สธ.ประเมินสถานการณ์ ‘โอมิครอน’ ลาม 2 เดือน แต่จะค่อยๆ ลดลง พร้อมคุมอยู่ภายใน 1 ปี

สธ. งัด 4 มาตรการรับมือโอมิครอน มุ่งชะลอการระบาดให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ คาดระบาดอย่างน้อย 2 เดือน จ่อลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ปีนี้โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น หากอัตราตายลดเหลือ 0.1% จังหวัดยอดพุ่งอีก 2 สัปดาห์ค่อยๆ ลด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รุจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 65 ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า แผนรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกมกราคม 2565 หรือโอมิครอน มี 4 มาตรการ คือ 

1.) มาตรการสาธารณสุข จะมุ่งชะลอการระบาดเพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ ฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทานให้ประชาชน คัดกรองตนเองด้วย ATK ติดตามเฝ้าระวังกลายพันธุ์ 

2.) มาตรการการแพทย์ มุ่งเน้นใช้ระบบดูแลที่บ้านและชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) ระบบสายด่วนประสานการดูแลผู้ติดเชื้อ ช่องทางด่วนส่งต่อเมื่อมีอาการมากขึ้น และเตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ โดยในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ยังมีประสิทธิภาพดีในการรักษาผู้ติดโควิด-19 ถ้าเริ่มต้นให้เร็วรวมถึงโอมิครอนด้วย ขณะนี้มีสำรองประมาณ 158 ล้านเม็ด

3.) มาตรการสังคม ประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (UP : Universal Prevention) และสถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด (COVID Free Setting) 

และ 4.) มาตรการสนับสนุน ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่างๆ 

ทั้งนี้ ในปี 2565 จะก้าวเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 โดยเชื้อลดความรุนแรง ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน และชะลอการแพร่ระบาด

ผู้สื่อข่าวถามว่า โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การจะเป็นโรคประจำถิ่นเกิดจากลักษณะตัวโรคลดความรุนแรงลง ประชาชนมีภูมิต้านทาน ระบบรักษามีประสิทธิภาพ ลดอัตราป่วยหนัก เพื่อให้อัตราเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำมาก สาเหตุที่โควิดเป็นโรคระบาดรุนแรง เพราะอัตราเสียชีวิตสูงถึง 3% และค่อยๆ ลดลง หากลดมาถึง 0.1% ก็จะเข้าข่ายโรคประจำถิ่นได้ ส่วนอีกนานหรือไม่ ตนได้ปรึกษากับกรมควบคุมโรคว่า ขณะนี้เป็นระลอกโอมิครอนที่จะอยู่ประมาณ 2 เดือนจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง เกิดพีคเล็กๆ ไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ หากการจัดการวัคซีนดี ประชาชนร่วมฉีดให้มีภูมิต้าน โรคไม่กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่รุนแรงมากขึ้น ก็คาดว่าภายในปีนี้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคพิจารณาลดวันกักตัว กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งเดิมจะต้องกักตัวนาน 14 วัน ซึ่งนานกว่ากรณีคนติดเชื้อที่รักษาในรพ. ที่อยู่ที่ 10 วัน จึงให้พิจารณาดูว่าสามารถลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7 วันได้หรือไม่ รวมถึงการปรับนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใหม่ หากใส่หน้ากากอนามัยถือเป็นสัมผัสเสี่ยงต่ำ แต่หากสัมผัสระหว่างที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยจึงจะถือเป็นสัมผัสเสี่ยงสูง

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จังหวัดที่พบติดเชื้อสูงคือ ชลบุรี สมุทรปราการ กทม. แนวโน้มเริ่มชะลอตัว หากลดกิจกรรมเสี่ยง ลดการเคลื่อนที่จะลดการแพร่ระบาด อย่างคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ขณะนี้ผู้ติดเชื้อลด ควบคุมได้ เกิดจากความร่วมมือของประชาชน งดกิจกรรมเสี่ยง ส่วนที่ชลบุรี ภูเก็ต ขณะนี้มีการตรวจเชิงรุกมากขึ้น นำรถตรวจโควิดพระราชทานลงไปเพื่อควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ให้ดีขึ้น หากเคร่งครัดทุกมาตรการที่รัฐกำหนดรวมถึงการฉีดวัคซีน คาดภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากจะสามารถคุมสถานการณ์ได้ ทั้งนี้ ขอให้เข้ารับวัคซีนซึ่งขณะนี้มีเพียงพอในสต็อกมีแอสตร้าเซนเนก้ามากกว่า 10 ล้านโดส และไฟเซอร์มากกว่า 10 ล้านโดส 

นพ.โอภาส กล่าวถึงการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า หากเทียบการระบาดระลอกเดือนเม.ย. 64 ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสูงสุดกว่า 100 คน ในขณะที่เดือนม.ค. 65 มีการระบาดของโอมิครอนเพิ่มขึ้น โดยพบว่าในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดวันละ 30-40 ราย ถือว่ามากพอควร ซึ่งเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คือ มีการติดเชื้อจากที่บ้านมีกิจกรรมร่วมกัน กินอาหารร่วมกัน จากนั้นก็มาแพร่เชื้อต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมีการกินอาหารร่วมกัน และไม่ใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้น จึงขอย้ำมาตรการในหน่วยงานเคร่งครัดมากขึ้น คือ ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามรับประทานอาหารร่วมกัน ให้ต่างคนต่างกิน และตรวจ ATK เป็นระยะอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งหรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หรือตรวจเมื่อมีอาการ รวมทั้งหากมีอาการเป็นไข้หวัดก็ไม่ต้องมา พร้อมทั้งที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีนเข็ม 4 โดยบุคลากรที่ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไปแล้ว 3 เดือนให้มาฉีดเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

“ขณะนี้มีโรงพยาบาลบางแห่งปิดบางแผนก ซึ่งไม่ได้อยากให้ปิด จึงขอให้เคร่งครัดมาตรการ เพื่อจะได้ให้บริการแก่ประชาชน และขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เรามีมาตรการต่างๆ รองรับ” นพ.โอภาสกล่าว


ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/social/981784