Thursday, 2 May 2024
นายหัวไทร

'บิ๊กป้อม' เรียกคุย 'สี่กุมาร' หวนคืน พปชร. นี่แหละการเมือง 'ไม่มีมิตรแท้-ศัตรูถาวร'

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เชิญ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และ สนธิรัตน์ สนธิจิระวงค์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย มาร่วมพูดคุยที่ร้านอาหารหรู ในโรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ โดยมี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ละทิ้งพรรคของตนเองมาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ รับตำแหน่งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคร่วมวงด้วย

นี่ไม่ใช่เป็นการนัดทานข้าว แต่เป็นการนัดคุยเรื่องดึงสองคนนี้กลับมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (กลับบ้านเก่า) ซึ่งเป็นการพูดคุยหลังจากที่คุยกันมาบ้างแล้วเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา แต่เป็นการคุยผ่านคนอื่น 

การคุยผ่านคนอื่น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ตอบยินดีเข้าร่วมในรูปแบบ “ลาออก” จากพรรคเดิมแล้วมาสังกัดพรรคใหม่ แปลความได้ว่าพรรคเก่าก็ยังอยู่ ส่วนอุตตม กับ สนธิรัตน์ ยังไม่ตอบรับ จึงต้องให้ พล.อ.ประวิตรมาคุยเอง

ข่าวว่าการพูดคุยเป็นไปด้วยดี แต่ พล.อ.ประวิตรต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ภายในสัปดาห์หน้าจะต้องมีการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยอุตตมจะได้รับมอบหมายให้ดูแลภารกิจด้านเศรษฐกิจของพรรค ส่วนสนธิรัตน์ จะดูแลงานด้านการเมือง

คงจำกันได้ว่า ทั้งอุตตม และสนธิรัตน์ คือผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐมาด้วยกัน จับมือแน่นกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สุวิทย์ เมษินทรีย์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล โดยทั้งหมดรับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเครื่องบรรณาการ แต่เมื่อถึงเวลากลุ่มทุนของพรรค ก็จับมือกันถีบไสไล่ส่งทีมสี่กุมารอย่างไม่ปรานีปราศรัย และไร้ซึ่งน้ำใจ แบบกระบี่ไร้น้ำใจ จนทั้ง 5 ต้องกระเด็นพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะที่กลุ่มทุนพรรคทุกวันนี้ก็ยังอยู่

สมคิด, อุตตม และสนธิรัตน์ จับมือกันจัดตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย โดยมีสมคิดเป็นประธานพรรค มีอุตตม เป็นหัวหน้าพรรค และสนธิรัตน์เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนอีกสองกุมาร สุวิทย์, วีระศักดิ์ ไม่กลับเข้าสู่วงการการเมือง ย้อนกลับไปทำอาชีพเดิม

แนวทางของสร้างอนาคตไทย ส่อว่าจะเดินไปยากกับรัฐธรรมนูญใหม่ บัตรสองใบ และสูตรหาร 100 ประกอบกับกระแสก็สร้างไม่ขึ้น ข่าวการรวมพรรคกับพรรคไทยสร้างไทย ของ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง มีการนัดเจรจากันหลายรอบ แต่ยังไม่ลงตัวเรื่องตำแหน่ง เรื่องผู้สมัครที่ทับซ้อนกัน รวมถึงกลุ่มทุนสนับสนุน

เมื่อจะเดินไปข้างหน้า ก็เห็นแต่ป่ารกทึบ ถนนก็ขรุขระ แกนนำของสร้างอนาคตไทยก็ต้องหาทางออก จึงเปิดดีลกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มีกรณ์ จาติกวณิช ทิ้งพรรคกล้ามารับเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งดีลนี้ก็มีปัญหาคล้ายๆ กับดีลไทยสร้างไทย จึงยังไม่มีข้อยุติใดๆ 

ครั้นกับการเมืองที่เดินมาใกล้เลือกตั้งเต็มทีแล้ว ด้านพรรคพลังประชารัฐก็ยังจัดทัพไม่ลงตัว หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถอนสมอออกไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และมีคนส่วนหนึ่งไหลไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยนั้น

ดีลใหม่กับทีมสี่กุมารจึงเกิดขึ้นในสมองของ พล.อ.ประวิตร และเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น จนถึงขั้น 'บิ๊กป้อม' ต้องมานั่งพูดคุยเอง 

แม้ดูโดยภาพรวมการเจรจาจะราบรื่น แต่เชื่อว่าแผลที่กลัดหนองในใจของทีมสี่กุมาร ยังมีอยู่ และเจ็บลึก ยังไม่รู้ว่าจะร่วมภารกิจไปได้แค่ไหน เมื่อกลุ่มทุนพรรคที่รวมหัวกันถีบกลุ่มสี่กุมารออกไปจากพรรค และพ้นตำแหน่งรัฐมนตรียังลอยหน้าลอยตาอยู่ในพรรค หรือว่านี้คือ “การเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” จริงๆ 

แต่เมื่อทีมสี่กุมาร ก็ยากที่จะเดินไปข้างหน้า เดินไปก็มีแต่จะเข้ารกเข้าพง การมาเดินบนถนนคอนกรีตจึงน่าจะดีกว่า

‘บังเลาะ’ เด็กปั้น ‘นิพนธ์’ มั่นใจแจ้งเกิด ปักธงช่วยประชาธิปัตย์เข้าวิน เขต 2 ยะลา

‘บังเลาะ’ ลั่นลงสนาม ส.ส.พิสูจน์ฝีมืออีกครั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 ยะลา เหมือนเดิม หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 พ่ายให้กับ ‘ซูการ์โน มะทา’ พรรคประชาชาติ

“การเลือกตั้งครั้งที่แล้วผมมีเวลาเตรียมตัวน้อย เพียงไม่กี่วัน แต่คราวนี้เราเตรียมตัวมา 4 ปี จึงมีความพร้อมมากกว่า จากการสัมผัสชาวบ้านรู้สึกได้ว่าเขาอิ่มตัวกับนักการเมืองเก่า ต้องการเปลี่ยนบ้าง” บังเลาะ หรือ อับดุลย์เล๊าะ บูวา กล่าว

สำหรับเขต 2 ยะลา น่าจะประกอบด้วย อ.เมืองยะลา (เฉพาะ ต.บุดี เปาะเส้ง และ ต.บันนังสาเรง) อ.รามัน ยะหา (ยกเว้นต.ยะหา ตาชี และ ต.บาโงยซิแน) อ.กาบัง ปัจจุบันมีซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ เป็น ส.ส.อยู่

อับดุลการิม เด็งระกีนา อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คราวที่แล้วลงสนามพร้อมสวมเสื้อพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของลุงกำนัน (สุเทพ เทือกสุบรรณ) แต่พ่ายให้กับซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ (ปช.) น้องชาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นักการเมืองมุสลิม และ แกนนำ ‘กลุ่มวาดะห์’ ซึ่งตัวซูการ์โนเคยเป็นผู้ช่วย ส.ส. เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยะลา 2 สมัย เคยเป็น ส.ส.สังกัดพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.คนเดียวของพรรคในพื้นที่ ภาคใต้ โดยปี 2554 ซูการ์โนได้ลงสมัครในสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) เขตเลือกตั้งที่ 2 แต่พ่ายให้กับ อับดุลการิม เด็งระกีนา จากพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมองข้ามอีกคนหนึ่งในเขตนี้ไปไม่ได้ นั่นคือ ริดวาน มะเต๊ะ จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีดีกรีเป็นอดีต ส.อบจ.เขต อ.รามัน และมีบิดาชื่อ มะโซ๊ะ มะเต๊ะ เป็นอดีตกำนันคนดังแห่ง ต.ตะโละหะลอ อ.รามัน และในอดีตยังเป็นหัวคะแนนให้กับ อดีต ส.ส.ในพื้นที่มาแล้ว แต่คราวที่แล้วเขายังเดินไปไม่ถึงฝั่งฝัน

กล่าวสำหรับ ‘บังเลาะ-อับดุลย์เล๊าะ บูวา’ ยังคงมุ่งมั่นกระโดดเข้าสู่การเมืองระดับชาติ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันเป็นรองนายกเทศบาลตำบลโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา

บังเลาะ เข้าศึกษาต่อในตลาดวิชา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยระบบการศึกษาแบบ ‘แพ้คัดออก’ เข้าร่วมทำกิจกรรม ร่วมกับ ชมรมมุสลิม ม.รามคำแหง และกลุ่ม PNYS ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษามุสลิมที่มีพลังมากในรามคำแหง บังเลาะสนใจการเมืองมาตั้งแต่ต้น จึงเข้าร่วมกับพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า คือนักศึกษา 7 คณะ พรรคสานแสงทอง เช่น กิจกรรมออกค่ายอาสา กิจกรรมอบรมทางวิชาการ กิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และอื่น ๆ อีกมากมาย

หลังจบการศึกษาเข้าทำงานที่บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด ทำงานที่เนชั่น 24 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือ หัวหน้าซับเอดิเตอร์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่เนชั่น ได้เรียนรู้ถึงข้อมูลข่าวสารและแนวทางการวิเคราะห์ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งได้เผชิญกับวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ มาหลายยุคหลายสมัย เมื่อถึงเวลาอิ่มตัวกับงาน จึงตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าเดินทางกลับบ้านเกิด หมายมั่นทำงานการเมืองรับใช้บ้านเกิด

“ออกจากเนชั่นด้วยความคิดที่ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าสักวันจะต้องกลับสู่บ้านเกิด สิ่งที่จะทำคือการได้มีโอกาสในการใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เพื่อนำไปพัฒนาในพื้นที่ รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่างท้องถิ่น กับ หน่วยงานภาครัฐ เพื่องานจะได้คล่องตัวและราบรื่น”

บังเลาะ กล่าวว่า การเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น คือ เป็นการทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่แคบ ๆ และจำกัด แต่การเมืองระดับชาติ ถือ เป็นงานใหญ่ที่จะได้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างกว้างขวาง ซึ่งในพื้นที่เขต 2 ที่รับผิดชอบจะมีนักการเมืองที่เกือบจะผูกขาดมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ได้ทำอะไรกับประชาชนพอสมควร ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โอกาสคนรุ่นใหม่ จะได้ช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อับดุลย์เล๊าะ บูวา มั่นใจว่า การเลือกตั้งรอบใหม่นี้ ผมมีความหวังเต็ม 100 ที่จะได้รับการเลือกตั้ง โดยการเข้าถึงชาวบ้านในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง โดยได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านว่า ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนสักที และด้วยนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ โดนใจชาวบ้านอย่างที่สุด เช่น การประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ปาล์ม เป็นต้น รวมทั้งการเร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนดและให้สิทธิ์ทำกินในที่ดินของรัฐ ถือเป็นหัวใจหลักที่ได้เสียงตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก

บังเลาะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยะลาเป็นเมืองเกษตรกรรม มีผลไม้มากมาย ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น รัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง อนาคตเราจะเสนอให้ยะลาเป็น ‘เมืองฮับทุเรียน’

เลือดใหม่ประชาธิปัตย์ ‘อับดุลย์เล๊าะ บูวา’ ที่ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จูงมือมาลงสมัคร และหมายมั่นปั้นมือจะปั้นให้แจ้งเกิดให้ได้

ข้อมูลเคียงข่าว

จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีพืชทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 4 ชนิด ทุเรียน  ลองกอง เงาะ และมังคุด โดยไม้ผลที่ปลูกมากที่สุด คือ ลองกอง มีพื้นที่ปลูก 157,300 ไร่ รองลงมาเป็น ทุเรียน มีพื้นที่ปลูก105,135 ไร่ มังคุด มีพื้นที่ปลูก 39,630 ไร่ และ เงาะ มีพื้นที่ปลูก 39,446 ไร่ ตามลำคับ

ส่วนไม้ผล ที่เป็นที่รู้จักและนิยมของผู้บริโภคมากที่สุด คือ ลองกอง โดยฉพาะลองกองตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากเป็นลองกองที่มีรสชาติทวาน หอม และอร่อย

นอกจากนี้ ทุเรียน ชายแดนใต้ นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิด ที่ได้รับความนิยมเพิ่มการปลูกมากขึ้น ด้วยปัจจัยจากราคา ทำให้ทุเรียน ออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

สงคราม 'ข่าวลือ' ว่อน!! ใต้ลมการเมืองเปลี่ยน เกมป่วนประสาทคู่แข่ง ที่ไร้ความสร้างสรรค์

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดข่าวลือมากมาย ข่าวจริงก็เยอะ แต่ก็ยากที่จะกลั่นกรอง ซึ่งข่าวลือที่เกิดขึ้นอาจจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน บางคนต้องการสะท้อนมุมมองทางสังคมในเวลานี้ว่าเป็นอย่างไร บางคนต้องการโยนประเด็นเพื่อหาคำตอบ แต่มีบางคนปล่อยข่าวหวังผลทางการเมือง บิดเบือน ทำลาย

ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการปล่อยข่าวออกมาว่า ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ ส.ส.นครศรีธรรมราช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เนื่องจาก ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พอใจ ส.ส.แทนในบางเรื่องบางประเด็น

นายหัวไทร ก็ยกหูหาเจ้าตัวโดยตรง แทนบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ ไม่เป็นความจริง จะเป็นไปได้ไง ผมเป็นแกนนำประชาธิปัตย์ในนครศรีธรรมราช และเป็นกรรมการบริหารพรรค

ไม่ใช่แค่นั้น เพียงสองอาทิตย์คล้อยหลังก็มีการปล่อยข่าวออกมาอีกว่า แกนนำคนสำคัญสองคนของพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จะไปลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ

“เป็นการปล่อยข่าว บิดเบือน จ้องทำลายของพรรคการเมืองบางพรรค ที่เขาเองยังไม่ลงตัว ผมอยากเรียกร้องให้ยุติการปล่อยข่าวทำลาย บิดเบือน มาทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์กันดีกว่า” แทน กล่าว

หลังจากนั้น ส.ส.แทนก็ออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืนเดินในการเดินหน้าไปสู่สนามเลือกตั้ง พร้อมว่าที่ผู้สมัครอีก 8 คน และแถลงข่าวย้ำอีกครั้งที่รัฐสภา

นายหัวไทร ยกหูไปหา ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็กล่าวยืนยันเช่นกันว่า เป็นไปไม่ได้ที่แทนจะไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ และในพรรคก็ไม่มีการหารือกันถึงเรื่องนี้

ข่าวลือยังมีการปล่อยกันถึงขั้นว่า ‘ชำนิ ศักดิเศรษฐ์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และมีฐานะเป็นน้าของ ส.ส.แทน ได้นำ ส.ส.แทน ไปจับเข่าคุยกับจุรินทร์แล้ว คุยกันรู้เรื่องแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นข่าวลือเกี่ยวกับ ส.ส.แทนกับพรรคประชาธิปัตย์ในนครศรีธรรมราช วงน้ำชา-กาแฟ ถกกันแต่เรื่องนี้เป็นด้านหลัก แม้แทนจะรับบทเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการจัดประชุมว่าที่ผู้สมัครในภาคใต้ทั้งหมดระหว่าง 11-12 กุมภาพันธ์นี้ที่ รร.ทวิลโลตัส จ.นครศรีธรรมราช ข่าวลือเหล่านี้ก็ยังไม่จางหายไปเสียทีเดียว

วัดพลังสองพรรคใหญ่ 'ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย' ต่างคนต่างมั่นใจ ในศึกชิงเก้าอี้ ส.ส.เมืองคอน

ช่วงวันที่ 11-12 ก.พ.66 ที่ผ่านมา สองพรรคการเมือง อย่าง ประชาธิปัตย์ และ ภูมิใจไทย ได้จัดกิจกรรมทางการเมืองพร้อมกัน และเป้าหมายเดียวกัน คือ ส่งขุนพลลุยเมืองคอน เป้าหมายยึดฐานเมืองคอนให้ได้ ดังนี้...

- ประชาธิปัตย์ขนขุนพลไปเปิดสัมมนาผู้สมัครจากภาคใต้ทั้งหมด 58 เขตเลือกตั้ง 'จุรินทร์' ลั่นหวังกวาดยกจังหวัด 9 ที่นั่ง 

- ภูมิใจไทย จัดกิจกรรมอบรมว่าที่ผู้สมัคร โฆษกบนเวทีเกี่ยวกับทักษะการพูดในที่ชุมชน การเตรียมตัวปราศรัย สองวันเต็มอิ่มกับวิทยากรจากรายการสภาโจ๊ก ด้าน 'อารี ไกรนรา' ลั่น!! มั่นใจ-พร้อม 100% เตรียมเปิดตัวผู้สมัคร และเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เชื่อปักธงภูมิใจไทยในเมืองคอนได้แน่นอน

- นิด้าโพลสำรวจคนคอน ยังเลือกลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 ตามด้วยอุ๊งอิ๊ง ส่วนพรรคการเมือง ยังเป็นประชาธิปัตย์มาอันดับ 1 แต่น่าแปลกใจ เลือกเพื่อไทยมาอันดับ 2

>> ปรากฏการณ์แรก
'จุรินทร์' เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคใต้ 58 เขตครบ มั่นใจกวาดเรียบ

เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันที่ 11 ก.พ.2566 ที่โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้สพรรค ปชป.ได้เดินทางมาเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ของภาคใต้ 14 จังหวัดภาคใต้ ครบทั้ง 58 เขต 58 คน โดยมีแกนนำพรรคปชป.ประกอบด้วยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน, นายนิพนธ์ บุญญามณี, นายเดชอิศน์ ขาวทอง มาร่วมเปิดตัวในครั้งนี้ด้วย

นายจุรินทร์ ได้แถลงว่าพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่อยู่คู่กับประเทศชาติมายาวนานมีขึ้นมีลงบ้างเป็นธรรมดาของพรรคการเมืองทุกยุคทุกสมัย วันนี้พรรคประชาธิปัตย์พร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนของภาคใต้ทั้ง 58 เขต วันนี้พรรคประชาธิปัตย์พร้อมแล้วในการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครภาคใต้ทั้ง 58 เขตเลือกตั้งและมั่นใจจะสามารถกวาดคว้าชัยชนะหมดทั้ง 58 เขต

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีการเปิดตัว ว่าที่ผู้สมัครในพื้นที่ภาคใต้ ครบทั้ง 58 เขตเลือกตั้ง ถือเป็นพรรคแรกของประเทศ ที่แสดงความพร้อมของกับการเสนอตัวรับใช้ประชาชนในภาคใต้ จากเดิมเมื่อปี 2548 ทางพรรคฯ ส่งผู้สมัครไปแค่ 53 เขต ได้รับการเลือกตั้งมากถึง 51 เขต ในสมัยนายบรรทัดฐาน นั่งดำรงตำแหน่ง หน.พรรคฯ การเลือกตั้งสมัยหน้า ขอประกาศว่า พรรค ปชป.พร้อมสู้ทุกเขต พร้อมคัมแบ็คทั้ง 58 เขตเลือกตั้ง และในวันนี้ทางพรรคฯ ได้เสนอทางเลือกที่ดีที่สุดกับคนภาคใต้ ยืนยันได้จากจำนวน ส.ส.จำนวน 18 คน ที่ยังคงเป็นตัวแทนชาวบ้านอยู่ในตอนนี้ และรวมไปถึงบุคคลที่เป็นรัฐมนตรี และ อดีตรัฐมนตรี ทั้ง 4 คน ไม่ว่าจะเป็น นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ, นายสาธิต วงค์หนองเตย, นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ 

ทางพรรคฯ ไม่มีความหวั่นไหว และมั่นใจว่ายังครองใจคนภาคใต้ได้อยู่ ขอให้คนภาคใต้ช่วยกันสนับสนุน ลงคะแนนเลือก พรรคที่เคียงข้างประชาชน มาตลอดเวลา 76 ปี และในฐานะ ที่ตนเองก็เป็นคนภาคใต้ มีจิตวิญญาณคนใต้ ที่จะนำ พรรค ปชป.กลับคืนสู่ประชาชนต่อไป

>> ปรากฏการณ์ที่ 2
'อารี ไกรนรา' จัดอบรมทักษะการพูด-การปราศรัยให้กับว่าที่ผู้สมัคร-โฆษกบนเวที เตรียมเปิดต้ว 9 ผู้สมัครภูมิใจไทยเมืองคอน และปราศรัยใหญ่ เป็น 26 กุมภาพันธ์ เจอกันที่ทุ่งท่าลาด

เขตเลือกตั้งโซน 'ชะอวด-จุฬาภรณ์' นครศรีฯ ในจังหวะที่ กกต. อาจต้องแบ่งเขตใหม่หมด

กล่าวถึงเขตเลือกตั้งโซน 'ชะอวด-จุฬาภรณ์' ซึ่งอาจจะหมายรวมถึง หัวไทร, เชียรใหญ่, เฉลิมพระเกียรติ, พระพรหม และร่อนพิบูลย์ด้วย ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะแบ่งเขตออกมาอย่างไร?

ยิ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาดว่าให้ตัดต่างด้าวออกไปจากระบบคำนวณแบ่งเขต กกต.ก็ต้องไปแบ่งเขตใหม่หมด เพราะ ส.ส.นครศรีธรรมราชจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 คนโดยบัดดล จากปัจจุบันที่มีอยู่ 8 คน และจะเพิ่มเป็น 9 คน ตามฐานจำนวนประชากร

กล่าวสำหรับเขตเลือกตั้งโซนชะอวด, จุฬาภรณ์, พระพรหม และเฉลิมพระเกียรติ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เทพไท เสนพงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ คว้าชัยเดินเข้าสภา แต่เมื่อเทพไทถูกศาลตัดสินจำคุก และตัดสิทธิ์ทางการเมือง ครั้นเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม 'อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ' จากพรรคพลังประชารัฐ กลับมาเป็นฝ่ายชนะจากที่เคยแพ้ให้เทพไท

กล่าวสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2566 นี้ เราเอาสมมุติฐานว่า เขตเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลงมากนักแน่นอนว่า 'อาญาสิทธิ์' ยังอยู่พรรคเดิมพลังประชารัฐ โดยมีคู่แข่งที่ปรากฏตัวชัดแล้ว เช่น ณัฐกิตติ์ หนูรอด จากพรรคภูมิใจไทย คนถิ่นฐานควนเคร็ง อดีตปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ที่ตัดสินใจลาออกจากราชการก่อนเกษียณเพื่อลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกคนที่เผยโฉมตามมาคือ 'สิทธิรัก ทิพย์อักษร' แห่งชมรมสำนึกรักบ้านเกิด ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่พงศ์สิน เสนพงศ์ น้องชายของเทพไทหลีกทางให้ 'นายหัวสิทธิ์' ก็ไม่ธรรมดา มีเครือข่ายมาก ทำงานช่วยเหลือสังคมมาไม่น้อย

ปชป. คว้า ‘ดร.ปิยกาญจน์’ ปักธงเมืองลุง เขต 2 มั่นใจ!! กระแสตอบรับดี - คนในพื้นที่ไว้วางใจ

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเปิดตัว 3 ผู้สมัครในจังหวัดพัทลุงในวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม เวลา 15.00-20.00 น. ณ สนามกีฬาสิริวัณวลี อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

สำหรับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง 3 คน ประกอบด้วย เขต 1 คือ ‘สุพัชรี ธรรมเพชร’ อดีต ส.ส.จากตระกูลบ้านใหญ่ ที่ยังคงมั่นอยู่กับประชาธิปัตย์ 

เขต 2 คือ ‘ดร.ปิยกาญจน์ สุพรรณชนะบุรี’ หรือ ดร.เดย์ ลูกสาวของ สานันท์ สุพรรณบุรี อดีต ส.ส. 2 สมัย อดีตนายกฯ อบจ.พัทลุง 2 สมัย ได้วางมือทางการเมืองไปแล้ว 

ส่วนเขต 3 ก็เป็น ‘นริศ ขำนุรักษ์’ ส.ส. 5 สมัยของพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย

ส่วนแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมาร่วมเวทีเปิดตัวผู้สมัคร และปราศรัย เบื้องต้นประกอบด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค, นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค ผอ.เตรียมการเลือกตั้ง, นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา รองหัวหน้าพรรคภาคใต้, ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองเลขาธิการพรรค

ลูบคมนายหัวตรัง รทสช. ฉก 'หลีกภัย' ชน ปชป. จับตา 'โกหน่อ' ช่วยใคร?

พลันที่นายหัวชวน 'ชวน หลีกภัย' ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแฉว่า มีมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่วิ่งหาคนนามสกุล 'หลีกภัย' มาลงแข่งที่ตรัง ด้วยความอยากช่วยนายกฯ จึงต้องสืบค้นว่า นายตำรวจใหญ่คือใคร ไปทาบทามใคร

สนามการเมืองจังหวัดตรัง ถือเป็นเมืองหลวงของประชาธิปัตย์ ถิ่นกำเนิดของ 'ชวน หลีกภัย' ที่ทุกคนยอมรับในความซื่อสัตย์สุจริต เป็นนักการเมืองมือสะอาดคนหนึ่งของประเทศไทย ที่อยู่ยงคงกระพันบนเวทีการเมืองมาตั้งแต่ปี 2512 จนถึงปัจจุบัน และในการเลือกตั้งสมัยหน้ายังจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ หนุนหลัง 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แบบเต็มกำลัง

'ประชาธิปัตย์' ยึดครองสนามตรัง 3-4 ที่นั่งมายาวนาน เพราะชื่อชั้นของ 'นายหัวชวน' เป็นเครื่องหมายการค้า ที่ประชาชนยอมรับ ดังนั้น ไม่ว่าประชาธิปัตย์จะส่งใครลงสนามตรัง ประชาชนชาวตรังก็ยินดีที่จะเลือกให้เป็นผู้แทนโดยไม่มีข้อกังขา แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของ 'นายหัวชวน' ถูกนักเลงดีจากพรรคพลังประชารัฐ 'นิพันธ์ ศิริธร' อดีตรองผู้ว่าฯ ตรัง มาแย่ง 'หมอสุกิจ' นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.หลายสมัยจากประชาธิปัตย์ ปาดหน้าเข้าวินเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ทำให้ประชาธิปัตย์ได้แค่ 2 ที่นั่งในจังหวัดตรัง จาก 3 ที่นั่ง

กล่าวสำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 จ.ตรัง ได้ ส.ส.เพิ่มจาก 3 เขตเป็น 4 เขต โดยเขต 1 'นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์' ปฏิเสธลงสมัคร จึงไปคว้า 'นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น' คนใกล้ชิดคนในครอบครัว 'หลีกภัย' ลงแทน ซึ่งในเขตนี้ 'พลังประชารัฐ' อาจจะส่ง 'กิตติพงษ์ ผลประยูร' อดีตที่ดินจังหวัดตรังลงแทน 'นิพันธ์ ศิริธร' ที่ทำท่าว่าจะไม่ไปต่อในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ในการเปิดตัวผู้สมัครของพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ยังปรากฏชื่อนิพันธ์ ศิริธร อยู่

ส่วนรวมไทยสร้างชาติ ฮึดสู้ในสนาม 'หลีกภัย' #นายหัวไทร ทราบว่า มีการส่งนายตำรวจใหญ่ชื่อเสียงโด่งดัง ไปทาบทาม 'ถนอมพงษ์ หลีกภัย' รองนายกเทศมนตรีนครตรัง' ให้มาลงสมัครรับเลือกตั้ง ผ่านกำนันคนดังเจ้าของบ้านทรงไทย นี่แหละคือประเด็นที่นายหัวชวน กล่าวถึง

เขต 2 ประชาธิปัตย์ยังคงส่ง 'เสี่ยตาล' สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.หลายสมัย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงรักษาแชมป์ มี 'ทวี สุรบาล' เจ้าเก่าในนามพลังประชารัฐลงท้าชิง

เขต 3 ประชาธิปัตย์ส่ง 'สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ' ทายาทของ 'โกหน่อ' สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรังหลายสมัยลงรักษาแชมป์ โดยมี 'พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ เรืองนัฐพงษ์' ลงชิง และมี 'อำนวย นวลทอง' เพื่อนซี้โกหน่อ ลงประชันด้วยในนามรวมไทยสร้างชาติ

เขต 4 ประชาธิปัตย์ โดย 'โกหน่อ-สมชาย โล่สถาพรพิพิธ' หักด่านคนในตระกูล 'หลีกภัย' ผ่านผลโพลล์ไม่ส่ง 'สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล' เลขานุการประธานสภาฯ 'ชวน หลีกภัย' ซึ่งเคยเป็น ส.ส.เขตนี้ ส่ง 'สท.กานต์ ตั้งปอง' ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น สายเลือดใหม่ลงในเขตนี้แทน เป็นเหตุให้ 'สมบูรณ์' ลาออกจาก 'ประชาธิปัตย์' และลงสมัครรับเลือกตั้งในนามรวมไทยสร้างชาติ 'พลังประชารัฐ' ส่ง 'พล.ต.ต.บรรลือ ชูเวทย์' อดีตผู้การจังหวัดตรัง ลงแข่ง

หักหน้า 'กกต.' เมื่อ 8 จังหวัดต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ หลังบทสรุป 'ราษฎรไทย' ไม่ได้หมายรวมถึงคนต่างด้าว

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86 (1) ซึ่งกำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ที่ประกาศในปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า ‘ราษฎร’ ไม่หมายรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย

เป็นคำวินิจฉัยที่ตรงใจประชาชน และหักหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ใส่ต่างด้าวเข้ามาเป็นฐานคำนวณในการแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย 

โดยให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันนี้ (3 มี.ค.66) เป็นต้นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมา

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง(2) ว่า การคิดคำนวณจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค. ของปีที่ล่วงมามาใช้ในการคิดคำนวณจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ถูกต้องหรือไม่ เป็นการยื่นคำร้องหลังจากมีเสียงค้านอื้ออึงในการนำต่างด้านเข้ามาร่วมคำนวณการแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย ทำนองว่า ต่างด้าวเกี่ยวอะไรกับการเมืองบ้านเรา และมีการร้องไปยัง กกต.บ้าง ร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินบ้าง เพื่อให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และ กกต.ก็สุดจะทนแรงเสียดทาน หรือกลัวคุกก็ไม่ทราบได้ ตัดสินใจส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

‘นิพนธ์’ สยบข่าวบีบ ‘ชัยชนะ’ ไม่ให้ลง ส.ส. เชื่อเจ้าตัวไม่มีเจตนาร้าย ปมปราศรัยด้อยค่า ม.ทักษิณ

'นิพนธ์' ปฏิเสธ ข่าวบิ๊ก ปชป. บีบ ส.ส.ชัยชนะ ไม่ให้ลงสมัคร ส.ส. เชื่อ!! เจ้าตัวไม่มีเจตนาร้าย ยัน!! เป็นกำลังสำคัญสู้ศึกเลือกตั้งที่นครศรีฯ 

วันนี้ (6 มี.ค. 66) นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาปฏิเสธข่าวลือ ที่มีการปล่อยข่าวว่ากรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจและมีการกดดัน ส.ส.ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ว่าจะไม่ให้ลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้ง ว่าไม่เป็นความจริง 

จากกรณีปราศรัยที่ จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 4 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความเข้าใจเจตนาที่คลาดเคลื่อนนั้น ต่อมา ส.ส.ชัยชนะ ก็ได้ออกมาขอโทษกรณีดังกล่าวแล้ว โดยส่วนตัวคิดว่า เจ้าตัวไม่ได้มีเจตนาที่จะด้อยค่าสถาบันการศึกษาในประเทศ เพียงแต่ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความพร้อมของผู้สมัครที่ต้องการนำความรู้ต่างๆ มาพัฒนาบ้านเกิดให้เจริญรุ่งเรืองเท่านั้น

อธิการบดี ม.ทักษิณ ไม่ถือโทษ หลัง ‘แทน-ชัยชนะ’ เข้า ‘ขอขมา’

(7 มี.ค. 66) นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายสานันท์ สุพรรณชนะบุรี ได้เดินทางเข้าพบรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อขอขมา-ขอโทษ กรณีนายชัยชนะ กล่าวปราศรัย หาเสียงทางการเมืองที่จังหวัดพัทลุงเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2566 ซึ่งพาดพิงถึง มหาวิทยาลัยทักษิณ ในทำนองดูแคลนผู้สมัครจากพรรคการเมืองคู่แข่ง ว่าสำเร็จการศึกษาจาก ม.ทักษิณ ไม่ได้จบการศึกษาจากต่างประเทศแบบพรรคของตน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top