สถิติถ้าจงใจเอาไปใช้อย่างผิดๆ (Misuse of statistics) ก็จะกลายเป็นขั้นสูงสุดของการโกหก หรือที่เรียกว่า ‘การโกหกด้วยสถิติ’
มุมมองนี้ถูกกระเทาะจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligenceและ Actuarial Science and Risk Managementคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ได้มีการโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการโกหกด้วยสถิติในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตน โดยมีข้อความดังนี้
ผมในฐานะครูสอนสถิติศาสตร์และสอนการวาดภาพนิทัศน์จากข้อมูล (Data visualization) ต้องขอขอบคุณอดีตพรรคอนาคตใหม่หรือคณะก้าวหน้า และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ทำให้ผมมีตัวอย่างอันชัดเจนเพื่อประกอบการสอนในหัวข้อ ‘การโกหกด้วยสถิติและกราฟ’ (How to lie with statistics and graph) ซึ่งผมสอนให้นักศึกษาที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อยู่แล้วเป็นปกติ
ผมสอนนักศึกษาว่า สถิติ สามารถนำไปใช้โกหกให้คนที่ไม่มีความแตกฉานทางสถิติหรือข้อมูล (Data and statistical literacy) ได้อย่างง่ายดาย และบิดไปมานิดเดียวก็โกหกได้แล้ว
ที่สอนนักศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์อยู่สองอย่าง อย่างแรกคือให้นักศึกษาจับการโกหกด้วยกราฟหรือสถิติได้ จะได้เป็นผู้ตื่นรู้และเท่าทัน อย่างที่สอง คือ สอนว่าอย่าทำเช่นนี้ ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพตนเองไม่ว่าจะเป็นนักสถิติหรือนักวิทยาการข้อมูลก็ตาม ก็ได้สอนเช่นนี้มาโดยตลอด และคิดไตร่ตรองก่อนสอน
อาจจะเป็นเรื่องคุณธรรม/จริยธรรมในวิชาชีพที่ผมได้สอนอย่างเน้นแล้วเน้นอีกตาม มคอ. (กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ) หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (Expected learning outcome) ด้านคุณธรรมหรือจริยธรรม ตามแนวคิดของ กระทรวง อว ที่ผมย้ำแล้วย้ำอีก
...การโกหก
...โคตรของการโกหก
...และสถิติ
สามคำนี้มาจากภาษาอังกฤษ คือ Lie, damn line, and statistics ว่ากันว่าคำนี้มาจาก Benjamin Disraeli รัฐบุรุษชาวอังกฤษ แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันมากว่าใครกันแน่ที่เป็นคนคิดคำพูดนี้เป็นคนแรก แต่นั่นก็ไม่ใช่สาระสำคัญ
สาระสำคัญ คือ สถิติ ถ้าจงใจเอาไปใช้อย่างผิดๆ (Misuse of statistics) ก็จะกลายเป็นขั้นสูงสุดของการโกหก คือการโกหกด้วยสถิติ
ทั้งนี้หากว่ากันด้วยเรื่องของการโกหกนั้น Frank Abagnale (แฟรงก์ อบาเนล) จอมต้มตุ๋นบรรลือโลก ได้เคยเขียนหนังสือ Catch me if you can เอาไว้และได้เอามาทำเป็นภาพยนตร์อันโด่งดัง โดย Frank ได้สอนเคล็ดลับในการโกหกที่สมบูรณ์แบบเอาไว้ว่า วิธีการโกหกที่ได้ผลแยบยลดีที่สุด คือให้เชื่ออย่างหมดหัวใจว่าเรื่องที่ตนเองโกหกนั้นเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น หมายความว่าการจะโกหกให้ได้แยบยลได้ผลดีที่สุดนั้น ต้องโกหกหลอกลวงตนเองให้เชื่อในสิ่งที่ตัวเองโกหกหลอกลวงว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมดอย่างหมดจดหมดหัวใจ จึงจะสามารถโกหกได้อย่างแนบเนียน
วันนี้ผมได้เห็นว่าคณะก้าวหน้าและธนาธร ได้บูรณาการหลอมรวมวิธีการโกหกด้วยสถิติอันเป็นการโกหกขั้นสูงสุดและวิธีการโกหกให้แนบเนียนแยบผลที่สุดคือการโกหกตนเองให้ได้สมบูรณ์และหลอกตัวเองว่าสิ่งที่โกหกนั้นเป็นจริง
โดยจากการแถลงข่าวของคณะก้าวหน้าและธนาธรได้ใช้ทั้งสองวิธีการอย่างน่าทึ่งและคนไทยตลอดจนนักวิชาการทางสถิติศาสตร์และวิทยาการข้อมูลควรจะได้เรียนรู้ไว้ให้แตกฉานถ่องแท้
เราลองมาฟัง/อ่านและวิเคราะห์การแถลงข่าวยอมรับความพ่ายแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 อย่างราบคาบของคณะก้าวหน้าหรืออนาคตใหม่ ที่แถลงไว้ว่า...
“แต่แม้จะไม่ได้ตำแหน่งนายก อบจ. ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลย เราได้รับคะแนนทั้งหมด 2,670,798 คะแนน ซึ่งตนขอขอบคุณทุกคะแนนและความไว้วางใจที่ทุกคนมอบให้ นอกจากนี้ ยังช่วงชิงตำแหน่ง ส.อบจ.ได้ทั้งหมด 57 ที่นั่ง ใน 20 จังหวัด และยังมีส่วนร่วมผลักดันให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงความสำคัญของ อบจ. ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ บ่งบอกว่า คณะก้าวหน้าไม่ได้รับความนิยมลดลงเมื่อเทียบกับสมัยพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งทั่วไป มี.ค. 2562 มีผู้มาใช้สิทธิใน 42 จังหวัด 19.6 ล้านคน พรรคได้รับคะแนนรวมกันกว่า 3.18 ล้านคะแนน ส่วนการเลือกตั้งวานนี้ มีผู้มาใช้สิทธิ 15.7 ล้านคน มีผู้เลือกเรา 2.6 ล้านคน แม้คะแนนดิบดูจะน้อยลง แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของคะแนนแล้ว จะเห็นได้ว่าในรอบ 1 ปีกว่าที่ผ่านมา คะแนนนิยมของเราไม่ได้ลดลง ดังนั้น คะแนนที่พวกเราได้มา เราจึงมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง” (สามารถรับชมได้จากทาง https://www.youtube.com/watch?v=ozNO6DYNc3w ตั้งแต่นาทีที่ 13 เป็นต้นไปเริ่มมีการโกหกด้วยสถิติและเริ่มมีการหลอกตัวเอง)
โดยในเนื้อหานั้นมีการทำภาพกราฟฟิกประกอบการโกหกหลอกลวงตัวเองด้วยว่า
- หนึ่ง แม้ไม่มีผู้สมัครได้รับเลือกในตำแหน่งนายกอบจ.
- สอง แต่ก็ยังมีผู้สมัครได้รับเลือกสมาชิกสภาอบจ 55 คนจาก 18 จังหวัด และ
- สาม คะแนนจากการเลือกนายกใน 42 จังหวัดทั้งหมด 2,670,798 คะแนน
- และสี่ คณะก้าวไกลและกระผม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังได้ช่วยเหลือยกระดับคุณภาพความเข้าใจของประชาชน
ข้อความโกหกหลอกลวงตัวเองที่สำคัญมากคือ คณะก้าวหน้าไม่ได้รับความนิยมลดลงเมื่อเทียบกับสมัยพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งทั่วไป มี.ค. 2562 มีผู้มาใช้สิทธิใน 42 จังหวัด 19.6 ล้านคน พรรคได้รับคะแนนรวมกันกว่า 3.18 ล้านคะแนน ส่วนการเลือกตั้งวานนี้ มีผู้มาใช้สิทธิ 15.7 ล้านคน มีผู้เลือกเรา 2.6 ล้านคน แม้คะแนนดิบดูจะน้อยลง แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของคะแนนแล้ว จะเห็นได้ว่าในรอบ 1 ปีกว่าที่ผ่านมา คะแนนนิยมของเราไม่ได้ลดลง
ทั้งยังได้มีการทำกราฟแท่ง (Bar chart) ประกอบการโกหกด้วยสถิติและการโกหกหลอกลวงตัวเอง โดยประการแรก มีการใช้สัดส่วนที่ผิดมาก (Scale distortion) เรียกว่ามีการบิดเบือนการรับรู้ (Perceptual distortion) ดังนี้
คะแนนของคณะก้าวหน้าได้สองล้านหกแสนจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 63 ที่มีราวสิบห้าล้านเจ็ดแสนหรือคิดเป็นคะแนนนิยมร้อยละ 14 แต่กราฟแท่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 63 ต้องมีความยาวมากกว่ากราฟแท่งคะแนนของคณะก้าวหน้าอย่างน้อย 15.7 ล้าน/2.6 ล้าน หรือ 100%/17% ซึ่งผมลองใช้ไม้บรรทัดวัดแล้วอย่างไรก็ไม่ถึง ห้าเท่าเป็นแน่แท้ จึงเป็นการจงใจโกหกเพื่อให้ดูว่าคณะก้าวหน้าได้คะแนนเลือกตั้ง 63 สูงกว่าความเป็นจริง
เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 กราฟแท่งสีแดง ก็มีสัดส่วนที่บิดเบือน คือคะแนนเลือกตั้งที่พรรคอนาคตใหม่ได้คือ 3.1 ล้าน ส่วนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งปี 2562 เท่ากับ 19.6 ล้านหรือประมาณ 6 เท่า ดังนั้นกราฟแท่งของคะแนนของพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ก็ต้องมีความยาวเพียงแค่ประมาณ 1 ในหก ของกราฟแท่งผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในปี 2562
นอกจากนี้ จำนวนคะแนนเลือกตั้งคณะก้าวหน้าได้ 2.6 ล้านในปี 2563 ส่วนคะแนนของพรรคอนาคตใหม่ 3.1 ล้านในปี 62 ซึ่งห่างกันประมาณ 5 แสนคะแนน หรือเท่ากับ 1 ในหก แต่กราฟแท่งสีขาวในปี 63 กับกราฟแท่งสีแดงในปี 62 มิได้เป็นสัดส่วนกันเท่ากับ 5 ใน 6 แต่อย่างใด มีการจงใจบิดเบือนสเกลของรูปเพื่อให้ดูว่าคะแนนนิยมตกลงไปเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก
ประการที่สอง การบอกแต่ข้อมูลเศษ โดยไม่บอกข้อมูลส่วน หรือบอกแต่ตัวตั้งไม่บอกตัวหาร เป็นการโกหกหรือการพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว แต่ ดร.อานนท์ ได้สืบค้นและรวบรวมมาดังนี้ว่า...
คณะก้าวหน้า ส่งสมาชิกสภาอบจ. 50 จังหวัด รวมจำนวน 1,023 คน เเต่ได้รับเลือก ตามที่ ธนาธร เเถลงคือ 55 คน โดย 42 จังหวัด ส่งเเค่ นายกอบจ. เเละใน 42 จังหวัด ที่ส่งนายกอบจ. มี 39 จังหวัด ส่งทั้งนายกอบจ. เเละ สมาชิกสภาอบจ.
11 จังหวัด ส่งเเค่ สมาชิกสภาอบจ.
39 + 11 รวมเป็น 50 จังหวัด ที่ส่งสมาชิกสภาอบจ.
อ้างอิงจากข้อมูลเว็บไซด์คณะก้าวหน้า ที่บอกว่า จังหวัดไหน ส่งผู้สมัคร นายกอบจ. เเละ ผู้สมัครสมาชิกสภาอบจ. กี่คน เเต่ทางเเอดมิน มานั่งนับเเละรวบรวมสรุปยอดเองครับ https://progressivemovement.in.th/local-election/
ขอเสริมว่าอินโฟกราฟฟิกแสดงผลว่าจังหวัดใดบ้างที่ได้รับการคัดเลือกสมาชิก อบจ. อย่างละกี่คน ก็ไม่ได้ แสดงตัวหาร แสดงแต่ตัวตั้งเช่นกัน เช่น สมุทรปราการ มีสมาชิกอบจ. ทั้งหมด สมมุติว่า 30 คน ก็แสดงแต่ว่าคณะก้าวหน้าได้มา 1 ตำแหน่ง เลือกตั้งทั่วประเทศมีกี่จังหวัดก็ไม่ได้บอก คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครสมาชิกอบจ. กี่จังหวัดก็ไม่ได้รายงาน บอกแค่ว่าตัวเองได้ 18 จังหวัด
ประการที่สาม นอกจากจะไม่บอกตัวหารแล้ว ยังมีอคติในการเลือกลงสมัคร (Bias) เพราะคณะก้าวหน้าไม่ได้ส่งทุกจังหวัดที่มีการเลือกตั้ง อบจ. แน่นอนว่าคณะก้าวหน้าจะเลือกส่งสมัครในจังหวัดที่ตนเองพอจะมีหวังหรือมีแนวโน้มที่จะชนะ จึงส่งแค่ 42 จังหวัด
จังหวัดที่ไม่ส่งในภาคใต้คือ 9 จังหวัด จาก 14 จังหวัด
จังหวัดที่ไม่ส่งในภาคกลางคือ 10 จังหวัดจาก 22 จังหวัด
แน่นอนว่าคณะก้าวหน้าไม่มีฐานเสียงในภาคกลางและภาคใต้มากนัก จึงเลือกที่จะไม่ส่ง ดังนั้นหากพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้ว ไม่มีทางได้ถึง 6.5 ล้าน เพราะที่ได้มา 17% หรือ 2.6 ล้านนั้นมาจากจังหวัดที่พอจะมีฐานเสียงหรือมีความมั่นใจได้เปรียบในระดับหนึ่ง แต่ถ้าสเกลใหญ่ เช่นเลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศซึ่งรวมกรุงเทพมหานครเข้าไปด้วย โอกาสที่จะได้สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 17 จึงเป็นเรื่องยากมาก
คณะก้าวหน้าไม่ชนะคู่แข่งเลยในการเลือกตั้ง สมาชิก อบจ. ในภาคเหนือ 8 จังหวัด ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคใต้ 5 จังหวัด (ส่งห้าจังหวัดแพ้รวดห้าจังหวัด) ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ภาคอีสาน 14 จังหวัด
ผมต้องขอขอบคุณคณะก้าวหน้าและคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้ยกตัวอย่างการโกหกด้วยกราฟและสถิติและสุดยอดเทคนิคในการโกหกให้แนบเนียนแยบยลที่สุดคือการโกหกตัวเองและเชื่อสนิทใจในสิ่งที่ตัวเองโกหกให้ผมสามารถนำไปเป็นตัวอย่างในการสอนวิชาสถิติและการวาดภาพนิทัศน์จากข้อมูล ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ขอย้ำอีกครั้งว่า "ความจริงเท่านั้นที่มีชัย" อันเป็นคาถาภาษิตบนตราแผ่นดินของประเทศอินเดีย เมื่อคราวประเทศอินเดียได้รับเอกราช โดยใช้รูปแกะสลักสิงโตบนยอดเสาพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งเมืองสารนาถ และคาถาภาษิตนี้กำกับข้างใต้ คาถาภาษิตสันสกฤตนี้เขียนไว้ว่า สัตยเมวชยเต (สันสกฤต: सत्यमेव जयते, Satyameva Jayate)
และท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีสิ่งใดสามารถชนะความจริงได้ ดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงกล่าวกับนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม เอาไว้ว่า “ต้องช่วยกันเอาความจริงออกมา”
Echo chamber ของพรรคอนาคตใหม่ คณะก้าวหน้า ธนาธร ปิยบุตร พรรณิการ์ ตลอดจนคณะราษฎรและม็อบปลดแอก จึงแตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมีการบิดเบือนและโกหกหลอกลวงประชาชนเป็นนิจศีล
พุทธศาสนสุภาษิตได้กล่าวไว้ว่า นตฺถิ อการิยํ ปาปํ มุสาวาทิสฺส ชนฺตุโน. (อ่านว่า นัด-ถิ, อะ-กา-ริ-ยัง, ปา-ปัง, มุ-สา-วา-ทิด-สะ, ชัน-ตุ-โน) คนมักพูดมุสา จะไม่พึงทำชั่ว ย่อมไม่มี (ขุ.ธ. ๒๕/๓๘, ขุ.อิติ. ๒๕/๒๔๓) หรือแปลให้ง่ายขึ้นว่า คนโกหก ไม่ทำชั่ว ไม่มี ฉะนี้แล
ขอขอบคุณที่มา: เฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich