ระยอง - กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง พื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง กระตุ้นสถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting

นายสาธิต ปิตุเตช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศด้วยมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ด้านการท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวข้อง ที่เกาะเสม็ด ม.4 ต.เพ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เพื่อกระตุ้นแหล่งท่องเที่ยวนำร่อง เข้มมาตรการ COVID Free Setting โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น และรัฐบาลได้มีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ 

กระทรวงสาธารณสุขได้เน้น 4 หลักสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ และประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติแบบวิถีใหม่ ได้แก่

1) การฉีดวัคนให้ครอบคลุมได้ตามเป้าหมาย

2) การป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา

3) กิจการกิจกรรมเข้มมาตรการ COVID Free Setting และ

4) การตรวจหาเชื้อเมื่อมีความเสี่ยงด้วย ATK

โดยการลงพื้นที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวที่มีความพร้อม สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ จึงต้องเน้นย้ำให้สถานประกอบการบนเกาะเสม็ดที่ได้รับคำแนะนำจากกรมอนามัย จำนวน 92 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด 3 ด้าน ได้แก่ 1) COVID Free Environment สิ่งแวดล้อมปลอดภัย 2) COVID Free Personnel พนักงานปลอดภัย และ 3) COVID Free Customer ผู้ใช้บริการปลอดภัย

"ทั้งนี้ สถานประกอบการที่ยังไม่ได้ประเมินตามมาตรการ COVID Free Setting สามารถประเมินตนเองได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ stopcovid.anamai.moph.go.th โดยทุกสถานประกอบการที่ประเมินผ่าน สามารถพิมพ์ใบรับรองผล เพื่อติดไว้หน้าร้าน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่

1) ใบรับรอง Thai Stop COVID Plus (TSC+) ซึ่งสถานประกอบการทุกแห่งในทุกจังหวัดต้องประเมินตนเองตามมาตรการ TSC+

2) ใบรับรอง COVID Free Setting (CES หรือ TSC2+)

เฉพาะจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวรองรับการเปิดประเทศ หรือจังหวัดที่จะนำเอามาตรการไปปรับใช้ โดยให้สถานประกอบการเลือกประเมิน COVID Free Setting ซึ่งต้องผ่านการประเมิน TSC+ ก่อน เพื่อสามารถประเมิน COVID Free Setting ต่อไป และ 3) สติ๊กเกอร์ COVID Free Setting ประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำหนด ตามที่มีการแจ้งความประสงค์จากสถานประกอบการ

สำหรับช่องทางภาคประชาชนเพื่อประเมินสถานประกอบการ สามารถดำเนินการใน 3 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางที่ 1 สแกน QR Code ใน E-Certificate ของสถานประกอบการที่ไปใช้บริการ ช่องทางที่ 2 ประเมินผ่านทางเว็บไชต์ Thai Stop COVID Plus ของกรมอนามัย และ ช่องทางที่ 3 ประเมินผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ผู้พิทักษ์อนามัย COVID Watch"

 

ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID plus (TSC+) เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการประเมินตนเองตามมาตรการป้องกันโควิด-19 และ ไทยเซฟไทย เพื่อคัดกรองอาการเสี่ยงของโรคโควิด-19 พร้อมมีข้อแนะนำสำหรับการลดความเสี่ยงแต่ละระดับ  โดยข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 มีสถานประกอบการประเมินตนเองในระบU Thai Stop COVID Plus (TSC+) จำนวน 64,415 แห่ง ผ่านการประเมิน จำนวน 58,156 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.28 ประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting จำนวน 6,883 แห่ง ผ่านการประเมิน จำนวน 6,610 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.03 และมีการประเมินไทยเชฟไทยแล้ว จำนวน 7,882,867 ครั้ง

"สำหรับนักท่องเที่ยวขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของพื้นที่นั้น ๆ อย่างเคร่งครัดเช่นกัน  และคุมเข้มตนเองขั้นสูงสุด Universal Prevention ด้วยการเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร สวมหน้ากากอนามัย และทับด้วยหน้ากากผ้า ใส่ให้แนบสนิทกับใบหน้า ปิดทั้งจมูกและปากตลอดเวลา หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของร่วมกันกับผู้อื่น ให้หลีกเสี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น ทำความสะอาดและฆ่าชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ หากมีความเสี่ยงให้แยกตัวจากผู้อื่น และตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ให้ตรวจช้ำหลังจากตรวจครั้งแรก 3 - 5 วัน หรือเมื่อมีอาการ"


ภาพ/ข่าว วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน