Friday, 10 May 2024
กองทัพไทย

กองทัพไทย จัดแสดงกิจกรรมของทหารในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2565 รูปแบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “เด็กไทย ใจเป็น 1” พร้อมร่วมตอบปัญหาความรู้รอบตัว และรับของรางวัลมากมายส่งตรงถึงหน้าบ้าน 

พันเอกหญิง ฉัตรรพี พูนศรี รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวว่า กองบัญชาการกองทัพไทยคำนึงถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเป็นพลังสำคัญพัฒนาประเทศชาติในอนาคต จึงได้จัดกิจกรรมตอบปัญหาชิงรางวัลในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2565 ของกองบัญชาการกองทัพไทยผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 5 ม.ค. เวลา 12.00 น. โดยมีเงื่อนไขการร่วมสนุกดังนี้

1.เข้าไปที่เว็บไซต์ https://childrenday2022.rtarf.mi.th/childday/index.php/home เพื่อศึกษาความรู้รอบตัว อาทิ ศาสตร์พระราชา ประวัติศาสตร์ชาติไทย โบราณราชพระเพณี อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร เครื่องจักรกลในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และการบรรเทาภัยพิบัติ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และฐานวิถีชีวิตใหม่ (นิวนอร์มอล) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

2.ลงทะเบียนเพื่อตอบปัญหาความรู้ ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. เวลา 12.00 น. ถึงวันที่ 5 ม.ค. เวลา 12.00 น. ที่เว็บไซต์  https://childrenday2022.rtarf.mi.th/childday/index.php/home  โดยให้ระบุชื่อ-นามสกุล/วันเดือนปีเกิด/เพศ และภูมิลำเนาที่พักอาศัย โดยผู้ร่วมกิจกรรมฯ สามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เว้นแต่มีภูมิลำเนาที่พักอาศัยเดียวกัน (บ้านเลขที่เดียวกัน) แต่ต้องมิใช่บุคคลเดียวกันกับผู้ที่ได้ลงทะเบียนแล้ว

กองทัพไทย จัดพิธีวางพวงมาลาน้อมรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประจำปี 2565

พล.อ.นเรนทร์  สิริภูบาล รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประจำปี 2565​  ที่กองบัญชาการกองทัพไทย

ทั้งนี้เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ โดยมีพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระราชโอรส ในสมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรีย์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.2098  ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ต้องเสด็จไปประทับที่ กรุงหงสาวดี และได้เสด็จกลับสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุได้ 15 พรรษา 

จากการกระทำศึกหลายครั้งทรงแสดงให้ประจักษ์ในความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ และเปี่ยมด้วยพระวิริยะอุตสาหะ​ จนเป็นที่เกรงขามของข้าศึกศัตรู เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และมีการศึกที่สำคัญคือทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราช แห่งกรุงหงสาวดี กรุงศรีอยุธยาจึงมีความมั่นคงปราศจากการรุกราน

ในปี พ.ศ.2148 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพไปตีเมืองอังวะ ระหว่างการเดินทัพทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต ณ เมืองหาง ขณะพระชนมายุได้ 50 พรรษา

การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ ๖ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕

วันที่ ๘ กันยายน  ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ ๖ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ โดยมี พลเอก เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการทหารเรือ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพอากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ

การประชุมฯ ในครั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญของกองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้
กองบัญชาการกองทัพไทย ได้นำเสนอการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการร่วมในภาพรวมของกองทัพไทย ประกอบด้วย การพัฒนาขีดความสามารถศูนย์บัญชาการทางทหาร ด้วยการพัฒนาคน เครื่องมือ เทคโนโลยี และระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้มีความพร้อมสามารถรองรับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ การพัฒนาขีดความสามารถด้านไซเบอร์ โดยบูรณาการการปฏิบัติร่วมกับเหล่าทัพอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งด้านการปฏิบัติการทางไซเบอร์ การพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ และการฝึกทางไซเบอร์ ระบบสารสนเทศเพื่อการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นระบบที่สามารถแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ในพื้นที่ได้เตรียมการ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนได้นำเสนอแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี ๒๕๖๖ ได้แก่ การพัฒนาขีดความสามารถศูนย์บัญชาการทางทหาร ระยะที่ ๒ ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบบสารสนเทศการส่งกำลังบำรุงกองทัพไทย และระบบงานแผนที่เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงของกองทัพไทย

กองทัพบก ได้นำเสนอผลการปฏิบัติงานที่สำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 
ด้านกำลังพล ได้จัดทำโครงการรับสมัครทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ และโครงการคัดเลือกนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของ กองทัพบก และนักเรียนนายสิบทหารบก ด้านการข่าว สนับสนุนการปฏิบัติของกองกำลังป้องกันชายแดน และหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกองทัพบก พร้อมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการทหารกับมิตรประเทศ ผ่านการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของผู้บัญชาการทหารบก และการรับการเดินทางเยือนของผู้บัญชาการทหารบกมิตรประเทศ ด้านยุทธการ สนับสนุนยุทโธปกรณ์พิเศษเพิ่มเติมให้กับกองกำลังป้องกันชายแดน พร้อมทั้งสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การลักลอบนำเข้า/ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และการกระทำผิดกฎหมายตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ยังได้อนุมัติแนวความคิด ในการปรับการจัดหน่วย กองพลทหารราบที่ ๗ และกองพลทหารม้าที่ ๓ ให้เป็น กองพลทางยุทธศาสตร์ของกองทัพบก โดยนำแนวความคิดด้านการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองมาปรับใช้ ด้านการส่งกำลังบำรุง ได้ปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ๑๔๕ ให้มีขีดความสามารถในการเป็นเฮลิคอปเตอร์พยาบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการส่งกลับสายแพทย์ ด้านกิจการพลเรือน กองทัพบก ได้บูรณาการและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” รวม ๒,๖๐๐ พื้นที่ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คน และได้จัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงาน/ส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ 

กองทัพเรือ ได้สรุปผลการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นการบูรณาการการฝึกของหน่วยต่าง ๆ ภายในกองทัพเรือ เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างประสานสอดคล้อง และมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย การอบรมก่อนการฝึก การฝึกปัญหาที่บังคับการ และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล โดยใช้โครงสร้างจริง ของหน่วยทุกระดับเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” และถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นตามแนวคิด “พี่สอนน้อง ครูสอนศิษย์” รวมทั้งมีการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ โดยใช้ขีดความสามารถของกำลังทางเรือเข้าช่วยเหลือประชาชนจากทางทะเล ร่วมกับ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หน่วยงานราชการพลเรือน และภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีการฝึกขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันในทะเล และการฝึกให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล

กองทัพไทย ประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง ชมเชย จ่าเอก รณกรฯ ได้ช่วยเหลือประชาชนในวาระสุดท้ายของชีวิต

"กองทัพไทย ได้ประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง ชมเชย จ่าเอก รณกร แสงหิรัญขจรศิริ ผู้บังคับหมู่ กองนักเรียนจ่า กองการปกครอง โรงเรียนทหารนาวิกโยธิน ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้ช่วยเหลือประชาชนในวาระสุดท้ายของชีวิต"

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.65 พลเรือตรี ปรีชา รัตนสำเนียง ผู้บัญชาการศูนย์การฝึก หน่วย บัญชาการนาวิกโยธิน/ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารนาวิกโยธิน เป็นผู้แทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มอบใบประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง ชมเชย จ่าเอก รณกร แสงหิรัญขจรศิริ ให้กับญาติของ จ่าเอก รณกร แสงหิรัญขจรศิริ ณ ห้องรับรอง กองบัญชาการ ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงชุมพร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

'รองโฆษก รทสช.' ยกเหตุการณ์ 'ฮามาส' บุก 'อิสราเอล' หนุนไทยยังต้องมีเกณฑ์ทหารและฝ่ายค้านบางพรรคควรตระหนัก

(18 ต.ค. 66) นายชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก 'เก็ต ชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา' ระบุว่า...

ทำไมไทยถึงยังต้องมีเกณฑ์ทหาร?

ดูเหตุการณ์ปะทะระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์สิครับ

กองกําลัง Hamas สามารถบุกเข้าโจมตีอิสราเอลได้ ลักพาตัวประกันได้ (นี่ขนาดอิสราเอลมีเกณฑ์ทหารทั้งชายเเละหญิง)

หันมาที่บ้านเรา ก่อนที่ฝ่ายค้านจะค้านว่าเราไม่ได้มีสงคราม หรือ เป็นศัตรูกับใคร อย่าลืมว่าเฉกเช่นกับการเมืองไทย การเมืองโลกเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ชนวนความขัดแย้งภูมิภาคสามารถปะทุได้ทุกเมื่อ หากเรามีกองกําลังไม่พอ พอเกิดเหตุการณ์ที่ ‘ไม่คาดฝัน’ เราจะไม่มีอะไรมาประกันความปลอดภัยของคนไทยนะครับ

เเน่นอนเรื่องปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย และจัดการเรื่อง corruption ในกองทัพต้องมีการแก้ไขเเละตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา

ผมสนับสนุนให้ยังคงมีเกณฑ์ทหาร เพิ่มสัดส่วนภาคสมัครใจควบคู่กันไป เพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการให้ทหารชั้นผู้น้อย และงบการฝึกซ้อมยุทโธปกรณ์ เพื่อที่กองทัพไทยจะพร้อมรบ ปกป้องดินแดนไทยเเละคนไทยครับ

‘สุทิน’ รับ!! เข้าใจผิด ‘งบประมาณกองทัพ’ มาตลอด กระจ่าง!! ต้องประเมินคู่แข่ง เพื่อหาอาวุธที่ต่อกรกันได้

(9 พ.ย. 66) ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 66 พร้อมให้นโยบายตอนหนึ่งว่า เป็นหลักสูตรที่มีความสำคัญในด้านของความมั่นคง ที่เป็นหลักสูตรมีคุณค่า และสถาบันนี้เป็นสถาบันหลักด้านความมั่นคงและยินดีกับทุกคนที่ได้มีโอกาสเข้ามาเรียน ซึ่งตนโชคดีในฐานะ รมว.กลาโหม ได้มาดูความมั่นคงของประเทศ

สิ่งที่มีคุณค่าคือ การเรียนรู้ร่วมกัน 1 ปีคือยุทธศาสตร์ของวปอ. ซึ่งตนก็เคยมาศึกษาแผนยุทธศาสตร์และงานวิจัยของ วปอ. หลายครั้งนับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง ดังนั้นก็จะได้ทราบแผนของรุ่นที่ 66 ตนในฐานะมาดูแลความมั่นคง ก็ต้องมีการทำความเข้าใจให้ตรงกัน  แต่การพัฒนาประเทศไม่ได้ดูที่การศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ที่บางอย่างยังมีปัญหา ต้องดูว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาประเทศ แต่ยังขัดแย้งในตัวเอง จากประสบการณ์ อาชีพ 

คนเก่งมีเยอะแต่ทำงานไม่เข้ากัน ในการพัฒนาประเทศแต่ละคนคิดตามมุมมองของตัวเอง อาทิ การเมือง ก็คิดแบบการเมือง การทหารก็คิดแบบการทหาร นักวิชาการก็คิดตามแบบนักวิชาการ เพราะฉะนั้นการพัฒนาประเทศจึงไม่เป็นเอกภาพ ทำให้เห็นว่าในหลายอาชีพก็มีความขัดแย้งกัน ต่างคนต่างมีมุมของตัวเอง ขาดจุดร่วมที่อยู่ร่วมกัน

ดังนั้น วปอ.มีจุดที่สำคัญคือ มีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นศูนย์รวมคนเก่ง ทั้งทหาร ภาคเอกชน ซึ่งเป็นโอกาสดีของประเทศ ถือว่าเป็นทีมรวมดาราโลกมาอยู่รวมกัน มีทีมเวิร์กที่ดี ทำให้เห็นว่าการมาเรียนที่นี่จะทำให้มีเครือข่ายและมุมมองที่ดี

นายสุทิน กล่าวต่อว่า สงครามในปัจจุบัน เป็นการเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราเคยเสียมาแล้วยุค IMF ซึ่งเอกราชทางด้านความมั่นคงเราต้องคงไว้ซึ่งความมั่นคงทางวัฒนธรรม แต่เด็กรุ่นใหม่ไปเอาวัฒนธรรมต่างชาติ ไม่มีเอาวัฒนธรรมของตัวเอง ตนมองว่าเอกราชทางเศรษฐกิจทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง 

ในการรักษาเอกราช ตนมองว่าภัยคุกคามใหม่ที่มีคือภัยจากข้างนอก คือการรบกันข้างนอก อาทิ รัสเซีย-ยูเครน การรบในอิสราเอล และในอนาคตก็จะเกิดสงคราม 2 ขั้ว ถ้าเราวางตัวไม่ถูกและไม่ดี ประเทศไทยก็โดนดึงเข้าไปร่วมด้วย เมื่อช้างชนกัน หญ้าแพรกอย่างเราก็มีปัญหา

ดังนั้นจะมีแนวทางเพื่อให้ประเทศไทยที่เป็นหญ้าแพรกจะได้อยู่รอดเมื่อช้างสารชนกันนอกจากนี้ยังมีภัยคุกคามใหม่ อีกหลากหลายซึ่งเราต้องคิดแผนขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากภัยคุกคามทางทหารยังคงมีอยู่

นอกจากนี้ยังมีภัยคุกคามทางด้านความคิดที่เป็นภัยอยู่ในประเทศ เวลานี้คนไทยมีความคิดเห็นหลากหลาย ที่มีต่อสถาบันสำคัญของชาติ ถูกกระทบซึ่งเป็นภัยที่สำคัญ แตกแยกทางความคิดที่มีในโซเชียล นอกจากนี้มีภัยจากการไม่เชื่อมั่นสถาบันการเมือง ที่หากไม่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ความขัดแย้งทางการเมือง จะทำให้เป็นภัยกับทุกเรื่อง รวมไปถึงภัยจากสิ่งแวดล้อมที่ต้องจัดการขณะนี้ไม่ลงตัว เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 อาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมไซเบอร์ แก๊ง Call Center ข้ามชาติ ที่มีการดูดเงินในบัญชีออกไปเป็นจำนวนมาก ตนมองว่าเป็นภัยคุกคามอย่างหนัก หากเราตั้งรับภัยพวกนี้ไม่ได้ก็จบ 

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีศูนย์ป้องกันทางไซเบอร์ดังนั้นอยากให้ศูนย์ไซเบอร์ฯ ของกองทัพไปคุ้มครองไซเบอร์ในหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ภัยจากโรคระบาดก็สร้างความเสียหายย่อยยับ ซึ่งปัจจุบันพบโรคอุบัติใหม่เพิ่มขึ้น หากเราไม่ตั้งรับ จะทำให้มีผลกระทบในหลายเรื่อง รวมถึงภัยยาเสพติด สมัยก่อนมีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า เริ่มมีปัญหาในเรื่องของเด็กติดยาเสพติดที่อายุน้อยลงต้องป้องกันตั้งแต่อยู่ในครรภ์ 

จากที่ไปดูในศูนย์เด็กเล็กพบว่า มีเด็กไม่สมบูรณ์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากยาเสพติด เพราะพ่อแม่ซึ่งเป็นเยาวชนติดยาและมาแต่งงานกัน ในขณะนี้กลุ่มพวกยาเสพติดกระจายอยู่ในกลุ่มของผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำลายทุนมนุษย์ เป็นความเศร้าใจ 

ดังนั้นความมั่นคงทางทหาร ก็มีผลกระทบเนื่องจากการรับพลทหารเข้ามาก็มีเด็กติดยาทำให้กองทัพอ่อนแอ แม้มีเครื่องบินไอพ่น F-16 หรือยุทโธปกรณ์ที่เข้มแข็ง ยาเสพติดก็เป็นสิ่งที่น่าหนักใจเนื่องจากเป็นภัยมั่นคงที่เข้ามา รวมไปถึงการทุจริตคอรัปชัน ลามไปยังข้าราชการชั้นผู้น้อย จนสุดท้ายมาตกผลึก ของความยากจน ตอนนี้สิ่งที่สูญเสียกับเอกราชคือความยากจนของคนในชาติ เช่นคนในต่างจังหวัดที่มีที่ดินจำนวนมาก ขณะนี้การถือครองที่ดินลดลง ซึ่งชาวบ้านฐานใหญ่ ของประเทศมีที่ดินไม่ถึง 10% แม้ว่าจะมีที่ดินก็ยังติดภาระ ที่อาจจะหลุดลอยไป

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เกิดสงครามประชาชนเป็นภัยที่มองไม่เห็น กองทัพก็จะเอาไม่อยู่ จากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสามัคคี เพราะจากนี้ไปกลายเป็นว่าทรัพย์สินต่างๆจะอยู่กับคนกลุ่มน้อย ซึ่งพวกเราต้องคิดให้หนัก โดยภัยคุกคามใหม่ กองทัพรับมือคนเดียวไม่ได้ ทหารเก่งขนาดไหนก็รับมือไม่ได้ และสุดท้ายจะเกิดความขัดแย้งในสังคมและสะสมหลายรูปแบบ ทั้งความยากจน ความข้นแค้น มีความกดดัน จนมาทะเลาะกันในสภาและมีการลงถนน 

โดยเราไม่มีวัฒนธรรมที่เกาะเกี่ยวเหนี่ยวนำ ดังนั้นทหารก็ต้องเข้ามาแก้ แต่ก็ยาก อีกทั้งยังจะโดนด้อยค่า ถูกแยกออกจากประชาชน บทสรุปที่สำคัญ คือการป้องกันราชอาณาจักรไม่ใช่หน้าที่ของคนไทยคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะหน้าที่ของทหารแต่เป็นของทุกภาคส่วน ทุกกระทรวงทำร่วมกันต้องช่วยกัน ตนหวังว่าทุกคนที่อยู่ที่นี่ ที่มาครบทุกสาขาอาชีพ และเป็นผู้ใหญ่ ตนเชื่อว่าทุกคนรักชาติและอยากเห็นประเทศชาติก้าวกระโดด 

คนที่มาเรียนวปอ.เป็นความหวังของกระทรวงกลาโหมในเรื่องของเครือข่าย ที่จะดำเนินงานและเป็นกำลังสำคัญ ส่วนกระทรวงกลาโหมจะทำอะไรได้บ้างนั้นในฐานะที่ตนเป็นพลเรือน และมีหลายคนพูดว่าจะรู้เรื่องของทหารและไม่ทะเลาะกับทหารหรือและเอามุมมองนักการเมืองมาทำงาน ตนขอเรียนให้สบายใจว่าความรับผิดชอบของประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของประเทศ 

ตนมายืนตรงนี้ในฐานะตนเองและพรรค ก็ต้องรับผิดชอบ คือการปกป้องเอกราชสู้กับภัยคุกคามใหม่ ต้องทำให้กองทัพทันสมัย แข็งแกร่ง กะทัดรัด ไม่เช่นนั้นก็สู้ไม่ได้ รวมทั้งภารกิจ ต้องช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ ออกมาพัฒนาโดยนำทรัพยากรทางทหารมาช่วยเศรษฐกิจ กองทัพต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการบริหารภายในกองทัพ เทคโนโลยีในการรบ ที่ต้องสู้กับเขาได้ อยู่แบบเดิมไม่ได้ 

"ซึ่งการจัดซื้ออย่าถามว่าจะซื้ออะไร แต่ต้องถามว่า ซื้อมาแล้วจะสู้อะไรกับเขาได้ ผมเข้าใจผิดมาตลอดเรื่องการจัดงบประมาณของกองทัพ จากเดิมที่เอาฐานเดิมมาทำ แต่กองทัพคิดอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเอาคู่แข่งทางทหาร มาคิดด้วย อาทิ เมื่อเขามีเรือดำน้ำ มี F-16 ก็ต้องมีสิ่งที่นำมาสู้กับเขาได้ ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณดูคู่แข่งและคู่ต่อสู้ นับว่าเป็นความทันสมัยเช่นกัน นอกจากนี้ ต้องทันสมัยและอยู่ในใจประชาชน แม้กองทัพยิ่งใหญ่เกรียงไกรขนาดไหน ถ้าไม่อยู่ในใจประชาชนและได้ใจประชาชน ก็ไม่ได้ และสิ่งใดไม่อยู่ในใจประชาชนก็ต้องหลีกเลี่ยง" นายสุทิน กล่าว

(ร้อยเอ็ด) นพค.54 ร่วมพิธี Kick Off กิจกรรมกำจัดวัชพืชและผักตบชวา และกิจกรรมจิต อาสาพัฒนา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ”

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566  หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 54 กองบัญชาการกองทัพไทย (หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา) นำโดย  พันเอก เกียรติศักดิ์  พรมตวง ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 54 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา พร้อมด้วยจิตอาสา 904 กำลังพลจิตอาสาประจำหน่วยฯ รถยนต์บริการเทท้าย 10 ล้อ จำนวน 2 คัน 

ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมพิธี Kick Off กิจกรรมกำจัดวัชพืชและผักตบชวา และกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ณ คลองเชียงขวัญ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง ตำบลเชียงขวัญ อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีฯ 

'จิรายุ' ชี้กองทัพยุค 'บิ๊กทิน' พัฒนา 'ความมั่นคง' พร้อม 'ความมั่งคั่ง' ทาง ศก. หลัง 'ผบ.ทร.' เผย!! สนามบินอู่ตะเภาพร้อมรองรับ EEC เอื้อ ศก.รุดหน้า

(16 ธ.ค.66) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการลงพื้นที่ภาคตะวันออก อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ว่า นอกจากการตรวจเยี่ยมการฝึกยุทธวิธีของกองทัพเรือ แล้ว รมว.กลาโหม ยังได้ติดตามความคืบหน้า ในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EEC เพื่อรองรับต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กำลังเติบโตในอนาคตอันใกล้นี้

โดย พล.ร.อ.อะดุง พันธ์ุเอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุง สนามบินอู่ตะเภา ได้รายงานว่า เพื่อให้สนามบินแห่งนี้มีความทันสมัยในการรองรับ นักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากที่เข้ามาท่องเที่ยวในชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และรองรับกับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในโครงการ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะมีทั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และระบบคมนาคม ทั้งทางอากาศ ทางน้ำและทางบก รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ในความรับผิดชอบของ กองทัพเรือมี 2 โครงการ คือการพัฒนาและปรับปรุงทั้งอาคารผู้โดยสารและรันเวย์ที่ 2 เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ในปริมาณที่มากขึ้น

ล่าสุด มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยงานจ้างที่ปรึกษาโครงการดำเนินการ ไปถึงขั้นตอนการประกาศเชิญชวน แล้วคาดว่าจะมีการอนุมัติ ในสัปดาห์หน้านี้

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ส่วนงานจ้างก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 จะนำเข้าพิจารณากับคณะกรรมการของกองทัพเรือเพื่อขอความเห็นชอบในร่าง TOR ไม่เกิน วันที่ 26 ธันวาคม ปีนี้ เพื่อให้ทันแถลงผลการประชุม คณะกรรมการ EEC ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันดังกล่าว โดยคาดว่าในปีหน้าโครงการนี้จะมีความคืบหน้าในการรองรับภาวะเศรษฐกิจที่จะเติบโตได้

นายจิรายุ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหม รมว.กลาโหม ได้กำชับหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ให้ดำเนินการตอบสนองตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในเรื่องแนวนโยบายพัฒนากองทัพควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ทรัพยากรของกองทัพในการสนับสนุน เนื่องจากโลกยุคใหม่ต้องเดินควบคู่ไปพร้อมกันระหว่างความมั่นคงทางการทหาร และความมั่นคงของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจมั่งคั่งความมั่นคงของประเทศไทยก็จะมั่นคงตามไปด้วย

‘คูดักรถถัง’ ยุทธศาสตร์ที่ ‘กองทัพไทย’ ผุด!! หวังป้องลัทธิคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา


ส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาติไทยและมีส่วนช่วยให้คนไทยรอดพ้นจากภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็คือ ‘คูคลองยุทธศาสตร์’ (ชายแดนไทย-กัมพูชา) และต่อมาได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับพี่น้องคนไทยที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาจนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ที่คนไทยที่โตและเกิดไม่ทันยุคที่กองทัพไทยต้องเผชิญหน้ากับกองทัพเวียดนามในกัมพูชา ภายหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม ลาว และกัมพูชาเรืองอำนาจโดยสามารถเอาชนะรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนได้ และแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการรคุกคามต่ออธิปไตยของไทย เป็นเรื่องราวที่ตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นของไทยที่จะต้องมีกองทัพแห่งชาติที่เข้มแข็งและมีอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยในการป้องกันเอกราชและอธิปไตยของชาติ 


ที่มาของ ‘คูคลองยุทธศาสตร์’ เกิดจากเหตุปะทะชายแดนไทย-เวียดนาม เมื่อกำลังทหารเวียดนามบุกเข้ากัมพูชาในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เพื่อล้มล้างระบอบเขมรแดง กำลังทหารกัมพูชาส่วนใหญ่ได้อพยพมาอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศที่ติดกับชายแดนไทย โดยมีกลุ่มชาวกัมพูชาที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1.) กลุ่มกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) หรือกลุ่มเขมรแดงของ พล พต และเขียว สัมพันธ์ มีสมาชิกประมาณ 40,000 คน มีฐานที่ตั้งอยู่บริเวณพนมกระวันและบริเวณตะวันตกของจังหวัดพระตะบอง
2.) กลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติของประชาชนเขมร (Khmer People’s National Liberation Front - KPNLE) ภายใต้การนำของซอนซาน มีสมาชิกประมาณ 4,000 คน 
3.) กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติเพื่อเอกราช ความเป็นกลาง และสันติภาพในกัมพูชา (Front d"union national pour un Cambodge independant, pacifiaue et cooperatif - FUNCINPEC) ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม สีหนุ 


การที่กลุ่มต่อต้านทั้ง 3 กลุ่มนี้มีฐานกองกำลังใกล้กับชายแดนไทยเพื่อเป็นง่ายต่อการหลบหนีเมื่อกำลังเวียดนามบุกเข้ามา กำลังกัมพูชาก็หลบหลีกเข้าสู่ดินแดนไทย ในการนี้เวียดนามเห็นว่า ไทยนั้นยินยอมให้กัมพูชาฝ่ายต่อต้านใช้พื้นที่เป็นที่หลบหนีและคุ้มกันการโจมตีของกำลังเวียดนามและกำลังของเฮงสัมริน


โดยปฏิบัติการที่สำคัญเกิดขึ้นระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเวียดนาม มีดังนี้

- การโจมตีบ้านโนนหมากมุ่น อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2523 เวียดนามได้ส่งกองกำลังมากกว่า 2 กองร้อยล้ำเข้ามาในดินแดนไทยเข้าโจมตี การปะทะกันดังกล่าวก่อให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายทังสองฝ่าย
- ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2524 กองทัพเวียดนามและกำลังของของเฮง สัมริน ล่วงเข้าดินแดนไทยลึก 500 เมตร ที่หมู่บ้านสะแดง อำเภอตราพระยา จังหวัดปราจีนบุรี และได้ปะทะกับทหารไทย ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 1 นาย และเมื่อวันที่ 3 มกราคม มีการยิงกระสุนอาวุธหนักเข้ามาในเขตไทย ทำให้เจ้าหน้าที่และราษฎรของไทยเสียชีวิตรวม 10 คน
- กองทัพเวียดนามและกองกำลังของเฮง สัมริน ได้บุกเข้ามาในเขนไทยที่บ้านซับสารี ตำบลปะดง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 17 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2525 และได้ปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 นาย และตลอดทั้งปีได้มีการลุกล้ำเข้ามาในเขตอธิปไตยของไทยหลายครั้ง
- เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2526 เวียดนามได้ส่งกำลังโจมตีค่ายอพยพชาวกัมพูชาที่ตรงข้ามบ้านหนองจาน อำเภอตราพระยา จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้เผาทำลายที่พักอาศัยและโรงพยาบาลจนหมดสิ้น มีชาวกัมพูชาบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ชาวกัมพูชาประมาณ 23, 000 คน ได้หลบหนีเข้ามาในอธิปไตยของไทย เวียดนามยังได้ยิงกระสุนปืนใหญ่เข้ามาตกในดินแดนไทยหลายสิบนัด เป็นผลให้ราษฎรไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และบ้านเรือนได้รับความเสียหาย
- ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2526 กำลังทหารเวียดนาม 1 กองพล สนับสนุนด้วยปืนใหญ่และรถถัง ได้เข้าโจมตีชาวกัมพูชาที่จังกาโก เขาพนมฉัตร และค่ายผู้อพยพตรงข้ามบ้านโคกทหาร ทำให้ชาวกัมพูชาเสียชีวิตหลายคน ที่พักและโรงพยาบาลถูกเผา และมีชาวกัมพูชาประมาณ 20,000 คน อพยพเข้าสู่เขตไทย


- วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 เวียดนามได้ส่งกองกำลังเข้าโจมตีค่ายผู้อพยพของกัมพูชา ตรงข้ามกับหมู่บ้านสำโรงเกียรติ อำเภอขุนหาร จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้ชาวกำพูชาหลายหมื่นคนได้อพยพเข้าสู่ดินแดนไทย และกองกำลังเวียดนาม 1 กองพันได้บุกรุกเข้าสู่ดินแดนไทยทางช่องเขาพระพะลัยและได้ปะทะกับทหารไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
- ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2527 เวียดนามได้ส่งกองกำลังพร้อมด้วยปืนใหญ่ และรถถังเข้าโจมตีค่ายอพยพกัมพูชาที่หมู่บ้านตาตูม ค่ายผู้อพยพอัมปิล และค่ายผู้อพยพบ้านสุขสันต์ ทำให้มีชาวกัมพูชาประมาณ 80,000 คน อพยพเข้าสู่เขตไทย
- ช่วงปลายปี 2527 ถึงต้นปี 2528 ทหารเวียดนามได้เข้าโจมตีชุมนุมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายซอนซานตลอดแนวชายแดนไทย โดยสามารถยึดชุมนุมเหล่านี้ได้หมด ทำให้ชาวกัมพูชาได้อพยพเข้ามาในเขตไทยรวม 160,000 คน
- วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ทหารเวียดนามได้เข้าโจมตีที่ตั้งหมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ 239 บ้านตระเวง อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ทำให้เจ้าหน้าไทยเสียชีวิต 18 นาย บาดเจ็บ 34 นาย
- ในปีเดียวกัน ทหารของเวียดนามได้โจมตีค่ายอพยพที่บ้านหนองจาน และมีการปะทะกันทางทหารรัฐบาลผสม 3 ฝ่าย ติดต่อกันหลายวัน ทำให้ผู้อพยพชาวกัมพูชาได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์รวม 62 คน เสียชีวิต 6 คน ค่ายผู่อพยพถูกทำลายเสียหาย และส่งผลให้ผู้อพยพจำนวน 22,262 คน ได้อพยพเข้ามาในเขตไทย
- ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ทหารเวียดนามได้ระดมกำลังโจมตีชุมนุมชาวกัมพูชาซึ่งเป็นกลุ่มเขมรแดง ทำให้ชาวกัมพูชาประมาณ 60,000 คน ได้หลบหนีเข้ามายังเขตไทยในช่วงเดือนกุมพาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม เวียดนามได้ปฏิบัติการอย่างรุนแรงที่สุด โดยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ทหารเวียดนามได้ยิงปืนใหญ่เข้ามายังเขตไทยที่เนิน 347 อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
- วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองทัพเวียดนามได้โจมตีฐานที่มันของไทยที่เนิน 361, 400 และ 427 โดยยึดพื้นที่บางส่วนของเนิน 361 ทหารไทยเสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 34 นาย และสูญหาย 3 นาย โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน กองกำลังเวียดนามประมาณ 100 คนได้ลุกล้ำเขตเขตไทยที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา 10 กิโลเมตร และจับกุมราษฎรไทย 62 คน ฆ่าตาย 11 คน และทหารไทยที่ส่งไปช่วยราษฎรดังกล่าวได้ปะทะกับกองกำลังเวียดนามทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 5 นาย
- ช่วงระหว่างวันที่ 5-10 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองกำลังเวียดนามได้ยิงปืนใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และรุกล้ำดินแดนไทย ในพื้นที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ทำให้ราษฎรไทยกว่า 7,500 คน ต้องหลบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยมีราษฎรเสียชีวิต 3 คน บ้านเรือนเสียหาย 40 หลัง และโรงเรียนเสียหาย 1 แห่ง
- วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองกำลังเวียดนามได้เข้าโจมตีฐานของเจ้านโรดม สีหนุในเขตกัมพูชา และรุกล้ำเข้ามาในเขตไทยในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีการปะทะกับทหารไทย ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 11 นาย บาดเจ็บ 68 นาย สูญหาย 3 นาย
- ช่วงปลายปี พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2529 ทหารเวียดนามได้เข้ามาวางระเบิดในเขตไทยหลายครั้ง ซึ่งเป็นผลให้ทหารและราษฎรไทยบาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากนี้ก็ยังมีการรุกล้ำเข้ามายังเขตไทยหลายครั้ง


เมื่อเปรียบเทียบกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว ขณะนั้นถือได้ว่ากองทัพไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้วนั้นถือได้ว่าเทียบกันไม่ติด เนื่องจากกองกำลังทางทหารของฝ่ายไทยไม่เคยผ่านการรบในลักษณะเต็มรูปแบบมาก่อน นอกจากการบภายในประเทศกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ซึ่งมีลักษณะเป็นการรบแบบจรยุทธ์หรือสงครามกองโจร หรือถ้าผ่านการรบก็เป็นการรบแบบสมัยใหม่มีแนวปฏิบัติในการรบแบบสหรัฐอเมริกา แตกต่างกับเวียดนาม โดยกองกำลังของเวียดนามมีทักษะในการรบที่ดีกว่า ทั้งการทำสงครามเต็มรูปแบบและวิธีการรบแบบกองโจร นอกจากนี้ทหารของเวียดนามก็ยังมีประสบการณ์รบจากสงครามเวียดนามอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ขณะที่เวียดนามบุกกัมพูชานั้นกองกำลังทางทหารของเวียดนามมีจำนวนราว 900,000 นาย โดยที่ยังไม่รวมกำลังทหารของฝ่ายเฮงสัมรินที่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ด้วยการรบแบบกองโจรและการรบตามแบบสมัยใหม่ ขณะที่ฝ่ายไทยนั้นมีประสบการณ์เพียงเรื่องการรบในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย และมีทหารบางหน่วยที่ผ่านสงครามในลาวและเวียดนาม ซึ่งชำนาญการรบตามหลักนิยมของสหรัฐอเมริกา ต้องอาศัยอำนาจการยิงที่เหนือกว่าจึงจะทำการรบได้ นอกจากนี้เวียดนามยังมีอาวุธของสหรัฐอเมริกาที่เหลือจากสงครามเวียดนามอยู่มาก รวมทั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2531 เวียดนามได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหภาพโซเวียตอีกเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัย และเพื่อการปราบปรามฝ่ายต่อต้านในการกัมพูชา กล่าวได้ว่า ไทยมีขีดความสามารถที่ด้อยกว่าเวียดนามอยู่มาก โดยนักวิชาการด้านการทหารตะวันตกประเมินว่า ขณะนั้นกองทัพเวียดนามน่าจะมีขีดสมรรถะทางทหารอยู่ในอันดับที่ 3-4 ของโลก ในขณะที่กองทัพไทยในขณะนั้นยังไม่ติด 20 อันดับแรกเลย ซ้ำร้ายยังถูกสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเชื่อว่าเป็นมหามิตรตัดความช่วยเหลือทางทหาร แม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์เหลือใช้จากสงครามเวียดนามจำนวนมากก็ไม่ยอมให้กองทัพไทยใช้ และได้ทำการขนย้ายไปเก็บยังฐานทัพอเมริกันในประเทศอื่น ๆ แทน 

(รถถังเวียดนามแบบ T-54 ในกรุงพนมเปญ)

หลังจากที่กองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินรบชนะกองทัพกัมพูชาสามารถบุกยึดกรุงพนมเปญ และดินแดนที่เขมรแดง (ซึ่งได้ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวกัมพูชานับล้าน) ไว้ได้เกือบทั้งหมด และมีความมุ่งหมายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของไทย โดยเคลื่อนกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะรถถังจำนวนมากมาประชิดชายแดนไทยด้านตะวันออก ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่าโปร่ง จึงทำให้กองทัพไทยต้องขุดคันคูยุทธศาสตร์ หรือ คูดักรถถัง ตลอดแนวชายแดน ไทย-กัมพูชา เพื่อป้องกันกำลังทหารเวียดนามและเฮงสัมรินด้วย หากไม่มีคูดักรถถังแล้วเมื่อเจอกำลังรถถังเวียดนามแบบ T-54 จากสหภาพโซเวียต ซึ่งมีสมรรถนะเหนือกว่าและมีจำนวนมากกว่ารถถังของกองทัพไทยทุกแบบที่มีอยู่รวมกันในขณะนั้น และมีแนวโน้มที่จะบุกข้ามชายแดนไทยในฤดูแล้งในปี พ.ศ. 2524 


ช่วงที่เกิดการสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารเวียดนามและทหารเวียดนามกับทหารกัมพูชากลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่แนวชายแดน กองทัพไทยได้ส่งกำลังทหารหลายกองพันไปตั้งรับยันกำลังทหารเขมรเฮงสังรินกับทหารเวียดนามไว้ตลอดแนวชายแดนไทย-เขมร โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนแถบอำเภอตาพระยากับอำเภออรัญประเทศ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบป่าโปร่งขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘ที่ราบฉนวนไทย’ ซึ่งมีความยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จนถึง สระแก้ว (ในปัจจุบัน) มีคำกล่าวโดยนายทหารระดับสูงของกองทัพเวียดนามว่า ถ้าหากทหารเวียดนามและทหารเขมรเฮงสัมรินสามารถยกทัพข้ามชายแดนไทยมาได้ จะใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้นก็มาถึงบริเวณชานเมืองของกรุงเทพฯ ได้อย่างสบาย 


(แนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังบางส่วนในปัจจุบัน)

ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงได้ขุดคันคูยุทธศาสตร์ หรือ คูดักรถถัง ยาวเหยียดตั้งแต่อำเภอตาพระยามาจนถึงอำเภออรัญประเทศ และแนวชายแดนในเขตจังหวัดจันทบุรีและตราดด้วย และมีการประจำการปืนใหญ่กับกำลังทหารไว้ตลอดแนวชายแดนของสองอำเภอนี้ ซึ่งจาก FB ของคุณ Sawat Boonmun ได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบของคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังว่า สิ่งกีดขวางแนวต้านทาน มี 3 ขั้น ขั้นแรกอยู่ติดเส้นเขตแดน ขั้นสองหน้าแนวคันคู และขั้น สามแนวคือคูเหลด โดยมีการบีบให้เข้าสู่พื้นปฏิบัติการ (สังหาร) ด้วย 


(แนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังบางส่วนในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ
สำหรับพี่น้องประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดน)

การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพไทยกับกองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินดำเนินต่อเนื่องเกือบสิบปีจนสิ้นสุดใน ปี พ.ศ. 2532 ด้วยกองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินไม่สามารถเอาชนะกองกำลังต่อต้านกลุ่มต่าง ๆ ในกัมพูชาเอง ทั้งยังถูกกดดันจากนานาประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลเวียดนามได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2534 และยอมถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากกัมพูชา และส่วนหนึ่งก็ด้วยนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า’ ของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ปัจจุบันแนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังที่มีอยู่บางส่วนก็ตื้นเขิน บางส่วนก็ได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับพี่น้องประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดนเพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภค และบริโภค จนทุกวันนี้

คอบร้าโกลด์ 2024 กองทัพไทย สหรัฐ เกาหลี ร่วมฝึกสะเทินน้ำสะเทินบก ยกพลขึ้นบกยึดหัวหาด

เมื่อวันที่ (1 มี.ค.67) การฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยพลเรือตรี คริสโตเฟอร์ ดี สโตน ผู้บัญชาการกองเรือจู่โจม  Expeditionary Strike GroupSeven,Task Force 76,Amphibious Force ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และพลเรือตรี ChoChoong- Ho ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด สะเทินน้ำสะเทินบก 5 ของสาธารณรัฐเกาหลี  เยี่ยม ชมสถานที่ฝึกซ้อมสะเทินบกของ Cobr a Gold 2024

ระหว่างการฝึกสะเทินน้ำสะเทินบก เรือเดินสมุทรและหน่วยรบสะเทินน้ำสะเทินบก ได้ยึดหัวชายหาดของกองกำลังฝ่ายตรงข้าม หน่วยใช้ปืนใหญ่ทหารเรือ เพื่อยิงวอลเลย์ในขณะที่เครื่องบินให้การสนับสนุนทางอากาศพร้อม ๆ กันเพื่อลดความสามารถของกองกำลังฝ่ายตรงข้ามในการตอบโต้การยิงหัวหาด หน่วยรบสะเทินน้ำสะเทินบกละเมิดอาณาเขตของกองกำลังฝ่ายตรงข้ามและรักษาความปลอดภัยหัวหาด การมีส่วนร่วมในการฝึกในปีนี้ ได้แก่ กองกำลังไทย สหรัฐฯ และเกาหลี โดยมี USS Somerset ของสหรัฐฯ เครื่องบินรบ F-16 และอุปกรณ์อื่นๆ HTMS Surin และ HTMSMannai ของกองทัพเรือไทย หน่วยรบและยานพาหนะสะเทินน้ำสะเทินบกของนาวิกโยธิน และเครื่องบินลาดตระเวนประเภท 1 (T -337 หรือ Cessna 0 - 2 ) และยานพาหนะสะเทินน้ำสะเทินบก ROKS No Jeok Bong ของสาธารณรัฐเกาหลี (LSTII-689) และ KAW

การฝึกการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความพร้อมรบและพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร รวมทั้งแสดงแสนยานุภาพทางทหาร ในการปฏิบัติการร่วมกันของกองทัพพันธมิตร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กองทัพไทย มีความพร้อมรบทุกมิติ รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมิตรประเทศ และความร่วมมือทางทหาร อันเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติตลอดไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top