนไทย’ ซึ่งมีความยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จนถึง สระแก้ว (ในปัจจุบัน) มีคำกล่าวโดยนายทหารระดับสูงของกองทัพเวียดนามว่า ถ้าหากทหารเวียดนามและทหารเขมรเฮงสัมรินสามารถยกทัพข้ามชายแดนไทยมาได้ จะใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้นก็มาถึงบริเวณชานเมืองของกรุงเทพฯ ได้อย่างสบาย 


(แนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังบางส่วนในปัจจุบัน)

ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงได้ขุดคันคูยุทธศาสตร์ หรือ คูดักรถถัง ยาวเหยียดตั้งแต่อำเภอตาพระยามาจนถึงอำเภออรัญประเทศ และแนวชายแดนในเขตจังหวัดจันทบุรีและตราดด้วย และมีการประจำการปืนใหญ่กับกำลังทหารไว้ตลอดแนวชายแดนของสองอำเภอนี้ ซึ่งจาก FB ของคุณ Sawat Boonmun ได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบของคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังว่า สิ่งกีดขวางแนวต้านทาน มี 3 ขั้น ขั้นแรกอยู่ติดเส้นเขตแดน ขั้นสองหน้าแนวคันคู และขั้น สามแนวคือคูเหลด โดยมีการบีบให้เข้าสู่พื้นปฏิบัติการ (สังหาร) ด้วย 


(แนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังบางส่วนในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ
สำหรับพี่น้องประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดน)

การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพไทยกับกองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินดำเนินต่อเนื่องเกือบสิบปีจนสิ้นสุดใน ปี พ.ศ. 2532 ด้วยกองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินไม่สามารถเอาชนะกองกำลังต่อต้านกลุ่มต่าง ๆ ในกัมพูชาเอง ทั้งยังถูกกดดันจากนานาประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลเวียดนามได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2534 และยอมถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากกัมพูชา และส่วนหนึ่งก็ด้วยนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า’ ของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ปัจจุบันแนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังที่มีอยู่บางส่วนก็ตื้นเขิน บางส่วนก็ได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับพี่น้องประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดนเพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภค และบริโภค จนทุกวันนี้


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล