Monday, 29 April 2024
กระทรวงสาธารณสุข

‘ชลน่าน’ ยัน พร้อมยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค  รื้อระบบให้ ปชช. เข้าถึงการรักษาได้ทุกที่ ทุกเวลา

(6 ก.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายแรกด้านกระทรวงสาธารณสุขที่จะดำเนินการว่า จะเป็นไปตามนโยบายที่เราจะแถลงต่อรัฐสภา เป็นเรื่องแรกที่เราจะต้องทำ

เมื่อถามถึงการยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค? นพ.ชลน่าน กล่าวว่า "เราใช้คำว่ายกระดับ เพราะเป็นโครงการเดิมแล้วปรับตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งเดิมมีลักษณะของคนที่มีรายได้ เมื่อเข้ารับบริการจะเสียค่าธรรมเนียม 30 บาท แต่เมื่อมีการปรับมาเรื่อย ๆ ตรงนี้ก็หายไป ตัดออกไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีรายได้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเมื่อเข้ารับการรักษา

"ส่วนโครงการใหม่ที่เราจะทำนั้นไม่ได้พูดถึงเรื่องการจ่าย แต่เราพูดถึงเรื่องยกระดับขึ้นมาเพื่อที่จะให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยใช้บัตรประชาชนสามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ เป็นการครอบคลุมเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพ ถ้าระบบเราสมบูรณ์จะสามารถใช้ได้ทุกที่"

เมื่อถามว่า ระบบดังกล่าวจะใช้เวลานานหรือไม่? นพ.ชลน่าน กล่าวว่า "ก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ส่วนจะนานหรือไม่นั้นตนต้องขอดูในรายละเอียด"

‘ชลน่าน’ ลั่น!! ถึงยุคเปลี่ยน ‘ความเห็นต่าง’ เป็น ‘ความร่วมมือ’ พร้อมสามัคคี ‘ชมรมแพทย์ชนบท’ ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ

(11 ก.ย. 66) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถามประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและชมรมแพทย์ชนบทในยุคของ นพ.ชลน่าน เนื่องจากชุดบริหารที่ผ่านมา มีความขัดแย้งกับชมรมแพทยชนบท แต่ในวันเข้ารับตำแหน่งของ นพ.ชลน่าน มีสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทเข้ามาร่วมยินดีและ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ มอบพระพุทธรูปให้กับ นพ.ชลน่าน ว่า ทิศทางการทำงานของ รมต. และผู้บริหารแต่ละชุดอาจมีแนวทางตามนโยบายต่างไป แต่สำหรับตนให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะกลไกการขับเคลื่อนงานนั้น บุคลากรมีความสำคัญมาก เราจะมาดูเชิงระบบในภาพใหญ่ จึงมีความคิดว่ากระทรวงฯ น่าจะมาบริหารจัดการเอง มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเอง มีกฎหมายรองรับเป็นการเฉพาะ ตนก็พยายามจะผลักดันเรื่องนี้โดยการรวบรวมทุกภาคส่วนที่มีความปรารถนาต่อมิติสุขภาพของประชาชน

“ความเห็นต่างมีแน่นอน แต่เราจะแปลงความเห็นต่างนั้น มาเป็นความเห็นร่วม ทุกคนบอกผมว่าทุกคนมีความรักสมานสามัคคีกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน พวกเรามองตา เมื่อช่างภาพบอกว่าคุณหมอมองกล้องหน่วย ทุกคนมองหมดเลย เพราะเราเป็นหมอในหัวใจของประชาชน มั่นใจว่าเราจะมีความรักสมัครสมานสามัคคี ขับเคลื่อนงานสุขภาพร่วมกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามย้ำว่าในยุคของ นพ.ชลน่าน จะไม่เห็นภาพม็อบมาเรียกร้องที่กระทรวงฯ แล้วหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราจะไม่ปิดกลั้นม็อบที่เป็นข้อเรียกร้องของประชาชนและบุคลากร ยิ่งเขามีความต้องการแต่เราตอบสนองความต้องการเขาไม่ได้ จึงมีการชุมนุมเรียกร้องตามระบบประชาธิปไตย

‘ชลน่าน’ เดินหน้าลุยฉีดวัคซีน HPV 1 ล้านโดส ฟรี!! ปกป้องหญิงไทยห่างไกลมะเร็งปากมดลูกทั่วประเทศ

‘หมอชลน่าน’ ประกาศเดินหน้านโยบาย 100 วันแรก เร่งฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้หญิงไทยอายุตั้งแต่ 11 - 20 ปีทั่วประเทศ จำนวน 1 ล้านโดสฟรี หลังตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มปีละประมาณ 6,500 ราย

เมื่อวานที่ 16 ก.ย. 66 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเดินหน้าโครงการ Quick Win ที่จะเห็นเป็นรูปธรรมภายใน 100 วัน หลังรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขโดยหนึ่งในนั้น คือ การฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับหญิงไทยที่มีอายุ 11 - 20 ปีทั่วประเทศอย่างน้อย 1 ล้านโดส หลังพบมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 6,500 ราย

นายแพทย์ชลน่าน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม  มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 2,000 รายโดยมะเร็งชนิดนี้ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human papillomavirus (HPV) ที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่ต้องฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้บริการฉีดวัคซีน HPV จำนวน 2 เข็ม เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับนักเรียนหญิงชั้น ป. 5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 (ปัจจุบันมีอายุ 17 ปี) ดังนั้น ผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้ ประกอบกับในปี 2562-2565 ทั่วโลกประสบปัญหาวัคซีนขาดชั่วคราวในช่วงโควิดระบาด ทำให้กลุ่มเป้าหมาย ป.5 ในปีนั้น ซึ่งปัจจุบันอายุ 13-15 ปีไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

จึงได้กำหนดให้การฉีดวัคซีน HPV เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick win “มะเร็งครบวงจร” โดยเร่งรัดการฉีดวัคซีนสำหรับหญิงอายุ 11-20 ปี ซึ่งได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเร่งกำหนดแนวทางการให้วัคซีน และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประเมินจำนวนกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งมอบให้ สปสช. เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม

“การฉีดจะมี 2 ส่วน คือ กลุ่มเด็ก ป.5 - ม.6 จะฉีดผ่านสถานศึกษา (School-based program) โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการฉีดเป็นกลุ่มเหมือนกับที่เคยฉีดวัคซีนโควิด ส่วนอีกกลุ่มที่เป็นเด็กนอกระบบการศึกษา รวมถึงหญิงอายุ 18-20 ปี ที่จบชั้น ม.6 แล้ว จะได้รับการฉีดที่สถานพยาบาล ตั้งเป้าหมายว่าต้องฉีดวัคซีน HPV ให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านโดสภายในเวลา 100 วัน” รมว.สาธารณสุข กล่าวสรุปทิ้งท้าย

‘ชลน่าน’ เปิดศูนย์ทันตกรรม-ไตเทียม รพ.วัดสมานรัตนาราม ตั้งเป้าขยายศูนย์บริการ ชู รพ.แพทย์แผนไทย รองรับอีอีซี

(17 ก.ย. 66) ที่โรงพยาบาลวัดสมานรัตนาราม (พุทธโสธร 2) จังหวัดฉะเชิงเทรา นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดศูนย์ทันตกรรม ศูนย์ไตเทียม โรงพยาบาลวัดสมานรัตนาราม (พุทธโสธร 2) พร้อมตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สาขาเขตสุขภาพที่ 6 ว่า…

จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการก่อสร้างโรงพยาบาลวัดสมานรัตนาราม (พุทธโสธร 2) เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน เท่าเทียม มีความเสมอภาค รวมถึงรองรับแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และยังมีโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่จะช่วยในมิติการให้บริการประชาชนสมบูรณ์มากขึ้น โดยนำภูมิปัญญาไทยมาสร้างเสริมสุขภาพ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า รพ.วัดสมานรัตนาราม เป็น รพ.ขนาด 150 เตียง ได้รับการสนับสนุนจาก ท่านเจ้าคุณพระประชาธรรมนาถ เจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม รวบรวมงบประมาณจากผู้มีจิตศรัทธากว่า 1 พันล้านบาท ก่อสร้างบนพื้นที่ 4 ไร่เศษ มีพื้นที่ใช้สอย 38,000 ตารางเมตร อยู่ห่างจาก รพ.พุทธโสธร 15 กิโลเมตร เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค 2563

ประกอบด้วย แผนกผู้ป่วยนอกทั่วไป ทันตกรรม การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ห้องปฏิบัติการ เอกซเรย์ เภสัชกรรม เวชระเบียน และงานประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันได้เพิ่มบริการศูนย์ไตเทียม จำนวน 5 เตียง ตั้งเป้าขยายบริการเป็น 24 เตียง

โดยมี รพ.พุทธโสธร สนับสนุนบุคลากรแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุข มูลนิธิ รพ.วัดสมานรัตนาราม สนับสนุนเครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงได้รับงบประมาณสนับสนุนบางส่วนจากสำนักงานเขตสุขภาพที่ 6

สำหรับ รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สาขาเขตสุขภาพที่ 6 อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษา ฟื้นฟู ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกที่ได้มาตรฐาน

รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์ วิจัย สร้างนวัตกรรม และพัฒนางานวิชาการในจังหวัดรับผิดชอบและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจากการเปิดให้บริการมาพบว่า ผู้ป่วยและประชาชนสนใจเข้ารับบริการเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงมีแนวคิดที่จะเปิดบริการเพิ่มให้ครบทุกเขตสุขภาพ

'หมอชลน่าน' เห็นร่วม!! 'ภท.' ปิดช่องกัญชาสันทนาการ เล็งออกประกาศ สธ. คืนบางส่วนกลับไปเป็นยาเสพติด

(21 ก.ย.66) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งล่าสุดพรรคภูมิใจไทยประกาศผลักดันร่างเดิม 94 มาตรา ว่า การเสนอกฎหมายเป็นสิทธิของ สส. ที่สามารถเข้าชื่อ 20 คนก็สามารถเสนอได้ ส่วนเสนอแล้ว สภาจะพิจารณาอย่างไรก็เป็นไปตามเสียงข้างมาก สอดรับกับนโยบายรัฐบาลหรือไม่ เพราะเสียงข้างมากเป็นนโยบายของรัฐบาล ถ้าสอดรับกัน ส่วนใหญ่กฎหมายก็ถูกขับเคลื่อนตามกลไกรัฐสภา ไปยังวุฒิสภา ตามขั้นตอน ดังนั้น พรรคภูมิใจไทยในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็สามารถให้สมาชิกเสนอกฎหมายได้ เราในฐานะพรรคแกนนำก็จะเข้าไปดู เพราะมันมีความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายออกมารับ กำกับ ควบคุมการใช้กัญชาในขณะนี้ ส่วนใช้อย่างไรก็จะยึดตามนโยบายของรัฐบาลเป็นหลักว่า เพื่อการแพทย์และสุขภาพ ส่วนอย่างอื่นที่นอกเหนือจากนี้ คือ นอกเหนือจากนโยบาย การเอาไปใช้สันทนาการ หรือใช้ผิดประเภทถือว่านอกเหนือจากนโยบายรัฐบาล ต้องมีกฎหมายมารองรับว่า มันไม่ชอบอย่างไร

ถามว่า พรรคเพื่อไทยจะร่างกฎหมายของพรรคเข้าไปเสนอหรือไม่ หรือร่างในนามของรัฐบาล นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราจะดูในรายละเอียดอีกครั้ง หากเป็นไปได้ก็จะเสนอเป็นร่างของ ครม.ซึ่งจะถือเป็นความร่วมมือในเชิงนโยบายที่เราพูดคุยกันจบแล้ว

ถามต่อว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่ยืนยันร่างเดิมที่เคยมีการเสนอเข้าสภา แต่ตกไปแล้ว หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คงไม่เป็นการยืนยัน แต่จะหยิบเอาร่างนั้นมาดูว่าอะไรเป็นส่วนที่ดี อะไรที่จะเติมเต็ม แทนที่จะเขียนร่างใหม่ ก็เอาร่างนั้นมาปรับแก้ ส่วนที่ภูมิใจไทยเสนอ 94 มาตราเลยนั้นเป็นสิทธิของเขาที่ทำได้ ส่วนเสนอเข้าสภาแล้วจะเอาทั้ง 94 หรือมาตราหรือไม่ หรือเอามาบางส่วนก็แล้วแต่สภา อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลมีการพูดคุยกันอยู่แล้ว ซึ่งภูมิใจไทยเองก็ยืนยันว่า ไม่เคยให้กัญชาเป็นสันทนาการ

ถามว่าสมัยอยู่ในสภาชุดที่แล้ว และเห็นร่างกัญชามาก่อน ยังมีช่องโหว่ในเรื่องสันทนาการอยู่ จะมีการเพิ่มตรงนี้เข้าไปในร่างใหม่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องมีวิธีการใช้ว่าจะใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ ใช้อย่างไรมีกระบวนการควบคุมกำกับอย่างไร หากใช้ประเภทอื่นถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย จะดูว่ามีข้อห้ามอย่างไร รวมทั้งการกำหนดว่า กัญชาจะเป็นยาเสพติดได้เมื่อไร ความหมายคือ ประมวลกฎหมายยา

เสพติด เอาชื่อกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 แต่ไม่ได้บอกว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด เพียงแต่บอกว่า ถ้าจะกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้ไปกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดังนั้นกัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ในความหมาย ยังมีสารเสพติดอยู่ ขณะนี้ประกาศนี้เขียนเฉพาะสารสกัด THC มากกว่า 0.2% ถือเป็นยาเสพติด นอกนั้นไม่เป็น พอไม่เป็น ทุกคนก็เอาไปใช้ลักษณะผิดประเภท เช่น เอาช่อดอกไปเสพ เอาใบไปพี้ พันลำ เป็นการใช้ที่มีผลต่อจิตประสาท ถือว่าเป็นการใช้ไม่ถูกต้อง ก็ต้องดูว่าปรับอย่างไร

เมื่อถามย้ำว่า ในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข จะมีการเพิ่มเติมข้อกำหนดให้บางส่วนของกัญชาให้เป็นยาเสพติดหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็จะพิจารณากันอยู่ว่าอันไหนเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม แต่ไม่น่าจะกลับไปเป็นยาเสพติดทั้งหมด เพราะกัญชาเพื่อสุขภาพนั้น หากไปยึดแบบเดิมจะแข็งเกินไป แค่มีกัญชา 1 ต้นอยู่ในบ้านก็ถูกจับแล้ว กลายเป็นเรื่องมือของผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นเราต้องออกกฎหมายมาในลักษณะที่ทุกฝ่ายไม่เสียประโยชน์ และเป็นโทษต่อเพื่อนมนุษย์ ทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์จากการใช้กัญชาเพื่อสุขภาพและการแพทย์เพื่อสุขภาพ เช่น อาหารที่ผสม CBD ซึ่งได้ประโยชน์ แต่ถ้าออกกฎหมายที่เข้มเกินไปโดยไม่ดูบริบทของการใช้ก็จะส่งผลกระทบ ขณะนี้มีการริเริ่มปลูกกัญชาไปใช้ในเชิงพาณิชย์จำนวนมาก ซึ่งพาณิชย์ที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพก็ถือว่านอกเหนือจากเรา

เมื่อถามว่าการผลักดันกฎหมายยุคนี้จะมาปิดจุดอ่อนหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ใช่ เพราะการที่สมาชิกสภาฯ อภิปรายและไม่ให้กฎหมายนี้ผ่าน เนื่องจากยังมีช่องว่าง ถ้าปล่อยออกไปจะเหมือนไปส่งเสริม เช่นปลูกมากขึ้น ปลูก 15 ต้น การเข้าถึงมากขึ้น ถ้าไม่มีกฎหมายควบคุมที่ดีก็จะเกิดโทษ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เป็นหน้าที่ของเราจะมีการฟอร์มทีม และแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาดูแล ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้าง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการวางตัวใครมาดูแลเป็นพิเศษ

เมื่อถามต่อว่าในแนวคิดที่จะดำเนินการนี้จะไม่ขัดกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ขัดเพราะภูมิใจไทยก็พูดชัดอยู่แล้วว่านโยบายเขาไม่สนับสนุนการใช้สันทนาการ กัญชาเสรีไม่มี เป็นเพียงวาทกรรมที่เขาถูกโจมตี

'หมอชลน่าน' แง้ม!! ทิศทาง 'กัญชา' อาจคืนบางส่วนเป็นยาเสพติด กั๊กตอบกัญชาสันทนาการ ต้องดู 'มิติสังคม-สุขภาพ' ควบคู่กัน

(26 ก.ย.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวทางการควบคุมการใช้กัญชา หลังมีบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มหนึ่ง อยากให้ รมว.สาธารณสุข ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ในการประกาศควบคุมการใช้กัญชา ขณะที่มีภาคประชาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยในการห้ามปลูกบ้านละ 15 ต้น รวมถึงการให้กลับไปเป็นยาเสพติด ว่า เรื่องนโยบายเร่งด่วนกระทรวงสาธารณสุขนั้น ประกาศออกมาเป็นภาพรวมเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพ หมายความว่า จะนำสุขภาพไปสร้างเศรษฐกิจในมิติสุขภาพที่มีหลายองค์ประกอบ อาทิ ศูนย์กลางการแพทย์ (เมดิคัลฮับ) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เรื่องวิชาการ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งกัญชาอาจจะอยู่ในมุมนี้ การให้บริการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ มิติเหล่านี้อยู่ในการประกาศนโยบายเร่งด่วน ไม่ได้เน้นไปที่กัญชา

ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วความชัดเจนเรื่องกัญชาเป็นอย่างไร เนื่องจากรอกฎหมายมาควบคุมอยู่นานมากแล้ว นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีแล้ว เราได้เร่งรัด โดยตั้งคณะทำงานมาพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข โดยนโยบายได้เน้นย้ำว่ากัญชาทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นมุมโดยตรงของกระทรวง จึงต้องไปดูกฎหมายที่จำเป็น ออกมาใช้บังคับ จะพยายามจัดทำกฎหมายและเสนอโดยเร็วที่สุด ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นรัฐบาลร่วมกัน ก็ต้องปรึกษาหารือร่วมกัน

เมื่อถามถึงกรณีการอนุญาตปลูก 15 ต้น จะมีความชัดเจนอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เมื่อมีในกฎหมายเดิม ก็ต้องไปพิจารณาว่า การปลูกเพื่อนำไปสู่การผลิต เพื่อการแพทย์และสุขภาพนั้น ปลูกอย่างไรที่จะได้คุณภาพมาตรฐาน หากปลูกแล้ว ไม่สามารถนำไปใช้ในเรื่องการเข้าสู่อุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อสุขภาพก็จะทำให้พี่น้องขาดโอกาส ดังนั้น แล้วแต่กฎหมายที่จะเขียนมา เพราะในมุมการผลิตนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากนี้เรื่องสันทนาการจะไม่สามารถทำได้แล้วหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตามนโยบายเราต้องเน้น เพื่อการแพทย์ เพื่อสุขภาพ เพราะถ้านอกจากนี้ก็ไม่ใช่มุมของเพื่อการแพทย์และสุขภาพ ดังนั้นต้องมีกฎหมายออกมาว่า จะควบคุมดูแลกันอย่างไร การใช้จะใช้อย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ ซึ่งถ้าจะมีกฎหมายมารองรับ เช่น พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ที่เคยพิจารณากันมาแล้ว ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่า จะมีบทบัญญัติใดมาควบคุมดูแล ที่นอกเหนือไปจากการแพทย์ และสุขภาพอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้ผู้ประกอบการที่เปิดเพื่อเสพแบบสันทนาการยังเปิดต่อไปได้หรือไม่ นพ.น่าน กล่าวว่า เราต้องคิดใน 2 มิติ กระทรวงสาธารณสุข เป็นกระทรวงที่ต้องสร้างสุขภาพ ถ้ากิจการ หรือกิจกรรมที่เขาทำนั้นไม่กระทบต่อสุขภาพ ไม่มีผลต่อสุขภาวะโดยรวม เรื่องมิติเชิงสังคม ก็อาจจะมีกฎหมายเข้าไปกำกับดูแล ควบคุม ส่วนจะปูพรมตรวจร้านที่เปิดสันทนาการหรือไม่ นั้นอยู่ที่ตัวกฎหมายให้อำนาจไว้ อย่าไปคิดว่าจะปูพรมหรือไม่ปูพรม ตอนนี้เราต้องพยายามทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกฝ่ายได้ประโยชน์บนพื้นฐานที่ไม่ทำลายสุขภาพ ไม่ทำลายพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก เยาวชนในสังคมไทย

"ขอย้ำว่า การนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่ไม่เหมาะสม หรือเกินกว่ากำหนด ในระยะเวลาที่มากกว่ากำหนดไว้ ก็จะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่"

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่จะคืนบางส่วนของกัญชาให้กลับเป็นยาเสพติด นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้สามารถพิจารณาควบคู่ไปได้ เพราะ พ.ร.บ.ต้องยกร่างเข้าสภา ส่วนประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้ขณะนี้คือประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้อำนาจไว้ และอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ส.และกรรมการควบคุมป้องกันยาเสพติด และกระทรวงสาธารณสุข หากเห็นพ้องต้องกันที่จะประกาศ ว่าอะไรที่จะเป็นยาเสพติด สำหรับตัวที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งไม่ใช่แค่กัญชาตัวเดียว แต่ถ้ายกตัวอย่างกัญชา คือพืชที่มีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอยู่ในตัว หากจะประกาศให้เป็นยาเสพติด ก็ต้องไปทำข้อตกลงแล้วจึงประกาศบังคับใช้ ซึ่งจะทำได้เร็วกว่าการตรา พ.ร.บ.และขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่า จะคืนส่วนใดบ้าง กำลังปรึกษาหารือกับกระทรวงยุติธรรม โดยจะนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า เราจะมองเห็นร่วมกันอย่างไร ไม่ให้กระทบ หรือทำลาย กดทับในส่วนที่ทำให้คนสูญเสียโอกาส ส่วนตนยึดหลักเรื่องการแพทย์ และสุขภาพเป็นหลัก

เมื่อถามย้ำว่า การปรับปรุงประกาศกระทรวง และผลักดันร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะประกาศเป็นนโยบายควิกวินหรือไม่ นพ.ชลน่าน ไม่ เพราะไม่ได้อยู่ใน 13 นโยบายควิกวินที่ประกาศแล้วในตอนแรก เนื่องจากกฎหมายต้องใช้เวลา เพราะควิกวิน เป็นแผนเร่งรัดปฏิบัติการ ต้องเร่งทำให้เกิดผลสำเร็จภายในเวลาที่ต้องการ ผลลัพธ์ที่ได้ต้องพิสูจน์ได้ จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องกัญชามีสิ่งที่จะต้องร่วมกันพิจารณาอย่างมาก ทั้งตัวประกาศและข้อกฎหมายต่างๆ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น หากประกาศบนพื้นฐานของความไม่รอบคอบก็จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี

‘หมอชลน่าน’ เตรียมชี้แจงแนวทางฉีดวัคซีน HPV ก่อนคิกออฟพร้อมกันทั่วประเทศ 1 พ.ย.นี้

(11 ต.ค.66) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ชลน่านแถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ที่ประชุมได้ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส ทั้ง 13 ประเด็น ซึ่งทุกประเด็นมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ 

ยกตัวอย่าง ประเด็นยาเสพติด/สุขภาพจิต พบว่า มีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดแล้ว 35 จังหวัด คิดเป็น 46% รวมถึงเรื่องให้มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต โดยเฉพาะผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ หรือ ประเด็นมะเร็งครบวงจร จะมีการชี้แจงแนวทางการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และกทม. วันที่ 12 ตุลาคมนี้ เพื่อคิกออฟฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566

ส่วนประเด็นดิจิทัลสุขภาพ ทีมส่วนกลางได้ร่วมกับทีมโรงพยาบาลในพื้นที่ จัดทำเกณฑ์โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ การให้บริการ และความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนาโรงพยาบาล รองรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ตามที่ประกาศนำร่องไว้ มั่นใจว่าจะมี Smart Hospital ไม่น้อยกว่า 200 แห่งในระยะเริ่มแรก

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบการดำเนินงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉิน 2 เรื่อง คือ 1.เหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งคนไทยชุดแรกจะกลับมาถึงประเทศไทยวันที่ 12 ตุลาคมนี้ เวลา 10.35 น. จะมีทีมแพทย์คัดกรองสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่สนามบิน หากมีปัญหาสุขภาพกายจะส่ง รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน หรือ รพ.นพรัตนราชธานี

หากมีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้เตรียมโรงพยาบาลด้านจิตเวชไว้รองรับ คือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รพ.ศรีธัญญา และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และติดตามเฝ้าระวังตามมาตรฐานจนอาการเป็นปกติ

นอกจากนี้ได้ส่งทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ลงไปดูแลญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ทุกแห่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา และ 2.การติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งยังมีสถานการณ์ในหลายจังหวัดส่วนใหญ่เป็นอุทกภัยซึ่งขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลง

ทั้งนี้ ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ดูแลผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยขณะนี้มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 19 แห่ง ยังเปิดให้บริการตามปกติ 18 แห่ง ต้องปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านดอนนายาง จ.กาฬสินธุ์

‘สธ.’ คิกออฟ!! ฉีดวัคซีน HPV สกัดมะเร็งปากมดลูกทั่วประเทศ ตั้งเป้า 1 ล้านโดส ใน 100 วัน ‘หญิงไทย’ ต้องปลอดภัยจากมะเร็ง

(8 พ.ย. 66) ที่โรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายแทพย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นาย Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย, นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค, แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดกิจกรรมความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร ‘Kick Off’ การรณรงค์สร้างภูมิ HPV นักเรียนไทยสุขภาพดี ปลอดมะเร็ง ‘Save Our Children by 1 Million HPV Vaccines’ โดยจัดฉีดวัคซีน HPV ให้นักเรียนหญิงประมาณ 700 คน เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วย

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2567 สธ.ได้กำหนดนโยบาย ‘มะเร็งครบวงจร’ ที่ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และดูแลฟื้นฟูกายใจ โดยเฉพาะมะเร็งที่เป็นปัญหาสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันและตรวจคัดกรองความเสี่ยงได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ในอายุ 11-20 ปี, การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง อายุ 30 ปีขึ้นไป ส่วนในกลุ่มผู้อายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการอัลตราซาวนด์คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี และการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับ เป็นต้น

“โดยการขับเคลื่อนควิกวิน (Quick Win) 100 วันแรก จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ที่ก่อมะเร็งปากมดลูก ในหญิงไทยอายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส เริ่มคิกออฟสำหรับนักเรียนหญิงในสถานศึกษาพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มนักเรียน ให้มีภูมิคุ้มกัน ลดอาการป่วย และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกในอนาคต สำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่อายุไม่เกิน 20 ปี สามารถรับวัคซีน HPV ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อป้องกันมะเร็งในสตรีไทย ตามสโลแกน ‘สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง’ หรือ ‘Women Power No Cancer’ ซึ่งหากพบว่าป่วยจะได้รับการรักษาทันท่วงที ช่วยลดการเสียชีวิต รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกคน และปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ” นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทำให้ประชากรสูญเสียการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังส่งผลต่อระบบสาธารณสุข รวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต้องทำในทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกันโรค ตรวจคัดกรอง พัฒนาวิธีการรักษา และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

“สำหรับการจัดกิจกรรมคิกออฟวันนี้ ได้ร่วมกับ สพฐ. ให้บริการฉีดวัคซีน HPV สำหรับนักเรียน พร้อมให้ความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกสำหรับประชาชนทั่วไป การคัดกรองโรคมะเร็งต่างๆ สำหรับประชาชนตามช่วงวัย จะใช้รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน รวมถึงมีบริการเอกซเรย์ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด และบริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนและตรวจคัดกรองมะเร็งได้สะดวกยิ่งขึ้น ถือเป็นตัวอย่างการดำเนินงานและการนำร่องให้บริการในชุมชน” นพ.โอภาส กล่าว

ขณะที่ พญ.ปรียาพร คงจรรักษ์ นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาล (รพ.) ไทรน้อย จ.นนทบุรี กล่าวว่า วันนี้ รพ.ไทรน้อยได้จัดฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18 ให้กับนักเรียนกว่า 700 คน โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับการฉีดวัคซีนของเด็กนักเรียนกว่า 50 คน เป็นทั้งเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน แพทย์ รพ.ไทรน้อย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งจะมีขั้นตอนตั้งแต่การลงทะเบียนฉีดวัคซีน การคัดกรองสุขภาพก่อนฉีด จุดฉีดวัคซีนและจุดพักสังเกตอาการ 15-30 นาที

ทั้งนี้ จากการติดตามผลหลังฉีด ยังไม่มีนักเรียนที่เกิดอาการแพ้วัคซีน จะมีเพียงอาการปวดบริเวณจุดที่ฉีด โดยการฉีดวัคซีน HPV จะต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงสุดควรมารับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกำหนดเวลา

“สำหรับ รพ.ไทรน้อย จะมีการประกาศให้ผู้หญิงไทยอายุ 11 – 20 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลประมาณเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะรวมทั้งนักเรียนที่อยู่ในระบบและนอกระบบการศึกษา สามารถไปลงทะเบียนฉีดที่โรงพยาบาลได้เลย” พญ.ปรียาพร กล่าว

ด้าน น.ส.พิมพ์ณดา เลิศโกสิตรุจ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน HPV กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกเป็นครั้งแรกของตน โดยที่ผ่านมาตนยังไม่เคยเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อ HPV มาก่อน แต่เมื่อทางโรงเรียนเปิดให้สมัครใจฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ให้กับเด็กนักเรียนหญิงอายุ 11 ปี จนถึงนักเรียนหญิงชั้น ม.6 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตนเลยตัดสินใจมาฉีดเพื่อความปลอดภัยในอนาคต ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการได้ฉีดวัคซีนฟรีเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะครอบคลุมไปถึงคนที่ไม่มีทุนทรัพย์ในการไปเสียเงินฉีดเอง ส่วนอาการหลังฉีดก็มีรู้สึกปวดที่แขนเล็กน้อยเหมือนกับการฉีดวัคซีนโควิด-19

‘สธ.-สสส.-MBK’ รวมพลังปลุกกระแส ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ กระตุ้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ-ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

(9 พ.ย. 66) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการอาหารเป็นยาครั้งที่ 1/2566 ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 ที่ลาน MBK Avenue A ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้บริหาร สธ.ภาคีเครือข่ายร่วมงาน พร้อมทั้งมอบป้ายโลโก้อาหารเป็นยา ให้กับสถานประกอบการ ทั้ง 20 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกผู้จำหน่ายอาหารที่มีเมนูสุขภาพจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ

นายสันติกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับประชาชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านอาหารที่สร้างรายได้ให้กับประเทศนับแสนล้านบาท

ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหาร ถึงร้อยละ 20 ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.74 สธ.จึงเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายอาหารเป็นยา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการบริโภคอาหาร นำไปสู่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ

“อาหารไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดรายการอาหารยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไว้ จำนวน 6 รายการ ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ส้มตำ มัสมั่น ต้มข่าไก่ และยังมีรายการอาหารไทยที่ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากยิ่งขึ้น เช่น ผัดกะเพรา ผัดฉ่า เครื่องดื่มสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณตามรสยา เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” นายสันติกล่าว

นพ.สุรโชค กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ สธ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการนำอาหารไทย สมุนไพรไทย มาช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ภายใต้แนวคิด ‘อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา’ เป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาใส่ใจการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่จะได้ตระหนักรู้ว่าอาหารไทย สมุนไพรไทยมีคุณค่า เป็นการผสม ‘ศาสตร์’ การดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กับ ‘ศิลป์’ ความพิถีพิถัน ความละเอียดอ่อนในการปรุงอาหาร ที่ช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับอาหารไทย คาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมงานประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน

ด้าน นพ.ขวัญชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดกิจกรรมอาหารเป็นยาโดยนำร่องจังหวัดที่เป็นเมืองสมุนไพร อาทิ สงขลา อุดรธานี จันทบุรี สระบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงได้ร่วมมือกับ ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ (ททท.) มอบป้ายโลโก้ให้ผู้ประกอบการ สตรีทฟู้ด ร้านอาหารเครื่องดื่ม และโรงแรม แล้วกว่า 200 ร้านค้า เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามีเมนูสุขภาพที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ เป็นการช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย เวทีเสวนาวิชาการ ให้ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณทางสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กิจกรรมอาการเป็นยา เช่น กินยังไง? ไม่ให้ป่วย, กินสร้างสุข, กินลดโรค การออกร้านจำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่มจากชุมชนทั่วประเทศ

‘สาธารณสุข’ เผย ‘โซลาร์’ บนหลังคา รพ. คืบหน้า ช่วยลดปล่อยคาร์บอน เซฟค่าไฟกว่า 300 ล้านต่อปี

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ระบุถึง ความคืบหน้าการขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบาย Smart Energy and Climate Action 

ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่ง ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 35,420 tCO2-eq /ปี ประหยัดค่าไฟได้กว่า 322 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งจากโรคต่างๆ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น โดยผลการศึกษาในปี พ.ศ.2565 พบว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วน 9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ หรือ 33,766,720 tCO2-eq /ปี

โดยกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุดคือ การเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย และญาติ และการใช้ไฟฟ้าในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลการจัดการพลังงาน ปี 2564 พบว่า มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าถึง 1,217 ล้านกิโลวัตต์/ปี คิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 4,730 ล้านบาท/ปี

สำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลระดับต่างๆ ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ต.ค.2566 มีหน่วยบริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่งจากทั้งหมด 1,857 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 62,245.80 กิโลวัตต์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top