'ไทย' เตรียมแผนปรับโควิดสู่โรคประจำถิ่น เชื่อ มุ่งฟื้นเศรษฐกิจ แม้ยังกังวลผู้ติดเชื้อ

23 มี.ค. 65 สำนักข่าว Voice of America สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ Thailand Aiming for Endemic Status as More Travel Restrictions Lifted ว่าด้วยความพยายามของทางการไทย ในการเปลี่ยนสถานะของไวรัสโควิด-19 จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ลดความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคลงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ท่ามกลางความกังวลของผู้คนอีกไม่น้อย

ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2565 กระทรวงสาธารณสุขของไทย ประกาศตั้งเป้าให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในเดือน ก.ค. 2565 ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข้อกำหนดให้ชาวต่างชาติที่จะเดินทางไปประเทศไทยต้องมีผลตรวจคัดกรองไม่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ก็ถูกประกาศยกเลิก อย่างไรก็ตาม อนันต์ จงแก้ววัฒนา (Anan Jongkaewwattana) นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้เตือนว่า ยังคงต้องระมัดระวังต่อไป

“เราต้องพูดกันให้ชัดว่าโรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่ามันจะรุนแรงน้อยกว่าสิ่งที่พบระหว่างที่เป็นโรคระบาดใหญ่ สำหรับผม โรคประจำถิ่นหมายความว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่งที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ” อนันต์ กล่าว

ประเทศไทยยังคงต่อสู้กับสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จากเชื้อกลายพันธุ์สายโอมิครอน เช่น ในวันที่ 18 มี.ค. 2565 ที่พบผู้ติดเชื้อ 27,071 คน ทำสถิติติดเชื้อรายงานสูงที่สุด แต่อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ค่อนข้างสูง นับตั้งแต่เริ่มการฉีดวัคซีนในปี 2564 ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 127 ล้านเข็ม ซึ่งนับตั้งแต่เข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3 หรือ 4)

แกรี โบเวอร์แมน (Gary Bowerman) นักวิเคราะห์การท่องเที่ยวของทวีปเอเชีย ที่อาศัยอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องระมัดระวังในการตั้งเป้าหมายในอนาคต เนื่องจากโควิด-19 นั้นคาดเดาไม่ได้ แม้เดือน ก.ค. 2565 คือการกำหนดเป้าหมาย แต่ก็ทราบกันดีตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ว่าการกำหนดเส้นตายที่ยากและรวดเร็วนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยง

“สถานะโรคประจำถิ่น เป็นเรื่องเล็กน้อยในการสื่อสารกับสาธารณชนเพื่อพยายามเปลี่ยนวิธีคิดภายในประเทศ เป็นการปลุกเร้าอารมณ์ครั้งสำคัญ สถานการณ์ที่ประเทศประสบอยู่คือการปิดตัวอย่างสมบูรณ์ยาวนานถึง 2 ปี และตอนนี้ได้เปิดแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดครั้งใหญ่ แม้มันไม่ได้อยู่ที่แต่ละประเทศจะบอกว่าเป็นโรคประจำถิ่น แต่เป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ผมก็เข้าใจได้ว่าทำไมรัฐบาลถึงทำแบบนั้น” โบเวอร์แมน กล่าว

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยพยายามหาทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 เป็นต้นมา ด้วยโครงการ Test&Go ที่ตัดขั้นตอนการกักตัวออกไป แต่โครงการต้องถูกหยุดไว้ชั่วคราวในเดือน ธ.ค. 2564 จากการเริ่มตรวจพบไวรัสโควิด-19 สายโอมิครอน อันเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ในเวลานั้น ก่อนที่ต้นปี 2565 จะกลับมาดำเนินโครงการต่ออีกครั้ง และได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้วหลายแสนคน ถึงกระนั้นก็ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกเรื่องหนึ่ง คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ชาวรัสเซียที่เป็นอีกกลุ่มซึ่งนิยมไปเที่ยวประเทศไทยลดจำนวนลง

นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป ชาวต่างชาติที่จะเข้าประเทศไทยไม่ต้องตรวจโควิดแบบ RT-PCR ก่อนออกเดินทาง ซึ่งเป็นความพยายามเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โบเวอร์แมน กล่าวว่า ตนมองเห็นเป้าหมายของทางการไทยได้อย่างชัดเจน นั่นคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้นหากพวกเขาสามารถลดเงื่อนไขลงได้ย่อมไม่ลังเลที่จะทำ แต่ตัวแปรสำคัญคือไวรัส

ในปี 2562 อันเป็นปีสุดท้ายของโลกในสภาวะปกติก่อนจะเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ปีนั้นการท่องเที่ยวครองสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยประมาณร้อยละ 11 และชาวไทยร้อยละ 20 ทำงานอยู่ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยถึงขั้นถดถอยไปร้อยละ 6.1 ก่อนจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 จากการกลับมาของนักท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

นอกจากประเทศไทย บรรดาเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็เริ่มทยอยกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง อาทิ กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่มาเลเซียประกาศเปิดประเทศในเดือน เม.ย. 2565 ทั้งนี้ แม้ไทยจะลดมาตรการลง แต่บางอย่างก็ยังทำให้นักท่องเที่ยวเหนื่อยล้า นั่นคือการตรวจ RT-PCR ครั้งแรกเมื่อเดินทางเข้าไทย จากนั้นตรวจซ้ำด้วยวิธี ATK ในวันที่ 5 ที่อยู่ในไทย หากพบว่าติดเชื้อ ก็จะต้องเข้าสู่สถานที่กักกันและรักษาโรคที่ทางการไทยกำหนด

โบเวอร์แมน มองว่า ยังคงมีความกลัวของนักท่องเที่ยวที่อยู่เหนือการควบคุม เพราะหากพบว่าติดเชื้อ จะไม่มีทางเลือกที่ให้กักตัวอยู่ในโรงแรมเป็นเวลา 6 วัน แล้วปล่อยตัวในวันที่ 7 นั่นคือความอันตรายของไวรัสโควิด-19 และมันได้ถูกฝังลึกในจิตสำนึกของผู้คน จึงไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนนโยบายที่เกี่ยวกับโควิด-19 สู่ความเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งไม่เพียงการทำงานของระบบสาธารณสุข แต่รวมทั้งหมดตั้งแต่การรักษา การเดินทางและการใช้ชีวิตที่จะต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และตนเห็นว่า สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วยังห่างจากจุดนั้น


ขอบคุณเรื่องจาก voanews
ที่มา : https://www.naewna.com/inter/643113