พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปราย “รายงานผลการใช้งบ พ.ร.ก. เงินกู้โควิด” ที่จัดทำโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง โดยระบุว่า รายงานฉบับนี้มีอยู่สั้นๆ 11 หน้า แต่เป็น 11 หน้าที่ยืนยันถึงความไร้สามารถของรัฐบาลในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
“ในสถานการณ์เช่นนี้สำหรับประชาชนคนทำมาหากินเวลา 1 นาที 1 วินาทีมีค่ามหาศาล การทำงานที่รวดเร็วของรัฐบาลจะช่วยต่อลมหายใจให้ประชาชนยังพอมีแรงสู้ต่อได้ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่า ขณะนี้ประเทศของเรากำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะถ้าดูในเชิงมหภาค ในปีที่ผ่านมา GDP ของเราติดลบ 8% หรือติดลบ 1.3 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลอนุมัติเงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจแค่ 5 แสนล้านบาท และในรายงานเล่มนี้บอกว่ามีการเบิกจ่ายจริงแค่เพียง 3 แสนล้านบาท หรือแค่ 37% ของวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก. ดังนั้น การอนุมัติเงินน้อยจึงแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทำงานเชิงรุกเพื่อพยุงเศรษฐกิจ และการเบิกจ่ายล่าช้าก็แสดงให้เห็นถึงการแก้วิกฤติแบบเช้าชามเย็นชาม”
พิธา ยังได้ยกตัวอย่างจาก โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง หรือโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับเงิน 5,000 บาท เป็นเวลาสามเดือน ซึ่งในรายงานระบุว่า ปัญหาและอุปสรรคของโครงการคือ การที่ไม่สามารถโอนเงินให้ผู้มีสิทธิได้ 1 แสนคน โดยสาเหตุที่ยกมาเป็นเรื่องทางเทคนิคทั้งหมด แม้ว่าต่อมาจะได้แก้ปัญหาจนสามารถโอนเงินให้เกือบครบทุกคนแล้ว แต่รัฐบาลก็จงใจเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
“ผมเคยอภิปรายในสภาแห่งนี้ว่า ผมได้เจอแม่ค้าสองคนอาชีพเดียวกันนั่งขายของแผงข้างๆ กัน คนหนึ่งได้สิทธิอีกคนหนึ่งไม่ได้ ท่านจำได้ไหมว่ามีคนไปกินยาฆ่าตัวตายหน้ากระทรวงการคลัง ท่านจำได้ไหมว่ามีคนฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน นี่คือปัญหาแต่รายงานฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงว่ามันเกิดจากอะไร ถึงตอนนี้ รัฐบาลก็ยังทำผิดซ้ำซาก ทั้งที่มีเวลาเตรียมตัวหลายเดือน อย่างโครงการล่าสุด “เราชนะ” ที่จะแจกเงินที่ให้ประชาชน 3,500 บาท จำนวน 31 ล้านคน เป็นเวลา 2 เดือน ก็ยังคงใช้วิธีเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน
ทั้งที่รัฐบาลสามารถโอนเงินให้ประชาชนได้โดยตรง เพราะเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลก็เพิ่งโอนเงินให้ประชาชนมากกว่า 25 ล้านคนในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” และรัฐบาลเองก็มีข้อมูลประชาชนจากบัตรคนจน และจาก App “เป๋าตังค์” อีกกว่า 14 ล้านคน แต่ดูเหมือนรัฐบาลก็ไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาด ยังทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี บังคับให้ประชาชนใช้เงินผ่าน App เป๋าตังค์เท่านั้น ไม่ยอมให้เบิกเป็นเงินสด เพราะกลัวว่า ประชาชนจะไปใช้จ่ายสิ่งฟุ่มเฟือย”
พิธา ยังแนะนำว่า รัฐบาลต้องลงมาจากหอคอยงาช้างเพื่อมาฟังเสียงของพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น ต้องรู้ว่ามีประชาชนหลายคนที่เขาไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ มีประชาชนหลายคนที่เขาไม่มีเงินเติมอินเทอร์เน็ต ถ้าเป็นเช่นนี้รัฐบาลกำลังทอดทิ้งประชาชนกลุ่มนี้อยู่ เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดโศกนาฏกรรมอีกครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากน้ำมือของรัฐ
สำหรับข้อเสนอ พิธา ระบุว่า ยังคงมีประชาชนกำลังเดือดร้อนแสนสาหัส ขณะที่เรายังเหลือเงินกู้อีกประมาณ 6 แสนล้านบาท ถ้ารัฐบาลยังคิดไม่ออกว่าจะใช้อย่างไร ตนมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ
1.) เงิน 3,500 บาท ที่รัฐบาลจะให้เกือบถ้วนหน้าอยู่แล้ว ให้มีมาตรการ On-top ลงไปตามระดับความรุนแรงของคำสั่งพื้นที่ควบคุม โซนสีแดงเข้มให้เพิ่มเงินเข้าไปอีก 1,500 บาท โซนสีแดงให้เพิ่มเงินเข้าไปอีก 1,000 บาท โซนสีส้มให้เพิ่มเงินเข้าไปอีก 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ทั้งหมดนี้จะใช้งบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
2.) สำหรับแรงงานที่อยู่ในประกันสังคม ให้รัฐบาลเข้ามาช่วยพยุงการจ้างงาน 75% ของรายได้ อยู่ที่ 7,500 บาท ในกรณีที่นายจ้างยอดขายตกมากกว่า 30% ในช่วงที่มีการควบคุมพื้นที่ แม้จะไม่มีคำสั่งปิดธุรกิจนั้นก็ตาม มาตรการนี้ถ้าทำใน 5 จังหวัดแดงเข้ม และกรุงเทพฯ 2 เดือน จะใช้เงินไม่เกิน 2-3 หมื่นล้านบาท
3.) เพิ่มเงินประกันสังคมของธุรกิจที่ถูกสั่งปิดจาก 50% เป็น 75% ให้เท่ากับในมาตรา 75 ของการจ่ายเงินให้ลูกจ้างที่ธุรกิจปิดชั่วคราว
“ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมาชี้แจงกับสภาแห่งนี้บ่อยครั้งว่า การคลังของรัฐบาลยังเข้มแข็ง ผมก็อยากจะเชื่อท่านเช่นนั้น
แต่รัฐบาลต้องกล้าใช้เงิน ใช้อย่างตรงจุด ช่วยประชาชนในเชิงรุก ประเทศของเราจึงจะรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ต้องเลิกคิดนโยบายบนหอคอยงาช้าง เลิกมองความเดือดร้อนของประชาชนว่าเป็นปัญหาส่วนบุคคล และต้องสะกดคำว่าทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนให้เป็น และหันมาดูว่าชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาของพี่น้องประชาชนจริงๆเกิดจากอะไร และจะเยียวยาและแก้ไขความเดือดร้อนเขาได้อย่างไร” พิธา กล่าว