Tuesday, 23 April 2024
โอมิครอน

นราธิวาส - ผบ.กองกำลังเทพสตรี ตรวจช่องทางธรรมชาติ หวั่น!! โควิด ‘โอมิครอน’ แพร่ข้ามชาติ

พล.ต.วรเดช เดชรักษา ผบ.กองกำลังเทพสตรี/ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ได้เดินทางมายังด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก เพื่อเป็นประธานประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.อ.กำธร ศรีเกตุ รอง ผบ.ฉก.นราธิวาส พ.ต.ท.ธีระโชติ  ปฐมวณิชกะ ผบ.ร้อย ตชด.447 เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร เจ้าหน้าที่ทหารพราน ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทหารชุดควบคุมป้องกันชายแดน ในการวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน OMICRON ที่พบการแพร่ระบาดในประเทศมาเลเซีย

ซึ่งในที่ประชุม พล.ต.วรเดช เดชรักษา ผบ.กองกำลังเทพสตรี/ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ได้รับฟังการบรรยายสรุปของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยว โดยภาพรวมมีมาตรการที่เคร่งครัด สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าตั้งอยู่ในความประมาท เนื่องจากทราบว่า สายพันธุ์ติดโดยง่ายและไม่มีการแสดงอาการให้เห็น ซึ่งทุกคนถือว่าสุ่มเสี่ยงอย่าตั้งอยู่ในความประมาท

โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กองกำลังที่ถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่แนวพรมแดน ทั้ง ตชด. ชุดควบคุมป้องกันชายแดน เจ้าหน้าที่ทหารพราน เราได้ปฏิบัติหน้าที่มากว่า 2 ปีแล้ว ต้องพยายามสร้างการข่าวและดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ในการชี้เบาะแสเพื่อทำลายเครือข่ายกลุ่มขบวนการคนนำพาโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่ลักลอบเข้าตามช่องทางธรรมชาติ เพราะคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงในการนำพาโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาแพร่ระบาด จึงถือว่าการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคได้ถูกจุด

ต่อมา พล.ต.วรเดช เดชรักษา ผบ.กองกำลังเทพสตรี/ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ได้เดินทางไปเยี่ยมกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามช่องทางธรรมชาติ บริเวณบ้านน้ำตก ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางธรรมชาติ ที่กลุ่มขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าว ลักลอบหลบหนีข้ามแดนจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้พบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กองกำลัง

US-WHO ข้อมูลตรงกัน เคส 'โอมิครอน' พบอาการป่วยแค่เล็กน้อย เบากว่าเชื้อ 'เดลตา'

รายงานฉบับหนึ่งจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอนกลุ่มแรก ๆ ในสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดมีอาการเล็กน้อย ส่วนใหญ่แค่ไอหรือน้ำมูกไหล สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่บอกว่า แม้โอมิครอนจะแพร่เชื้อง่ายกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตา และลดประสิทธิภาพของวัคซีน แต่ก่ออาการเบากว่า

การค้นพบของซีดีซีที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (10 ธ.ค.) มอบเบาะแสในเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์โควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ซึ่งเวลานี้พบแล้วอย่างน้อย 25 รัฐทั่วอเมริกา แม้พวกผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปอย่างชัดเจนว่าแนวโน้มการแพร่ระบาดของมันในประเทศแห่งนี้จะออกไปในทิศทางไหน

รายงาน 5 หน้าของซีดีซีเป็นการสังเกตอาการคนไข้ 43 รายในสหรัฐฯ ที่ยืนยันว่าติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอน โดยมากกว่าครึ่งเป็นคนหนุ่มสาว อายุระหว่าง 18 ถึง 39 ปี และในนั้นมีที่ป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพียงคนเดียว

ข้อมูลของซีดีซีระบุด้วยว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อนั้นมากกว่า 3 ใน 4 เป็นคนที่ฉีดวัคซีนครบเข็มแล้ว และในนั้น 1 ใน 3 ยังฉีดเข็มกระตุ้นแล้วด้วย นอกจากนี้แล้ว ยังมีอยู่ 6 รายเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และ 1 ใน 3 เร็ว ๆ นี้เคยเดินทางไปยังต่างประเทศ

ในรายงานระบุว่า อาการที่พบเห็นได้ทั่วไปคือไอ เหนื่อยล้า และคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล

มีคนไข้ที่ฉีดวัคซีนแล้วรายหนึ่งอาการหนักถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ใช้เวลาพักรักษาตัวเพียง 2 วัน และไม่มีรายงานการเสียชีวิต

การค้นพบนี้เป็นไปตามกรอบข้อมูลในเบื้องต้นจากแอฟริกาใต้ ซึ่งแพทย์บางส่วนระบุว่าตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้ดูเหมือนจะก่ออาการเบากว่าในคนไข้ที่ติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานได้มีคำเตือนบางอย่าง โดยซีดีซีชี้ว่า มันอาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก่อนอาการรุนแรงจะปรากฏขึ้นในบรรดาผู้ติดเชื้อบางคน แต่คาดการณ์ว่าบุคคลที่ฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการเบากว่า เช่นเดียวกับบุคคลที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาก่อน

แพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซีให้คำจำกัดความรายงานดังกล่าวว่าเป็น "จุดเริ่มต้น" พร้อมระบุเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐบาลกลางจะเดินหน้าติดตามตัวกลายพันธุ์โอมิครอนอย่างใกล้ชิด ในขณะที่พวกผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ายังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปใด ๆ

"สาธิต" รับ โอมิครอน มีโอกาสแพร่ในไทย  เล็งระดมฉีดบูทเข็ม 3 ด้าน  ชี้ ชิงลต.ซ่อมเป็นสิทธิ์แต่ละพรรค ระบุ พรรคใหญ่แข่งกัน ต้องประเมินผลได้-ผลเสีย-คุ้มค่าหรือไม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาธิตปิตุเตชะ รมช. สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ เกี่ยวกับมาตรการการท่องเที่ยว การทำโซนสีจังหวัด จากสีแดงมาเป็นสีส้ม ให้มากที่สุด และแผนการบริหารจัดการวัคซีนในปี 65 ซึ่งจะมีการบูทเข็ม 3 ให้เร็วขึ้น รวมถึงการจัดงานเทศกาลปีใหม่ ที่จะต้องมีการฉีดวัคซีน 2 เข็ม 

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ประชุมเป็นห่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19สายพันธุ์โอมิครอน ที่อาจจะรวมกับสายพันธุ์เดลต้าหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ไม่มีข้อมูล เรื่องการกลายพันธุ์ เพราะปัจจุบันเชื้อโอมิครอน ยังไม่สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง ยังสามารถควบคุมได้ เพราะเรามีมาตรการที่เข้มข้น แต่หากมีอาการรุนแรง หรือสัดส่วนคนติดเชื้อสูงก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล ทั้งนี้เราต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เยอะที่สุด
 
เมื่อถามว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงหรือสั่งการอะไรในที่ประชุมหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า นายกฯไม่ได้เป็นห่วงอะไร แต่ให้ระมัดระวังไม่ให้การ์ดตก

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ยอดติดเชื้อในประเทศไทยมีทั้งหมดกี่ราย นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้ยืนยันแล้วมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน 8 ราย และอีก 3 ราย มีความเสี่ยงสูง ซึ่งหากตรวจกลุ่มนี้อย่างละเอียดแล้ว ผลยืนยันก็จะเป็นเชื้อโอมิครอน 

“บิ๊กตู่” ย้ำ ไม่เปลี่ยนแปลงมาตรการใด แม้อังกฤษจะเกิดการเสียขีวิตจากเชื้อโอมิครอนแล้ว “ระยุ”สธ.ศบค.เฝ้าติดตามอยู่

ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นานธรกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ถึงการประเมิน สถานการณ์และการปรับเปลี่ยนมาตรการหรือไม่หลังเกิดกรณีผู้ป่วยชาวอังกฤษเสียชีวิตจากโควิดโอมิครอนว่า เรื่องดังกล่าวนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่ากระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. ได้รับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วโดยได้พิจารณาและติดตาม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการอะไรจากที่ประชุม ศบค.วานนี้(13 ธ.ค.)

‘หมอยง’ เชื่อ ‘โอมิครอน’ ระบาดถึงไทยแน่ ชี้ มีโอกาสเกิดคลัสเตอร์ใหม่ กระจายตัวเร็ว

‘หมอยง’ ยกบทเรียนต่างประเทศ โควิด-19 สายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ กระจายทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เชื่อประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น ในอนาคตอันใกล้นี้ จะเลยปีใหม่หรือไม่ยังไม่ทราบ และมีโอกาสที่จะเกิดเป็นคลัสเตอร์ กระจายอย่างรวดเร็ว 

วันนี้ (20 ธ.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan หัวข้อ โควิด-19 โอมิครอน มาแน่ ไม่อยากได้เป็นของขวัญปีใหม่ โดยระบุว่า

เมื่อมองย้อนอดีตสายพันธุ์อังกฤษ แอลฟา ระบาดในอังกฤษตั้งแต่ปลายปี 2563 พบผู้ป่วยเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เป็นชาวอังกฤษ เดือนมกราคม 2564 ทุกคนที่เข้ามาจะต้องกักตัว 14 วัน เราควบคุมได้ดี จนกระทั่งปลายเดือนมีนาคม ก็เข้าสู่ประเทศไทยจนได้ โดยเข้ามาทางชายแดนด้านตะวันออก

สายพันธุ์อินเดีย เกิดในประเทศอินเดีย เดลตา ใน ต้นปี 2564 พบในแคมป์คนงานก่อสร้าง เดือนพฤษภาคม เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วมาแทนที่สายพันธุ์แอลฟาในเวลาต่อมา ใช้เวลาเพียงเดือนกว่า ๆ เท่านั้น ก็กระจายทั่วประเทศไทย จนถึงวันนี้

ขณะนี้การเดินทางเข้าประเทศไทย ใช้ test to go ไม่มีการกักตัว ยกเว้นคนที่ตรวจพบด้วย RT-PCR เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเดินทาง ทั้งครอบครัว 4 คนพ่อแม่ลูก ตรวจพบเฉพาะลูก 1 คน ก็จะกักตัวลูก ไว้รักษา และปล่อยผู้ที่ตรวจเป็นลบทั้งหมด และให้ทำ ATK รายงานผลมา ทุกคนที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ถือเป็นความเสี่ยงสูง โอกาสผู้ที่ปล่อยไป จะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ สายพันธุ์โอมิครอน เป็นไปได้สูง ที่จะแพร่กระจายเชื้อต่อไปได้

บทเรียนจากต่างประเทศ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน กระจายทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ร่วม 90 ประเทศ ที่ตรวจพบ มีอัตราเร่งกระจายในพื้นที่ยุโรป และอเมริกาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มก็ติดได้ ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่จำกัดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่จะเป็นยุโรป และอเมริกาที่จะมีโอกาสนำเชื้อเข้ามา

'บิ๊กตู่' สั่ง ยกระดับมาตรการเข้าประเทศ พร้อมกำชับผู้ว่าฯ คุมเข้มจัดงานปีใหม่

20 ธ.ค. 64 - นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันนี้ต่ำสุด ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินมาตรการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยผู้ติดเชื้อใหม่จำนวนรวม 2,525 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 2,411 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 49 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 23 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 42 ราย ขณะที่ผู้หายป่วยกลับบ้าน 4,190 ราย เหลือผู้ป่วยที่กำลังรักษา 40,097 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพมาตรการป้องกันและควบคุมโรคและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ควบคู่ไปกับฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยอีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังเป็นห่วงว่าในช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ ขณะนี้หลายจังหวัดมีการจัดกิจกรรมและงานรื่นเริง ทั้งงานกาชาด งานแฟร์ งานคอนเสิร์ต ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากมารวมตัวกัน จึงฝากกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด ตรวจสอบการจัดงานของผู้จัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเข้มงวด โดยให้เป็นไปตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) COVID-Free Setting และมาตรการความปลอดภัย กำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน จัดพื้นที่แบบเว้นระยะห่าง รวมทั้งการแสดงหลักฐานของผู้ร่วมงาน ผลการฉีดวัคซีน ผลตรวจ ATK และขอให้ประชาชนป้องกันตนเองด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ

“นายกรัฐมนตรียังสั่งดำเนินมาตรการเชิงรุก ป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สั่งการให้ กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาเพิ่มมาตรการที่เข้มขึ้นมากขึ้นสำหรับมาตรการเปิดรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง สกัดการเข้ามาของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ขณะเดียวกันก็ไม่ให้กระทบมาตรการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติมในปี 2565 ในส่วนของผู้แสวงบุญเดินทางกลับจากนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และตรวจพบว่า ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่าขณะนี้ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แล้ว จึงขอฝากถึงพี่น้องประชาชนทั่วไป อย่าวิตกกังวลเกินไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยทุกรายอยู่ในการควบคุมและการดูแลคณะแพทย์ทุกโรงพยาบาลเป็นอย่างดี” นายธนกร ระบุ

สธ. เผย ไทยติดเชื้อโอมิครอน รวม 63 คน พบสาวไทยติดเชื้อในประเทศคนแรก

วันนี้ (20 ธ.ค. 64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าขณะนี้พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน แล้ว 89 ประเทศ ซึ่งอาจมีมากกว่านี้เพราะบางประเทศไม่มีขีดความสามารถในการถอดรหัสพันธุกรรม และโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย พบแล้ว 3 สายพันธุ์ BA.1  BA.2 และ BA.3 แต่ขอให้มั่นใจเพราะชุดตรวจยังสามารถตรวจจับได้

สำหรับไทยพบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ตัวเลขช่วงบ่ายวานนี้ (19 ธ.ค. 64) จำนวน 63 คน ทั้งหมดเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และต้องสงสัยอีกเกือบ 30 คน โดยช่วงหลังพบเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ภาพรวมพบแล้ว 3% หรือ 1 ใน 4 ของผู้เดินทางเข้าประเทศ ยืนยันว่าทั้งหมดเป็นการนำเชื้อเข้ามาในประเทศ

"อนุทิน" ย้ำต้องออกมาตรการคุมเข้มสกัดโอมิครอน แต่ต้องกระทบศก.น้อยที่สุด ยึดความปลอดภัย-ปชช.เป็นหลัก ยังไม่รู้ข่าว WHO ขอทั่วโลกงดจัดงานฉลองปีใหม่ 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายกสมาคมโรงแรมไทย ไม่เห็นด้วยกรณีสาธารณสุขเตรียมเสนอ ศบค.ยกเลิก Test&Go ว่า กำลังให้ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาหาแนวทางที่ดีที่สุดและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยเราจะต้องคิดถึงทุกมิติรวมถึงมิติด้านเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือคำนึงความปลอดภัยของประชาชนและประเทศไทย เมื่อมีเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเข้าประเทศและล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 97 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบสายพันธุ์ว่าเป็นโอมิครอนหรือไม่ ทำให้เราต้องเพิ่มความระมัดระวัง ซึ่งตนได้กำชับกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องหาวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันและสกัดการระบาด 

เมื่อถามว่า จะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวหรือประกาศไม่รับนักท่องเที่ยวจากบางประเทศหรือไม่ เพราะการกักตัวระยะเวลาสั้น ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด สายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ นายอนุทิน กล่าวว่า จากนี้ไปนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศและยังค้างท่อ เราจะเพิ่มบุคลากรเข้ามาดูแลในส่วนนี้ โดยจะให้นักท่องเที่ยวส่วนนี้เข้ามาก่อน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการ RT-PCR หลายครั้ง และรายงานตัว ซึ่งเราพยายามทำทุกอย่างในการตรวจสอบส่วนนี้ และเมื่อเสร็จสิ้นในส่วนนี้แล้วก็คงต้องมีการปรับเปลี่ยนมาตรการ ทั้งนี้ ขอย้ำว่าแนวทางของรัฐบาลคือประชาชนคนไทยต้องปลอดภัย ต้องลดความเสี่ยงทุกมิติ และต้องทำให้เกิดผลกระทบกับประเทศน้อยที่สุด ซึ่งฝ่ายบริหารให้นโยบายแบบนี้ฝ่ายปฏิบัติต้องหาวิธีการ และฝ่ายบริหารต้องรับฟังผู้ปฏิบัติด้วยว่าเขาสามารถปฏิบัติตามที่เราสั่งการได้มากน้อยแค่ไหน และถ้าเขาปฏิบัติแล้วจะเกิดผลดี ผลเสียอย่างไร ถ้าเขาเห็นว่ามีผลเสียมากกว่าก็มีสิทธิโต้แย้งเราซึ่งเราต้องรับฟังเขา 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังปีใหม่ต้องกลับมาเข้มงวดมาตรการหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องเข้มงวดตลอด ทุกคนต้องระมัดระวัง ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่สุดคือเรากำลังเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ประชาชนเพื่อสกัดการแพร่กระจายเชื้อพร้อมกับเสริมภูมิคุ้มกันให้คนไทยก่อน ขณะที่ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เรากังวลโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ เราดูข้อมูลต่างๆทั้งจากเอกสารวิชาการที่ตีพิมพ์โดยสถาบันทางการแพทย์รวมถึงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า เชื้อดังกล่าวแพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่พิษความรุนแรงจะเท่ากับเดลต้าหรือไม่นั้น กำลังตรวจสอบอยู่ ถ้าไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลต้าก็จะทำให้วัคซีนที่เรามีอยู่และกำลังฉีดเข็ม 3 ให้ประชาชน จะสามารถเอาอยู่ แต่เราต้องไม่ประมาท เพราะเราเปิดประเทศเพียงแค่ 20 วัน ยังไม่ได้เปิดเต็มรูปแบบก็ยังดักและตรวจพบผู้ติดเชื้อนี้ไว้ได้หลายคน ซึ่งผลยืนยันเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 63 คน และล่าสุดที่ตรวจพบผู้มาจากต่างประเทศและติดเชื้อ 97 คน ต้องมาลุ้นว่ามีกี่คนที่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน เราต้องระมัดระวังขั้นสูงสุด แต่ไม่ต้องตระหนกเกินไปจนทำอะไรไม่ได้ 
 

ญี่ปุ่น ผวา 'โอมิครอน' แพร่สู่ชุมชน หลังพบคลัสเตอร์ใหม่ ในฐานทัพโอกินาวา 

คลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เชื่อมโยงกับฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น ขยายวงกว้างมากขึ้นเป็นอย่างน้อย 180 รายแล้ว จากการเปิดเผยของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อวันจันทร์ (20 ธ.ค.) ก่อความกังวลว่ามันอาจแพร่กระจายเชื้อไวรัสสู่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนั้นพบเคสตัวกลายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 1 ราย

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า คนงานชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งที่ค่ายแฮนเซน บนเกาะโอกินาวา ทางภาคใต้ของประเทศ มีผลตรวจเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอนออกมาเป็นบวกเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (17 ธ.ค.)

ฮิโรคาสึ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกล่าวระหว่างแถลงข่าวประจำวัน ว่าเวลานี้คลัสเตอร์ที่เชื่อมโยงกับฐานทัพพบแล้ว 180 เคส แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าในนั้นมีจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายมาก

"รัฐบาลญี่ปุ่นขอเรียกร้องอีกครั้งให้ฝ่ายสหรัฐฯ รับประกันว่าพนักงานทุกคนที่ฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น จะปฏิบัติตามคำสั่งและใช้มาตรการที่หนักหน่วงหากมีการฝ่าฝืนใดๆ" มัตสึโนะ กล่าว

โอกินาวา จังหวัดทางใต้สุดของญี่ปุ่น เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ ราวๆ 70% ที่อยู่ในญี่ปุ่น และก่อนหน้านี้ เคยเผชิญการแพร่ระบาดที่เชื่อมโยงกับค่ายทหารเหล่านี้มาแล้วหลายครั้ง

จังหวัดโอมิกานา ถึงขั้นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมกราคม ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่คลัสเตอร์ล่าสุดนั้นมีทั้งคนงานชาวญี่ปุ่น และบุคลากรของสหรัฐฯ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น

เดนนิ ทามากิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโอกินาวาบอกกับพวกผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ (17 ธ.ค.) ว่าเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนการแพร่ระบาดของโอมิครอน และร้องขอให้กองทัพสหรัฐฯ ดำเนินการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรม เพื่อสรุปว่าผู้ที่ติดเชื้อนั้นเป็นตัวกลายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่

"วิโรจน์" ซัด "กลาโหม"  งดรับนักท่องเที่ยวคุมโอมิครอน แต่ยังให้ รด. ฝึกภาคสนามที่เขาชนไก่ ถาม กองทัพเตรียมมาตรการป้องกันไว้หรือยัง ฉะ "ประยุทธ์" ถ้าเกิดคลัสเตอร์ใหม่ต้องรับผิดชอบ 

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน ว่า ปัจจุบันรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต่างก็ตระหนักและกังวลถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นอย่างดี เพราะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวด ทั้งในสหรัฐ อังกฤษ และอีกหลายประเทศใน EU ที่กำลังประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนัก โดยที่อังกฤษ สายพันธุ์โอมิครอนใช้เวลาเพียงแค่ 14-21 วัน หลังจากที่พบการติดเชื้อภายในประเทศ ก็ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในการแพร่ระบาด

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นรายแรกแล้ว เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนเสริมภูมิเข็มที่ 3 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสกัดการแพร่ระบาดของโอมิครอนยังฉีดไปได้เพียง 7.98% เท่านั้น (ข้อมูลจากระบบหมอพร้อม เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.64) และเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศบค. เพิ่งมีมติให้ระงับการลงทะเบียนขอเข้าประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์และ Test&Go ยกเว้นภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยเริ่มตั้งแต่ 21 ธ.ค. 64 - 4 ม.ค. 65 สะท้อนว่า รัฐบาลตระหนักดีถึงอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ที่ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากและไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ตนได้ทราบจากพ่อแม่ผู้ปกครองและนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ว่ากระทรวงกลาโหมโดยกองทัพบก ยังมีแนวคิดที่จะจัดการฝึกภาคสนามให้แก่นักศึกษาวิชาทหารที่เขาชนไก่ ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจน รด. มีข้อสงสัยว่า กองทัพบกยังคงยืนยันที่จัดการฝึกภาคสนามอยู่หรือไม่ และกรณีที่ทางกองทัพบกยืนยันที่จะจัดการฝึก ก็ต้องตั้งข้อสงสัยต่อว่ากองทัพบกได้เตรียมมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่างๆ ไว้อย่างรัดกุมแล้วหรือไม่ เช่น การตรวจคัดกรอง รด. ก่อนเข้ารับการฝึกภาคสนาม การปรับรูปแบบการฝึกให้มีการรักษาระยะห่างระหว่างกัน การเตรียมแพทย์สนามไว้ดูแลนักศึกษาที่เจ็บป่วยและต้องสงสัยว่าอาจเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างการฝึก ตลอดจนการดูแลเรื่องสุขอนามัยต่างๆ ภายในสถานที่ฝึก นอกจากนี้ ต้องตั้งคำถามเพิ่มเติมด้วยว่า หากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นจากการฝึกภาคสนามที่เขาชนไก่ กองทัพบกได้เตรียมมาตรการในการรับผิดชอบต่อสังคมเอาไว้อย่างไร ซึ่งในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหารจะมีการจัดประชุมเรื่องการฝึกภาคสนามที่เขาชนไก่ประจำปีการศึกษา 64 ห้วงเดือนม.ค.-มี.ค. 65 เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก และไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่พ่อแม่ผู้ปกครองและรด.เท่านั้น เพราะหากมีการแพร่ระบาดของโอมิครอนในวงกว้าง ก็จะกระทบกับชีวิต และปากท้องของประชาชนทุกคนในประเทศ

“เรื่องนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงกลาโหม จะต้องชี้แจงให้กับสาธารณชนได้รับทราบอย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่า การจัดฝึกภาคสนามให้แก่นักศึกษาวิชาทหารที่จะเกิดขึ้น กองทัพบกได้มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้อย่างรอบคอบแล้ว และหากการฝึกภาคสนามดังกล่าวกลายเป็นคลัสเตอร์แพร่ระบาดโควิด-19 ไปสู่สังคมในวงกว้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เตรียมแผนในการจำกัดวงในการแพร่ระบาดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับประชาชน” นายวิโรจน์ กล่าว 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top