Tuesday, 21 May 2024
WeeklyColumnist

‘Howard Unruh’ มือสังหารหมู่ด้วยอาวุธปืน ในที่สาธารณะรายแรกของสหรัฐอเมริกา

ในสังคมมนุษย์ของเรานั้น มีความรุนแรงหลายรูปแบบ และเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนนับไม่ถ้วน ‘เหตุการณ์สังหารหมู่ด้วยอาวุธในที่สาธารณะ’ ก็เป็นหนึ่งในความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ และเกิดขึ้นมานานมากแล้ว เราจะเห็นเรื่องราวเช่นนี้ได้ชัดจากสถานการณ์ สงคราม การยึดอำนาจ การปฏิวัติ หรือการทำรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นไปทั่วโลก และเกิดขึ้นในทุกภูมิภาค 

สำหรับ ‘เหตุการณ์สังหารโดยใช้อาวุธปืนในที่สาธารณะ’ เกิดขึ้นมาราวๆ ๑๐๐ ปีเศษ อันเนื่องมาจากพัฒนาการของอาวุธปืนแบบบรรจุเอง หรือปืนแบบกึ่งอัตโนมัติ และปืนแบบอัตโนมัติในเวลาต่อมา 

สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมอาวุธปืนขนาดใหญ่มากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และถือเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านอาวุธสงครามที่ทันสมัย นั่นจึงไม่แปลก หากจะเป็นประเทศที่เกิดเหตุความรุนแรงเนื่องมาจากอาวุธปืนบ่อยครั้ง

ส่วนเหตุการณ์สังหารหมู่ด้วยอาวุธปืนในที่สาธารณะครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1949 ซึ่งมีชาวอเมริกันถูกสังหารไปถึง ๑๓ คน ในเวลา ๑๒ นาทีที่เดินทางผ่านย่านที่พักอาศัยของ ‘มือปืน’ ในเมือง Camden มลรัฐ New Jersey  

Howard Barton Unruh

มือปืนรายนี้คือ ‘Howard Barton Unruh’ (21 มกราคม ค.ศ. 1921 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2009) บุตรชายของ Samuel Shipley Unruh และ Freda E. Vollmer เขามีน้องชายคนหนึ่งชื่อ James พวกเขาได้รับการเลี้ยงดูจากแม่หลังจากที่พ่อและแม่ได้แยกทางกัน 

Unruh เติบโตในเขต East Camden มลรัฐ New Jersey และเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมต้น Cramer Junior และจบการศึกษามัธยมปลายจากโรงเรียนมัธยมปลาย Woodrow Wilson ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1939 หนังสือรุ่นประจำปีของโรงเรียนมัธยมปลาย Woodrow Wilson ในปี ค.ศ. 1939 ระบุว่า เขาเป็นคนขี้อาย และความใฝ่ฝันของเขาคือ การได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

Unruh สมัครเป็นทหารในกองทัพบกสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1942 และเข้าประจำการในฐานะพลประจำรถถังทำการรบในสมรภูมิยุโรประหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1945 

Norman E. Koehn หัวหน้าของ Unruh ระบุว่า เขาจำ Unruh ได้ว่า เคยเป็นพลทหารชั้นหนึ่งที่ไม่เคย ดื่มเหล้า สบถ หรือไล่ตามสาว ๆ และเขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านพระคัมภีร์ และเขียนจดหมายยาว ๆ ถึงแม่ของเขา เล่ากันว่า Unruh จดบันทึกเกี่ยวกับศัตรูที่ถูกสังหารในการต่อสู้อย่างพิถีพิถัน โดยลงไปจนถึงรายละเอียดของศพ 


Victory Medal ซึ่งเป็นหนึ่งในเหรียญรางวัลเชิดชูเกียรติที่ Howard Unruh ได้รับ

Unruh ได้รับเหรียญรางวัลเชิดชูเกียรติ European Theatre of Operations Medal, Victory Medal และ Good Conduct Medal เขาได้รับการปลดประจำการอย่างมีเกียรติเมื่อสิ้นสุดสงคราม และกลับไปยังมลรัฐ New Jersey เพื่ออยู่กับแม่ของเขา ทั้งน้องชายและพ่อของเขาระบุในภายหลังว่า ประสบการณ์ในช่วงสงครามของ Unruh ทำให้เขาเปลี่ยนไป ทำให้เขาอารมณ์แปรปรวน ประหม่า และแยกตัวจากครอบครัว

หลังจากปลดประจำการ Unruh ได้ผันตัวมาเป็นคนงานของโรงงานโลหะแผ่น แต่ก็เข้าทำงานเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ 

หลังจากนั้นเขาก็สมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัย Temple มลรัฐ Philadelphia แต่ลาออกหลังจากผ่านไปหนึ่งเดือน โดยอ้างถึง ‘เหตุผลทางสุขภาพ’ 

Unruh อยู่ได้โดยอาศัยรายได้ของแม่ของเขา ซึ่งเป็นพนักงานโรงงานสบู่ Unruh เก็บตัวในบ้าน ประดับเหรียญรางวัลเชิดชูเกียรติของเขา อ่านพระคัมภีร์ และฝึกยิงปืนในห้องใต้ดิน ซึ่งถูกดัดแปลงให้เป็นห้องฝึกซ้อมยิงปืน


ภาพวาดของ Howard Unruh

ในช่วงเวลานี้เองที่ความสัมพันธ์ของ Unruh กับเพื่อนบ้านของเขาเลวร้ายลง ซ้ำร้ายความขุ่นเคืองใจของเขาก็เพิ่มขึ้นจากสิ่งที่เขามองว่าเป็น ‘คำพูดที่ดูถูกเกี่ยวกับตัวตนของเขา’ จากเพื่อนบ้าน

โดย James น้องชายของเขาได้ชี้ไปที่ประเด็นความบาดหมางระหว่าง Unruh กับเพื่อนบ้านของเขาคือ ‘ดร. Maurice Cohen’ มีอาชีพเป็นเภสัชกร ทั้งสองบาดหมางกันเรื่องที่ Unruh ใช้สวนหลังบ้านของ Cohen เพื่อเป็นทางเข้าอพาร์ตเมนต์ของเขา 

โดยก่อนเกิดการสังหาร ‘Unruh’ ได้ไปที่โรงภาพยนตร์ใน Philadelphia และชมภาพยนตร์ไปหลายเรื่องก่อนที่จะกลับบ้านในช่วงเวลาตีสาม ทั้งนี้เขาไปโรงภาพยนตร์เพื่อพบกับชายคนหนึ่งตามนัด แต่เขาไปสาย และไม่ได้เจอกับชายคนที่เขานัดเอาไว้ และเมื่อกลับถึงบ้าน ประตูที่เขาได้ติดตั้งในวันนั้นก็ถูกถอดออกไปแล้ว

ปืนพกแบบ Luger P08

เวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. ของวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1949 Unruh รับประทานอาหารเช้าที่แม่ของเขาเตรียมไว้ จากนั้นจึงออกไปพบ ‘Carolina Pinner’ เพื่อนบ้านในเวลาประมาณ ๐๙.๒๐ น. เขาพกปืนพกแบบ ‘Luger P08’ ซึ่งบรรจุกระสุนได้ ๘ นัด และกระสุนอีกจำนวนมากในกระเป๋า เขาออกจากอพาร์ตเมนต์ และเดินออกไปที่ถนน River เมื่อเดินเข้าใกล้รถบรรทุกส่งขนมปัง Unruh ดันปืนพกของเขาผ่านประตูแล้วยิงไปที่คนขับ เขายิงพลาดไปสองสามนิ้ว และแม้คนขับจะพยายามเตือนชาวบ้านแต่ก็ไม่เป็นผล


แผนผังแสดงตำแหน่งที่พบศพของเหยื่อและผู้บาดเจ็บแต่ละราย

‘Unruh’ เข้าไปในร้านทำรองเท้า ‘John Pilarchik’ ซึ่งเป็นร้านของหนึ่งในเพื่อนบ้านของเขา เมื่อเข้าไปถึงเขาได้ลั่นไกยิงทันที 

หลังจากนั้น เขาตรงไปที่ร้านตัดผมของ Clark Hoover เพื่อนบ้านอีกคน ซึ่งกำลังตัดผมให้ Orris Smith เด็กชายวัยหกขวบ เขายิง Hoover เข้าที่ศีรษะ และยิง Smith เข้าที่คอ ทั้งคู่เสียชีวิตทันที 

จากนั้น Unruh ยังวิ่งต่อไปที่ร้านขายยาของ Cohen โดยได้พบกับ James Hutton และยิงเขาทันที จากนั้น Unruh ก็เดินเข้าไปยังด้านหลังของร้านขายยา และเห็น Cohen และ Rose ภรรยากำลังวิ่งขึ้นบันไดเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ของพวกเขา 

เมื่ออยู่ในอพาร์ตเมนต์ Cohen ปีนผ่านหน้าต่างขึ้นไปบนหลังคาเฉลียง ขณะที่ Rose และ Charles ลูกชายวัย ๑๒ ปี ของพวกเขาซ่อนตัวในตู้เสื้อผ้าคนละใบ อย่างไรก็ตาม Unruh พบตู้เสื้อผ้าใบที่ Rose ซ่อนตัวอยู่ จึงยิงทะลุประตูตู้เข้าไป ๓ นัด ก่อนที่จะเปิดออก และยิงเข้าที่หน้าของ Rose อีกนัด เมื่อเดินข้ามอพาร์ตเมนต์ เขาก็เห็น Minnie แม่ของ Cohen วัย ๖๓ ปี พยายามโทรหาตำรวจ เขาใส่ยิงเธอหลายนัด จากนั้นเขาก็เดินตาม Cohen ขึ้นไปบนระเบียงหลังคา แล้วยิง Cohen เข้าที่ด้านหลัง ทำให้ Cohen ตกลงไปยังพื้นเบื้องล่าง ส่วน Charles ที่ซ่อนตัวอยู่ในตู้อีกใบ และสามารถหลบหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย

เผด็จการผู้ยิ่งใหญ่!! รู้จัก ‘Thomas Isidore Noël Sankara’ ผู้นำการปฏิวัติแห่ง ‘Burkina Faso’

Thomas Isidore Noël Sankara เป็นนายทหารยศร้อยเอกในกองทัพ Upper Volta อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสในแอฟริกาตะวันตก เขาเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำรัฐประหารโค่น พันเอก Saye Zerbo จนต้องออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1982 

เขาสืบทอดอำนาจจาก พันตรี Jean-Baptiste Ouedraogo จากการแย่งชิงอำนาจในประเทศได้สำเร็จ และกลายเป็นประธานาธิบดีของประเทศ Upper Volta ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 1983 เขานำนโยบายฝ่ายซ้ายสุดโต่งมาใช้ และพยายามลดการทุจริตของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เขาเป็นผู้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก Upper Volta เป็น Burkina Faso ซึ่งแปลว่า ‘ดินแดนแห่งมนุษย์ผู้เที่ยงธรรม’ 

Thomas Isidore Noël Sankara (21 ธันวาคม ค.ศ. 1949 - 15 ตุลาคม ค.ศ. 1987) นอกจากจะเป็นร้อยเอกในกองทัพ Upper Volta (Burkina Faso) แล้วยังเป็นนักปฏิวัติลัทธิมาร์กซ์ นักทฤษฎีชาวแอฟริกัน และประธานาธิบดีแห่ง Burkina Faso ระหว่างปี ค.ศ. 1983 ถึง ค.ศ. 1987 ผู้ที่สนับสนุนเขาต่างมองว่า เขาเป็นบุคคลที่มีเสน่ห์ และเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ จนได้รับการขนานนามเขา โดยเรียกกันทั่วไปว่า ‘Che Guevara แห่งแอฟริกา’

Sankara ยึดอำนาจในการก่อรัฐประหารที่ประชาชนสนับสนุนเมื่อปี ค.ศ. 1983 ขณะอายุ ๓๓ ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดการทุจริตคอร์รัปชัน และการครอบงำของ ฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม เขาเปิดตัวหนึ่งในโครงการที่แสดงถึงความทะยานอยากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่เคยมีมาในทวีปแอฟริกา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองตนเอง และการเกิดใหม่นี้ เขาจึงได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก Upper Volta เป็น Burkina Faso (ดินแดนแห่งมนุษย์ผู้เที่ยงธรรม) 

Sankara ดำเนินนโยบายนโยบายต่างประเทศโดยมุ่งเน้นไปที่การต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งรัฐบาลของเขาได้ยอมละทิ้งความช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งหมด ผลักดันให้มีการลดหนี้ที่ไม่เหมาะสม ยึดเอาที่ดิน สินแร่ และทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดให้ตกเป็นของรัฐ ตลอดจนขัดขวางอำนาจและอิทธิพลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก 

นโยบายภายในประเทศของเขามุ่งเน้นไปที่การป้องกันความอดอยาก ด้วยการพึ่งพาตนเองในไร่นาและการปฏิรูปที่ดิน จัดลำดับความสำคัญของการศึกษาด้วยการรณรงค์ให้ความรู้ทั่วประเทศ และส่งเสริมสุขภาพของประชาชนด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้เหลือง และโรคหัดแก่เด็กสองล้านห้าแสนคนคน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นวาระแห่งชาติ เช่น การปลูกต้นไม้กว่าสิบล้านต้นเพื่อหยุดยั้งการกลายเป็นทะเลทรายที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นภาษีเลือกตั้งและค่าเช่าบ้านในชนบท และสร้างโครงการก่อสร้างถนนและทางรถไฟเพื่อนำไปสู่การ ‘รวมชาติเป็นหนึ่ง’

ในระดับท้องถิ่น Sankara ยังเรียกร้องให้ทุกหมู่บ้านสร้างคลินิกเอง และให้ชุมชนกว่า ๓๕๐ แห่งสร้างโรงเรียนด้วยแรงงานของตนเอง 

นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นของเขาที่มีต่อสิทธิสตรีทำให้เขาออกกฎหมายห้ามการขริบอวัยวะเพศหญิง การบังคับแต่งงาน และการแต่งงานที่มีภรรยาหลายคน ขณะเดียวกันก็แต่งตั้งสตรีให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล และสนับสนุนให้พวกเธอทำงานนอกบ้านและเข้าโรงเรียนแม้ว่าจะตั้งครรภ์ก็ตาม

ความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ของ Sankara ได้เปลี่ยนประเทศของเขาจากประเทศในแอฟริกาตะวันตกที่เงียบสงบด้วยการเปลี่ยนชื่อประเทศซึ่งเป็นอดีตอาณานิคม Upper Volta เพื่อให้กลายเป็นวงล้อแห่งความก้าวหน้าภายใต้ชื่ออันน่าภาคภูมิใจว่า Burkina Faso (ดินแดนแห่งมนุษย์ผู้เที่ยงธรรม) เขาเป็นผู้คิดและทำโครงการปฏิรูปที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาในทวีปแอฟริกา ซึ่งพยายามที่จะย้อนกลับความเหลื่อมล้ำทางสังคมเชิงโครงสร้างที่สืบทอดมาจากการเป็นอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส

Sankara เน้นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของรัฐกับคนส่วนใหญ่ชายขอบในชนบท และนำที่ดินจากนายทุนเจ้าของที่ดินไปแบ่งให้ชาวนา 

เดิมที่ประเทศในแอฟริกาส่วนใหญ่พึ่งพาอาหารที่นำเข้าและความช่วยเหลือจากภายนอกเพื่อการพัฒนาประเทศ

แต่ Sankara กลับสนับสนุนการผลิตและการบริโภคสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น เพราะเขาเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า ชาว Burkina Faso จะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อขับเคลื่อนสังคมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาของพวกเขา เพราะเดิมทีส่วนใหญ่ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม แต่ Burkina Faso ก็สามารถทำให้เกษตรกรชาว Burkina Faso เพิ่มการผลิตข้าวสาลีเป็นสองเท่า ได้

บทบาทยังไม่จบ เจตจำนงจาก APEC 2022 ต้องไม่เลือนหาย ความท้าทายที่รัฐบาลไทยต้องดันซ้ำสู่ปีต่อๆ ไป

ย้อนไปเมื่อ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐ ใจกลางกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้มีการจัดงานเลี้ยง US-Asia Institute 2022 Capitol Hill Reception: A Tribute to Special Supporters + Celebrating US Chairmanship of APEC 2023 เพื่อเป็นการต้อนรับวาระที่สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้รับไม้ต่อจากประเทศไทยในการเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้องตลอดปี 2023 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหน้าที่ของประเทศไทย รัฐบาลไทย และภาคเอกชนไทย จะสิ้นสุดลง และเราสามารถผลักความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้สหรัฐฯ ขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นเป้าหมายกรุงเทพฯ ได้โดยไม่ต้องทำอะไร 

หากแต่ประเทศไทยยังคงต้องแสดงความจริงใจ และดำเนินการในเรื่องสำคัญๆ ที่ไทยแจ้งต่อที่ประชุม APEC 2022 ว่าเป็นวาระสำคัญของโลกต่อไป เพราะต้องอย่าลืมว่าการประชุม APEC มีลักษณะเป็น Concerted Unilateralism นั่นหมายความว่า ผลการประชุม APEC มิได้เป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพัน หากแต่เป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันของผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ว่าเห็นพ้องต้องการที่จะขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ดังที่แถลงการณ์ร่วมกันเอาไว้ในการประชุมที่กรุงเทพ

แน่นอนว่า ในแถลงการณ์ร่วมในปี 2023 และในฉบับของปีต่อๆ ไป ก็จะมีการอ้างถึง Bangkok’s Goal 2022 เช่นเดียวกับที่ก็จะมีการอ้างถึง APEC Putrajaya Vision 2040 ที่เสนอโดยมาเลเซียในปี 2020 และ Aotearoa Plan of Action ที่เสนอโดยนิวซีแลนด์ในปี 2021 

เรื่องสำคัญประการแรกที่ไทยคงต้องเฝ้าระวัง คือ คอยสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกเขตเศรษฐกิจยังคงต้องร่วมกันเดินหน้าอย่างจริงจัง นั่นคือ แผนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ที่ถูกวางเอาไว้ในระยะ 4 ปีต่อจากนี้ เขตการค้าเสรีของ 21 เขตเศรษฐกิจ ประชากรกว่า 3 พันล้านคน และเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจของโลก จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานของโลกที่กำลังซัดส่ายจากสงครามการค้า รวมทั้งจะเป็นตัวเร่งการฟื้นตัวจากภาวะซึมเซาในช่วงโควิด-19 ไทยคงต้องเร่งสนับสนุนผลักดันในทุกเวทีให้มีการเร่งดำเนินการตามแผนที่วางเอาไว้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในปี 2023 มีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุนแนวคิดการค้าเสรีอีกต่อไป

ประการที่ 2 ที่ไทยต้องเร่งผลักดันทั้งในเวทีระหว่างประเทศ และในเวทีภายในประเทศ นั่นคือ แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งประกาศไว้อย่างชัดเจนใน เป้าหมายกรุงเทพฯ ความห่วงกังวลคือ ถ้าประเทศไทยเรานำเสนอเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยเราเองกลับมีความขัดแย้งทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนทำให้ไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่ประเทศไทยเองนำเสนอว่า นี่คือสิ่งที่ดี นี่คือสิ่งที่ถูกต้องในเวทีโลก นั่นก็เท่ากับ เราเองทำลายผลงานของเราด้วยตนเอง ดังนั้นความต่อเนื่องในมิติ กำลังคน งบประมาณ และการสนับสนุนด้านงบประมาณ ที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของแนวร่วมใดที่ขึ้นมามีอำนาจที่ต้องร่วมกันผลักดันวาระ BCG Model ต่อเนื่องในเวทีโลกจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

รู้ไม่จริง อย่าอ้าง!! รู้จัก 'วันพ่อ-วันแม่' ในถิ่นมะกัน ที่บางกลุ่มคนอ้างว่า 'ไม่มี' หวังบิดเบือนด้อยค่าวันสำคัญเหล่านี้ในไทยให้หมดค่า

โลกโซเชียลมีเดียนับเป็นดาบสองคม ปะปนทั้งข่าวจริงข่าวเท็จ การเสพสื่อต้องใช้วิจารณญาณก่อนเชื่อ เพราะบางแพลตฟอร์มไม่มีการกลั่นกรองข่าวสารข้อมูล ปล่อยให้ความเท็จความลวงล่องลอยเต็มแพลตฟอร์ม 

...ที่น่าห่วงคือเด็ก ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น อาจจะเชื่อทุกเรื่องที่ปรากฏบนพื้นที่ออนไลน์นั้น

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นวันพ่อแห่งชาติ โดยประเทศไทยยึดเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นวันพ่อ แต่กลับกลายเป็นว่ามีการบิดเบือนเพื่อด้อยค่าวันพ่อ โดยอ้างโยงไปถึงชาติตะวันตก ทำนองว่าฝรั่งไม่มีหรอกวันพ่อวันแม่ จากนั้นก็อธิบายเป็นฉาก ๆ สรุปความได้ว่าที่ชาติตะวันตกไม่มีวันพ่อวันแม่ เพราะเกรงว่าลูก ๆ จะมีปมด้อย 

...อ่านแล้วก็แปลกใจว่า เรายังอยู่ในโลกใบเดียวกันไหมหนอ!!

อะไรทำให้คิดว่าประเทศอื่นไม่มีวันพ่อวันแม่ คิดเองเพ้อเองว่าเมืองฝรั่งไม่มีอย่างนั้นอย่างนี้ พอบอกว่ามี...ก็จี้ถามว่าชาติไหนล่ะ 

ว่าแล้วก็ขอเล่าเรื่อง 'วันพ่อ' และ 'วันแม่' ของอเมริกาดีกว่า จะได้แยกแยะได้ว่า อะไรจริงอะไรเท็จ 

เริ่มต้นด้วย 'วันแม่' ก่อนก็แล้วกัน!!

วันแม่ของอเมริกาตรงกับ 'วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม' ในกรณีนี้คงต้องยกความดีให้อเมริกา เพราะเป็นชาติแรกที่ริเริ่มแนวคิดเรื่องการมีวันแม่ จนทำให้ชาติต่าง ๆ กำหนดวันแม่แห่งชาติที่เหมาะสมกับประวัติศาสตร์ชาติตนขึ้นมา

สำหรับคนอเมริกันแล้ว วันแม่เป็นวันที่น่ารักและอบอุ่นวันหนึ่ง ส่วนมากลูก ๆ จะซื้อการ์ดหรือของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คิดว่าแม่ชอบ อย่างขนมอร่อย ๆ ช่อดอกไม้ หรือเครื่องประดับ เพื่อระลึกถึงบุญคุณที่แม่เลี้ยงดูมาจนถึงทุกวันนี้ ลูกบางคนก็ลงทุนทำอาหารแล้วยกไปให้แม่ถึงเตียงหรือไม่ก็พาแม่ออกไปฉลองที่ร้านอาหาร

วันแม่ของอเมริกาถูกกำหนดขึ้นเมื่อประมาณร้อยปีที่แล้ว คือในปี ค.ศ. 1908 แอนนา เอ็ม. จาร์วิส คุณครูแห่งรัฐฟิลาเดลเฟียเป็นผู้ผลักดันให้มี 'วันแม่' อย่างเป็นทางการ กว่าจะประสบความสำเร็จในเรื่อง 'วันแม่' ก็หลายปีให้หลัง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1914 ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ได้มีคำสั่งให้ถือวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ

กุหลาบแห่งโตเกียว ‘Tokyo Rose’ อาวุธร้ายแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ที่ใช้โจมตีขวัญกำลังใจของทหารสัมพันธมิตรใน WW II

ขึ้นชื่อว่าสงคราม หลายคนคงจะนึกถึงการใช้ความรุนแรง อาวุธ หรือกำลังเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คาดหวังหรือมุ่งหมาย แต่จริงๆ แล้วในการทำสงคราม สิ่งที่สำคัญมากกว่าอาวุธและขาดไม่ได้เลยคือ ‘สงครามจิตวิทยา’ (Psychological warfare) 

‘สงครามจิตวิทยา’ คือการทำสงครามที่ใช้ทฤษฎีทางด้านจิตวิทยาที่มุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบต่อ ‘ความคิด’ และ ‘ความเชื่อ’ ของบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยอาศัยการโฆษณาชวนเชื่อร่วมกับปฏิบัติการจิตวิทยา 

สงครามจิตวิทยานั้นสามารถทำได้ทั้งในยามสงบและยามสงคราม ทั้งฝ่ายข้าศึกและฝ่ายเดียวกัน รวมถึงฝ่ายเป็นกลาง ทั้งในด้านการเมืองและการทหาร ในระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และระดับยุทธวิธี

เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เช่นกัน ในสมรภูมิตะวันออก (เอเชีย-แปซิฟิก) สงครามจิตวิทยาที่กองทัพญี่ปุ่นนำมาใช้กับกองกำลังสัมพันธมิตรคือ ‘การโฆษณาชวนเชื่อทางวิทยุ’ โดยหญิงที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีฉายาว่า ‘กุหลาบแห่งโตเกียว’ (Tokyo Rose) อันเป็นชื่อที่ทหารกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่ปฏิบัติการในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ใช้เรียกโฆษกหญิงโฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่นที่พูดภาษาอังกฤษราว ๆ ๑๒ นาง

โฆษกหญิงโฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่นมีเจตนาที่จะบ่อนทำลายขวัญและกำลังใจของกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่ฟังการแพร่สัญญาณ โดยเน้นย้ำถึงความยากลำบากในการทำสงครามและความสูญเสียทางทหารที่เกิดขึ้นมากมาย ผู้ประกาศหญิงหลายคนดำเนินการโดยใช้นามแฝงที่แตกต่างกัน และกระจายเสียงในเมืองต่าง ๆ ทั่วดินแดนที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครอง รวมถึง โตเกียว มะนิลา และเซี่ยงไฮ้ 

ทั้งนี้ ชื่อ ‘กุหลาบแห่งโตเกียว’ (Tokyo rose) ไม่เคยถูกใช้โดยฝ่ายญี่ปุ่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว

‘กุหลาบแห่งโตเกียว’ (Tokyo rose) ปรากฏเป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1943 ทหารอเมริกันในแปซิฟิกมักฟังการแพร่สัญญาณโฆษณาชวนเชื่อเพื่อรับทราบถึงผลของการปฏิบัติทางทหารของพวกตน โดยจับความหมายโดยนัย นอกเหนือจากการปฏิบัติแล้ว ยังมีการขวัญในหมู่ทหารอเมริกันว่า เรื่องที่กุหลาบแห่งโตเกียวนำเสนอ มักมีความแม่นยำอย่างน่ากลัว สามารถกล่าวถึง หน่วยทหารและกระทั่งชื่อของทหารบางคนได้ แม้ว่าเรื่องที่กุหลาบแห่งโตเกียวนำเสนอเหล่านี้ไม่เคยมีเอกสารพิสูจน์ เช่น บทและการแพร่สัญญาณที่ถูกบันทึกเอาไว้ 

Iva Ikuko Toguri D'Aquino (4 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 – 26 กันยายน ค.ศ. 2006) เป็นนักจัดรายการและนักจัดรายการวิทยุชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ ‘กุหลาบแห่งโตเกียว’ (Tokyo rose) ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยร่วมจัดรายการวิทยุภาษาอังกฤษที่ส่งโดย Radio Tokyo ไปยังกองทหารสัมพันธมิตรในรายการวิทยุ The Zero Hour แม้ว่าเธอจะออกอากาศโดยใช้ชื่อ ‘Orphan Ann’ แต่ Iva Toguri ก็เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Tokyo Rose’ 

Iva Toguri เป็นพลเมืองอเมริกัน เกิดที่นครลอสแองเจลิส พ่อ-แม่ของเธอเป็นผู้อพยพชาวญี่ปุ่น จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตนครลอสแองเจลิส ในปี ค.ศ. 1940 ด้วยปริญญาตรีด้านสัตววิทยา 

ในวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 เธอต้องเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมอาการป่วยของญาติ โดยพักอยู่กับครอบครัวของป้า ก่อนการโจมตีอ่าวเพิร์ลของกองทัพญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกใบรับรองประจำตัวให้เธอ เพราะเธอไม่มีหนังสือเดินทาง และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน Iva Toguri ได้ยื่นขอหนังสือเดินทางต่อรองกงสุลสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น โดยระบุว่า เธอต้องการกลับบ้านในสหรัฐฯ 
 

คำขอของเธอถูกส่งต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และท้ายที่สุดเธอไม่สามารถเดินทางออกจากญี่ปุ่นได้เมื่อเกิดสงครามกับสหรัฐอเมริกา ทั้งยังไม่สามารถอยู่กับครอบครัวของป้าได้ เพราะเธอเป็นพลเมืองอเมริกัน ซ้ำร้ายเธอยังไม่สามารถรับความช่วยเหลือใด ๆ จากพ่อแม่ของเธอที่ถูกกักไว้ในค่ายกักกันชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นในมลรัฐแอริโซนาอีกด้วย และที่เจ็บปวดที่สุดคือหลังจากการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ (7 ธันวาคม ค.ศ. 1941) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะรับรองการเป็นพลเมืองของเธออีก

เมื่อชีวิตดูมืดมิดและมาถึงทางตัด Iva Toguri จึงต้องจำใจยอมรับงานเป็นพนักงานพิมพ์ดีดชั่วคราวที่ Radio Tokyo (NHK) 

ต่อมาเธอได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ประกาศของ The Zero Hour รายการโฆษณาชวนเชื่อความยาว ๗๕ นาทีอย่างรวดเร็ว ซึ่งรายการนี้ประกอบด้วย เรื่องตลก รายงานข่าว และเพลงอเมริกันยอดนิยม 

เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 เธอถูกกองทัพสหรัฐฯ ควบคุมตัวเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่เธอจะถูกปล่อยเนื่องจากขาดหลักฐาน เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมเห็นพ้องต้องกันว่า การออกอากาศของเธอ ‘ไม่มีพิษมีภัย’

อดีตที่ขมขื่น!! ความเจ็บปวดใต้การปกครองของชาติอาณานิคม ส่งผลให้ ‘ชาวอินโดนีเซีย’ รักบ้านเกิดเมืองนอนยิ่งกว่าชีวิต

การล่าอาณานิคม คือ หลักการการผนวกเอาดินแดนหรืออำนาจทางเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องใช้ ‘กำลังทหาร’ เข้าช่วย 

สำหรับราชอาณาจักรสยาม หรือราชอาณาจักรไทยนั้น ผ่านพ้นเหตุการณ์เช่นนั้นมาด้วยพระปรีชาสามารถในพระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ คนสยามหรือคนไทยในปัจจุบัน จึงไม่เคยลิ้มชิมรสชาติของการเป็นพลเมืองของชาติอาณานิคมที่ถูกเจ้าอาณานิคมชาติตะวันตกปกครอง 

แต่สำหรับชาวอินโดนีเซียแล้ว พวกเขามีช่วงเวลาที่เลวร้ายกับการตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติมานานกว่า ๓๕๐ ปี ความเป็นอาณานิคมเพิ่งสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 เมื่ออินโดนีเซียประกาศเอกราช แต่หลังจากนั้น ต่างชาติจากยุโรปซึ่งก่อนหน้านี้ถูกนาซีเยอรมันยึดครองได้พยายามกลับมายึดครองอินโดนีเซียอีกครั้งด้วยปฏิบัติการทางทหารถึงสองครั้งในปี ค.ศ. 1947 และ ค.ศ. 1948 แต่ก็ประสบความล้มเหลวทั้งสองครั้งสองครา

เหล่าต่างชาติที่เคยรุกราน ยึดครอง และแสวงหาประโยชน์จากอินโดนีเซียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1509 - 1948 ได้แก่ โปรตุเกส (ค.ศ. 1509 - 1595) สเปน (ค.ศ. 1521 - 1629) ดัตช์ (ค.ศ. 1602 - 1942) ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1806 - 1861) อังกฤษ (ค.ศ. 1811 - 1816) และญี่ปุ่น (ค.ศ. 1942 - 1945) 

ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคม ชาวอินโดนีเซียในท้องถิ่นไม่ได้รับอนุญาตให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การอ่านและการเขียน และคนในท้องถิ่นก็ยากจนลงอย่างเป็นระบบ อดอยากจนตาย และถูกเลือกปฏิบัติอย่างเลวร้าย ต่างชาติที่ยึดครองอินโดนีเซียในขณะนั้นถือว่าชาวอินโดนีเซียเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่สมควรมีชีวิตอยู่ และคาดหวังจะทำให้ชาวอินโดนีเซียเป็นทาสในอาณานิคมของตน

ทหาร-ตำรวจของเจ้าอาณานิคมปฏิบัติต่อชาวบ้านในอืนโดนีเซียช่วงเวลาที่ถูกยึดครอง

 

การบังคับใช้แรงงานในยุคอาณานิคมในอินโดนีเซีย

 

มหาสงครามอาเจะห์

สงคราม Padri ในสุมาตราตะวันตก


กษัตริย์ Sisingamaraja จาก North Sumatera ผู้นำประชาชนต่อสู้กับชาวดัตช์

รักนิรันดร ‘Yasuo Takamatsu’ ชายผู้ดำน้ำตามหาภรรยา ที่หายตัวไปจากเหตุสึนามิที่ญี่ปุ่น ในปี 2011

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิโทกุที่พัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น ทำให้ผู้คนราว ๆ หนึ่งในสี่ล้านคนต้องสูญเสียบ้าน และคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ ๒๐,๐๐๐ คน และเหยื่อจากสึนามิครั้งนั้นมากกว่า ๒,๕๐๐ รายยังคงสูญหาย


Yasuo Takamatsu ก็เป็นหนึ่งในผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สินามิครั้งนั้นเช่นกัน โดยเขาได้สูญเสีย Yuko ภรรยาสุดที่รักของเขา 

ขณะเกิดเหตุสินามิ Yasuo อยู่กับมารดาที่โรงพยาบาลในเมืองใกล้เคียง ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปยังเมืองที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิทำลายล้าง ซึ่งในเวลานั้น ตึกรามบ้านช่อง รถยนต์ และเรือตกปลาจำนวนมากถูกทำลาย และโรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาถูกกำหนดให้เป็นศูนย์อพยพ โดยมีผู้คนหลายร้อยคนไปพึ่งพิงที่โรงพยาบาลแห่งนั้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวได้ไม่นาน

หลายเดือนภายหลังจากภัยพิบัติผ่านพ้นไป Yasuo ก็พบเพียงโทรศัพท์ของภรรยาในลานจอดรถของธนาคารที่เธอทำงานอยู่ เขากล่าวถึงความ ‘น่าหดหู่ใจ’ ที่ต้องคิดถึงการมีชีวิตอยู่โดยไม่มีภรรยา 

หากย้อนกลับไปยังวันที่เกิดเหตุสึนามิ ขณะที่ภรรยาของเขากำลังทำงานอยู่ เธอได้ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ เธอถามผู้เป็นสามีว่า “คุณสบายดีไหม” และในข้อความสุดท้ายของเธอถึงสามีมีเพียงข้อความว่า “ฉันอยากกลับบ้าน” และหลังจากนั้นเธอก็ขาดการติดต่อ

Yasuo ได้ใช้เวลาค้นหาภรรยาบนบกนานกว่าสองปีครึ่งภายหลังสึนามิถล่มแผ่นดินใหญ่ และยังคงพยายามค้นหาเธอทุกวิถีทาง จนในที่สุด Yasuo Takamatsu ในวัย ๕๗ ปี ก็เริ่มเรียนดำน้ำในเดือนกันยายน ค.ศ. 2013 จนได้รับใบอนุญาตในการดำน้ำระดับสูงเพื่อค้นหาภรรยาของเขา

เดิมที Yasuo Takamatsu เป็นพนักงานขับรถบัส และไม่ชอบการดำน้ำ แต่ด้วยความต้องการที่จะค้นหาภรรยาให้พบ จึงกลายเป็นเรื่อง ‘บังคับ’ ให้เขาดำลงในมหาสมุทรไปโดยปริยาย

เมืองงามในหุบเขา สำรวจเมือง ‘อันติกัว’ ในประเทศกัวเตมาลา ดื่มด่ำบรรยากาศที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาไฟ

“Travel isn’t always pretty. It isn’t always comfortable. Sometimes it hurts, it even breaks your heart. But that’s okay. The journey changes you; it should change you. It leaves marks on your memory, on your consciousness, on your heart, and on your body. You take something with you. Hopefully, you leave something good behind.” – Anthony Bourdain

ทางหลวงกว้างสี่เลนฉีกออกจากเมืองหลวง การจราจรคับคั่ง แม้กระทั่งเมื่อค่อย ๆ คดเคี้ยวขึ้นเขารถราก็ยังเยอะอยู่ดี คนขับรถบัสหมุนพวงมาลัยอย่างคล่องแคล่วโดยไม่ชะลอความเร็ว รถแล่นผ่านโค้งเหล่านั้น ผู้โดยสารท้องถิ่นรู้วิธีเอนตัวเองให้ได้องศาเหมาะสม ในขณะนักท่องเที่ยวต่างชาติโดนแรงเหวี่ยง ไหลไปยังอีกด้านจนแทบตกจากเบาะ ไม่ใช่สิ่งที่น่าตระหนกตกใจแต่อย่างใด แต่กลับเป็นเรื่องชวนหัวแทน 

ปลายทางครั้งนี้ คือเมืองงามในหุบเขาแห่งประเทศกัวเตมาลา (Guatemala) โอบล้อมด้วยภูเขาไฟ ชื่อเมืองอันติกัว อันที่จริงชื่อเต็มคือ อันติกัวกัวเตมาลา (Antigua Guatemala) หมายถึงเมืองโบราณแห่งประเทศกัวเตมาลา ค่าที่เคยเป็นเมืองหลวงเก่าเมื่อราวห้าร้อยปีก่อน คงความเป็นศูนย์รวมทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอยู่ได้สองร้อยปี แต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว จึงประสบกับหายนะทางธรรมชาตินับครั้งไม่ถ้วน 

แผ่นดินไหวในปี 1773 นับเป็นครั้งรุนแรงสุด ตึกรามพังถล่ม ได้รับความเสียหายมากจนทางการในสมัยนั้นเห็นว่าเกินกว่าจะซ่อมหรือสร้างขึ้นใหม่ จึงตกลงกันย้ายเมืองหลวงไปยังที่ราบสูงห่างออกไปราวสี่สิบกิโลเมตร ซึ่งก็คือกรุงกัวเตมาลาซิตี้ (Guatemala City) นั่นเอง

เมื่อถนนไต่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุด ก็ค่อย ๆ ลดระดับลง พลขับรถบัสคันเดิมยังฉวัดเฉวียนอย่างชินทาง ภาพภูเขาไฟเริ่มเผยให้เห็นนอกหน้าต่างรถ รูปทรงสามเหลี่ยมสมมาตรมีพลังเย้ายวนชวนให้ใจเต้นโครมครามอยากเข้าไปสัมผัสในระยะใกล้กว่านี้ ใครบางคนเคยเล่าให้ฟังว่าสามเหลี่ยมเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่ทรงพลังที่สุด จึงไม่แปลกใจเลยที่สถูป เจดีย์ทางฝั่งเอเชีย ปิรามิดทั้งที่แอฟริกาอย่างอียิปต์ และปิรามิดชาวมายาในทวีปอเมริกาทั้งหลายจึงมีลักษณะไม่ต่างจากภูเขาไฟ

การจราจรติดขัดทันทีที่ถึงบริเวณทางเข้าเมือง เมื่อหลายร้อยปีก่อนนับว่ากว้างขวางแน่นอน แต่ยุคนี้รถราเยอะ ถนนกว้างเท่าเดิมนั้นกลับแคบไปถนัด ในเมื่อขยายถนนไม่ได้ จึงต้องแก้ไขโดยการเดินรถทางเดียว ก้อนหินนำมาเรียงเป็นพื้นถนนตะปุ่มตะป่ำ กระเด้งกระดอนกันครู่หนึ่งก็ถึงท่ารถ ผู้โดยสารลงจากรถ แยกย้ายกันไปยังสถานที่ตามที่ตั้งใจไว้

เมืองนี้ตั้งอยู่ที่ความสูงราวพันห้าร้อยเมตรจากระดับน้ำทะเล โอบล้อมด้วยภูเขา โดยมีภูเขาไฟสามลูกตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง ลูกที่เห็นได้ชัดกว่าใคร คือภูเขาไฟอะกวา (Volcan Agua) อีกลูกที่คนนิยมเดินเทร็กขึ้นไปยังปากปล่องของมัน คือภูเขาไฟอะคาเตนังโก (Volcan Acatenango) จุดประสงค์หลักก็เพื่อชมการประทุในระยะใกล้ของภูเขาไฟโฟยโก (Volcan Fuego) ซึ่งอยู่ใกล้กันนั่นเอง

แม้จะคล้ายกับเมืองเก่าสไตล์โคโลเนียลอื่น ๆ แต่เอกลักษณ์ซึ่งแตกต่างมาก คืออาคารหลายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบสถ์เก่าแก่ซึ่งกระจายกันอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในเมืองนั้นอยู่ในสภาพซากปรักหักพัง เป็นอนุสรณ์สถานซึ่งอนุรักษ์ไว้ให้คงลักษณะเช่นนั้น โดยไม่มีการสร้างขึ้นใหม่ เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงพลังรุนแรงแห่งธรรมชาติ คนที่เห็นจะได้เข้าใจอดีตของที่นี่ ดีกว่ากลบร่องรอยด้วยตึกใหม่ซึ่งคล้ายของเดิมมากกว่ากันเป็นไหน ๆ

สำหรับใครที่เพิ่งมาเที่ยวกัวเตมาลาเป็นครั้งแรก การมาตั้งต้นการเดินทางในประเทศนี้ ณ อันติกัวนั้นนับว่าสมเหตุสมผลโดยประการทั้งปวง เพราะโดยบรรยากาศในตัวมันเองที่แสนจะผ่อนคลาย มีความปลอดภัยสูง กับบรรดาสิ่งอำนวยความสะดวกสารพันที่รองรับ ล้วนช่วยให้รื่นรมย์ในช่วงปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ได้เป็นอย่างดี

ย่านใจกลางเมืองเก่าเหมาะสำหรับเริ่มต้นสำรวจอะไรต่อมิอะไร อาจจะเริ่มต้นที่แลนด์มาร์กสำคัญ คือซุ้มประตูสีเหลืองซานตาคาตารินา (Santa Catarina Arch) นักท่องเที่ยวมักมากระจุกกันบริเวณนี้ ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ขายต่างเห็นเป็นโอกาสดีในการเสนอขายสินค้าที่ระลึกจำพวกสร้อยคอ กำไล ภาพวาด หมวก คนขายผลไม้หั่นชิ้นใส่ถุงหรือรถเข็นขายไอศกรีมทรงรถบัสฉบับย่อก็ประจำอยู่แถวนั้นด้วยเช่นกัน เวลาถ่ายเซลฟี่หรือให้ใครถ่ายภาพคู่กับสัญลักษณ์ประจำเมืองโดยมีภูเขาไฟอะกวาเป็นฉากหลังแล้วโพสต์ขึ้น ใครต่อใครบนโลกโซเชี่ยลเห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่านั่นคืออันติกัว ใกล้กันนั้นคือโบสถ์ลาเมอร์เซ็ด (La Merced Church) ซึ่งก็คุมโทนผนังด้านนอกด้วยสีเหลืองและขาวเช่นกัน ข้างในเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ ยกเว้นช่วงที่มีการประกอบพิธีมิสซา เพื่อเปิดโอกาสให้ศาสนิกชนได้ร่วมพิธีกันอย่างสงบเรียบร้อย เสร็จกิจกรรมทางศาสนาแล้วก็เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าได้ตามปกติ

อีกจุดที่คนมักไปพักผ่อนหย่อนใจกันตลอดทั้งวัน คือสวนสาธารณะและลานน้ำพุกลางเมือง ม้ายาวกระจายตัวอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เหมาะสำหรับนั่งสังเกตอากัปกิริยาผู้คน บรรดานกพิราบมีความสุขกับการจิกกินอาหารที่คนโปรยลงพื้นให้ บางส่วนลงไปเกาะขอบน้ำพุ เล่นน้ำอาบน้ำกันโดยไม่ได้เกรงกลัวใครจะมาจับหรือทำร้าย นักท่องเที่ยวอุดหนุนคนเข็นขายของขบเคี้ยวเล่นประเภทถั่วชนิดต่าง ๆ ลุงช่างภาพโพลารอยด์ถือป้ายเรียกลูกค้าที่ต้องการภาพที่ระลึกแบบด่วน ๆ เวลาค่ำมักมีพวกผู้หญิงชนเผ่าเดินเร่ขายลูกโป่งติดไฟกะพริบ เด็กน้อยมักรบเร้าพ่อแม่ให้ซื้อให้ บางค่ำมีนักเป่าแซ็กโซโฟนมาเปิดหมวกบรรเลงเพลงรวมฮิตร่วมสมัยสไตล์โรแมนติกเสริมบรรยากาศการนั่งในสวนอีกด้วย 

‘Operation Solomon’ ปฏิบัติการ ‘อพยพชาวยิว’ จากเอธิโอเปียสู่อิสราเอล สร้างสถิติขนส่งผู้โดยสารทางอากาศมากที่สุดในโลก

สวัสดีปีใหม่นักอ่านทุกท่านของ THE STATES TIMES หวังว่าปีนี้จะเป็นปีที่สดใสและทุกท่านจะมีความสุข ร่ำรวย และแข็งแรงกันทุกคนนะครับ

สำหรับปีใหม่นี้ ผม อาจารย์โญธิน มานะบุญ ก็ยังคงมีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาเล่าให้ทุกท่านได้อ่านกันเช่นเคย เรื่องราววันนี้เกี่ยวกับการขนส่งผู้โดยสารบนเครื่องบินที่มากที่สุดในโลกครับ

การขนส่งผู้โดยสารบนเครื่องบินภายในหนึ่งเที่ยวบิน และขนคนได้มากที่สุดในโลก จนโด่งดังและเป็นสถิติโลก เกิดขึ้นในภารกิจปฏิบัติการโซโลมอน หรือ Operation Solomon ซึ่งถือว่าเป็นปฏิบัติการที่เหนือขีดจำกัดของมนุษยชาติเลยทีเดียว

แต่ก่อนจะเกิดปฏิบัติการโซโลมอน เคยมีปฏิบัติการคล้าย ๆ แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งคือ ‘ปฏิบัติการ Moses’ และ ‘ปฏิบัติการ Joshua’ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้ชาวยิวในเอธิโอเปีย หรือที่เรียกว่า Beta Israel ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภูมิภาค Gondar ของที่ราบสูงเอธิโอเปีย มีอาชีพชาวนาและช่างฝีมือ อพยพไปยังอิสราเอล ซึ่งการอพยพทั้ง 2 ครั้งนั้นรัฐบาลเอธิโอเปียยินยอมให้เกิดขึ้นเพื่อแลกกับอาวุธและการช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีชาวยิวไม่มากที่สามารถอพยพไปได้ 

สำหรับ Operation Solomon (מבצע שלמה, Mivtza Shlomo) นั้น เป็นปฏิบัติการลับทางทหารของอิสราเอลเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 ถึง 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 เพื่อส่งชาวยิวในเอธิโอเปียไปยังอิสราเอลโดยขนส่งทางอากาศ ด้วยเที่ยวบินตรงของเครื่องบินอิสราเอลจำนวน ๓๕ ลำ เช่น C-130 ของกองทัพอากาศอิสราเอล และเครื่องบิน Boeing 747 ของสายการบิน El Al ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของอิสราเอล ในครั้งนั้นได้ทำการขนย้ายชาวยิวเอธิโอเปียจำนวน ๑๔,๓๒๕ คนไปยังอิสราเอลภายใน ๓๖ ชั่วโมง 

โดยเครื่องบิน Boeing 747 ของสายการบิน El Al ลำหนึ่งได้บรรทุกคนอย่างน้อย ๑,๐๘๘ คน รวมถึงทารกแรกเกิดอีกสองคน (เกิดระหว่างการขนส่ง) และถือเป็นสถิติโลกที่มีผู้โดยสารมากที่สุดบนเครื่องบินโดยสาร ทั้งนี้มีเด็กแปดคนถือกำเนิดในระหว่างกระบวนการขนส่งทางอากาศในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย

Mengistu Haile Mariam อดีตประธานาธิบดีของเอธิโอเปีย

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปฏิบัติการโซโลมอนต้องเริ่มขึ้นก็เพราะในปี ค.ศ. 1991 รัฐบาลเอธิโอเปียของ Mengistu Haile Mariam เริ่มเสื่อมอำนาจและใกล้จะถูกโค่นล้มโดยกลุ่มกบฏ Eritrean และ Tigrayan ซึ่งทำลายเสถียรภาพทางการเมืองของเอธิโอเปียอย่างมาก ทำให้องค์กรชาวยิวทั่วโลก เช่น American Association for Ethiopian Jewish (AAEJ) รวมทั้งรัฐบาลอิสราเอลเป็นกังวลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวยิวเอธิโอเปีย บวกกับอำนาจที่น้อยลงเรื่อย ๆ ของรัฐบาล Mengistu จึงได้เปิดโอกาสให้ชาวยิวในเอธิโอเปียสามารถอพยพไปยังอิสราเอลได้

โดยก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ. 1990 รัฐบาลอิสราเอลและกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) ตระหนักถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายลงของเอธิโอเปีย จึงได้วางแผนการลับ ๆ เพื่อขนส่งชาวยิวทางอากาศไปยังอิสราเอล 

สหรัฐอเมริกาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนปฏิบัติการโซโลมอนในครั้งนี้ด้วย โดยหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับการเรียกร้องจากผู้นำชาวยิวอเมริกันจากองค์กร American Association for Ethiopian Jewish (AAEJ) ที่ระบุว่า “ชาวยิวเอธิโอเปียกำลังตกอยู่ในอันตราย” 

สหรัฐอเมริกามีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องการอพยพชาวยิวเอธิโอเปียของรัฐบาลเอธิโอเปียอย่างมาก โดยรัฐบาลเอธิโอเปียได้รับแรงกระตุ้นจากจดหมายของประธานาธิบดี George H. W. Bush (ผู้ซึ่งเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ Moses และปฏิบัติการ Joshua ก่อนหน้านี้ในครั้งนั้นประธานาธิบดี Mengistu ตั้งใจจะอนุญาตให้มีการอพยพเพื่อแลกกับอาวุธเท่านั้น)

Rudy Boschwitz วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

นอกจากนี้ ทางสหรัฐฯ ยังส่งกลุ่มนักการทูตอเมริกันเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการแก่รัฐบาลอิสราเอลและเอธิโอเปีย นำโดย Rudy Boschwitz วุฒิสมาชิก, Irvin Hicks รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการแอฟริกา, Robert Frasure ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการแอฟริกาแห่งสภาความมั่นคงแห่งชาติจากทำเนียบขาว และ Robert Houdek อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงแอดดิสอาบาบา 

Boschwitz ถูกส่งไปเป็นทูตพิเศษของประธานาธิบดี Bush เขาและทีมงานได้พบกับรัฐบาลเอธิโอเปียเพื่อช่วยเหลืออิสราเอลในการจัดการขนส่งทางอากาศ 

นอกจากนี้ Herman Cohen ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกายังมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากเขาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศของสงครามกลางเมืองในเอธิโอเปีย 

Cohen ได้ทำข้อตกลงต่าง ๆ กับ Mengistu เอาไว้ และเพื่อตอบสนองต่อความพยายามของนักการทูตอเมริกัน รักษาการประธานาธิบดีแห่งเอธิโอเปีย Tesfaye Gebre Kidan ได้ตัดสินใจที่จะอนุญาตให้มีการอพยพชาว Beta Israel ทางอากาศ 

การเจรจารอบปฏิบัติการนำไปสู่การอภิปรายโต๊ะกลมในลอนดอนในที่สุด ซึ่งจัดทำคำประกาศร่วมโดยนักรบเอธิโอเปียซึ่งตกลงที่จะจัดประชุมเพื่อเลือกรัฐบาลเฉพาะกาล 

ชุมชนชาวยิวระดมเงิน 35 ล้านดอลลาร์เพื่อมอบให้กับรัฐบาลในเอธิโอเปียเพื่อให้ชาวยิวเอธิโอเปียสามารถอพยพไปยังอิสราเอลได้ เงินที่ได้ไปเป็นค่าใช้จ่ายที่สนามบินในกรุงแอดดิสอาบาบา

นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง!! รู้จัก ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ หัวหน้าคณะวิจัยและพัฒนาโมเลกุล ‘มณีแดง’

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร หัวหน้าคณะผู้วิจัยและพัฒนา โครงการ ‘มณีแดง’

สวัสดีนักอ่านที่น่ารักทุกท่าน ใครที่ติดตามเรื่องเล่าของผมเป็นประจำก็จะรู้ว่าหลายครั้งหลายคราผมได้หยิบยกเหตุการณ์ในอดีต หรือแม้แต่บุคคลที่สร้างวีรกรรมต่าง ๆ ในอดีตมาเขียนเล่าเรื่องให้ทุกท่านได้อ่านกัน และส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องหรือบุคคลในต่างประเทศ

พอมานั่งตรึกตรองดูแล้ว ผมอยากจะเล่าเรื่องของคนไทยบ้าง และอยากเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันให้มากขึ้น หันซ้ายหันขวาผมก็เจอเรื่องและบุคคลที่น่าสนใจ นั่นก็คือ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ หัวหน้าคณะผู้วิจัยและพัฒนา โครงการ ‘มณีแดง’ 

สำหรับใครที่ตามข่าวแนว ๆ วิทยาศาสตร์ก็อาจจะเคยได้ยินชื่อ ‘มณีแดง’ กันมาบ้าง และคงตาลุกวาวเมื่อรู้ว่า ‘มณีแดง’ เปรียบดังยาอายุวัฒนะ

ก่อนจะอธิบายว่าทำไม ‘มณีแดง’ เปรียบดังยาอายุวัฒนะ นั้น ผมขอแนะนำประวัติคร่าว ๆ ของ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ ผู้ค้นพบและวิจัยมณีแดงก่อนนะครับ

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย อาจารย์ประจำ และอดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๑ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ผู้เชี่ยวชาญด้านอณูพันธุศาสตร์ มีผลงานวิจัยดีเด่นทางด้านการศึกษาการอณูพันธุศาสตร์โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก และสภาวะเหนือพันธุกรรม (Epigenetic) ที่เป็นกลไกสำคัญในการเกิดโรคในมนุษย์ ได้แก่ มะเร็ง โรค autoimmune และโรคชรา

ที่สำคัญ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัยและพัฒนาโมเลกุล ‘มณีแดง’ หรือ RED-GEMs (REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules) และนอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่สำคัญ เช่น

๑. การค้นพบ DNA ของไวรัสเอพสไตน์บาร์ (Epstein Barr virus, EBV) ในน้ำเหลืองของผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก ในปัจจุบันใช้การวัดปริมาณ EBV ของ DNA ในน้ำเหลืองเพื่อติดตามผลการรักษาผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก

๒. ศึกษาสภาวะเหนือพันธุกรรมของสาย DNA เบสซ้ำเพื่อควบคุมการทำงานของยีนและปกป้องจีโนมของเซลล์ (2-8) ทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการป้องกัน ตรวจกรองวินิจฉัยและรักษา มะเร็งและความชราในอนาคต

๓. ศึกษาสภาวะเหนือพันธุกรรมของยีนที่จำเพราะกับชนิดเนื้อเยื่อหรือชนิดการติดเชื้อไวรัส (9-13) ทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการตรวจกรองและวินิจฉัยมะเร็งในอนาคต

๔. ค้นพบรอยฉีกขาดของ DNA ที่ดี (14-17) ที่อาจมีประโยชน์ป้องกันความไม่เสถียรของจีโนม ความชราและมะเร็ง น่าจะทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการป้องกันการเกิดมะเร็งและความชราในอนาคต

อ่านเพียงเท่านี้ ก็ต้องยกนิ้วโป้งให้ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ เลยทีเดียว เพราะผลงานที่ศึกษานั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก นอกจากผลงานที่ยกมาบอกเล่าข้างต้นแล้ว ผลงานที่เด่นและเป็นที่สนใจของคนในสังคมมากก็คือ การวิจัย ‘มณีแดง’ ที่คนเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนยาชะลอวัย นั่นเอง

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า การวิจัยและพัฒนาโมเลกุล ‘มณีแดง’ ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สกว. สวทช. และ วช. สำหรับทีมวิจัยฯ นอกจากบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว มีรายนามคณะนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสังเขปดังต่อไปนี้ :

๑. ผศ.ดร. จิรพรรณ  ทองสร้อย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ศึกษาการตรวจวัด รอยแยกของ DNA
๒. ศาสตราจารย์ ดร. นพ. นิพนธ์ ฉัตรธิพากร และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สถานที่และคำแนะนำในเรื่องการย้อนวัยของหนูชรา
๓. บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเลี้ยงและวิเคราะห์หมู
๔. อาจารย์ ดร. สรวงสุดา สุภาสัย ภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาหนูพาร์กินสัน และหนู อัลไซเมอร์
๕. ผศ.ดร.สุกัญญา เจริญพร และคณะ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาลิงแสม

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะผู้วิจัยได้รายงานการค้นพบ DNA ของเชื้อไวรัสเอพสไตน์บาร์ (Epstein Barr virus, EBV) หรือ EBVDNA ในน้ำเหลืองของผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก การค้นพบนี้ทำให้เกิดการพัฒนาการตรวจติดตามผลการรักษา โดยที่ EBVDNA จะหายหมดไปหากไม่มีเนื้อมะเร็งโพรงหลังจมูกหลงเหลือ และหากพบมี EBVDNA ในน้ำเหลืองแสดงว่ามีการกลับเป็นซ้ำเกิดขึ้น ในปัจจุบัน แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูกประมาณ ๖ แสนคนทั่วโลก ได้ประโยชน์จากการตรวจหา EBVDNA ในน้ำเหลือง

ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ คณะผู้วิจัยเริ่มรายงานค้นพบการเปลี่ยนแปลงสภาวะเหนือพันธุกรรมของสาย DNA เบสซ้ำในเซลล์มะเร็ง ในผู้ชรา และในโรคอื่น ๆ เช่น กระดูกผุ โรค SLE หรือรู้จักกันในชื่อโรคพุ่มพวง การศึกษาต่อเนื่องทำให้รู้กลไกและบทบาทที่ส่งผลต่อการเกิดพยาธิสภาพของโรค ทั้งจาก ความไม่เสถียรของจีโนมและการแสดงออกของยีนที่เปลี่ยนไป ในปัจจุบันคณะผู้วิจัย กำลังศึกษาวิธีการที่จะนำความรู้เกี่ยวกับ สภาวะเหนือพันธุกรรมของสาย DNA เบสซ้ำ มาพัฒนาเป็นยารักษามะเร็ง ป้องกันความพิการจากความชรา และการตรวจกรองมะเร็งที่พบบ่อย นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังเป็นผู้ค้นพบสภาวะเหนือพันธุกรรมของยีนที่จำเพราะกับชนิดเนื้อเยื่อหรือชนิดการติดเชื้อไวรัส และกำลังกำลังศึกษาวิธีการที่จะนำความรู้นี้ไปใช้วินิจฉัยและการตรวจกรองมะเร็งในอนาคต

ส่วนผลงานวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ คณะผู้วิจัยรายงานการค้นพบรอยฉีกขาดของ DNA ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน รอยฉีกขาดของ DNA ที่รู้จักกันจะทำให้เซลล์ตายหรือกลายพันธุ์ แต่รอยฉีกขาดที่ค้นพบกลับน่าจะมีประโยชน์ต่อเซลล์ทำให้จีโนมเสถียร ไม่แก่และไม่เป็นมะเร็ง เป็นการค้นพบกลไกต้นน้ำของความชราบริเวณรอยแยก (youth-DNA-gap) ตรงจุดที่มี DNA แมดทิเลชัน (DNA methylation) ดังนั้นการเข้าใจกลไกการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลที่รอยฉีกขาดนี้อาจนำไปสู่การป้องกันการแก่และมะเร็งในอนาคต 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top