Friday, 29 March 2024
กระทรวงสาธารณสุข

สธ. ไฟเขียวขาย ATK ผ่านร้านค้า - ออนไลน์แล้ว ย้ำ! ต้องมีฉลากภาษาไทย และได้รับอนุญาตอย.

30 ก.ย. 64 - นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายผ่อนคลายสถานประกอบการต่างๆ แต่ยังคงยกระดับมาตรการความปลอดภัย (COVID Free Setting) ซึ่งประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้ชุดตรวจ ATK ในการคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาช่องทางการจำหน่ายชุดตรวจเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจ ATK ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว จึงได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ อนุญาตให้ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง หรือ ATK Self Test สามารถจำหน่ายได้ทั่วไปตามร้านค้าและช่องทางออนไลน์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2564 

เผย !! หนังสือ "กระทรวงสาธารณสุข" ชี้แจง "กกต." กรณีห้าม "อสม." ปฏิบัติหน้าที่ หากลงสมัคร หรือช่วยงานผู้สมัคร อบต.  ยกเหตุผล ผิดหลักสากล ผิดระเบียบกระทรวงสาธารณสุข และยังมีเหตุระบาดโควิด-19 ส่วนเลือกตั้งมีกฎหมายเฉพาะอยู่แล้ว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ได้ทำหนังสือเลขที่ 0707/4460 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  เรื่อง ขอทบทวนการขอความร่วมมือให้ อสม. ที่สมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบลหรือนายกองค์การบริหารส่วนตําบล หรือเป็นผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งงดปฏิบัติหน้าที่ โดยมีเนื้อหา ดังนี้ 

“ตามหนังสือที่อ้างถึง สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณา ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล หรือนายกองค์การบริหารส่วนตําบล หรือเป็นผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งงดปฏิบัติหน้าที่ อสม. จนกว่า การเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ นั้น

ระยอง - กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง พื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง กระตุ้นสถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting

นายสาธิต ปิตุเตช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศด้วยมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ด้านการท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวข้อง ที่เกาะเสม็ด ม.4 ต.เพ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เพื่อกระตุ้นแหล่งท่องเที่ยวนำร่อง เข้มมาตรการ COVID Free Setting โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น และรัฐบาลได้มีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ 

กระทรวงสาธารณสุขได้เน้น 4 หลักสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ และประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติแบบวิถีใหม่ ได้แก่

1) การฉีดวัคนให้ครอบคลุมได้ตามเป้าหมาย

2) การป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา

3) กิจการกิจกรรมเข้มมาตรการ COVID Free Setting และ

4) การตรวจหาเชื้อเมื่อมีความเสี่ยงด้วย ATK

โดยการลงพื้นที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวที่มีความพร้อม สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ จึงต้องเน้นย้ำให้สถานประกอบการบนเกาะเสม็ดที่ได้รับคำแนะนำจากกรมอนามัย จำนวน 92 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด 3 ด้าน ได้แก่ 1) COVID Free Environment สิ่งแวดล้อมปลอดภัย 2) COVID Free Personnel พนักงานปลอดภัย และ 3) COVID Free Customer ผู้ใช้บริการปลอดภัย

"ทั้งนี้ สถานประกอบการที่ยังไม่ได้ประเมินตามมาตรการ COVID Free Setting สามารถประเมินตนเองได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ stopcovid.anamai.moph.go.th โดยทุกสถานประกอบการที่ประเมินผ่าน สามารถพิมพ์ใบรับรองผล เพื่อติดไว้หน้าร้าน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่

1) ใบรับรอง Thai Stop COVID Plus (TSC+) ซึ่งสถานประกอบการทุกแห่งในทุกจังหวัดต้องประเมินตนเองตามมาตรการ TSC+

2) ใบรับรอง COVID Free Setting (CES หรือ TSC2+)

เฉพาะจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวรองรับการเปิดประเทศ หรือจังหวัดที่จะนำเอามาตรการไปปรับใช้ โดยให้สถานประกอบการเลือกประเมิน COVID Free Setting ซึ่งต้องผ่านการประเมิน TSC+ ก่อน เพื่อสามารถประเมิน COVID Free Setting ต่อไป และ 3) สติ๊กเกอร์ COVID Free Setting ประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำหนด ตามที่มีการแจ้งความประสงค์จากสถานประกอบการ

สำหรับช่องทางภาคประชาชนเพื่อประเมินสถานประกอบการ สามารถดำเนินการใน 3 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางที่ 1 สแกน QR Code ใน E-Certificate ของสถานประกอบการที่ไปใช้บริการ ช่องทางที่ 2 ประเมินผ่านทางเว็บไชต์ Thai Stop COVID Plus ของกรมอนามัย และ ช่องทางที่ 3 ประเมินผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ผู้พิทักษ์อนามัย COVID Watch"

 

สหรัฐฯ เปิดรับชาวต่างชาติกว่า 30 ประเทศที่ฉีดวัคซีน 'ครบโดส' เข้าประเทศได้

เพจเฟซบุ๊ก ไทยรู้สู้โควิด ระบุว่า สหรัฐฯ เปิดรับชาวต่างชาติกว่า 30 ประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสเข้าประเทศได้

สหรัฐอเมริกา ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามชาวต่างชาติจากกว่า 30 ประเทศเดินทางเข้าประเทศอย่างเป็นทางการ ในวันจันทร์ที่ 8 พ.ย. 64 ตามเวลาท้องถิ่น โดยกำหนดให้ผู้เดินทางต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนและผลตรวจหาเชื้อโควิดเป็นลบ รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ซึ่งการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวจะส่งผลให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดเมื่อเดือนมี.ค. 63 

‘อนุทิน’ แจงไทยจัดหาแพกซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์ ใช้เป็นยาเสริมรักษาโควิด มั่นใจ ทำงานเพื่อประโยชน์ประชาชน ไม่มีช้า

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประเทศไทย ไม่อยู่ใน 95 ประเทศ ที่ได้รับการถ่ายทอดสูตรการผลิตยารักษาโรคโควิด-19 แพกซ์โลวิด (Paxlovid) จากบริษัท ไฟเซอร์ ว่า การที่จะจัดว่าประเทศไหนจะได้รับสิทธิบัตรการผลิตยา ทางบริษัทฯ มีเกณฑ์การตัดสินใจอยู่แล้ว เราทำอะไรไม่ได้ แต่ให้ความมั่นใจว่า สธ. มีแผนจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันดูแลรักษาโรคโควิด-19 มีการวางแผนสำรอง เช่น วัคซีนโควิด-19 ที่เราเตรียมไว้แล้ว ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่เรามีอยู่ก็มีสรรพคุณดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาตั้งแต่เริ่มติดเชื้อแรก ๆ จะใช้เวลาการรักษาที่สั้นลง

“การที่เรามีแผนจัดหายาแพกซ์โลวิด หรือยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ก็เป็นการอะเลิร์ท (Alert) ต่อสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอามาเป็นยาหลัก แต่เอามาเสริมความมั่นทางยา เตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเป็นทางเลือก แต่ไม่ได้หมายความว่ายาที่เรามีอยู่ใช้ไม่ได้ เพียงแต่ยา 2 ตัวนี้เป็นอีกแนวหนึ่ง” นายอนุทิน กล่าวและว่า ขณะนี้ยาแพกซ์โลวิด ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งผู้ผลิตกำลังยื่นขอขึ้นทะเบียนกับทางสหรัฐอเมริกาอยู่เช่นกัน

'สธ.' ยัน!! Omicron ยังไม่หลุดเข้าไทย แต่หาวิธีตรวจจับแบบเร็วที่สุดไว้แล้ว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการรับมือโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมีครอน (Omicron) ว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีมาตรการป้องกันในระดับแรกแล้ว ส่วนการตรวจจับค้นหาเชื้อโอมีครอนจะเดินทางเข้ามาในประเทศจะต้องทำเต็มที่ รัดกุม และทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ที่มีการปรับแผนอนุญาตให้ตรวจแบบ ATK แล้วสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้แทนการตรวจ RT-PCR ในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาในไทย ขณะนี้จะต้องมีการทบทวนขยายเวลายังคงใช้ RT-PCR เหมือนเดิม ซึ่งเป็นมาตรการเข้มข้นเพื่อการตรวจจับค้นหาโอมีครอนที่จะมาจากต่างประเทศ

ส่วนที่มีการเสนอในหลาย ๆ รูปแบบจะต้องมีการติดตามข้อมูลให้มีความชัดเจนมากที่สุด ตนได้สั่งการไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทุกศูนย์ของกรมวิทย์ฯ รวมทั้งภาคีเครือข่ายจะต้องมีวิธีตรวจจับหาโอมีครอนให้ได้ดีที่สุด แต่ขณะนี้โดยเทคนิคมีการประเมินว่า ถ้าเชื้อเป็นเดลตาบางส่วนและอัลฟาบางส่วน ให้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นโอมีครอน และในสเตปต่อไปจะมีน้ำยาตรวจจับโอมีครอนโดยตรง

8 ประเทศในทวีปแอฟริกา ห้ามเดินทางเข้าไทย

กระทรวงสาธารณสุข ห้ามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาเข้าไทย หลังองค์การอนามัยโลก พบเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’

สำหรับมาตรการควบคุมโรคในไทยต่อสายพันธุ์โอไมครอนนั้น ไม่อนุญาตให้ผู้ที่เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยงในทวีปแอฟริกา ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตีนี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย ซิมบับเวย์ แอฟริกาใต้ เดินทางเข้าประเทศไทย นับตั้งแต่ 1 ธ.ค. นี้ เป็นต้นไป 

สธ. ยัน ยังไม่มีคนติดโอไมครอนแล้วดับ ชี้ โควิดเริ่มคล้ายไข้หวัดใหญ่ ใกล้เป็นโรคประจำถิ่น

สธ. ชี้ยังไม่มีติดโอไมครอนแล้วดับ แต่แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า ไทยถือเป็นประเทศที่ 47 ที่เจอ ระบุโควิดเริ่มเหมือนไข้หวัดใหญ่ ใกล้เป็นโรคประจำถิ่น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และสายพันธุ์โอไมครอน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 64 ว่า สถานการณ์ทั่วโลกยอดติดเชื้อหลังระบาดใหญ่มาเกือบ 2 ปี มีผู้ป่วยยืนยัน 266 ล้านคน ติดเชื้อใหม่ยังสูง 4-5 แสนคน ทวีปอเมริกาและยุโรปเป็นจุดใหญ่ระบาดช่วงธ.ค. นี้ ส่วนผู้เสียชีวิต 5.27 ล้านคน อัตราเสียชีวิตลดลงจาก 2% กว่า เหลือ 1.98% เพราะมีความรู้ดูแลรักษาดีขึ้น มียารักษาดีขึ้น และวัคซีนทำให้ลดอาการรุนแรง

ส่วนเอเชียแนวโน้มลดลง ยกเว้นเวียดนามและเกาหลีใต้ ที่มีแนวโน้มสูงอยู่ ส่วนไทยติดเชื้อใหม่ 4,000 คน มาจากต่างประเทศ 7 คน ติดเชื้อในประเทศ 3,993 คน หายป่วย 6,450 คน ถือว่าหายมากกว่าติดเชื้อใหม่มาเกือบเดือน อาการหนักเหลือ 1,259 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 330 คน แนวโน้มลดลง

ส่วนเสียชีวิตลดลงเรื่อย ๆ วันนี้รายงาน 22 คน การฉีดวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต แม้ส่วนใหญ่คนรับวัคซีนแล้ว แต่มีคนไม่น้อยกังวลผลข้างเคียง ทั้งนี้ เรามีวัคซีนมากพอ บูสเตอร์เข็ม 3 มาเกือบ 4 ล้านคนแล้ว คนที่ยังลังเลใจ ขอมาช่วยกันฉีดวัคซีนจะได้ปลอดภัย อัตราเสียชีวิตจะได้ลดน้อยลงมากที่สุด

นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์การระบาดในยุโรปและอเมริกามีมาก ดังนั้น การเปิดประเทศเราจึงคัดกรองผู้เดินทางค่อนข้างรัดกุม ผ่าน 3 ระบบ คือ Test&Go ในผู้เดินทาง 63 ประเทศ หากไม่พบเชื้อเดินทางได้ภายใต้การติดตาม เงื่อนไขคือฉีดวัคซีนครบ มีผลตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ระบบแซนด์บ็อกซ์ และระบบกักตัว ซึ่งระบบ Test&Go และแซนด์บ็อกซ์ เราตรวจพบอัตราติดเชื้อ 0.02% ซึ่งจากความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน จึงช่วยกันควบคุมการเกิดโรคไม่ให้เกิดการระบาดในไทยได้ดี

ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ของโควิดเราพบตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือกลายพันธุ์แล้วทำให้แพร่เร็วขึ้น รุนแรงมากขึ้น ดื้อต่อยารักษายา และวัคซีนประสิทธิภาพลดลงหรือไม่ ที่ผ่านมามีการกลายพันธุ์ที่สำคัญ 4 ตัว คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งไทยเจอ 3 สายพันธุ์ ตอนนี้คือเดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก ที่ระบาดเร็ว อาการรุนแรงมากขึ้น วัคซีนลดประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต

ส่วนที่ประกาศล่าสุด คือ โอไมครอน ซึ่งเรียกได้ทั้ง โอมิครอน หรือ โอไมครอน ถือว่าผ่านไป 1 ปีเพิ่งมีสายพันธุ์ที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรม

นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้รูปแบบการระบาดของโควิดจะใกล้เคียงหวัดใหญ่ในอดีต ที่เมื่อระบาดเยอะ ๆ จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงดูลดน้อยลง อย่างโอไมครอน เมื่อติดตามทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่ายังไม่มีเสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้แม้แต่รายเดียว ซึ่งตรงกับหลายหน่วยงานที่ระบุว่า ความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอน น้อยกว่าเดลตามาก

สำหรับต้นกำเนิดโอไมครอนเกิดที่แถบแอฟริกาใต้ เมื่อปลายต.ค. - ต้นพ.ย. มีการพุ่งขึ้นของผู้ป่วย จึงไปดูรหัสพันธุกรรมพบมีการกลายพันธุ์ จึงรายงานองค์การอนามัยโลก เพื่อเตือนประชาชนทั่วโลกว่าพบสายพันธุ์ใหม่ มีการประกาศจับตาใกล้ชิด

ซึ่ง 1 เดือนทั่วโลกมีการหาสายพันธุ์นี้ ขณะนี้พบ 46 ประเทศ ล่าสุดเติมประเทศไทยเป็นประเทศที่ 47 แต่ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งมีในแถวแอฟริกาใต้ กับการติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งไทยเป็นการติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้ามา และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโอไมครอน

“หลังรับทราบสายพันธุ์โอไมครอน ประเทศไทยเพิ่มมาตรการห้ามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศแถบแอฟริกาใต้ งดการเดินทางผู้มาจากแอฟริกาทั้งทวีป และคนเข้ามาแล้วจากต่างประเทศให้ตรวจหาเชื้อโอไมครอนทุกราย เพื่อหาผู้ป่วยรวดเร็ว ส่วนกรณีข่าวผู้ป่วยที่สถาบันบำราศนราดูรมีสายพันธุ์โอไมครอน เป็นหญิงแอฟริกัน ตรวจพบสายพันธุ์เดลตา อาการปกติดี ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง” นพ.โอภาสกล่าว

ส่วนเคสยืนยันสายพันธุ์โอไมครอนรายแรก เป็นชาวอเมริกัน อายุ 35 ปี อาศัยอยู่สเปน 1 ปี เป็นนักธุรกิจ ไม่มีอาการ มีผลตรวจ RT-PCR วันที่ 28 พ.ย.ไม่พบ จึงเดินทางมาไทยวันที่ 29 พ.ย. มาถึงตรวจอีกครั้งโดยพบเชื้อวันที่ 1 ธ.ค. ส่งยืนยันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเข้ารับการรักษา รพ.แห่งหนึ่ง พบว่าอาการน้อยมาก แทบไม่มีอาการ ซึ่งคนนี้ไม่มีอาการ ปฏิเสธโรคประจำตัว และไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

ตอนแรกรับอาการทุกอย่างปกติ ทั้งผลเอกซเรย์ ผลเลือดปกติ แต่ตรวจเจอเชื้อ จากการไปตรวจสอบบุคคลนี้ระวังตัวเองสูง ใส่หน้ากากตลอดเวลา จึงไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ขณะนั่งเครื่องบินก็นั่งคนเดียว ไม่ได้นั่งติดกับคนข้าง ๆ อยู่โรงแรมในระบบ Test&Go ก็ใส่หน้ากากตลอดเวลา
 

‘สาธารณสุข’ ผนึกพลังองค์กรระดับโลก ร่วมส่งเสริม ‘การเกิดมีชีพ’ อย่างยั่งยืน

ไม่นานมานี้ กระทรวงสาธารณสุข, กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และ บริษัท ริกคิทท์ ประเทศไทยและอินโดจีน (Reckitt) ได้ร่วมมือกันจัด ‘การประชุมเชิงปฏิบัติการการนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของโครงการการพัฒนาและส่งเสริม การเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) ผ่านสื่อออนไลน์’

โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยตัวแทนจาก Reckitt Thailand & Indochina และ Dr. Asa Torkelsson, Representative for UNFPA Malaysia and Country Director for UNFPA Thailand กล่าวเปิดการประชุม และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวรายงานการประชุม

เริ่มต้นที่ ดร.สาธิต ได้กล่าวว่า การตายของมารดาเป็นเครื่องชี้วัดด้านสุขภาพที่สำคัญของโลก ทุกประเทศทั่วโลกมีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยตั้งหวังที่จะลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อ ‘การเกิดมีชีพ’ แสนคน ภายในปี 2573

(หมายเหตุ : การเกิดมีชีพ คือ เด็กที่คลอดออก มาแล้วมีลมหายใจ ชีพจรเต้น มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ)

สำหรับประเทศไทย โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดำเนินงานเพื่อลดอัตราส่วนการตายของมารดาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังคงเฝ้าระวังและส่งเสริมการเกิดคุณภาพ โดยเฉพาะทั้งคนไทยและไม่ใช่คนไทยในพื้นที่ห่างไกล ได้เข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็ก เป็นการป้องกันการตายที่ป้องกันได้ของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการตายสูง ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All)

“ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ได้ร่วมมือดำเนินงานโครงการการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบรายงานและการให้บริการอนามัยแม่และเด็ก และวัยรุ่นวัยเจริญพันธุ์อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนบูรณาการการมีส่วนร่วมของบุคลากรสาธารณสุข บุคลากรวิชาชีพอื่น ๆ ในชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่ชายขอบและห่างไกล ลดปัญหาการตายของมารดาและทารกระยะเวลา 15 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - ธันวาคม 2564 เพื่อปรับปรุงระบบการให้บริการอนามัยแม่และเด็กและประสานความร่วมมือ ภาคีเครือข่ายในการดำเนินงาน โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ริกคิทท์ ประเทศไทยและ อินโดจีน (Reckitt)” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “โครงการการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า” (Safe Birth for All) กรมอนามัย ได้ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก และศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ที่อนามัยมารดาและทารกเข้าไม่ถึงบริการ 

โดยพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นคนไทยและชาติพันธุ์ ประมาณ 210,000 คน และเป็นหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 30,700 คน ซึ่งต้องอาศัยผดุงครรภ์โบราณ กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการลดการตายมารดาและทารกในพื้นที่ชายขอบและห่างไกล ช่วยให้หญิงมีครรภ์ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์และชายขอบเป็นประชากรราวร้อยละ 60 ของประชากรในพื้นที่ และข้อจำกัดด้านการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ยังมีการคลอดที่บ้านโดยผดุงครรภ์โบราณ 

ทั้งนี้ กรมอนามัยให้การสนับสนุนอุปกรณ์การทำคลอดจำนวน 1,500 ชุด ชุดตรวจ ATK มีการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมผดุงครรภ์โบราณ จำนวน 1 หลักสูตร จัดประชุมระบบการแจ้งการเกิด การตาย แก่เครือข่ายครู ตชด. ครู กศน. พร้อมทั้งพัฒนาระบบเฝ้าระวังการตายทารกปริกำเนิด โดยปี 2565 จะมีการขยายผลให้ครอบคลุมสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ และมีการวางแผนจะขยายผลให้ครอบคลุมในสถานพยาบาลของรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลเอกชน และการตายนอกสถานพยาบาลต่อไป

2 กระทรวง ผนึกกำลัง!! สนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการ จากอุบัติเหตุทางถนน เป็นของขวัญปีใหม่ 2565

ณ ห้องประชุมอาคารสโมสร กระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมกันในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดสรรเงินเป็นค่าอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ อันเนื่องมาจากการประสบภัยที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนนระหว่าง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์

โดยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมและประธานกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี

นายอนุทิน กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างสังคมแห่งโอกาส ที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน “ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยเฉพาะการดูแลคนพิการให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และได้รับการพัฒนาศักยภาพไปพร้อมกัน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมียุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

โดยการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย ทุกเพศภาวะและทุกกลุ่ม สร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตและการมีส่วนร่วมเป็นพลังในสังคมสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้พิการและผู้สูงวัย พัฒนาระบบบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการในแต่ละระบบ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงหน่วยบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ

โดยในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในโอกาสนี้จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม สนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือแก่ผู้พิการ เพื่อให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตประจำวันและประกอบอาชีพได้ใกล้เคียงกับบุคคลทั่วไป

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top