Monday, 29 April 2024
กระทรวงสาธารณสุข

สธ.เผยยังไม่พบ ‘ซีเซียม-137’ หลุดกำบัง  สั่งเตรียมผู้เชี่ยวชาญ - โรงพยาบาลรองรับ

ปลัด สธ.เผยยังไม่พบข้อมูล สารซีเซียม-137 หลุดจากเครื่องกำบัง สั่งกองสาธารณสุขฉุกเฉินเตรียมผู้เชี่ยวชาญและ รพ.รองรับเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137, Cs-137) ของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี สูญหาย ทำให้เกิดความกังวลอาจมีผู้ที่ไม่ทราบเป็นวัตถุอันตรายและสัมผัสจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปราจีนบุรีรายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก ซึ่งหากยังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ยังค้นหาไม่พบ จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ รวบรวมรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตรังสี อาทิ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม รพ.นพรัตนราชธานี , ผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณปริมาณรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีภายในร่างกาย การป้องกันอันตรายจากรังสี และรังสีกับสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตราย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมทั้งเตรียมประสาน รพ.นพรัตนราชธานี และ รพ.รามาธิบดี กรณีรับส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี

‘สธ.’ เผยผลวิจัยคนไทยมี ‘พฤติกรรมเนือยนิ่ง’ นั่งนานกว่า 7 ชม./วัน เหตุการทำงานที่ใช้แรงกายลดลง เตือนเสี่ยงโรค แนะเพิ่มกิจกรรมทางกาย

(27 มี.ค. 66) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมอนามัย ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศไทย (IHPP) ศึกษาวิจัยสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทย โดยวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพคนไทยในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในผู้ที่มีอายุ 18 – 80 ปี จำนวน 78,717 คน ครอบคลุม 77 จังหวัด พบว่า ร้อยละ 76 มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยการนั่งตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน และร้อยละ 72 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ 150 นาทีต่อสัปดาห์

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานที่ใช้แรงกายลดลง เช่น การเปลี่ยนจากการทำงานภาคเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม เป็นรูปแบบการนั่งในห้องทำงานแทน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากอัตราการเผาผลาญพลังงานต่ำ

‘อนุทิน’ ยัน!! ‘สธ.’ มีแผนรับมือ ปัญหา PM2.5 โว!! เตรียมเครื่องมือ-เวชภัณฑ์ ไว้ดูแล ปชช.

(27 มี.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมในเรื่องของการรักษาพยาบาลและดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ รวมทั้งได้มีการสั่งเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลเกี่ยวกับเรื่องของโรคระบบทางเดินหายใจ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อม

เมื่อถามว่าในปัจจุบันพื้นที่จังหวัดเชียงรายถือว่าน่ากลัวและน่าเป็นห่วงมากที่สุดหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพเกือบทั้งประเทศที่มีความน่าเป็นห่วง เรื่องการรักษาพยาบาลและดูแลประชาชนนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ยืนยันมาโดยตลอด 

‘อนุทิน’ ปัดตอบปมข้อมูล ‘หมอพร้อม’ หลุด เผยสั้นๆ มอบนโยบายให้ปลัดสาธารณสุขแล้ว

(11 เม.ย.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่แฮ็กเกอร์นำข้อมูลส่วนตัวในระบบหมอพร้อม ออกมาเผยแพร่ ว่า เรื่องนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ซึ่งเป็นเรื่องในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแลอยู่และแก้ไขปัญหานี้ 

เมื่อถามว่าข้อมูลหมอพร้อมหลุดไปจริงๆ ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ทราบ เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รายงานมา เพราะเป็นข้อมูลจากหลายแห่งมาก และการสอบสวนดำเนินการเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งรายละเอียดขอให้ไปถามปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตนได้ให้นโยบายไปแล้ว

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายกังวลว่าจะถูกนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น นายอนุทิน มีสีหน้าที่นิ่ง และไม่ตอบคำถามนี้ พร้อมเดินไปยังตึกสันติไมตรี เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันที

‘อนุทิน’ ลั่น!! หาก ภท.หวนคืน ‘รัฐบาล-คุมสาธารณสุข’ ขอดันเครื่องฉายรังสี เพื่อรักษาโรคมะเร็งทุกจังหวัด 

ไม่นานมานี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ได้เปิดเผยว่า ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดให้มีการรักษาโรคมะเร็งได้ทุกที่ มีการเพิ่มเครื่องฉายรังสีให้มากขึ้น และหากเลือกตั้งเสร็จ แล้วพรรคภูมิใจไทยได้กลับเข้าไปเป็นรัฐบาลและดูแลสาธารณสุขเหมือนเดิม ก็จะจัดให้มีเครื่องฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งทุกจังหวัด ไม่ต้องรอคิวนาน ไม่ต้องเดินทางไกล

สำหรับนโยบายของภูมิใจไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ประกอบไปด้วย...
1. เครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง ทุกจังหวัด
2. ผู้ป่วยมะเร็งรักษาได้ทุกที่ ที่มีคิวการรักษาเร็วที่สุด
3. ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ของผู้ป่วย และครอบครัว
4. รักษาฟรี ตามสิทธิบัตรทอง มีอยู่แล้ว แต่ ขยายสิทธิให้เพิ่มได้ ฟรี! ทุกจังหวัด 

ทั้งนี้หากย้อนหลังไปในยุคบัตรทอง 30 บาทของนายอนุทินนั้น จะพบสาระสำคัญที่เพิ่มสิทธิประโยชน์กว่า 30 รายการ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยมากขึ้นและครอบคลุมทุกการรักษาอย่างมาก ได้แก่...

ปี 2563

- รับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน ลดแออัดในโรงพยาบาล
- เพิ่มบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ จาก 12 รายการ เป็น 24 รายการ เพิ่มบริการผ่าตัดผ่านกล้อง (MIS) 3 รายการ
- ดูแลผู้ป่วยโรคหายาก 24 โรค
- เพิ่มการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย
- เพิ่มวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก
- นำร่องคัดกรองภาวะดาวน์ชินโดรมในหญิงตั้งครรภ์อายุไม่เกิน 35 ปี
- เพิ่มทางเลือกคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test ค้นหาความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกในระดับพันธุกรรม
- นำร่องยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูง
- นำร่องล้างโตผ่านเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD)
- ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชน ทุกสิทธิการรักษาและทุกกลุ่มอายุ

‘สธ.’ เตรียมรับมือ ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์ใหม่ ‘หมอยง’ ชี้ แพร่หนัก มิ.ย. เผย 1 พ.ค. นี้ รณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควบ วัคซีนโควิด-19 

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.66 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมติดตามสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า เทศกาลสงกรานต์มีประชาชนออกไปร่วมกิจกรรมจำนวน อาจทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมสงกรานต์ขอให้อยู่ห่างจากกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้สายพันธุ์ที่ระบาดในไทย ยังเป็นลูกผสมโอมิครอน XBB.1.5 ส่วนลูกผสม XBB.1.16 ส่วนการกลายพันธุ์ก็เป็นไปตามธรรมชาติ โดยองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ต้องกังวล แต่อาจติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

“ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ประชุมวันนี้มีความเห็นว่าจะให้ฉีดเป็นวัคซีนประจำปีเหมือนไข้หวัดใหญ่ ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ จะรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ”

จุฬาฯ สานพลัง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สธ. ผลิตหลักสูตรระยะสั้นด้านสุขภาพและการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูงและผู้ประกอบการด้านสุขภาพ ผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์ไทยสู่นานาชาติ

วันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพและการแพทย์ สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ทุกระดับ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดรับกับกระแสโลก ตลอดจนร่วมกันจัดทำโครงการจัดการความรู้ การพัฒนางานวิจัย รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ และ/หรือ นวัตกรรมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อไปในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้


การลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรในครั้งนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่สอดคล้องกันที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาการความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในระดับโลกถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยด้วยอุตสาหกรรมการแพทย์ จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรในด้านการธุรกิจและบริการด้านสุขภาพรองรับการเติบโต โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้ที่ครอบคุลมทุกช่วงวัย มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ได้แก่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) จึงเป็นที่มาของผนึกกำลังระหว่างองค์กร เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นภายใต้ของตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้


ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งหวังที่จะนำความรู้วิชาการทางด้านสุขภาพและการแพทย์ใหม่ ๆ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมาถ่ายทอดสู่ผู้นำของประเทศที่มีสมรรถนะในการสร้างสรรค์องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย การที่จุฬาฯ ได้ผนึกกำลังร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงของประเทศต่อไป


นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีพันธกิจที่มุ่งพัฒนากำลังคนคุณภาพในระบบเศรษฐกิจสุขภาพ หลักสำคัญคือการผลักดันและส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศได้เพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ในรูปแบบหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต จึงเกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะมีความร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตร 
การจัดการความรู้ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากร เพื่อตอกย้ำเจตนารมย์ของความร่วมมือดังกล่าว จึงได้เปิดตัวแนะนำหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และธุรกิจสุขภาพ หลักสูตรแรกของประเทศไทย หลักสูตร “เวฬา” หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)” ซึ่งเป็นหลักสูตรภายใต้ความร่วมมือระหว่างระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยรวมองค์ความรู้ล้ำสมัย เช่น การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Reverse Aging) สุขภาพเพศกับการมีอายุยืน (Sexual Health & Longevity) เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การนอนหลับ และสุขภาพจิต (Sleep and Mental Health) เป็นต้น

‘ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม’

‘ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม’ อดีต รมช.สาธารณสุข
เสียชีวิตอย่างสงบ ในวัย 80 ปี

แวดวงสุขภาพเศร้า สูญเสีย ‘ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม’ ที่ปรึกษา สสส. และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

(14 มิ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย) ได้เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดยครอบครัวได้แจ้งกำหนดการบำเพ็ญกุศล และ สวดพระอภิธรรม อุทิศ ณ ศาลา สิทธิสยามการ (ศาลา 4) วัดธาตุทอง พระอารามหลวง ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดี 15 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ เวลา 13.00 น. พิธีรดน้ำศพ และ พิธีฌาปนกิจศพ (ดำเนินการภายในครอบครัว)

วันที่ 16-18 มิถุนายน 2566 เวลา 18.30 น. แสดงธรรมเทศนา และพิธีสวดพระอภิธรรม
วันจันทร์ 19 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. แสดงธรรมเทศนา เวลา 11.00 น.สวดพระพุทธมนต์ และ ถวายภัตตาหารเพล เวลา 18.30 น. สวดพระอภิธรรม ครั้งที่ 1 เวลา 19.30 น. สวดพระอภิธรรม ครั้งที่ 2

ทั้งนี้ พลอยแพรว ศรีแสงนาม ลูกสาวฝาแฝดของ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ได้โพสต์แจ้งข่าวด้วยว่า…

“สวัสดีค่ะ ขออนุญาตแจ้งข่าว คุณพ่อ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ได้จากไปอย่างสงบเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ทางครอบครัวได้จัดให้มีงานบำเพ็ญกุศล และสวดอภิธรรม เป็นเวลา 5 คืนด้วยกันค่ะ”
 

‘นพ.รุ่งเรือง’ ขึ้นศาล จ.นนทบุรี เอาผิดคนป่วน กระทรวงสาธารณสุข ทำลายอนุสาวรีย์ สมเด็จย่า

เพจเฟซบุ๊ก โฆษกกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ ข้อความเกี่ยวกับที่  นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง ได้ไปขึ้นศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อเอาผิดกับคนที่มาป่วนกระทรวงสาธารณสุข และทำลายอนุสาวรีย์ สมเด็จย่า โดยมีใจความว่า ...

ไม่มีใครอยากจะขึ้นศาลหรือเป็นคดีความ 

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11) ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ (15 มิถุนายน 2566) หมอมาขึ้นศาลจังหวัดนนทบุรี ในคดีที่มีกลุ่มคนมาทำลายพระบรมรูปอนุสาวรีย์ สมเด็จพระราชบิดา สมเด็จย่า กรมหลวงชัยนาทนเรนทร ด้วยการสาดสีแดง เอาเชือกดึงอนุสาวรีย์ท่านให้พังลงมา  และท่านเป็นศูนย์รวมดวงใจของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกคน นอกจากนี้กลุ่มบุคคลดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน และมีแกนนำ รวมถึงกลุ่มคนที่จัดตั้งขึ้นได้มาประท้วงทำลายข้าวของ ทำลายสถานที่กระทรวงสาธารณสุข ด้วยการสาดสีแดง

ในวันนั้น หมอออกไปรับม็อบพยายามเจรจาด้วยสันติวิธีแต่ไม่เป็นผล กลุ่มบุคคลดังกล่าวทั้งด่ากระทรวงสาธารณสุข ด่าผู้บริหารระดับสูง โจมตีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงพี่น้องประชาชนให้หลงเชื่อ รวมถึงใช้คำหยาบคาย ด่าบิดามารดาของหมอ ด้วยคำหยาบคายมากๆ เช่น อวัยวะเพศ ซึ่งคดีดังกล่าว หมอได้ติดตามทำงานร่วมกับตำรวจ จนสามารถจับกุมคนร้ายได้ทั้งหมด และส่งฟ้องศาล เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่เยาวชน และพี่น้องประชาชน 

ในตอนนี้ สามารถบังคับใช้กฎหมายจนผู้กระทำผิดถูกลงโทษ (น่าจะถึงขั้น “จำคุก”) แม้ว่าจะเหนื่อยมากๆ นับตั้งแต่วันที่เริ่มรวบรวมพยานหลักฐาน ตามจับกุมผู้ต้องหา จนถึงส่งฟ้องศาล แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรปล่อยให้คนผิดลอยนวล ต่อไปจะเป็นเยี่ยงอย่าง แล้วสังคมจะอยู่ได้อย่างไรหมอขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มารักษาความปลอดภัยให้กับทางกระทรวงสาธารณสุข จนถูกทำร้ายร่างกายไปด้วย จนถึงการทำงานอย่างจริงจังของตำรวจ การรวบรวมพยานหลักฐาน และจับตัวผู้กระทำผิดส่งฟ้องศาลจนศาลลงโทษผู้กระทำผิด

แต่สำหรับหมอแล้ว การปราบคนพาล อภิบาลคนดี ดูแลส่งเสริมคนดี และอย่าให้คนชั่ว คนพาล มีอำนาจหรือลอยนวลจากการกระทำความผิดเป็นเรื่องที่ระลึกและต่อสู้มาโดยตลอดชีวิตข้าราชการตั้งแต่เป็นตำรวจจนมาเป็นหมอในปัจจุบัน ครับ

หมออยากฝากถึงทุกๆ ท่าน ตามพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่หมอยึดมั่นปฏิบัติเสมอมา พระองค์ทรงพระราชทานไว้ว่า 

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”

‘ดศ.-สธ.’ ประชุม คกก.เฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล เร่งวางแนวทางบริหารจัดการ Big Data เชื่อมข้อมูลแบบไร้รอยต่อ

วันที่ (22 มิ.ย. 66) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประชุมคณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าระบบบริหารจัดการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศและระบบคลาวด์กลาง เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพด้วยมาตรฐานเดียวกัน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา แบบไร้รอยต่อ

นายอนุทินกล่าวว่า ระบบสุขภาพดิจิทัล เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธาน ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและเลขานุการ มีองค์ประกอบทั้งสิ้น 22 คน เพื่อจัดทำนโยบายแผนงาน แนวทาง และมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาด้านสุขภาพดิจิทัล กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐาน ในการบูรณาการและการประมวลผลข้อมูลสุขภาพของประเทศ

ทั้งนี้ การบริหารจัดการ Big Data ด้านสุขภาพของประเทศ และมีการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพด้วยมาตรฐานเดียวกัน จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา แบบไร้รอยต่อ ขณะเดียวกันต้องดำเนินการภายใต้การมีธรรมาภิบาลการบริหารระบบสุขภาพดิจิทัลที่ดี

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัลครั้งแรก ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งมี 2 กิจกรรมหลัก คือ

1.) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ ขณะนี้จัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) และกำหนดราคากลางฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างขึ้นประกาศเพื่อประชาพิจารณ์ คาดว่ากระบวนการจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างฯ จะแล้วเสร็จ ภายในเดือนสิงหาคม 2566 นี้

2.) การจัดหาบริการระบบคลาวด์กลาง ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ 1 ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำ (ร่าง) ขอบเขตของงานและราคากลางฯ พร้อมทั้งวางแนวทางให้ รพ.สต.ที่อยู่ในกำกับของกระทรวงมหาดไทย ใช้แพลตฟอร์มสารสนเทศกลางให้บริการผู้ป่วยนอก เพื่อลดการจัดหาระบบ การบำรุงรักษาและสร้างความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งให้ส่งต่อข้อมูลสุขภาพเข้าสู่ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพสำหรับเขตสุขภาพ (MOPH Data Exchange Gateway) และระบบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Central Data Exchange Service) เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพการส่งต่อ ตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ การแต่งตั้งที่ปรึกษาของคณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ 1.) ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร 2.) นพ.โสภณ เมฆธน 3.) นายไชยเจริญ อติแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4.) ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการเฉพาะด้านระบบสุขภาพดิจิทัล จำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย

1.) คณะอนุกรรมการธรรมาภิบาลและแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ ต่อร่างนโยบายแผนปฏิบัติงานด้านสุขภาพดิจิทัล แพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติ และกฎหมายสุขภาพดิจิทัล

2.) คณะอนุกรรมการวิชาการและระบบข้อมูลสุขภาพระดับชาติ มีผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะต่อสถาปัตยกรรมแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัล หลักเกณฑ์แนวทางการบูรณาการการประมวลผลข้อมูลสุขภาพ และมาตรฐานข้อมูลสุขภาพกลางของประเทศ
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top