Tuesday, 21 May 2024
WeeklyColumnist

เป้าหมายกรุงเทพฯ กลไกสำคัญ ยกระดับคุณภาพชีวิต 2 พันล้านคน ใน 21 เขตเศรษฐกิจ

จากการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่ล้มเหลวในปี 2018 และ 2019 สู่การประชุมทางไกล ที่ผู้นำไม่มีโอกาสได้พบหน้าหารือ โอภาปราศรัย ทั้งระหว่างผู้นำและระหว่างผู้นำกับประชาคมนักธุรกิจของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ สู่การประชุมที่มีแรงกดดันสูงในปี 2022

ที่เกริ่นเช่นนี้เพราะ...ไม่ว่าใครจะได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปี 2022 ก็ต้องประสบกับแรงกดดันของการเป็นเจ้าภาพของการประชุมครั้งแรกที่ผู้นำจะได้มาเจอหน้ากันอีกครั้งทั้งนั้น ท่ามกลางภาวะวิกฤตทั้งจาก สงครามระหว่างรัสเซียกับพันธมิตร NATO ที่ปะทุขึ้นเป็นสงครามในยูเครน, ความพยายามของชาติมหาอำนาจในการยกระดับจากสงครามเศรษฐกิจ

อีกทั้งยังมี สงครามการค้าแบบเดิม ที่ออกมาตรการกีดกันทางการค้า ไปสู่การ Weaponized Economic Interdependency หรือการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ บริการการเงิน, การธนาคาร, การโอนย้ายเงินระหว่างประเทศ, ระบบโลจิสติกส์, ระบบประกันภัย ฯลฯ มาเป็นเครื่องมือประหัตประหารซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจจนโลกเกิดทั้งวิกฤตอาหาร, วิกฤตพลังงาน และการดำเนินนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบของระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สร้างขึ้นด้วยตนเองในอดีต จนนำไปสู่การดูดสภาพคล่อง ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ ที่ทำให้เงินทุนจำนวนมากไหลออกจากหลายเขตเศรษฐกิจ และนำไปสู่ความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน 

ยิ่งไปกว่านั่น การที่บางประเทศเลือกที่จะนำเอาประเด็นทางด้านการเมือง (หรือแม้แต่เหตุผลส่วนตัวด้านครอบครัว) เข้ามาเป็นข้ออ้างในการที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน จาก 21 เขตเศรษฐกิจเหล่านี้ ก็อาจจะสร้างความหนักใจให้กับเจ้าภาพการประชุม APEC ได้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เราสามารถเชื่อมั่นใจ ‘ประเทศไทย’ ในฐานะประเทศ และเจ้าภาพการประชุมได้ครับ เพราะไทยเรามีความแข็งแกร่งในด้านการมีน้ำใจที่ดีงาม เปิดกว้าง และรักการให้บริการ Thailand Hospitality ซึ่งเหล่านี้ เป็นหนึ่งในหลักประกันได้ในระดับหนึ่งว่า ในฐานะประธานและเจ้าภาพ เราจะให้การต้อนรับผู้แทนในทุกระดับ และคณะทำงานทุกคนที่เข้ามาประชุมในประเทศไทย ตลอดทั้งปี 2022 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีที่สุด 

หากแต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือ ‘สารัตถะ’ และการประสานงานของเจ้าภาพอย่างประเทศไทยต้องการผลักดัน ยังคงต้องเกิดขึ้นได้ ท่ามกลางความแตกแยก แม้จะไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำจากทุกเขตเศรษฐกิจร่วมกันได้ก็ตาม แต่ประเทศไทยต้องประสานงาน ดำเนินการทั้งในทางปกติ และในทางลับ เพื่อให้ในที่สุด แม้จะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็ตาม ประเทศไทยในฐานะประธานจะยังสามารถออกแถลงการณ์ของประธานในที่ประชุม ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกทั้ง 21 เขตได้ และ สารัตถะสำคัญ นั้นคือ ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ Bangkok

เป้าหมายกรุงเทพฯ คือ การต่อยอดจากโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ของประเทศไทยที่วางอยู่บนแนวคิดสำคัญคือ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ และความต้องการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs 2030) ที่ประเทศไทยต้องการเชิญชวนให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกันสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Economies) 

'Café La Habana' แห่งกรุงเม็กซิโกซิตี้ คาเฟ่อายุกว่า 70 ปี ที่คนยังนิยมจนถึงปัจจุบัน

กรุงเม็กซิโกซิตี้ (Ciudad de Mexico หรือชื่อย่อคือ CDMX) คือเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก (Mexico) ซึ่งตั้งอยู่ตอนล่างสุดของทวีปอเมริกาเหนือ (North America) แต่คนมักเข้าใจผิด คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกากลาง (Central America) เพราะมีประวัติศาสตร์ร่วมและมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับประเทศในอเมริกากลางมากกว่านั่นเอง 

นับตั้งแต่การค้นพบร่องรอยทางโบราณคดีและบันทึกทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะช่วงที่ชาติตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสเปนเข้ายึดครองตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 มาจนถึงปัจจุบันนั้น กรุงเม็กซิโกซิตี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาโดยตลอด ผ่านช่วงขาขึ้นและขาลงนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งจากสงครามที่มนุษย์ด้วยกันก่อขึ้น และจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินไหวรุนแรงหลายครั้งด้วย 

ปัจจุบันนี้กรุงเม็กซิโกซิตี้นับเป็นเมืองที่สุดแสนจะไฉไลและน่าอยู่เป็นอย่างมาก และยังถือเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอาณาเขตเมืองกินบริเวณกว้างหลายสิบตารางกิโลเมตร ประชากรในเมืองนี้และเมืองแถบปริมณฑลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติในปีค.ศ. 2022 ระบุว่ามีมากกว่า 22 ล้านคน 

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐยังได้พัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม และมีราคาค่าโดยสารที่ประชากรในเมืองเอื้อมถึง มีการจัดทำทางจักรยานโดยเฉพาะ สวนหย่อมและสวนสาธารณะมากมาย เป็นพื้นที่ส่วนรวม ผู้คนสามารถออกมาผ่อนคลายได้ ทุกวันอาทิตย์มีการปิดถนนย่านใจกลางเมืองเพื่อให้คนออกมาวิ่ง ปั่นจักรยาน พาสัตว์เลี้ยงมาเดินหรือวิ่งออกกำลังกาย และเนื่องจากตั้งอยู่ที่ความสูงราวสองพันเมตรจากระดับน้ำทะเล ดังนั้นสภาพอากาศจึงเย็นสบายทั้งปี ไม่ร้อนและไม่หนาวจนเกินไปอีกด้วย

ร้านรวง ร้านกาแฟ ร้านอาหารมากมายดาษดื่นกระจายตัวทุกมุมเมืองตามแบบฉบับเมืองใหญ่ มีหนึ่งร้านในนั้นที่อยู่ยงคงกระพันมา 70 ปี และยังคงได้รับความนิยมจนทุกวันนี้ คือคาเฟ่ลาฮาบานา (Café La Habana) เปิดดำเนินกิจการเมื่อปี 1952 ตั้งอยู่ตรงมุมซึ่งถนนบูคาเรลี (Bucareli Street) ตัดกับถนนโมราเลส (Morales Street) อันขวักไขว่

สถานที่แห่งนี้มีองค์ประกอบร่วมของพลังงานแตกต่าง อาจเรียกว่าคือสองขั้วตรงข้าม แต่ผสมกลมกลืนในที่เดียวกันได้อย่างน่าประหลาด 

หนึ่ง คือความเคลื่อนไหวว่องไวกระฉับกระเฉงของพนักงานหลายวัย ลุงผู้จัดการรับรายชื่อลูกค้าที่รออยู่หน้าร้าน แล้วประสานกับข้างในว่ามีตรงไหนว่างแล้วบ้าง บาริสต้ามือเป็นระวิงชงกาแฟตามออร์เดอร์แทบไม่ทัน คนครัวเร่งมือทำอาหารจากเตาลงจานชาม คนทำหน้าที่เสิร์ฟเทินถาดเดินกันคล่องแคล่ว ประหนึ่งพลังงานล้นหลามของวัยรุ่นไฮเปอร์คนหนึ่ง ซึ่งชีวิตกำลังเหมือนดอกไม้บานสะพรั่งและพร้อมพุ่งทะยานสู่อนาคต และแม้งานจะพัวพันยุ่งเหยิง แต่ก็สังเกตเห็นได้ว่าพนักงานทั้งหลายยังยิ้มแย้มแจ่มใส (ใต้หนากากสีดำแห่งยุคโควิดที่ใส่อยู่ก็ยังเห็นรอยยิ้มเหล่านั้นได้) พร้อมถามไถ่ลูกค้า “Todo bien?” (หมายถึงทุกอย่างโอเคไหม)

รู้จัก ‘Talgat Musabayev’ วีรบุรุษแห่งรัสเซีย-คาซัคสถาน ผู้ท่องอวกาศมากถึง 3 ครั้ง รวมระยะเวลา 341 วัน

วุฒิสมาชิก Talgat Musabayev บนสถานีอวกาศ Mir ของสหพันธรัฐ Russia

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมต้อนรับวุฒิสมาชิก Talgat Musabayev แห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan ซึ่งมาเยือนประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ จึงเกิดไอเดียอยากแชร์เรื่องราวของวุฒิสมาชิก Talgat Musabayev แห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan ขอบอกเลยว่า เรื่องราวน่าสนใจมากๆ แต่จะเป็นอย่างไร ตามไปอ่านกันครับ

วุฒิสมาชิก Talgat Amangeldyuly Musabayev เกิดเมื่อ 7 มกราคม ค.ศ. 1951 เป็นนักบินทดสอบของอดีตสหภาพโซเวียต สหพันธรัฐ Russia และสาธารณรัฐ Kazakhstan และเป็นอดีตนักบินอวกาศซึ่งได้เดินทางไปในอวกาศถึงสามครั้ง 

โดยการเดินทางไปในอวกาศสองครั้งแรกเป็นการประจำการระยะยาวบนสถานีอวกาศ Mir ของสหพันธรัฐ Russia ส่วนการบินในอวกาศครั้งที่สามเป็นภารกิจนำ Dennis Tito นักท่องเที่ยวอวกาศรายแรกของโลกไปเยี่ยมเยียนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นระยะเวลาสั้นๆ 

วุฒิสมาชิก Musabayev เกษียณจากอาชีพนักบินอวกาศในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 และในปี ค.ศ. 2007 วุฒิสมาชิก Musabayev ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ KazCosmos สำนักงานงานอวกาศแห่งชาติของสาธารณรัฐ Kazakhstan 

สามนักบินอวกาศชาว Kazakhstan

วุฒิสมาชิก Musabayev สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิศวกรการบินพลเรือน Riga (สาธารณรัฐ Latvia ในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 1974 จากนั้นในปี ค.ศ. 1983 สำเร็จการศึกษาจาก Higher Military Aviation School ใน Akhtubinsk โดยได้รับประกาศนียบัตรวิศวกรรมศาสตร์ วุฒิสมาชิก Musabayev ได้รับรางวัลมากมายหลายรางวัลในฐานะนักบินผาดโผน และได้รับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1990 ในปี ค.ศ. 1991 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนาวากาศตรี และย้ายไปประจำกลุ่มงานนักบินอวกาศของกองทัพอากาศสหภาพโซเวียต ซึ่งต่อมากลายเป็นสหพันธรัฐ Russia 

วุฒิสมาชิก Talgat Musabayev กับทีมนักบินอวกาศของภารกิจในอวกาศครั้งแรก Mir EO-16

ภารกิจในอวกาศครั้งแรกของวุฒิสมาชิก Musabayev ในฐานะสมาชิกลูกเรือของภารกิจระยะยาว Mir EO-16 เดินทางโดยยานอวกาศ Soyuz TM-19 ซึ่ง วุฒิสมาชิก Musabayev ได้รับมอบหมายให้เป็นวิศวกรการบิน ภารกิจดำเนินไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 รวมระยะเวลา ๑๒๕ วัน ๒๒ ชั่วโมง ๕๓ นาที ได้ทำ Spacewalk สองครั้ง ระยะเวลารวม ๑๑ ชั่วโมง ๗ นาที 

ต่อมาภารกิจในอวกาศครั้งที่สอง วุฒิสมาชิก Musabayev ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการของการสำรวจระยะยาว Mir EO-25 ซึ่งเดินทางโดยยานอวกาศ Soyuz TM-27 ภารกิจมีระยะเวลาตั้งแต่ 29 มกราคม ถึง 25 สิงหาคม ค.ศ. 1998 รวมระยะเวลา ๒๐๗ วัน ๑๒ ชั่วโมง ๕๑ นาที ๒ วินาที ได้ทำ Spacewalk ห้าครั้ง รวมระยะเวลา ๓๐ ชั่วโมง ๘ นาที

วุฒิสมาชิก Talgat Musabayev กับภารกิจในอวกาศครั้งที่สาม ISS EP-1

ภารกิจที่สามอันเป็นภารกิจครั้งสุดท้ายในอวกาศของวุฒิสมาชิก Musabayev คือการเป็นผู้บัญชาการของ ISS EP-1 ซึ่งเป็นภารกิจเยือนสถานีอวกาศนานาชาติ เดินทางโดยยานอวกาศ Soyuz TM-32 และกลับสู่พื้นโลกโดยยานอวกาศ Soyuz TM-31 ระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึง 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2001 รวมระยะเวลา ๗ วัน ๒๒ ชั่วโมง ๔ นาที ภารกิจเยี่ยมเยียนครั้งนี้มีความพิเศษคือ การพา Dennis Tito นักท่องอวกาศคนแรกของโลกที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองไปในอวกาศ (ค่าใช้จ่ายในขณะนั้นราว US$20,000,000 แต่ค่าใช้จ่ายในปัจจุบันวุฒิสมาชิก Musabayev คาดว่า น่าจะราว ๆ US$50,000,000) ในปี ค.ศ. 2007 วุฒิสมาชิก Musabayev ถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน ๓๐ นักบินอวกาศที่ใช้เวลาอยู่ในอวกาศมากที่สุดคือ ๓๔๑ วัน 

วุฒิสมาชิก Musabayev ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอวกาศแห่งชาติของสาธารณรัฐ Kazakhstan หรือ KazCosmos

วุฒิสมาชิก Musabayev เกษียณจากการเป็นนักบินอวกาศในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 และดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรม Zhukovsky กองทัพอากาศสหพันธรัฐ Russia และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพลตรีในเดือนกันยายน ค.ศ. 2003 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 ถึง ค.ศ. 2007 

นอกจากนี้ยังได้เป็นผู้อำนวยการของ ‘Bayterek Corp.’ ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง Kazakhstan-Russia สำหรับการสร้าง Baiterek space complex ที่ ฐานปล่อยจรวด Baikonur ต่อมา 11 เมษายน ค.ศ. 2007 วุฒิสมาชิก Musabayev ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอวกาศแห่งชาติของสาธารณรัฐ Kazakhstan หรือ KazCosmos ตามมติของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan 

วุฒิสมาชิก Musabayev ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan ด้านการบินพลเรือนและกิจกรรมอวกาศตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan ลงวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 2014 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการการบินและอวกาศของสาธารณรัฐ Kazakhstan ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan ลงวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 2014 

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2016 ตามคำสั่งของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 โดยคำสั่งของประมุขแห่งรัฐ 

ปัจจุบันวุฒิสมาชิก Musabayev ยังเป็นกรรมาธิการกิจการต่างประเทศ กลาโหม และความมั่นคงของวุฒิสภาแห่งสาธารณรัฐ Kazakhstan อีกด้วย

วุฒิสมาชิก Musabayev กับ Nursultan Nazarbayev ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐ Kazakhstan 

นอกจากนี้แล้ววุฒิสมาชิก Musabayev ยังเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชา จรวดและ เทคโนโลยีอวกาศ echnology เป็นสมาชิก : the National Academy of Sciences สาธารณรัฐ Kazakhstan, the National Engineering Academy สาธารณรัฐ Kazakhstan, the International Academy of Astronautics, the International Academy of Informatization, Tsiolkovsky Russian Cosmonautics Academy, Russian Academy of Natural Sciences

เปิดตัว 5 ผู้นำใหม่ใน APEC 2022 ครั้งแรกบนเวทีที่ทั่วโลกเฝ้าจับตา

Highlight สำคัญของการประชุม APEC ในปี 2022 ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การประชุมสุดยอดผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประชุมตลอดทั้งปีของหลากหลายคณะทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อประชากรมากกว่า 2 พันล้านคน ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี รวมทั้งการประชุมของภาคเอกชนที่จะเสนอแนะข้อเสนอต่อผู้นำในรูปแบบของ Track 2 และการสร้างความร่วมมือเพื่อเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนด้วยกันเองระหว่างภาคเอกชน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจไม่แพ้กันด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมิติที่ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตามองการประชุม APEC ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง APEC Week เดือนพฤศจิกายน 2022 ในประเทศไทย นั่นก็คือ ‘การเปิดตัวผู้นำใหม่ของโลกหลายๆ คน ที่จะเดินทางมาประชุมสุดยอดผู้นำ APEC เป็นครั้งแรก’ 

โดยท่าทีของผู้นำใหม่เหล่านี้ในเวทีการประชุมหลัก การประชุมย่อย และการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชน จะเป็นอีกมิติที่ทั่วโลกจับตา โดยผู้นำใหม่เหล่านี้ได้แก่…

1. Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพึ่งจะเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคแรงงาน และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในสมัยของ อดีตนายกรัฐมนตรี Kevin Rudd ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ออสเตรเลียนำพาประเทศออกจากความร่วมมือ Quadrilateral Security Dialogue (QSD) หรือ The Quad ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ และเขายังต้องเข้ามาสะสางปัญหาความไม่พอใจของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ที่ไม่พอใจอย่างยิ่งเมื่อ อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Scott Morrison นำพาประเทศไปสู่การติดอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้ความร่วมมือ AUKUS นโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ ที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัมพันธ์กับความมั่นคง จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตา


2. Gabriel Boric ประธานาธิบดีของประเทศชิลี ที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นประธานาธิบดีจากกลุ่มแนวคิดซ้ายจัดรายแรกและรายใหม่ของประเทศ ภายหลังจากที่ประเทศชิลีมีอดีตประธานาธิบดี 2 ท่าน คือ Michelle Bachelet (ปนวคิดกลาง-ซ้าย) และ Sebastián Piñera (แนวคิดอนุรักษ์นิยม) ที่หมุนเวียนผลัดกันขึ้นมาผูกขาดตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2006-2022 จนนำไปสู่การประท้วงทางการเมืองที่ใหญ่โตรุนแรงต่อเนื่องตลอดปี 2019-2022 เพื่อขับไล่ ปธน. Sebastián Piñera โดยคาดการณ์ว่าในการประท้วงต่อเนื่องนี้ มีผู้ออกมาร่วมชุมนุมมากกว่า 3.7 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บเรือนหมื่น และถูกคุมขังกว่า 28,000 คน ชิลี คือตลาดที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นประเทศสมาชิกกลุ่ม OECD ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี แบบปรับค่าเสมอภาคของค่าเงิน (Per Capita GDP (PPP)) ที่สูงที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ เป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง 

3. John Lee หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนที่ Carrie Lam เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2022 แน่นอนว่า เขาคือผู้นำสูงสุดของฮ่องกงที่ขึ้นดำรงตำแหน่งหลังเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงต่อเนื่อง และเป็นผู้นำคนแรกภายหลังจากที่ฮ่องกงมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง รวมทั้งในการเลือกตั้งที่ชนะเลิศและได้รับการดำรงตำแหน่งจากคณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ยังมีเครื่องหมายคำถามมากมาย เพราะเขาคือตัวเลือกเพียงตัวเลือกเดียว เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบประวัติและได้รับการรับรองจากรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่งว่าเป็นผู้รักชาติ ดังนั้นชะตากรรมของพื้นที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกคือสิ่งที่ทุกคนจับตาดูจากการดำเนินนโยบายของเขา

4. Yoon Suk-yeol ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ซึ่งพึ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 10 พฤษภาคม 2022 ท่ามกลางเสียงครหาที่ว่า การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2022 คือการเลือกตั้งเพื่อเลือกตัวแทนที่ย่ำแย่น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากตัวแทนดั้งเดิมที่เป็นที่คาดหมายและวางตัวของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่ของเกาหลีในเวลานั้นต่างก็เผชิญหน้ากับวิบากต่างๆ จนไม่สามารถลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งด้วยกันทั้งสิ้น และผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ยังทำให้มีเครื่องหมายคำถามเช่นกัน เนื่องจาก Yoon Suk-yeol เอาชนะ Lee Jae-myung ด้วยสัดส่วนคะแนนเพียง 0.73% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิกัน 77.1% รวมทั้งคำถามอีกมากมายที่คนเกาหลีถามถึงในมิติภาวะผู้นำ ทั้งที่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี และความขัดแย้งระหว่างจีน และสหรัฐ เป็นประเด็นสำคัญที่คนเกาหลีห่วงกังวล

‘Bacchus Ladies’ โสเภณีรุ่นยายในเกาหลีใต้ สะท้อน ‘ความเหลื่อมล้ำ-ปัญหาสังคม’ ที่ยังไม่ได้สะสาง

Bacchus Ladies โสเภณีหญิงชราในเกาหลีใต้

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่น่าสลดใจในเกาหลีใต้คือ เหตุการณ์เหยียบกันตายในงาน Halloween ในย่าน ‘อิแทวอน’ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์นี้ทุกท่านด้วย 

ทั้งนี้ ด้วยภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ที่เราท่านเห็นกันในปัจจุบันคือ เป็นประเทศที่เจริญแล้ว อาคารบ้านเรือนสะอาด และทันสมัย ผู้คนแลดูมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว แต่ในความจริงกลับปรากฏว่า ในเกาหลีใต้ยังมี ‘Bacchus Ladies’ (โสเภณีหญิงชรา) อยู่

ในปี ค.ศ. 2020 อัตราความยากจนสัมพัทธ์ (Relative poverty rate  ซึ่งเป็นวิธีการวัดความยากจนโดยใช้การเปรียบเทียบ มาตรฐานการดำรงชีวิตของครัวเรือนกับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของสังคมโดยเฉลี่ย) ในเกาหลีใต้อยู่ที่ประมาณ 15.3% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ค.ศ. 2019) อัตราความยากจนสัมพัทธ์ซึ่งเป็นส่วนแบ่งของผู้ที่อาศัยอยู่โดยมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึงครึ่งของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยังค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ อัตราความยากจนสัมพัทธ์ในผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ยังคงเพิ่มขึ้น ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2021) ประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปมีสัดส่วนประมาณ 16.5% ของประชากรเกาหลีใต้ทั้งหมด โดยคาดว่าเกาหลีใต้จะกลายเป็นสังคม ‘สูงวัย’ ในปี ค.ศ. 2025

โดยผู้ที่มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุจะดีขึ้นแต่ก็เพียงเล็กน้อย เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรสูงอายุยังอยู่ในเกณฑ์ของความยากจนสัมพัทธ์ ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (the Organization for Economic Co-operation and Development : OECD)

เกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดใน OECD โดยมีผู้เสียชีวิตราว ๑๓,๐๐๐ คนในปี ค.ศ. 2020 อัตราการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุนั้นสูงเป็นพิเศษ ในปี ค.ศ. 2020 ประชากรชายสูงอายุที่มีอายุ ๘๐ ปีขึ้นไปมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด โดยมีอัตราผู้เสียชีวิต ๑๑๘ รายต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายก็มีความซับซ้อน 

ทว่าในการสำรวจในปี ค.ศ. 2020 ที่จัดทำขึ้นในหมู่ผู้ที่มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป ปัญหาทางการเงินถูกอ้างว่าเป็นสาเหตุอันดับสองสำหรับความคิดในการฆ่าตัวตายของพวกเขา รองลงมาจากปัญหาสุขภาพ

ชายสูงอายุมักมาร่วมตัวสังสรรค์กันในสวนสาธารณะ Jongmyo ในกรุงโซล

จากปัญหาที่กล่าวมา จึงทำให้ในเกาหลีใต้ มีอาชีพที่เรียกว่า ‘Bacchus Ladies’ (โสเภณีหญิงชรา) ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงในวัยตั้งแต่ ๕๐ ขึ้นไปกระทั่งบางส่วนอายุมากถึง ๘๐ ปี ที่ชักชวนชายในสวนสาธารณะหรือพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ของกรุงโซล เพื่อขายบริการทางเพศใน Motel ที่อยู่ใกล้เคียงในราคาประมาณ 20,000 ถึง 30,000 วอน ($ 18–26 USD ราว ๗๐๐-๙๐๐ บาท) หรือน้อยกว่านั้นหากชายคนนั้นเป็นลูกค้าประจำ 

โดยเหล่า ‘Bacchus Ladies’ จะแฝงอาชีพขายบริการด้วยการขายเครื่องดื่มให้พลังงาน Bacchus-F ตามสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นที่นิยมของชายสูงอายุซึ่งกลายมาเป็นลูกค้าของพวกเขา แต่ผู้ชายอายุน้อยกว่าอาทิ ในวัย ๒๐ - ๔๐ ปี ส่วนหนึ่งก็กลายมาเป็นลูกค้าประจำในจำนวนที่มากขึ้นเช่นกัน (ดร.Lee Ho-Sun นักวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ระบุว่า มีหญิงประมาณ ๔๐๐ คนทำงานลักษณะนี้ในสวนสาธารณะ Jongmyo ในกรุงโซล)

การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 หรือที่รู้จักในชื่อปาฏิหาริย์บนแม่น้ำ Han (the Miracle on the Han River)

เชื่อกันว่าปรากฏการณ์ ‘Bacchus Ladies’ เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการเงินในเอเชียในปี ค.ศ. 1997 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปัญหาทางการเงินมากที่สุด 

ซึ่งตามปกติแล้วในสังคมขงจื๊อตามประเพณีของเกาหลีใต้ พ่อแม่ผู้สูงอายุจะได้รับความนับถืออย่างสูง และเมื่ออยู่ในวัยชราสามารถพึ่งพาบุตรหลานของตนในการดูแล โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ปาฏิหาริย์บนแม่น้ำ’ Han (the Miracle on the Han River) นำไปสู่การถอนรากถอนโคนวัฒนธรรมนี้ในหมู่ชาวเกาหลีใต้ที่อายุน้อย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นในสังคมและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่ตามมาอย่างรวดเร็ว 

ส่งผลให้อัตราความยากจนของผู้หญิงเกาหลีใต้อายุเกิน ๖๕ ปีอยู่ที่ 47.2% ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 76.6% สำหรับหญิงสูงอายุที่โสด เงินบำนาญของรัฐที่จัดทำโดยระบบสวัสดิการของเกาหลีใต้มักไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในวัยชรา 

Bacchus-F เครื่องดื่มชูกำลังยอดนิยมในเกาหลีใต้

อีกทั้ง วัฒนธรรมของเกาหลีใต้ที่ถูกครอบงำโดยผู้ชายมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ จนถึงยุคปัจจุบันก็ยังคงอยู่ นั่นจึงหมายความว่า ผู้หญิงที่มีอายุมากจำนวนมากจึงไม่มีเงินออมหรือเงินบำนาญส่วนตัว เพราะในวัยเยาว์พวกเธอไม่ได้รับการศึกษา และขาดโอกาสในการทำงานที่เท่าเทียมกันกับชาย 

ศาสตราจารย์ Lee Ho-Sun จากมหาวิทยาลัย Korea Soongsil Cyber ​​ในกรุงโซลได้ทำการวิจัย และพบว่า ผู้หญิงจำนวนมากที่กลายเป็น ‘Bacchus Ladies’ เข้ามามีส่วนกับการค้าประเวณีในช่วงปีแรก ๆ จากการทำงานในบาร์คาราโอเกะและโรงน้ำชา แต่การกลับไปค้าประเวณีอีกในปีต่อ ๆ มา อันมาเนื่องจากปัญหาการเงินและแรงกดดันอื่นๆ 

ในตอนแรก ‘Bacchus Ladies’ จะหาเลี้ยงชีพด้วยการขาย Bacchus-F ซึ่งเป็นเครื่องดื่มชูกำลังยอดนิยมในเกาหลีใต้ ซึ่งขายให้กับชายสูงอายุที่ไปมักร่วมสังสรรค์กันตามสวนสาธารณะและพลาซ่าในกรุงโซล ในที่สุด ผู้ชายเหล่านี้หลายคนก็กลายเป็นลูกค้าหลักของพวกเธอภายหลังจากเปลี่ยนอาชีพมาเป็นโสเภณี

แม้ว่า การค้าประเวณีในเกาหลีใต้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และตำรวจก็ทำการตรวจตราลาดตระเวนในพื้นที่ที่มี ‘Bacchus Ladies’ แวะเวียนมาขายบริการอยู่เสมอ โดยหลัก ๆ แล้วอยู่ในเขต Jongno ทางตอนเหนือของกรุงโซล ตำรวจนครบาลแห่งกรุงโซลได้ดำเนินการปราบปรามกลุ่ม ‘Bacchus Ladies’ อยู่เป็นระยะๆ แต่หญิงที่ถูกจับกุมมักจะได้รับเพียงคำเตือนหรือถูกปรับเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย มีหญิง ๓๓ คน รวมทั้งหญิงชราวัย ๘๔ ปีหนึ่งคน ถูกจับโดยเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามในช่วงต้นปี ค.ศ. 2015 

หลังจากการกวาดล้างจับกุมทำให้จำนวนคนงานของ ‘Bacchus Ladies’ ลดลงเหลือประมาณ ๒๐๐ คน ตำรวจท้องที่เชื่อว่า ปัญหา ‘Bacchus Ladies’ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปราบปราม และนโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

‘Bacchus Ladies’ ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections : STIs) ในกลุ่มผู้สูงอายุชาวเกาหลีใต้ สาเหตุหลักมาจากการใช้สารเพิ่มการแข็งตัวของอวัยวะเพศซึ่งมักถูกฉีดเข้าเส้นเลือดของลูกค้าชายสูงอายุของ Bacchus Ladies แต่เข็มฉีดยาอาจถูกนำมาใช้ซ้ำมากถึง ๑๐ ถึง ๒๐ ครั้ง จากการสำรวจในพื้นที่ของ Bacchus Ladies ในปี ค.ศ. 2014 พบว่า 40% ของชายสูงอายุที่เป็นลูกค้า ‘Bacchus Ladies’ ติดเชื้อ ในขณะที่ยังไม่ได้ทำการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุดบางโรค ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเสนอชั้นเรียนเพศศึกษาให้กับผู้สูงอายุ

ระบบประกันสังคมของเกาหลีให้ความช่วยเหลือสาธารณะและประกันสังคมสำหรับพลเมืองของเกาหลีใต้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพ มีชีวิตที่ดีงาม รัฐบาลได้ดำเนินโครงการประกันสังคมที่หลากหลายเพื่อสร้างมาตรฐานการครองชีพขั้นพื้นฐาน และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมของพลเมืองทุกคน

ชาวออฟฟิศควรรู้!! 3 ท่าโยคะง่ายๆ ทำได้ระหว่างวัน ใช้เวลาน้อย - ลดอาการ ‘ปวดเมื่อย’

เนื่องจากช่วงนี้ได้มีการประกาศการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) แล้ว ส่งผลให้หลายออฟฟิศประกาศยกเลิกการอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้าน (work from home) และกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันตามปกติ

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อมรับมือกับการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง วันนี้จึงขอเสนอการทำ ‘Office yoga’ หรือโยคะง่ายๆ ที่สามารถทำได้ในที่ทำงาน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดอาการปวดเมื่อยที่เกิดจากการทำงานนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบทได้

Office yoga หรือโยคะง่ายๆ ที่สามารถทำได้ในที่ทำงาน สามารถทำได้ทุกเวลาและใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เช่น เวลาพักเที่ยง หรือ ช่วงเวลาว่างก่อนเข้าประชุม นอกจากช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อแล้วยังช่วยให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างเป็นปกติด้วย เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ส่วนท่าโยคะที่ควรใช้นั้นจะมีท่าแบบไหนบ้าง มาดูกัน…

1.) ท่าพรหมมุทรา (ท่าหมุนคอ) ช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อรอบคอและบ่า สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
(1) ขณะนั่งเก้าอี้ หลังพิงพนักด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย
(2) หมุนคอ หันศีรษะไปทางซ้ายช้าๆ จนกระทั่งคางอยู่เหนือไหล่ซ้ายจนรู้สึกตึงมากที่สุด กลั้นหายใจสักครู่แล้วหายใจออกช้าๆพร้อมคืนศีรษะกลับมาที่ท่าเริ่มต้น
(3) หมุนคอ หันศีรษะไปทางขวาช้าๆ จนกระทั่งคางอยู่เหนือไหล่ขวาจนรู้สึกตึงมากที่สุด กลั้นหายใจสักครู่แล้วหายใจออกช้าๆพร้อมคืนศีรษะกลับมาที่ท่าเริ่มต้น
(4) เงยศีรษะขึ้น ยกคางขึ้นจนรู้สึกตึงมากที่สุด กลั้นหายใจสักครู่แล้วหายใจออกช้าๆพร้อมคืนศีรษะกลับมาที่ท่าเริ่มต้น
(5) ก้มศีรษะลง ให้คางจรดที่ทรวงอกจนรู้สึกตึงมากที่สุด กลั้นหายใจสักครู่แล้วหายใจออกช้าๆพร้อมคืนศีรษะกลับมาที่ท่าเริ่มต้น
(6) ทำซ้ำประมาณ 3-5 รอบ ห้ามยกไหล่ขณะทำและระวังอย่าให้เกิดความเจ็บปวด
  

2.) ท่าวฤกษ์ชาซัน (ท่าต้นไม้) ช่วยฝึกการทรงท่าของกล้ามเนื้อแนวกลางลำตัวและกระตุ้นกล้ามเนื้อขา สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
(1) ในท่ายืนตรงและถอดรองเท้า
(2) ยกเท้าขวาขึ้นยันกับต้นขาด้านในข้างซ้ายให้แนบชิดมากที่สุด
(3) พยายามทรงตัวให้มั่นคงด้วยการยืนบนขาข้างเดียว 
(4) พนมมือทั้ง 2 ข้างไว้ที่หน้าอก หายใจเข้าและหายใจออก 3-5 ครั้ง ลดขาและวางมือลง
(5) เปลี่ยนสลับทำอีกข้างอย่างช้าๆ
(6) หากทรงตัวไม่มั่นคงให้ใช้มือข้างหนึ่งจับที่โต๊ะหรือเก้าอี้ได้

3.) ท่าภาวตะซัน (ท่าภูเขา) ช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อคอ, ไหล่และกล้ามเนื้อที่มีส่วนช่วยการหายใจ สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
(1) ขณะนั่งเก้าอี้ หลังพิงพนักด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย
(2) ยกมือทั้ง 2 ขึ้นพนมมือเหนือศีรษะ 
(3) หายใจเข้าช้าๆ พร้อมกับเหยียดแขนขึ้นให้สุดจนรู้สึกตึงมากที่สุด กลั้นหายใจสักครู่แล้วหายใจออกช้าๆพร้อมลดแขนลงวางไว้เหนือศีรษะในท่าเริ่มต้น
(4) ทำซ้ำประมาณ 3-5 รอบ ห้ามยกไหล่ขณะทำและระวังอย่าให้เกิดความเจ็บปวด

สิ่งสำคัญของการทำ Office yoga หรือโยคะง่ายๆ ที่สามารถทำได้ในที่ทำงานคือ ห้ามกลั้นหายใจ ขณะทำ ควรหายใจลึกๆ ช้าๆ ให้เป็นจังหวะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหว และหากเกิดความเจ็บปวดมากขึ้นให้หยุดทำทันที 

พ่อแม่ต้องรู้!! ‘เลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์’ ส่งผลร้ายแรง ลูกขาดความมั่นใจ - ความสัมพันธ์ครอบครัวย่ำแย่

ระยะนี้มีข่าวเกี่ยวกับการแสดงออกอย่างไม่ค่อยเหมาะสมจากผู้คนในวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งได้มีการโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทาง ผู้เขียนมั่นใจว่า ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการ ‘อบรมเลี้ยงดู’ และการไม่เข้าอกเข้าใจกันระหว่างพ่อ-แม่และลูกๆ 

ตัวอย่างเช่น บางคนไม่ได้ชอบวิชาชีพที่เล่าเรียนเลย แต่ก็ต้องตามใจ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง คุณครู ฯลฯ อดทนเล่าเรียนด้วยความไม่ชอบ เมื่อจบมาแล้วก็ต้องอดทนประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ทั้งที่ใจไม่รัก และไม่ชอบเลย แทนที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสิ่งที่ตนชอบ กลับต้องมาทนทุกข์ทรมานกับงานที่ตนเองไม่ได้รักชอบเลย 

ซึ่ง พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ต่างก็นึกเอาเองว่า เป็นความปรารถนาดีต่อลูกต่อหลาน แต่จริง ๆ แล้วผู้ที่ต้องอดทนทำและอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบก็ไม่ต่างจากการตกนรกทั้งเป็น จึงทำให้เกิดการแสดงออกดังที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ บ่อยครั้ง มากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่รู้ว่าจะหมดไปจากสังคมเมื่อไหร่

พฤติกรรมเช่นนั้นของพ่อแม่น่าจะตรงกับคำว่า ‘การเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์’ หมายถึงการที่ พ่อ แม่ ผู้ปกครองเข้ามีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตของลูกมากจนเกินไป จากการที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองเฝ้าดูลูกอยู่ใกล้ ๆ เหมือนกับการที่เฮลิคอปเตอร์ลอยตัวนิ่ง ๆ อยู่บนอากาศ และจะโฉบลงมาเพื่อช่วยลูกในสัญญาณแรกของปัญหาที่ลูกเผชิญ 

วลีนี้ปรากฏครั้งแรกในปี ค.ศ. 1969 ในหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่นของ Dr. Haim G. Ginott ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 2000 การเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์กลายเป็นวิธีที่นิยมในการอธิบายลักษณะการเลี้ยงลูกแบบนี้ และในวันนี้ การวิจัยได้เปิดเผยถึงผลกระทบของการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์แล้ว

นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์ยังทำให้เกิดคำว่า ‘พ่อ-แม่แบบเครื่องตัดหญ้า (lawnmower parents)’ และ ‘พ่อ-แม่แบบเครื่องกวาดหิมะ (snowplow parents)’ อีกด้วย 

พ่อ-แม่แบบดังกล่าวไม่เพียงแต่บินโฉบเท่านั้น แต่ยังทำการ ตัด กวาด หรือไถสิ่งกีดขวางใด ๆ ในเส้นทางชีวิตของเด็ก ๆ หรือวัยรุ่นด้วย ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังคงทำพฤติกรรมแบบนี้จากระยะไกลเมื่อลูกวัยรุ่นอยู่ในมหาวิทยาลัยอีกด้วย 

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์คือ เด็ก ๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ทำความรู้จักกับโลกด้วยตัวเอง และนั่นอาจส่งผลเสียต่ออารมณ์ และทำให้สุขภาพจิตของเด็ก ๆ เป็นไปในทางลบ

ลักษณะของผู้ปกครองที่เลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์ มักจะไม่ได้ตระหนักว่า ตัวของพวกเขากำลังโฉบอยู่เหนือลูก ๆ ของพวกเขา 

ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ตระหนักว่าบุตรหลานของตนอาจได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์ 

และนี่คือตัวอย่างการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์บางส่วนที่บ่งชี้ว่าผู้ปกครองได้เข้ามาปกป้องหรือยุ่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของวัยรุ่นมากเกินไป 

- ไม่อนุญาตให้วัยรุ่นทำการเลือกทำอะไรที่เหมาะกับวัย
- ทำความสะอาดห้องของวัยรุ่น
- ก้าวเข้าสู่ความเกี่ยวข้องในการเจรจาข้อขัดแย้งระหว่างวัยรุ่นกับเพื่อน
- ดูแลการบ้านและโครงการโรงเรียนของลูก ๆ ที่เป็นนักเรียนมัธยมปลาย
- ตรวจสอบอาหารและการออกกำลังกายของวัยรุ่น
- ส่งข้อความหลายอันในแต่ละวันถึงลูก ๆ ที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว
- แทรกแซงชีวิตของวัยรุ่นเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาล้มเหลวในงานหรือความพยายามอื่น ๆ

ผลกระทบของการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์ต่อเด็กและวัยรุ่นนั้นไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะหากมองดูดีๆ แล้ว พ่อแม่เหล่านี้มักจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเอาใจใส่ลูก ๆ ดังนั้นอาจบอกได้ว่าการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้ปกครองที่อบอุ่นและให้การสนับสนุน ซึ่งรวมถึงการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนทางอารมณ์ และการเปิดกว้างระหว่างพ่อ-แม่และลูก

สตรีผู้ทรงอิทธิพล!! รู้จัก ‘Valentina Matviyenko’ หญิงเหล็กแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย สตรีผู้ได้รับฉายา ‘สตรี...ผู้เป็นมือขวาของประธานาธิบดีปูติน’

หากเอ่ยถึงประเทศรัสเซีย ทุกคนต้องนึกถึงหน้าตาของประธานาธิบดีปูตินเป็นแน่ เพราะชายผู้นี้ถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลของโลกใบนี้ แต่รู้หรือไม่ว่ามีผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนสนิทของประธานาธิบดีปูตินและมีอิทธิพลมากๆ ในรัฐเซีย ถ้าอยากรู้ว่าเธอเป็นใคร…ตามอ่านมาได้เลย

สาเหตุที่ทำให้ Valentina Matviyenko เป็นหญิงเหล็ก...สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เพราะเธอเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี Vladimir Putin มายาวนานมาก จึงเป็นสตรีที่ประธานาธิบดีปูตินไว้วางใจมากที่สุด โดยเธอดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาสมาพันธรัฐแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซีย และบรรดาสื่อตะวันตกได้ให้ฉายาเธอว่า ‘สตรี...ผู้เป็นมือขวาของประธานาธิบดี Putin’

Sergey Matviyenko บุตรชายคนเดียวของ Valentina Matviyenko

Valentina Matviyenko เกิดเมื่อ 7 เมษายน ค.ศ. 1949 เกิดที่เมือง Shepetivka เขต Khmelnytskyi ของ ยูเครนตะวันตก สหภาพโซเวียต (ปัจจุบันอยู่ในประเทศ Ukraine) Valentina สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเคมีและเภสัชแห่งเลนินกราด ในปี ค.ศ. 1972 ที่ซึ่งเธอได้พบกับสามีของเธอ Vladimir Vasilyevich Matviyenko พวกเขาแต่งงาน และมี Sergey บุตรชายคนเดียวในปี ค.ศ. 1973 

Valentina Matviyenko เริ่มงานทางการเมืองของเธอในช่วงทศวรรษ 1980 ในนครเลนินกราด (ปัจจุบันคือ นคร Saint Petersburg) โดยดำรงตำแหน่งบริหารหลายตำแหน่งของ Komsomol (องค์กรเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต) จนถึงปี ค.ศ. 1984 เธอกลายเป็นเลขาธิการคนแรกของพรรคคอมมิวนิสต์เขต  Krasnogvardeysky ของนครแห่งนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 ถึง 1986 

Valentina Matviyenko กับ Guido de Marco อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ Malta

ในปี ค.ศ. 1990 เธอได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครรัฐทูตรัสเซียประจำมอลตา (ค.ศ. 1991-1995) และกรีซ (ค.ศ. 1997-1998) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ถึง 2003 เธอเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านสวัสดิการ และดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนประธานาธิบดีสำหรับเขตสหพันธรัฐทางตะวันตกเฉียงเหนือ ในปี ค.ศ. 2003 ด้วยความที่เธอเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับประธานาธิบดี Vladimir Putin ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ทำให้เธอได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าการนคร Saint Petersburg อันเป็นบ้านเกิดของประธานาธิบดีปูติน

Valentina Matviyenko ขณะเป็นผู้ว่าการหญิงคนแรกของนคร Saint Petersburg กับ Jacques Chirac อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ Gerhard Schroeder อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในพิธีเฉลิมฉลองครบ ๓๐๐ ปีของนคร Saint Petersburg เมื่อปี ค.ศ. 2003

Valentina กลายเป็นผู้ว่าการหญิงคนแรกของนคร Saint Petersburg ตั้งแต่เธอเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ว่าการ เงินภาษีจำนวนมากถูกโอนจากงบประมาณของรัฐบาลกลางไปยังงบประมาณท้องถิ่น และทำให้เศรษฐกิจของนคร Saint Petersburg เฟื่องฟู ทำให้เกิดการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนทั้งมาตรฐานการครองชีพในนคร Saint Petersburg ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้เธอยังสามารถทำให้ระดับรายได้เฉลี่ยของประชากรใกล้เคียงกับประชากรในกรุง Moscow และเหนือกว่าเมืองสำคัญอื่น ๆ ของสหพันธรัฐรัสเซีย

เขื่อน Saint Petersburg ซึ่งสร้างแล้วเสร็จในยุคที่ Valentina Matviyenko ผู้ว่าการฯ 
โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันอุทกภัยซ้ำซากของนคร Saint Petersburg

ผลงานในการพัฒนานคร Saint Petersburg ของเธอทำให้นครแห่งนี้มีความโดดเด่นเพิ่มมากขึ้น โดยมีการย้ายศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐรัสเซียจากกรุง Moscow ในปี ค.ศ. 2008 เธอได้ทำการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากทั้งในด้านที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างถนนวงแหวน Saint Petersburg ซึ่งรวมถึง สะพานใหญ่ Obukhovsky (สะพานข้ามแม่น้ำ Neva เพียงแห่งเดียวในนครแห่งนี้) สร้างเขื่อน Saint Petersburg จนแล้วเสร็จ โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันอุทกภัยซ้ำซากของนคร Saint Petersburg 

เธอเปิดใช้เส้นทางรถไฟใต้ดินสาย 5 ของรถไฟใต้ดินของนคร Saint Petersburg และเริ่มต้นการถมที่ดินในบริเวณ Neva Bay สำหรับสร้างโครงการพัฒนาริมน้ำแห่งใหม่ของนครแห่งนี้ โดยเป็นโครงการพัฒนาริมน้ำที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งมีท่าเรือโดยสารของ St. Petersburg อยู่ด้วย

สถานีรถไฟใต้ดิน Obvodny ของรถไฟใต้ดินสาย Frunzensko–Primorskaya ของนคร Saint Petersburg

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายแห่งถูกดึงดูดไปยังนคร Saint Petersburg และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึง Toyota, General Motors, Nissan, Hyundai Motor, Suzuki, Magna International, Scania และ MAN SE (ทั้งหมดมีโรงงานอยู่ในเขตอุตสาหกรรม Shushary) ส่งผลให้นคร Saint Petersburg กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญของสหพันธรัฐรัสเซีย 

การพัฒนาที่สำคัญของ Valentina ในฐานะของผู้ว่าการนคร Saint Petersburg อีกด้านหนึ่งคือ การท่องเที่ยว ภายในปี ค.ศ. 2010 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนคร Saint Petersburg เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าและสูงถึง 5.2 ล้านคน ซึ่งทำให้นคร Saint Petersburg อยู่ในกลุ่มศูนย์กลางการท่องเที่ยวห้าอันดับแรกของยุโรป

Valentina Matviyenko ประธานสภาสมาพันธรัฐแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซีย กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2011 ไม่นานหลังจากสร้างเขื่อน Saint Petersburg และถนนวงแหวน Saint Petersburg แล้วเสร็จ Valentina Matviyenko ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการนคร Saint Petersburg โดย Georgy Poltavchenko ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการตำแหน่งผู้ว่าการนคร Saint Petersburg แทนเธอ 

เธอได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี Dmitry Medvedev ให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานสภาสมาพันธรัฐแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซีย (วุฒิสภาของสหพันธรัฐรัสเซีย) โดยที่ Sergey Mironov ประธานคนก่อนของสภาสมาพันธรัฐแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซียถูกถอดถอนในเดือนพฤษภาคม Valentina ในฐานะสมาชิกของพรรค United Russia Party ของประธานาธิบดีปูติน ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 2011 เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาสมาพันธรัฐแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซีย ด้วยคะแนนเสียง 140 เสียง โดยงดออกเสียงหนึ่งครั้ง และไม่มีเสียงคัดค้าน โดยเป็นประธานที่ได้รับคะแนนจากการเลือกตั้งสูงสุดเป็นอันดับสามของประเทศ

Valentina Matviyenko ประธานสภาสมาพันธรัฐแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย
รับเครื่องอิสริยาภรณ์จากประธานาธิบดี Vladimir Putin แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

เนื่องจากบทบาทของเธอในการลงประชามติเกี่ยวกับสถานะของดินแดนไครเมีย Valentina จึงกลายเป็นหนึ่งในบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่ถูกคว่ำบาตรจากประธานาธิบดี Barak Obama แห่งสหรัฐอเมริกา มาตรการคว่ำบาตรอายัดทรัพย์สินของเธอในสหรัฐอเมริกา และห้ามไม่ให้เธอเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา 

บทสรุป 3 การประชุมต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน ‘สุดยอดผู้นำอาเซียน - G20 - APEC’

ตลอด 2 สัปดาห์ที่สายตาของคนทั่วโลกได้เฝ้าติดตาม 3 การประชุมต่อเนื่องที่เกิดขึ้น ณ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…

- การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
- การประชุมเขตเศรษฐกิจ G-20 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
- และ การประชุมสุดยอดความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ณ กรุงเทพมหานคร

การประชุมทั้ง 3 ถือเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งใหญ่รอบสุดท้ายก่อนจบปี 2022

แม้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน จะยังไม่ได้มีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการบริหารจัดการกับปัญหาทางการเมืองภายในของประเทศเมียนมา หากแต่ก็มีข่าวน่ายินดี ที่ผู้นำอาเซียนมีฉันทามติที่จะเริ่มต้นกระบวนการรับ ประเทศติมอร์ตะวันออก เข้าเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน ลำดับที่ 11 ถึงแม้ว่ากระบวนการจนกว่า ติมอร์ตะวันออก จะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ยังคงต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยที่สุด กระบวนการก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และนั่นเป็นหลักประกันว่า ประชาคมอาเซียน ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็งในห้วงเวลาที่ดุลอำนาจทั้งภายในประเทศสมาชิก ในภูมิภาค และในเวทีโลกกำลังเปลี่ยนแปลง

ต่อมาการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ถึงแม้จะไม่สามารถแสวงหาแถลงการณ์ร่วมได้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างประเทศคู่กรณีหลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติการเมือง-ความมั่นคง ต่อกรณียูเครน และมิติเศรษฐกิจ รวมทั้งการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่ผู้นำหลากหลายประเทศมีความห่วงกังวล ท่ามกลางสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี แต่อย่างน้อยที่สุด เวที EAS ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำของมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลทางความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้เปิดใจพูดคุยกัน 

ไม่ว่าจะเป็น Sergey Lavrov รมต.ต่างประเทศของรัสเซีย ที่ได้เปิดใจวิพากษ์สหรัฐฯ ที่ดำเนินนโยบายในการสร้างภาพลบให้กับจีน และรัสเซียในมิติเศรษฐกิจ ในขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐ Joe Biden ก็ได้แสดงข้อห่วงกังวลต่อจีนในมิติที่ต้องการขยายอิทธิพลเข้าครอบงำอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น Fumio Kishida ที่ก็รับลูกนำไปขยายผลต่อ 

แต่เวทีนี้ก็ยังเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีจีน Li Keqiang ได้อธิบายเจตจำนงของจีนในการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน และเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งหมดแม้จะเป็นความขัดแย้ง ไม่สามารถสรุปผลและออกแถลงการณ์ร่วมได้ แต่ก็วางอยู่บนหลักการที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง หากยังสามารถนำพาผลของการเปิดใจเหล่านี้ไปสู่บรรยากาศที่ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นในการประชุมอีก 2 ประชุมที่ต่อเนื่องตามมา

บรรยากาศที่ผ่อนคลายหลังผ่านศึกการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ และหลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 ทำให้ทั้ง 2 ผู้นำมหาอำนาจแห่งโลก ประธานาธิบดี Joe Biden และ ประธานาธิบดี Xi Jinping สามารถหารือกันได้ในการประชุมทวิภาคีต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ชั่วโมง 8 นาที และหลังจากที่ได้แสดงความไม่พอใจต่อกันไปแล้วจากเวที EAS การประชุม 2 ฝ่ายก็ทำให้ทั้งโลกมั่นใจได้ว่า ถึงแม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะยังคงเป็นคู่แข่งขัน และยังคงต่อสู้กันต่อไปในทางยุทธศาสตร์ แต่อย่างน้อยที่สุดทั้ง 2 มหาอำนาจก็ได้ขีดเส้นแดงในประเด็นที่แต่ละฝ่ายไม่สามารถยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งล่วงละเมิดได้ และทั้ง 2 ฝ่ายก็ยอมรับ รวมทั้งยังจะเปิดช่องทางในการสื่อสารระหว่างกันให้มากกว่านี้ 

การประชุม G-20 แม้จะมีประเด็นหลักในการเดินหน้าสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขหลังการระบาดของโควิด-19 การเตรียมความพร้อมสมาชิกสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และการเดินหน้าสู่การใช้พลังงานทางเลือก สำหรับ 1 เขตเศรษฐกิจ นั่นคือ สหภาพยุโรป และ 19 ประเทศสมาชิก แต่ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างรัสเซีย และพันธมิตร NATO ซึ่งปะทุในสนามรบยูเครน ทำให้ประเด็นการเมืองความมั่นคง ถูกดึงขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของการประชุม (ยิ่งเมื่อมีสถานการณ์ขีปนาวุธจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ ตกลงในพื้นที่ของประเทศโปแลนด์ก็ยิ่งสร้างความตึงเครียดให้กับการประชุมมากยิ่งขึ้น) 

แน่นอนว่า เมื่อผู้นำระดับโลกมารวมตัวกันมากขนาดนี้ คงปฏิเสธความรับผิดชอบในการที่จะไม่พูดถึงประเด็นความมั่นคงและประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองจนทำให้ผู้คนในยูเครนบาดเจ็บล้มตายไม่ได้ นั่นจึงนำไปสู่การประชุมทางไกลที่อนุญาตให้ประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskyy เข้ามานำเสนอแผนการสร้างสันติภาพในยูเครน ซึ่งแม้จะทำให้ฝ่ายรัสเซียไม่พอใจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางกลับก่อนที่จะสิ้นสุดการประชุม G-20 แต่ผู้นำ G-20 ก็ยังคงสามารถออกปฏิญญาบาหลี ที่ประณามการรุกรานอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนได้ แม้จะไม่มีคำว่า War และ Russia ในเอกสารก็ตาม

ความสำเร็จในการเจรจาพูดคุยเรื่องการเมือง ความมั่นคงจากเวที G-20 ทำให้ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจที่มาประชุมกันต่อใน กรุงเทพมหานคร ในการประชุม APEC มีความตั้งใจที่จะเน้นการหารือมาที่ประเด็นเศรษฐกิจ ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ของประชากรกว่า 2 พันล้านคน จากเขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมกว่า 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจของโลกได้อย่างไม่ต้องห่วงกังวล และนั่นทำให้ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2022 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการประชุม เขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต จึงสามารถมีแถลงการณ์ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ทั้งใน 3 มิติ นั่นคือ...

‘Henry Darby’ สุดยอดครูใหญ่แห่งโรงเรียนมัธยมปลาย North Charleston คุณครูผู้อุทิศตัวเพื่อลูกศิษย์และทำหน้าที่มากกว่า ‘เรือจ้าง’

Henry Darby ครูใหญ่ คุณครูผู้เป็นมากกว่าเรือจ้าง

‘ครูใหญ่’ เป็นคำที่ผู้เขียนชอบมากกว่า ‘อาจารย์ใหญ่’ หรือ ‘ผู้อำนวยการ’ เพราะเติบโตและเล่าเรียนในยุคที่เราเรียกคุณครูผู้ที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างในโรงเรียนว่า ‘ครูใหญ่’ (Principal) เช่นเดียวกับ Henry Darby ครูใหญ่แห่งโรงเรียนมัธยมปลาย North Charleston ในเมือง North Charleston มลรัฐ South Carolina

‘สังคมไทย’ เปรียบ ‘คุณครู’ เสมือนหนึ่ง ‘เรือจ้าง’ ที่มีความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ ดูแล อบรม บอกสอน ลูกศิษย์ทุกคน ด้วยความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร ความใส่ใจในการดูแลอย่างดีที่สุดในระหว่างการเดินทาง เมื่อ ‘ลูกศิษย์’ ที่เสมือนเป็น ‘ผู้โดยสาร’ ถึงที่หมายด้วยความปลอดภัย และสามารถที่จะดำเนินชีวิตที่ดีมีคุณภาพ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิต คุณครูผู้เป็นดั่งเรือจ้างทุกลำนี้ก็จะสุขใจ ปลื้มปีติทุกครั้งไป

‘Henry Darby’ ครูใหญ่แห่งโรงเรียนมัธยมปลาย North Charleston ในเมือง North Charleston มลรัฐ South Carolina ก็ทำหน้าที่ดั่งเรือจ้างลำหนึ่งเช่นกัน ในฐานะครูใหญ่แห่งโรงเรียนมัธยมปลาย North Charleston ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชากรราว 20% อยู่ในเกณฑ์ยากจน และยิ่งไปกว่านั้นคือ 90% ของนักเรียนมีครอบครัวซึ่งอยู่ข้างใต้ของเส้นแบ่งความยากจน ทำให้นักเรียนของเขาต้องการรับความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา 

“มีเด็กบางคนที่เมื่อผมไปเยี่ยมที่บ้านของพวกเขา แม่ของพวกเขาไม่ยอมให้ผมเข้าไปในบ้าน แต่ผมเห็นว่า บ้านของพวกเขามืดมาก พวกเขาไม่มีไฟฟ้า หรือคุณอาจเห็นพวกเขากำลังนอนอยู่กับฟูกบนพื้น และที่แย่ไปกว่านั้น…มีนักเรียนคนหนึ่งต้องอาศัยหลับนอนใต้สะพานด้วย” Henry Darby กล่าวถึงช่วงเวลาที่เขาได้ไปเยี่ยมบ้านของนักเรียน

ในฐานะที่ครูใหญ่ Darby เองก็เติบโตมาท่ามกลางความยากจนข้นแค้น เรื่องราวแบบนี้ของบรรดานักเรียนจึงเป็นจุดอ่อนของครูใหญ่ Darby ด้วยเช่นกัน 

“ผมพบว่า ตัวเองติดบ่วงอยู่ในกองทุนฉุกเฉิน และผมไม่ต้องการทำเช่นนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ต้องการพูดว่า ‘ไม่’ กับใคร” Henry Darby บอก 

ดังนั้นครูใหญ่ Darby ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาแห่งเทศมณฑล Charleston จึงได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนและขัดสน

และเพื่อหาเงินมาเป็นทุนช่วยเหลือบรรดานักเรียนที่ยากจนและขัดสน ครูใหญ่ Darby จึงตัดสินใจสมัครทำงานนอกเวลาที่ห้างสรรพสินค้า Walmart และเลือกที่จะไม่บอกผู้จัดการห้างฯ ของเขาว่า เขาทำงานเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมปลายในช่วงเวลากลางวัน 

“ก่อนที่เราจะรู้ แต่ก็มีหลายอย่างที่ทำให้เขาดูเป็นคนที่มีความพิเศษ” Cynthia Solomon ผู้จัดการห้างสรรพสินค้า Walmart สาขาที่ครูใหญ่ Darby ทำงานบอกกับสื่อ

เมื่อ ครูใหญ่ Henry Darby เริ่มงานที่ห้างสรรพสินค้า Walmart ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 ครูใหญ่ Darby ต้องทำงานห้าคืนต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เวลา ๒๒.๐๐ น. ถึง ๐๗.๐๐ น. แต่ในที่สุดเขาก็ขอลดวันทำงานลงเหลือสามวัน โดยเขาบอกเล่าว่า 

“ในคืนแรกของการทำงาน ลูกศิษย์ของผมคนหนึ่งเห็นผมเข้า นักเรียนคนนั้นถามผมว่า ‘ครูใหญ่ Darby ครูทำงานที่ Walmart ด้วยเหรอ’ ผมพูดกับตัวเองว่า ‘โอ้พระเจ้า ตอนนี้ทุกคนจะต้องรู้แล้วว่า ผมทำงานที่นี่’”

การจัดเรียงชั้นวางสินค้าในกะกลางคืน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับครูใหญ่ Darby ผู้ซึ่งมีอายุมากถึง ๖๖ ปีแล้ว ซ้ำครูใหญ่ยังมีอาการบาดเจ็บที่คอจากการถูกรถชน หลังจากเลิกงานที่ห้างสรรพสินค้า Walmart ตอนเช้าในเวลา ๐๗.๐๐ น. เขาต้องรีบไปเข้าทำงานหลักเป็นครูใหญ่แห่งโรงเรียนมัธยมปลาย North Charleston ซึ่งมีนักเรียนประมาณ ๖๐๐ คน ภายในเวลา ๐๗.๔๕ น. 

“ผมไม่เคยเหน็ดเหนื่อยเลยจนกระทั่งวันสุดท้ายของสัปดาห์ ผมก็จะนอนเต็มที่ในวันเสาร์ ผมนอนหลับเป็นตายเลย” ครูใหญ่ Darby กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top