ท่ามกลางข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทำให้ ‘ม.112’ หรือ ‘กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์’ กลับมาเป็นปมของการเมืองไทยอีกครั้ง

ไอติม - พริษฐ์ วัชรสินธุ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าได้ออกมาให้มุมมอง เกี่ยวกับข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมุ้งเป้าไปที่ ‘ม.112’ หรือ ‘กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์’ ซึ่งกลับมาเป็นปมของการเมืองไทยอีกครั้ง

โดย ไอติม มองว่า มาตรา 112 กำลังส่งผลกระทบต่อทั้งต่อประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์เอง

"มาตรา 112 ของไทยขัดกับหลักสากลที่ใช้กันทั่วไปในประเทศที่อยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่สามมิติ

มิติที่หนึ่ง คือความหนักของโทษ มาตรา 112 ของไทยกำหนดโทษจำคุกอยู่ที่ 3 - 15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่หนักมาก ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับมิติไหนก็ตาม ถ้าเทียบกับกฎหมายอื่นๆ ของไทย จะเห็นว่าโทษของมาตรา 112 เทียบเท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา

ถ้าเทียบกับกฎหมายของไทยในอดีตที่มีลักษณะเดียวกัน โทษของมาตรา 112 ในปัจจุบันหนักกว่าโทษในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก ซึ่งในสมัยนั้นได้กำหนดโทษไว้ที่จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 7 ปี แล้วแต่ช่วงเวลา จนกระทั่งถูกยกระดับขึ้นมาเป็น 3 - 15 ปี ตั้งแต่ปี 2519 และใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

หรือหากลองเทียบกับกฎหมายลักษณะเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 112 ของเราก็หนักกว่าอีกหลายชาติเช่นกัน เช่น โมนาโกกำหนดโทษจำคุกครึ่งปี-5 ปี สวีเดนที่ 0-6 ปี เดนมาร์ก 0-8 เดือน และเนเธอร์แลนด์ 0-4 เดือน ขณะที่ประเทศอย่างสหราชอาณาจักร นอร์เวย์ และญี่ปุ่น ไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมายอาญา แต่เป็นกฎหมายแพ่ง จึงไม่มีโทษจำคุก มีแต่เพียงการเรียกร้องค่าเสียหาย

มิติที่สอง คือ ปัญหาในเชิงการบังคับใช้ ซึ่งไม่ได้มีการวางขอบเขตชัดเจนระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต กับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย ในเชิงกฎหมาย การวิจารณ์โดยสุจริตไม่น่าจะเข้าข่ายความผิด เพราะมาตรา 112 เขียนถึงแค่ความผิดจากการที่ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย..” แต่ในทางปฏิบัติ หลายคนที่แม้จะวิจารณ์โดยสุจริต ก็ถูกตัดสินว่าผิด

ปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนตรงนี้ อาจเป็นเพราะในขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 329, 330 ระบุไว้ชัดเจนสำหรับการหมิ่นบุคคลธรรมดา ว่าการ ‘วิจารณ์โดยสุจริต’ หรือการกล่าว ‘ความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน’ เป็นข้อยกเว้นที่ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่ข้อยกเว้นเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกเขียนกำกับกรณีการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่จริงแล้วการเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอาจเป็นประโยชน์ต่อสถาบันเองด้วย

นอกจากนี้มาตรา 112 ยังมีความไม่แน่นอนในการบังคับใช้ เช่น กรณีการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งผู้แชร์ถูกตัดสินว่าผิดมาตรา 112 (ทั้งที่ไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท) แต่สำนักข่าวก็ไม่ได้โดนข้อหานี้แต่อย่างใด (ซึ่งถูกต้องแล้วที่ไม่โดนข้อหา และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเนื้อหาในบทความไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท)

มิติที่สาม คือการที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง ทำให้เป็นคดีที่ยอมความกันไม่ได้ ใครๆ จึงสามารถกล่าวโทษและฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในสองมิติ มิติแรกคือคนบางกลุ่มอาจตัดสินใจฟ้องมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ แต่เมื่อจำเลยถูกตัดสินว่าผิด ความคับแค้นใจก็ไปตกอยู่ที่สถาบันฯ ส่งผลให้สถาบันฯ กลายเป็นคู่กรณี แม้ในบางครั้งสถาบันฯ อาจจะไม่รับรู้หรือไม่ได้ต้องการที่จะเอาผิดก็ตาม และอีกมิติหนึ่งก็คือการที่สถาบันฯ ถูกนักการเมืองบางกลุ่มจงใจนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้าม หรือการนำสถาบันฯ ไปใช้ปกปิดการทุจริต เช่น การระบุว่าเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ จนทำให้คนไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ

ปัญหาของการใช้มาตรา 112 เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองของประเทศถึงสองอย่าง ทั้งต่อประชาธิปไตย-หลักสิทธิมนุษยชน และต่อเสถียรภาพ-เกียรติยศของสถาบันกษัตริย์เอง


ที่มา: เพจ The101.world