Thursday, 2 May 2024
นายหัวไทร

ประเด็นปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลเวลานี้

1.การเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีขั้นตอนทางกฎหมายบางอย่างที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ใช่ลงคะแนน 14 พฤษภาคมแล้วจบ เสร็จกัน

2.หน่วยเลือกตั้ง 95,000 กว่าหน่วย จะต้องตรวจสอบว่า มีหน่วยไหนมีปัญหาจะต้องลงคะแนนใหม่ หรือมีปัญหาอื่นใดหรือไม่

3.มีข้อร้องเรียนทั้งหมด 280 เรื่อง บางเรื่องพิจารณาเสร็จแล้ว รอให้ 7 เสือลงมติ บางเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนเพื่อสรุปสำนวนจาก กกต. จังหวัด

4.สำนวนที่ถึงเมื่อ กกต. กลางแล้ว มีการเสนอใบแดง 20 กว่าใบ ยังเหลือสำนวนที่ยังไม่แล้วเสร็จอีกจำนวนหนึ่ง อาจจะเป็นใบแดง ใบส้ม ใบเหลือง หรือยกคำร้องก็เป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงจากการสอบสวน

5.สรุปน่าจะมีใบแดง ใบส้ม ใบเหลือง 37 ใบ ใบแดงต้องให้ศาลตัดสิน ส่วนใบส้ม ใบเหลืองเป็นอำนาจของ กกต.

6.ใบแดง ต้องเปิดรับสมัครใหม่ ตัดสิทธิ์คนเดิมที่ได้ใบแดง

7.ใบส้ม ใช้ผู้สมัครชุดเดิม แต่ตัดสิทธิ์คนได้ใบส้ม

8.ใบเหลือง ใช้ผู้สมัครชุดเดิม ไม่ตัดสิทธิ์คนได้ใบเหลือง

9.กกต. น่าจะรับรอง ส.ส. ได้ 95% หรือมากกว่าในกรอบ 60 วัน

10.การให้ใบแดง เข้าใจว่า ไม่น่าจะทันในกรอบ 60 วัน เพราะต้องส่งให้ศาลตัดสิน กกต. จึงน่าจะรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลัง

กล่าวสำหรับนครศรีธรรมราช 10 เขตเลือกตั้ง มีเรื่องร้องเรียนไม่น้อย ทั้งจัดเลี้ยง ซื้อเสียง จับซื้อเสียงได้ สัญญาว่าจะให้ เป็นต้น เขตเลือกตั้งที่เข้าข่ายว่าอาจจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่มี 2-3 เขต มีบางเขตทหารจับซื้อเสียงได้ บางเขตจัดเลี้ยง (มีหลักฐานเป็นคลิป-มีเสียงพูดชักชวน) ส่วนการจับซื้อเสียงเป็นการกระทำของผู้อื่นไม่ใช่ผู้สมัคร

นำเรียนย้ำอีกครั้งว่า ที่โทรเช็คโทรถามกันมากว่าเขตไหนโดน ยังไม่อาจจะเปิดเผยในทางสาธารณะได้ เพราะเป็นแค่คำบอกเล่า ไม่มีใครเห็นหลักฐาน และสำนวนการสอบสวนที่แท้จริง กกต.ยังมีเวลาตามกรอบของกฎหมาย

หาก กกต. จังหวัดยังไม่สามารถสรุปสำนวนการสอบสวนส่ง กกต. กลางวินิจฉัยได้ทัน หรือ กกต.ไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันตามกรอบเวลา ก็สามารถที่จะรับรองไปก่อนได้ แล้วค่อยสอยทีหลัง

ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เดือนกว่า กกต. จึงยังมีเวลา และเข้าใจว่า กกต.ก็รู้หน้าที่ รู้กระแสกดดันดี เพื่อเร่งรัดในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องเข้าใจ กกต.ด้วยว่ามีกฎหมายที่ต้องปฏิบัติอยู่

นายหัวไทร

เมื่อการเมืองไทย สร้างนักการเมืองที่มุ่งหาแต่ผลประโยชน์ และประชาชนที่ยอมซื้อสิทธิ์ ขายเสียง เพื่อแลกกับเงินเล็กๆ น้อยๆ

อนิจจา… ประเทศไทย : อาชีพใหม่กับการเลือกตั้ง

มองในมุมลบ กับการเมือง นักการเมืองในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ไม่น่าจะดีไปกว่าเดิมมาก นักการเมืองก็ยังหวังแต่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานอำนาจ แสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ประชาชนเองก็หวังแต่เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ จากนักการเมืองที่มาหว่านซื้อเสียง รับจ้างฟังปราศรัย

การเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา น่าสะพรึงกลัว เดี๋ยวนี้ มีทั้ง

- มีหัวคะแนนหมู่บ้านฯละ 3-4 คน /ผู้สมัครที่ 1 พรรคการเมือง
- มีคนรับจ้างฟังปราศรัย ค่าหัวครั้งละ 300 บาท มีนายหน้าคอยจัดการส่งสัญญาณ ไปยังเครือข่าย ทุกพรรคที่มีการปราศรัย และต้องการระดมคนฟัง จะมีสายรับงานระดมคนให้ พร้อมรับค่าจ้าง ค่าจัดการ
- ซื้อสิทธิ์ นักการเมืองหว่านเงินลงมาจำนวนมหาศาล ซื้อสิทธิ์จากประชาชน หัวละ 300 ไม่ต้องพูดถึง รอบแรก 500 รอบสอง 500 รวมเป็นหัวละ 1000 บาท ต้องซื้อ 4-50,000 หัว หวังผล 50% พูดถึงตัวเลขเงินที่ใช้กันแล้ว ‘ขนลุกขนพอก’
- ขายเสียง ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ พร้อมจะขายเสียงแลกกันเงินเล็กน้อย เพื่อประทังชีวิต รับจ้างปราศรัยครั้งละ 300 ก็เท่ากับหมู 2 กิโลกรัม
- จ่ายเงินกันมโหฬาร นักการเมืองไม่รู้เอาเงินมาจากไหน จ่ายกันจริงจ่ายกันจัง จ่ายกันแบบผิดกฎหมาย แต่ กกต.ไม่มีปัญญาจับมือใครดม หรือเอาผิดได้ตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่การใช้เงินก็โฉงเฉง
- ถึงเวลานักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ก็ใช้ตำแหน่ง-อำนาจ ที่ได้มาจากประชาชนด้วยการซื้อ ถอนทุนคืน หรือเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง
- ถอนทุนคืน การถอนทุนคืนก็ต้องมีกำไรด้วย เพื่อรองรับไว้เลี้ยงทีมงาน และรองรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วยกับช่วงเวลา 4 ปีระหว่างอยู่ในตำแหน่ง (ถ้าไม่ยุบสภาเสียก่อน)

ลองคิดดูประเทศมันจะดีขึ้นอย่างไร นักการเมืองไม่มีเวลาคิดเรื่องชาติ-บ้านเมือง คิดแต่หาช่องทางถอนทุนคืน คนที่น่าสงสารคือคนสอบตก จ่ายเงินไปพอๆกับคนที่ชนะการเลือกตั้ง แต่แพ้ ไม่มีตำแหน่งหน้าที่-อำนาจ ให้ไปใช้ถอนทุน เว้นแต่เป็นพรรครัฐบาล อาจจะมีตำแหน่งทางบริหารอื่น ๆ ตอบแทนคะแนนปาตี้ลิสต์ ก็พอจะมีหน้ามีตา มีตำแหน่ง-อำนาจให้ก้าวเดินไปในสังคมได้บ้าง และอาจจะพอมีช่องทางใช้อำนาจแสวงหาได้บ้าง

บอกตามตรงว่า ผมเองรักและศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันเป็นระบอบตัวแทน ประชาชนเลือกตัวแทนไปทำหน้าที่แทน เรียกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ไม่ศรัทธาต่อการได้มาซึ่ง ส.ส. ในสถานการณ์ปัจจุบัน มันไร้เกียรติ์ ไร้ศักดิ์ศรี การประพฤติปฏิบัติของ ส.ส. ก็ไม่น่าศรัทธา ผมจึงไม่ศรัทธาต่อการเลือกตั้งในปัจจุบัน กับการกำกับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามคำขวัญ ‘สุจริต เที่ยงธรรม’

มันเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตจริงหรือ ชาวบ้านร้านตลาดรู้กันหมดว่า ใคร พรรคไหน ซื้อเสียงหัวละเท่าไหร่ มีการปราศรัยรับปากว่าจะให้ มีการจัดเลี้ยง มีกาาข่มขู่หัวคะแนนฝ่ายคู่แข่ง และสุดท้ายคือ ซื้อหัวคะแนนคู่แข่ง

มันเที่ยงธรรมจริงหรือ อยากจะถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และทุกกลไกของ กกต. เช่น ผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า พอใจต่อผลการจัดการเลือกตั้งแล้วหรือ

กลไกลของ กกต. ทุกองคาพยพ พอจะพูดได้เต็มปากเต็มคำอย่างไม่อายใครได้จริงหรือ ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ ‘สุจริต เที่ยงธรรม’ ในฐานะองค์กรหลักของประเทศ

‘พิธา’ กับวิกฤตหุ้นสื่อไอทีวีที่ต้องเผชิญ เมื่อสังคมต่างตั้งคำถาม แม้จะเจ้าตัวยืนยันว่า พร้อมชี้แจง กกต. และขอเดินหน้าจัดตั้ง รบ.ต่อ

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายอมรับว่า มีการโอนหุ้นสื่อไอทีวีของตนเองแล้ว และมีความพร้อมที่จะชี้แจงต่อ กกต.

ประเด็นถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา คงต้องรอ กกต.ว่าจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร จะยกคำร้อง หรือจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

‘หุ้นไอทีวี’ เป็นประเด็นที่กระทบต่อการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ยิ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไอทีวียังอยู่ และยังผลิตสื่ออยู่ จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อนายพิธาในการก้าวเดินต่อไป

จากประเด็นการถือหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา ทำให้เกิดข้อสงสัยและเกิดการตั้งคำถามตามมาอีกหลายประเด็น เช่น

- ข้อต้องห้ามการลงสมัคร ส.ส.ห้ามเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นสื่อ
- ข้อบังคับพรรคก้าวไกล ห้ามสมาชิกพรรคเป็นเจ้าของสื่อ และถือหุ้นสื่อ
- นายพิธาถือหุ้นไอทีวีมาตั้งแต่ปี 2549 หลังพ่อเสีย ทำให้หุ้นก้อนนี้ตกทอดมาถึงทายาท
- ปี 2562 นายพิธาลงสมัคร ส.ส.มาแล้วครั้งหนึ่ง และได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ การถือหุ้นไอทีวีของนายพิธาจะกระทบถึงการเป็น ส.ส.ปี 2562 หรือไม่?
- นายพิธาไม่มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล จะเป็นหัวหน้าพรรคได้หรือ?
- นายพิธาเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ จะถือเป็นโมฆะหรือไม่?
- ผู้สมัครก้าวไกลที่มีคะแนนนำ จะได้เป็น ส.ส.หรือไม่?
- คะแนนพรรคจะสามารถเอามาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อก้าวไกลได้หรือไม่?

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นประเด็นคำถามทั้งสิ้น ยังไม่นับรวมเรื่องรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตรา ตัวอย่างเช่น

1.) การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 นั้น ดำเนินการก่อนปิดรับสมัคร ส.ส. ซึ่งนายพิธาถือหุ้นไอทีวีอยู่
2.) มาตรา 89 (2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160
3.) มาตรา 160 (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
4.) มาตรา 98 (3) ห้ามผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ

ดังนั้น ถ้าตีความตามนี้ก็น่าจะถือว่า นายพิธา ‘ขาดคุณสมบัติ’ ตั้งแต่วันปิดรับสมัครตามมาตรา 88 ในวันที่ 4-7 เมษายน 2566 แล้วครับ (ตามความเห็นของ สว.สมชาย แสวงการ)

แต่หนทางที่ถูกต้องชอบธรรมที่สุด คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่สรุปข้อเท็จจริงส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติครับ คำวินิจศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด คำวิฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

เล็งชง ‘นิกม์’ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ มาเป็นพยานปากเอกคดีถือหุ้นสื่อไอทีวีของ ‘พิธา’

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจะเชิญนายนิกม์ แสงศิรินาวิน ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เขต 17 คลองสามวา กทม. มาเป็นพยานกรณีการถือหุ้นสื่อไอทีวีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล

นายนิกม์เป็นผู้ให้สัมภาษณ์คนแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยนายนิกม์เคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และได้ถือหุ้นไอทีวีเช่นเดียวกับนายพิธา ซึ่งตอนนั้นพรรคอนาคตใหม่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิ์นายธนาธร นายนิกม์ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แต่นายพิธาได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยที่ขณะนั้นนายพิธายังไม่ได้มีการขายหุ้น กกต.จึงควรเอานายนิกม์เข้ามาเป็นพยานบุคคล

ถ้า กกต.ไม่สามารถเชิญนายนิกม์มาให้ปากคำเป็นพยานได้ ก็ควรจะเชิญสื่อมวลชนที่สัมภาษณ์นายนิกม์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นพยาน

จับตา ‘ขบวนการแบ่งแยกดินแดน’ แนวคิดที่อาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะความเป็นปึกแผ่นของราชอาญาจักรไทยที่มิอาจแบ่งแยกได้

น่าสนใจยิ่งว่าวันนี้ ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ที่มีมายาวนานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการสู้รบสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อ งบประมาณไปจำนวนมหาศาล และดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงจะมั่นใจว่า สถานการณ์ดีขึ้น

แต่ ‘การแบ่งแยกดินแดน’ กลับมาเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในมหาวิทยาลัยอย่างเปิดเผย โดยนักวิชาการ นักศึกษา และนักการเมือง มีการจัดเสวนากันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครนครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

องค์กรที่จัดชื่อว่า ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ หรือ ‘เปลาจาร์ บังซา’ (Pelajar Bangsa) นำโดย นายอิรฟาน อูมา ดำรงตำแหน่งประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ และเป็นการจัดขึ้ตในวันสถาปนาองค์กรนี้

ในงานมีการแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” โดย รศ.ดร. มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

‘มารค’ บอกว่า ‘การกำหนดอนาคตตนเอง’ (Self-Determination) เป็นหลักการสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาประชาธิปไตย

เสร็จแล้วเป็นการเสวนาหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” จะพบว่า การเสวนาเน้นใช้คำว่า “สันติภาพ” ซึ่งผิดไปจากสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เน้นใช้คำว่า “สันติสุข” ซึ่งสันติสุข จะลึกซึ้งกว่าสันติภาพ เพราะสันติภาพ ก็แค่ทำให้เกิดความสงบ ไม่มีการสู้รบ แต่สันติสุข ต้องเกิดขึ้นหลังเกิดสันติภาพแล้ว

- ผศ.ดร. วรวิทย์ บารู ว่าที่ ส.ส. ปัตตานี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ
- นายฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม
- นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเดอะปาตานี (The Patani)

3 คนนี้เป็นผู้เข้าร่วมในการเสวนาในครั้งนี้ด้วย ในขณะที่นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล งดร่วมงานกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆ ที่เคยยืนยันเข้าร่วมก่อนหน้านี้แล้ว

ไปดูว่าผู้ร่วมเสวนาคิดอย่างไร

‘ฮากิม พงตีกอ’ มองว่า สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือ ‘RSD’ (Right to Self-determination) เป็นสิทธิเสรีภาพในการที่จะเลือกมาเป็นหลักการการดำเนินประเด็นทางการเมือง

‘อาเต็ฟ โซ๊ะโก’ ชี้ว่า เมื่อเราถือหลักที่สอดคล้องกับ RSD เป็นกระบวนการที่ยอมรับตามหลักสากล นำไปสู่การประชามติ ซึ่งไม่ว่าผลของการประชามติจะออกมาอย่างไร เราก็ควรที่จะยอมรับ และจะไม่มีคำว่าแพ้เกิดขึ้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนเลือก

‘วรวิทย์ บารู’ บอกว่า กระบวนยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย เพราะถ้าเราอยากได้ความเป็นธรรม เราก็ต้องเป็นที่จะให้ความเป็นธรรมนั้นแก่คนอื่น เพราะบางคนเรียกร้องถึงความเป็นธรรม แต่กลับอธรรมกับสิ่งที่ตนเองยึดถือหรือหลักศรัทธา นักศึกษา นักการเมือง และองค์กรภาคประชาสังคม มีสิทธิและเห็นควรที่จะผลักดันกระบวนการ RSD เพื่อเลือกที่จะกำหนดอนาคตตนเอง เพราะเป็นเรื่องของวิชาการและเป็นที่ยอมรับตามหลักสากล

ไฮไลต์ของงานมีการแจกบัตรกระดาษ ระบุหัวข้อว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”

มีหมายเหตุด้านล่าง ระบุ ให้กับชาวปาตานี : ผู้ที่ลงทะเบียนว่า “อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ปาตานีหรือ จ.นราธิวาส, จ.ปัตตานี, จ.ยะลา และ จ.สงขลา (เฉพาะ อ.จะนะ, อ.นาทวี, อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย)”

เอากันตรงๆ แบบนี้เลยครับ เหมือนกับจะออกแบบให้เป็นการ ‘ทำประชามติ’ ว่าจะแบ่งแยกดินแดน แบ่ง ‘ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา’ ไปเป็นเอกราช ปกครองตนเอง เหมือน ‘ติมอร์’ แยกตัวออกไปจากอินโดนีเซีย

“ประเทศไทยเป็นราชอาญาจักรเดียว จะแบ่งแยกมิได้” เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน แน่นอนว่า เมื่อมีการขับเคลื่อนในลักษณะ-เนื้อหาเช่นนี้ ฝ่ายความมั่นคงจะต้องเข้ามาตรวจสอบ และถ้าเข้าข่ายผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เจ้าหน้าที่ก็ต้องจัดการตามกฎหมาย

ที่น่าจะเจอเต็มๆ คือ คณะพรรคประชาชาติ ที่มี ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ เป็นหัวหน้าพรรค และเป็น 1 ใน 8 พรรคร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม ก็เป็นอีกพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล มีระดับรองเลขาธิการพรรค เข้าร่วมเป็นวิทยากรด้วย แต่ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลน่าจะไหวตัวทัน เลยไม่ได้เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บวก 4 อำเภอของสงขลา มีการพูดถึงรูปแบบการบริหารจัดการอยู่ 3 รูปแบบ

1.) เป็นอยู่อย่างปัจจุบัน คือเป็นราชการส่วนภูมิภาค ที่รัฐบาลกลางแบ่งอำนาจไป ส่งคนไปปกครองดูแล มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้าสูงสุด มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆซ้อนอยู่ เช่น อบจ./อบต./เทศบาล

2.) มหานครปัตตานี (ปาตอนี) เป็นการจัดรูปแบบการปกครองเป็น ‘การปกครองส่วนท้องถิ่น’ ตามหลักกระจายอำนาจ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คล้ายๆ พัทยา และกรุงเทพมหานคร

3.) แบ่งแยกตนเอง คือการแยกตัวออกไปเป็นประเทศราช มีเอกราชเป็นของตนเอง ซึ่งหมายถึงการตั้งประเทศใหม่นั้นเอง

ที่ผ่านมาหลายปีมีการกล่าวถึงใน 3 รูปแบบนี้ แต่ ‘มหานครปัตตานี’ และการแบ่งแยกประเทศ ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และความเป็นไปได้ ส่วนการแยกประเทศแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคงไม่มีใครยอมให้แบ่งแยกดินแดนแน่นอน

แต่การตั้งวงเสวนาครั้งนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะมีการพูดกันเปิดเผย มีการเผยแพร่บทเสวนาผ่านสื่อหลากหลาย และเป็นการเสวนาที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งไม่นานนัก และเป็นการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลชนะเกินคาด พรรคประชาชาติก็มีเสียงเพิ่มขึ้นจาก 6 เป็น 9 และพรรคสายเดียวกับประชาชาติ อย่างพรรคเป็นธรรม ก็เบียดเข้ามา 1 ที่นั่ง และทั้งพรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ที่กำลังก่อตัวกันเป็นรัฐบาล

น่าจับตามองว่า ขบวนการนี้จะพัฒนาไปถึงไหน ฝ่ายความมั่นคงคิดอย่างไร และจะทำอะไรต่อไป แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครยอมให้แบ่งแยกประเทศอย่างง่ายๆ หรอก เพราะ “ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้”
 

กกต.ตั้งธงหนัก หยิบ ม.151 มาเล่นงาน  มีโทษทั้งจำคุก - ตัดสิทธิ์ 20 ปี

กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับ 3 คำร้องที่ร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคาดิเดตนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการสมัครรับเลือกตั้งส.ส. กรณีถือหุ้น บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ทำให้บางคนรู้สึกโล่งอก มีช่องทางเดินไปได้

ยัง….ยังไม่จบ กกต.ยังไม่ได้วินิจฉัยว่า การถือหุ้นไอทีวีของพิธาถูกหรือผิด ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เพียงแต่ผู้ยื่นให้ตรวจสอบ ยื่นหลังจากเลยเวลาตรวจสอบมาแล้วเท่านั้นเอง ง่ายๆคือเลยเวลาแล้ว

แต่กกต.ได้หยิบเอาประเด็นจาก 3 คำร้องมาสั่งตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนไต่สวน” ลุยสอบเอง ในประเด็นการฝ่าฝืนมาตรา 42 (3) และมาตรา 151 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต่อไป

กกต.ใช้คำว่า “สืบสวนไต่สวน” น่าสนใจกับการตั้งกรรมการชุดนี้แสดงว่า มีอำนาจทั้งสืบสวน และไต่สวนด้วย

ดูเหมือนจะหนักกว่าเดิม ถ้าผิดโทษจะหนักกว่าด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะคดีอาญา ถ้านายพิธารู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะมีลักษณะต้องห้าม แต่ยังฝืนลงสมัครเลือกตั้ง และอนุญาติให้พรรคการเมืองส่งลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

ซึ่งในกรณีนี้นายสิระ เจนจาคะ อดีตส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เคยเจอมาก่อนแล้ว 
เมื่อถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ขุดอดีตขึ้นมาร้อง อดีตที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกฐานฉ้อโกง โดยศาลแขวงปทุมวัน สั่งจำคุกนายสิระ ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีแดง หมายเลขที่ 2218/2538 อันเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามของคนเป็นส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10)

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในฐานะอดีต ผบ.ตร.นำมติ 7 ต่อ 2 เสียงที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ในคดีดังกล่าว ไปร้องต่อกกต.เป็นดาบสอง มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เช่นเดียวกับกรณีนายพิธาและกกต.ก็มีมติแจ้งความเอาผิด

ทั้งนี้ ตามมาตรา 151 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กกต. ตั้งกรรมการสอบสืบสวนไต่สวนมีเนื้อหาว่า

“ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี”

“ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย” 

กล่าวสำหรับนายพิธาหากถูกชี้ตามมาตรานี้ นายพิธาจะมีโทษจำคุกสูงสุด 1-10 ปี ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องคืน “เงินเดือน-ค่าตอบแทนอื่นๆ” จากการเป็นส.ส.ทุกบาท ทุกสตางค์อีกด้วย

วิบากกรรมของพิธาบนเส้นทางก้าวเดินสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมันยากยิ่งกับสิ่งที่ก่อไว้แล้วไม่ได้แก้ให้จบสิ้นก่อนกระโดดเข้าสู่เวทีการเมือง รู้ทั้งรู้ว่า เมื่อยืนอยู่บนเวทีการเมือง ประวัติทุกเม็ดจะต้องถูกขุดคุ้ย ไส้ทุกขดจะถูกลากออกมากองให้สังคมได้ตรวจสอบ

ที่เห็นๆว่าถูกขุดคุ้ย ตั้งแต่ปัญหาในครอบครัวแตกแยกเลิกรากับภรรยา ถือหุ้นสื่อ ค้ำประกันเงินกู้ และขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ลำบากแท้นะ “พิธา”เสียงมหาชน 14 ล้านเสียงอาจจะช่วยไม่ได้ เมื่อทำผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายต้องบังคับใช้โดยเสมอภาค เท่าเทียมกัน

นายหัวไทร

เข้าสู่โหมด ‘ด้อมส้ม’ ต้อง ‘ลุ้น’ เก้าอี้นายกฯ ของ ‘พิธา’  ต้องจับตาให้ดี งานนี้อาจจะไปจบที่ ‘ศาล’

หลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 จวบจนบัดนี้ก็ล่วงเลยมากว่า 1 เดือน บรรดาผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นส.ส. ก็ยังไม่มีใครได้รับการประกาศรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนทำให้บรรดา “ด้อมส้ม” พรรคก้าวไกล ซึ่งกวาดส.ส.เข้ามาเป็นอันดับที่ 1 ต้องออกมายื่นหนังสือกดดัน กกต.ให้เร่งประกาศรับรองผล เพื่อเปิดทางให้มีการสภาเลือกประธานสภา และประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ จะได้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว 

แต่ กกต.จะไปเร่งรีบตามที่ฝ่ายอยากเร่งรัดคงไม่ได้ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายกับคำร้องเรียนมากถึง 280 เรื่อง ตามกฎหมายให้อำนาจ กกต. 60 วัน ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเลือกตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 ก.ค. 2566 นี้ แต่ล่าสุดมีรายงานจาก กกต.ได้พิจารณาครบทั้ง 400 เขตแล้ว เตรียมประชุมประกาศรับรอง 329 คน และแขวนไว้ 71 คนในการประชุมสัปดาห์หน้าวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้  กกต.พร้อมกับพิจารณารับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน ส.ส.เขตเลือกตั้ง หลังได้พิจารณาไปแล้วว่าทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง 

ถ้าดูตามตัวเลขนี้ 329+100 คน = 429 คน ตัวเลขยังไม่ครบ 95% หรือ 480 คน คาดว่า หลังจากนั้น กกต.จะหยิบ 71 คนมาทบทวน และอาจจะประกาศรับรองไปก่อนสอยทีหลัง เพื่อให้งานกิจการสภาเดินหน้าไปได้

โดยคาดว่า กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ได้วันพุธที่ 21 มิ.ย.นี้  จากนั้นให้ ส.ส.จะทยอยไปรับเอกสารรับรองได้ที่สำนักงาน กกต. และนำเอกสารรับรองมารายงานตัวต่อสภา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมสถานที่ไว้พร้อมแล้ว

มีการประมาณกาลว่า ถ้า กกต.รับรองผลการเลือกตั้งได้ครบ 95% แล้ว วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯเปิดประชุมสภา และวันที่ 25 กรกฎาคม จะเป็นการประชุมสภาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย อดีตประธานสภา ในวัย 85 ปี น่าจะมีอาวุโสสูงสุด (ไม่แน่ใจว่ามีใครอายุมากกว่านายชวนหรือไม่)ทำหน้าที่เป็นประธานสภาชั่วคราว

หลังจากนั้นถึงจะเป็นช่วงเวลาของความระทึกของ “ด้อมส้ม” คือวาระเลือกนายกรัฐมนตรี

อนาคต“พิธา”จบที่ศาลรธน./ศาลอาญา

ต้องโฟกัสไปที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ว่าจะไปถึงดวงดาวในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทยได้หรือไม่ หลังได้รับการประกาศให้เป็น ส.ส. 

อย่างที่ทราบกันดีว่า พิธา ถูกร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งที่อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ จากกรณีถือหุ้นสื่อ “หุ้นไอทีวี” แม้ว่า กกต.จะไม่รับไว้พิจารณา แต่ กกต.กลับหยิบเอามาตรา 151 ของ พปร.ว่าด้วยการเลือกตั้งขึ้นมาพิจารณา “รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีคุณสมบัติ แต่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือยินยอมให้พรรคการเมืองส่งลงสมัครในระบอบบัญชีรายชื่อ” ซึ่งถ้ามีมูลก็ต้องฟ้องต่อศาลอาญา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ และมีโทษหนักกว่า ทั้งจำทั้งปรับ ทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมือง
อีกประเด็น หาก กกต.รับรองให้เป็น ส.ส.เมื่อไหร่ ก็จะมีคนไปยื่นใหม่ให้ตรวจสอบคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญอีกรอบ

โดยสรุปอนาคตของพิธาจะต้องไปจบที่ศาล ไม่ศาลรัฐธรรมนูญก็ศาลอาญา และจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ขึ้นกับขบวนการขั้นตอนของ กกต.และศาล รวมถึงผลโหวตของสมาชิกรัฐสภาด้วย ที่ต้องเพ่งไปที่สมาชิกวุฒิสภา

อย่าเพิ่งทิ้งประเด็น ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อย’ ระวัง ‘พีระพันธุ์-ลุงป้อม’ เสียบเงียบๆ

จนถึงวินาทีนี้ สังคมนอกวงจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีใครทราบว่า ตกลงตำแหน่งประธานสภา ที่จะต้องเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งนั้น เป็น ใคร เป็นโควต้าพรรคไทย ของก้าวไกล หรือเพื่อไทย

ภูมิธรรม เวชชยชัย เสี่ยอ้วน แห่งเพื่อไทย ไข่ข่าวเล่าแจ้งว่า จนถึงเวลานี้ยังอยู่ในจุดเดิม คือจุดที่เพื่อไทยยืนยัน เมื่อก้าวไกลได้เก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหารไปแล้ว กับจำนวน ส.ส.ในมือ 151 เสียง เพื่อไทย 141 เสียง พรรคอันดับสอง จึงควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

แต่เพื่อความชัวร์ ก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ยืนยันว่า ประธานสภาต้องเป็นของก้าวไกล ชัวร์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และการบรรจุระเบียบวาระสำคัญๆต่างๆของรัฐบาล

ที่จะต้องระวังเป็นที่สุด คือ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคาดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็น ส.ส.แล้ว จะต้องมีคนไปร้องซ้ำ ให้ กกต.พิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของพิธาว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา ประธานสภา ถ้าเป็นของเพื่อไทยจะกล้าบรรจุวาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีชื่อของพิธาจ่อเข้าโหวตอยู่หรือไม่ เพื่อความชัวร์ก้าวไกล จึงต้องได้เก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

ที่ประชุมของคณะทำงานจัดตั้งรัฐบาลจบลงตรงที่ให้เพื่อไทย และก้าวไกล ไปหารือกันเอง ซึ่งเพื่อไทยก็ยืนยันในข้อเสนอเดิม ก้าวไกลรับไปพิจารณา แต่ไม่มีคำตอบกลับมายังเพื่อไทย “เงียบสนิท”

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานคณะหลอมรวม ไม่รู้มีข้อมลอินไซเดอร์มาจากไหน จึงออกมาฟันธงว่า “พิธา-อุ้งอิ้ง-เศรษฐา” ไม่มีใครได้เป็นนายกฯ ในสถานการณ์ที่พรรคร่วมยังคุยกันไม่ลงตัว
“จตุพร”ฟันธงด้วยว่า น่าจะมีประธานสภาปรองดอง จะชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ” อดีตรองประธานสภา ซึ่งพ่อมดดำเป็นชื่อที่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนี้เพื่อความปรองดอง

ไม่มีใครปฏิเสธว่า สุชาติ เป็นผู้มากบารมี รู้จักนักการเมืองทั้งขั้วประชาธิปไตยและขั้วรัฐบาลเก่า แม้วันนี้ พ่อมดดำจะสังกัดเพื่อไทย แต่ก็มีลูกน้องเก่าอยู่ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย อยู่ไม่น้อย

ประเด็นอยู่ที่ว่า ไม่ว่าใครจะเป็นประธานสภา และบรรจุระเบียบวาระเลือกนายกรัฐมนตรี เข้าสู่การพิจารณา ในสถานการณ์ที่อะไรก็ยังไม่ลงตัว ก้าวไกล เสนอชื่อพิธา ชิงนายกรัฐมนตรี ส่วนซีกรัฐบาลเดิม เช่น พลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคลงชิง หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค ลงแข่งด้วย ก็อาจจะมีเกมพลิกได้

เกมพลิก เพราะซีกรัฐบาลเดิมมีอยู่ 188 เสียง เมื่อบวกรวมกับ สว.250 เสียง ก็จะมีเสียงรวมกับ 438 เสียง หรือตัดไปสัก 50 เสียง ก็ยังมากพอที่จะชนะโหวตได้ และเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ขอให้ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน เชื่อว่า จะมี ส.ส.เลื้อยไหลเข้ามาเอง หรือด้วยแรงดูดมากินกล้วย ฝากเลี้ยงไว้ที่บ้านเก่า แต่ป้อนกล้วย ป้อนข้าว ป้อนน้ำให้กิน รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็พอจะถูกไถไปได้

การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน อย่าได้ประมาทกับคำทำนายของจตุพร โดยเฉพาะประเด็นจะมีงูเห่าเลื้อยเพ่นพ่านเต็มสภา   

ด่วน!! ‘กกต.’ ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คนแล้ว คาด ประชุมสภานัดแรก 3 ก.ค.นี้ เร็วกว่าที่กำหนดร่วมเดือน

(19 มิ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กกต. มีมติประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต และแบบบัญชีรายชื่อ100 คน รวม ส.ส. 500 คน และยังมีรายงานด้วยว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เตรียมที่จะมีการแถลงข่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมสภานัดแรกน่าจะเป็นวันที่ 3 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งถือว่า เร็วกว่าไทม์ไลน์ที่เคยกำหนดไว้ก่อนหน้านี้วันที่ 25 ก.ค.เพื่อเลือกประธานสภา

แต่อย่าเพิ่งดีใจไปนะครับ สำหรับ 71 เขตเลือกตั้งที่มีเรื่องร้องเรียนอยู่ วันนี้แค่ กกต.รับรองไปก่อน เพราะการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ กกต.จึงรับรองไปก่อน เพื่อให้ขบวนการในสภาเดินหน้าไปได้ แต่ กกต.ยังมีอำนาจพิจารณาให้ใบแดง ใบเหลือง ใบส้มอยู่เหมือนเดิม และอาจจะสอยที่หลังได้

เพียงแต่ถ้า กกต.จะให้ใบแดง หลังจากนี้ต้องส่งให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน…

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อ กกต.รับรองให้เป็น ส.ส.แล้ว อาจจะมีคนไปร้อง กกต.ซ้ำเรื่องคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

เรื่อง : นายหัวไทร

9 กรกฎาคม เลือกหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ จับตา เฉลิมชัย-เดชอิศม์-ชัยชนะ อยู่ฝั่งใคร คนนั้นมีสิทธิ์เข้าวิน

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เริ่มมีการเคลื่อนไหวเตรียมเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่หลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้ ส.ส.มาแค่ 24 คน จากเดิมมีอยู่ 52 คน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้กรรมการบริหารพรรคทุกคนพ้นจากหน้าที่ไปด้วย

พรรคประชาธิปัตย์กำหนดว่า จะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค
สำหรับองค์ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ตามระเบียบพรรค ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงนั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด, อดีตส.ส.ที่ยังเป็นสมาชิกพรรค, กก.บห.ชุดรักษาการ, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัด, สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

ทั้งหมดนี้คือโหวตเตอร์ที่จะออกเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ในแต่ละกลุ่มจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน โดย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการรับรองมาใหม่ จะมีน้ำหนักมากกว่า มากถึง 70% ส่วนที่เหลือมีน้ำหนักแค่ 30#

สำหรับสมาชิกพรรคที่น่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่น่าจะมีหลายคน ทั้งคนเก่า และคนใหม่ คนเก่าเช่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะย้อนกลับมาลงชิงอีกหรือไม่ แต่แรงเชียร์มีแน่นอน

คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่เคยลงชิงมาแล้ว แต่พ่ายแพ้ไป แต่ยังยืนหยัดอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้จะเอาอีกรอบหนึ่งหรือไม่

ส่วนคนรุ่นใหม่ ที่ปรากฏชื่อ อย่างนายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ (ไม่รู้ว่าจะนับเป็นคนใหม่ หรือคนเก่า) มี ดร.เด้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือใหม่เลยก็จะมีมาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ในวัยแค่ 37 ปี

มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เริ่มมีปัญหากับสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค (วันหลังจะเขียนให้อ่านกัน) แต่ยังไม่รู้ว่สจะกลับคืนรังหรือไม่ และจะลงชิงหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่

กล่าวสำหรับการชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างจากพรรคอื่น มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ใครลงสมัครก็ต้องออกแรงแสดงวิสัยทัศน์ต่อบรรดาโหวตเตอร์ทั้งหลาย ง่ายๆคือต้องไปหาเสียง หาคะแนนจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง

อย่างที่บอก ส.ส.ใหม่ 24 คน เป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากที่สุด ใครลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ใหม่ โอกาสได้รับเลือกตั้งจึงมีอยู่สูงมาก

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มา 24 คน ส่วนใหญ่ 16-17 คนเป็น ส.ส.จากภาคใต้ และเป็น ส.ส.ภาคใต้ที่อยู่ภายใต้สังกัดของเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ซึ่งถ้าสองคนนี้ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นจึงมีโอกาสชนะ ยิ่งถ้าได้บวกรวมกับพลังของเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคด้วย ยิ่งจะฉิวเข้าป้าย
 
วิเคราะห์โดยภาพรวม ส.ส.ใหม่ 16-17 คน อยู่ภายใต้การดูแลของ เดชอิศม์ ขาวทอง และชัยชนะ เดชเดโช ส่วนประธานสาขาพรรค และตัวแทนพรรค น่าจะอยู่ในการดูแลของนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองหัวหน้าพรรค ที่เคยดูแลสาขาพรรค และเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะอดีตแม่บ้านพรรค

ส่วนผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น ก็น่าจะไม่แตกต่างจากประธานสาขา ตัวแทนพรรค ที่น่าจะฟังนิพนธ์ และเฉลิมชัย

ส่วนอดีตนายก อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.คงจะมีความเป็นอิสระสูง ขึ้นอยู่กับการล๊อบบี้ของผู้อาวุโส มากบารมี เช่น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้อาวุโสมากบารมีทั้งสองคนจึงเป็นตัวชีเวัดเหมือนกันว่า ใครจะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ถ้าวิเคราะห์กันบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ คนที่จะชนะการเลือกตั้ง ต้องได้รับการสนับสนุนจากเดชอิศม์ ขาวทอง ชัยชนะ เดชเดโช เฉลิมชัย ศรีอ่อน นิพนธ์ บุญญามณี รวมถึงชวน-บัญญัติ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ทั้งหมดนี้จะเทคทีมกัน และช่วยดันคนใดคนหนึ่ง

โดยสรุป แต่เฉลิมชัย เดชอิศม์ และชัยชนะ ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นก็มีสิทธิ์สูงมากแล้ว แต่ถ้าได้นิพนธ์มาเสริมทีมเดียวกัน ยิ่งฉลุยเลย

นายหัวไทร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top