Saturday, 20 April 2024
รู้เรื่องเมืองมะกัน

เทรนด์มะกันนัดกันปล้น เหตุความผิดไม่ระคายผิว สะท้อน!! ถ้าการเมืองดี๊ดี…อะไรก็ดีจริงเหรอ?

คลิปที่ว่อนในโลกโซเชียลไทยคลิปหนึ่งมาจากอเมริกา แดนในฝันของใครหลายคน เป็นคลิปที่ถ่ายในร้านขายโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในคลิปจะเห็นชายคนหนึ่งเดินไปหยิบมือถือเครื่องนั้นเครื่องนี้ตามชอบใจ แล้วเดินออกจากร้านไปโดยไม่จ่ายเงิน คนที่เห็นถึงกับเงิบ แบบนี้ก็ได้เหรอ?

ทำให้นึกถึงเรื่องจริงไม่อิงนิยายที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนียนี่แหละ!!

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย จนชาวบ้านระอา โดยเฉพาะในแอลเอและซานฟรานซิสโก ลามไปในย่านธุรกิจอย่างยูเนี่ยนสแควร์ 

ใครที่เคยไปเยือนซานฟรานซิสโก ให้นึกถึงต้นสายรถรางที่เริ่มจากยูเนี่ยนสแควร์อันแสนคึกคักมีชีวิตชีวา แต่ช่วงนี้ปล้นกันถี่ๆ ร้านค้าหลายร้านถึงกับปิดร้านหนีไปเลย เพราะนอกจากปล้นเดี่ยวแล้ว ยังมีพัฒนาการไปเป็นการนัดออนไลน์ไปปล้นพร้อมกัน ต่างมาต่างไปแต่ใจริลักเหมือนกัน 

ในลอสแองเจลิส เกิดม็อบโจรปล้นกลางวันแสกๆ แบบเย้ยฟ้าท้าดิน คนกลุ่มหนึ่งนัดมารวมตัวกันหน้าร้าน 7-11 ไม่ได้มารวมเพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์แต่อย่างใด แต่นัดมาปล้นร้านนี้ 

การปล้นเป็นไปอย่างเปิดเผยและเป็นกันเอง ไม่มีการคาดหน้าคาดตาหรือปกปิดใบหน้าทั้งสิ้น!!

เมื่อกลุ่มคนมาถึงก็บุกเข้าปล้นอย่างหน้าด้านๆ บ้างเข้าไปในร้าน โยนข้าวของทั้งของกินของใช้ให้คนรอรับนอกร้าน แล้วไอ้ที่บุกปล้นก็ไม่ใช่น้อยๆ นับดูคร่าวๆ น่าจะร่วมร้อยได้ ที่ปล้นแบบไม่แคร์ใดๆ ในโลกใบนี้ 

สาเหตุที่พวกนี้กล้ายกพวกปล้นกลางวันแสกๆ เพราะกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียนี่แหละ!!

แซนด์วิชแห่งเสรีภาพ เมื่อแฮมเบอร์เกอร์ เมนูเด็ดของประเทศสหรัฐฯ เจอข้อหาไม่เป็นอเมริกัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ใครๆ ก็รู้จักแฮมเบอร์เกอร์ อาหารยอดนิยมของอเมริกัน แต่น้อยคนจะรู้ว่าครั้งหนึ่งแฮมเบอร์เกอร์เจอข้อหาว่า ‘ไม่เป็นอเมริกัน’ ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลอเมริกันพยายามเปลี่ยนชื่อแฮมเบอร์เกอร์เป็น 'แซนด์วิชแห่งเสรีภาพ'

ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โลกถูกฉีกออกเป็นสองฝั่งแล้วยกพวกตีกัน ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางหรือฝ่ายอักษะ มีเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี, ตุรกี และบัลแกเรีย ส่วนฝ่ายพันธมิตรมีฝรั่งเศส, รัสเซีย, อังกฤษ, เซอร์เบีย, อิตาลี, อเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น เป็นหลัก  

ลุงแซมโกรธแค้นเยอรมันอยู่ก่อนแล้ว เพราะเยอรมันเปิดศึกใต้มหาสมุทร ส่งเรือดำน้ำถล่มชาติอื่นอย่างเมามัน หนหนึ่งโจมตีเรือโดยสารลูสิตาเนีย ซึ่งเป็นเรือโดยสารที่ไม่ติดอาวุธของอังกฤษ จมลงใกล้ฝั่งทะเลของไอร์แลนด์ ในเรือมีคนอเมริกันรวมอยู่ด้วยและเสียชีวิต 139 คน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1915 อเมริกาจึงประท้วงเยอรมนีรัวๆ

ความแค้นฝังหุ่นยังไม่จบง่ายๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีชวนเม็กซิโกกับญี่ปุ่นให้ร่วมทำสงครามกับอเมริกา โดยเม็กซิโกจะได้รับผลตอบแทนคือรัฐนิวเม็กซิโก, เท็กซัส และแอริโซนาคืนจากอเมริกา จึงทำให้อเมริกาไม่พอใจถึงขั้นหนวดกระดิก  

อเมริกานั้นชำนาญเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อมานานแล้ว เลยใช้โอกาสนี้เปลี่ยนชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มีสำเนียงหรือสุ้มเสียงไปทางเยอรมันให้เป็นอเมริกันให้หมด สุดท้ายแฮมเบอร์เกอร์เลยกลายเป็น 'แซนด์วิชเสรีภาพ'
 

ตะกอนสองสีในหัวใจ เหยียดผิวในถิ่นมะกัน ความเกลียดชังจากคนขาว ที่ซ่อนไว้ใต้คำสวยหรูอย่าง 'สิทธิอันเท่าเทียม'

เรื่องของการเหยียดสีผิวนั้นเป็นเรื่องสาหัสมากในประเทศสหรัฐอเมริกายุคก่อน และถึงแม้ในปัจจุบันจะดูเหมือนว่าการเหยียดผิวนั้นเบาบางลง แต่บอกได้เลยว่าการเหยียดผิวระหว่างคนขาวและคนดำยังคงดำรงอยู่ในอเมริกา เพียงแต่ซ่อนไว้ภายใต้หน้าฉากอันสวยหรูของคำว่า 'สิทธิอันเท่าเทียม'

องค์กรลับที่ตั้งขึ้นเพื่อทำลายล้างคนผิวดำและผิวสีอื่นที่ไม่ใช่คนขาวคือ องค์กร 'คู คลักซ์ แคลน’ อำนาจของคู คลักซ์ แคลนแข็งแกร่งช่วงระหว่างปี คศ.1865-1870 มีกองกำลังอันเกรียงไกร สามารถกำราบคนดำในรัฐนอร์ทแคโรไลน่า, เทนเนสซี และจอร์เจียอยู่หมัด   

สมัยประธานธิบดี ยูลิซิส เอส. แกรนต์ มีการประกาศว่า คู คลักซ์ แคลน เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายนอกกฎหมาย ถือเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครอง จึงมีการกวาดล้างกลุ่มเอียงขวาจัดอย่างจริงจังช่วงปี ค.ศ. 1868-1870 จนทําให้กลุ่มสลายตัวชั่วระยะหนึ่ง

ปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มมีคนผิวสีอย่างเม็กซิกันและเอเซียอพยพเข้ามาอาศัยในอเมริกามากขึ้น จึงทำให้องค์กรนี้กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่คนผิวดำแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่คราวนี้เหมารวมเอาคนยิว คนเม็กซิกัน คนเอเซียและฝรั่งผิวขาวด้วยกันเองแต่นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิคด้วย

ปีค.ศ. 1915 ที่แอตแลนต้า บาทหลวงของศาสนาคริสต์ วิลเลียม เจ. ซิมมอนส์ อ้างว่าได้ยินเสียงพระเจ้าในความฝันให้ฟื้นฟู คู คลักซ์ แคลน ขึ้นอีกครั้ง ซิมมอนส์ซึ่งเดิมมีแนวคิดนิยมคนผิวขาวอยู่แล้วจึงรวบรวมคน 34 คนประกาศการก่อตั้ง คู คลักซ์ แคลน ขึ้นใหม่ 

อยากจะเรียกการกลับมาขององค์กรนี้ว่ารุ่นพิมพ์นิยม เพราะคู คลักซ์ แคลน ที่ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่นี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนผิวขาวอย่างถึงขนาดจนประกาศอย่างหน้าชื่นตาบานว่า การเป็นชาวแคลนนั้นถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวชาวอเมริกันเลยทีเดียว สมาชิกก็ไม่ใช่กระจอกงอกง่อยเป็นคนขาวจนๆ คลั่งชาติอย่างพวกระดับล่าง แต่ประกอบด้วยนักธุรกิจผู้ร่ำรวย และมีนักกฎหมายระดับสูงอีกมากมาย

ในปี คศ.1922 เฉพาะที่เท็กซัสก็มีคดีทำร้ายร่างกายกว่า 100 คดีที่เกี่ยวข้องกับ คู คลักซ์ แคลน และในปี คศ.1923 เกิดคดีรุมทำร้ายที่โอกลาโฮม่าที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนี้ 

ความกร่างของคู คลักซ์ แคลน ดูได้จากการส่งจดหมายขู่และไล่ที่ไปยังบ้านของคนผิวดำและคนผิวขาวซึ่งสนับสนุนคนผิวดำ เมื่อไม่ได้รับการปฏิบัติตามก็จะเข้ารุมทำร้าย 

นอกจากนี้ยังมีการเผาบ้าน บ้างก็ตัดแขนขา บ้างก็เอายางรถยนต์ห้อยคอผู้เคราะห์ร้ายแล้วจุดไฟ บ้างก็จับมัดไปวางให้รถไฟทับ บ้างก็จับแขวนคอ บางครั้งสมาชิก คู คลักซ์ แคลน จะมีการเผาไม้กางเขนบริเวณเชิงเขาหรือบริเวณใกล้บ้านของเหยื่อ ที่เรียกว่า Cross Burning เพื่อเป็นการเเสดงอํานาจและการข่มขู่เหยื่อ สรุปเลยคือพวกนี้สรรหาสารพัดวิธีในการทารุณกรรมนั่นเอง

ประมาณปี 1950 เด็กผิวขาวและเด็กผิวดำที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน เวลานั่งรถโรงเรียน เด็กผิวดำจะต้องสละที่นั่งด้านหน้าให้เด็กผิวขาวนั่งก่อน ส่วนเด็กผิวดำจะต้องนั่งเบาะหลังเท่านั้น บนรถเมล์ คนผิวดำจะต้องลุกให้คนผิวขาวนั่งก่อน ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย หรือในร้านอาหารก็จะมีการแยกที่นั่ง หรือบางร้านไม่ต้อนรับคนผิวดำ ในโรงภาพยนตร์แยกไม่ให้คนสองสีผิวปะปนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมไปถึงการใช้ห้องน้ำสาธารณะ การดื่มน้ำจากก๊อกน้ำสาธารณะไปจนถึงมหาวิทยาลัย    

จริยธรรมบิดเบี้ยว ยุคขี้เมาลงแดงในอเมริกา คนสุจริตร่ำสุราเท่ากับบาป ส่วนคนบาปหากินกับเหล้าเถื่อน ต่างได้รับการยกย่อง

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งอเมริกาเคยห้ามขายเหล้าเป็นเวลาถึง 13 ปี 

สังคมเมืองลุงแซมในช่วงปี ค.ศ. 1890-1920 เป็นช่วงที่เรียกว่า 'ยุคก้าวหน้า' หรือ Progressive Era ที่กำลังสับสนกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม   

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเช่นกัน ผู้ชายดาหน้าเข้าทำงานในโรงงานต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ใด ๆ หรือแม้แต่ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ชายยุโรปโดยเฉพาะยุโรปตะวันออกอย่างชาวโปแลนด์หรือฮังกาเรียน หลั่งไหลเข้ามาในอเมริกาเพื่อทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ บางคนพาลูกเมียมาด้วยเพื่อลงหลักปักฐานในอเมริกา 

เมื่อเข้ามาเป็นคนงานโรงงาน ด้วยพื้นฐานดั้งเดิมที่รักการดื่มจึงอดไม่ได้ที่จะแวะข้างทางเพื่ออุดหนุนน้ำเมา แต่เรื่องนี้กลับกลายมาเป็นปัญหาครอบครัว  ทำให้เกิดการโทษเหล้าและน้ำเมาต่าง ๆ ว่าสร้างปัญหาสังคมร้ายแรง ประกอบกับช่วงนั้นมีนักเทศน์ร่อนแร่เดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ แล้วโทษสุรายาเมาเสมอ เหล่าภรรยาที่ถูกสามีขี้เมาทุบตีเป็นนิจสินก็เพ่งโทษไปที่เหล้าแต่เพียงอย่างเดียว จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้สังคมจัดการเรื่องนี้

ดังนั้นในปี ค.ศ. 1920 จึงเกิดการปฏิรูปทางจริยธรรมขึ้น โดยหนึ่งในกระบวนการชำระสะสางสังคมทั้งหลายทั้งปวงข้อหนึ่งคือ แนวคิดเรื่องห้ามผลิตและซื้อขายเหล้าอย่างเด็ดขาด อเมริกันเคร่งศาสนาบางกลุ่มเชื่อว่าการดื่มเหล้าถือเป็น 'บาป' บางคนสรุปเหมารวมว่าการเสพสุราฮะกึ๋นเป็นต้นเหตุปัญหามากมายในสังคม ทั้งการติดเหล้า อาชญากรรม อาการทางจิตประสาท ความยากจน รวมถึงการใช้ความรุนแรงกับเด็กและผู้หญิง

แต่การสนับสนุนแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างโปร่งใสและสะอาดบริสุทธิ์เท่าไหร่นักหรอก เพราะกลุ่มพ่อค้าที่ขายชากาแฟและน้ำอัดลมต่างตีปีกสนับสนุนกันกระหึ่ม เนื่องจากเชื่อว่าธุรกิจตนจะโกยกำไรอื้อซ่าอย่างแน่นอน หากเหล้าเบียร์หมดไปจากท้องตลาด

ไม่ว่าแรงสนับสนุนให้เลิกขายเหล้าเบียร์จะมาจากกลุ่มไหนก็ตาม แต่แรงกดดันมหาศาลทำให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการลงโทษขี้เมาโดยเฉพาะ โดยในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1919 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ ครั้งที่ 18 กำหนดห้ามไม่ให้มีการขายผลิตขนส่งหรือจัดจำหน่ายเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทั่วทั้งประเทศอย่างเด็ดขาด 9 เดือน

หลังจากนั้น สภาคองเกรสได้ผ่านร่างกฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ Volstead Act ถือเป็นการเริ่มต้นยุคแห่งการห้ามซื้อขายและผลิตเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1920

ตั้งแต่นั้นมา อเมริกาก็เข้าสู่ 'ยุคมืดของขี้เมา' แบบนี้ก็ตายกันพอดีสิจ๊ะ ของเคยกระดกขวดทุกค่ำเช้า แต่อยู่ ๆ รัฐบาลเอาไม้ไล่หวดขวดเหล้าแตกกระจายก็ย่อมเปรี้ยวปากเป็นธรรมดา ผลคือเกิดมาเฟียค้าเหล้าเถื่อนเพียบ แต่ขาใหญ่สุดเห็นจะเป็น 'อัล คาโปน' ที่หากินในย่านชิคาโกและสร้างตัวเองเป็นเจ้าพ่อมาเฟียที่โลกไม่ลืมมาจนทุกวันนี้  

เพราะผลพวงของการห้ามขายเหล้านี่แหละที่ทำให้อัล คาโปนพบช่องทางทำมาหากินอันโชติช่วง ด้วยการลักลอบนำเข้าและขนส่งเหล้าเถื่อนจนร่ำรวย การลักลอบขายเหล้าเถื่อนกลายเป็นช่องทางที่ทำกำไรมหาศาลให้เหล่าผู้มีบารมีนอกกฎหมาย เลยทำให้จำนวนประชากรมาเฟียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แถมยังขยายสาขาไปทั่วประเทศ สร้างปัญหาสังคมอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าสาหัสกว่าเดิมไว้เป็นของแถม

รู้ไม่จริง อย่าอ้าง!! รู้จัก 'วันพ่อ-วันแม่' ในถิ่นมะกัน ที่บางกลุ่มคนอ้างว่า 'ไม่มี' หวังบิดเบือนด้อยค่าวันสำคัญเหล่านี้ในไทยให้หมดค่า

โลกโซเชียลมีเดียนับเป็นดาบสองคม ปะปนทั้งข่าวจริงข่าวเท็จ การเสพสื่อต้องใช้วิจารณญาณก่อนเชื่อ เพราะบางแพลตฟอร์มไม่มีการกลั่นกรองข่าวสารข้อมูล ปล่อยให้ความเท็จความลวงล่องลอยเต็มแพลตฟอร์ม 

...ที่น่าห่วงคือเด็ก ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น อาจจะเชื่อทุกเรื่องที่ปรากฏบนพื้นที่ออนไลน์นั้น

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นวันพ่อแห่งชาติ โดยประเทศไทยยึดเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นวันพ่อ แต่กลับกลายเป็นว่ามีการบิดเบือนเพื่อด้อยค่าวันพ่อ โดยอ้างโยงไปถึงชาติตะวันตก ทำนองว่าฝรั่งไม่มีหรอกวันพ่อวันแม่ จากนั้นก็อธิบายเป็นฉาก ๆ สรุปความได้ว่าที่ชาติตะวันตกไม่มีวันพ่อวันแม่ เพราะเกรงว่าลูก ๆ จะมีปมด้อย 

...อ่านแล้วก็แปลกใจว่า เรายังอยู่ในโลกใบเดียวกันไหมหนอ!!

อะไรทำให้คิดว่าประเทศอื่นไม่มีวันพ่อวันแม่ คิดเองเพ้อเองว่าเมืองฝรั่งไม่มีอย่างนั้นอย่างนี้ พอบอกว่ามี...ก็จี้ถามว่าชาติไหนล่ะ 

ว่าแล้วก็ขอเล่าเรื่อง 'วันพ่อ' และ 'วันแม่' ของอเมริกาดีกว่า จะได้แยกแยะได้ว่า อะไรจริงอะไรเท็จ 

เริ่มต้นด้วย 'วันแม่' ก่อนก็แล้วกัน!!

วันแม่ของอเมริกาตรงกับ 'วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม' ในกรณีนี้คงต้องยกความดีให้อเมริกา เพราะเป็นชาติแรกที่ริเริ่มแนวคิดเรื่องการมีวันแม่ จนทำให้ชาติต่าง ๆ กำหนดวันแม่แห่งชาติที่เหมาะสมกับประวัติศาสตร์ชาติตนขึ้นมา

สำหรับคนอเมริกันแล้ว วันแม่เป็นวันที่น่ารักและอบอุ่นวันหนึ่ง ส่วนมากลูก ๆ จะซื้อการ์ดหรือของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คิดว่าแม่ชอบ อย่างขนมอร่อย ๆ ช่อดอกไม้ หรือเครื่องประดับ เพื่อระลึกถึงบุญคุณที่แม่เลี้ยงดูมาจนถึงทุกวันนี้ ลูกบางคนก็ลงทุนทำอาหารแล้วยกไปให้แม่ถึงเตียงหรือไม่ก็พาแม่ออกไปฉลองที่ร้านอาหาร

วันแม่ของอเมริกาถูกกำหนดขึ้นเมื่อประมาณร้อยปีที่แล้ว คือในปี ค.ศ. 1908 แอนนา เอ็ม. จาร์วิส คุณครูแห่งรัฐฟิลาเดลเฟียเป็นผู้ผลักดันให้มี 'วันแม่' อย่างเป็นทางการ กว่าจะประสบความสำเร็จในเรื่อง 'วันแม่' ก็หลายปีให้หลัง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1914 ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ได้มีคำสั่งให้ถือวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ

รำลึกถึงพ่อ ตามรอยสถานที่พระประสูติกาลของรัชกาลที่ 9 จากพลเมืองอเมริกัน สู่ องค์ราชันผู้ยิ่งใหญ่

หลายคนอาจไม่รู้ว่ารัชกาลที่ 9 ทรงมีพระประสูติกาลในอเมริกา ไม่ใช่สวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์เสด็จพระราชสมภพใน 'โรงพยาบาลเคมบริดจ์' ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น 'โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น' (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ และสหรัฐอเมริกามีกฎหมายว่า เด็กทุกคนที่เกิดในอเมริกาให้ถือเป็นพลเมืองอเมริกัน ดังนั้นพระองค์ทรงมีสถานภาพเป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด

ก่อนหน้าจะทรงมีพระประสูติกาล สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกของรัชกาลที่ 9 นับเป็นพระราชนิกุลพระองค์แรกที่เสด็จฯ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา โดยทรงเข้าศึกษาในชั้นเตรียมแพทย์ก่อนเป็นเวลา 1 ปี และลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดในปี พ.ศ. 2460

ระหว่างทรงศึกษาในอเมริกา พระโอรสพระองค์ที่สองมีประสูติกาลที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ 2470 ภายใต้การดูแลของนายแพทย์ DR. W. STEWART WHITTEMORE เมื่อแรกพระบรมราชสมภพ โดยรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระนามในสูติบัตรว่า 'เบบี้สงขลา' (Baby Songkla) ซึ่งมาจากพระนามของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่มีพระนามในต่างประเทศว่า Mr.Mahidol Songkla

หลังจากที่ทรงพระราชสมภพได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมง สมเด็จพระบรมราชชนกทรงส่งโทรเลขถึงสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ว่า...

"ลูกชายเกิดเช้าวันนี้ สบายดีทั้งสอง ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย"

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า 'ภูมิพลอดุลยเดช' ซึ่งแปลว่า 'พลังแห่งแผ่นดิน'

'เทศกาลคริสต์มาส' ห้วงความสุขของอเมริกันชน ความอบอุ่นที่เทียบเท่าได้ดั่ง 'สงกรานต์' บ้านเรา

คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเทศกาลแสนสุขและเป็นวันรวมญาติในรอบปีของคนไทยคือ เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นช่วงที่คนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามอยากกลับไปเจอหน้าญาติพี่น้องที่บ้านเกิดทั้งนั้น ส่วนใครที่ไม่มีโอกาสกลับบ้านก็ได้แต่นั่งเศร้าเหงาหงอย ช่วงสงกรานต์นี้จึงถือว่าเป็นวันครอบครัวแห่งชาติกันเลยทีเดียว 

ส่วนเทศกาลในอเมริกาที่สามารถเทียบเคียงกับช่วงสงกรานต์ได้ ก็เห็นจะเป็นวันขอบคุณพระเจ้าในเดือนพฤศจิกายนกับคริสต์มาสในช่วงธันวาคมนี่แหละ เพราะใครๆ ต่างทยอยกันกลับบ้านเพื่อร่วมรับประทานอาหารมื้อพิเศษกับครอบครัว การอยู่คนเดียวในช่วงขอบคุณพระเจ้าและคริสต์มาสในความคิดฝรั่งจึงถือเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างเหลือแสน เพราะอเมริกันให้ความสำคัญกับครอบครัวอย่างยิ่งในสองวันนี้

ก่อนหน้าคริสต์มาสคือ เทศกาลขอบคุณพระเจ้า ซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายน ทุกครอบครัวจะล้อมวงกินไก่งวงร่วมกัน ช่วงเวลาแห่งความสุขในรอบปีของอเมริกันคือช่วงเวลาก่อนคริสต์มาส อิ่มอวลไปด้วยความสุขอันหอมหวาน ผู้คนเดินไปมาในห้างด้วยสีหน้ายิ้มย่องผ่องใส ถือเป็นช่วงดีๆ ที่ผู้คนไม่ขึ้งโกรธหรือขุ่นข้องหมองใจระหว่างกัน แถมบางครั้งก็ได้รับน้ำใจแบบไม่คาดฝันจากคนแปลกหน้าด้วย 

ช่วงนี้แหละที่ผู้คนในอเมริกาดูอบอุ่นอ่อนโยนและใส่ใจกันเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในรอบปี ห้างสรรพสินค้าโดยเฉพาะซุปเปอร์มาเก็ตมักมีซานตาครอสลึกลับแอบจ่ายเงินให้คนที่ต่อแถวข้างหลัง ถือเป็นของขวัญที่ผู้คนมอบให้กันอย่างไม่เฉพาะเจาะจง ส่วนมากแล้วคนที่ได้รับน้ำใจมักร้องไห้ออกมากลางห้างอย่างกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ เพราะน้ำใจส่งท้ายปีจากคนแปลกหน้าถือเป็นความงดงามที่คนตัวเล็กอย่างเราสามารถมอบให้กันในเทศกาลอันเปี่ยมสุขแห่งปี

ผู้คนเฉลิมฉลองด้วยการประดับประดาหน้าบ้านด้วยไฟหลอดเล็กๆ สีเขียวสลับแดงพรืดไปทั้งหน้าบ้าน การตกแต่งบ้านเรือนยึดโทนสีหลักของเทศกาลคริสต์มาสแต่โบราณคือเขียวและแดง ซึ่งเป็นการใช้สีในเชิงสัญลักษณ์และเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา สีแดงถือเป็นสัญลักษณ์ของพระโลหิตของพระเยซู ส่วนสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตนิรันดร์ เพราะเป็นสีของต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบและเขียวสดชั่วกาลนาน

ภายในบ้านมีต้นคริสต์มาสทั้งแบบพลาสติกและแบบสดแขวนสิ่งละอันพันละน้อยจนเต็มต้น บนยอดมีดวงดาวสีทองสุกใส ใต้ต้นมีกล่องของขวัญหลายกล่องวางเรียงราย มองเลยต้นคริสต์มาสไปอีกนิดจะเห็นถุงเท้ายาวหลายข้างแขวนไว้ตรงเตาผิงที่ตบแต่งไว้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ทั่วบ้านยังประดับพวงมาลัยที่ทำมาจากใบสนและและฮอลลีสีแดงสด บางบ้านก็มีการแขวนช่อมิสเซิลโทไว้ในบ้าน เชื่อกันว่าใครก็ตามที่มายืนใต้ช่อมิสเซิลโทแล้วจะต้องจูบกันโดยถือเป็นคำมั่นสัญญาว่ารักกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย       

นอกจากชาวคริสต์แล้ว ชาวยิวก็ฉลองเทศกาลในช่วงนี้เช่นกัน โดยประดับไฟหน้าบ้านด้วยสีฟ้าและสีเงิน ข้างหน้าต่างมีเชิงเทียนรูปทรงแปลกตางดงามที่เรียก 'มะโนรา' แยกออกเป็น 8 กิ่งเพื่อปักเทียนทั้งหมด 8 เล่ม เทศกาลนี้เรียกว่า 'ฮานุกก้า' เพื่อระลึกถึงปาฏิหาริย์แห่งแสงสว่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานถึง 8 วัน และเสมือนเป็นสัญญลักษณ์แห่งชัยชนะของผู้ศรัทธาที่ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติจักรวรรดินิยมกรีก  

มีเรื่องเล่ากันขำๆ ว่า ร้านอาหารฝรั่งทุกร้านปิดหมดในช่วงคริสต์มาส ร้านอาหารที่เปิดขายวันนี้เลยมีแต่ร้านอาหารจีน ชาวยิวในอเมริกาจึงมักออกไปรับประทานอาหารจีนกันทั้งครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้อกันเล่นสนุกๆ บางคนไม่มีโอกาสกลับไปหาครอบครัวก็ถือโอกาสออกไปร้านอาหารจีนกินดื่มร่วมกันเพื่อนอย่างสนุกสนานไปด้วย

ในช่วงเทศกาลของทั้งสองศาสนาในวาระเดียวกันเช่นนี้ เวลาไปจับจ่ายซื้อของที่ไหน พนักงานในร้านมักอวยพรรวมกันว่า 'สุขสันต์วันเทศกาล' หรือ Happy Holidays เนื่องจากชาวอเมริกันไม่ได้เป็นชาวคริสต์ทุกคนและคาบเกี่ยวกับเทศกาลฉลองของชาวยิวด้วยจึงเลือกที่จะใช้คำกลางๆ มาเรียกเทศกาลปลายเดือนธันวาคม

‘ความฝันอเมริกัน’ ฝันหวานอันว่างเปล่า ในยุคเศรษฐกิจเลื่อนลอย

สมัยก่อนเคยได้ยินคำว่า ‘อเมริกันดรีม’ อยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่เข้าใจถ่องแท้นักถึงความหมาย เพิ่งจะมาเข้าใจก็ตอนที่อาศัยอเมริกาเป็นบ้านแห่งที่สองนี่เอง

ที่มาของคำว่า ‘อเมริกันดรีม’ หรือ ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ นั้น น่าสนใจไม่ใช่น้อย

หลายคนเชื่อว่าแนวคิดอเมริกันดรีมนั้นมาจากรากฐานของคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ที่มีหลักการว่าทุกคนได้รับสิทธิในการดำเนินชีวิต เสรีภาพและการแสวงหาความสุขโดยเท่าเทียมกัน หากว่ายังไม่ค่อยชัดเจนกับแนวคิดนี้ คงต้องไปอ่านงานเขียน เรื่อง ‘มหากาพย์แห่งอเมริกา’ หรือ The Epic of America ของเจมส์ ทรัสโลว์ อดัมส์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วที่กล่าวถึงอเมริกันดรีมไว้อย่างชัดเจนว่า...

“อเมริกันดรีม คือ ความฝันถึงแผ่นดินที่ทุกคนจะมีชีวิตดีขึ้น เติมเต็มยิ่งขึ้น และร่ำรวยยิ่งขึ้น โอกาสมาพร้อมความสามารถ สิ่งที่พูดถึงนี้มิใช่ความฝันง่ายๆอย่างอยากมีรถหลายคันหรือมีเงินเดือนสูง แต่เป็นความฝันเรื่องระเบียบสังคมที่ทั้งหญิงและชายจะได้รับการยอมรับตัวตน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีชาติกำเนิดเช่นไร”

ความหมายดั้งเดิมของอเมริกันดรีมหรือความฝันแบบอเมริกันในยุคแรก ๆ ซึ่งอาจนิยามได้ว่าเป็นความเท่าเทียมทางโอกาสและเสรีภาพที่เอื้อให้ทุกคนบรรลุถึงเป้าหมายในชีวิตด้วยการทำงานหนักและด้วยความมุ่งมั่น แต่ในปัจจุบันคนทั่วไปมองว่าอเมริกันดรีมคือการแสวงหาความมั่งคั่ง จากความสามารถและการทำงานหนักเท่านั้น

ใคร ๆ ก็รู้ว่าอเมริกานั้นมีวัฒนธรรมที่ 'พันทาง' มาก เพราะวัฒนธรรมจับฉ่ายติดมากับผู้อพยพที่เข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองแต่ละยุคสมัย...บางคนอาจหมายถึงโอกาสที่จะกลายเป็นคนร่ำรวยมั่งคั่งกว่ารายรับที่เคยได้ในประเทศเดิม...บางคนอาจหมายถึงโอกาสที่ลูกหลานจะเจริญเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าได้รับการศึกษาที่สูงกว่าในประเทศเดิม...และบางคนอาจเป็นการได้รับโอกาสเป็นปัจเจกชน ที่ปราศจากการกีดกันด้วยชนชั้นทางสังคม จากวรรณะ เชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์ อย่างในกรณีสตรีมุสลิมที่มีการเลือกปฎิบัติหรือไม่อนุญาตให้ทำงานหรืออินเดียที่มีเรื่องวรรณะเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำงาน

จริง ๆ แล้วแนวคิดเรื่องอเมริกันดรีมมีประวัติย้อนหลังไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ช่วงเวลานั้นมีการส่งเสริมชาวอังกฤษให้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกา โดยมีการโฆษณาแผ่นดินใหม่ว่าชาวอาณานิคมจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าชีวิตในประเทศอังกฤษ ทั้งนี้เพราะอเมริกากว้างใหญ่ไพศาลและมีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือ การเดินทางมาสู่อเมริกาจึงเหมือนการแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้ชีวิต

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการในการเกิด 'อเมริกันดรีม' คือในศตวรรษที่ 19 เรื่องราวเกี่ยวกับผู้ยากไร้ที่ถีบตัวขึ้นไปเป็นมหาเศรษฐี เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและกลายเป็นดวงดาวแห่งความหวังให้อเมริกันทุกคน โดยเรื่องราวของแอนดรูว์ คาร์เนกี้ และจอห์น ดี. รอกกี้เฟลเลอร์ รวมทั้งนักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงเช่น ฮอเรโช อัลเจอร์ สร้างบรรทัดฐานในสังคมว่า ความสามารถและการทำงานหนักสามารถนำไปสู่ความมั่งคั่งได้  ทำให้อเมริกันทุกคนมีความหวังว่า สักวันหนึ่งตนจะมีโอกาสเช่นนี้บ้าง

จุดเริ่มต้นจากการเอาใจ ‘ผู้นำสายดวลปืน’ สู่ปาร์ตี้กำจัดชีสเน่าที่ทำเนียบขาวใน 2 ชั่วโมง

หลายคนคงไม่รู้ว่าในอเมริกามีวันฉลองแปลกๆ ทั้งปี บางทีแปลกอย่างชนิดที่เรียกว่าไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่จริง

วันพิลึกเหล่านี้ บางวันก็มีที่มาที่ไปน่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งในอเมริกาด้วย เช่น วันเบียร์แห่งชาติ วันที่ 7 เมษายน ที่กำหนดให้ระลึกถึงวันสิ้นสุดการห้ามผลิตเหล้าเบียร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 ถึง ค.ศ.1933  

แต่มีอยู่วันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และเป็นประวัติศาสตร์อันเหม็นหึ่งชนิดที่ทำให้ต้องอุดจมูกกันทั้งวอชิงตันดีซีเลยทีเดียว แถมเกี่ยวพันกับประธานาธิบดีแห่งอเมริกาเสียด้วย วันที่ว่านี้คือวันที่ 29 มกราคมของทุกปี อันกำหนดให้เป็น ‘วันโคตรชีสแห่งชาติ’ หรือ ‘Big Block of Cheese Day.’    

เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดี ‘แอนดรูว์ แจ็กสัน’ และคงต้องเล่าท้าวความไปถึงประธานาธิบดีคนนี้สักหน่อย เพราะเป็นประธานาธิบดีที่มีด้านมืดซ่อนเร้นอยู่เยอะมาก แม้อเมริกันจะยกย่องให้เป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งก็ตาม 

แอนดรูว์ แจ็กสันมีชื่อเล่นว่า ‘โอลด์ฮิกกอรี่’ (Old Hickory) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 เคยเป็นนักค้าที่ดินและนักค้าทาส โดยมีทาสในครอบครองเป็นจำนวนมาก    

นอกเหนือจากการค้าทาส อินเดียนแดงทุกคนจดจำชื่อของประธานาธิบดีคนนี้ขึ้นใจด้วยความคับแค้น เพราะแอนดรูว์ แจ็กสัน ลงนามเพื่อโยกย้ายชาวพื้นเมืองอเมริกัน ตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียน (Indian Removal Act of 1830) ในปี ค.ศ. 1831 ส่งผลให้อินเดียนแดงล้มตายจนเกือบสูญเผ่าพันธ์ กระนั้นแอนดรูว์ แจ็กสัน ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ

ก่อนเป็นประธานาธิบดี ก็ดวลปืนกับชาวบ้านจนลือลั่นไปทั้งบาง มีกระทาชายคนหนึ่งชื่อ ชาร์ล ดิคคินสัน ปากเปราะจิกกัดเมียของ แอนดรูว์ แจ็กสัน ว่ามีผัวสองคน ประมาณว่ายังไม่ทันหย่าผัวคนแรก แล้วมาได้กับแอนดรูว์ ทำนองนั้น ลุงแอนดรูว์ได้ยินก็หัวร้อน เลยขอท้าดวล ขนาดโดนยิงจนอกแทบทะลุ แต่ลุงแอนดรูว์ยังกระเด้งตัวรัวปืนกลับ จนคนปากเสียถึงกับล้มคว่ำจมกองเลือด ไงล่ะ..เปรี้ยวเอาการใช่มั้ย ประธานาธิบดีรายนี้

ครั้นเมื่อแอนดรูว์ แจ็กสัน นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีถึงสองสมัย ก็ย่อมมีคนรักเป็นธรรมดา ทีนี้ชาวบ้านร้านถิ่นรู้ว่าประธานาธิบดีของตนนั้นโปรดชีสเป็นชีวิตจิตใจ เลยอยากหาของขวัญชิ้นพิเศษถูกอกถูกใจประธานาธิบดีอันเป็นที่รักของตน

ในปี ค.ศ.1835 ผู้พันโธมัส เอส มีแชม เกิดไอเดียบรรเจิด อยากส่งชีสไปให้ประธานาธิบดี แต่ของขวัญสำหรับประธานาธิบดีย่อมไม่ธรรมดา  

ความใหญ่โตมโหฬารของชีสก้อนนี้ เอาแค่เส้นผ่าศูนย์กลางก็ยาวประมาณ 4 ฟุตเข้าไปแล้ว หนาสองฟุต และหนัก 1,400 ปอนด์หรือ 700 กิโลกรัม ใช้เวลาผลิตทั้งหมด 4 วัน โดยใช้แม่วัว 150 ตัวปั๊มนมเพื่อทำชีส เมื่อทำเสร็จแล้วก็ห่อมาอย่างดีพร้อมถ้อยคำปลุกใจแนวรักชาติ คาดว่าผู้พันมีแชมคงชาตินิยมสุด ๆ

การขนส่งจากนิวยอร์กสเตท มาวอชิงตัน ไม่ใช่เรื่องงุบงิบส่งมา หากแต่มีขบวนแห่ขบวนพาเหรดอย่างอู้ฟู่หรูหราสมศักดิ์ศรีโคตรชีสอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าแห่แหนกันมาแต่ต้นทาง จากเมืองสู่เมือง โดยมีชาวบ้านโผล่หน้ามาชมก้อนชีสยักษ์เป็นบุญตา ว่าเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ยังไม่เคยเห็นโคตรชีสแบบนี้มาก่อน

พอประธานาธิบดีแอนครูว์ แจ็กสันได้รับของขวัญชิ้นมหึมาและแปลกประหลาดนี้คงเงิบไปนิด พลางคิดว่าจะเอาชีสก้อนเท่าควายไปทำอะไรดีหว่า ถึงจะชอบกินชีสยังไง ก็คงกินไม่หมดแน่ ๆ เพราะขนาดใหญ่โตวัวตายควายล้มขนาดนี้ 

ท่านประธานาธิบดีผู้เก่งกล้าเคยท้าดวลกับนักแม่นปืนถึงกับกุมขมับ ไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับชีสยักษ์ หลังจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกินชีสยักษ์ตามใจชอบแล้วก็ยังเหลืออีกบานเบอะ ตั้งตระหง่านอยู่ในทำเนียบขาว จะเอาไปทิ้งก็ไม่ได้ เพราะเกรงว่าคนให้จะเสียใจ 

เมื่อเวลาผ่านไป ชีสก็เน่า เริ่มมีกลิ่นตุๆ โชยหึ่งไปทั่วทำเนียบขาว ไม่ใช่แต่ทำเนียบขาวที่คลุ้งอวลไปด้วยกลิ่นพิลึกนั้น ผู้คนทั่วทั้งวอชิงตันได้กลิ่นกันทั่วหน้า ต้นฉบับภาษาอังกฤษบรรยายกลิ่นก้อนชีสยักษ์ว่า ‘An evil-smelling horror’ ในเมื่อไม่รู้จะทำยังไงกับก้อนชีสยักษ์ เลยปล่อยวางไว้อย่างนั้นเป็นเวลาถึงเกือบสองปี

'บอนนี่-ไคลน์' คู่รักนักปล้น จอมสร้างกระแส ฆ่าตำรวจ 12 ราย แต่ผู้คนมากมายก็ยังชื่นชม

หลายคนสงสัยว่า ทำไมคนจำนวนมากถึงนิยมชมชอบอดีตนักโทษที่มีคดีความเป็นชนักติดหลัง หรือชอบคนดีแต่พูด แต่ไม่ทำงานใด ๆ ให้ปรากฏเป็นชิ้นเป็นอัน 

อย่าได้แปลกใจ!!

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการตลาดล้วน ๆ มีการสร้างกระแสให้คนนิยมชมชอบ จนเชื่อฟังทุกคำพูดอย่างว่าง่าย กลายเป็นแฟนคลับเหนียวแน่นจนเถียงแทนทุกคำ     

เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วนในอเมริกา โดยตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดคดีหนึ่งคือ 'คดีคู่รักนักปล้น' บอนนี่และไคลน์ (Bonnie and Clyde)

ช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำในอเมริกาหรือเรียกว่ายุค The Great Depression หรือช่วงปี ค.ศ.1929 นั้น อเมริกันชนตกงานกันเป็นเบือ ผู้คนยากจนอย่างฉับพลัน ธนาคารหลายพันแห่งของสหรัฐอเมริกาล้มละลาย ตามภาคอุตสาหกรรมและตลาดหุ้น ผู้คนหลายล้านคนสูญเสียเงินและตกงานจำนวนมาก  

ระหว่าง ค.ศ. 1929-1932 รายได้ประชาชาติ (National Income) ของประเทศลดจาก 81,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ เหลือเพียง 41,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ ธุรกิจกว่า 8,500 แห่งเลิกกิจการ คนตกงานกว่า 1.5 ล้านคนในค.ศ. 1929 เพิ่มเป็น 15-16 ล้านคน 

ช่วงเวลาอันลำเค็ญเช่นนี้ เมื่อดาวโจนส์ร่วง ดาวโจรก็รุ่ง!!

โจรนอกกฎหมายผุดขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งคู่รักนักปล้นคู่หนึ่งที่ชื่อ 'บอนนี่กับไคลน์' ที่แม้จะทำเรื่องเลว ๆ อย่างไม่น่าให้อภัย แต่อเมริกันกลับรักใคร่ชื่นชม นายและนางโจรคู่นี้ราวกับซุปเปอร์สตาร์ ไปไหนมาไหนมีแต่คนรักใคร่ปกป้อง จนลืมไปว่าทั้งคู่เป็นโจรปล้นฆ่าตำรวจถึงสิบสองคน

ตามประวัติแล้ว 'บอนนี่ พาร์กเกอร์' และ 'ไคลด์ แบร์โรว์' เป็นคู่ผัวตัวเมียหน้าตาดี ที่ปล้นดะรายทางตั้งแต่ปั๊มน้ำมันไปยันธนาคาร ร่ำลือกันว่าบางครั้งปล้นธนาคารแล้วเอามาแจกจ่ายคนยากจน     

โดนฝั่งบอนนี่เป็นสาวสวยตาสีฟ้าผมบลอนด์ที่ฝันอยากเป็นกวี แต่โชคชะตานำพาเธอมาพบกับหนุ่มรูปหล่อชื่อไคลน์ 

เมื่อทั้งคู่ได้กลายมาเป็นคนรักแล้ว ก็ก่อวีรกรรมร่วมกันปล้น จนเป็นที่กล่าวขวัญในความโหดเหี้ยม เพราะนอกจากปล้นแล้ว ยังฆ่าตำรวจตายไปถึง 12 คน แถมถ่ายรูปไว้ดูเล่นอีกต่างหาก

นอกจากเป็นโจร บอนนี่ยังเขียนบทกวีส่งไปลงตีพิมพ์บ่อย ๆ พร้อมถ้อยคำหยิกแกมหยอก ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปล้นหลงรักเธอทั่วหน้า ที่กระฉ่อนโลกสุด ๆ คือ เธอมักถ่ายรูปในท่วงท่าต่าง ๆ ทั้งสูบซิการ์ก๋ากั่นควงปืนเก๋ไก๋ จนกลายเป็นขวัญใจหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น

ทุกคนหลงรักคู่รักนักปล้น อย่างชนิดที่เรียกว่าติดตามข่าวอย่างใจจดใจจ่อ พลางเอาใจช่วยให้คู่นี้รอดจากการถูกจับ ทั้งที่ก่อกรรมทำเข็ญไว้มากมาย ท้าทายกฎหมายบ้านเมืองที่สุด 

ทั้งนี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ปล้นหนักมือไปหน่อยจนประสบเหตุให้บอนนี่กลายเป็นคนขาเป๋ บรรดาสมาชิกแก๊งโจรอยากลากเธอออกจากกลุ่ม แต่ไคลน์ไม่ยอมเพราะรักสติปัญญาและความมีอารมณ์ขันของเธอ 

ส่วนไคลน์นั้นแม้จะชอบลักรถ แต่ก็มีน้ำใจพอที่จะทิ้งเงินเล็กๆ น้อยๆ ไว้ให้เจ้าของเป็นสินน้ำใจ เลยเปลี่ยนรถเป็นว่าเล่น อาจจะด้วยความที่ไม่อยากให้ตำรวจตามเจอ รวมทั้งชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยทำให้ทั้งคู่มีรถใหม่ตลอดเวลา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top