รู้ไม่จริง อย่าอ้าง!! รู้จัก 'วันพ่อ-วันแม่' ในถิ่นมะกัน ที่บางกลุ่มคนอ้างว่า 'ไม่มี' หวังบิดเบือนด้อยค่าวันสำคัญเหล่านี้ในไทยให้หมดค่า

โลกโซเชียลมีเดียนับเป็นดาบสองคม ปะปนทั้งข่าวจริงข่าวเท็จ การเสพสื่อต้องใช้วิจารณญาณก่อนเชื่อ เพราะบางแพลตฟอร์มไม่มีการกลั่นกรองข่าวสารข้อมูล ปล่อยให้ความเท็จความลวงล่องลอยเต็มแพลตฟอร์ม 

...ที่น่าห่วงคือเด็ก ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น อาจจะเชื่อทุกเรื่องที่ปรากฏบนพื้นที่ออนไลน์นั้น

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นวันพ่อแห่งชาติ โดยประเทศไทยยึดเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นวันพ่อ แต่กลับกลายเป็นว่ามีการบิดเบือนเพื่อด้อยค่าวันพ่อ โดยอ้างโยงไปถึงชาติตะวันตก ทำนองว่าฝรั่งไม่มีหรอกวันพ่อวันแม่ จากนั้นก็อธิบายเป็นฉาก ๆ สรุปความได้ว่าที่ชาติตะวันตกไม่มีวันพ่อวันแม่ เพราะเกรงว่าลูก ๆ จะมีปมด้อย 

...อ่านแล้วก็แปลกใจว่า เรายังอยู่ในโลกใบเดียวกันไหมหนอ!!

อะไรทำให้คิดว่าประเทศอื่นไม่มีวันพ่อวันแม่ คิดเองเพ้อเองว่าเมืองฝรั่งไม่มีอย่างนั้นอย่างนี้ พอบอกว่ามี...ก็จี้ถามว่าชาติไหนล่ะ 

ว่าแล้วก็ขอเล่าเรื่อง 'วันพ่อ' และ 'วันแม่' ของอเมริกาดีกว่า จะได้แยกแยะได้ว่า อะไรจริงอะไรเท็จ 

เริ่มต้นด้วย 'วันแม่' ก่อนก็แล้วกัน!!

วันแม่ของอเมริกาตรงกับ 'วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม' ในกรณีนี้คงต้องยกความดีให้อเมริกา เพราะเป็นชาติแรกที่ริเริ่มแนวคิดเรื่องการมีวันแม่ จนทำให้ชาติต่าง ๆ กำหนดวันแม่แห่งชาติที่เหมาะสมกับประวัติศาสตร์ชาติตนขึ้นมา

สำหรับคนอเมริกันแล้ว วันแม่เป็นวันที่น่ารักและอบอุ่นวันหนึ่ง ส่วนมากลูก ๆ จะซื้อการ์ดหรือของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คิดว่าแม่ชอบ อย่างขนมอร่อย ๆ ช่อดอกไม้ หรือเครื่องประดับ เพื่อระลึกถึงบุญคุณที่แม่เลี้ยงดูมาจนถึงทุกวันนี้ ลูกบางคนก็ลงทุนทำอาหารแล้วยกไปให้แม่ถึงเตียงหรือไม่ก็พาแม่ออกไปฉลองที่ร้านอาหาร

วันแม่ของอเมริกาถูกกำหนดขึ้นเมื่อประมาณร้อยปีที่แล้ว คือในปี ค.ศ. 1908 แอนนา เอ็ม. จาร์วิส คุณครูแห่งรัฐฟิลาเดลเฟียเป็นผู้ผลักดันให้มี 'วันแม่' อย่างเป็นทางการ กว่าจะประสบความสำเร็จในเรื่อง 'วันแม่' ก็หลายปีให้หลัง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1914 ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ได้มีคำสั่งให้ถือวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ

ต่อมา เมื่อย่างสู่เดือนมิถุนายน อเมริกาจะฉลองวันพ่ออย่างสนุกสนาน เพราะวันที่ถูกกำหนดให้เป็นวันพ่อนั้นคือ 'วันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายน' นั่นเอง โดยผู้ที่เป็นต้นกำเนิดของวันพ่อแห่งอเมริกานั้นคือสุภาพสตรีนางหนึ่งชื่อโซโนร่า สมาร์ท ดอดด์ เหตุเพราะประทับใจและซาบซึ้งในสิ่งที่พ่อของเธอทำหน้าที่พ่อได้อย่างสมบูรณ์แบบ หลังแม่ของเธอเสียชีวิต ขณะที่ให้กำเนิดสมาชิกคนสุดท้ายในครอบครัว

ผู้เป็นพ่ออย่างวิลเลี่ยม สมาร์ท ต้องยืนหยัดอย่างเข้มแข็งเพื่อลูก ๆ สาวน้อยโซโนร่าเฝ้าดูความเสียสละทุ่มเทของผู้เป็นพ่ออย่างขอบคุณ จนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่และได้ไอเดียวันแม่มาจาก Anna Jarvis ผู้ก่อตั้งวันแม่แห่งชาติ จึงทำเรื่องขอเสนอให้วันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเกิดพ่อของเธอให้เป็นวันพ่อแห่งชาติอเมริกา ในปี ค.ศ. 1909

หนึ่งปีให้หลัง ทางวอชิงตันก็ประกาศให้วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1910 เป็นวันพ่อแห่งรัฐวอชิงตัน ในปี ค.ศ. 1966 หรืออีก 14 ปีต่อมาในยุคของ ประธานาธิบดีลินท์ดอน จอห์นมีการประกาศว่าให้วันอาทิตย์ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนของทุกปีเป็นวันพ่อแห่งชาติอเมริกาแบบไม่เป็นทางการ ในปี ค.ศ. 1972 ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน จึงประกาศให้วันพ่อเป็นวันหยุดราชการและมีการฉลองกันทุกวันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายน

นอกจากอเมริกาที่กำหนดวันพ่อเป็นอาทิตย์ที่สามในเดือนมิถุนายนแล้ว ยังมีญี่ปุ่น, อาร์เจนตินา, ไอร์แลนด์, มาเลเซีย และสหราชอาณาจักรที่กำหนดวันพ่อวันเดียวกับอเมริกา

วันพ่อของสเปน โปรตุเกส และอิตาลีคือวันที่ 19 มีนาคม วันพ่อเกาหลีใต้คือวันที่ 8 พฤษภาคม ส่วนเดนมาร์กเป็นวันที่ 5 มิถุนายน ในโปแลนด์มีการฉลองวันพ่อในวันที่ 23 มิถุนายน ถัดมาหน่อยถึงคิวบราซิล ที่กำหนดวันอาทิตย์ที่สองของเดือนสิงหาคมให้เป็นวันพ่อ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์มีวันพ่อเหมือนกันคือวันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน ฟินแลนด์, สวีเดน, นอร์เวย์ ฉลองวันพ่อในวันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน 

เห็นไหมว่าหลายชาติตะวันตกล้วนแล้วแต่มีวันพ่อทั้งสิ้น 

อย่าอ้างฝรั่ง ถ้ายังไม่รู้จริง!!


เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้