Monday, 29 April 2024
กระทรวงสาธารณสุข

‘อนุทิน’ พร้อมชะลอมาตรการคลายล็อก หลังยอดติดเชื้อโควิดกลับมาพุ่งอีกรอบ

4 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น จากคลัสเตอร์ร้านอาหาร สถานบันเทิง ระบุว่า 

เมื่อมีผู้ละเลยมาตรการ การติดเชื้อย่อมเกิดขึ้นได้ ผู้ที่ละเลย มีตั้งแต่ผู้ประกอบการ ไปจนถึงผู้มาใช้บริการ ถ้าคิดแต่เรื่องสนุก ไม่คำนึงถึงคนอื่น ก็ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้ส่วนรวม ตอนนี้ ขอให้คิดถึงคนอื่นให้มาก ส่วนภาครัฐ ก็ต้องไล่สืบสวน ควบคุมโรคกันต่อไป น่าเสียดาย เพราะโรคนี้ มันจัดการได้ แต่ขอให้ไม่ประมาท สำหรับผู้ที่ป่วย ภาครัฐรักษาให้อยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้ใครป่วย เพราะเดือดร้อนกันหมด คลัสเตอร์ที่เกิดขึ้น ต้องไปดูว่า ทำผิดตรงไหน แล้วใครรับผิดชอบ ผับบาร์ ที่มาจดทะเบียนเปิดเป็นร้านอาหารนั้น เปิดเป็นร้านอาหารจริงหรือไม่ 

สธ. ยกระดับเตือนภัยโควิด ระดับ 4 เล็งปิดสถานที่เสี่ยง-ชะลอข้ามจังหวัด-ให้ WFH

วันที่ 6 มกราคม 2565 ที่จังหวัดภูเก็ต นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า สรุปสถานการณ์โรคโควิด-19 ขณะนี้อัตราการป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตลดลงจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดมากขึ้นจากการเข้าใช้บริการสถานที่ปิด ผับ บาร์ จัดงานเลี้ยง งานบุญ ก็มีผล ดังนั้นประชาชนที่กลับมาให้สังเกตตัวเอง หากทำงานที่บ้านได้ 14 วันจะเป็นการดี จังหวัดก็ดำเนินการตามกฎหมาย

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศเพิ่มระดับการเตือนจากเดิมอยู่ที่ระดับ 3 เป็นระดับ 4 จะมีมาตรการต่างๆ ตามมา เช่น อาจจะปิดสถานที่เสี่ยงแพร่โรค เพิ่มมาตรการควบคุมโรคให้เกิดความปลอดภัย ให้ทำงานที่บ้าน การเดินทางต่างๆ ไปต่างจังหวัดก็ชะลอเพราะการเคลื่อนย้ายของคนก็ทำให้เกิดการแพร่โรคได้ จำกัดการรวมกลุ่มต่างๆ

สธ.ประเมินสถานการณ์ ‘โอมิครอน’ ลาม 2 เดือน แต่จะค่อยๆ ลดลง พร้อมคุมอยู่ภายใน 1 ปี

สธ. งัด 4 มาตรการรับมือโอมิครอน มุ่งชะลอการระบาดให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ คาดระบาดอย่างน้อย 2 เดือน จ่อลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ปีนี้โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น หากอัตราตายลดเหลือ 0.1% จังหวัดยอดพุ่งอีก 2 สัปดาห์ค่อยๆ ลด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รุจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 65 ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า แผนรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกมกราคม 2565 หรือโอมิครอน มี 4 มาตรการ คือ 

1.) มาตรการสาธารณสุข จะมุ่งชะลอการระบาดเพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ ฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทานให้ประชาชน คัดกรองตนเองด้วย ATK ติดตามเฝ้าระวังกลายพันธุ์ 

2.) มาตรการการแพทย์ มุ่งเน้นใช้ระบบดูแลที่บ้านและชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) ระบบสายด่วนประสานการดูแลผู้ติดเชื้อ ช่องทางด่วนส่งต่อเมื่อมีอาการมากขึ้น และเตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ โดยในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ยังมีประสิทธิภาพดีในการรักษาผู้ติดโควิด-19 ถ้าเริ่มต้นให้เร็วรวมถึงโอมิครอนด้วย ขณะนี้มีสำรองประมาณ 158 ล้านเม็ด

3.) มาตรการสังคม ประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (UP : Universal Prevention) และสถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด (COVID Free Setting) 

และ 4.) มาตรการสนับสนุน ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่างๆ 

ทั้งนี้ ในปี 2565 จะก้าวเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 โดยเชื้อลดความรุนแรง ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน และชะลอการแพร่ระบาด

ผู้สื่อข่าวถามว่า โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การจะเป็นโรคประจำถิ่นเกิดจากลักษณะตัวโรคลดความรุนแรงลง ประชาชนมีภูมิต้านทาน ระบบรักษามีประสิทธิภาพ ลดอัตราป่วยหนัก เพื่อให้อัตราเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำมาก สาเหตุที่โควิดเป็นโรคระบาดรุนแรง เพราะอัตราเสียชีวิตสูงถึง 3% และค่อยๆ ลดลง หากลดมาถึง 0.1% ก็จะเข้าข่ายโรคประจำถิ่นได้ ส่วนอีกนานหรือไม่ ตนได้ปรึกษากับกรมควบคุมโรคว่า ขณะนี้เป็นระลอกโอมิครอนที่จะอยู่ประมาณ 2 เดือนจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง เกิดพีคเล็กๆ ไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ หากการจัดการวัคซีนดี ประชาชนร่วมฉีดให้มีภูมิต้าน โรคไม่กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่รุนแรงมากขึ้น ก็คาดว่าภายในปีนี้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคพิจารณาลดวันกักตัว กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งเดิมจะต้องกักตัวนาน 14 วัน ซึ่งนานกว่ากรณีคนติดเชื้อที่รักษาในรพ. ที่อยู่ที่ 10 วัน จึงให้พิจารณาดูว่าสามารถลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7 วันได้หรือไม่ รวมถึงการปรับนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใหม่ หากใส่หน้ากากอนามัยถือเป็นสัมผัสเสี่ยงต่ำ แต่หากสัมผัสระหว่างที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยจึงจะถือเป็นสัมผัสเสี่ยงสูง

ส่อง 5 ระดับเตือนภัยโควิด ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ประเมินสถานการณ์ ขณะนี้ไทยอยู่ระดับ 4

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุข ประเมินสถานการณ์และประกาศแจ้งการเตือนภัยด้านสาธารณสุขเป็นระดับ 4 หลังยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบเตือนภัยจะมีทั้งหมด 5 ระดับ คือ 

ระดับ 1 ใช้ชีวิตได้ปกติ แบบ COVID-19 Free Setting 

ระดับ 2 เร่งเฝ้าระวัง คัดกรอง เลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม 1,000 คนขึ้นไป 

ระดับ 3 จำกัดการรวมกลุ่ม ทำงานจากที่บ้าน 20 - 50% คัดกรองก่อนเดินทาง เลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม 200 คนขึ้นไป 

ระดับ 4 ปิดสถานที่เสี่ยง ทำงานจากที่บ้าน 50 - 80% ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ ใช้ระบบกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ

ระดับ 5 จำกัดการเดินทางและกิจกรรมต่างๆ รวมถึงเคอร์ฟิว ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรการตามระดับเตือนภัยทั้ง 5 ระดับด้วย

‘อนุทิน’ ดันต่อรักษาโควิดตามสิทธิ หวังสร้างระบบการรักษาที่ชัดเจน

‘อนุทิน’ ดันต่อประกาศรักษาโควิดตามสิทธิ หวังสร้างความชัดเจนระบบรักษา เพิ่มเตียงผู้ป่วยอาการหนัก ยัน ไม่ขัด ครม. พร้อมทำความเข้าใจปชช.

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอ สธ. ทำความเข้าใจประชาชน กรณีออกประกาศให้ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตามสิทธินั้น ประกาศดังกล่าว เป็นอำนาจของ สธ. ที่ต้องนำเข้า ครม. เพราะของบประมาณไว้ดูแลผู้ป่วยเกณฑ์สีเหลือง และเกณฑ์สีแดง แต่ในเมื่อมีการทักขึ้นมาว่าหากประกาศไปแล้ว จะทำให้สังคมวิตกกังวล และขอให้ไปทำความเข้าใจกับประชาชน ถึงเหตุและผลของการออกประกาศ เราก็พร้อมปฏิบัติตาม 

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวนั้น คือ การทำให้เรื่องของการรักษาผู้ป่วยเกณฑ์สีเขียว เหลือง แดง มีความชัดเจนขึ้น สำหรับผู้ป่วยเกณฑ์สีเขียว ต้องรักษาในระบบกักตัวที่บ้าน หรือในชุมชน ขึ้นอยู่กับความสะดวก ผู้ป่วยเกณฑ์สีเหลือง เกณฑ์สีแดง ถึงจะได้เข้ารักษาในสถานพยาบาล ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของโรคก่อนว่า ปัจจุบัน ผู้ป่วย 80% ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยมาก หากเราให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เข้าถึงเตียงได้หมด แล้วต่อมามีผู้ป่วยอาการหนักเข้ามา จะทำอย่างไร

“อนุทิน” ยัน ระบบสธ.พร้อมรับสถานการณ์ ย้ำไม่ถอดสิทธิที่ปชช.ควรได้รับ ชี้ ยอดติดเชื้อลด เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีที่นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลง กลางเดือนมี.ค.นี้ ว่า เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ โดยคณะแพทย์ทั้งหลาย ทั้งแพทย์จากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมร่วมกันตลอดเวลาโดยมาตรการและวิธีการที่ออกมา ไม่ได้ออกมาจากการพิจารณาของคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นความเห็นร่วมกัน ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน 

ทั้งนี้ประชาชนต้องได้ประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุด ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเช่นกัน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าการรักษาพยาบาล และมีทรัพยากรเพียงพอ ทั้งยา เตียง แพทย์ เจ้าหน้าที่และบุคลากรสำหรับการปรับวิธีการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด ไม่มีเรื่องใดที่จะถอดสิทธิที่ประชาชนเคยได้ แต่เป็นการปรับวิธี ให้เกิดความมั่นคง และเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขมากที่สุด

สธ. เปิดแผน นำโควิดออกจากโรคระบาด ดีเดย์ 1 ก.ค. 65 ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมประกาศโควิด เข้าสู่โรคประจำถิ่น 1 ก.ค. ระหว่างนี้ 4 เดือน มี.ค.-มิ.ย. คุมโรค ตัวเลขผู้ป่วยเสียชีวิตลดลงจนเป็นที่ยอมรับได้ คาดปลาย มิ.ย. เหลือป่วย 1-2 พันคน 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบวางแผนและกรอบการเข้าสู่โควิดเป็นโรคประจำถิ่น และเตรียมวางแผนการรักษา การดูแลผู้ป่วย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ในระหว่างนี้ประชาชนยังต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มาตรการป้องกันตนเองส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ มีระยะห่าง และยังต้องรณรงค์ให้กลุ่มคน 608 ทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ เข็ม 3-4 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ เพราะจะเห็นว่าข้อมูลของผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนี้ และเป็นผู้ที่มีอาการรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากยังมีผู้สูงอายุถึง 2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 

นายอนุทิน กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ปรับมาเหล่านี้ต้องสอดคล้องกันหมด ทั้งการรักษา การจ่ายยาเวชภัณฑ์   อัตราตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ และเสียชีวิต ต้องเป็นที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานสากล จึงสอดคล้องกับเมื่อวานนี้ ที่ ครม. เห็นชอบเรื่อง UCEP PLUS ที่ให้ผู้ป่วยสีเขียว เข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation และให้คนป่วยสีเหลือง สีแดง ยังรับบริการรักษาฉุกเฉินทุกที่ จนกว่าจะหายดี ซึ่งจะมีผลในวันที่ 16 มี.ค. ส่วนเรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์โรคหากควบคุมโรคได้ก็ไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.ก. ยืนยันนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้มีสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นกัน

สธ. เซ็นจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด 5 หมื่นคอร์ส เผย ลดเสี่ยงป่วยหนัก - ตาย จากโควิดได้ถึง 88%

24 มี.ค. 65 - นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคติดเชื้อโควิด-19 มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้าง และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การพัฒนาวิธีการรักษารวมถึงการจัดหายารักษาโควิด-19 จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการจัดหายารักษาโควิด-19 ที่สำคัญ คือ การเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลในการรักษา โดยมีข้อมูลทางวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อพิจารณาเลือกและจัดหายาที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย

‘อนุทิน’ รับมอบ ‘แพ็กซ์โลวิด’ ล็อตแรก คาดส่งให้ผู้ป่วยสูงวัยที่ติดโควิดหลังสงกรานต์

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานพิธีส่งมอบยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ น.ส.เด็บบราห์ ไซเฟิร์ท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในจำนวนการจัดซื้อ 50,000 คอร์ส รวม 1.5 ล้านเม็ด กำหนดทยอยส่งมอบให้ครบภายในเดือนเม.ย. ซึ่งมีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้รับจัดเก็บและกระจายยาลงพื้นที่แต่ละจังหวัด

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงยารักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิผล มีข้อมูลทางวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อพิจารณาเลือกและจัดหายาที่เหมาะสมในการนำมาใช้กับผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยโควิด ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาตัวใหม่ที่กำลังนำมาใช้ คือ ยาแพ็กซ์โลวิด ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้รักษาโควิดโดยตรง ไม่ใช่เป็นเพียงยาต้านไวรัสทั่วไป ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ติดเชื้อที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปส่วนหนึ่งยังมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ สธ. โดยกรมการแพทย์ ดำเนินการจัดซื้อจัดหายาที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตลง ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นทางเลือกแต่เพื่อสร้างความมั่นคงทางยา ให้ประชาชนมั่นใจว่าเรามียาครบถ้วนและเพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยทุกอาการ โดยจะกระจายยาลงไปยังแต่ละจังหวัด ในโรงพยาบาลศูนย์ และให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการยาต่อไป

“แม้เราจะมียาดีอย่างไร สู้กับการไม่เจ็บป่วยไม่ได้ ฉะนั้นขอให้ประชาชนยังคงมาตรการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างและล้างมือ ลดเข้ากิจกรรมเสี่ยง และฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน” นายอนุทินกล่าว

ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้ตอบคำถามกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมจัดซื้อยามาในปริมาณเพียง 50,000 คอร์ส ว่า ประเทศไทยรักษาผู้ป่วยมากกว่า 2 ล้านคน แต่ละคนมีอาการต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่จะอาการไม่รุนแรง ฉะนั้นขอให้มั่นใจว่ายาแต่ละขนานที่แพทย์ให้มาจากหลักวิชาการ เราไม่ต้องไปบอกแพทย์ว่าเราจะรับยาอะไร ผู้ป่วยจะต้องเชื่อแพทย์ที่จะจ่ายยาที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วย ยืนยันว่าไม่ได้ซื้อน้อย เพราะไม่ได้ซื้อเพียงครั้งเดียว หากพบว่ามีความจำเป็นเราก็พร้อมจะจัดซื้อเพิ่มให้เหมาะสมเพียงพอ

“ไม่มีคำว่าขี้เหนียว เก็บรักษาเอาไว้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ทุกอย่างเป็นไปตามการรักษาโดยดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งยาทุกชนิดที่นำมาใช้กับผู้ป่วยทั้งต้านไวรัสหรือยาแก้ไอ ลดน้ำมูกทั่วไป ยาฟ้าทะลายโจร ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ยาแพ็กซ์โลวิดหรือฟาวิพิราเวียร์ทุกคน ยิ่งไม่ได้รับ ก็ต้องถือว่าผู้ป่วยมีสุขภาพดี อาการไม่รุนแรง เป็นสิ่งที่น่ายินดี เพื่อให้เราเก็บยาไว้รักษาผู้ที่มีความจำเป็น” นายอนุทินกล่าว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยยาแพ็กซ์โลวิดในผู้ป่วย 1,379 คน พบว่า ช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาล (รพ.) หรือเสียชีวิตลงได้ 88% เมื่อผู้ป่วยได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยกลุ่มที่ได้ยานอน รพ. 0.77% และไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอนรพ. 6.31% และมีผู้เสียชีวิต 13 คน ถือว่ามีประสิทธิผลสูง ซึ่งยาแพ็กซ์โลวิด จะนำไปใช้รักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น คนอายุมากกว่า 60 ปี มีภาวะอ้วน เป็นเบาหวาน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคไตเรื้อรัง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เป็นต้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในรพ.

สธ. ไฟเขียว ลดวันกักตัว กลุ่มเสี่ยงเหลือ 5 วัน จ่อเสนอ ศบค. ประกาศใช้หลังสงกรานต์

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจาก 7 วัน เหลือ 5 วัน ติดตามอาการ 5 วัน จ่อเสนอ ศปก.ศบค.พิจารณาใช้หลังสงกรานต์นี้

วันนี้ (11 เม.ย.) ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในทุกจังหวัดแต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมากในกลุ่มสีเหลืองและสีแดงต้องเข้ารักษาตัวใน รพ.อัตราครองเตียงประมาณ 30% ซึ่ง สธ. ได้เตรียมพร้อมยาต้านไวรัสที่จะใช้รักษาผู้ป่วยโควิด ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพ็กซ์โลวิด รวมถึงจัดหาเวชภัณฑ์ซึ่งเป็นสารภูมิคุ้มกันชนิดออกฤทธิ์ยาว หรือ Long acting antibodies

สำหรับฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยงและมีภูมิคุ้มกันต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจนมีอาการหนักด้วย ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด ภาพรวมไปแล้วกว่า 130 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรกกว่า 80% เข็มที่สอง 73% และเข็มที่สาม 35% แต่ยังมีผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยติดเตียงจำนวนหนึ่งที่เดินทางไม่สะดวกทำให้ยังไม่ได้รับวัคซีน ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจึงมีการรณรงค์ “Save 608 by booster dose” เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ โดยให้เจ้าหน้าที่ร่วมกับอสม. ออกสำรวจ และให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกถึงบ้านโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเสียชีวิต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top