Monday, 29 April 2024
กระทรวงสาธารณสุข

‘อนุทิน’ ร่วมต้อนรับ นทท.จีน เที่ยวบินแรก ย้ำ!! ไม่ต้องแสดงใบรับวัคซีนโควิด-19

(9 ม.ค. 66) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการต้อนรับผู้เดินทางเที่ยวบินแรกหลังจากจีนเปิดประเทศ ว่า เที่ยวบินแรกมาจากเซี๊ยะเหมิน จำนวน 269 คน ในวันนี้จะมีเที่ยวบินจากจีนเข้ามา 15 เที่ยวบิน จำนวน 3,465 คน คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีผู้เดินทางจากจีนเข้าไทยราว 7-10 ล้านคน จากเดิมที่ก่อนมีโควิด-19 มีราว 20 ล้านคน และผู้เดินทางจากทั่วโลกเข้าไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นสัญญาณดีต่อภาคการท่องเที่ยว คนมีงานทำ และมีโอกาส

“ทั้งหมดเข้ามาภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นมาตรการที่เหมือนกันสำหรับผู้เดินทางเข้าไทยจากทุกประเทศ และมั่นใจประเทศไทยมีความพร้อมรับผู้เดินทางจากทุกประเทศ ไม่มีการแบ่งแยกจนกว่าจะมีความจำเป็น” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับมาตรการผู้เดินทางเข้าไทยนั้น ยกเลิกการแสดงเอกสารฉีดวัคซีนโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ 9 ม.ค.2566 เป็นต้นไป เนื่องจากคณะกรรมการวิชาการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีการประชุมเมื่อช่วงเช้า มีความเห็นว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยครอบคลุมจำนวนมาก รวมถึง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่ก็มีการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว ขณะที่การกำหนดให้แสดงเอกสารฉีดวัคซีนจะทำให้เกิดความไม่คล่องตัว จึงไม่มีความจำเป็นต้องแสดง ฉะนั้น มาตรการเข้าไทยตอนนี้ คงเหลือต้องมีประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางจากประเทศที่กำหนดว่าเมื่อจะกลับเข้าประเทศนั้น ๆ จะต้องแสดงผลการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เพื่อที่หากตรวจพบเชื้อแล้วต้องรักษาในประเทศไทย จะได้มีการรองรับค่าใช้จ่าย

‘จีน’ ชม ‘อนุทิน’ ต้อนรับ นทท.จีน อบอุ่น พร้อมใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเท่าเทียม

‘นักท่องเที่ยวจีน’ ดีใจกลับมาประเทศไทยในรอบ 3 ปี รัฐมนตรีต้อนรับเที่ยวบินแรก พร้อมยืนยันมาตรการควบคุมโรคเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ

สื่อมวลชนจีนรายงานข่าว เที่ยวบิน MF833 จากเมืองเซี่ยะเหมินลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 13.17 น. วันที่ 9 มกราคม ถือเป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์หลังจากรัฐบาลจีนผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 อนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้

ผู้โดยสารในเที่ยวบินนี้ 269 คนเดินทางถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เดินทางมายังประเทศไทย

นักท่องเที่ยวจีนได้รับมอบขวัญจากคณะผู้แทนของไทย หลายคนถ่ายรูปกับรัฐมนตรีเป็นที่ระลึก นักท่องเที่ยวจีนต่างบอกว่า คิดถึงประเทศไทยเพราะไม่ได้เดินทางมาต่างประเทศนานกว่า 3 ปี นักท่องเที่ยวคาดหวังว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะพัฒนาการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง การขนส่งกระเป๋า และระบบคมนาคมสาธารณะ

'อนุทิน' ขอบคุณ อสม. ด่านหน้าดูแลสุขภาพคนไทย ยัน!! 'สาธารณสุข' มอบ 'สวัสดิการ-ดูแล' ต่อเนื่อง

(12 ม.ค. 66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้ติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ประเทศไทยประกาศปรับระดับโรคโควิด19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มาตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 โดยภาพรวมขณะนี้ถือว่ายังดีขึ้นต่อเนื่อง และรายงานล่าสุดของกรมควบคุมโรค วันที่ 1-7 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยรายใหม่ 997 คน หรือเฉลี่ยวันละ 142 คน นับว่าเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน หน่วยงานของรัฐ เอกชน ภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทินได้เน้นย้ำว่าความสำเร็จในการบริหารจัดการโควิด19 ของไทย มีส่วนสำคัญจากการทำงานหนักของบุคลากรทุกระดับ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นกองหน้าในการช่วยดูแลสุขภาพคนไทยไปถึงชุมชนระดับฐานรากทั้งในช่วงเกิดโรคระบาดและสถานการณ์ปกติ และขอบคุณพี่น้องอสม. ที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆในการดูแลคนไทยมาโดยตลอด เป็นด่านหน้าคนแรก ๆ ที่เข้าไปดูแลคนชุมชนหรือพื้นที่ห่างไกล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้อง อสม. จึงได้เน้นย้ำถึงนโยบายการดูแลและมีสวัสดิการเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ อสม. ทั่วประเทศให้ต่อเนื่องสอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด19 และสถานการณ์ปกติ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีสวัสดิการที่เป็นขวัญกำลังใจแก่ อสม.และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร(อสส.) 1,050,306 คน อาทิ ค่าตอบแทนเดือนละ 1,000 บาท ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้เพิ่มเติมอีกเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 30 เดือนหรือ 2 ปีครึ่ง ตั้งแต่ มี.ค. 63- ก.ย. 65 รวมกว่า 15,000 ล้านบาท และมีสวัสดิการดูแลสุขภาพตามรายการตรวจสุขภาพประจำปี ภายใต้ระเบียบสาธารณสุข ว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล เพื่อให้ อสม. ได้รับการตรวจสุขภาพตามช่วงวัย อาทิ การประเมินคัดกรองความดันโลหิต, ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด(Thai CV risk score), ภาวะซึมเศร้า,ภาวะเครียด  สำหรับผู้มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เพิ่มการตรวจความเข้มข้นระดับน้ำตาลในเลือด(FBS)ตรวจอุจจาระ (Stool examination)สำหรับผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงพยาธิใบไม้ตับ และกรณีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับบริการประเมินภาวะถดถอย 9 ด้าน

‘อนุทิน’ นำทัพ คณะ สธ. ร่วม 2 เวทีใหญ่ ประชุม WEF ที่สวิส - ลงนามจีโนมิกส์ที่ลอนดอน

‘อนุทิน’ นำคณะสธ. ร่วม 2 เวทีใหญ่ - ประชุม WEF ที่เมืองดาวอส-คลอสเตอร์ สมาพันธรัฐสวิส - การลงนามความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร 17-22 ม.ค. นี้

(16 ม.ค. 66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 17-22 ม.ค. 66 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข มีกำหนดการนำคณะผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วม 2 ภารกิจสำคัญใน 2 ประเทศ ประกอบด้วยการเข้าร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ณ เมืองดาวอส-คลอสเตอร์ สมาพันธรัฐสวิส และการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับการประชุม WEF ที่เมืองดาวอส-คลอสเตอร์ สมาพันธรัฐสวิส ปีนี้จัดการประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค. 66 ภายใต้หัวข้อ ‘Cooperation in a Fragmented World’ มีผู้นำระดับสูงทางการเมือง อาทิ ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีการค้า รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ว่าการธนาคารกลาง และภาคธุรกิจจากทั่วโลกตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนอกจากนายอนุทินพร้อมคณะแล้ว นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง จะเข้าร่วมในการประชุมด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โดยนายอนุทินพร้อมคณะจะเข้าร่วมประชุมในวันที่ 17-18 ม.ค. 66 ในหัวข้อ Health Systems Transformation ซึ่งที่ประชุมจะหารือกันถึงความร่วมมือระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับระบบดูแลสุขภาพที่มีความยั่งยืน และหัวข้อ The Pulling Power of ASEAN เกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่รุนแรง และบทบาทการมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งของโลกตลอดจนความร่วมมือในภูมิภาค

'อนุทิน' ตอบคำถามโควิด บนเวที World Economic Forum ชี้!! ไทยไม่เลือกปฏิบัติรับ นทท. หลังมีแผนพร้อมรับมือโควิดรัดกุม

'อนุทิน' ขึ้นเวที World Economic Forum โชว์วิสัยทัศน์ ยกบทบาทอาเซียนพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของประชาคมโลก เผย ศักยภาพไทยบริหารโควิด19 หนุนประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวทุกชาติแบบไม่เลือกปฏิบัติ

(18 ม.ค. 66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 66 ที่เมืองดาวอส-คลอสเตอร์ สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้นำคณะเข้าร่วมการประชุมในหัวข้อที่หลากหลายภายในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) และได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ความสำเร็จทางนโยบายของประเทศไทย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โดยนายอนุทิน ได้รับเชิญให้ร่วมเวทีแสดงมุมมองรัฐบาลไทยในการประชุมหัวข้อ 'The Pulling Power of ASEAN' โดยมีผู้ร่วมเวทีจากทั้งภาครัฐและเอกชนภายในและนอกอาเซียน ได้แก่ นาง Merit Janow ประธานกรรมการอิสระ มาสเตอร์การ์ด, นาย Luhut B. Pandjaitan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุน อินโดนีเซีย และ นาง Teresita Sy-Coson รองประธานกรรมการ  SM Investment Corporation, ฟิลิปปินส์

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทินได้กล่าวท่ามกลางความสนใจของที่ประชุมต่อภูมิภาคอาเซียนว่า ทุกประเทศในภูมิภาคนี้มีจุดแข็งของตัวเองและมีจุดร่วมสำคัญความสามารถในการปรับตัว อาเซียนเคยเป็นและจะยังคงเป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจ ทั้งไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนมีที่ตั้งอยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์ของจีน และนโยบายอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ แม้จะมีความตึงเครียดในภูมิภาคแต่ความสามารถในการปรับตัว และนโยบายที่ไม่แทรกแซงระหว่างกัน จะส่งผลดีต่อเสถียรภาพและประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอาเซียน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรียังได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นถึงความร่วมมือที่แนบแน่นของอาเซียนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 จนเป็นภูมิภาคที่ฟื้นตัวจากโควิด19 ได้เร็ว และได้มีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACHPEED) ขึ้นที่ประเทศไทย ด้วยตระหนักว่าหากในภูมิภาครับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพได้ดีเท่าไร เศรษฐกิจก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้นเท่านั้น เพราะไทยและอีกหลายประเทศในอาเซียนคือ ฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก และขณะนี้อาเซียนกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ BCG Model ตามที่ได้กล่าวไว้ที่ประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนพ.ย. 65 ที่ผ่านมานั่นคือ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้อาเซียนคงเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับประชาคมโลก

‘อนุทิน’ ลงนามร่วมมือ ‘สหราชอาณาจักร’ พัฒนาจีโนมิกส์ มุ่งเป้าวิจัยโรควินิจฉัยยาก - มะเร็ง - โรคติดเชื้อ

‘อนุทิน’ เป็นผู้แทนประเทศไทยลงนามความร่วมมือกับสหราชอาณาจักรพัฒนาด้านจีโนมิกส์ พุ่งเป้าวิจัยกลุ่มโรควินิจฉัยยาก มะเร็ง โรคติดเชื้อ สนับสนุนการให้บริการและส่งเสริมเป้าหมายศูนย์กลางทางการแพทย์ของไทย

(20 ม.ค. 66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 19 ม.ค. 66 ตามเวลาท้องถิ่น กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นผู้แทนประเทศไทยในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ ซึ่งในการนี้ Lord Nick Markham CBE รมช.สาธารณสุขและการดูแลทางสังคม ได้เป็นผู้แทนลงนามในฝ่ายของสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การลงนามได้มีขึ้นที่กระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคม สหราชอาณาจักร โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ประเทศเข้าร่วม ฝ่ายไทยมีผู้เข้าร่วม อาทิ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) ทางด้านสหราชอาณาจักรมีผู้เข้าร่วม อาทิ ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม, National health services (NHS), Genomics England, National health services (NHS), UK Health Security agency, และหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

นายอนุทิน กล่าวว่า MOU ฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ทางการแพทย์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งภายใต้ความร่วมมือจะมุ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยโรคหายาก มะเร็ง เภสัชพันธุศาสตร์ โรคไม่ติดต่อ และโรคติดเชื้อ

‘ลุงหนู’ ไม่ประมาท เฝ้าระวังตามแนวทางวิชาการ แม้โควิดในประเทศลด สวนทาง นทท.เข้าไทยเพิ่ม

สธ.เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 เผยเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของปี 66 ผู้ติดเชื้อใหม่ยังลดลง สวนทางจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไหลเข้าไทยเพิ่มต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีน ด้านรองนายกฯ อนุทิน ย้ำแผนเฝ้าระวังตามข้อแนะนำด้านวิชาการ

(27 ม.ค. 66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดแนวทางรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายหลังทางการประเทศจีนประกาศอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้มีการติดตามโควิด19 อย่างใกล้ชิด เพื่อมีข้อมูลนำไปสู่การบริหารจัดการที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ กรมควบคุมโรคได้รายงานข้อมูลล่าสุด ระบุให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด19 รายใหม่ ในประเทศยังคงปรับตัวลดลง สวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุถึงข้อมูลนักท่องเที่ยวล่าสุดว่าตั้งแต่วันที่ 1-21 ม.ค. 66 มีต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 1,342,365 คน โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากรัสเซีย (143,580คน) มาเลเซีย (138,737คน) เกาหลีใต้ (111,522คน) อินเดีย (68,609คน) และ ลาว (56,517คน) ตามลำดับ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 15-21 ม.ค. 66 ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่3 ของปี 66 ในการรายงานสถานการณ์โควิด19 พบว่า มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 627 ราย เฉลี่ยวันละ 90 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (8-14ม.ค.) ที่มีผู้ป่วยใหม่ 969 คน เฉลี่ยวันละ 138 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตตลอดสัปดาห์อยู่ที่ 44 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่เสียชีวิต 65 ราย

“เฉพาะชาวต่างชาติทุกสัญชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8-21 ม.ค. 2566 พบผู้ติดเชื้อ 8 คน โดยมีอาการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1 คน และที่เหลือส่วนใหญ่ไม่มีอาการ สัญชาติที่ตรวจพบเชื้อ อันดับ 1 คือ จีน 3 คน เมียนมา กัมพูชา ญี่ปุ่น อังกฤษและเกาหลีใต้ ประเทศละ 1 คน และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเฝ้าติดตามสายพันธุ์ของโควิด19 ก็รายงานว่าสายพันธุ์ที่พบในไทยขณะนี้ ร้อยละ 86 คือนสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75 ส่วนที่เหลือเป็นสายพันธุ์อื่นที่เคยพบในต่างประเทศ”รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

‘ศุภชัย’ มองเกม ‘ก้าวไกล’ ค้านย้าย ‘หมอสภัทร’ เข้าตำรา ‘น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า’ ของคนพวกเดียวกัน

‘ศุภชัย ใจสมุทร’ ตั้งข้อสังเกต ‘ก้าวไกล’ ออกตัวคัดค้าน ย้าย ‘หมอสุภัทร’ เข้าตำรา น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ชี้ โยกย้ายข้าราชการโดยไม่กลั่นแกล้งถือเป็นเรื่องปกติ

กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งย้ายนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ จากผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ประธานชมรมแพทย์ชนบทไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งไม่ห่างไกลกันมากนัก

ต้องยอมรับความจริงว่า ในช่วงที่นายแพทย์สุภัทร นั่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ได้ปรับปรุงระบบบริการ การบริหารจัดการโรงพยาบาลจะนะไปมากจนเป็นที่พอใจของประชาชน

อีกบริบทหนึ่งของนายแพทย์สุภัทร คือการขับเคลื่อนทางสังคมในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ ที่มีเยาวชนกลุ่มรักษ์บ้านเกิดจะนะ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการคัดค้าน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การผลักดันของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อให้เกิดเมืองต้นแบบของเหลี่ยมเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ เป็นหนึ่งในสี่ของเมืองเหลี่ยมเศรษฐกิจ

ถ้านิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะเกิดขึ้นจริง จะเกิดการลงทุนหลายแสนล้าน เกิดการจ้างงานหลายหมื่นอัตรา จะเกิดท่าเรือ ภายใต้การลงทุนของภาคเอกชน

แต่เมื่อมีกลุ่มคัดค้าน ทางภาครัฐก็ต้องรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน ทำให้โครงการนี้ยังชะลออยู่ โดยอยู่ระหว่างการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (SEA) โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2565 สศช.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการจัดทำ SEA แผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี วงเงินค่าจ้าง 28.22 ล้านบาท 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเริ่มต้นศึกษา SEA แผนแม่บทฯดังกล่าว ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 โดยใช้เวลาศึกษานาน 18 เดือน หรือแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567 ขณะที่การจัดทำ SEA ครั้งนี้ จะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรวม 40 เวที และมีผู้เข้าร่วมฯไม่น้อยกว่า 3,000 คน แบ่งเป็นปี 2566 จำนวน 32 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,100 คน และปี 2567 จำนวน 8 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 900 คน 

'สภาพัฒน์ฯ' พยายามที่จะให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทในครั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้ง และความซ้ำซ้อนในการทำงานลง เบื้องหากแผ่นแม่บทการพัฒนาพื้นที่สงขลา และ ปัตตานีแล้วเสร็จ จะมีการคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้สภาพัฒน์ฯคาดกการณ์ว่า หากแผนออกมาแล้วจะเกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

สภาพัฒน์ใช้คำว่า แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่สงขลา-ปัตตานี เข้าใจได้ว่ายังไม่เลือกพื้นที่ แต่ประชาชนทั่วไปรับรู้กันหมดแล้วว่า จะเกิดขึ้นในสามตำบลของอำเภอจะนะ ย่านตำบลตลิ่งชัน ต.สะกอม นั่นแหละ

‘ก้าวไกล’ ขวางย้าย ‘หมอสุภัทร’ 

โดย 'ก้าวไกล' ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วย ปมย้าย 'หมอสุภัทร' พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ทบทวนคำสั่ง

โดยแถลงการณ์ระบุว่า พรรคก้าวไกลขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว และขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการโยกย้ายด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากนายแพทย์สุภัทรเป็นข้าราชการที่ทำงานเป็นปากเสียงแทนประชาชน มีความกล้าหาญในการแสดงความเห็นคัดค้านผู้มีอำนาจ และเปิดเผยข้อมูลสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนคำสั่งดังกล่าวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชน

ด้านนายแพทย์สุภัทร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุตอนหนึ่งว่า ปี 2563 ผมรับภารกิจเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทอีกตำแหน่งหนึ่ง ทำหน้าที่ทักท้วงเสนอแนะเรื่องราวใน สธ. อาทิ การไม่เห็นด้วยต่อนโยบายกัญชาเสรี การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การบริหารจัดการโควิดและวัคซีน การไม่ลงนามงบส่งเสริมป้องกันปี 2566 หรือ การซื้อ ATK ที่มีข้อสงสัย สิ่งเหล่านี้สร้างความหงุดหงิดต่อใครบางคน จนนำมาสู่คำสั่งให้ย้ายผมให้ได้ก่อนยุบสภา

จริง ๆ การจะย้ายผมไม่ยากเลย เพียงแค่ปลัดกระทรวงสั่งย้ายตามอำนาจที่ท่านมี (แต่ต้องมีเหตุมีผลด้วยนะ) แต่เพราะตำแหน่งผมเป็นตำแหน่งวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ไม่มีเกณฑ์ที่ต้องถูกย้ายตามวาระ เหตุความผิดที่ต้องถูกย้ายก็ไม่มี ผมเองก็ไม่ได้สมัครใจย้าย ปลัดกระทรวงจึงไม่กล้าเซ็นเอง เพราะกลัวผิดกฎหมายอาญา ม. 157 ก็เลยต้องมีการสั่งการให้ผู้ตรวจราชการเป็นคนเซ็น ใครลงนามจะได้เลื่อนชั้นรวดเร็ว เรื่องราวจึงโกลาหล

เมื่อการโยกย้ายนายแพทย์สุภัทร มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง พรรคก้าวไกลคัดค้านเรียกร้องให้ทบทวน เจ้าตัวก็ไม่เต็มใจ แต่อาชีพรับราชการการโยกย้ายถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งแห่งหนใดก็สามารถแสดงความคิดเห็น จุดยืนได้อยู่แล้ว นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย จึงออกมาตั้งข้อสังเกตผ่านโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Suphachai  Jaismut) ว่า 

‘ลุงหนู’ โต้!! ปมย้าย ‘หมอสุภัทร’ ไม่เกี่ยวการเมือง ถาม!! ‘แพทย์ชนบท’ ต้องช่วยพัฒนาพื้นที่ มิใช่หรือ?

(27 ม.ค. 66) จากกรณีที่ นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ.ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 125/2566 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 โยกย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จะนะ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.สะบ้าย้อย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สงขลา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป ต่อมา นพ.สุภัทร ได้ออกมาให้ความเห็นว่าเป็นการโยกย้ายที่มีประเด็นการเมืองแอบแฝง 

ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการของฝ่ายข้าราชการประจำ และตนก็ไม่ขอก้าวก่ายการทำงานกัน เพราะเป็นอำนาจของท่านปลัดฯ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัฐมนตรี ซึ่งตามหลักการ การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนภารกิจหน้าที่ เป็นเรื่องปกติในระบบราชการ โดยหาก นพ.สุภัทร บอกว่าตัวเองมีผลงาน มีความเก่ง ก็ยิ่งดีใหญ่ จะได้ไปพัฒนา รพ.ที่ต้องการพัฒนา ยิ่งได้คนเก่งไป ยิ่งเป็นผลดีกับชาวบ้าน กับกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อถามถึงกรณี พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งย้าย โดยตั้งข้อสังเกต เป็นการโยกย้ายด้วยเหตุผลทางการเมือง นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าหากคนที่ไม่เข้าใจ ก็อาจคิดว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่คนที่เข้าใจจะรู้ว่าเป็นเรื่องของการทำงาน เป็นอำนาจของปลัด สธ.ในการบริหารจัดการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ทำไมไม่มองว่าการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนภารกิจ หน้าที่ เป็นเรื่องปกติในระบบราชการ

“หากนพ.สุภัทร บอกว่าตัวเองมีผลงาน มีความเก่ง ก็ยิ่งดีใหญ่ จะได้ไปพัฒนา รพ.ที่ต้องการพัฒนา ยิ่งได้คนเก่งไป ยิ่งเป็นผลดีกับชาวบ้าน กับ สธ. อย่าง 2 ปีที่แล้ว ที่ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ย้ายจาก ผอ.รพ.ขอนแก่น ไป รพ.ร้อยเอ็ด มีประเด็นเกิดขึ้น มีการบอกว่าแย่แน่นอน แต่ทุกวันนี้ รพ.ร้อยเอ็ด กลายเป็น รพ.ที่มีประสิทธิภาพ เรื่องนี้อยู่กับบุคคล คนเก่งไปอยู่ไหนก็ได้ เหมือนรัฐมนตรีฯ อยู่ไหนก็ทำความเจริญได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกย้ายไปไหน ถ้าเรามีความมั่นใจว่า ตอนที่เราอยู่ เราทำความเจริญ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เราไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาทำอะไร หลังจากที่เราย้ายไปแล้ว เวลาที่ใครถูกย้ายแล้วโวยวาย ส่วนใหญ่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ทำอะไรไว้หรือไม่ แล้วกลัวคนมาตรวจสอบ” นายอนุทิน กล่าว

'หมอเอก' เตือน 'หมอสุภัทร' อย่าตีโพยตีพายปมโยกย้าย แนะ!! ให้ความร่วมมือแจงเรื่องจัดซื้อ ATK ที่ค้างคาดีกว่า

เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.66) นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงการย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จะนะ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.สะบ้าย้อย ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่เห็นต้องออกมาตีโพยตีพาย ‘เล่นใหญ่’ เพราะมีข้อกล่าวหา หลายเรื่องมีพรรคการเมืองมาออกแถลงการณ์เรื่องย้าย ผอ.โรงพยาบาล ยิ่งน่าสงสัยไปกันใหญ่ว่าใครกันที่โยงการเมือง

"ไม่เห็นว่าการที่ ผอ. โรงพยาบาลซักคนจะย้ายแปลกตรงไหน การที่ย้ายแล้วตีโพยตีพายเล่นใหญ่นี่น่าสงสัยมากกว่า เวลากรรมาธิการสาธารณสุขเชิญมาให้ข้อมูล เชิญมาชี้แจง เห็นบ่ายเบี่ยงไม่ยอมมาโดยตลอด แต่ชอบเหลือเกินเวลาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ชอบเวลาออกข่าวโจมตีกระทรวงสาธารณสุข"

นพ.เอกภพ กล่าวว่า เรื่องที่ค้างสอบสวนอยู่เพราะไม่เคยได้รับความร่วมมือในการชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเช่น การจัดซื้อ ATK ด้วยวิธีพิเศษ แล้วนำมาใช้ตรวจให้คนที่กรุงเทพ, การเบิกจ่าย ค่ารักษาผู้ป่วย home isolation ด้วยการตั้งเบิกที่มีข้อสงสัยหลายประเด็น, เรื่องที่วิจารณ์การโยกย้ายผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข ที่น่าสงสัยว่าพวกพ้องตัวเองไม่ได้ประโยชน์เลยตีโพยตีพาย

"ไหนๆ ก็ชอบโพสต์ชอบพูดเรื่องการเมืองอยู่แล้วก็มาลงสมัครรับเลือกตั้งไปเลยก็ได้" นพ.เอกภพ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top