'อนุทิน' เมินเปิดเผยสัญญาแอสตร้าเซนเนกา กับ สยามไบโอไซเอนซ์ เพราะเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชน นอกเหนืออำนาจรัฐ อัด ข้อมูล 'ธนาธร' บิดเบือน ไร้ความจริง พร้อมยืนยันไม่หวั่นถูกซักฟอกปมโควิด เชื่อเป็นโอกาสดีได้ชี้แจง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อกล่าวหาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยยืนยัน การดำเนินการไม่ได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่น แต่ต้องยึดหลักความปลอดภัย และคุณภาพของวัคซีน ซึ่งการจัดซื้อมีขั้นตอน ไม่ใช่สั่งซื้อแล้วจะได้ของทันที อีกทั้งการจัดซื้อวัคซีนยังติดเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้าง ที่การจ่ายเงินซื้อจะต้องมีสินค้าอยู่จริงซึ่งแตกต่างกับบางประเทศที่ยอมเสี่ยงจ่ายเงินไปก่อน โดยยังไม่ทราบว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะหากเกิดความเสียหายเงินที่จ่ายไปก็จะสูญเปล่า
ส่วนกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เรียกร้องให้เปิดสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ที่ทำกับบริษัท แอสตร้าเซนเนกา จำกัด กับ สยามไบโอไซเอนซ์ นั้น เห็นว่า ไม่สามารถทำได้เนื่องจากคู่สัญญาเป็นเอกชนทั้งคู่ และอยู่เหนือการควบคุมของรัฐ ยืนยันไม่ใช่วัคซีนผูกขาด เพราะมีการเจรจาซื้อหลายบริษัท ซึ่งเรื่องวัคซีนคนที่รู้ดีที่สุดคือหมอและ คณะกรรมการวิชาการที่ตั้งขึ้นมาศึกษาการใช้วัคซีนโดยเฉพาะ รัฐมนตรีมีหน้าที่เห็นชอบตามที่คณะกรรมการวิชาการเสนอเรื่องมา ซึ่งข้อมูลที่นายธนาธรนำมาเปิดเผยปราศจากข้อเท็จจริง
นายอนุทิน ยังเปิดเผยถึงกรณีที่ไม่มีบริษัทผลิตวัคซีนอื่นมาขอจดทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) ไทย ว่า เราไม่ได้ปิดกั้นแต่ การจดทะเบียนช่วงนี้การใช้ตามสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ อียูเอ ไม่ใช่การจดทะเบียนเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมย้ำถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น
พร้อมกันนี้ นายอนุทิน ยังได้กล่าวถึงกระแสข่าวมีชื่อถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ยืนยันไม่รู้สึกกังวลใจ เพราะเป็นเรื่องปกติที่สถานการณ์โควิด - 19 จะต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าไปอยู่ในโผรายชื่อที่จะถูกอภิปราย แต่เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่จะได้มีโอกาสชี้แจง และบางประเด็นอาจช่วยเสริมคำชี้แจงของรัฐบาลได้ด้วย
ส่วนแนวทางการโหวตของพรรคภูมิใจไทย หากฝ่ายค้านหยิบยกประเด็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวขึ้นมาอภิปราย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแนวทางของพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทาน30 ปี ซึ่งตรงกันกับฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า โครงการนี้ ยังไม่ได้ถูกผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆเกิดขึ้น จึงมองว่าไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมาสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจได้