Wednesday, 1 May 2024
WeeklyColumnist

‘Lauren Singer’ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ใช้ชีวิตแบบ ’ไม่ผลิตขยะ‘ มาแล้วกว่าสิบปี

ปัญหาขยะเป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งแก้ได้ยากมาก ๆ แต่มีหญิงสาวชาว New York ผู้หนึ่งซึ่งใช้ชีวิตปลอดขยะ (Zero waste) มาแล้วกว่าสิบปี ทั้ง ๆ ที่เธออาศัยอยู่ในมหานครใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้ ‘Zero Waste’ หรือ ‘แนวคิดขยะเป็นศูนย์’ เป็นแนวทางในการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยทำให้ขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดลดเหลือน้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ ด้วยส่วนหนึ่งของปัญหาขยะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่บริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก โฟม ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อขยะคือภาระของทุกคน จึงเป็นที่มาของการใช้ชีวิตแบบ ‘Zero Waste’ ซึ่งคือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะไม่สร้างขยะใหม่ ๆ โดยพยายามไม่ให้มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะได้ โดยยึดหลักง่าย ๆ อย่าง 1A3R ซึ่งประกอบด้วย

1A : Avoid การหลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม เช่น พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
R1 : Reduce การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยลง เช่น การใช้ถุงผ้าไปช็อปปิ้งแทนการรับถุงพลาสติกจากร้านค้า
R2 : Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กล่องพัสดุที่ได้รับมา นำไปใส่ของส่งของต่อให้ผู้อื่น
R3 : Recycle การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การ Recycle พลาสติก ให้ออกมาเป็นวัสดุตั้งต้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

(Lauren Singer ในร้าน Package Free ของเธอ)

อย่างไรก็ตาม Lauren Nicole Singer เกิดที่นคร New York มลรัฐ New York เมื่อ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1991 ปัจจุบันอายุ 33 ปี เรียนจบปริญญาตรี ด้านสิ่งแวดล้อมและรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย New York เมื่อปี ค.ศ. 2013 และจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Columbia จากนั้นได้ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านความยั่งยืนของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของนคร New York ก่อนที่จะออกมาก่อตั้งธุรกิจสีเขียว The Simply Co. และ Package Free เธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการอิสระ และบล็อกเกอร์ในการเคลื่อนไหวเพื่อไร้ขยะ โดยเธอเริ่มใช้ชีวิตแบบไร้ขยะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ซึ่งเธอเป็นที่รู้จักจากการรวบรวมขยะทั้งหมดจากเว็บบล็อกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 โดยเธอบดขยะในโถบดขนาด 16 ออนซ์ และบล็อกของเธอก็คือ ‘Trash is for Tossers’ (ขยะเป็นของไร้ค่า) ซึ่งให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนโดยปลอดขยะ พร้อมกับบันทึกวิถีชีวิตที่ปราศจากขยะ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อเลิกการฝังกลบขยะ และลดละเลิกผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

(น้ำยาซักผ้าออร์แกนิกและปลอดสารพิษ The Simply Co.)

Lauren Nicole Singer ได้ออกจากงานประจำในปี ค.ศ. 2014 และเปิดตัว The Simply Co. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เช่น น้ำยาซักผ้าปลอดสารพิษออกสู่ตลาด น้ำยาซักผ้าออร์แกนิกของเธอได้รับการสนับสนุนจาก Kickstarter และจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของ Kickstarter และที่ร้านค้าส่งทั่วสหรัฐอเมริกา เริ่มผลิตผลิตภัณฑ์พร้อม ๆ กัน The Simply Co. ในปี ค.ศ. 2017 เธอเปิด Package Free เป็นร้านแบบป๊อปอัพในเมือง Williamsburg และนับตั้งแต่เปิดตัว Package Free สามารถลดขยะจากการฝังกลบได้หลายร้อยล้านชิ้น ในปี ค.ศ. 2023 นอกจากนี้ เธอยังได้ร่วมก่อตั้ง Overall Capital โดยเธอบอกว่า Rachel Carson และ Bea Johnson ในฐานะนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเป็น 2 แรงบันดาลใจให้สนใจเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเธอยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ‘สตรีที่น่าจับตามอง’ ของ Business Insider และ ‘หนึ่งในห้าสิบสตรีเปลี่ยนโลก’ ของ InStyle และ ‘ผู้เปลี่ยนแปลง ปี 2020’ ของ  Well + Good 

อย่างไรก็ตาม เรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะคิดเองว่า แค่เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองง่าย ๆ อย่างการเริ่มต้นจากการใช้กล่องข้าว ขวดน้ำ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ร้านค้าทางเลือกอย่าง Refill Station ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการไม่ง้อบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยทุกคนนำภาชนะไม่ว่าจะเป็นขวดแก้วหรือขวดโหล มาเติมผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองนำกลับไปใช้ที่บ้าน และการคัดแยกขยะจะช่วยอะไรได้มากมาย แต่ความจริงแล้วการแยกขยะก่อนทิ้งมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ ขยะอันตรายจะได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อลดปัญหาหรือมลพิษต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ฉะนั้นหากทุกครอบครัวเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดให้มีปริมาณน้อยลง และเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

‘Operation Alpha’ ปฏิบัติการลับที่ดำเนินการโดย ‘อินโดนีเซีย’ เพียงหวังซื้อเครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล


ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1980 ช่วงยุคสงครามเย็นที่มีความขัดแย้งระหว่างสองค่ายขั้ว นั่นก็คือ ค่ายประชาธิปไตย+เผด็จการ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อินโดนีเซียแม้จะเป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะนั้นต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในติมอร์ตะวันออกและภายนอกประเทศที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความขาดแคลนเครื่องบินรบสมัยใหม่ตอนนั้นกองทัพอากาศอินโดนีเซียมีเพียงแต่เครื่องบินรบที่ล้าสมัยของสหรัฐฯ เช่น F-86 Saber และ T-33 T-Bird ที่เก่ามากแล้วและมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการปรนนิบัติบำรุงอันเนื่องจากอายุใช้งานที่ยาวนานและอะไหล่ซึ่งขาดแคลนเพราะสหรัฐฯ เลิกผลิตแล้ว รวมทั้งเครื่องบินรบไอพ่นที่จัดหามาจากสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1960 เช่น เครื่องบินรบแบบ MiG, Il-28 และ Tu-16 ซึ่งต้องจอดอยู่กับพื้นเนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านเทคนิคหลังจากประสบปัญหาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ G30S* ตอนนั้นเองสหรัฐฯ ยินดีที่จะขายเครื่องบินไอพ่น F-5 E/F Tiger2 จำนวน 16 ลำให้กับกองทัพอากาศอินโดนีเซีย แต่เครื่องบินจำนวนนี้อินโดนีเซียเห็นว่ายังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามของประเทศได้

*G30S : เหตุการณ์ความพยายามในการทำรัฐประหารโดยสมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา


(เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล)

หน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซียได้รับข้อมูลว่า อิสราเอลยินดีที่จะขายเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ที่ผ่านการใช้งานแล้วจำนวน 32 ลำให้กับอินโดนีเซีย แต่ข้อตกลงนี้มีปัญหาหลายประการ เริ่มตั้งแต่อินโดนีเซียและอิสราเอลไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารจากอิสราเอลยังเสี่ยงต่อการถูกประท้วงอย่างรุนแรงจากประชาชนชาวอินโดนีเซียซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นมุสลิม อย่างไรก็ตามกองทัพแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ABRI) ได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อไปด้วยแผนการ ‘Operation Alpha’ โดยมี 2 ระยะคือ Operation Alpha I ในปี 1980 และ Operation Alpha II ในปี 1982 ทำให้อินโดนีเซียได้รับเครื่องบินโจมตี Douglas A-4 Skyhawk จำนวน 30 ลำ (14 ลำจากปฏิบัติการ Alpha I และ 16 ลำระหว่างปฏิบัติการ Alpha II) จากกองทัพอากาศอิสราเอล

(พล.อ.อ. Djoko Poerwoko หนึ่งนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอล)

สำหรับปฏิบัติการ Alpha ดังกล่าวนอกจากเครื่องบิน 30 ลำแล้ว ยังรวมไปถึงการฝึกนักบินชาวอินโดนีเซีย โดยครูการบินชาวอิสราเอล และมีการแปลงโฉมเครื่องบินระหว่างการขนส่งจากอิสราเอลไปยังอินโดนีเซีย โดย พล.อ.อ. Djoko Poerwoko อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศอินโดนีเซียหนึ่งในนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอลเล่าว่า ปฏิบัติการ Alpha เป็นปฏิบัติการลับที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการโดยกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (Angkatan Bersenjata Republik Indonesia : ABRI) ก่อนที่จะส่งนักบินไปฝึกที่อิสราเอล รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งช่างเทคนิคของกองทัพอากาศจำนวนหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มไปฝึกในอิสราเอลเป็นเวลา 20 เดือน ในปี 1979 หลังจากช่างเทคนิคกลุ่มสุดท้ายเสร็จสิ้นภารกิจในการฝึกอบรมแล้ว นักบินอินโดนีเซีย 10 นายได้รับแจ้งว่าจะถูกส่งไปฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกส่งให้เดินทางไปยังอิสราเอลในเดือนกันยายน 1980 โดยพวกเขาออกเดินทางด้วยเที่ยวบิน Garuda ไปยังสิงคโปร์ หลังจากเครื่องลงจอดในสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI หลายนายก็ได้มาพบกับพวกเขาระหว่างรับประทานอาหารเย็น เจ้าหน้าที่ได้ขอเก็บหนังสือเดินทางและแทนที่ด้วยหนังสือเดินทางพิเศษ ‘Travel Document in Lieu of a Passport (SPLP)’


(พลตรี Leonardus Benyamin Moerdani) 

ตอนนั้นเองพลตรี Leonardus Benyamin Moerdani ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI (ต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซีย) ก็มาพบนักบินทั้งสิบและได้บรรยายสรุปว่า “ภารกิจนี้เป็นภารกิจลับ หากพวกคุณรู้สึกไม่มั่นใจก็อนุญาตให้ถอนตัวกลับบ้านไปได้ เพราะหากภารกิจนี้ล้มเหลว ประเทศจะไม่ยอมรับว่าพวกคุณเป็นพลเมืองอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อนำพวกคุณกลับบ้าน ภารกิจนี้จะถือว่าสำเร็จหาก A-4 Skyhawk (ชื่อรหัส 'Merpati') ไปถึงอินโดนีเซียแล้ว” ซึ่งนักบินทั้ง 10 นายจึงทราบว่า ภารกิจของพวกเขาจะเกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่องบินรบจากอิสราเอล และในคืนเดียวกันนั้นนักบินทั้ง 10 คนได้ใช้ตัวตนใหม่ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นพลเมืองของอินโดนีเซีย จากนั้นพวกเขาก็บินไปที่แฟรงก์เฟิร์ต และเดินทางต่อไปสนามบินเบนกูเรียนในกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล และเมื่อมาถึงอิสราเอล พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสนามบินพาตัวออกไปที่ชั้นใต้ดินอย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกเขาได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI


(นักบินอินโดนีเซียทั้งสิบนาย)

ทั้งนี้ นักบินทั้ง 10 ได้รับการบรรยายสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องทั่วไปที่ต้องพิจารณาขณะอยู่ในอิสราเอล พวกเขาได้รับการสอนให้จำประโยคภาษาฮีบรูที่จำเป็นสองสามประโยค หลังจากการบรรยายสรุปพวกเขาก็เดินทางต่อทางบกไปทางใต้เลียบทะเลเดดซีไปยังฐานทัพอากาศ Etzion ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ‘Arizona’ เนื่องจากการฝึกอย่างเป็นทางการนั้นนักบินเหล่านี้จะต้องถูกส่งไปฝึกในมลรัฐ Arizona ณ ฐานทัพอากาศ Etzion พวกเขาได้ฝึกบินกับเครื่องบิน A-4 Skyhawks ด้วยเทคนิคและยุทธวิธีมากมาย หรือแม้แต่การฝึกบินเจาะทะลุผ่านชายแดนซีเรีย ซึ่งการฝึกบินสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 4 เดือน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1980 นักบินทั้ง 10 คนสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของ ABRI ที่ตามมาด้วยได้รวบรวมและเผาทำลายประกาศนียบัตรเหล่านั้นต่อหน้านักบิน เพื่อให้ไม่มีหลักฐานของความร่วมมือทางทหารระหว่างอินโดนีเซียและอิสราเอลปรากฎ


(ฐานบินนาวิกโยธินยูมาในมลรัฐแอริโซนา)

เพื่อให้เรื่องราวบังหน้าครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ นักบินทั้ง 10 นายจึงถูกพาตัวไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างหลักฐาน เช่น รูปถ่าย ฯลฯ พวกเขามาถึงนิวยอร์กและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น น้ำตกไนแอการา พวกเขาได้รับคำสั่งให้ถ่ายรูปหน้าสถานที่สำคัญของสหรัฐฯ ให้มากที่สุด จากนิวยอร์กพวกเขาถูกนำตัวไปที่ฐานบินนาวิกโยธิน Yuma ในมลรัฐแอริโซนา พวกเขาใช้เวลา 3 วันในฐานบินนาวิกโยธิน Yuma และได้รับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 ของหน่วยบัญชการนาวิกโยธินสหรัฐฯ (USMC) และถ่ายรูปเพิ่มเติม นอกจากนี้พวกเขายังได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของ USMC และได้ถ่ายภาพการรับประกาศนียบัตรอีกด้วย ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI ได้ย้ำเตือนนักบินว่า แท้จริงแล้วพวกเขาได้รับการฝึกฝนในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่อิสราเอล หลังจากนั้นพวกเขาก็บินไปสิงคโปร์แล้วกลับอินโดนีเซีย


(A-4 Skyhawk ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5')

ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 1980 เครื่องบินลำเลียงแบบ C-5 Galaxy ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลงจอดในฐานทัพอากาศ Iswahjudi พร้อมด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F Tiger II และในวันรุ่งขึ้น A-4 Skyhawks ชุดแรกของอิสราเอล ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินที่นั่งเดี่ยว 2 ลำ (หมายเลข TT-0401 และ TT-0414) และเครื่องบิน 2 ที่นั่ง 2 ลำ (หมายเลข TL-0415 และ TL-0416) ก็เดินทางมาถึงท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งเครื่องบินไอพ่นดังกล่าวถูกห่อหุ้มที่ฐานทัพอากาศ Etzion และขนส่งทางเรือโดยตรงจากอิสราเอล A-4 ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5' เพื่อให้ดูเหมือนเป็นการจัดส่งจากสหรัฐฯ อีกรายการหนึ่ง หลังจากแกะออกจากห่อแล้วเครื่องบินทั้งหมดก็ได้รับการตรวจสอบและประกอบด้วยความช่วยเหลือจากช่างเทคนิคชาวอิสราเอล จากนั้นจึงบินไปยังฐานทัพอากาศฮาซานุดดินในมากัสซาร์ เพื่อเข้าประจำการในฝูงบินที่ 11 


(A-4 Skyhawk ฝูงบินที่ 11 ฐานทัพอากาศฮาซานุดดิน)

อย่างไรก็ตาม A-4 Skyhawks ยังคงมาถึงอินโดนีเซียเป็นระยะ ๆ โดยรวมแล้ว อินโดนีเซียได้รับเครื่องบิน A-4 Skyhawks 14 ลำ (+1 ลำเพื่อทดแทนที่ตก) จากอิสราเอลในปี 1980 และ A-4 จำนวน 16 ลำในปี 1982 รวมทั้งหมด 30 ลำ โดยส่วนใหญ่เป็นแบบ A-4E และส่วนที่เหลือเป็นรุ่นฝึก TA-4H และ TA-4J ซึ่งในปี 1997-1998 อินโดนีเซียได้ซื้อ TA-4J (2 ที่นั่ง) 2 เครื่องจากสหรัฐอเมริกา และได้รับการปรับปรุงในนิวซีแลนด์ ในปี 1981 อิสราเอลได้ส่ง A-4E 2 ลำ (ลำหนึ่งคือ TT-0417) เพื่อทดแทน A-4 ที่ตกในระหว่างการรับประกัน เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของอินโดนีเซียได้ร่วมปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งได้แก่ ปฏิบัติการโลตัส (1980-1999) ในติมอร์ตะวันออก ปฏิบัติการออสการ์ (1991-1992) ในสุลาเวสี และปฏิบัติการเรนคอง เตร์บัง (1991-1995) ในอาเจะห์ เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียทั้งหมดถูกปลดระวางในปี 2005 และถูกนำไปตั้งแสดงอยู่ในฐานทัพอากาศและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วอินโดนีเซีย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top