Thursday, 9 May 2024
ชายแดนไทยกัมพูชา

กรมศุลฯ ดักจับแก๊งนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็ง มูลค่า 1.4 แสนบาท จำนวน 950 กก.

กรมศุลกากรจับกุมเนื้อสุกรแช่แข็งซุกซ่อนในรถกระบะ จำนวน 950 กิโลกรัม รวมมูลค่า 141,300 บาท บริเวณถนนป่าไร่-ดงงู ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดย นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา ด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย 

กรมศุลกากรจึงให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่าง ๆ เข้มงวดในการตรวจค้นจุดที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรเข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค พร้อมปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศอย่างต่อเนื่อง 

โดย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรอรัญประเทศได้รับแจ้งว่าจะมีการลักลอบนำเอาเนื้อสุกรที่ชำแหละแล้วจากฝั่งประเทศกัมพูชาเข้ามาในประเทศตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา ในพื้นที่ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจึงได้วางแผนจับกุม พบรถยนต์กระบะต้องสงสัย ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน บริเวณถนนป่าไร่-ดงงู ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ใกล้เทศบาลตำบลป่าไร่ และอยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 3 กิโลเมตร ผลการตรวจค้นพบเนื้อสุกรแช่แข็งบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก และจากการได้ตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่าเนื้อสุกรดังกล่าวเป็นเนื้อสุกรที่ลักลอบนำมาจากฝั่งประเทศกัมพูชาโดยที่ยังไม่ผ่านพิธีการทางด่านศุลกากร จำนวน 950 กิโลกรัม มูลค่า 141,300 บาท

‘สุทิน’ ลุยศรีสะเกษ ตรวจเยี่ยมค่ายสุรนารี-เปิดอนุสรณ์สถานพิทักษ์ไทย เล็งพัฒนาพื้นที่การค้า หวังกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนไทย-กัมพูชา

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 66 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของกำลังป้องกันชายแดน ในพื้นที่กองกำลังสุรนารี โดยมี พลตรี พรชัย มาหลิน รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2, พลตรี ณัฏฐ ศรีอินทร์ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี, นายอนุพงค์สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ, นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์, พันเอก จิรัฏฐ์ ช่วงฉ่ำ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี และผู้บังคับหน่วย พร้อมทั้งส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

โดย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปยังสนาม ฮ.ชั่วคราว โรงเรียนภูมิซรอลวิทยา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จากนั้น คณะเดินทางไปยังศาลาวัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการปฏิบัติงานของกองกำลังสุรนารี พร้อมทั้งตรวจภูมิประเทศบริเวณจุดตรวจการณ์ผามออีแดง ให้โอวาทและมอบสิ่งของบำรุงขวัญแก่กำลังพลของกองกำลังสุรนารี ที่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดนในพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด ‘อนุสรณ์สถานพิทักษ์ไทย’ ซึ่งกองกำลังสุรนารี จัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญของวีรชน ที่ได้เสียสละเลือดเนื้อ ในการรักษาประเทศชาติและอธิปไตย ณ ฐานปฏิบัติการฟ้าลั่น อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ต่อมา นายสุทิน และคณะ เดินทางไปยังจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของด่านศุลกากรช่องจอม พบปะประชาชนที่มาคอยต้อนรับ พร้อมทั้งรับฟังบรรยายสรุป การส่งเสริมการค้าชายแดนตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

‘คูดักรถถัง’ ยุทธศาสตร์ที่ ‘กองทัพไทย’ ผุด!! หวังป้องลัทธิคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา


ส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาติไทยและมีส่วนช่วยให้คนไทยรอดพ้นจากภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็คือ ‘คูคลองยุทธศาสตร์’ (ชายแดนไทย-กัมพูชา) และต่อมาได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับพี่น้องคนไทยที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาจนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ที่คนไทยที่โตและเกิดไม่ทันยุคที่กองทัพไทยต้องเผชิญหน้ากับกองทัพเวียดนามในกัมพูชา ภายหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม ลาว และกัมพูชาเรืองอำนาจโดยสามารถเอาชนะรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนได้ และแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการรคุกคามต่ออธิปไตยของไทย เป็นเรื่องราวที่ตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นของไทยที่จะต้องมีกองทัพแห่งชาติที่เข้มแข็งและมีอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยในการป้องกันเอกราชและอธิปไตยของชาติ 


ที่มาของ ‘คูคลองยุทธศาสตร์’ เกิดจากเหตุปะทะชายแดนไทย-เวียดนาม เมื่อกำลังทหารเวียดนามบุกเข้ากัมพูชาในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เพื่อล้มล้างระบอบเขมรแดง กำลังทหารกัมพูชาส่วนใหญ่ได้อพยพมาอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศที่ติดกับชายแดนไทย โดยมีกลุ่มชาวกัมพูชาที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1.) กลุ่มกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) หรือกลุ่มเขมรแดงของ พล พต และเขียว สัมพันธ์ มีสมาชิกประมาณ 40,000 คน มีฐานที่ตั้งอยู่บริเวณพนมกระวันและบริเวณตะวันตกของจังหวัดพระตะบอง
2.) กลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติของประชาชนเขมร (Khmer People’s National Liberation Front - KPNLE) ภายใต้การนำของซอนซาน มีสมาชิกประมาณ 4,000 คน 
3.) กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติเพื่อเอกราช ความเป็นกลาง และสันติภาพในกัมพูชา (Front d"union national pour un Cambodge independant, pacifiaue et cooperatif - FUNCINPEC) ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม สีหนุ 


การที่กลุ่มต่อต้านทั้ง 3 กลุ่มนี้มีฐานกองกำลังใกล้กับชายแดนไทยเพื่อเป็นง่ายต่อการหลบหนีเมื่อกำลังเวียดนามบุกเข้ามา กำลังกัมพูชาก็หลบหลีกเข้าสู่ดินแดนไทย ในการนี้เวียดนามเห็นว่า ไทยนั้นยินยอมให้กัมพูชาฝ่ายต่อต้านใช้พื้นที่เป็นที่หลบหนีและคุ้มกันการโจมตีของกำลังเวียดนามและกำลังของเฮงสัมริน


โดยปฏิบัติการที่สำคัญเกิดขึ้นระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเวียดนาม มีดังนี้

- การโจมตีบ้านโนนหมากมุ่น อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2523 เวียดนามได้ส่งกองกำลังมากกว่า 2 กองร้อยล้ำเข้ามาในดินแดนไทยเข้าโจมตี การปะทะกันดังกล่าวก่อให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายทังสองฝ่าย
- ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2524 กองทัพเวียดนามและกำลังของของเฮง สัมริน ล่วงเข้าดินแดนไทยลึก 500 เมตร ที่หมู่บ้านสะแดง อำเภอตราพระยา จังหวัดปราจีนบุรี และได้ปะทะกับทหารไทย ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 1 นาย และเมื่อวันที่ 3 มกราคม มีการยิงกระสุนอาวุธหนักเข้ามาในเขตไทย ทำให้เจ้าหน้าที่และราษฎรของไทยเสียชีวิตรวม 10 คน
- กองทัพเวียดนามและกองกำลังของเฮง สัมริน ได้บุกเข้ามาในเขนไทยที่บ้านซับสารี ตำบลปะดง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 17 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2525 และได้ปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 นาย และตลอดทั้งปีได้มีการลุกล้ำเข้ามาในเขตอธิปไตยของไทยหลายครั้ง
- เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2526 เวียดนามได้ส่งกำลังโจมตีค่ายอพยพชาวกัมพูชาที่ตรงข้ามบ้านหนองจาน อำเภอตราพระยา จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้เผาทำลายที่พักอาศัยและโรงพยาบาลจนหมดสิ้น มีชาวกัมพูชาบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ชาวกัมพูชาประมาณ 23, 000 คน ได้หลบหนีเข้ามาในอธิปไตยของไทย เวียดนามยังได้ยิงกระสุนปืนใหญ่เข้ามาตกในดินแดนไทยหลายสิบนัด เป็นผลให้ราษฎรไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และบ้านเรือนได้รับความเสียหาย
- ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2526 กำลังทหารเวียดนาม 1 กองพล สนับสนุนด้วยปืนใหญ่และรถถัง ได้เข้าโจมตีชาวกัมพูชาที่จังกาโก เขาพนมฉัตร และค่ายผู้อพยพตรงข้ามบ้านโคกทหาร ทำให้ชาวกัมพูชาเสียชีวิตหลายคน ที่พักและโรงพยาบาลถูกเผา และมีชาวกัมพูชาประมาณ 20,000 คน อพยพเข้าสู่เขตไทย


- วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 เวียดนามได้ส่งกองกำลังเข้าโจมตีค่ายผู้อพยพของกัมพูชา ตรงข้ามกับหมู่บ้านสำโรงเกียรติ อำเภอขุนหาร จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้ชาวกำพูชาหลายหมื่นคนได้อพยพเข้าสู่ดินแดนไทย และกองกำลังเวียดนาม 1 กองพันได้บุกรุกเข้าสู่ดินแดนไทยทางช่องเขาพระพะลัยและได้ปะทะกับทหารไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
- ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2527 เวียดนามได้ส่งกองกำลังพร้อมด้วยปืนใหญ่ และรถถังเข้าโจมตีค่ายอพยพกัมพูชาที่หมู่บ้านตาตูม ค่ายผู้อพยพอัมปิล และค่ายผู้อพยพบ้านสุขสันต์ ทำให้มีชาวกัมพูชาประมาณ 80,000 คน อพยพเข้าสู่เขตไทย
- ช่วงปลายปี 2527 ถึงต้นปี 2528 ทหารเวียดนามได้เข้าโจมตีชุมนุมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายซอนซานตลอดแนวชายแดนไทย โดยสามารถยึดชุมนุมเหล่านี้ได้หมด ทำให้ชาวกัมพูชาได้อพยพเข้ามาในเขตไทยรวม 160,000 คน
- วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ทหารเวียดนามได้เข้าโจมตีที่ตั้งหมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ 239 บ้านตระเวง อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ทำให้เจ้าหน้าไทยเสียชีวิต 18 นาย บาดเจ็บ 34 นาย
- ในปีเดียวกัน ทหารของเวียดนามได้โจมตีค่ายอพยพที่บ้านหนองจาน และมีการปะทะกันทางทหารรัฐบาลผสม 3 ฝ่าย ติดต่อกันหลายวัน ทำให้ผู้อพยพชาวกัมพูชาได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์รวม 62 คน เสียชีวิต 6 คน ค่ายผู่อพยพถูกทำลายเสียหาย และส่งผลให้ผู้อพยพจำนวน 22,262 คน ได้อพยพเข้ามาในเขตไทย
- ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ทหารเวียดนามได้ระดมกำลังโจมตีชุมนุมชาวกัมพูชาซึ่งเป็นกลุ่มเขมรแดง ทำให้ชาวกัมพูชาประมาณ 60,000 คน ได้หลบหนีเข้ามายังเขตไทยในช่วงเดือนกุมพาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม เวียดนามได้ปฏิบัติการอย่างรุนแรงที่สุด โดยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ทหารเวียดนามได้ยิงปืนใหญ่เข้ามายังเขตไทยที่เนิน 347 อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
- วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองทัพเวียดนามได้โจมตีฐานที่มันของไทยที่เนิน 361, 400 และ 427 โดยยึดพื้นที่บางส่วนของเนิน 361 ทหารไทยเสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 34 นาย และสูญหาย 3 นาย โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน กองกำลังเวียดนามประมาณ 100 คนได้ลุกล้ำเขตเขตไทยที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา 10 กิโลเมตร และจับกุมราษฎรไทย 62 คน ฆ่าตาย 11 คน และทหารไทยที่ส่งไปช่วยราษฎรดังกล่าวได้ปะทะกับกองกำลังเวียดนามทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 5 นาย
- ช่วงระหว่างวันที่ 5-10 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองกำลังเวียดนามได้ยิงปืนใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และรุกล้ำดินแดนไทย ในพื้นที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ทำให้ราษฎรไทยกว่า 7,500 คน ต้องหลบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยมีราษฎรเสียชีวิต 3 คน บ้านเรือนเสียหาย 40 หลัง และโรงเรียนเสียหาย 1 แห่ง
- วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองกำลังเวียดนามได้เข้าโจมตีฐานของเจ้านโรดม สีหนุในเขตกัมพูชา และรุกล้ำเข้ามาในเขตไทยในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีการปะทะกับทหารไทย ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 11 นาย บาดเจ็บ 68 นาย สูญหาย 3 นาย
- ช่วงปลายปี พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2529 ทหารเวียดนามได้เข้ามาวางระเบิดในเขตไทยหลายครั้ง ซึ่งเป็นผลให้ทหารและราษฎรไทยบาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากนี้ก็ยังมีการรุกล้ำเข้ามายังเขตไทยหลายครั้ง


เมื่อเปรียบเทียบกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว ขณะนั้นถือได้ว่ากองทัพไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้วนั้นถือได้ว่าเทียบกันไม่ติด เนื่องจากกองกำลังทางทหารของฝ่ายไทยไม่เคยผ่านการรบในลักษณะเต็มรูปแบบมาก่อน นอกจากการบภายในประเทศกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ซึ่งมีลักษณะเป็นการรบแบบจรยุทธ์หรือสงครามกองโจร หรือถ้าผ่านการรบก็เป็นการรบแบบสมัยใหม่มีแนวปฏิบัติในการรบแบบสหรัฐอเมริกา แตกต่างกับเวียดนาม โดยกองกำลังของเวียดนามมีทักษะในการรบที่ดีกว่า ทั้งการทำสงครามเต็มรูปแบบและวิธีการรบแบบกองโจร นอกจากนี้ทหารของเวียดนามก็ยังมีประสบการณ์รบจากสงครามเวียดนามอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ขณะที่เวียดนามบุกกัมพูชานั้นกองกำลังทางทหารของเวียดนามมีจำนวนราว 900,000 นาย โดยที่ยังไม่รวมกำลังทหารของฝ่ายเฮงสัมรินที่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ด้วยการรบแบบกองโจรและการรบตามแบบสมัยใหม่ ขณะที่ฝ่ายไทยนั้นมีประสบการณ์เพียงเรื่องการรบในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย และมีทหารบางหน่วยที่ผ่านสงครามในลาวและเวียดนาม ซึ่งชำนาญการรบตามหลักนิยมของสหรัฐอเมริกา ต้องอาศัยอำนาจการยิงที่เหนือกว่าจึงจะทำการรบได้ นอกจากนี้เวียดนามยังมีอาวุธของสหรัฐอเมริกาที่เหลือจากสงครามเวียดนามอยู่มาก รวมทั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2531 เวียดนามได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหภาพโซเวียตอีกเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัย และเพื่อการปราบปรามฝ่ายต่อต้านในการกัมพูชา กล่าวได้ว่า ไทยมีขีดความสามารถที่ด้อยกว่าเวียดนามอยู่มาก โดยนักวิชาการด้านการทหารตะวันตกประเมินว่า ขณะนั้นกองทัพเวียดนามน่าจะมีขีดสมรรถะทางทหารอยู่ในอันดับที่ 3-4 ของโลก ในขณะที่กองทัพไทยในขณะนั้นยังไม่ติด 20 อันดับแรกเลย ซ้ำร้ายยังถูกสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเชื่อว่าเป็นมหามิตรตัดความช่วยเหลือทางทหาร แม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์เหลือใช้จากสงครามเวียดนามจำนวนมากก็ไม่ยอมให้กองทัพไทยใช้ และได้ทำการขนย้ายไปเก็บยังฐานทัพอเมริกันในประเทศอื่น ๆ แทน 

(รถถังเวียดนามแบบ T-54 ในกรุงพนมเปญ)

หลังจากที่กองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินรบชนะกองทัพกัมพูชาสามารถบุกยึดกรุงพนมเปญ และดินแดนที่เขมรแดง (ซึ่งได้ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวกัมพูชานับล้าน) ไว้ได้เกือบทั้งหมด และมีความมุ่งหมายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของไทย โดยเคลื่อนกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะรถถังจำนวนมากมาประชิดชายแดนไทยด้านตะวันออก ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่าโปร่ง จึงทำให้กองทัพไทยต้องขุดคันคูยุทธศาสตร์ หรือ คูดักรถถัง ตลอดแนวชายแดน ไทย-กัมพูชา เพื่อป้องกันกำลังทหารเวียดนามและเฮงสัมรินด้วย หากไม่มีคูดักรถถังแล้วเมื่อเจอกำลังรถถังเวียดนามแบบ T-54 จากสหภาพโซเวียต ซึ่งมีสมรรถนะเหนือกว่าและมีจำนวนมากกว่ารถถังของกองทัพไทยทุกแบบที่มีอยู่รวมกันในขณะนั้น และมีแนวโน้มที่จะบุกข้ามชายแดนไทยในฤดูแล้งในปี พ.ศ. 2524 


ช่วงที่เกิดการสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารเวียดนามและทหารเวียดนามกับทหารกัมพูชากลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่แนวชายแดน กองทัพไทยได้ส่งกำลังทหารหลายกองพันไปตั้งรับยันกำลังทหารเขมรเฮงสังรินกับทหารเวียดนามไว้ตลอดแนวชายแดนไทย-เขมร โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนแถบอำเภอตาพระยากับอำเภออรัญประเทศ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบป่าโปร่งขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘ที่ราบฉนวนไทย’ ซึ่งมีความยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จนถึง สระแก้ว (ในปัจจุบัน) มีคำกล่าวโดยนายทหารระดับสูงของกองทัพเวียดนามว่า ถ้าหากทหารเวียดนามและทหารเขมรเฮงสัมรินสามารถยกทัพข้ามชายแดนไทยมาได้ จะใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้นก็มาถึงบริเวณชานเมืองของกรุงเทพฯ ได้อย่างสบาย 


(แนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังบางส่วนในปัจจุบัน)

ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงได้ขุดคันคูยุทธศาสตร์ หรือ คูดักรถถัง ยาวเหยียดตั้งแต่อำเภอตาพระยามาจนถึงอำเภออรัญประเทศ และแนวชายแดนในเขตจังหวัดจันทบุรีและตราดด้วย และมีการประจำการปืนใหญ่กับกำลังทหารไว้ตลอดแนวชายแดนของสองอำเภอนี้ ซึ่งจาก FB ของคุณ Sawat Boonmun ได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบของคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังว่า สิ่งกีดขวางแนวต้านทาน มี 3 ขั้น ขั้นแรกอยู่ติดเส้นเขตแดน ขั้นสองหน้าแนวคันคู และขั้น สามแนวคือคูเหลด โดยมีการบีบให้เข้าสู่พื้นปฏิบัติการ (สังหาร) ด้วย 


(แนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังบางส่วนในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ
สำหรับพี่น้องประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดน)

การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพไทยกับกองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินดำเนินต่อเนื่องเกือบสิบปีจนสิ้นสุดใน ปี พ.ศ. 2532 ด้วยกองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินไม่สามารถเอาชนะกองกำลังต่อต้านกลุ่มต่าง ๆ ในกัมพูชาเอง ทั้งยังถูกกดดันจากนานาประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลเวียดนามได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2534 และยอมถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากกัมพูชา และส่วนหนึ่งก็ด้วยนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า’ ของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ปัจจุบันแนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังที่มีอยู่บางส่วนก็ตื้นเขิน บางส่วนก็ได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับพี่น้องประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดนเพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภค และบริโภค จนทุกวันนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top