Friday, 4 July 2025
กระทรวงสาธารณสุข

‘ชมรมแพทย์ชนบท’ ขอบคุณ ‘ชลน่าน’ ในการมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ พร้อมให้กำลังใจ ‘สมศักดิ์’ สานต่อภารกิจ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย

(29 เม.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘ชมรมแพทย์ชนบท’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ชมรมแพทย์ชนบท ขอขอบคุณ รมต.ชลน่าน ศรีแก้ว ในความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ที่ผ่านมา  ผลงานเด่นคือการวางรากฐาน reset งานใหม่ทั้งหมด หลังยุคอนุทินที่แทบไม่ได้ขยับอะไรนอกจากนโยบายกัญชา แต่อุปสรรคที่มีมาก โดยเฉพาะจากข้าราชการที่คุมไม่อยู่ ระดับบิ๊กยังอืดไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง

ไม่ตอบสนองก็แย่แล้ว แต่ยังวางยารัฐมนตรีด้วย จนถูกข้าราชการวางกับดักให้เกิดเป็นคู่ขัดแย้งอย่างไม่รู้ตัวกับ สปสช. ชัดจนคนในวงการต่างก็อ่านเกมส์ออกว่า ข้าราชการก๊กนั้น เสี้ยมและใช้รัฐมนตรีเป็นเครื่องมือคุกคาม สปสช. หวังวางระบบประกันสุขภาพที่ สธ.เป็นใหญ่ แต่เมื่อหลักการผิด แนวทางปฏิบัติไม่เวิร์ก จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ในนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกที่ที่รอการแก้ไข

ไม้ผลัดทางนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกที่ จากรากฐานที่รัฐมนตรีชลน่านวางไว้ กำลังจะถูกส่งต่อให้รัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน ภารกิจทางนโยบายที่สำคัญต่อประชาชนคนไทย และสำคัญต่ออนาคตของพรรคเพื่อไทยด้วย

แน่นอนว่าไม่ง่าย โดยเฉพาะจากข้าราชการที่ขยันเดินตามแต่ไม่ขยันทำงานยังเป็นอุปสรรค ขยันก็แต่ไหว้พระสายมูงมงายกับการขอพรและสร้างพระทำบุญหวังให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง

นอกจากนี้ ข้าราชการก๊กนี้ยังเกียร์ว่าง ละเลยงานสุขภาพปฐมภูมิ ย้ายคนจนวุ่นวาย รากฐานงานปฐมภูมิที่วางมาดีสั่นคลอน การแก้ปัญหายาเสพติดจึงสะดุด การสาธารณสุขรากฐานไม่ก้าวหน้า  การกระจายอำนาจด้านสุขภาพก็สับสน

ชมรมแพทย์ชนบทขอเป็นกำลังใจให้กับรัฐมนตรีชลน่าน ศรีแก้ว และรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรค สานต่อภารกิจ สถาปนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีที่สุดเพื่อคนทุกคนบนแผ่นดินไทย

เชือด 'ปานปรีย์-ชลน่าน' ใช้บริการ 'มาริษ-สมศักดิ์' สนอง 2 เรื่องใหญ่ 'ดันผลงานอิ๊ง-ชิงปูกลับบ้าน'

ทำไมทำมาปรับครม.เศรษฐา 1/1 ออก 4 เข้า 6...ครม.เต็มแม็ก 36 คน และพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวที่เกิดแรงกระเพื่อมมากกว่าที่นึก แถมลึกกว่าที่คิด...เพราะมองกันข้ามช็อต ท้ายสุด...สุดท้าย 'นายใหญ่' เอาอยู่...

ตอบคำถามกรณี ดร.ตั๊ก-ปานปรีย์ พหิทธานุกร 'หลานน้าชาติ' ไขก๊อกทิ้งเก้าอี้ รมว.ต่างประเทศ สักนิดว่าเพราะอะไร?...ในมุมข่าวมุมมองของ 'เล็ก เลียบด่วน'

1) ประเด็นหลัก...เพราะทำใจไม่ได้ ที่โดนริบเก้าอี้รองนายกฯ ซึ่งจะเสริมส่งให้ความเป็น รมว.ต่างประเทศแข็งแกร่งขึ้น และจริง ๆ แล้วตำแหน่งรองนายกฯ จะมีสักกี่ตำแหน่งก็ได้ พอโดนริบ รมว.ต่างประเทศก็ต้องไปอยู่ใต้กำกับของรองนายกฯ คนใดคนหนึ่ง...อาจจะเป็น 'ภูมิธรรม' หรือ 'สุริยะ'...ถ้าคนแรกก็ดีไป แต่ถ้าเป็นสุริยะอาจทำใจลำบาก...

2) ประเด็นอื่น...เมื่อสบโอกาสจากประเด็นแรกคือ โดนริบเก้าอี้ ก็ง่ายที่จะตัดสินใจไขก๊อก ไม่ต้องไปวัดดวงกับงานเสี่ยงภัยในอนาคต เช่น กรณีมีข่าวว่า...การกลับบ้านของอดีตนายกฯ ปู-ยิ่งลักษณ์ อาจต้องใช้สถานทูตไทยในต่างแดนเป็นกึ่ง 'คุกนอกเรือนจำ' ให้วุ่นวาย...รวมทั้งกรณีอื่น ๆ ที่หมิ่นเหม่จะผิดกฎหมาย อาทิ ดิจิทัลวอลเล็ต, กรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา...

ก็นับว่าน่าเสียดาย คนดีมีฝีมืออย่าง ดร.ปานปรีย์ ที่กำลังออกอาวุธหลายเรื่องได้ค่อนข้างดี มีอันต้องจบข่าวซะก่อน...จากนี้ไปก็ต้องตามไปดู 'อดีตทูตปู' มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศ (ปานปรีย์) คนที่เคยรับใช้ใกล้ชิดทั้ง 'นายใหญ่' ทักษิณ ชินวัตร และ นายกฯ ปู ยิ่งลักษณ์ ซึ่งน่าจะรับประกันซ่อมฟรีว่า...ตอบโจทย์นายใหญ่และน้องสาว ได้แน่ แต่สุดท้ายจะพากันไปสุดซอยเหาะเหินเดินลงกาหรือไม่...อันนี้ไม่กล้าฟันธง...

ขอแถมท้ายด้วยกรณี 'เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าชลน่าน' สักนิด...สรุปให้ตรงประเด็นที่สุดงานนี้ ก็เพื่อตอบโจทย์ลูกสาวนายใหญ่ ที่จะต้องเร่งโชว์ฟอร์มสร้างผลงาน '30 บาทรักษาทุกที่' ให้บังเกิดทั้งเบี้ยและเม็ดงานที่งอกงาม   

ทั้งนี้ 7 เดือนที่ผ่านมานั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่หอบหิ้ว 'หมออ้อย' ภรรยาไปช่วยงานด้วยนั้น ว่ากันว่าเอาข้าราชการไม่อยู่...หนำซ้ำคล้าย ๆ ที่ชมรมแพทย์ชนบทแถลงออกมานั่นล่ะว่า...หลายครั้งคุณหมอถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคาม สปสช. ที่ดูแล 30 บาท อีกต่างหาก...

ก็ต้องเรียนท่านผู้อ่านว่า...เสือสองตัว ณ กระทรวงสาธารณสุขนั้น ฝั่งหนึ่ง 'ปลัด สธ.' ดูข้าราชการทั้งมวล อีกฝั่ง 'เลขาธิการ สปสช.' เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ดู 30 บาท งบประมาณมหาศาล...ทั้งสองฝั่งมีรัฐมนตรีกำกับดูแล ต้องใช้วิทยายุทธขั้นสูงทีเดียว...

ส่วน แพทองธาร ชินวัตร 'อุ๊งอิ๊ง' นั้น...วันนี้อยากขับเคลื่อน '30 บาทรักษาทุกที่' ให้แวววับจับต้องได้ เพราะคุณเธอนั่งคร่อมเก้าอี้ถึง 2 ตำแหน่ง คือ รองประธานกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ (นายกฯ ประธาน) และ ประธานคณะกรรมการบริหารพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ

งานนี้นายใหญ่และพรรคเพื่อไทยยอมจ่ายแพง...เชือดหมอชลน่าน ถ้า 30 บาทรักษาทุกที่ยังกระดื๊บ ๆ ก็ถือว่าไม่คุ้มค่า...แต่ทีมงานอุ๊งอิ๊งหลายคนมั่นใจว่า 'อาสมศักดิ์' เอาอยู่...ทำได้ 

ก็คอยดูกันต่อไป แต่ยังไง ๆ พรรคเพื่อไทย อย่าลืมเช็ดเลือดและน้ำตาให้คุณหมอด้วยล่ะ!!

'สมศักดิ์' จ่อรื้อประกาศโทษครอบครอง 'ยาบ้า' ชี้!! ครอบครอง 1 เม็ดก็มีความผิด เสพก็มีความผิด

(8 พ.ค.67) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นยาเสพติดที่เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล ว่า การบำบัดยาเสพติดซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพราะเรื่องแก้ไขปัญหายาเสพติดจะมี 6 ด้าน คือ ป้องกัน ปราบปราม ฟื้นฟู บูรณาการ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยึดทรัพย์ เพื่อไม่ให้การดำเนินการเกิดความเหลื่อมล้ำในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะถ้าหากเครื่องจักรทั้งหมดทำงานไม่ไปด้วยกัน ก็จะทำให้เสียเปล่าในงบประมาณ ทั้งนี้ ต้องมีตัวชี้วัดว่าเมื่อมีการเข้ารับบำบัดแล้ว หายเท่าไหร่อย่างไร ถ้าสมัครใจมาบำบัดแล้วหายก็ต้องมีใบรับรอง ส่วนผู้ที่หนีการบำบัดที่มีประมาณร้อยละ 20 นั้นก็จะต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะถือว่ายังเป็นคดี ยังมีความผิดอยู่ ยังต้องรับโทษ เพราะในอดีตยังอาจปฏิบัติตามเงื่อนไขไม่ครบ จึงยังมีการลักลั่นอยู่ แต่ถ้าเราดำเนินการแล้วก็ต้องขอให้หน่วยงานอื่น ๆ ได้ขับเคลื่อนไปอย่างเต็มที่ด้วยกัน ก็จะแก้ไขได้ตามกำหนดเวลาของรัฐบาล ส่วนการกำหนดเวลาต่าง ๆ ขอให้มีการพูดคุยกันในระดับสูงก่อน จึงจะมีความชัดเจนขึ้น

เมื่อถามถึงประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 กรณีแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายคือให้ถือเป็นผู้ป่วยที่สามารถสมัครเข้ารับการบำบัดแทนการรับโทษจำคุกได้ แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จะมีการพิจารณาใหม่อีกครั้งหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า แน่นอน ต้องมีการพิจารณาแน่นอน ตนขอย้ำถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ที่มีการเขียนมาก่อนที่ตนจะรับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม มีการเสนอไม่สำเร็จ ตนจึงนำมาปรับและเสนอใหม่และจบมาเป็นกฎหมาย

“ถ้าผมมีโอกาสเสนอผู้บังคับบัญชา ผมจะพูดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย แล้วจะทำให้เกิดเป็นงานที่ชัดเจนขึ้นมา เพราะการนำเสนอที่ผิดพลาด ทำให้เกิดความยุ่งยาก คนครอบครองยาบ้า 1 เม็ดก็มีความผิด เสพยาบ้าก็มีความผิด แต่โทษต่างกัน ดังนั้น ต้องดำเนินการตามแนวทางของกฎหมายที่ชัดเจน ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่เท่าไหร่นั้นขอให้ฟังต่อไป” นายสมศักดิ์กล่าว

ถามย้ำว่าจะต้องปรับให้น้อยกว่า 5 เม็ดหรือไม่ แล้วมีไทม์ไลน์การดำเนินการอย่างไร นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถูกต้อง ส่วนไทม์ไลน์การดำเนินงานนั้น คาดว่าภาครัฐบาลจะออกมาพูด

ถามถึงการแนวทางในกฎหมายควบคุมกัญชา กัญชง ที่ยังรอการออกร่างพระราชบัญญัติอยู่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ก็ต้องมีการปรับปรุงทั้งนั้น แต่ขั้นตอนการดำเนินการต้องครบ 6 ด้านที่กล่าวมา ส่วนเรื่องการบำบัดในกลุ่มโซนสีแดง สีส้ม จะรักษาแบบเดิมไม่ได้ ต้องเพิ่มขั้นตอน ซึ่งเรากำลังทำงานอยู่ ส่วนเรื่อง ร่างพ.ร.บ.ก็ต้องคุยกัน

“เรื่องของกัญชานั้นแนวทางต้องเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนอย่างไร เราทำโดยลำพังไม่ได้ ต้องเกี่ยวกับหน่วยงานหลายกระทรวง ต้องมาพูดคุย อย่างเรื่องโรงงานพลุระเบิดจะประกาศกระทรวงเดียวไม่ได้ ต้องประกาศ 5 กระทรวง ต้องพูดพร้อมกัน ถ้าพูดกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งแล้ว มันตีกัน” นายสมศักดิ์กล่าว

ถามย้ำว่าจะนำกัญชากลับสู่ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า อันนี้เดี๋ยวรอฟัง ตนอยากฟังความเห็นของประชาชนด้วย และต้องฟังแนวทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

เมื่อถามว่าเรื่องกัญชาจะมีความชัดเจนเมื่อไหร่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่นาน ภายในเดือนนี้ต้องจบแล้ว 

‘สธ.’ เตือน!! พบผู้ป่วย ‘ฝีดาษลิง’ พุ่งสูงหลังสงกรานต์ พบมากในเขตกทม. ย้ำ!! ประชาชนอย่าประมาท

(29 พ.ค. 67) ‘นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ’ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือนก.ค.2565 จนถึงวันที่ 20 พ.ค.2567

มีรายงานผู้ป่วยรวม 787 ราย เป็นเพศชาย 768 ราย คิดเป็นร้อยละ 97 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ ระยอง และอุดรธานี ตามลำดับ ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะ และเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จนถึงเดือนพ.ค. จึงต้องเฝ้าระวัง พร้อมป้องกัน ลดเสี่ยง ลดโรค

หากประชาชนมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือการสัมผัสใกล้ชิด แนบแน่น กอดจูบ ลูบ คลำ พูดคุยระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือเคยดูแลผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร ให้สังเกตอาการตนเองเบื้องต้น

ภายหลังสัมผัสผู้ป่วย หรือมีความเสี่ยงภายใน 21 วัน หากมีผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบให้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการสุขภาพใกล้บ้านทันที เพื่อตรวจหาเชื้อได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้นจะทราบผลตรวจภายใน 1-5 วัน

ซึ่งระหว่างรอผลตรวจนั้น แนะนำให้แยกของใช้ส่วนตัว และแยกพื้นที่กับผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน ไม่ใช้จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ และของใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อ เนื่องจากสามารถติดได้จากการสัมผัสใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าชะล่าใจเนื่องจากมีอาการรุนแรงได้

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ประชาชนทุกคนไม่ควรประมาท โรคฝีดาษวานรติดได้ทุกคน หากมีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ดังนี้ 

1.หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก 

2.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน เป็นต้น 

3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร

4.ไม่คลุกคลี หรือ สัมผัส ตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าหรือมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง เช่น หนูแกมเบียน กระรอกดิน 

5.หมั่นล้างมือบ่อยๆ

นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีกิจกรรมการรวมตัว หรือกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถป้องกันฝีดาษวานรได้ กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

โฆษก สธ. เผย อีก 42 จังหวัดลงประกาศราชกิจจา อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ให้บริการตามนโยบาย '30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว' หลังนำร่องไปแล้ว 4 จังหวัด

นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังจากนำร่องไปแล้วเฟสแรก 4 จังหวัดและคิกออฟไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 และเฟสสอง เฟสสามตามลำดับ ยังต้องใช้เวลาในการเตรียมการอยู่อีกหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่ได้แบ่งจังหวัดในการเริ่มนโนบายเป็น 4 ระยะ โดยขณะนี้เป็นการเตรียมความพร้อมดำเนินการระยะที่ 4 ใน ซึ่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ จะครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2567 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ 

“การขับเคลื่อนที่ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาฯ นั้น การเริ่มให้บริการขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีการประกาศให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอีกครั้ง แต่ทั้งนี้จะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ คือจะครอบคลุมทั้งประเทศภายในปีนี้ สำหรับในส่วนของพื้นที่ กทม. นั้น ด้วยเป็นพื้นที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่ รวมถึงจำนวนหน่วยบริการที่มีจำกัด ไม่มีเพียงพอ ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม. จึงกำหนดเป็นนโยบาย“บัตรประชาชนใบเดียว ไปปฐมภูมิได้ทุกแห่ง” ที่ประชาชนเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยให้เริ่มต้นไปรับบริการที่หน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขที่สะดวกก่อน แต่หากไม่ดีขึ้นก็ให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำของท่าน แต่หากเกิดขีดความสามารถในการดูแลโดยหน่วยบริการประจำ ก็จะมีระบบส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพต่อไป โดยประชาชนสามาถสังเกตป้ายคลินิกปฐมภูมิ 7 วิชาชีพได้แก่ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่นและร้านยา

ขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. ได้ร่วมมือกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ในการเชิญชวนสถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบเพื่อให้บริการประชาชนตามนโยบาย โดยจากข้อมูล ล่าสุดมีหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขใน กทม. จำนวน 1,135 แห่งแล้ว ประกอบด้วย คลินิกชุมชนอบอุ่น 134 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น 38 แห่ง คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 89 แห่ง คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น 20 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น 12 แห่ง ร้านยาชุมชนอบอุ่น 830 แห่ง และคลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่น 13 แห่ง โดยประชาชนในต่างจังหวัดสามารถเข้าไปดูรายละเอียดหน่วยบริการเอกชนได้ที่ลิ้งค์ของสปสช. https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-pilot-provinces 

“สปสช.เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้สถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา ที่กระจายอยู่ในเขตต่างๆ มาร่วมสมัครเพื่อให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ กับ สปสช. ซึ่งทันทีที่ได้จำนวนตามเป้าหมายแล้ว จะมีการเปิดตัวการให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ให้ประชาชนรับทราบต่อไป” โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

‘สาธารณสุข’ ดันหน่วยในเครือ ติดตั้งระบบโซลาร์ทั่วประเทศ ลดปล่อยคาร์บอนฯ 4.3 หมื่นตันต่อปี ประหยัดไฟ 392 ลบ.

(8 ก.ค. 67) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ทั้งการเจ็บป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด การเกิดโรคติดต่อ และภัยจากสภาพอากาศที่รุนแรงต่าง ๆ

กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการสูญเสียพลังงานอย่างไร้ประโยชน์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ข้อมูลล่าสุดถึงเดือนเมษายน 2567 หน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมด 1,857 แห่ง ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,496 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82.02 ขนาดกำลังการผลิตรวม 75,806.09 กิโลวัตต์ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 43,137.43 tonCo2/ปี สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 392,238,903 บาท/ปี โดยยังมีหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 206 แห่ง 

ทั้งนี้ ภายใต้นโยบาย SECA ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลังงานร้อยละ 20, ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (EV), การปรับปรุงและก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน (Energy Building)

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงพยาบาล, การเพิ่มศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ทางไกลเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่ไปรับบริการแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล, การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอย/น้ำเสีย โดยใช้หลัก 3R (Reduce, Reuse, Recycle) และการรณรงค์ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน

อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยของหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่า หากการลดก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 2-3 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้

ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

'รมว.สาธารณสุข' เปิดอาคาร 100 ปีชาตกาล รพ.หลวงพ่อคูณฯ ปลื้มรร.เบาหวานวิทยาด่านขุนทด ลดป่วย-ลดการใช้ยา

(4 ต.ค. 67) ที่ รพ.หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในพิธีประดิษฐานรูปหล่อพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) เปิดอาคาร 100 ปี ชาตกาล และเปิดสวนสุขภาพ 101 ปีชาตกาล โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายรชตะ ด่านกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ บุคลากรเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และ อสม.ร่วมพิธี. นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาศักยภาพ รพ.ในสังกัด และยกระดับระบบบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งโรงพยาบาลหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ได้พัฒนาการจัดบริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และได้ย้ายสถานที่ให้สามารถรองรับผู้รับบริการได้มากขึ้น เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการ 

โดยมีการจัดสร้างอาคารบริการต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2559 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ปัจจุบันเป็น รพ.ชุมชนแม่ข่ายขนาด 120 เตียง ดูแลประชากรในอำเภอด่านขุนทดกว่า 123,000 คน มีศักยภาพการให้บริการเฉพาะทาง ทั้งอายุรกรรม, ศัลยกรรมทั่วไป, ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, กุมารเวชกรรม, เวชศาสตร์ฉุกเฉิน, ผ่าตัดต้อกระจก, เวชศาสตร์ครอบครัว, CT SCAN, การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร (EDG & Colonoscope) 

นอกจากนี้ ยังมีแผนยกระดับบริการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การเป็น รพ.แม่ข่ายด้านศัลยกรรม เพิ่มการเข้าถึงบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ใกล้บ้าน, เพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง และการดูแลผู้ป่วยวิกฤติอีกด้วย... สำหรับอาคาร 100 ปี ชาตกาล ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน พ.ค. 2563 ใช้งบประมาณก่อสร้างจากกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 80,190,000 บาท เป็นอาคารผู้ป่วยใน 5 ชั้น รวม 114 เตียง ประกอบด้วย ชั้น 1 หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย ชั้น 2 หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง ชั้น 3 แผนกกายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทย ชั้น 4-5 หอผู้ป่วยพิเศษ เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ส่วนสวนสุขภาพ 101 ปี ชาตกาล เป็นการปรับพื้นที่เพื่อใช้เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ให้ญาติผู้ป่วยได้พักผ่อนหย่อนใจ โดยใช้เงินบริจาคของชาวด่านขุนทด จำนวน 2,400,000 บาท 

ทั้งนี้ อาคาร 100 ปี ชาตกาล และสวนสุขภาพ 101 ปี ชาตกาล สร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงคุณูปการต่อวงการศาสนา การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ที่บำเพ็ญทานบารมีสร้างอาคารและจัดหาเครื่องมือแพทย์ให้กับ รพ.ต่างๆ จำนวนมาก

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จังหวัดนครราชสีมา ยังเป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนการลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก โดย รพ.หลวงพ่อคูณฯ เป็นหน่วยบริการหนึ่งที่ได้เปิดโรงเรียนเบาหวานวิทยา และเป็นพี่เลี้ยงให้หน่วยบริการ 4 แห่งในอำเภอด่านขุนทด ที่ผ่านมามีนักเรียนเข้าร่วมโครงการฯ 81 คน แบ่งเป็น ผู้ป่วยเบาหวาน 74 คน และกลุ่มเสี่ยง 7 คน ใช้กระบวนการดูแลแบบปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ การอดอาหารเป็นช่วงเวลา ร่วมกับการออกกำลังกาย ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถหยุดยาได้ 20.4% ปรับลดยาได้ 48.2% ในจำนวนนี้ อยู่ระหว่างรอประเมินผลอีก 20 คน ลดมูลค่าการใช้ยาได้ 22,797.55 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายโรงเรียนเบาหวานวิทยาในอำเภอด่านขุนทดเพิ่มอีก 7 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น

‘สมศักดิ์’ สั่งจัดการเพจปลอม แอบอ้างชื่อ-ภาพ ขายยาปลุกเซ็กซ์ เพิ่มสมรรถนะเพศชาย หลอกลวงผู้บริโภค สั่งอ.ย.แจ้งกองปราบฯ เอาโทษถึงที่สุด เข้าข่ายผิดกฎหมาย 2 ฉบับ

น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองเปิดเผยว่า  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ถูกมิจฉาชีพมีพฤติการณ์ไม่เกรงกลัวกฎหมาย บังอาจทำเพจ เฟซบุคปลอมระบุ “รับรองจากกระทรวงสาธารณสุข - ยาโป๊ปลุกอารมณ์ของผู้ชาย แก้ปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศษของผู้ชาย…” ลงภาพตราสัญลักษณ์พร้อมชื่อกระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญ ได้ลงภาพครึ่งตัวและชื่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และข้อความโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับสมรรถภาพทางของชาย เช่น ทำให้อึดทน ใหญ่ขึ้น แข็งขึ้น ฯลฯ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงของนายสมศักดิ์และกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งทำให้ผู้ที่เห็นสื่อตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงให้เข้าใจผิด สั่งซื้อยามากินโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจทำให้ได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

น.ส.ตรีชฎากล่าว่า นายสมศักดิ์ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยหลังจากพบเพจเฟซบุคปลอมดังกล่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยนายวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้มีหนังสือถึงผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้สืบหาข้อมูลและบุคคลผู้กระทำผิดที่สร้างเพจปลอมแอบอ้างผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข 

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองกล่าวต่อไปว่า เพจปลอมที่แอบอ้างชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นการกระทำที่เลวร้ายมาก หากไม่ระงับยับยั้งพฤติการณ์จะนำไปสู่การลักลอบขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาตทางเวบไซต์ต่างประเทศ หรือทางสื่อออนไลน์ ไม่เพียงแต่เข้าข่ายผิดกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ยังอาจเข้าข่ายโฆษณาขายยาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 อีกด้วย

“วอนประชาชนอย่าหลงเชื่อ จะตกเป็นเหยื่อการกระทำความผิดด้วยการแอบอ้าง ชื่อและภาพของนาย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งนี้เจตนาให้ผู้บริโภคเชื่อว่าสินค้าตัวดังกล่าวได้รับการรับรองหรือรับประกันการโฆษณาขายยาปลุกเซ็กซ์ผู้ชาย เป็นการหากินบนความเดือดร้อนของคนอื่น ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้หลงเชื่อเป็นสิ่งที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก ทางอ.ย.ได้แจ้งไปยังตำรวจที่ีรับผิดชอบให้เร่งสืบหาผู้กระทำความผิด งานนี้หวังว่าทางตำรวจจะเร่งดำเนินการหาผู้กระทำความผิด น่าจะใช้เวลาไม่มากก็สามารถตามจับกุมตัวคนทำเพจปลอมมาดำเนินคดีได้ ก่อนความเสียหายจะบานปลายไปมากกว่านี้” น.ส.ตรีชฎากล่าว

27 พฤศจิกายน 2461 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศตั้ง 'กรมสาธารณสุข' ต่อมายกระดับเป็น ‘กระทรวงสาธารณสุข’ และถือเป็นวันสาธารณสุขแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รวมหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กองบัญชาการ, กองสุขศึกษา, กองสาธารณสุข, กองยาเสพติดให้โทษ, กองโอสถศาลารัฐบาล และกองบุราภิบาล เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรมสาธารณสุข’ ซึ่งในเวลานั้นมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก ถือเป็นการใช้คำว่า 'สาธารณสุข' เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย จึงได้กำหนดให้วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น ‘วันสาธารณสุขแห่งชาติ’ เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งกรมสาธารณสุข

ก่อนหน้านี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 กิจการทางการแพทย์ในประเทศไทยยังคงแบ่งออกเป็นหลายหน่วยงาน เช่น กองบัญชาการ กองสุขศึกษา กองสาธารณสุข กองยาเสพติดให้โทษ กองโอสถศาลารัฐบาล และกองบุราภิบาล โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงมหาดไทยได้มีความประสงค์ที่จะปรับปรุงกิจการด้านการแพทย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากกรมประชาภิบาลเป็นกรมสาธารณสุข และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีคนแรกของกรมสาธารณสุข

ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 กรมสาธารณสุขได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งทางราชการยังได้กำหนดให้วันที่ 27 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสาธารณสุขแห่งชาติ

'สมศักดิ์' มอบ 7 นโยบายขับเคลื่อน Medical & Wellness Hub พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วม 4 คณะแพทย์วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ATMPs

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบ 7 นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub จ่อตั้งสำนักงานดูแลโดยเฉพาะ ยกระดับหมอนวดไทยให้เชี่ยวชาญพิศษ 7 กลุ่มอาการ รวมทั้ง 'สมุนไพร-ยา-อาหาร' ของไทย รุกส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับมาตรฐานเสริมความงาม อุ้มบุญ ผ่าตัดแปลงเพศกลุ่มต่างชาติ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หรือ ATMPs พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วม 4 คณะแพทย์ส่งเสริมวิจัยและพัฒนาเพิ่มการเข้าถึงยา ATMPs ของประชาชน

(19 ก.พ.68) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub โดยได้มอบนโยบายต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และการประกาศเจตนารมณ์เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medical Products, ATMPs) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)

นายสมศักดิ์กล่าวว่า การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจและสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุขปี 2568 เพื่อยกระดับให้เป็นกระทรวงด้านสังคมควบคู่เศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ เพิ่มโอกาสสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและประเทศ ผ่านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นวดสปา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปจนถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมสุขภาพและชีวการแพทย์ ซึ่งทั้งหมดต้องมีมาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และบริการสุขภาพระดับโลก โดยจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวผ่าน 7 นโยบายสำคัญ คือ 1.การจัดตั้ง 'สำนักงานนโยบายและเศรษฐกิจสาธารณสุข (สนศส.)' เป็นหน่วยงานระดับกรม ทำหน้าที่วิเคราะห์ วิจัย และกำหนดนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพและการคลังสุขภาพ เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้คุ้มค่า สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และสร้างระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน

2.ยกระดับภูมิปัญญาไทย คือ นวดไทย โดยพัฒนาหมอนวดไทยให้เชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ คือ กลุ่มปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Office syndrome), โรคหัวไหล่ติด, โรคนิ้วล็อก, ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (ปวดสลักเพชร), หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, อัมพฤกษ์อัมพาต และกลุ่มระบบสืบพันธุ์ 3.ยกระดับสมุนไพรไทย/ยาไทย อาหารไทย ภายใต้แนวคิด "เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ" โดยผลักดันการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพ เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติรวม 106 รายการ ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกเพื่อส่งเสริมให้แพทย์สั่งจ่ายยาสมุนไพร 32 รายการใน 10 กลุ่มอาการโรคที่พบบ่อยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 10 ส่งเสริมสมุนไพรไทยและอาหารไทยต่างๆ เช่น กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ไพล ปลาส้ม/แหนมที่มีโพรไบโอติกส์-พรีไบโอติกส์ 4.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพราว 1.42 ล้านล้านบาท โดยเน้นประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เช่น สปา บ่อน้ำพุร้อน แหล่งน้ำแร่ จับคู่โรงแรมกับโรงพยาบาลในการให้บริการแพคเกจสุขภาพ พัฒนาระบบเอเยนซีขายแพคเกจสุขภาพ เพิ่มคลินิก Wellness การแพทย์และแพทย์ไทยในโรงแรม ซึ่งมีการนำร่องแล้วคือโมเดล Wellcation ของเขตสุขภาพที่ 5 และ Phuket Wellness Sandbox

5.ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ โดยปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดราว 2 แสนล้านบาท เป็นการนำเข้า 9 หมื่นล้านบาทและส่งออก 1.18 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม่ซับซ้อน ได้แก่ วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวน หลอดฉีดยา และกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ รถเข็นผู้ป่วย เบื้องต้นจะส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย เร่งรัดกระบวนการอนุมัติอนุญาตและทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียนให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อน และใช้วิธีจับคู่ระหว่างผู้วิจัยและผู้ที่จะผลิตต่อ 6.ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (ATMPs) ซึ่งทั่วโลกมีมูลค่าถึง 4.19 แสนล้านบาท คาดว่าปี 2573 จะเติบโตถึง 1.25 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลกำลังผลักดันศูนย์กลาง ATMPs ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านการแพทย์สมัยใหม่ในระดับโลก ภายในปี 2570 เนื่องจากเอกชนมีความสนใจและต้องการผลักดันอุตสาหกรรม และจะหาทางออกเพื่อลดข้อกังวลของสภาวิชาชีพในการใช้ผลิตภัณฑ์ ATMPs และ 7.การดูแลบุคคลและความงาม (Personal Care and Beauty) โดยจะขับเคลื่อน 4 เรื่อง คือ เวชศาสตร์ความงาม เน้นตรวจสอบแพทย์ต่างชาติที่เข้ามาประกอบเวชกรรมในไทย รวมถึงแพทย์เถื่อน คลินิกเถื่อน ยกระดับคลินิกความงามให้มีมาตรฐานระดับสากล เปิดหลักสูตรอบรมแพทย์เวชปฏิบัติความงามเป็นหลักสูตรกลางของประเทศ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหัตถการเสริมความงาม และพัฒนาระบบเอเยนซีให้สามารถโฆษณาเชิญชวนชาวต่างชาติมารับบริการได้, จิตเวชและพฤติกรรมบำบัดสำหรับชาวต่างชาติ, การอุ้มบุญและการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การทำ ICSI และการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ

"วันนี้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ยังได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ทั้ง 4 สถาบัน ประกาศเจตนารมณ์เพื่อร่วมมือกันทางวิชาการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ATMPs ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "ยา" ที่ออกฤทธิ์เป็นยีน เซลล์ หรือเนื้อเยื่อ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาจำนวนมาก เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงของผู้ป่วย โดยปี 2568 มีเป้าหมายให้คนไทยและชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงยา ATMPs ในไทยที่ได้มาตรฐานอย่างเหมาะสมผ่านกลไกการอนุญาตวิจัยในพื้นที่ทดลอง 5 แห่งในสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์บริการผลิตภัณฑ์ยา ATMPs แบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายสมศักดิ์กล่าว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top