Tuesday, 21 May 2024
WeeklyColumnist

‘กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี’ วีรชนแห่งสมรภูมิรบเกาหลี จากนักเรียนธรรมดา สู่ทหารผู้ยืนหยัดปกป้องชาติด้วยความหาญกล้า

กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี (Korea Student Volunteer Force)

สังคมปัจจุบัน เมื่อพูดถึง ‘ความรักชาติ’ แล้ว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวที่พ้นสมัยของคนเฒ่าชะแรแก่ชราในยุคก่อน ทั้ง ๆ ที่เรื่องของ ‘ความรักชาติ’ นั้น เป็นปกติวิสัยทั่วไป เพราะเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามแต่ละประเทศที่เกิดและอาศัยอยู่ เป็นเรื่องธรรมดาของพลเมืองในทุกชาติบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ยังคงอยู่ในสภาวะสงคราม เช่น สาธารณรัฐเกาหลี หรือ ‘เกาหลีใต้’ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงการหยุดยิงกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี หรือ ‘เกาหลีเหนือ’ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 หรือ 70 ปีมาแล้ว และจนทุกวันนี้ ทั้งสองเกาหลียังไม่มีการทำสนธิสัญญาสงบศึก หรือสนธิสัญญาสันติภาพ อันเป็นการยุติสงครามระหว่างกันอย่างสิ้นเชิงแต่อย่างใด

กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี กำลังขึ้นรถไฟเพื่อเข้าร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ชาวเกาหลีใต้ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ชายเกาหลีใต้ทุกคนจึงต้องเป็นทหารกองประจำการโดยไม่มีการยกเว้น ไม่มีอภิสิทธิพิเศษใด ๆ รวมทั้งแทบไม่มีการผ่อนผันเลย เว้นแต่บางกรณี เช่น เป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งยังต้องฝึกซ้อมเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศ ในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ 

เมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 เกาหลีใต้ได้มีการจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ประกอบด้วย นักเรียนที่เรียนอยู่ในเกาหลีใต้ และนักเรียนเกาหลีที่ไปเรียนในญี่ปุ่น (เกาหลีเคยเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) ในช่วงสงครามเกาหลี นักเรียนเกาหลีจำนวน 642 คน ได้รวมตัวกันเดินกลับมายังเกาหลีใต้ และอาสาสมัครเข้าร่วมสู้รบภายใต้กองทัพสาธารณรัฐเกาหลี และกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีก็ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจในการรบมากมายหลายครั้งหลายหน

สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีจำนวนมาก ต้องสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ โดยไม่มี ยศ สังกัด หรือแม้แต่หมายเลขประจำตัวทหาร

‘กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี’ (학서의용군 อ่านว่า Hak Do Ui Yong Gun) โดยนักเรียนอาสาสมัครเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 14–17 ปี ซึ่งอายุต่ำกว่าอายุครบเกณฑ์ทหาร 18 ปี (ในขณะนั้น การแจ้งเกิดมักจะล่าช้า ดังนั้น อายุที่แท้จริงของนักเรียนอาสาสมัครจึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 16–19 ปี) หลังจากสงครามสองเกาหลีปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 1950 กองทัพเกาหลีใต้สามารถระดมกำลังนักเรียนอาสาสมัครได้ถึง 198,380 นาย จัดกำลังเป็น กองพลทหารราบ 10 กองพล, กองพลยานเกราะ 1 กองพล และหน่วยยานยนต์ 1 หน่วย และระหว่างสงครามจนถึงการหยุดยิงระหว่าง 2 เกาหลี มีนักเรียนประมาณ 275,200 คน เข้าร่วมรบในสงครามกับกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ทั้งทำการรบ ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ และเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือประชาชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

‘การจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในยามฉุกเฉิน’ (비상학 시단) โดยนักเรียน 200 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสมาคมนักเรียนอาสาปกป้องประเทศ (학 서호성단) จากทั่วกรุงโซลได้มารวมตัวกันที่ซูวอน นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนถูกเกณฑ์ให้ร่วมรบเช่นทหารประจำการ อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ได้มอบหมายให้กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนส่วนใหญ่ รับผิดชอบภารกิจในพื้นที่ด้านหลังแนวรบ ซึ่งรวมถึงการบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย การแจ้งข่าว และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามท้องถนน แต่สมาชิกส่วนใหญ่ของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนไม่พอใจกับภารกิจในแนวหลัง ต่อมากองทัพเกาหลีใต้ได้มอบภารกิจในการสู้รบเพื่อรักษาแนวป้องกันแม่น้ำนักดงให้แก่กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ซึ่งถือเป็นป้อมปราการแห่งสุดท้ายในขณะนั้น และกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนก็ประสบความสำเร็จในการรักษาแนวป้องกันดังกล่าว แม้ไม่มีการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม ไม่มียศทางทหาร แต่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเข้าร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้ และกองทัพสหประชาชาติ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะปกป้องประเทศ ซึ่งกำลังตกอยู่ในอันตราย กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีเข้าร่วมในปฏิบัติการยกพลขึ้นบกอินชอน โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังสหประชาชาติ, ปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่วอนซันและอิวอน, ปฏิบัติการยึดคืนของกัปซันและฮเยซันจิน, ยุทธการที่อ่างเก็บน้ำจางจิน และยุทธการที่เนินเขาแบกมา ฯลฯ

ภาพวาดของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ขณะเดินทางเข้าสู่สนามรบ

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1951 เมื่อกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีและกองกำลังสหประชาชาติ สามารถตีโต้กองทัพเกาหลีเหนือและกองทัพจีน จนข้ามเส้นขนานที่ 38 กลับไปในเขตเกาหลีเหนือได้แล้ว ‘Syngman Rhee’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ออกประกาศให้กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนกลับไปโรงเรียนเพื่อเรียนต่อ และออกคำสั่งคืนสถานะ โดยตามคำสั่งคืนสถานะนี้ กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ต้องถอดเครื่องแบบทหารและเปลี่ยนสถานะกลับมาเป็นนักเรียนตามเดิม โดย

1.) นักเรียนทุกคนจะต้องกลับคืนสู่หน้าที่เดิม ซึ่งก็คือการเรียนของตน
2.) การยอมรับการเป็นทหารของนักเรียนที่ถูกระงับการเรียน เนื่องจากการเป็นทหาร เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนจะต้องยอมรับการกลับมาที่โรงเรียนของนักเรียนเหล่านั้น อย่างไม่มีเงื่อนไข
3.) โรงเรียนในแต่ละระดับ จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ สำหรับนักเรียนที่กลับมาจากการเป็นทหาร
4.) นักเรียนที่พลาดการเลื่อนระดับชั้นในขณะที่เป็นทหาร จะได้รับอนุญาตให้เลื่อนระดับชั้นได้ตามความต้องการ

อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่เป็นสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ต่างยืนกรานที่จะสู้รบจนกว่าสงครามจะสิ้นสุด และได้รับยศ หมายเลขประจำตัวทหาร และเข้าร่วมในการสู้รบ โดยมีวีรกรรมสำคัญบางเหตุการณ์ ได้แก่

• การรบที่โรงเรียนมัธยมสตรี P'ohang จังหวัด Gyeongsang-do เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1950 ซึ่งสมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียนจำนวน 71 นาย สู้รบกับทหารเกาหลีเหนือ หน่วยที่ 766 โดยฝ่ายเกาหลีเหนือมียานเกราะ 5 คันสนับสนุน การสู้รบกินเวลา 11 ชั่วโมง สมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียนเสียชีวิตไป 48 นาย เหลือรอดชีวิตเพียง 23 นาย วีรกรรมครั้งนั้นถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘71 : Into the Fire’

ภาพยนตร์เรื่อง 71 : Into the Fire

• การรบที่หาด Jangsari อำเภอ Yeongdeok จังหวัด Gyeongsang-do ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน ค.ศ. 1950 โดยสมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียน 560 นาย ร่วมกับทหารของกองทัพเกาหลีใต้ ได้รับการจัดตั้งเป็น ‘กองพันกองโจรอิสระที่ 1’ รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจเพื่อลวงกองกำลังเกาหลีเหนือ ให้คิดว่ากองกำลังสหประชาชาติจะเปิดฉากการรุกอย่างเด็ดขาดที่นั่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกพลขึ้นบกที่ Inchon สมาชิกของกองพันกองโจรอิสระที่ 1 เสียชีวิตไป 139 นาย และการยกพลขึ้นบกที่ Inchon ประสบความสำเร็จด้วยดี และวีรกรรมนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Battle of Jangsari’

ภาพยนตร์เรื่อง The Battle of Jangsari

ตัวเลขสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี มีผู้เสียชีวิต 2,464 นาย และบาดเจ็บ 3,000 นาย ในจำนวนนี้มี 347 นาย ถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งชาติ อีก 1,188 นาย ถูกจารึกไว้บนป้ายแห่งความทรงจำ และอีก 929 ราย ที่ไม่มีศพหรือแผ่นจารึกที่ระลึกเลย ส่วนสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนที่รอดชีวิตมักจะไม่กลับไปเรียนต่อ และยังคงอยู่ในกองทัพ แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

อนุสาวรีย์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี

‘อนุสาวรีย์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี’ ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนมัธยมหญิง P'ohang ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน 71 นาย เพื่อเป็นเกียรติแก่การเสียสละอันสูงส่งของพวกเขา เมือง P'ohang จึงสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1977 และจัดพิธีรำลึกขึ้นทุกปี

หออนุสรณ์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน เมือง P'ohang

‘หออนุสรณ์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน เมือง P'ohang’ เปิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 2002 ในสวนสาธารณะ Yongheung เพื่อเป็นเกียรติแก่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ในการร่วมรบที่เขตเมือง P'ohang ในช่วงสงครามเกาหลี ในห้องนิทรรศการมีโบราณวัตถุประมาณ 200 ชิ้น เช่น ไดอารี่ ภาพถ่าย เสื้อผ้าที่สวมใส่ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนใช้ในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังมีการฉายสารคดีเกี่ยวกับสงครามในห้องโสตทัศนูปกรณ์อีกด้วย

อนุสรณ์สถานกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนาม

‘อนุสรณ์สถานกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนาม’ ตั้งอยู่ที่สุสานแห่งชาติ กรุงโซล ด้านหลังเป็นหลุมศพสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนามจำนวน 48 นาย ที่เสียชีวิตในเขตเมือง P'ohang ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มอบรางวัลแก่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่จะได้รับ ซึ่งมีสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนจำนวน 317 นาย ที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ ในปี ค.ศ. 1996 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มอบรางวัลดังกล่าว ให้กับสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนอีก 45 คน ที่ยังไม่เคยได้รับมาก่อน

ภาพจำลองแสดงเหตุการณ์ที่ยุวชนทหารสู้รบกับทหารญี่ปุ่น
ที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

ย้อนกลับมาดูบ้านเรา เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตลอดอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดปัตตานีถึงจังหวัดสมุทรปราการ ขอเดินทัพผ่านไทยโดยไม่บอกล่วงหน้า คนไทยในที่เกิดเหตุแทนที่จะวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง แต่ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนต่างเข้ารักษาแผ่นดินไทยโดยไม่คิดชีวิต ทุกแห่งมียุวชนทหารเข้าร่วมด้วย และได้สร้างวีรกรรมไว้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ยุวชนทหาร 30 คน ได้ทำการสู้รบกับทหารญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญ จนกระทั่งได้รับคำสั่งจาก ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งให้ยุติการต่อต้าน และปล่อยให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปได้ และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น จึงถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดไปทั่ว แต่ก็มียุวชนทหารเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยจากการทิ้งระเบิด โดยไม่เกรงกลัวอันตรายแต่อย่างใด ยุวชนทหารในสมัยนั้นได้มีพัฒนาการต่อเนื่อง และกลายมาเป็นนักศึกษาวิชาทหารในสมัยนี้

อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร 
ริมทางหลวงหมายเลข 4001 สายชุมพร-ปากน้ำ
ตำบลบางหมาก เชิงสะพานท่านางสังข์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกในขณะนี้ คือการเกิดสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย จึงมีความเป็นไปได้ที่สงครามอาจจะเกิดขึ้นอีกในเวลาใดเวลาหนึ่งก็เป็นได้ และไม่ได้หมายถึงสงครามที่ต้องรบกันด้วยกำลังทหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสงครามที่ทุกคนในชาติจะต้องร่วมรบด้วยกัน ต้องร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่น่าเป็นห่วงที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง ที่หลงผิดคิดว่า ภยันตรายที่คุกคามความมั่นคงของชาตินั้นได้หมดไปแล้ว หากพินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่เยี่ยงปัญญาชนและวิญญูชนแล้วจะพบว่า ไทยอยู่ในตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดทางยุทธศาสตร์ ในการเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจ

วิธีเดียวที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อชาติน้อยที่สุดคือ การรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและชัดเจน บนพื้นฐานของความมั่นคงของชาติในทุก ๆ มิติ รวมทั้งกำลังทหารที่มีความพร้อมต่อการรุกรานของอริราชศัตรูตลอดเวลา ซึ่ง “พลังอำนาจทางการรบ” ตลอดจน “ศักย์สงคราม” จะทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงเข้มแข็ง และหากเมื่อต้องเผชิญกับภยันตรายใด ๆ ที่คุกคามแล้ว ชาติบ้านเมืองก็จะมีพร้อมต่อภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และเมื่อเหตุการณ์สร่างซาสงบลงแล้ว ประเทศชาติก็จะมีความบอบช้ำที่น้อยที่สุด

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

ประธานาธิบดียอดอัจฉริยะ ฉายา ‘บิดาแห่งเทคโนโลยี’ ของอินโดนีเซีย ผู้ปฏิวัติความปลอดภัยและยกระดับประสิทธิภาพระบบการบินของโลก

‘B.J. Habibie’ ประธานาธิบดียอดอัจฉริยะแห่งอินโดนีเซีย

‘ประธานาธิบดี’ เป็นตำแหน่งประมุขของประเทศที่มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) และในอีกหลายประเทศที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นทั้งตำแหน่งประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหาร เช่น สหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศใกล้ ๆ บ้านเราที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นทั้งตำแหน่งประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหาร ได้แก่ อินโดนีเซีย
.
หากนึกถึงประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผู้คนอาจนึกถึงประธานาธิบดีเหล่านี้ อาทิ Abraham Lincoln, John F. Kennedy, Nelson Mandela หรือ Barack Obama แต่เชื่อหรือไม่ ว่ามีประธานาธิบดีคนหนึ่งที่ได้รับสิทธิบัตรในสาขาการบินถึง 46 ฉบับ เขาผู้นั้น คือ ‘Bacharuddin Jusuf Habibie’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘B.J. Habibie’ ประธานาธิบดีคนที่ 3 แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ค.ศ. 1998-1999)

‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ เกิดเมื่อ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1936 จังหวัดซูลาเวซีใต้ ขณะนั้นอินโดนีเซียยังเป็นหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (เนื่องจากเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์) หลังจากจบการศึกษาสถาบันเทคโนโลยีบันดุง เมืองบันดุง แล้ว ประธานาธิบดี Habibie ได้เดินทางไปยังเมือง Delft ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อศึกษาวิชาการบินและอวกาศที่ Technische Hogeschool Delft (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Delft) แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง (กรณีพิพาทนิวกินีตะวันตก ระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอินโดนีเซีย) เขาจึงต้องย้ายไปศึกษาต่อที่ Technische Hochschule Aachen (มหาวิทยาลัย RWTH Aachen) ในเมือง Aachen ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1960 ประธานาธิบดี Habibie ได้รับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ของเยอรมนี (Diplom-Ingenieur) และยังคงอยู่ในเยอรมนีในตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยของ ‘Hans Ebner’ ที่ Lehrstuhl und Institut für Leichtbau, RWTH Aachen เพื่อทำการวิจัยในระดับปริญญาเอก

‘ประธานาธิบดี Habibie’ แต่งงานกับแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun’ วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1962

ในปี ค.ศ. 1962 ประธานาธิบดี Habibie ได้ลาหยุดเพื่อเดินทางกลับอินโดนีเซียเป็นเวลา 3 เดือน ช่วงเวลานี้เองที่ เขาได้พบกับแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun’ เพื่อนในวัยเด็กสมัยมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ SMA Kristen Dago (โรงเรียนมัธยม Dago Christian) เมืองบันดุง ทั้งสองได้เข้าพิธีสมรสในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1962 และเดินทางกลับเยอรมนี หลังจากนั้นไม่นาน Habibie และภรรยาของเขา ก็ได้ตั้งรกรากในเมือง Aachen ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะย้ายไปยังเมือง Oberforstbach ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1963 โดยพวกเขาได้ให้กำเนิดลูกชาย คือ ‘Ilham Akbar Habibie’

ต่อมา ประธานาธิบดี Habibie ได้ร่วมงานกับบริษัทค้าหุ้นการรถไฟ ‘Waggonfabrik Talbot’ ซึ่งเขาได้เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบตู้รถไฟ ในปี ค.ศ. 1965 ประธานาธิบดี Habibie ทำวิทยานิพนธ์ในสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ และได้รับคะแนน ‘ดีมาก’ ทำให้เขาได้รับ ‘Doktoringenieur’ (Dr.-Ing.) ในปีเดียวกันนั้น เขายอมรับข้อเสนอของ Hans Ebner ที่จะวิจัยต่อเกี่ยวกับ Thermoelastisitas และทำงานด้าน Habilitation แต่เขาปฏิเสธข้อเสนอที่จะเข้าร่วมกับ RWTH ในตำแหน่งศาสตราจารย์ วิทยานิพนธ์ของเขานั้นยังดึงดูดข้อเสนอการจ้างงานจากบริษัทต่าง ๆ เช่น Boeing และ Airbus ซึ่งประธานาธิบดี Habibie ก็ได้ปฏิเสธอีกครั้ง

‘ประธานาธิบดี Habibie’ ได้ร่วมงานกับ ‘Messerschmitt-Bölkow-Blohm’ ในเมือง Hamburg ที่นั่น เขาได้พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับอุณหพลศาสตร์ การก่อสร้าง และอากาศพลศาสตร์ที่เรียกว่า ‘อุณหพลศาสตร์’ (Habibie Factor) เขามีส่วนในการพัฒนาเครื่องบินโดยสาร ‘Airbus A-300B’ ในปี พ.ศ. 2517 ต่อมาเขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานบริษัท ในปี ค.ศ. 1974 ‘ประธานาธิบดี Suharto’ ได้ขอให้เขากลับไปยังอินโดนีเซีย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศ

ในตอนแรก ประธานาธิบดี Habibie ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพิเศษของ ‘Ibnu Sutowo’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทน้ำมันของรัฐ Pertamina และประธานหน่วยงานเพื่อการประเมินและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Badan Pengkajian dan Penerapan Teknologi (BPPT)) อีก 2 ปีต่อมา เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ของ ‘Industri Pesawat Terbang Nurtanio’ (IPTN) หรือ ‘Nurtanio Aircraft Industry’ โดยในขณะนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย ซึ่งในปี ค.ศ. 1985 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Industri Pesawat Terbang Nusantara’ (Nusantara Aircraft Industry หรือ ‘IPTN’) และเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Indonesia Aerospace’ (PT. Dirgantara Indonesia) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000


เครื่องบินโดยสาร ‘N-250 Gatotkaca’ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบเพียง 2 ลำ

ในปี ค.ศ. 1978 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการวิจัยและเทคโนโลยี (Menteri Negara Riset dan Teknologi, Menristek) แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญใน ‘เชิงกลยุทธ์’ ของ IPTN โดยในช่วงทศวรรษ 1980 IPTN เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเชี่ยวชาญด้านการผลิตเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก และกลายเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน ซึ่งรวมถึงเฮลิคอปเตอร์แบบ Puma และเครื่องบิน CASA และเป็นผู้บุกเบิกออกแบบและสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก ‘N-250 Gatotkaca’ ในปี ค.ศ. 1995 แต่โครงการนี้ประสบความล้มเหลวในเชิงพาณิชย์ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของอินโดนีเซีย ประธานาธิบดี Habibie ได้นำแนวทางที่เรียกว่า ‘เริ่มต้นที่จุดสิ้นสุดและสิ้นสุดที่จุดเริ่มต้น’ วิธีการนี้ องค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การวิจัยขั้นพื้นฐาน จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ต้องให้ความสำคัญ ในขณะที่การผลิตเครื่องบินจริงถือเป็นวัตถุประสงค์แรกที่สำคัญที่สุด

ไม่ถึง 3 เดือน หลังจากการเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 7 เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ. 2541 ประธานาธิบดี Habibie ก็ต้องเข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Suharto ซึ่งลาออกหลังจากดำรงตำแหน่งมา 32 ปี ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงจุดสังเกตในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการปฏิรูป

เมื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาได้เปิดให้กฎหมายสื่อและพรรคการเมืองของอินโดนีเซียมีอิสระเสรีมากขึ้น และจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก่อนกำหนดถึง 3 ปี ซึ่งส่งผลให้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาสิ้นสุดลง ด้วยวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 517 วันและรองประธานาธิบดี 71 วัน ซึ่งถือว่าสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย

ขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น ประธานาธิบดี Habibie ต้องประสบพบเจอกับปัญหาหลายประการ ได้แก่
• การเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
• การถูกโจมตีว่าเขาไม่สามารถก้าวพ้นจากอำนาจของประธานาธิบดี Suharto ได้
• ไม่มีฐานการเมืองมาสนับสนุนอย่างจริงจัง กล่าวคือ ‘พรรคกลการ์’ (Golkar : Partai Golongan Karya) ของอดีตประธานาธิบดี Suharto ไม่ได้ให้การสนับสนุนเขา 
• การลดจำนวนที่นั่งในรัฐสภาของทหาร และห้ามข้าราชการทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้กองทัพอินโดนีเซียก็ไม่ให้การสนับสนุนเขา
• เรื่องทุจริตอื้อฉาวเกิดขึ้นเกี่ยวกับธนาคารบาหลี ซึ่งมีการกล่าวหาว่าลูกชายของเขามีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่ประธานาธิบดี Habibie ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ในเรื่องการจัดการกับปัญหา ‘ติมอร์ตะวันออก’ แม้ว่า ประธานาธิบดี Habibie จะไม่เห็นด้วยกับการให้ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราช แต่เขาเห็นสมควรว่า ชาวติมอร์ตะวันออกควรลงประชามติเลือกว่าจะอยู่กับอินโดนีเซียต่อไปหรือเป็นเอกราช ซึ่งท้ายที่สุด ชาวติมอร์ตะวันออกก็ต้องการเป็นอิสระ ประธานาธิบดี Habibie จึงให้เอกราชแก่ติมอร์ตะวันออก จนทำให้ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่พอใจ ด้วยมองเป็นการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในชาติ

รัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie ทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีเสถียรภาพ เมื่อเผชิญกับวิกฤติการเงินในเอเชีย และความวุ่นวายในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ของประธานาธิบดี Suharto รัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie มีท่าทีประนีประนอมต่อชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายในการจลาจลในปี ค.ศ. 1998 เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของสถานะทางชนชั้นในเรื่องเศรษฐกิจ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1998 ประธานาธิบดี Habibie ได้ออก ‘คำสั่งของประธานาธิบดี’ ห้ามใช้คำว่า ‘pribumi’ และ ‘non-pribumi’ เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างชาวอินโดนีเซียพื้นถิ่น และชาวอินโดนีเซียที่ไม่ใช่ชนพื้นถิ่น

และสิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยทราบกันเกี่ยวกับตัวประธานาธิบดี B.J. Habibie ก็คือ เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรผู้ค้นพบทฤษฎีที่ก้าวล้ำ ซึ่งปฏิวัติความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเครื่องบิน จนได้รับฉายาว่า ‘Mr.Crack’ เนื่องจากความเป็นอัจฉริยะ ที่สามารถออกแบบวิธีคิดคำนวณรอยแตกร้าวบนโครงสร้างโลหะของเครื่องบิน ประธานาธิบดี Habibie มีระดับ IQ (Intelligence Quotient) ประมาณ 200 ซึ่งสูงกว่า IQ ของ ‘ประธานาธิบดี John Quincy Adams’ ที่มีระดับ IQ ประมาณ 175 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคน

นอกจากนั้นแล้ว ประธานาธิบดี Habibie ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรกของ ‘สมาคมปัญญาชนมุสลิมแห่งอินโดนีเซีย’ (ICMI) ในปี ค.ศ. 1990 และเนื่องจากเขามีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างเครื่องบินเป็นลำแรกในประเทศอินโดนีเซีย จึงได้รับตำแหน่ง ‘บิดาแห่งเทคโนโลยี’ ของอินโดนีเซียด้วย

เครื่องบินโดยสารแบบ R-80 ขนาด 80 ที่นั่งที่ออกแบบและผลิตโดย ‘Regio Aviasi Industri’ (RAI) 

ในปี ค.ศ. 2012 เขาได้ก่อตั้ง ‘Regio Aviasi Industri’ (RAI) บริษัทผลิตเครื่องบิน ซึ่งกำลังพัฒนาเครื่องบินโดยสารแบบ R-80 ขนาด 80 ที่นั่ง และได้รับคำสั่งซื้อแล้ว 150 ลำ

ประธานาธิบดี Habibie ผู้เป็นยอดอัจฉริยะทางวิศวกรรมการบิน เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้เพียงสมัยเดียว เพราะความอัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงตรรกะแห่งความจริงและความถูกต้องทั้งหมดทั้งมวลนั้น ไม่สามารถเอาชนะทางการเมืองได้ และทุกประเทศบนโลกใบนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มักเป็นเช่นนั้น

พิธีฝังศพของ ‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ ณ สุสานวีรบุรุษ Kalibata

ช่วงต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทหารบก Gatot Soebroto เนื่องจากเขาเป็น ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม’ และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2019 เพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อการจากไปของประธานาธิบดี Habibie รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศให้ไว้ทุกข์ทั้งประเทศเป็นเวลา 3 วัน (12-14 กันยายน ค.ศ. 2019) และประกาศลดธงชาติอินโดนีเซียครึ่งเสา

ประธานาธิบดี B.J. Habibie เป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซียคนแรกที่ได้รับการฝัง ณ สุสานวีรบุรุษ Kalibata เคียงข้างหลุมฝังศพของแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun Habibie’ ผู้เป็นภรรยาของเขา


อนุสาวรีย์ของ ‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ ใกล้กับท่าอากาศยาน Jalaluddin จังหวัด Gorontalo

‘Zhang Xinyang’ สุดยอดเด็กจีนอัจฉริยะ จบโทตอน 15 ต่อเอกตอน 16 สู่ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักโต เพราะพิษผลพวงจากความคาดหวังของพ่อ-แม่

‘Zhang Xinyang’ อัจฉริยะ...ผู้ล้มเหลว

ความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่ของ ‘พ่อ-แม่’ อาจนำมาซึ่งความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสของผู้เป็นลูก ข่าวของเด็กชายวัย 14 ปี ที่ใช้อาวุธปืนกราดยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน นำมาซึ่งความหดหู่เศร้าใจแก่สังคมไทยอย่างมาก มีเรื่องราวที่กล่าวถึงมากมาย ซึ่งรวมแล้วสรุปความได้ว่า “ความคาดหวังต่อลูกของพ่อ-แม่นั้น เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการกำหนดชะตาชีวิตของเด็ก”

เคยนำเรื่องของ ‘Kim Ung-Yong’ มนุษย์ที่ฉลาดที่สุดในโลก ที่ยังมีชีวิตอยู่ กับเส้นทางชีวิตที่เลือกจะขอมี ‘ความสุข’ มากกว่า ‘ความสำเร็จ’  https://thestatestimes.com/post/2023061701 มาเล่าแล้วครั้งหนึ่ง คราวนี้จะขอนำเรื่องราวของ ‘Zhang Xinyang’ อัจฉริยะชาวจีน ผู้ซึ่งจบปริญญาตรีในวัยเพียงอายุ 13 ปี จบปริญญาโท และเรียนปริญญาเอกด้วยวัยเพียง 16 ปี ปัจจุบันนี้เขาอายุ 28 ปีแล้ว แม้จะมีวุฒิปริญญาเอกติดตัว แต่ทุกวันนี้เขายังต้องขอเงินพ่อ-แม่ใช้อยู่เลย

‘Zhang Xinyang’ วัย 28 ปี ผู้ซึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘สุดยอดเด็กอัจฉริยะของจีน’ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า “การนั่งเฉย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย คือกุญแจสู่ความสุขตลอดชีวิต” ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมานั้น Zhang กล่าวว่า ตอนนี้เขากำลังทำงานฟรีแลนซ์ และเขายังต้องขอพึ่งพาทางการเงินจากพ่อแม่ของเขาอยู่

Zhang เข้าเรียนปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิศวกรรม Tianjin เมื่ออายุ 10 ขวบ โดยพ่อของเขาต้องลาออกจากงานเพื่อตามมาดูแล และแม่ของเขาซึ่งเป็นครู ต้องย้ายมาสอนที่โรงเรียนใกล้ ๆ ครอบครัวต้องพักอาศัยอยู่รวมกันในหอพักของมหาวิทยาลัย และเมื่ออายุ 13 ปี เขาได้เข้าเรียนในระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปักกิ่ง ซึ่งสร้างสถิติใหม่ในฐานะบัณฑิตที่อายุน้อยที่สุดของจีน ในปี ค.ศ. 2011 เด็กชายวัย 16 ปีผู้นี้กลายเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ ที่มหาวิทยาลัย Beihang ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของกรุงปักกิ่ง

และในปีเดียวกันนั้นเอง เขาก็เรียกร้องให้พ่อ-แม่ให้ซื้ออพาร์ตเมนต์มูลค่า 2 ล้านหยวน ในกรุงปักกิ่งให้เขา หากพวกท่านไม่ยอมซื้อ Zhang บอกกับพ่อ-แม่ของเขาว่า จะไม่ยอมสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของเขา และจะปฏิเสธข้อเสนอทุนระดับปริญญาเอกสำหรับเขาอีกด้วย

“พ่อ-แม่คาดหวังให้ผมอยู่ในปักกิ่งมากกว่าใคร ๆ ดังนั้น พ่อ-แม่จึงต้องพยายามเพื่อสิ่งนี้ด้วยอย่างหนัก” Zhang บอกกับพ่อแม่ของเขา ซึ่งมาจากเมืองเล็ก ๆ ในมณฑลเหลียวหนิง

ความต้องการของ Zhang ในขณะนั้น เกิดจากความเชื่อของเขาที่ว่า การเป็นเจ้าของบ้าน การได้งานที่ดี และการได้จดทะเบียนเป็นผู้อาศัยในกรุงปักกิ่ง ถือเป็นจุดเด่นของความสำเร็จในชีวิต และเพื่อเอาใจเขา พ่อ-แม่ของ Zhang ต้องลงเอยด้วยการเช่าอพาร์ตเมนต์ในกรุงปักกิ่ง แล้วโกหกลูกชายว่าเป็นอพาร์ตเมนต์ที่พวกเขาซื้อ นักวิจารณ์ออนไลน์บางคนกล่าวโทษพ่อ-แม่ของ Zhang ที่หมกมุ่นอยู่กับการปลูกฝังให้ Zhang เป็นเด็กอัจฉริยะ แต่ในที่สุดแล้ว… เด็กก็คือเด็ก

แม้ว่าในที่สุด หลังจากใช้เวลาศึกษามากว่า 8 ปี Zhang จึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี ค.ศ. 2019 จากนั้นแล้ว Zhang Xinyang ทำงานเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย Ningxia เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะลาออกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021 ปัจจุบัน Zhang ทำงานอิสระ อาศัยเช่าอยู่ในอพาร์ตเมนต์ในนครเซี่ยงไฮ้ และมีเงินในบัญชีธนาคารเพียงแค่ไม่กี่พันหยวน แต่ได้รับเบี้ยเลี้ยง 10,000 หยวนจากพ่อ-แม่ทุก ๆ 2-3 เดือน Zhang อ้างว่า “พวกเขาเป็นหนี้ผม” พร้อมเสริมว่า “อพาร์ทเมนต์ที่พวกเขาไม่เคยซื้อให้ผม ในตอนนี้น่าจะมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านหยวนแล้ว”

อดีตเด็กอัจฉริยะรายนี้กล่าวต่อไปว่า เขาพอใจกับสถานการณ์ปัจจุบันของเขา Zhang พร้อมพูดถึงรายได้ที่น้อยนิดของเขาว่า “ผมสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงานไปตลอดชีวิต ไม่เพียงแต่ผมสามารถพึ่งพาพ่อแม่ได้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปู่-ย่า และ ตา-ยายอีกด้วย”

นอกจากนี้เขายังยอมรับว่า เขามีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างห่างเหินและเย็นชากับพ่อ-แม่ เพราะเขารู้สึกว่า พวกท่านทั้ง 2 คน ควบคุมเขามากจนเกินไป “เห็นได้ชัดว่า พวกเขาไม่เข้าใจอะไรเลย แต่พวกเขาก็ยังคงต้องการให้คำแนะนำกับผม” Zhang กล่าว

มุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไปของ Zhang และการพึ่งพาพ่อแม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสนทนาออนไลน์อย่างดุเดือด อาทิ “เขามีพรสวรรค์ที่ดี” สมาชิก Weibo รายหนึ่งกล่าว “แต่เพราะพ่อ-แม่ของเขาหมกมุ่นอยู่กับการปลูกฝังความเป็นอัจฉริยะ และในที่สุดเขาก็ชดเชยกระบวนการเติบโตที่ขาดหายไปในอีกทางหนึ่ง” บางคนรู้สึกเสียดาย เมื่อนึกถึงสถานการณ์ปัจจุบันของ Zhang โดยระบุว่า มันเป็น ‘ความล้มเหลวของอัจฉริยะ’

และในทางกลับกัน มีอีกหลาย ๆ คน ที่รู้สึกว่า ยังไม่สายเกินไปที่ Zhang จะกลับตัวเพื่อพลิกสถานการณ์ อาจารย์ Zhang Yuehui ผู้เคยสอนเขาในระดับปริญญาตรีบอกกับสื่อว่า เขารู้สึกว่าอดีตนักศึกษาของเขายังสามารถบรรลุ ‘สิ่งที่ยิ่งใหญ่’ ได้ ถ้าเขาต้องการ เพียงแต่ Zhang จะต้อง ‘ไม่ยอมแพ้และย่อท้อ’

ความสุขที่แท้จริงของพ่อ-แม่แล้ว ต้องเป็น การที่ได้รับรู้ว่า “ลูก ๆ ของพวกเขาเป็นคนดี”

‘จ่า Gander’ ยอดสุนัขทหารแห่งกองทัพแคนาดาในสงครามโลกครั้งที่ 2 สัญญลักษณ์ของความภักดีและกล้าหาญ ในยุทธการที่เมือง Lye Mun

‘จ่า Gander’ ยอดสุนัขทหารแห่งกองทัพแคนาดา

ในโลกแห่งความจริงแล้ว สุนัขเป็นสัตว์ที่สุดยอด ไม่ใช่เพียงแค่ความวิเศษของสุนัขที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรักและภักดี ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของสุนัขมาโดยตลอดอีกด้วย ความภักดีของพวกมันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความกล้าหาญได้ และสิ่งนี้ทำให้พวกมันมีบทบาทอยู่ในสนามรบตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มีสุนัขสงครามที่ต่อสู้เคียงข้างกับทหารของชาติต่าง ๆ จนกระทั่งปัจจุบัน และเรื่องที่น่าจดจำนี้เป็นเรื่องของสุนัขในกองทัพแคนาดาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

‘Gander’ เป็นสุนัขพันธุ์ Newfoundland ที่ได้ช่วยชีวิตทหารแคนาดาจำนวนหนึ่งระหว่างยุทธการ Lye Mun บนเกาะฮ่องกงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1940 ชื่อเดิมของมันคือ ‘Pal’ เป็นสุนัขของครอบครัว Hayden ที่อาศัยอยู่ในเมือง Gander บนเกาะ Newfoundland

‘จ่า Pal’ ชอบเล่นกับเด็ก ๆ ในละแวกบ้าน และมันมักถูกใช้เป็นสุนัขลากเลื่อน ดังที่เห็นจากภาพถ่าย สุนัขพันธุ์ Newfoundland เป็นสุนัขตัวใหญ่ที่น่าอัศจรรย์ (มีการบันทึกว่า ‘จ่า Gander’ มีน้ำหนักถึง 130 ปอนด์) 

แต่วันหนึ่งในขณะที่มันกำลังเล่นกับเด็ก ๆ เจ้า Pal ได้บังเอิญไปข่วนใบหน้าของ ‘Eileen’ เด็กหญิงวัย 6 ขวบเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เธอต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ครอบครัว Hayden จึงต้องตัดสินใจว่า จะสังหารเจ้า Pal หรือมอบให้คนอื่นที่สามารถนำไปเลี้ยงต่อ พวกเขาเลือกที่จะมอบมันให้กับหน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดา (Royal Rifles of Canada) ซึ่งประจำการที่ฐานทัพอากาศ Gander

หลังจากเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Gander’ โดยมีชื่อ-ตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า ‘Regimental Mascot Sgt. Gander’ สุนัขตัวนี้จึงกลายเป็น Mascot ประจำกองพันที่ 1 ของหน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาไปโดยปริยาย

มันสนุกกับการใช้ชีวิตอยู่ในฐานทัพอากาศ และชอบใช้เวลาบนทางวิ่งของเครื่องบินมาก เพราะมันมักจะวิ่งไล่เครื่องบินขณะที่กำลังจะลงจอด 

จ่า Gander กับทหารกองพันที่ 1 หน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดา
ระหว่างเดินทางไปยังฮ่องกง

ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 กองพันที่ 1 หน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาถูกส่งไปประจำการยังฮ่องกง เพื่อเตรียมป้องกันการรุกรานของญี่ปุ่น แทนที่จะทิ้งจ่า Gander ไว้ข้างหลัง กองพันที่ 1 ของหน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาก็พามันเข้าร่วมกับในภารกิจของพวกเขา โดย ‘พลทหาร Fred Kelly’ ทำหน้าที่ดูแลจ่า Gander ระหว่างที่มันอยู่ในฮ่องกง

พลทหาร Kelly ปล่อยให้จ่า Gander เล่นน้ำเย็นเป็นเวลานาน ๆ เพื่อช่วยให้มันสามารถรับมือกับอากาศที่ร้อนมาก ๆ ของฮ่องกงได้ ตามที่พลทหาร Kelly เล่าว่า จ่า Gander ก็เป็นคอเบียร์ด้วยเช่นกัน

การยอมจำนนต่อกองทัพญี่ปุ่นของกองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษ
เมื่อ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1941

สงครามป้องกันอาณานิคมฮ่องกง’ ระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วยทหารอังกฤษ อินเดีย และแคนาดา รวมถึงกองกำลังสำรอง และกองกำลังป้องกันอาสาสมัครฮ่องกง (HKVDC) เริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม จนถึง 25 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เป็นหนึ่งในการรบครั้งแรก ๆ ของสงครามแปซิฟิกในสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเช้าวันเดียวกับการโจมตีอ่าวเพิร์ลของกองทัพญี่ปุ่น ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์กองทหารอังกฤษก็สูญเสียพื้นที่ 2 ใน 3 ของดินแดนฮ่องกง (เกาลูน และ New Territories) ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ไม่ถึงสองสัปดาห์ต่อมา เมื่อไม่สามารถป้องกันที่มั่นสุดท้ายของพวกเขาบนเกาะฮ่องกง กองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษจึงต้องยอมจำนน

ในการรบระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษ จ่า Gander มีส่วนในการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อคลื่นของทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามา จ่า Gander ก็รีบวิ่งเข้าไปหาโดยเห่าและพุ่งเข้ากัดขาของทหารญี่ปุ่น ครั้งที่สองเกิดขึ้นในเวลากลางคืน มีทหารแคนาดาที่ได้รับบาดเจ็บกลุ่มหนึ่งนอนอยู่บนถนน และในขณะที่ทหารญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งก็กำลังเข้ามาหาพวกเขา จ่า Gander ก็วิ่งเข้าไปหาพวกทหารญี่ปุ่นจนทำให้ทหารญี่ปุนกลุ่มนั้นต้องเปลี่ยนเส้นทาง เข้าสกัดโดยการคำราม วิ่งเข้าใส่ทหารศัตรู และกัดส้นเท้าของทหารญี่ปุ่น

‘พลทหาร Reginald Law’ เล่าว่า การต่อสู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตอนกลางคืน และขนสีดำของจ่า Gander ทำให้ทหารญี่ปุ่นมองเห็นมันได้ยาก ผลก็คือ แทนที่จะยิงมัน ทหารญี่ปุ่นกลับต้องวิ่งหนีมันออกจากที่นั่น เพื่อให้รอดพ้นจากความโกรธเกรี้ยวของจ่า Gander ต่อมาทหารญี่ปุ่นสอบปากคำเชลยศึกชาวแคนาดาเกี่ยวกับ ‘สัตว์ร้ายสีดำ’ ด้วยเกรงว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำการฝึกสัตว์ดุร้ายเพื่อใช้ในทำสงคราม

หลังเที่ยงคืนของวันที่ 19 ธันวาคม ยุทธการที่เมือง Lye Mun (เมืองเล็ก ๆ ในเขตฮ่องกงใกล้ ๆ กับนคร Shenzhen) ก็ปะทุขึ้น จ่า Gander เข้าร่วมสู้รบกับทหารญี่ปุ่นเหมือนเช่นเคย จนกระทั่งระเบิดมือลูกหนึ่งถูกขว้างเข้าใกล้กลุ่มทหารแคนาดาที่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อมันรู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น Gander ก็คาบระเบิดมือลูกนั้นขึ้นมาด้วยปากของมัน และวิ่งออกไป ระเบิดมือระเบิดขึ้น แล้ว จ่า Gander ก็เสียชีวิต แต่การกระทำเช่นนั้นของมันได้ช่วยชีวิตทหารแคนาดาไว้ได้ถึง 7 นาย เป็นการแสดงความกล้าหาญของจ่า Gander เป็นครั้งสุดท้าย

หลังจากความพยายามของพิพิธภัณฑ์สงครามแคนาดา สมาคมทหารผ่านศึกฮ่องกง และสมาคมอนุสรณ์ทหารผ่านศึกฮ่องกง อีก 60 ปี หลังจากการเสียชีวิตของจ่า Gander มันก็ได้รับ ‘Dickin Medal for Gallantry’ จาก The People's Dispensary For Sick Animals (PDSA) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านสัตวแพทย์ในสหราชอาณาจักร (โดยหลักแล้วรางวัลนี้คือ ‘Victoria Cross’ สำหรับสัตว์) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2000 ซึ่งถือเป็นรางวัลแรก โดยไม่มีการมอบรางวัลมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 แต่ PDSA รู้สึกว่า ‘จ่า Gander’ สมควรที่จะได้รับที่สุด

พิธีนี้มีสมาชิกที่รอดชีวิตจากกองทหารของกองพันที่ 1 หน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาเข้าร่วม 20 นาย โดยพลทหาร Fred Kelly ผู้ดูแล ซึ่งมีสุนัข Newfoundland อยู่ข้าง ๆ รับเหรียญในนามของจ่า Gander เหรียญนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สงครามแคนาดาในออตตาวา นอกจากนี้ เมื่อมีการสร้างกำแพงอนุสรณ์ทหารผ่านศึกฮ่องกงในปี ค.ศ. 1977 ชื่อของจ่า Gander ก็ปรากฏอยู่เคียงข้างรายชื่อของทหารชาวแคนาดาที่เสียชีวิตระหว่างการสู้รบครั้งนั้นด้วย

อนุสาวรีย์ของจ่า Gander และทหารผู้ดูแล ณ เมือง Gander มณฑล Newfoundland

ในปี ค.ศ. 1975 ด้วยการยืนกรานของผู้รอดชีวิตจากการสู้รบ ชื่อของมันก็ปรากฏอยู่บนกำแพงอนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกฮ่องกงในเมือง Ottawa มณฑล Ontario แคนาดา และวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 อนุสาวรีย์ของจ่า Gander และทหารผู้ดูแลได้ทำพิธีเปิด ณ อุทยานอนุสรณ์มรดก Gander ในเมือง Gander มณฑล Newfoundland

รูปปั้นจ่า Gander ณ อนุสาวรีย์วีรบุรุษที่ถูกลืม
ภายในอุทยานอนุสรณ์ทหารผ่านศึก Cobequid

อนุสาวรีย์ ‘การเปลี่ยนแปลง’

อนุสาวรีย์ ‘The Broken’

สวนแห่งความโศกเศร้า

สวนแห่งความทรงจำ

สวนแห่งความหวัง


ต้นเมเปิลแดง

‘อุทยานอนุสรณ์ทหารผ่านศึก Cobequid’ อนุสรณ์อุทยานแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงทหารที่เคยรับใช้ และที่ยังคงรับใช้ในการรักษาสันติภาพของกองทัพแคนาดา ประกอบสวน 3 แห่ง ได้แก่

1.) สวนแห่งความโศกเศร้า ซึ่งรำลึกถึงทหารแคนาดาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
2.) สวนแห่งความทรงจำ เตือนผู้มาเยือนถึงความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม ความจำเป็นในการจดจำ
3.) สวนแห่งความหวัง ซึ่งเป็นสวนนานาชาติที่มีชีวิตชีวาและความหวังในสันติภาพ

และอนุสาวรีย์หินแกรนิตสีดำแปดแห่งที่มีรายชื่อของทหารแคนาดาหลายร้อยนายตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ต้นเมเปิลสีแดงรำลึกถึงทหารแคนาดาที่สูญเสียไปในอัฟกานิสถาน

อนุสาวรีย์ ‘การเปลี่ยนแปลง’ เป็นโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความน่าสะพรึงกลัวของสงครามและความหวังในสันติภาพ

อนุสาวรีย์ ‘วีรบุรุษที่ถูกลืม’ ซึ่งอุทิศให้กับสัตว์สงคราม มีชื่อสัตว์ต่าง ๆ หลายร้อยชื่อและผู้ดูแล

อนุสาวรีย์ ‘The Broken’ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับทหารผ่านศึกที่ต้องทนทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และทหารผ่านศึกที่ฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา อุทยานอนุสรณ์แห่งนี้ได้รับการโหวตให้เป็นอุทยานอนุสรณ์ที่ดีที่สุดในแคนาดาในปี ค.ศ. 2013 โดย ‘Communities in Bloom’

‘Apollo-Plumbat’ 2 ปฏิบัติการลับของหน่วย ‘MOSSAD’ แห่งอิสราเอล ในการโจรกรรม ‘แร่ยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง’ ซึ่งใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์

‘Apollo’ และ ‘Plumbat’ ปฏิบัติการโจรกรรมยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง 
โดยอิสราเอล

‘อิสราเอล’ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง และเชื่อกันว่า อิสราเอลมีความสามารถในการปล่อยหัวรบนิวเคลียร์ได้มากมายหลายวิธีจากอากาศยาน ขีปนาวุธร่อนที่ปล่อยจากเรือดำน้ำ และขีปนาวุธพิสัยกลางถึงข้ามทวีปแบบ ‘Jericho’ ซึ่ง Revital ‘Tally’ Gotliv สส.หญิงอิสราเอล เรียกร้องให้นำมาใช้ถล่มฉนวน Gaza หวังให้กลายเป็น ‘วันโลกาวินาศ’ (Doomsday) ของชาวปาเลสไตน์ https://thestatestimes.com/post/2023101214

โดยคาดว่า อิสราเอลเมื่อเริ่มแรกที่มีอาวุธนิวเคลียร์พร้อมใช้งานได้นั้น น่าจะเป็นในช่วงปลายปีของ ค.ศ. 1966 หรือต้นปี ค.ศ. 1967 และทำให้อิสราเอลกลายเป็นชาติที่ 6 ของโลกที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม อิสราเอลรักษานโยบาย ‘จงใจคลุมเครือ’ โดยไม่เคยปฏิเสธหรือยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ย้ำตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า “อิสราเอลจะไม่ใช่ประเทศแรกที่จะเปิดฉากใช้อาวุธนิวเคลียร์ในตะวันออกกลาง”

นอกจากนี้ อิสราเอลยังปฏิเสธที่จะลงนามใน ‘สนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์’ (the Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons : NPT) แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากนานาชาติให้ลงนามก็ตาม โดยกล่าวว่าการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวจะขัดต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ

‘กองทัพอากาศอิสราเอล’ เปิดฉากทำลายเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิรัก
ใน ‘ปฏิบัติการ Opera’ ในปี ค.ศ. 1981

นอกจากนี้ อิสราเอลยังได้พัฒนาหลักการเริ่มต้นในการต่อต้านด้วยการชิงโจมตี โดยปฏิเสธไม่ให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค สามารถซื้อหรือผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองได้ กองทัพอากาศอิสราเอลเปิดฉากทำลายเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิรัก ใน ‘ปฏิบัติการ Opera’ ในปี ค.ศ. 1981 และซีเรีย ใน ‘ปฏิบัติการ Orchard’ ในปี พ.ศ. 2007 ตามลำดับ และการใช้มัลแวร์ ‘Stuxnet’ ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านในปี พ.ศ. 2010 ซึ่งเชื่อว่าได้รับการพัฒนาร่วมกันโดยสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ในปี ค.ศ. 2019

อีกทั้ง อิสราเอลยังคงเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่เชื่อว่าครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ โดยกำหนดให้แผน Samson เป็นกลยุทธ์การป้องกันในการตอบโต้ครั้งใหญ่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในฐานะ ‘ทางเลือกสุดท้าย’ ต่อประเทศที่ส่งกองทัพมารุกราน และ/หรือ ทำลายอิสราเอล

‘Mordechai Vanunu’ ช่างเทคนิคผู้ที่เปิดเผยรายละเอียดของโครงการอาวุธนิวเคลียร์

อิสราเอลเริ่มโครงการนิวเคลียร์ไม่นานหลังจากประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1948 และด้วยความร่วมมือของฝรั่งเศส โดยอิสราเอลได้เริ่มสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ ‘Negev’ อย่างลับ ๆ ซึ่งเป็นโรงงานใกล้ ๆ กับเมือง Dimona ซึ่งเป็นที่ตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และโรงงานปรับกระบวนการที่เกี่ยวข้องในปลายทศวรรษ 1950 ก่อนจะถูกเปิดเผยครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1986 โดย ‘Mordechai Vanunu’ ช่างเทคนิคที่เคยทำงานในศูนย์แห่งนี้และอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ไม่นานหลังจากนั้น Mordechai Vanunu ก็ถูกเจ้าหน้าที่ MOSSAD ลักพาตัวและถูกนำตัวกลับมาที่อิสราเอล ซึ่งเขาถูกตัดสินจำคุก 18 ปีในข้อหากบฏและจารกรรม

บริษัท Nuclear Materials and Equipment Corporation (NUMEC) 
เมือง Apollo และเมือง Parks Township

แต่สิ่งสำคัญที่อิสราเอลไม่สามารถหาได้เลย คือ วัตถุดิบหลักในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ ‘ยูเรเนียม’ ที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง จึงเป็นที่มาของ 2 ปฏิบัติการโจรกรรมยูเรเนียมเสริมสมรรถนะสูง โดย ‘หน่วย MOSSAD’ ของอิสราเอล

‘ปฏิบัติการ Apollo’ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1965 โดยบริษัทของสหรัฐอเมริกา บริษัท Nuclear Materials and Equipment Corporation (NUMEC) เมือง Apollo และเมือง Parks Township เขตชานเมืองพิตส์เบิร์ก มลรัฐเพนซิลวาเนีย ถูกสอบสวนในข้อหาสูญเสียสารยูเรเนียมที่มีสมรรถนะสูงไปราว 200–600 ปอนด์ (91–272 กิโลกรัม) โดยสงสัยว่าได้มีการยักย้ายเข้าสู่โครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิสราเอล

‘Dr. Zalman Shapiro’ ประธานฯ บริษัท Nuclear Materials and Equipment Corporation (NUMEC)

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 ถึง พ.ศ. 1980 สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI) ได้ทำการสอบสวน Dr. Zalman Shapiro ประธานบริษัทฯ ในเรื่องการสูญหายของยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง จำนวน 206 ปอนด์ (93 กิโลกรัม) Shapiro เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจและการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอิสราเอล รวมถึงได้รับสัญญาที่จะสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้อิสราเอลด้วย คณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณู, สำนักข่าวกรองกลาง (CIA), หน่วยงานรัฐบาลอื่น ๆ และผู้สื่อข่าวที่สอบสวนได้ดำเนินการสืบสวนในลักษณะเดียวกันนี้ แต่ก็ไม่มีการตั้งข้อหาใด ๆ เลย

การศึกษาของสำนักงานบัญชีทั่วไปเกี่ยวกับการสืบสวนที่ไม่เป็นความลับอีกต่อไป ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 ระบุว่า “เราเชื่อว่าความพยายามร่วมกันอย่างทันท่วงที ในส่วนของหน่วยงานทั้ง 3 นี้ จะช่วยได้อย่างมาก และอาจช่วยแก้ปัญหาการเบี่ยงเบนความสนใจของ NUMEC ได้ หากพวกเขาต้องการทำเช่นนั้น”

บริษัท Nuclear Materials and Equipment Corporation (NUMEC) 
เมือง Apollo และเมือง Parks Township

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 ‘CIA’ ได้บรรยายสรุปแก่เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ (NRC) เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุว่า CIA เชื่อว่ายูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูงที่หายไปนั้น ถูกส่งไปยังอิสราเอล เมื่อ NRC แจ้งต่อทำเนียบขาว ส่งผลทำให้ประธานาธิบดี ‘Jimmy Carter’ เมื่อได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการสอบสวน จึงสั่งให้ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติประเมินผล ซึ่งผลสรุปว่า “ข้อสรุปของ CIA มีความเป็นไปได้ แม้ว่าจะไม่ได้ข้อสรุปก็ตาม” บางคนยังคงเชื่อว่า อิสราเอลได้รับยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง จำนวน 206 ปอนด์ (93 กิโลกรัม) หรือมากกว่าจาก NUMEC โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้รับหลังการมาเยือนของ ‘Rafi Eitan’ ซึ่งถูกเปิดเผยในภายหลัง ว่าเป็นสายลับอิสราเอลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘Jonathan Pollard’ ในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1986 นักวิเคราะห์ ‘Anthony Cordesman’ บอกกับสำนักข่าว United Press International (UPI) ว่า “ไม่มีเหตุผลที่เป็นไปได้ใด ๆ สำหรับ Eitan ที่จะไปยังโรงงาน Apollo นอกจากไปเพื่อวัสดุนิวเคลียร์” การสอบสวนในภายหลังได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ (ต่อจาก AEC) เกี่ยวกับยูเรเนียมจำนวน 198 ปอนด์ (90 กิโลกรัม) ซึ่งพบว่าหายไประหว่างปี ค.ศ. 1974 ถึง ค.ศ. 1976 หลังจากที่บริษัท Babcock & Wilcox และ Dr. Shapiro ได้ซื้อโรงงานดังกล่าว การสืบสวนพบว่า ยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง น้ำหนักมากกว่า 110 ปอนด์ (50 กิโลกรัม) อาจถูกเรียกว่า ‘กลไกการสูญเสียที่ไม่สามารถระบุได้ และไม่มีเอกสารก่อนหน้านี้’ รวมถึง ‘การปนเปื้อนของเสื้อผ้าของคนงาน การสูญเสียจากระบบขัดพื้น วัสดุที่ฝังอยู่ในพื้น และคราบตกค้างในอุปกรณ์แปรรูป’ โดยอีกหนึ่งในผู้สืบสวนหลัก ‘Carl Duckett’ ได้กล่าวว่า “ผมไม่พบอะไรเลยที่บ่งชี้ว่า Shapiro มีความผิด”

‘ปฏิบัติการ Plumbat’ เชื่อกันว่าเป็น ‘ปฏิบัติการลับ’ ของอิสราเอลในปี ค.ศ. 1968 เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘Yellowcake’ (แร่ยูเรเนียมแปรรูป) เพื่อนำมาใช้สนับสนุนในความพยายามด้านอาวุธนิวเคลียร์ของอิสราเอล สาเหตุมาจากการที่ฝรั่งเศสหยุดจัดหาเชื้อเพลิงยูเรเนียมให้กับอิสราเอล สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Dimona หลังจากสงครามอาหรับ-อิสราเอล ในปี ค.ศ. 1967 แหล่งข่าวจำนวนมากเชื่อว่าในปี ค.ศ. 1968 อิสราเอลได้รับ Yellowcake (แร่ยูเรเนียมแปรรูป) ราว 200 ตันจาก ‘Union Minière’ บริษัทเหมืองแร่ของเบลเยียม และจัดส่งยูเรเนียมแปรรูปที่ขุดในคองโก จากเมืองแอนต์เวิร์ปไปยังเมืองเจนัว ให้กับบริษัทแนวหน้าของยุโรป โดยทำการขนถ่ายย้ายแร่ไปยังเรือลำอื่นกลางทะเล

ปฏิบัติการลับของ MOSSAD นี้ เป็นการละเมิดมาตรการควบคุมวัสดุนิวเคลียร์ของ ‘Euratom’ (The European Atomic Energy Community) โดยสมบูรณ์ ชื่อของปฏิบัติการ Plumbat มาจากภาษาละตินว่า ‘plumbum’ ซึ่งหมายถึง ‘ตะกั่ว’ อันเป็นวัสดุไม่อันตรายในการขนส่ง Yellowcake โดยสายลับของ MOSSAD ได้จัดตั้งบริษัทสมมติชื่อ ‘Biscayne Trader's Shipping Corporation’ ในไลบีเรีย เพื่อซื้อเรือขนส่งสินค้าทางทะเล จากเมือง Scheersberg A. (เมืองทางตอนเหนือของเยอรมนี ใกล้ชายแดนติดกับเดนมาร์ก) ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ผู้เป็นมิตรของบริษัทปิโตรเคมีของเยอรมนี มีการจ่ายเงิน 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับ Union Minière เพื่อซื้อ Yellowcake จำนวน 200 ตัน Yellowcake เหลืออยู่ในสินค้าคงคลังจากยูเรเนียมที่ขุดได้จาก Shinkolobwe ใน Katanga ตอนบน โดยบรรทุก Yellowcake นี้ลงบนเรือบรรทุกสินค้าที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อใหม่ และมีการทำสัญญากับบริษัทสีสัญชาติอิตาลี เพื่อดำเนินการผลิต Yellowcake

‘Yellowcake’ (แร่ยูเรเนียมแปรรูป)

‘Yellowcake’ ถูกบรรทุกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1968 ในถังที่มีเครื่องหมาย ‘PLUMBAT’ (ผลิตภัณฑ์ตะกั่วที่ไม่เป็นอันตราย) ลูกเรือชาวสเปนถูกแทนที่ด้วยกะลาสีเรือที่ MOSSAD เตรียมไว้ และได้รับหนังสือเดินทางปลอมที่จัดเตรียมไว้ให้ เรือสินค้าลำนี้แล่นไปยังเมืองเจนัว เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1968 หลังจากเดินทางได้ประมาณ 7 วัน เรือก็พบกับเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติอิสราเอล ภายใต้ความมืดบริเวณที่ใดที่หนึ่งทางตะวันออกของเกาะครีต สินค้าถูกขนถ่ายไปอย่างเงียบ ๆ ขณะที่เรือรบของอิสราเอลคอยเฝ้าดูอยู่ใกล้ ๆ หลังจากบรรทุก Yellowcake แล้ว ก็ออกเดินทางสู่เมืองท่าไฮฟา และในที่สุดก็ถึงอุโมงค์ซึ่งเป็นโรงงานเคมีอัตโนมัติระดับ 6 เพื่อทำการแปรรูปให้เป็น ‘พลูโตเนียม’ ที่เมือง Dimona เมื่อเรือ Scheersberg A. เข้าเทียบท่าที่ตุรกี 8 วันต่อมา โดยไม่มีการขนส่งสินค้าใด ๆ สัญญากับบริษัทสีสัญชาติอิตาลีจึงถูกยกเลิก บันทึกของเรือหายไปหลายหน้าโดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ บริษัทสีอิตาลีสันนิษฐานว่า สินค้าสูญหายเนื่องจากการปล้น

คำสารภาพของฝ่ายปฏิบัติการ MOSSAD ในปี ค.ศ. 1973 ‘Dan Ert’ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ Mossad ถูกจับกุมในนอร์เวย์ โดยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการลอบสังหารผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง ที่สังหารนักกีฬาอิสราเอล 11 คน ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. 1972 ที่นครมิวนิก ซึ่งได้เล่าเรื่องราวขณะถูกคุมขังเพื่อพิสูจน์ให้ชาวนอร์เวย์เห็นว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของ MOSSAD เรื่องราวดูน่าเชื่อถือมากขึ้นเมื่อตรวจสอบพบว่า Ert ได้รับเลือกให้เป็นประธานของบริษัทขนส่งในไลบีเรียที่เคยซื้อเรือ Scheersberg A. ในปี 1977 เรื่อง Plumbat Affair ถูกเปิดเผยโดย ‘Paul Leventhal’ อดีตนิติกรของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ในการประชุมลดอาวุธ เขากล่าวว่า “การขนส่ง Yellowcake ที่ถูกขโมยมานั้น เพียงพอที่จะเดินเครื่องปฏิกรณ์เช่นที่ Dimona ได้นานถึง 10 ปี”

ในตอนแรกเจ้าหน้าที่อิสราเอลนิ่งเงียบเมื่อมีการสอบสวน จากนั้น จึงออกมาปฏิเสธทุกแง่มุมในเรื่องราวที่อิสราเอลที่เกี่ยวข้องกับ Yellowcake ที่ถูกขโมย ปัจจุบันประมาณการว่า คลังอาวุธของอิสราเอลมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ระหว่าง 80 ถึง 400 หัว

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ ‘Mỹ Lai’ โศกนาฏกรรมแห่งสงครามเวียดนาม จากน้ำมือของ ‘ทหารอเมริกัน’ และการปกปิดความผิดโดยกองทัพสหรัฐฯ

‘Mỹ Lai’ เหตุการณ์สังหารหมู่โดยทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ

มีภาพยนตร์ Hollywood มากมายที่คอยตอกย้ำให้คนชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นอดีตศัตรู ต้องตกเป็นผู้ร้ายมาโดยตลอด ไม่ว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามต่าง ๆ การก่อการร้าย ฯลฯ โดยผู้ร้ายก็มักจะเป็นต่างชาติ เช่น เยอรมนี, ญี่ปุ่น, โซเวียต, อาหรับ, ตาลีบัน ฯลฯ แม้กระทั่งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในขณะนี้ สื่อตะวันตกต่างก็เสนอข่าวเพียงด้านเดียว กล่าวหาให้ร้ายปาเลสไตน์เป็นผู้ร้ายแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่ชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ถูกกระทำโดยกองทัพอิสราเอลแท้ ๆ

เรื่องของการสังหารหมู่ที่ ‘Mỹ Lai’ เป็นการสังหารหมู่ชาวบ้านเวียดนามใต้ที่ไม่มีอาวุธมากถึง 504 คน โดยทหารสังกัดกองทัพบกสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1968 ในระหว่างสงครามเวียดนาม Mỹ Lai เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบล Son My ตั้งอยู่ในจังหวัด Quang Ngai ห่างจากตัวจังหวัด Quang Ngai ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 11 กม. พื้นที่นี้ได้รับการขนานนามโดยทหารสหรัฐฯ ว่า ‘Pinkville’ เนื่องจากมีสีแดงที่ใช้บ่งบอกถึงพื้นที่ Mỹ Lai ที่มีประชากรหนาแน่นบนแผนที่ทางทหาร

เมื่อ ‘กองร้อย Charlie’ แห่งกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 20 กองพลทหารราบที่ 11 มาถึงเวียดนามในเดือนธันวาคม 1967 พื้นที่ ‘Pinkville’ ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘แหล่งซ่องสุม’ ของเวียดกงที่ใช้ในการหลบซ่อน ในเดือนมกราคม 1968 กองร้อย Charlie เป็น 1 ใน 3 กองร้อยที่ได้รับมอบหมายให้ทำลายกองพันที่ 48 ซึ่งเป็นหน่วยรบของเวียดกงที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ซึ่งหน่วยดังกล่าวปฏิบัติการในจังหวัด Quang Ngai ตลอดเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม ทหารสังกัดกองร้อย Charlie ได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดและกับดักไปหลายสิบคน ทั้งยังประสบความล้มเหลวในการสู้รบกับกองพันที่ 48 หลังจากความพ่ายแพ้ของการโจมตีใน ‘ปฏิบัติการตรุษญวน’ (Tet) เวียดกงได้กลับมาใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร และพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับกองกำลังสหรัฐฯ

‘ร้อยเอก Ernest Medina’ ผู้บังคับกองร้อย Charlie

หน่วยข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลว่า กองพันเวียดกงที่ 48 ได้เข้าไปซ่อนตัวในพื้นที่ของหมู่บ้าน Mỹ Lai (แต่ในความเป็นจริงแล้วกองพันเวียดกงที่ 48 ได้ฝังตัวในที่ราบสูง Quang Ngai ทางตะวันตก ซึ่งอยู่ห่างออกไปมากกว่า 65 กม.)

ในการบรรยายสรุปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ‘ร้อยเอก Ernest Medina’ ผู้บังคับกองร้อย Charlie ได้บอกกับทหารของเขาว่า ในที่สุดพวกเขาก็จะได้รับโอกาสสู้รบกับศัตรูที่หลบหนีพวกเขามานานกว่าหนึ่งเดือน ด้วยเชื่อว่า พลเรือนชาวเวียดนามใต้ได้อพยพออกจากพื้นที่ของหมู่บ้าน Mỹ Lai ไปยังเขตเมือง Quang Ngai หมดแล้ว เขาจึงสั่งว่า “ใครก็ตามที่ยังอยู่ใน Mỹ Lai จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงสมาชิกหรือแนวร่วมของเวียดกง ภายใต้กฎการสู้รบเหล่านี้ ทหารมีอิสระที่จะยิงใครหรืออะไรก็ได้”

นอกจากนี้ กองทหารของกองร้อย Charlie ยังได้รับคำสั่งให้ทำลายพืชผลและสิ่งปลูกสร้าง และฆ่าปศุสัตว์ทั้งหมดด้วย

‘ร้อยโท William Calley’ ผู้บังคับหมวดที่ 1 กองร้อย Charlie

ก่อนเวลา 07.30 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 1968 ตำบล Son My ถูกปืนใหญ่ของสหรัฐฯ ถล่มอย่างหนัก เพื่อเคลียร์พื้นที่ลงจอดสำหรับเฮลิคอปเตอร์ของกองร้อย Charlie แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงกลายเป็นการบังคับพลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่ทยอยออกจากพื้นที่ให้กลับไปที่หมู่บ้าน Mỹ Lai เพื่อหาที่กำบัง

ต่อมา หมวดที่ 1 ของกองร้อย Charlie นำโดย ‘ร้อยโท William Calley’ ได้บุกเข้าไปทางตะวันตกของหมู่บ้านขนาดเล็กที่รู้จักกันในชื่อ ‘Xom Lang’ แต่ถูกทำเครื่องหมายระบุว่า เป็นหมู่บ้าน Mỹ Lai บนแผนที่ทางทหารของสหรัฐฯ เวลา 7.50 น. ส่วนที่เหลือของกองร้อย Charlie ลงจากเฮลิคอปเตอร์แล้ว และร้อยโท Calley นำทหารหมวดที่ 1 ไปทางทิศตะวันออกผ่านหมู่บ้าน Mỹ Lai ไป

แม้ว่าพวกเขาจะไม่พบการต่อต้านเลย แต่ทหารหมวดที่ 1 ก็เริ่มสังหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้ตามอำเภอใจ ในชั่วโมงถัดมา กลุ่มของผู้หญิง เด็ก และชายสูงอายุก็ถูกล้อมและยิงทิ้งในระยะประชิด นอกจากนั้นแล้วทหารสหรัฐฯ ยังทำการข่มขืนหญิงสาวอีกหลายคน

หมวดที่ 2 ของกองร้อย Charlie เคลื่อนพลขึ้นเหนือจากเขตลงพื้น สังหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้ไปอีกหลายสิบคน ในขณะที่หมวดที่ 3 ที่ตามมาก็ได้จัดการเผาทำลายบ้านเรือนที่เหลืออยู่ของหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ และผู้รอดชีวิตที่เหลือถูกกราดยิง เวลา 09.00 น. ร้อยโท Calley สั่งประหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้มากถึง 150 คน โดยต้อนคนเหล่านั้นลงไปในคูน้ำ

ทหารสังกัดกองร้อย Charlie จัดการเผาทำลายบ้านเรือนที่ Mỹ Lai

‘จ่า Ron Haeberle’ ช่างภาพของกองทัพบกสหรัฐฯ สังกัดกองร้อย Charlie บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้น โดยเขาใช้กล้องถ่ายภาพขาวดำสำหรับบันทึกอย่างเป็นทางการของกองทัพบก แต่ถ่ายเป็นสีด้วยกล้องส่วนตัวของเขา ภาพขาวดำหลายภาพเป็นภาพทหารขณะที่กำลังซักถามนักโทษ ค้นทรัพย์สิน และเผากระท่อม แม้ว่าการทำลายทรัพย์สินจะละเมิดคำสั่งบัญชาการของกองทัพสหรัฐฯ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของภารกิจค้นหาและทำลาย และไม่ได้เป็นหลักฐานโดยตรงในกรณีอาชญากรรมสงคราม

ภาพถ่ายสีส่วนตัวของ Haeberle ซึ่งเขาไม่ได้ส่งต่อให้กองทัพบก ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘Cleveland Plain Dealer and Life’ ในเวลาต่อมา ภาพหนึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยที่เกลื่อนไปด้วยศพผู้หญิง เด็ก และทารกที่เสียชีวิต และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพของผู้หญิงและเด็กที่กำลังหวาดกลัวกลุ่มหนึ่ง ในช่วงเวลาก่อนที่พวกเขาจะถูกยิง ภาพถ่ายเหล่านี้กระตุ้นการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม และจะกลายเป็นชุดภาพเกี่ยวกับสงครามเวียดนามที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

‘จ่า Hugh Thompson’ นักบินเฮลิคอปเตอร์ผู้ยุติการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

มีรายงานว่าการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai สิ้นสุดลงหลังจากที่ ‘จ่า Hugh Thompson’ ซึ่งเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ในภารกิจลาดตระเวน เขาได้นำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดระหว่างทหารกับชาวบ้านที่กำลังล่าถอย และขู่ว่าจะเปิดฉากยิงทหารกองร้อย Charlie หากพวกเขายังคงโจมตีพลเรือนชาวเวียดนามใต้ต่อไป

เขาบอกว่า “เราบินไปมาเรื่อย ๆ… และในเวลาไม่นานนักเราก็เริ่มสังเกตเห็นศพจำนวนมากขึ้น ทุกที่ที่เรามอง เราจะเห็นศพเหล่านี้เป็นเด็กทารก เด็กอายุ 2-3 ขวบ และ 4-5 ขวบ ผู้หญิง ผู้ชายที่แก่มาก ไม่ใช่คนในวัยฉกรรจ์แต่อย่างใด” Thompson กล่าวในเวทีการสัมมนา ‘เหตุการณ์ Mỹ Lai’ ที่มหาวิทยาลัยทูเลน เมื่อปี 1994

Thompson และลูกเรือของเขานำผู้รอดชีวิตหลายสิบคนบินไปรับการรักษาพยาบาล ในปี 1998 Thompson และลูกเรืออีก 2 คนได้รับเหรียญรางวัลทางทหาร ซึ่งเป็นเหรียญรางวัลขั้นสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ สำหรับความกล้าหาญที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบโดยตรงกับศัตรู

‘พันตรี Colin Powell’ ในเวียดนามใต้

เมื่อการสังหารหมู่ Mỹ Lai สิ้นสุดลง มีผู้เสียชีวิต 504 ราย ในบรรดาเหยื่อเป็นผู้หญิง 182 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ 17 คน และเด็ก 173 คน รวมถึงทารก 56 คน เมื่อทราบข่าวการสังหารหมู่ซึ่งจะทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่บังคับบัญชากองร้อย Charlie และกองพลที่ 11 จึงพยายามมองข้ามเหตุนองเลือดนี้ทันที

อย่างไรก็ตาม กองทัพบกสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการภายใน หนึ่งในผู้สืบสวนภายในของกองทัพสหรัฐฯ เกี่ยวกับการสังหารหมู่ Mỹ Lai คือ ‘พันตรี Colin Powell’ ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานคณะเสนาธิการร่วม และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศภายใต้ ‘ประธานาธิบดี George W. Bush’

ตามรายงานของ Powell ระบุว่า “แม้ว่าอาจมีบางกรณีของการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อพลเรือนและนักโทษเชลยศึก แต่สิ่งนี้ไม่ได้สะท้อนถึงทัศนคติทั่วไปของทหารทั้งกองพล”

สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องความโหดร้ายที่กระทำโดยทหารอเมริกัน Powell กล่าวว่า “ในการหักล้างโดยตรงต่อการแสดงภาพนี้คือความจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกองอเมริกากับชาวเวียดนามนั้นดีเยี่ยม” คำกล่าวนี้ ทำให้นักวิจารณ์หลายคนเยาะเย้ยว่าเป็น ‘การล้างบาป’ และกล่าวหาว่า Powell เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมที่ช่วยกันปกปิดการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

‘Ronald Ridenhour’ ผู้เปิดเผยเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

การปกปิดการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งทหารในกองพลที่ 11 ซึ่งเคยได้ทราบรายงานการสังหารหมู่ ซึ่งเขาไม่ได้เข้าร่วม ได้เริ่มรณรงค์เพื่อให้เหตุการณ์ต่าง ๆ กระจ่างขึ้น หลังจากเขียนจดหมายถึง ‘ประธานาธิบดี Richard M. Nixon’ รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเทศ ประธานคณะเสนาธิการร่วม และสมาชิกรัฐสภาหลายคน โดยไม่มีการตอบกลับ ในที่สุด Ridenhour ก็ให้สัมภาษณ์กับ Seymour Hersh นักข่าวสืบสวนซึ่งรายงานเรื่องนี้ในเดือนพฤศจิกายน 1969 ท่ามกลางความโกลาหลระหว่างประเทศและการประท้วงสงครามเวียดนาม

ซึ่งมีการติดตามการเปิดเผยของ Ridenhour กองทัพบกสหรัฐฯ สั่งให้มีการสอบสวนเป็นพิเศษเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai และความพยายามปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าวในภายหลัง

การสอบสวนนำโดย ‘พลโท William Peers’ ซึ่งมีการเผยแพร่รายงานในเดือนมีนาคม 1970 ได้เสนอให้ตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่ทหารไม่น้อยกว่า 28 นายที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดการสังหารหมู่ การพิจารณาคดี Mỹ Lai เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1970 ต่อมา กองทัพได้ตั้งข้อหาทหารเพียง 14 คน รวมทั้งร้อยโท William Calley, ร้อยเอก Ernest Medina และพันเอก Oran Henderson ในข้อหาก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ Mỹ Lai

‘พลตรี Julian Ewell’ เจ้าของฉายา “คนขายเนื้อแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง”

ทุกคนพ้นผิดยกเว้นร้อยโท Calley ซึ่งถูกตัดสินว่า ‘มีความผิดในข้อหาฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าจากการสั่งยิง’ แม้ว่าเขาจะโต้แย้งว่าเขาเพียงปฏิบัติตามคำสั่งของร้อยเอก Medina ผู้บังคับบัญชาก็ตาม ในเดือนมีนาคม 1971 ร้อยโท Calley ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ในฐานะผู้สั่งการในการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

หลายคนมองว่า ร้อยโท Calley เป็นแพะรับบาป และเขาอุทธรณ์ลดโทษเหลือ 20 ปี และต่อมาได้ลดโทษเหลือเพียง 10 ปี และเขาถูกปล่อยตัวในปี 1974 หลังจากถูกจำคุกเพียง 3 ปีเท่านั้น

การสืบสวนในเวลาต่อมาเผยให้เห็นว่า การสังหารที่ Mỹ Lai ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเหตุการณ์เดียว ความโหดร้ายอื่น ๆ เช่น การสังหารหมู่พลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่ Mỹ Khe ที่คล้ายกันนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ปฏิบัติการทางทหารฉาวโฉ่ที่เรียกว่า ‘Speedy Express’ คร่าชีวิตพลเรือนชาวเวียดนามใต้ไปหลายพันคน จนกระทั่งพลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่อาศัยอยู่บริเวนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้ให้ฉายา ‘พลตรี Julian Ewell’ ผู้บัญชาการในปฏิบัติการครั้งนั้นว่า “คนขายเนื้อแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง”

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 การสนับสนุนการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามลดน้อยลง เนื่องจากฝ่ายบริหารของ ‘ประธานาธิบดี Richard M. Nixon’ ที่ได้ดำเนินนโยบาย ‘การทำให้เป็นเวียดนาม’ (Vietnamization) ซึ่งรวมถึงการถอนกำลังทหารและโอนการควบคุมการปฏิบัติการภาคพื้นดินไปยังกองทัพเวียดนามใต้ ในบรรดากองทหารอเมริกันที่ยังอยู่ในเวียดนาม ล้วนแล้วแต่มีขวัญกำลังใจต่ำ มีความโกรธแค้นและความคับข้องใจสูง มีการใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์เพิ่มในหมู่ทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ และรายงานอย่างเป็นทางการในปี 1971 ประมาณการว่าทหารสหรัฐฯ 1 ใน 3 หรือมากกว่านั้นติดยาเสพติด

การเปิดเผยเรื่องราวของการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ทำให้ขวัญกำลังใจของทหารอเมริกันตกต่ำลดลงไปอีก เมื่อบรรดาทหารอเมริกันในเวียดนามใต้ต่างพากันสงสัยว่า ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาปกปิดความโหดร้ายอื่นใดอีก

ในสหรัฐฯ ความโหดร้ายของการสังหารหมู่ Mỹ Lai และความพยายามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าว ยิ่งทำให้ความรู้สึกต่อต้านสงครามรุนแรงขึ้น และเพิ่มความขมขื่นต่อการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนาม ต่างจากเหตุการณ์สงครามอื่น ๆ ที่ทั้งศัตรูและอดีตศัตรูของสหรัฐฯ มักกลายเป็นผู้ร้ายในภาพยนตร์ Hollywood ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วน Mỹ Lai เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวบ้านเวียดนามใต้ 504 ศพ โดยทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ ไม่เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Hollywood เลย จะมีก็เพียงแต่ถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีเท่านั้น

และในการแสดง The Lieutenant เป็นร็อกโอเปราที่มีทั้งหนังสือ ดนตรี และเนื้อร้องโดย Gene Curty, Nitra Scharfman และ Chuck Strand ได้เสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นศาลทหารของร้อยโท William Calley ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยแสดงบนเวทีละครบรอดเวย์ ในปี 1975 และ ‘Mỹ Lai Four’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์นั้นถูกสร้างโดยผู้สร้างและทีมงานชาวอิตาลี ไม่ใช่ผู้สร้างและทีมงานชาวอเมริกันจาก Hollywood แต่อย่างใด

มีการสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ณ ตำบล Sơn Mỹ และสวนสันติภาพ Mỹ Lai ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์สังหารหมู่ เมื่อ 16 มีนาคม 1998 สวนสันติภาพนี้อยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุราว 2 กม. (1 ไมล์)

‘Kimani Maruge’ นักเรียนชั้นประถมที่อายุมากที่สุดในโลก ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งโลกเห็นว่า ‘ไม่มีใครแก่เกินเรียน’


‘Kimani Maruge’ นักเรียนชั้นประถมที่อายุมากที่สุดในโลก

‘Kimani Ng'ang'a Maruge’ (ประมาณ ค.ศ. 1920 – 14 สิงหาคม 2009) เป็นชาวเคนยา เกิดในปี 1920 เขาเป็นนักรบในช่วงการจลาจลของชนเผ่า ‘Mau Mau’ เพื่อเรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักรในช่วงทศวรรษ 1950 เขาถือครองสถิติโลก The Guinness World Record ด้วยการเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดที่เข้าโรงเรียนประถม (ในระบบ) โดยเขาลงทะเบียนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2004 ด้วยวัย 84 ปี

แม้ว่าเขาจะไม่มีเอกสารพิสูจน์อายุของเขา แต่ Maruge เชื่อว่าเขาเกิดในปี 1920 อย่างไรก็ตาม รูปร่างหน้าตาของเขาดูอายุน้อยกว่า 84 ปีเล็กน้อย


ด้วยในปี 2003 รัฐบาลเคนยาออกประกาศเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลและไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนชาวเคนยาอย่างกว้างขวาง กระตุ้นให้ประชาชนจำนวนมาก ยึดมั่นในเส้นทางการศึกษาในระบบอย่างเป็นทางการ Kimani Maruge ก็เช่นกัน ดังนั้น เขาจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนประถม Kapkenduiywo ในเมือง Eldoret ประเทศเคนยา

นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลกระตุ้นให้เขาทำเช่นนั้น เขากล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลและไม่มีค่าใช้จ่าย และอีกเหตุผลของ Maruge ในการเข้าโรงเรียน คือ เขาต้องการอ่านพระคัมภีร์ให้ได้และนับเลขให้เป็น

Maruge เป็นพ่อม่ายและเป็นปู่ทวด (หลาน 2 คนจากทั้งหมด 30 คนของเขา เรียนโรงเรียนเดียวกันและช่วยติวหนังสือให้เขาในการสอบไล่)


เส้นทางการศึกษาของเขาไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ต่อต้านการเข้าเรียนของเขาอย่างดุเดือด การตัดสินใจของ Maruge ได้รับการโต้แย้งเป็นอย่างมากจากผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ

แม้ว่าจะไม่มีการบันทึกวันเกิดอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อกันว่าในขณะที่ลงทะเบียน เขามีอายุ 84 ปี ซึ่งทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุดในโลกที่เข้าเรียนในโรงเรียน ในปี 2005 Maruge นักเรียนอายุมากที่สุดก็ได้รับการยอมรับจากนักเรียนทั้งโรงเรียน เขาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้านักเรียนของโรงเรียน

ในเดือนกันยายนของปีเดียวกันนั้นเอง เขาได้ขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกในชีวิต และได้มีโอกาสขึ้นปราศรัยในการประชุมสุดยอดโลกประจำปี 2005 ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่นคร New York สหรัฐอเมริกา โดยได้ร่วมมือกับ ActionAid ในหัวข้อเกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษาที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสำหรับทุกคน


หลังจากความรุนแรงภายหลังการเลือกตั้งของเคนยา ในปี 2007-2008 ทรัพย์สินของ Kimani Maruge ถูกรื้อค้นและถูกขโมยโดยผู้ปล้นสะดม เขาจึงคิดที่จะลาออกจากโรงเรียน แต่ที่สุดเขาก็ตัดสินใจที่จะอยู่เรียนต่อ เขาต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนของเขาถึง 4 กิโลเมตร แต่เขาก็ยังคงไปเรียนทุกวัน

ในเดือนมิถุนายน 2007 Maruge ยอมแพ้ต่อแรงกดดันและยอมลาออกจากโรงเรียน และในที่สุดเดือนมิถุนายน 2008 เขาย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา อย่างไรก็ตาม Kimani ผู้ไม่ลดละได้เข้าเรียนในประถมปีที่ 6 อีกครั้งที่โรงเรียนประถม Marura ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ Kariobangi ของกรุงไนโรบี เมืองหลวงของประเทศเคนยา


ปี 2015 Google ได้สร้าง Doodle เพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘Kimani Maruge’
ชาวเคนยาที่เชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุด ที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2009 Maruge ได้เข้ารับพิธีล้างบาปที่โบสถ์คาทอลิก Holy Trinity ในเมือง Kariobangi และรับชื่อคริสเตียนว่า ‘Stephen’ ตามชื่อของ ‘นักบุญ Stephen’ เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2009 ด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ที่โรงพยาบาลแห่งชาติ Kenyatta ในกรุงไนโรบี ร่างของเขาถูกฝังที่ฟาร์มของเขาใน Subukia ปี 2015

เป็นเวลา 11 ปีหลังจากที่ Kimani Maruge ได้เข้าเรียน Google ได้สร้าง Doodle เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ซึ่งเชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุดที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา โดย Google กล่าวว่า “Doodle นี้เป็นการเตือนใจทุกคนว่า ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ”


‘The First Grader (2011)’ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจของ Kimani Maruge ซึ่งได้กระตุ้นความคิดของผู้คนจำนวนมาก ที่ตัดสินเข้าเรียนในโรงเรียนประถมอีกครั้ง


สำหรับบ้านเราแล้ว การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษาตามอัธยาศัยนั้นกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว ด้วยระบบการศึกษาของไทยที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยาวนานมาหลายสิบปีแล้ว ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (จากเดิม : กองการศึกษาผู้ใหญ่ ต่อมาเป็น; กรมการศึกษานอกโรงเรียน และเป็น; สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.)) ในปัจจุบัน

‘Desmond Doss’ พลทหารแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ผู้ปฏิเสธการจับปืน สู่...วีรบุรุษผู้สร้างปาฏิหาริย์ ณ สมรภูมิ Okinawa ในสงครามโลกครั้งที่ 2

สิบโท ‘Desmond Doss’ วีรบุรุษ… ผู้ปฏิเสธการจับปืนแห่งสมรภูมิ Okinawa

เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนได้เล่าถึงความเหี้ยมโหดของทหารของกองทัพบกอเมริกันในสงครามเวียดนาม อาทิตย์นี้ขอเล่าถึงวีรบุรุษสงครามทหารบกอเมริกันเช่นเดียวกัน ความแตกต่างระหว่างสองเรื่องนี้คือ ทหารนายนี้เป็นผู้ได้รับเหรียญกล้าหาญสูงสุดของรัฐสภาอเมริกัน โดยไม่ได้จับปืนหรือยิงปืนเลยแม้แต่นัดเดียว ด้วยเขาเป็นคริสต์ศาสนิกชนผู้ที่มีศรัทธาอย่างมากมาย และปฏิเสธการจับปืนโดยเด็ดขาด
วันที่ 1 เมษายน 1942 ‘Desmond Doss’ เข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ เขาไม่รู้เลยว่าในเวลาอีก 3 ปีครึ่งต่อมา เขาจะได้มี โอกาสมายืนอยู่บนสนามหญ้าของทำเนียบขาว และรับรางวัลสูงสุดของประเทศสำหรับความกล้าหาญ

เหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (สำหรับทหารบก)

จากจำนวนชายชาวอเมริกันในเครื่องแบบ 16 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเพียง 431 คนเท่านั้น ที่ได้รับเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (Congressional medal of merit) หนึ่งในนั้นถูกวางไว้บนคอของชายหนุ่มผู้มีศรัทธามั่นในคริสต์ศาสนานิกาย ‘Seventh-day Adventist’ โดยในระหว่างการสู้รบเขาไม่ได้สังหารทหารฝ่ายศัตรูเลยแม้แต่คนเดียว เนื่องด้วยอันที่จริงแล้วเขาปฏิเสธที่จะจับปืน อาวุธเพียงอย่างเดียวของเขาคือ ‘พระคัมภีร์และความศรัทธาอย่างยิ่งในพระเจ้า’

ประธานาธิบดี ‘Harry S. Truman’ จับมือสิบโท Desmond Thomas Doss อย่างอบอุ่น แล้วชูมือนั้นตลอดเวลาที่มีการอ่านออกเสียงคำพูดของเขาให้ผู้คนที่มารวมตัวกันนอกทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 1945 “ผมภูมิใจในตัวคุณ” ประธานาธิบดี Truman กล่าว “คุณสมควรได้รับสิ่งนี้จริง ๆ ผมถือว่านี่เป็นเกียรติมากกว่าการเป็นประธานาธิบดีด้วยซ้ำ”

ประธานาธิบดี ‘Harry S. Truman’ มอบเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ
ให้กับสิบโท ‘Desmond Thomas Doss’

การเดินทางที่ทำให้หนุ่ม Desmond มาจนถึงจุดสูงนี้ถือเป็นการเดินทางที่ท้าทายอย่างยิ่ง เมื่อฐานทัพสหรัฐฯ ที่อ่าว Pearl ถูกโจมตี เขากำลังทำงานอยู่ที่อู่ต่อเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เมือง Newport News ซึ่งสามารถเลื่อนการเกณฑ์ทหารของเขาออกไปได้ แต่เขาต้องการเป็นทหารเพื่อประเทศชาติของเขา โดยเต็มใจเสี่ยงชีวิตในแนวหน้า

แต่เมื่อเขาเข้าร่วมกองทัพ Desmond ถูกสันนิษฐานด้วยการจัดประเภทว่า ‘เป็นผู้ต่อต้านที่รู้สติ’ ซึ่งไม่ต้องการที่จะจับต้องอาวุธปืน เขาอยากเป็นทหารเสนารักษ์ โชคดีที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำงานในกองร้อยทหารราบ การที่เขาปฏิเสธที่จะจับปืนทำให้เกิดปัญหามากมายกับบรรดาเพื่อนทหารของเขา เหล่าเพื่อนทหารมองเขาอย่างหมางเมิน และเรียกเขาว่า ‘เป็นบุคคลที่ไม่เหมาะที่จะเป็นทหาร’

ทหารนายหนึ่งในค่ายถึงกับออกปากเตือนเขาว่า “Doss ทันทีที่เราเข้าสู่การสู้รบ ฉันจะทำให้มั่นใจว่า แกจะไม่กลับมามีชีวิตอีก” เพราะแม้แต่ผู้บังคับบัญชาของเขาเองก็ยังต้องการกำจัดชายหนุ่มชาว Virginia ร่างผอมที่พูดจาด้วยท่าทางที่อ่อนโยน พวกเขามองว่า Doss เป็นภาระ ไม่มีใครเชื่อว่า ‘ทหารที่ไม่ยอมจับอาวุธ’ จะเหมาะต่อการเป็นทหาร พวกเขาพยายามข่มขู่ ดุด่า ทั้งยังมอบหมายหน้าที่ที่ยากเป็นพิเศษให้เขา และประกาศว่าเขามีสภาพจิตใจไม่เหมาะกับการเป็นทหารในกองทัพ

จากนั้นพวกเขาก็พยายามนำ Doss ขึ้นศาลทหาร เพราะปฏิเสธคำสั่งโดยตรงที่ให้ถือปืน แต่พวกเขาหาทางกำจัด Doss ออกไปไม่ได้ และ Doss เองก็ปฏิเสธที่จะลาออกจากกองทัพเอง เขาเชื่อว่าหน้าที่ของเขาคือ การเชื่อฟังพระเจ้าและรับใช้ประเทศชาติของเขา แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนนั้น และความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของเขานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ภาพวาดของ ‘Cain’ ที่ถือท่อนไม้ยืนอยู่เหนือร่างของ ‘Abel’ น้องชายของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว

Desmond ได้รับการเลี้ยงดูมาด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าในพระคัมภีร์ เมื่อพูดถึงบัญญัติสิบประการ Desmond ได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นการส่วนตัว

ในช่วงวัยเด็ก พ่อของเขาซื้อภาพใส่กรอบขนาดใหญ่จากการประมูล เป็นภาพบัญญัติสิบประการพร้อมภาพประกอบสีสันสดใส ถัดจากคำว่า “เจ้าอย่าฆ่า” เป็นภาพวาดของ Cain ถือท่อนไม้ยืนอยู่เหนือร่างของ Abel น้องชายของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว Desmond ตัวน้อยจะมองดูภาพนั้นแล้วถามว่า “ทำไม Cain ถึงฆ่า Abel ทำไมพี่ชายถึงทำแบบนั้นได้” พระเจ้าตรัสในใจของ Desmond ตอบว่า “ถ้าเธอรักเขา เธอจะไม่ฆ่าเขา” ด้วยภาพนั้นเองที่ฝังแน่นอยู่ในใจของเขา เขาตัดสินใจว่าตลอดชีวิตนี้เขาจะไม่มีวันฆ่าใคร

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อทางศาสนาของเขารวมถึงการเข้าร่วมโบสถ์ทุกสัปดาห์ ทำให้บรรดาผู้บังคับบัญชาของเขาต่างก็รู้สึกไม่พอใจมาก เขาขอบัตรผ่านทุกสัปดาห์เพื่อจะได้ไปโบสถ์ทุกวันเสาร์ นั่นหมายถึงว่าเขามีวันหยุดสัปดาห์ละสองครั้ง เพื่อนทหารของเขาเห็นว่าเขาอ่านพระคัมภีร์อย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่สอดคล้องกับทหารนายอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง บรรดาเพื่อนทหารจึงรังเกียจเขา รังแกเขา เรียกเขาด้วยชื่อที่ดูถูก กระทั่งสาปแช่งเขาต่าง ๆ นานา โดยที่ผู้บังคับบัญชาของ Desmond ก็ทำให้ชีวิตของเขาต้องลำบากเช่นกัน

ทว่าสิ่งต่าง ๆ เริ่มพลิกผันเมื่อมีผู้ค้นพบว่า เสนารักษ์ผู้เงียบขรึมคนนี้มีวิธีรักษาแผลพุพองบนเท้าที่บอบช้ำและเหนื่อยล้าจากการเดินขบวน และหากมีใครเป็นลมเพราะลมแดด เสนารักษ์คนนี้ก็อยู่เคียงข้างเขาและเสนอเสบียงอาหารของตัวเองให้ด้วย Desmond ไม่เคยมีความแค้น ปฏิบัติต่อเพื่อนทหารด้วยความกรุณาและความสุภาพอ่อนโยน

‘เนินสูง Maeda’ ซึ่งเป็นเนินหินสูงตระหง่าน (Hacksaw Ridge)

Desmond ทำหน้าที่ในสมรภูมิบนเกาะ Guam, Leyte และ Okinawa ในการปฏิบัติการทางทหารแต่ละครั้ง เขาได้แสดงความทุ่มเทเป็นพิเศษต่อเพื่อนทหารของเขา ในขณะที่คนอื่นกำลังพยายามเข่นฆ่าเอาชีวิต เขาก็ยุ่งอยู่กับการช่วยชีวิต เมื่อมีเสียงร้องเรียกหา “เสนารักษ์” ดังขึ้นในสนามรบ เขาไม่เคยคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองเลย เขาวิ่งเข้าสู่การสู้รบอันดุเดือดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อรักษาเพื่อนทหารที่บาดเจ็บ และพากลับสู่ที่ปลอดภัย

ทั้งหมดนี้ ในขณะที่กระสุนของศัตรูพุ่งผ่านมาและกระสุนปืนครกก็ระเบิดรอบตัวเขา หลายครั้งขณะรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ Desmond ต้องอยู่ใกล้กับแนวข้าศึกมากจนเขาได้ยินเสียงพูดคุยของทหารญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม 1945 ขณะที่กองทัพเยอรมันยอมจำนนในอีกซีกโลกหนึ่ง กองทัพญี่ปุ่นก็ปกป้องพื้นที่ของตนอย่างดุเดือดจนทหารคนสุดท้าย ซึ่งเกาะ Okinawa ที่มีเนินสูงข่ม Maeda เป็นแนวป้องกันเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ต่อการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรในบ้านเกิดของพวกเขา ทหารในกองพลของ Desmond ถูกสั่งซ้ำแล้วซ้ำอีกให้พยายามยึดเนินสูงข่ม Maeda ให้ได้

เนินดังกล่าวเป็นเนินหินสูงตระหง่าน (Hacksaw Ridge) ที่กองทหารอเมริกันต้องเผชิญ หลังจากที่กองกำลังอเมริกันยึดยอดหน้าผาได้แล้ว ทหารอเมริกันก็ต้องตกตะลึง เมื่อกองกำลังญี่ปุ่นโผล่จากที่ซ่อนออกมาโจมตีตอบโต้อย่างดุเดือด ทหารอเมริกันถูกสั่งให้ถอยทันที ทหารทั้งหมดรีบเร่งปีนกลับลงมาตามหน้าผาสูงชัน ยกเว้นหนึ่งนาย คือ Desmond ทหารอเมริกันจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดกลับลงมาได้ ส่วนที่เหลือนอนบาดเจ็บ กระจัดกระจายไปทั่วดินแดนของศัตรูโดยถูกทิ้งและปล่อยให้ตาย แต่ Desmond เป็นทหารเพียงนายเดียวที่ฝ่าฝืนคำสั่งและพุ่งกลับเข้าไปในสนามรบ เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนทหารของเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะล้มลงหรือเสียชีวิต ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าและความกล้าหาญอันแน่วแน่ของเขา ส่งผลให้มีผู้รอดชีวิตอย่างน้อย 75 นาย ในวันนั้นเป็นวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 1945 ซึ่งวันเสาร์ถือเป็น ‘วันสะบาโต’ (Sabbath Day) หรือ ‘วันพระ’ ตามคริสตจักรนิกาย Seventh-day Adventist

‘Hacksaw Ridge’ ภาพยนตร์ซึ่งสร้างจากเรื่องของสิบโท Desmond Thomas Doss

ในที่สุด ทหารอเมริกันก็เข้ายึด Hacksaw Ridge จนได้ Okinawa ถูกทหารอเมริกันค่อย ๆ ยึดรุกคืบได้ทีละเล็กทีละน้อยด้วยการสู้รบที่นองเลือด หลายวันต่อมาระหว่างการโจมตีในตอนกลางคืน Desmond ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อระเบิดมือญี่ปุ่นตกลงมาใกล้เท้าของเขา ขณะกำลังหลบซ่อนตัวอยู่ในหลุมกระสุนปืนใหญ่พร้อมกับเพื่อนทหารราบอีก 2 นาย แรงระเบิดทำให้เขากระเด็น สะเก็ดระเบิดฉีกเข้าที่ขาขึ้นไปจนถึงสะโพก Desmond พยายามรักษาบาดแผลของตัวเองอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะพยายามเข้าให้ถึงที่ปลอดภัย แต่เขาก็ถูกกระสุนปืนจากสไนเปอร์ทหารญี่ปุ่นยิงจนแขนของเขาหักอีก การกระทำที่กล้าหาญของเขาในฐานะเสนารักษ์

แม้การสู้รบจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่มิใช่สำหรับ Desmond เขายืนกรานให้หามพาทหารที่บาดเจ็บคนอื่น ๆ ไปก่อน ก่อนที่จะช่วยเหลือเขา แม้จะมีอาการบาดเจ็บ ทนทุกข์ทรมานด้วยความเจ็บปวดและการเสียเลือด แต่เขาก็ยังคงให้ความสำคัญกับทหารนายอื่น ๆ ก่อนความปลอดภัยของตนเอง เขาพร้อมเลือกที่จะตายเพื่อให้เพื่อนทหารอีกคนมีชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้

‘Desmond Doss’ สนทนากับประธานาธิบดี ‘President John F. Kennedy’
ในโอกาส 100 ปี ของเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ

นอกเหนือจากเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯแล้ว Desmond Doss ยังได้รับเหรียญ ‘Bronze Star’ สำหรับความกล้าหาญด้วย Oak Leaf cluster 1 ใบ (แสดงว่าได้รับเหรียญ Bronze Star 2 เหรียญ) เหรียญ ‘Purple Hearts’ ที่มีกลุ่ม Oak Leaf cluster 2 ใบ (แสดงว่าได้รับเหรียญ Purple Hearts 3 เหรียญ) เหรียญ ‘Asiatic-Pacific Campaign’ พร้อมเหรียญ ‘Beachhead arrowhead’ (แสดงว่าได้ทำหน้าที่ในการรบ 4 ครั้ง รวมถึงการยกพลขึ้นบกภายใต้การสู้รบ) เหรียญความประพฤติดี, เหรียญ ‘American Defense Campaign’ และที่ไม่ธรรมดาคือ เหรียญซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้มอบให้กับกองพันที่ 1, กรมทหารราบที่ 30, กองทหารราบที่ 77 จากการยึดและรักษาเนินสูง Maeda เอาไว้ได้ ‘เหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ’ สร้างขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองภายใต้ประธานาธิบดี ‘Abraham Lincoln’ ในปี 1862 ในวันครบรอบ 100 ปี ในปี 1962 ผู้รับรางวัลคนอื่น ๆ ได้เลือกให้ Desmond Doss เป็นตัวแทนในพิธีที่ทำเนียบขาว ซึ่งเขามีโอกาสได้สนทนากับประธานาธิบดี ‘President John F. Kennedy’ ด้วย

ก่อนที่จะถูกปลดประจำจากกองทัพบกสหรัฐฯ ในปี 1946 Desmond เป็นวัณโรค เขาต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลนานถึง 6 ปีหลังจากนั้น เนื่องจากเมื่อช่วงสงคราม ในค่ำคืนที่หนาวเย็น ตัวเขาเปียกปอนจนทำให้นอนไม่หลับ เขาตัวสั่นในโพรงจิ้งจอกที่เต็มไปด้วยโคลนบนเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนั่นส่งผลเสียต่อสุขภาพเขา เมื่ออาการป่วยรุนแรงขึ้น ปอดซ้ายของ Desmond ต้องได้รับการผ่าตัดออกพร้อมกับกระดูกซี่โครงอีก 5 ซี่ เขารอดชีวิตมาได้ด้วยปอดข้างเดียวตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ จนกระทั่งปอดของเขาล้มเหลวเมื่ออายุได้ 87 ปี

สิบโท ‘Desmond Thomas Doss’ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2006 หลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหายใจติดขัด ร่างของเขาถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งชาติ เมือง Chattanooga มลรัฐ Tennessee

'เกาหลีเหนือ' ชักดาบ!! สั่งซื้อรถวอลโว่ 144 พันคัน แล้วไม่จ่าย 'สวีเดน' ได้แต่กลุ้ม!! เพราะเรียกเก็บหนี้ทุกปี แต่ยังไม่มีแววได้เงิน


เมื่อเกาหลีเหนือสั่งซื้อรถยนต์วอลโว่ 144 จากสวีเดน 1,000 คัน แล้วชักดาบ

สถานทูตสวีเดน ณ กรุงเปียงยาง

 

'สวีเดน' เป็นประเทศตะวันตกประเทศแรกที่เปิดสถานทูตในกรุงเปียงยางในปี ค.ศ. 1975 และยังคงเป็นประเทศเดียวที่ยังคงรักษาสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเปียงยางไว้เป็นเวลา 26 ปี และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศตะวันตกที่ยังคงมีสถานทูตในกรุงเปียงยาง 

ปัจจุบันสวีเดนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ด้านกงสุลของออสเตรเลีย แคนาดา อิตาลี กลุ่มประเทศนอร์ดิก และสหรัฐอเมริกาในเกาหลีเหนือ โดยสวีเดนมักทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ในการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือและประเทศตะวันตก และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการปรับปรุงความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา

สถานทูตเกาหลีเหนือ ณ กรุงสต็อกโฮล์ม

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1970 สวีเดนเริ่มมองว่า เกาหลีเหนือเป็นตลาดที่มั่งคั่ง บริษัทสวีเดน เช่น Volvo, ASEA, Kockums, Atlas Copco และ Alfa Laval ต่างต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์ของตนไปยังประเทศเกาหลีเหนือ และได้จัดนิทรรศการอุตสาหกรรมในกรุงเปียงยาง 

ทำให้ในช่วงทศวรรษนั้น เกาหลีเหนือนำเข้าสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงรถยนต์วอลโว่ 144 ประมาณ 1,000 คันที่สวีเดนไม่เคยได้รับเงินค่ารถเหล่านั้นเลย 

จึงเป็นที่มาว่าทำไมนักการทูตโซเวียตเรียกสิ่งนี้ว่า "การโจรกรรมรถยนต์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์" 

รถวอลโว่เหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเปียงยางจนถึงปี 2010 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารถเหล่านี้ก็มีปัญหาใหญ่ในด้านการบำรุงรักษาไว้

รถยนต์วอลโว่ 144 คันหนึ่งที่วิ่งในกรุงเปียงยาง ซึ่งเกาหลีเหนือไม่ได้ชำระเงินค่ารถจนทุกวันนี้

ทุกวันนี้เกาหลีเหนือยังคงเป็นหนี้สวีเดนอยู่จำนวน 2.2 พันล้านโครนสวีเดน อันเป็นเงินค้างจ่ายสวีเดนจากการนำเข้ารถยนต์เหล่านี้

ในบรรดาประเทศเจ้าหนี้ทั้งหมด เกาหลีเหนือเป็นหนี้สวีเดนมากที่สุด ตามมาด้วยอิรักซึ่งมีหนี้น้อยกว่าหนึ่งพันล้านโครน 

เกาหลีเหนือสั่งซื้อรถยนต์จำนวนดังกล่าวจากสวีเดน เพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือที่กำลังเติบโต แต่จนถึงปัจจุบันเกาหลีเหนือไม่เคยสนใจที่จะจ่ายเงิน และเพิกเฉยต่อใบแจ้งหนี้จากรัฐบาลสวีเดน ทำให้บิลดังกล่าวยังคงอยู่ในสถานภาพ 'ค้างชำระ'

รถยนต์วอลโว่ 144 คันหนึ่งที่ใช้ในกรุงเปียงยาง ซึ่งเกาหลีเหนือไม่ได้ชำระเงินค่ารถจนทุกวันนี้

รัฐบาลสวีเดนมีบทบาทสำคัญในการทำธุรกรรมนี้ ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ผู้ส่งออกในสวีเดนหลายรายได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตของเกาหลีเหนือและความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตอย่างต่อเนื่อง เพราะมองเห็นศักยภาพของประเทศในแถบเอเชีย และรัฐบาลสวีเดนตระหนักถึงโอกาสนี้ จึงตกลงที่จะส่งเครื่องจักรกลหนักมูลค่ากว่า 70 ล้านดอลลาร์ พร้อมด้วยรถยนต์ Volvo 144 จำนวน 1,000 คัน 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงธุรกรรมทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนทางการทูตอีกด้วย และอีกหนึ่งปีต่อมา สวีเดนก็กลายเป็นประเทศตะวันตกประเทศแรกที่เปิดสถานทูตในกรุงเปียงยาง ซึ่งในขณะนั้นเกาหลีเหนือ ก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดนี้” 

Jonathan D. Pollack นักวิชาการอาวุโสของสถาบัน Brookings อธิบายว่า “หลังสงครามเกาหลี เศรษฐกิจของพวกเขาได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ กลายเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่ใช้งานได้ และยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลืออย่างมาก แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่การเดิมพันที่เลวร้ายเช่นนี้”

รถยนต์วอลโว่ 144 คันหนึ่งที่วิ่งในกรุงเปียงยาง ซึ่งเกาหลีเหนือไม่ได้ชำระเงินค่ารถจนทุกวันนี้

รถยนต์วอลโว่ 144 ที่แข็งแกร่งและบึกบึน ถูกใช้โดยชนชั้นสูงของเกาหลีเหนือ และใช้วิ่งเป็นรถแท็กซี่ในกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ และแม้ว่าทุกวันนี้ยังมีรถวอลโว่บางคันยังคงใช้วิ่งเป็นรถแท็กซี่อยู่ แต่ว่าไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือจะจ่ายเงินคืนรัฐบาลสวีเดน

การได้พบเห็น ‘รถยนต์วอลโว่’ บนท้องถนนในกรุงเปียงยางเป็นเวลาหลายปี ทำให้ได้รับฉายาว่า 'ผีสีฟ้า' 

แม้เศรษฐกิจในประเทศเกาหลีเหนือจะถดถอยและเกิดการคว่ำบาตรระหว่างประเทศอย่างรุนแรง แต่ก็ยังมีรถหรูนำเข้าจากสหภาพโซเวียตและยุโรป และรถเลียนแบบที่เกาหลีเหนือผลิตเองบนถนนสายกว้างของกรุงเปียงยางปะปนกัน นับตั้งแต่มีการสั่งซื้อมาเกือบ 50 ปี 

จำนวนเงินที่ค้างชำระสำหรับรถวอลโว่ 1,000 คันได้เกินขีดจำกัดที่กำหนดแล้ว และดูเหมือนว่าโอกาสที่จะได้รับการชำระเงินนั้นแทบจะเป็นศูนย์ แม้ว่าทางการสวีเดนยังคงส่งใบเรียกเก็บเงินไปยังเกาหลีเหนือปีละ 2 ครั้ง โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยและภาษีอื่น ๆ ดอกเบี้ยและค่าปรับสำหรับหนี้รถยนต์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 322 ล้านดอลลาร์ในช่วง 48 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน 

แม้ว่ารัฐบาลสวีเดนจะจ่ายเงินให้กับบริษัท Volvo ผู้ผลิตรถยนต์เต็มจำนวนด้วยเงินจากกองทุนสาธารณะแล้ว แต่รัฐบาลยังคงเป็นเจ้าหนี้เกาหลีเหนือสำหรับสินค้าของสวีเดนที่ส่งออกไปยังเกาหลีเหนือ ผลกระทบทางการเงินของข้อตกลงนี้น่าตกใจ และเกาหลีเหนือไม่มีทีท่าว่าจะชำระหนี้ที่ค้างชำระสวีเดนมาเป็นเวลานานแล้วแต่อย่างใด

 

การทารุณกรรมและย่ำยี ‘สตรีญี่ปุ่น’ ของ ทหารสหรัฐฯ-ออสเตรเลีย โศกนาฏกรรมและความอัปยศอดสูบนแผ่นดินญี่ปุ่น ที่ถูก ‘ห้ามกล่าวถึง’

หลังจากฮิโรชิมาและนางาซากิ : โศกนาฏกรรมและความอัปยศอดสู
การทารุณกรรมสตรีญี่ปุ่นของทหารสหรัฐฯ และออสเตรเลีย บนแผ่นดินญี่ปุ่น

พฤติการณ์และพฤติกรรมของทหารสังกัดกองกำลังสัมพันธมิตร ในระหว่างการยึดครองญี่ปุ่นโดยกองทัพสหรัฐฯ และสัมพันธมิตร หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้แตกต่างไปจากทหารสังกัดกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เลย ด้านมืดของการยึดครองญี่ปุ่นอันเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือชาติอื่น ๆ ก็ตาม เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนในเดือนสิงหาคม 1945 ก็เริ่มเกิดการข่มขืนหมู่โดยทหารของกองกำลังยึดครอง (แม้จะมีซ่องโสเภณีมากมายก็ตาม) อาชญากรรมดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องปกติ และหลายคดีโหดร้ายเป็นอย่างยิ่ง จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต โดยศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ ‘Eiji Takemae’ ได้เขียนเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมของทหารอเมริกันในขณะที่ยึดครองญี่ปุ่นว่า…

“เรา… กองทหารรวมตัวกันเหมือนผู้พิชิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์และเดือนแรก ๆ ของการยึดครอง พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมีตั้งแต่การลักลอบค้าขายสินค้าในตลาดมืด การลักเล็กขโมยน้อย การขับรถโดยประมาท พฤติกรรมที่ไม่มีวินัย ไปจนถึงการทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายร่างกาย การลอบวางเพลิง การฆาตกรรม และการข่มขืน ความรุนแรงส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่สตรีญี่ปุ่น

เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมีการยกพลขึ้นบกของกองกำลังสัมพันธมิตร ในเมืองโยโกฮามา และประเทศจีน รวมถึงที่อื่น ๆ ทหารสัมพันธมิตรทั้งทหารบกและทหารเรือฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่ต้องรับโทษ และเกิดเหตุการณ์การปล้น การข่มขืน และการฆาตกรรม หลายครั้งหลายคราวก็มีการรายงานอย่างกว้างขวางในสื่อ (ซึ่งยังไม่ได้เซ็นเซอร์โดยกองทัพอเมริกัน) เมื่อพลร่มของสหรัฐฯ เข้าพื้นที่เมืองซัปโปโร เกิดการปล้นสะดม การข่มขืน และการทะเลาะวิวาทกันอย่างมากมายขึ้น”

พลโท ‘Robert L. Eichelberger’

การข่มขืนหมู่และการทารุณกรรมทางเพศอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ศาลทหารของกองทัพสัมพันธมิตรได้ลงโทษทหารที่ถูกจับกุมเพียงแค่ไม่กี่ราย ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกตัดสินลงโทษสถานเบา และแทบจะไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับบรรดาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเลย

ความพยายามของชาวญี่ปุ่นในการป้องกันตัวเองนั้นจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง เช่น กรณีที่พลโท ‘Robert L. Eichelberger’ บันทึกไว้ในบทบันทึกความทรงจำของเขาว่า “เมื่อชาวบ้านญี่ปุ่นในท้องถิ่นจัดตั้งกลุ่มศาลเตี้ย และตอบโต้ต่อทหารอเมริกัน กองทัพที่แปดจึงสั่งการให้หน่วยรถถังทำการปิดถนนและจับกุมหัวโจกผู้นำ ซึ่งต่อมาได้รับโทษจำคุกอย่างยาวนาน”

กองทัพอเมริกันและออสเตรเลียไม่ได้รักษาหลักนิติธรรมเลย เมื่อมีการละเมิดผู้หญิงญี่ปุ่นด้วยฝีมือทหารสังกัดกองกำลังของตนเอง อีกทั้งประชากรญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้รับอนุญาตต่อสู้ปกป้องตัวเองด้วย แต่กองกำลังยึดครองกลับสามารถปล้นสะดมและข่มขืนหญิงสาวชาวญี่ปุ่นได้ตามต้องการ โดยทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย

หนึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 1946 เมื่อทหารอเมริกันราว 50 นายเดินทางด้วยรถบรรทุก 3 คัน บุกเข้าไปยังโรงพยาบาลนากามูระ ในเขตโอโมริ และได้ข่มขืนผู้ป่วยหญิงกว่า 40 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่หญิงอีก 37 คน มีหญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนทั้งที่เพิ่งคลอดบุตรได้เพียง 2 วัน และลูกของเธอถูกโยนลงบนพื้นจนเสียชีวิต ผู้ป่วยชายที่พยายามปกป้องผู้หญิงก็ถูกสังหารด้วย สัปดาห์ต่อมา ทหารสหรัฐฯ หลายสิบคนได้ตัดสายโทรศัพท์ไปที่ตึกหนึ่งในเมืองนาโกย่า และข่มขืนผู้หญิงทุกคนที่พวกเขาสามารถจับได้ที่นั่น ซึ่งมีทั้งเด็กผู้หญิงอายุไม่เกิน 10 ขวบ ตลอดจนถึงผู้หญิงที่มีอายุไม่เกิน 55 ปี

กองกำลังออสเตรเลียในญี่ปุ่น

พฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะเฉพาะสำหรับทหารอเมริกัน แม้แต่กองกำลังออสเตรเลียก็ปฏิบัติตนในลักษณะเดียวกัน ในระหว่างที่ประจำการในญี่ปุ่น ดังที่พยานชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งได้ให้การไว้ว่า “ทันทีที่กองทหารออสเตรเลียมาถึงคูเระ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในจังหวัดฮิโรชิมะ เมื่อต้นปี 1946 พวกเขาได้ลากหญิงสาวขึ้นรถจี๊ปไปบนภูเขา และทำการข่มขืน ฉันได้ยินพวกเธอกรีดร้องขอความช่วยเหลือเกือบทุกคืน” พฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ แต่ข่าวอาชญากรรมจากกองกำลังยึดครองก็ถูกระงับการเผยแพร่อย่างรวดเร็ว

‘Allan Clifton’ นายทหารออสเตรเลียได้เล่าถึงประสบการณ์ของเขา เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศโดยทหารออสเตรเลียที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นว่า “ผมยืนอยู่ข้างเตียงในโรงพยาบาล บนเตียงนั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งนอนสลบอยู่ ผมยาวสีดำพันอยู่ในหมอนอย่างยุ่งเหยิง แพทย์และพยาบาลสองคนกำลังทำงานเพื่อช่วยชีวิตเธอ หนึ่งชั่วโมงก่อนที่เธอจะถูกทหารออสเตรเลีย 20 นาย รุมข่มขืน เราพบเธอในที่ที่พวกเขาทิ้งเธอไว้บนผืนดินรกร้าง โรงพยาบาลอยู่ในฮิโรชิมา ผู้หญิงคนนั้นเป็นคนญี่ปุ่น ทหารเป็นพวกออสเตรเลีย เสียงครวญครางและคร่ำครวญได้หยุดลงแล้ว และตอนนี้เสียงเธอก็เงียบลงแล้ว ความตึงเครียดอันทรมานบนใบหน้าของเธอคลี่คลายลง และผิวสีน้ำตาลอ่อนที่เรียบเนียนไร้ริ้วรอย เปื้อนไปด้วยคราบน้ำตา ราวกับใบหน้าของเด็กน้อยที่ร้องไห้จนหลับไป เมื่อมีการตรวจสอบก็พบว่า ทหารออสเตรเลียที่ก่ออาชญากรรมดังกล่าวในญี่ปุ่น จะได้รับโทษจำคุกในสถานเบามาก และต่อมาทหารเหล่านี้ส่วนใหญ่มักได้รับการบรรเทาโทษหรืออภัยโทษ โดยศาลออสเตรเลียในภายหลัง”

Clifton ได้เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยตัวของเขาเองว่า เมื่อศาลออสเตรเลียยกเลิกคำตัดสินของศาลทหาร โดยอ้างว่า “หลักฐานไม่เพียงพอ” แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีพยานหลายคนก็ตาม เห็นได้ชัดว่าศาลที่ดูแลกองกำลังยึดครองของฝั่งตะวันตก ได้ใช้มาตรการเพื่อปกป้องตนเองจากอาชญากรรมที่กระทำต่อชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ผู้ยึดครองชาวตะวันตกส่วนใหญ่ มองว่าเป็นเพียงการเข้าถึง ‘ความเสียหายของสงคราม’ ในขณะนั้น

เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม โดยมีการรายงานการข่มขืนในยามสงบน้อยเกินไป เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกความอับอายต่อสังคมดั้งเดิม รวมถึงการไม่ทำอะไรเลยของเจ้าหน้าที่ (การข่มขืนในทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้น เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรมีอำนาจ) จึงทำให้ตัวเลขดังกล่าวลดลงอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่สบายต่ออาชีพของตนมากขึ้น กองทัพสหรัฐฯ จึงดำเนินการเซ็นเซอร์สื่ออย่างเข้มงวด ส่งผลให้การกล่าวถึงอาชญากรรมที่ทหารสัมพันธมิตรกระทำต่อพลเรือนญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็ดขาด

‘ทหาร Gurkha’ แห่งกองทัพอังกฤษในกองกำลังยึดครองญี่ปุ่น

กองกำลังยึดครอง ออกสื่อและรหัสล่วงหน้า เซ็นเซอร์ห้ามการตีพิมพ์รายงานและสถิติทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า “ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการยึดครอง” ไม่กี่สัปดาห์แรกในการยึดครอง สื่อมวลชนญี่ปุ่นกล่าวถึงการข่มขืน และการปล้นสะดมอย่างกว้างขวางโดยทหารอเมริกัน กองกำลังที่ยึดครองตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยการเซ็นเซอร์สื่อทั้งหมด และใช้นโยบายต่อต้านการรายงานอาชญากรรมดังกล่าวเป็นศูนย์ ไม่เพียงแต่อาชญากรรมที่กระทำโดยกองกำลังตะวันตกเท่านั้น แม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ประเทศสัมพันธมิตรฝั่งตะวันตกใด ๆ ก็ตาม ถือเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเคร่งครัดในช่วงการยึดครองเป็นเวลานานกว่าหกปี

สิ่งนี้ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ลอยตัวอยู่เหนือความรับผิดชอบในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งสถานีอำนวยความสะดวก และการสนับสนุนผู้หญิงกลุ่มเปราะบางให้เข้าสู่การค้าบริการทางเพศ การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์เกี่ยวกับตลาดมืด ปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับกับความอดอยากของประชากร หรือแม้แต่การอ้างอิงถึงผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจตะวันตก การต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมทั่วเอเชีย และความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในสงครามเย็น ล้วนถูกห้ามเผยแพร่ทั้งสิ้น

หลังจากอ่านบทความทั้งหมดแล้ว
นักแปลอาวุโสจะแปลเรื่องที่ต้องเซ็นเซอร์เป็นภาษาอังกฤษและส่งต่อ

สิ่งที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ที่กำหนดขึ้น ภายใต้การยึดครองของอเมริกัน คือ มันมีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดการดำรงอยู่ของมันเอง ซึ่งหมายความว่าไม่เพียงแต่บางเรื่องจะถูกจำกัดอย่างเข้มงวดเท่านั้น แต่ยังห้ามกล่าวถึงการเซ็นเซอร์อีกด้วย

ดังที่ศาสตราจารย์ ‘Donald Keene’ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตั้งข้อสังเกตว่า “การเซ็นเซอร์ของกองทัพอเมริกันระหว่างการยึดครองนั้น น่าหงุดหงิดยิ่งกว่าการเซ็นเซอร์ของกองทัพญี่ปุ่นเสียอีก เพราะเป็นการยืนยันว่า มีการปกปิดร่องรอยของการเซ็นเซอร์ทั้งหมด” ซึ่งหมายความว่า บทความจะต้องเขียนใหม่ทั้งหมด แทนที่จะส่ง XXs สำหรับวลีที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น

สำหรับกองทัพอเมริกันไม่เพียงแต่จะต้องควบคุมข้อมูลเท่านั้น แต่ยังต้องสร้าง ‘ภาพลวงตา’ ของสื่อเสรี เมื่อมีสื่ออยู่ด้วย ในความเป็นจริง มีข้อจำกัดมากกว่าที่เคยเป็นในช่วงสงครามภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ

การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของกองเซ็นเซอร์พลเรือน (Civil Censorship Detachment : CCD) 

การก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในการเซ็นเซอร์ แม้กระทั่งการกล่าวถึงการเซ็นเซอร์ สหรัฐฯ สามารถอ้างสิทธิ์ในการยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการทำสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก ด้วยการ ‘ควบคุมสื่อ’ กองทัพอเมริกันสามารถพยายามส่งเสริมไมตรีจิตในหมู่ชาวญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันการก่ออาชญากรรมโดยทหารอเมริกันและพันธมิตร ก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่ถูกโดดเดี่ยว ละเลย จนเลือนหายไปในที่สุด

แม้ว่า ความโหดร้ายของกองทัพอเมริกันและออสเตรเลียต่อพลเรือนญี่ปุ่น จะเห็นได้อย่างชัดเจนในระหว่างการยึดครองญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกิดผลที่ตามมาในทันที โดยเฉพาะในโอกินาวา ที่มีคดีฆ่า-ข่มขืน โดยทหารสัมพันธมิตร 76 รายใน 5 ปีแรก หลังจากการถูกยึดครอง แต่ก็ไม่ได้จบลงแค่หลังจากการยกเลิกการยึดครองเท่านั้น ตัวเลขประมาณการว่า ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา มีหญิงสาวชาวโอกินาวาถูกข่มขืนไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย

และด้วยทุกวันนี้สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาททางทหารในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา และอาชญากรรมต่าง ๆ รวมถึงความรุนแรงทางเพศ ตลอดจนการฆาตกรรมพลเรือนชาวญี่ปุ่นโดยทหารอเมริกัน ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ต่อไป จนกว่าในที่สุดจะไม่มีฐานทัพอเมริกันในญี่ปุ่นเหลืออยู่อีกเลย

https://worldhistoryandevents.blogspot.com/2023/10/after-hiroshima-and-nagasaki-tragedy.html?m=1 และ https://en.wikipedia.org/wiki/Rape_during_the_occupation_of_Japan


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top