Thursday, 16 May 2024
โรคประจำถิ่น

สธ. ยัน ยังไม่มีคนติดโอไมครอนแล้วดับ ชี้ โควิดเริ่มคล้ายไข้หวัดใหญ่ ใกล้เป็นโรคประจำถิ่น

สธ. ชี้ยังไม่มีติดโอไมครอนแล้วดับ แต่แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า ไทยถือเป็นประเทศที่ 47 ที่เจอ ระบุโควิดเริ่มเหมือนไข้หวัดใหญ่ ใกล้เป็นโรคประจำถิ่น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และสายพันธุ์โอไมครอน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 64 ว่า สถานการณ์ทั่วโลกยอดติดเชื้อหลังระบาดใหญ่มาเกือบ 2 ปี มีผู้ป่วยยืนยัน 266 ล้านคน ติดเชื้อใหม่ยังสูง 4-5 แสนคน ทวีปอเมริกาและยุโรปเป็นจุดใหญ่ระบาดช่วงธ.ค. นี้ ส่วนผู้เสียชีวิต 5.27 ล้านคน อัตราเสียชีวิตลดลงจาก 2% กว่า เหลือ 1.98% เพราะมีความรู้ดูแลรักษาดีขึ้น มียารักษาดีขึ้น และวัคซีนทำให้ลดอาการรุนแรง

ส่วนเอเชียแนวโน้มลดลง ยกเว้นเวียดนามและเกาหลีใต้ ที่มีแนวโน้มสูงอยู่ ส่วนไทยติดเชื้อใหม่ 4,000 คน มาจากต่างประเทศ 7 คน ติดเชื้อในประเทศ 3,993 คน หายป่วย 6,450 คน ถือว่าหายมากกว่าติดเชื้อใหม่มาเกือบเดือน อาการหนักเหลือ 1,259 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 330 คน แนวโน้มลดลง

ส่วนเสียชีวิตลดลงเรื่อย ๆ วันนี้รายงาน 22 คน การฉีดวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต แม้ส่วนใหญ่คนรับวัคซีนแล้ว แต่มีคนไม่น้อยกังวลผลข้างเคียง ทั้งนี้ เรามีวัคซีนมากพอ บูสเตอร์เข็ม 3 มาเกือบ 4 ล้านคนแล้ว คนที่ยังลังเลใจ ขอมาช่วยกันฉีดวัคซีนจะได้ปลอดภัย อัตราเสียชีวิตจะได้ลดน้อยลงมากที่สุด

นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์การระบาดในยุโรปและอเมริกามีมาก ดังนั้น การเปิดประเทศเราจึงคัดกรองผู้เดินทางค่อนข้างรัดกุม ผ่าน 3 ระบบ คือ Test&Go ในผู้เดินทาง 63 ประเทศ หากไม่พบเชื้อเดินทางได้ภายใต้การติดตาม เงื่อนไขคือฉีดวัคซีนครบ มีผลตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ระบบแซนด์บ็อกซ์ และระบบกักตัว ซึ่งระบบ Test&Go และแซนด์บ็อกซ์ เราตรวจพบอัตราติดเชื้อ 0.02% ซึ่งจากความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน จึงช่วยกันควบคุมการเกิดโรคไม่ให้เกิดการระบาดในไทยได้ดี

ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ของโควิดเราพบตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือกลายพันธุ์แล้วทำให้แพร่เร็วขึ้น รุนแรงมากขึ้น ดื้อต่อยารักษายา และวัคซีนประสิทธิภาพลดลงหรือไม่ ที่ผ่านมามีการกลายพันธุ์ที่สำคัญ 4 ตัว คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งไทยเจอ 3 สายพันธุ์ ตอนนี้คือเดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก ที่ระบาดเร็ว อาการรุนแรงมากขึ้น วัคซีนลดประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต

ส่วนที่ประกาศล่าสุด คือ โอไมครอน ซึ่งเรียกได้ทั้ง โอมิครอน หรือ โอไมครอน ถือว่าผ่านไป 1 ปีเพิ่งมีสายพันธุ์ที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรม

นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้รูปแบบการระบาดของโควิดจะใกล้เคียงหวัดใหญ่ในอดีต ที่เมื่อระบาดเยอะ ๆ จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงดูลดน้อยลง อย่างโอไมครอน เมื่อติดตามทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่ายังไม่มีเสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้แม้แต่รายเดียว ซึ่งตรงกับหลายหน่วยงานที่ระบุว่า ความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอน น้อยกว่าเดลตามาก

สำหรับต้นกำเนิดโอไมครอนเกิดที่แถบแอฟริกาใต้ เมื่อปลายต.ค. - ต้นพ.ย. มีการพุ่งขึ้นของผู้ป่วย จึงไปดูรหัสพันธุกรรมพบมีการกลายพันธุ์ จึงรายงานองค์การอนามัยโลก เพื่อเตือนประชาชนทั่วโลกว่าพบสายพันธุ์ใหม่ มีการประกาศจับตาใกล้ชิด

ซึ่ง 1 เดือนทั่วโลกมีการหาสายพันธุ์นี้ ขณะนี้พบ 46 ประเทศ ล่าสุดเติมประเทศไทยเป็นประเทศที่ 47 แต่ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งมีในแถวแอฟริกาใต้ กับการติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งไทยเป็นการติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้ามา และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโอไมครอน

“หลังรับทราบสายพันธุ์โอไมครอน ประเทศไทยเพิ่มมาตรการห้ามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศแถบแอฟริกาใต้ งดการเดินทางผู้มาจากแอฟริกาทั้งทวีป และคนเข้ามาแล้วจากต่างประเทศให้ตรวจหาเชื้อโอไมครอนทุกราย เพื่อหาผู้ป่วยรวดเร็ว ส่วนกรณีข่าวผู้ป่วยที่สถาบันบำราศนราดูรมีสายพันธุ์โอไมครอน เป็นหญิงแอฟริกัน ตรวจพบสายพันธุ์เดลตา อาการปกติดี ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง” นพ.โอภาสกล่าว

ส่วนเคสยืนยันสายพันธุ์โอไมครอนรายแรก เป็นชาวอเมริกัน อายุ 35 ปี อาศัยอยู่สเปน 1 ปี เป็นนักธุรกิจ ไม่มีอาการ มีผลตรวจ RT-PCR วันที่ 28 พ.ย.ไม่พบ จึงเดินทางมาไทยวันที่ 29 พ.ย. มาถึงตรวจอีกครั้งโดยพบเชื้อวันที่ 1 ธ.ค. ส่งยืนยันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเข้ารับการรักษา รพ.แห่งหนึ่ง พบว่าอาการน้อยมาก แทบไม่มีอาการ ซึ่งคนนี้ไม่มีอาการ ปฏิเสธโรคประจำตัว และไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

ตอนแรกรับอาการทุกอย่างปกติ ทั้งผลเอกซเรย์ ผลเลือดปกติ แต่ตรวจเจอเชื้อ จากการไปตรวจสอบบุคคลนี้ระวังตัวเองสูง ใส่หน้ากากตลอดเวลา จึงไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ขณะนั่งเครื่องบินก็นั่งคนเดียว ไม่ได้นั่งติดกับคนข้าง ๆ อยู่โรงแรมในระบบ Test&Go ก็ใส่หน้ากากตลอดเวลา
 

สธ.ประเมินสถานการณ์ ‘โอมิครอน’ ลาม 2 เดือน แต่จะค่อยๆ ลดลง พร้อมคุมอยู่ภายใน 1 ปี

สธ. งัด 4 มาตรการรับมือโอมิครอน มุ่งชะลอการระบาดให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ คาดระบาดอย่างน้อย 2 เดือน จ่อลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ปีนี้โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น หากอัตราตายลดเหลือ 0.1% จังหวัดยอดพุ่งอีก 2 สัปดาห์ค่อยๆ ลด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รุจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 65 ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า แผนรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกมกราคม 2565 หรือโอมิครอน มี 4 มาตรการ คือ 

1.) มาตรการสาธารณสุข จะมุ่งชะลอการระบาดเพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ ฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทานให้ประชาชน คัดกรองตนเองด้วย ATK ติดตามเฝ้าระวังกลายพันธุ์ 

2.) มาตรการการแพทย์ มุ่งเน้นใช้ระบบดูแลที่บ้านและชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) ระบบสายด่วนประสานการดูแลผู้ติดเชื้อ ช่องทางด่วนส่งต่อเมื่อมีอาการมากขึ้น และเตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ โดยในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ยังมีประสิทธิภาพดีในการรักษาผู้ติดโควิด-19 ถ้าเริ่มต้นให้เร็วรวมถึงโอมิครอนด้วย ขณะนี้มีสำรองประมาณ 158 ล้านเม็ด

3.) มาตรการสังคม ประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (UP : Universal Prevention) และสถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด (COVID Free Setting) 

และ 4.) มาตรการสนับสนุน ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่างๆ 

ทั้งนี้ ในปี 2565 จะก้าวเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 โดยเชื้อลดความรุนแรง ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน และชะลอการแพร่ระบาด

ผู้สื่อข่าวถามว่า โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การจะเป็นโรคประจำถิ่นเกิดจากลักษณะตัวโรคลดความรุนแรงลง ประชาชนมีภูมิต้านทาน ระบบรักษามีประสิทธิภาพ ลดอัตราป่วยหนัก เพื่อให้อัตราเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำมาก สาเหตุที่โควิดเป็นโรคระบาดรุนแรง เพราะอัตราเสียชีวิตสูงถึง 3% และค่อยๆ ลดลง หากลดมาถึง 0.1% ก็จะเข้าข่ายโรคประจำถิ่นได้ ส่วนอีกนานหรือไม่ ตนได้ปรึกษากับกรมควบคุมโรคว่า ขณะนี้เป็นระลอกโอมิครอนที่จะอยู่ประมาณ 2 เดือนจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง เกิดพีคเล็กๆ ไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ หากการจัดการวัคซีนดี ประชาชนร่วมฉีดให้มีภูมิต้าน โรคไม่กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่รุนแรงมากขึ้น ก็คาดว่าภายในปีนี้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคพิจารณาลดวันกักตัว กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งเดิมจะต้องกักตัวนาน 14 วัน ซึ่งนานกว่ากรณีคนติดเชื้อที่รักษาในรพ. ที่อยู่ที่ 10 วัน จึงให้พิจารณาดูว่าสามารถลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7 วันได้หรือไม่ รวมถึงการปรับนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใหม่ หากใส่หน้ากากอนามัยถือเป็นสัมผัสเสี่ยงต่ำ แต่หากสัมผัสระหว่างที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยจึงจะถือเป็นสัมผัสเสี่ยงสูง

สธ. เปิดแผน นำโควิดออกจากโรคระบาด ดีเดย์ 1 ก.ค. 65 ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมประกาศโควิด เข้าสู่โรคประจำถิ่น 1 ก.ค. ระหว่างนี้ 4 เดือน มี.ค.-มิ.ย. คุมโรค ตัวเลขผู้ป่วยเสียชีวิตลดลงจนเป็นที่ยอมรับได้ คาดปลาย มิ.ย. เหลือป่วย 1-2 พันคน 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบวางแผนและกรอบการเข้าสู่โควิดเป็นโรคประจำถิ่น และเตรียมวางแผนการรักษา การดูแลผู้ป่วย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ในระหว่างนี้ประชาชนยังต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มาตรการป้องกันตนเองส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ มีระยะห่าง และยังต้องรณรงค์ให้กลุ่มคน 608 ทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ เข็ม 3-4 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ เพราะจะเห็นว่าข้อมูลของผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนี้ และเป็นผู้ที่มีอาการรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากยังมีผู้สูงอายุถึง 2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 

นายอนุทิน กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ปรับมาเหล่านี้ต้องสอดคล้องกันหมด ทั้งการรักษา การจ่ายยาเวชภัณฑ์   อัตราตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ และเสียชีวิต ต้องเป็นที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานสากล จึงสอดคล้องกับเมื่อวานนี้ ที่ ครม. เห็นชอบเรื่อง UCEP PLUS ที่ให้ผู้ป่วยสีเขียว เข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation และให้คนป่วยสีเหลือง สีแดง ยังรับบริการรักษาฉุกเฉินทุกที่ จนกว่าจะหายดี ซึ่งจะมีผลในวันที่ 16 มี.ค. ส่วนเรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์โรคหากควบคุมโรคได้ก็ไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.ก. ยืนยันนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้มีสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นกัน

ไทม์ไลน์ ปรับโควิด-19 เป็น โรคประจำถิ่น

ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น โดยได้แบ่งระยะการดำเนินการเป็น 4 ระยะด้วยกัน ดังนี้

•ระยะที่ 1 เป็นระยะขาขึ้น คือระยะที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) เรียกว่า Combatting ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกไป การดำเนินการให้กักตัวลดลง

'ไทย' เตรียมแผนปรับโควิดสู่โรคประจำถิ่น เชื่อ มุ่งฟื้นเศรษฐกิจ แม้ยังกังวลผู้ติดเชื้อ

23 มี.ค. 65 สำนักข่าว Voice of America สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ Thailand Aiming for Endemic Status as More Travel Restrictions Lifted ว่าด้วยความพยายามของทางการไทย ในการเปลี่ยนสถานะของไวรัสโควิด-19 จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ลดความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคลงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ท่ามกลางความกังวลของผู้คนอีกไม่น้อย

ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2565 กระทรวงสาธารณสุขของไทย ประกาศตั้งเป้าให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในเดือน ก.ค. 2565 ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข้อกำหนดให้ชาวต่างชาติที่จะเดินทางไปประเทศไทยต้องมีผลตรวจคัดกรองไม่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ก็ถูกประกาศยกเลิก อย่างไรก็ตาม อนันต์ จงแก้ววัฒนา (Anan Jongkaewwattana) นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้เตือนว่า ยังคงต้องระมัดระวังต่อไป

“เราต้องพูดกันให้ชัดว่าโรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่ามันจะรุนแรงน้อยกว่าสิ่งที่พบระหว่างที่เป็นโรคระบาดใหญ่ สำหรับผม โรคประจำถิ่นหมายความว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่งที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ” อนันต์ กล่าว

ประเทศไทยยังคงต่อสู้กับสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จากเชื้อกลายพันธุ์สายโอมิครอน เช่น ในวันที่ 18 มี.ค. 2565 ที่พบผู้ติดเชื้อ 27,071 คน ทำสถิติติดเชื้อรายงานสูงที่สุด แต่อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ค่อนข้างสูง นับตั้งแต่เริ่มการฉีดวัคซีนในปี 2564 ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 127 ล้านเข็ม ซึ่งนับตั้งแต่เข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3 หรือ 4)

แกรี โบเวอร์แมน (Gary Bowerman) นักวิเคราะห์การท่องเที่ยวของทวีปเอเชีย ที่อาศัยอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องระมัดระวังในการตั้งเป้าหมายในอนาคต เนื่องจากโควิด-19 นั้นคาดเดาไม่ได้ แม้เดือน ก.ค. 2565 คือการกำหนดเป้าหมาย แต่ก็ทราบกันดีตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ว่าการกำหนดเส้นตายที่ยากและรวดเร็วนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยง

“สถานะโรคประจำถิ่น เป็นเรื่องเล็กน้อยในการสื่อสารกับสาธารณชนเพื่อพยายามเปลี่ยนวิธีคิดภายในประเทศ เป็นการปลุกเร้าอารมณ์ครั้งสำคัญ สถานการณ์ที่ประเทศประสบอยู่คือการปิดตัวอย่างสมบูรณ์ยาวนานถึง 2 ปี และตอนนี้ได้เปิดแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดครั้งใหญ่ แม้มันไม่ได้อยู่ที่แต่ละประเทศจะบอกว่าเป็นโรคประจำถิ่น แต่เป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ผมก็เข้าใจได้ว่าทำไมรัฐบาลถึงทำแบบนั้น” โบเวอร์แมน กล่าว

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยพยายามหาทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 เป็นต้นมา ด้วยโครงการ Test&Go ที่ตัดขั้นตอนการกักตัวออกไป แต่โครงการต้องถูกหยุดไว้ชั่วคราวในเดือน ธ.ค. 2564 จากการเริ่มตรวจพบไวรัสโควิด-19 สายโอมิครอน อันเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ในเวลานั้น ก่อนที่ต้นปี 2565 จะกลับมาดำเนินโครงการต่ออีกครั้ง และได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้วหลายแสนคน ถึงกระนั้นก็ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกเรื่องหนึ่ง คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ชาวรัสเซียที่เป็นอีกกลุ่มซึ่งนิยมไปเที่ยวประเทศไทยลดจำนวนลง

‘อนุทิน’ คาด!! โควิดพุ่งแน่หลังสงกรานต์ แต่ยังเดินหน้าโรคประจำถิ่น ตามแพทย์ชง!! 

4 เม.ย. 65 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการห้ามเล่นสาดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ช่วงนี้ผ่อนคลายมาตรการออกมาเยอะ แต่ธรรมชาติของการติดเชื้อโควิด-19 คือการสัมผัส การรวมกลุ่มใกล้ชิด และการใช้ภาชนะร่วมกัน ทั้งนี้ การสาดน้ำแบบสมัยก่อนจะมีการนำมือลงไปกวนแป้งดินสอพอง ใช้มือประแป้ง และใช้ขันน้ำร่วมกัน แต่จะไปบอกว่าให้ใส่ถุงมือเล่นน้ำสงกรานต์เป็นไม่ได้อยู่แล้ว จึงขอความร่วมมือให้ทำตามประเพณี และวัฒนธรรมที่ดี จึงสามารถรดน้ำโดยไม่ต้องสาดก็ได้

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กต่ำกว่า 5 ปี จึงจะเร่งเข้าไปฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ โดยใช้วิธีเชิงรุก ไม่ต้องรอให้มาหาที่สถานบริการพยาบาล และขณะนี้ฉีดวัคซีนไปเยอะจนมั่นใจว่าไม่ได้ทำอันตรายต่อร่างกาย จึงไม่ต้องมานั่งสังเกตอาการ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ เด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขณะนี้พบว่าติดเชื้อจำนวนมาก จึงอยากฝากให้พ่อแม่และผู้ปกครอง งดพาเด็กเล็กไปโรงพยาบาล เพราะเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคหลายอย่าง ส่วนคนทั่วไปยังต้องเฝ้าระวังตัวเองให้ดี จึงขอย้ำให้ฉีดวัคซีนเพราะจะป้องกันการเจ็บป่วยร้ายแรง

'ดร.สันต์' คาด!! โควิดโลกเตรียมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ก.ค.นี้ หลัง 'ตายลด-ไม่เกิดสายพันธุ์ใหม่' mRNA Gen2 กำลังมา

ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Sunt Srianthumrong' คาดการณ์โควิดทั่วโลกเข้าสู่โรคประจำถิ่นในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ว่า...

Covid-19: Global Good News ข่าวดีที่สุดในรอบ 2 ปี โลกกำลังเข้าใกล้ Endemic มากๆ แล้วครับ 

ข่าวดีที่ 1:
สัปดาห์นี้ผู้เสียชีวิตเฉลี่ยต่อวันทั่วโลกลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2,000 คนต่อวันแล้ว เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2020 

แม้ว่าหลายประเทศจะเพิ่งเปลี่ยนวิธีการนับผู้เสียชีวิตแล้วตัวเลขลดลง แต่หลายๆ ประเทศก็นับด้วยวิธีที่ตัวเลขน้อยมานานแล้ว ในภาพใหญ่ตัวเลขที่ต่ำลงนี้จึงเป็นตัวเลขระดับต่ำลงที่แท้จริง และกราฟลงอย่างมั่นคงมาก

ข่าวดีที่ 2:
จำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยต่อวันลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 1 เดือนมา 3 เดือนแล้ว 

4 มี.ค. 2022 อยู่ที่ระดับ 8,000 คน/วัน
5 เม.ย. 2022 อยู่ที่ระดับ 4,000 คน/วัน
4 พ.ค. 2022 อยู่ที่ระดับ 2,000 คน/วัน

ทำให้คาดการณ์ได้ว่า...

4 มิ.ย. 2022 น่าจะลงไปอยู่ที่ระดับ 1,000 คน/วัน
4 ก.ค. 2022 น่าจะลงไปอยู่ที่ระดับ 500 คน/วัน

โลกน่าจะเข้าสู่ Endemic ในช่วงตั้งแต่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป ยกเว้นที่จีน ที่คุมการระบาดรอบใหม่ได้แล้ว น่าจะปิดประเทศต่อไปอีก 1 ปี

ข่าวดีที่ 3:
เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ครบ 6 เดือนแล้วไม่เกิด New Variant of Concern (VOC) สายพันธุ์ย่อยที่เกิดแตกต่างจาก Omicron เดิมน้อยมาก

เป็นไปได้สูงว่า เราจะ End Game กันที่ Omicron นี่แหละครับ

‘หมอมนูญ’ เผยพบคนไข้โควิดเพิ่มขึ้น วอนทบทวนกำหนดโควิด-19เป็นโรคประจำถิ่น

หมอมนูญ ตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเด็นกำหนด (1 ก.ค.) จัดโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น วอนทบทวนใหม่หลังพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น แนะเลื่อนจนกว่าสถานการณ์คลี่คลายจะดีกว่า ชี้แม้ฉีดเข็ม 5 ตอนนี้ก็เสี่ยงติด แค่ไม่ตายเท่านั้น

วันนี้ (30 มิ.ย.) หรือ นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ‘หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC’ ในประเด็น วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โควิด-19 จะกลายเป็นแค่โรคประจำถิ่นได้จริงหรือ โดยระบุข้อความว่า

"วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ไทยกำลังก้าวเข้าสู่การพ้นการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ไวรัสโควิด-19) เป็นโรคประจำถิ่นตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขจริงหรือ ถ้าจะเลื่อนวันประกาศไปอีกสักพักจนสถานการณ์คลี่คลายกว่านี้ก็น่าจะดี ทุกโรงพยาบาลใน กทม.ขณะนี้รับคนไข้โรคโควิดเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลวิชัยยุทธต้องกลับมาเปิดหอผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีก 1 วอร์ด หลังจากที่เคยปิดไปแล้ว ผู้ป่วยที่รับมาการรักษาส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้

ขอให้ทุกคนกลับไประมัดระวังตัวเพิ่มขึ้น ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และพิจารณาว่าถึงเวลาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือยัง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top