Thursday, 2 May 2024
นายหัวไทร

เพลาท้าทาย ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา’ ว่าที่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม แม้ส้มหล่นใส่จนตีนบวม ก็ต้องสวมหัวใจแกร่งคนคอนสะท้อนกึ๋น

ด้วยความเป็นห่วงยิ่ง ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ สส. 4 สมัย พรรครวมไทยสร้างชาติ มีอาการป่วยหลังติดโผเป็นรัฐมนตรี ‘เศรษฐา’ ด้วยคนหนึ่ง

ช่วงแรกโผออกมาว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ตอนหลังพลิกมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะภูมิใจไทยต้องการคุมมหาดไทยแบบเบ็ดเสร็จ (เว้นนายเกรียง กัลป์นันท์ จากพรรคเพื่อไทย จังหวัดอุบลราชธานี) โดยมหาดไทยจะมีรัฐมนตรีช่วยถึง 3 คน จึงต้องส่งปุ้ยไปกระทรวงอื่น โควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติจึงมีกระทรวงอุตสาหกรรม

แต่จริงๆ กระทรวงอุตสาหกรรม พรรครวมไทยสร้างชาติได้วางตัว 1 ‘พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ’ ทายาทของ ‘ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ’ ไว้แล้ว แต่เศรษฐาเป็นคนตัดสินใจเลือกปุ้ย เพราะต้องการคนที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมทำงาน ในขณะที่พิชชารัตน์ยังมีประสบการณ์น้อย

ที่บอกว่า ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ ป่วย เนื่องจากว่า เจอ ‘ส้มหล่น’ ใส่จนเท้าบวม ร้องไห้ขยี้ตา จนตาบวม เพราะได้ตำแหน่งมาอย่างไม่คาดคิด หรือใฝ่ฝันมาก่อนเลย แค่ได้รับเลือกเป็น สส.ก็พอแล้ว

“ถ้าเจอปุ้ย บอกด้วยว่า พี่จะซื้อรองเท้าให้ใหม่” นักการเมืองอาวุโสท่านหนึ่งกล่าวเชิงเย้าหยอก ฝากไปถึงปุ้ย เพราะเท้าบวม ใส่รองเท้าคู่เก่าไม่ได้แล้ว และถ้าเจอกันจะหายาหยอดตาไปฝาก… 5555

กล่าวสำหรับ ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ กับผม โดยส่วนตัวไม่รู้จักกัน เคยคุยกันบ้างสั้นๆ แค่สวัสดีกัน ปุ้ยเป็นคนง่ายๆ เจอใครก็ยกมือไหว้ อ่อนน้อมถ่อมตน

ปุ้ย พิมพ์ภัทรา เป็นทายาททางการเมืองของ ‘มาโนชญ์ วิชัยกุล’ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย (ผู้จากไป) ปุ้ยเข้ามารับบทบาททางการเมืองแทนต่อ

ตอนเด็กๆ ปุ้ยเข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมรสกับนายนิติรักษ์ ดาวลอย มีบุตร 2 คน

สมัยที่แล้ว ปุ้ย พิมพ์ภัทรา นั่งเป็นประธานกรรมาธิการศึกษา ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ที่ถือว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงสำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเล และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปุ้ย ตัดสินใจทางการเมือง ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยความรัก ความเมตตาของคนขนอม-สิชล ปุ้ยก้าวเข้ามาเป็นผู้แทนอีกสมัย และได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

ปุ้ย พิมพ์ภัทรา เข้าสู่เส้นทางทางการเมือง โดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แทน นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไปปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น สส.สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็น สส.อีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกเป็น สส.สมัยที่ 3

หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2566 ปุ้ย พิมพ์ภัทรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง เป็น สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ

ถือว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกภารกิจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ในวงการอุตสาหกรรมถือเป็นเครื่องยนต์อีกตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

หวังว่า ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ จะไม่สร้างความผิดหวังให้คนไทย คนนครศรีธรรมราช ต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาดีๆ สร้างทีมประชาสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง เดินหน้าฝ่าทุกปัญหาไปให้ได้ โอกาสมีแล้วต้องทำให้เต็มที่

‘เท้าบวม-ตาบวม’ แป๊บเดียวก็หาย อย่าได้วิตกกังวลไปเลย ชาวบ้านทุกข์ยาก เดือดร้อนมากกว่าเยอะ

เรื่อง : นายหัวไทร

มโนทัศน์การเมือง!! เลือก สส.หลากพรรค มาแข่งกันทำงาน แต่สุดท้ายอาจได้ 'สส.งานศพ-งานบวช-งานแต่ง'

พันพรือล่าว…เมื่อมีคนโพสต์ว่า ต่อไปนี้จะไม่มี สส.นครศรีธรรมราช มีแต่ สส.เขต เขตใครเขตมัน 

....งง !!

สส.เขตก็คือ สส.จังหวัดนครศรีธรรมราช เพียงแต่ว่า จะมีกลไกอะไรมาประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน 4 พรรค...

- ประชาธิปัตย์
- ภูมิใจไทย
- พลังประชารัฐ
- รวมไทยสร้างชาติ

ผมประเมินว่า สส.ทุกวันนี้ ทุกคนหวงเขตตัวเอง กลัวแพ้เลือกตั้งสมัยหน้า จึงทำงานในเขตตัวเองเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงภาพรวมทั้งจังหวัด หรือภาพรวมทั้งประเทศไทย

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้เราจึงจะได้เห็น สส.งานศพ, สส.งานบวช, สส.งานแต่ง แต่ไม่มี สส.มานั่งคิดโครงการ คิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยภาพรวม และก็ไม่รู้จะเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหากับใคร 

...สส.ทุกคนคิดถึงแต่ตัวเองเป็นหลักใหญ่ !!

สส.บางคนที่ยกมือสวนมติพรรค ก็ไม่ค่อยกล้าออกหน้า ออกชุมชน หลบหน้าหลบตา ตอบชาวบ้าน ตอบนักข่าวยาก ชาวบ้านสมัยนี้เขารู้ข้อมูล รู้ข่าวสาร เขากล้าที่จะโต้ตอบ สส.เหล่านี้จึงเลือกใช้ชีวิตอีกวิถีหนึ่ง จนกว่าจะมีทางออกในวิถีใหม่

สถานการณ์สำหรับนครศรีธรรมราชเมื่อ สส.10 คนมาจาก 4 พรรคการเมือง ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ก็จะต่างคนต่างเดิน ต้องสร้างกลไกในการประสานความร่วมมือ 

กลไกตัวนี้ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ยกหูโทรศัพท์เชิญมานั่งประชุม แต่เป็นกลไกที่ผลักดัน ขับเคลื่อน ปฏิบัติภารกิจร่วมกัน คือ ทำหน้าที่ในการระดับสมองจากทุกภาคส่วน และนำข้อสรุปไปผลักดัน ขับเคลื่อนให้เกิดมรรค เกิดผลอย่างจริงจัง 

ซึ่งกลไกตัวนี้จะต้องเป็นในรูปคณะกรรมการร่วมที่มีตัวแทนจากทุกฝ่าย แต่ต้องไม่มากเกินไปจนเทอะทะ ต้อง 'จิ๋วแต่แจ๋ว' มีผู้ที่ทรงพลังเข้ามาเป็นตัวแทนในคณะกรรมการ ส่วนการได้มาของคณะกรรมการร่วม เกิดจากการสรรหาของแต่ละภาคส่วนแล้วเสนอตัวมาแต่งตั้งเป็นกรรมการ

ในระยะเริ่มแรกอาจจะงง ๆ ว่า แล้วเมื่อแต่ละภาคส่วนไปคัดสรรได้ตัวมาแล้วจะเสนอใคร ให้ใครแต่งตั้ง ก็ไม่ยาก ให้แต่ละคนที่ได้รับการคัดสรรมาแล้ว มานั่งคุยกันนอกรอบ แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นองค์กร จะใช้ชื่ออะไรก็ตกลงกันในที่ประชุม เลือกประธาน เลือกเลขาธิการขึ้นมา แล้วให้ถือว่าทุกคนที่เข้าร่วมประชุมคือคณะกรรมการ กำหนดบทบาท หน้าที่ให้ชัดเจนแล้วเดินหน้าทำงาน

คำว่า 'ตัวแทนจากทุกภาคส่วน' ก็คือตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพ เช่น การเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาสังคม ทนายความ นักเคลื่อนไหวทางสังคม เกษตรกร เหล่านี้ เป็นต้น

ถ้าเดินไปอย่างปัจจุบันบ้านเมืองไปยาก และประชาชนจะเสียโอกาสเหมือนเดิม เราเคยคิดกันไม่ใช่เหรอว่า ควรเลือกผู้แทนจากหลายพรรค เพื่อให้แย่งกันทำงาน แต่ผลวันนี้เป็นอย่างไร น่าจะพอเป็นบทเรียน บทสรุปได้ระดับหนึ่งนะ

อื้ออึง!! ‘ไผ่ ลิกค์’ หายวับ!! ครม.เศรษฐา 1 พปชร.ถูกตัดโควตาเหลือแค่ 3 ตำแหน่ง

พลันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ก็มีคำถามพุ่งมามากมายเกี่ยวกับบุคคลที่หลุดจากตำแหน่งไป จากเดิมที่เคยอยู่ในโผว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี ก็ให้เป็นที่สงสัยว่าเกิดจากอะไร พรรคการเมืองบางพรรคก็ถูกปรับลดโควตาลง ทั้งๆ ที่เคยมีโควตาตามสัดส่วน 9 : 1

ตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งรัฐมนตรี พบว่ามีการโปรดเกล้าลงมาเพียง 34 คน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็น 35+1 คือบวกนายกรัฐมนตรีอีก 1 คน

ตรวจสอบลึกลงไปพบว่า พรรคพลังประชารัฐได้มาเพียง 3 ตำแหน่ง คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแล้วล้อม...

ชื่อของ ‘ไผ่ ลิกค์’ ที่มีโผว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ แต่หายไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ คุณสมบัติไม่ผ่าน หรือถูกตัดโควตาก็ไม่ทราบ แต่ถ้าตัดโควตา ก็ไม่เห็นว่าจะเอาไปเพิ่มให้ใคร ตรงไหน?

เรื่องนี้พลังประชารัฐจะว่าอย่างไร? มี สส.40 คน แต่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 3 คน ซึ่งข้อเท็จจริงควรจะได้ 4+ ด้วยซ้ำไป

หรือเกิดจากการเอาคืนของเพื่อไทย ที่เสียงของพลังประชารัฐมาไม่เต็ม มาแค่ 39 จาก 40 และคนที่ไม่มาเป็นถึงหัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และเสียงสมาชิกวุฒิสภาสาย พล.อ.ประวิตร ก็มาแค่หร่อมแหร่ม 4-5 คน จึงถูกตัดโควตารัฐมนตรีลง แต่โดยมารยาทควรจะบอกกล่าวกันก่อนไหม

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ เสียงเต็มทั้ง 36 เสียง แถมเสียงสมาชิกวุฒิสภา สาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มาเต็มเม็ดเต็มหน่วย เอาว่าเป็นเนื้อเป็นหนัง มี สส.36 คน แต่มีรัฐมนตรีถึง 5 ที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีพลังงาน, นายกฤษณะ จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยคลัง (คนนอก), นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยเกษตร, นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม เป็นต้น 

เอาเป็นว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นเนื้อเป็นหนังกว่าเยอะ!!

นอกจากนี้ยังมีชื่อบุคคลที่เคยอยู่ในโผ แต่หลุดมือไปตอนไหนไม่รู้ นอกจาก ‘ไผ่ ลิกค์’ แล้ว ยังมี ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ที่ควรได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลฝ่ายกฎหมาย และช่วยงานพรรคมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย มีมือดีเข้ามาล่วงโผ ดัน ‘พิชิต ชื่นบาน’ อดีตทนายถุงขนม เข้ามาเสียบแทน ‘ชูศักดิ์’ โดยไม่ได้ดูคุณสมบัติ ว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนถึง 6 เดือน ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติ ‘พิชิต’ จึงหลุดไปอีกคน 

สรุปง่ายๆ ว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย หรือจะให้ ‘พีระพันธุ์’ ดูแลแทน ในฐานะอดีตผู้พิพากษา

ส่วน พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ที่เคยเข้าวินในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ก็หลุดไปเหมือนกัน โดยมี ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้ามาสวมแทน… ทราบว่า นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ขอเปลี่ยนตัวเอง ต้องการคนมีประสบการณ์เข้ามาทำงาน จึงโยกพิมพ์ภัทรา จากช่วยมหาดไทย มานั่งว่าการอุตสาหกรรมแทนพิชชารัตน์ ซึ่งชื่อของพิชชารัตน์ก็หายไปจากสารบบ 2-3 วันแล้ว

ด้าน ‘วิทยา แก้วภราดัย’ ที่เคยมีชื่อเข้าชิงในรอบแรก ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข แต่ชื่อหลุดไปเมื่อเข้ารอบสอง ซึ่งเจ้าตัวอาจจะขอถอนเองก็เป็นได้ เพราะเคยนั่งว่าการสาธารณสุขมาแล้ว

ชื่อ ‘อดิศร เพียงเกษ’ หมอแคนจากพรรคเพื่อไทยก็ไปเข้ารอบ ไม่แตกต่างจาก ‘เสี่ยอ๋อย’ จาตุรนต์ ฉายแสง แต่ดูเหมือนว่า จะมีชื่อคนใหม่ๆ แปลกๆ เข้ามาแทนหลายตำแหน่งอยู่เหมือนกัน เช่น จักรพงษ์ แสงมณี มากพรรคไหนไม่ทราบ เข้ามานั่งช่วยต่างประเทศ

การตั้งรัฐบาลคราวนี้ พรรคที่เจ็บกระดองใจมากที่สุดน่าจะเป็นพลังประชารัฐ ที่มี สส.มากกว่ารวมไทยสร้างชาติ แต่ได้รัฐมนตรีน้อยกว่า ถึงเวลาพลังประชารัฐต้องมานั่งขบคิดแล้วละ จะว่าโควตาเต็มก็ไม่ใช่ เพราะตั้งยังขาดอยู่อีก 2 ตำแหน่ง หรือใครบางคนขาดคุณสมบัติ ส่งคนใหม่มาก็ตรวจสอบไม่ทันแล้ว เพราะรายชื่อส่งหมดแล้ว จะรอก็ไม่ได้ เพราะกำหนดการวางไว้หมดแล้ว วันศุกร์นำรายชื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้า โปรดเกล้าฯ ลงมา ‘เสาร์’ วันจันทร์เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน วันอังคารก็จะประชุม ครม.นัดแรก วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ‘ลุงตู่’ จึงมีอีเวนต์ อำลาทำเนียบรัฐบาลด้วย ‘รอยยิ้ม-น้ำตา’

แต่เริ่มต้น รัฐบาลเศรษฐา 1 ก็เห็นรอยร้าวแล้ว และน่าจะเป็นบทลงโทษที่สาสมกับเพื่อไทยต่อพลังประชารัฐ

วัดใจ 'ครม.เศรษฐา 1' มุ่งแก้ 'ปากท้อง-ค่าครองชีพ' ทำได้ไว ไม่ติด แต่พันธกิจล้าง 'ผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองตัวดี' ห้ามปล่อยไหล

สำหรับ นายหัวไทร ในนาทีนี้ นโยบายที่อยากให้รัฐบาลทำให้เข้มข้นจริงจัง และ ด่วนที่สุด คือ การปราบปรามยาเสพติด การลักลอบค้าของเถื่อน-หนีภาษี ปราบการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับ (ทั้งระดับนโยบาย-ปฏิบัติการ) ทำอย่างไรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตั้งแต่หน่วยงานเล็ก ๆ ระดับจังหวัด กรม กอง / อบต.เทศบาล อบจ.จะปราศจากการล็อกสเปก เล่นพรรคเล่นพวก / ฮั้วประมูล / เงินทอน ฯลฯ

ยิ่งปัญหาการพนันออนไลน์ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย นี่แหละที่เป็นที่มาของการสร้างผู้มีอิทธิพล

ไม่ต้องพูดถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนอยู่แล้ว ส่วนน้ำมันแพงก็เป็นปัญหาพื้นฐานที่รัฐจะต้องเข้าไปรื้อโครงสร้างโน้นนี้นั้น เชื่อว่าไม่ยากที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงมาได้ เช่น โครงสร้างภาษี ค่าการคลั่น การนำเข้า-ส่งออก

เรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นเรื่องที่นักการเมืองไปหาเสียงรับปากกับประชาชนไว้เอง จะตั๋วใบเดียวขึ้นได้ทุกสายหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่จะต้องคิดแก้อยู่แล้ว แต่งานนี้ไม่อยากให้รัฐบาลควักเงินภาษีของคนทั้งประเทศ มาชดเชยการเดินทางของของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใครกินใครใช้ก็คนนั้นจ่าย แต่ต้องในอัตราที่เป็นธรรม ส่วนจะทำอย่างไร จะคุยกับเอกชนแบบไหน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพียงแต่ไม่อยากให้เอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาจ่ายแทนชดเชยให้เอกชน และรัฐบาลหยิบเอาไปอ้างเป็นผลงาน มันไม่ใช่ฝีมือครับ

เรื่องราคาสินค้าเกษตร ที่นายกรัฐมนตรี 'เศรษฐา ทวีสิน' พูดเองว่าจะไม่ใช้ประกันรายได้ตามนโยบายประชาธิปัตย์ และจะไม่รับจำนำ เหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะใช้มาตรการอะไร นอกจากพักหนี้พักดอก 'นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้' มันดูหลักลอยไปหน่อยกับการเล่นคำ สินค้าเกษตร 5 ตัวหลัก ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสัมปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน คือพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ รัฐบาลจะใช้นวัตกรรมอะไร มาสร้างเสริม เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ไม่มีการบอกกล่าว

ปัญหาบางปัญหาเกี่ยวโยงกับนักการเมือง หรือพูดง่าย ๆ ว่า นักการเมืองนั่นแหละคือตัวดี ทำเสียเอง จึงเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข

เอาแค่นี้ก่อน จริง ๆ มีปัญหาอีกมากมายที่คาราคาซังมายาวนาน แต่ขาดการเอาใจใส่ดูแลและแก้ไข เพราะบางปัญหามัน 'หยิกเล็กก็เจ็บเนื้อ'

ระดมสมอง!! หาเหตุให้ 'หมออ๋อง' ออกจากก้าวไกลอย่างไร้ข้อกังขา ช่วยรักษาไว้ทั้งสองตำแหน่ง 'ผู้นำฝ่ายค้าน-รองประธานสภาฯ'

พลัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.แต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรค ยังเป็นหัวหน้าพรรคต่อไปได้ 

เพียงแต่เมื่อถูกห้ามปฏิบัติหน้าที่ ก็จะเป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้ตามกฎหมายกำหนด เพราะผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน (ไม่มีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร และสภา) 

เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไว้ พิธา จึงต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อเปิดทางให้เลือก สส.คนใหม่มาเป็นหัวหน้าพรรค จะได้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน

แต่ต้องติดต่อกับข้อกำหนดกฎหมาย ผู้นำฝ่ายค้าน จะต้องไม่มีตำแหน่งในสภา เช่น ประธาน หรือรองประธานสภา จะทำอย่างไรกับ หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่นั่งเป็นรองประธานสภาฯ อยู่ในนามพรรคก้าวไกล

“เราต้องรักษาไว้ทั้งสองตำแหน่ง เพราะเราสูญเสียมามากแล้ว” ความคิดหนึ่งแว่บขึ้นมาในสมองของนักการเมืองระดับอ๋อง

ว่าแล้ว จึงน่าจะใช้มติพรรคขับหมออ๋องออกจากพรรค ไปหาพรรคใหม่สังกัด และยังเป็นรองประธานสภาอยู่ได้ หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ก็เป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ด้วย รักษาไว้ทั้งสองตำแหน่ง

เพียงแต่จะหาเหตุผลอะไรมาอธิบายกับสังคมในการขับหมออ๋องออกจากพรรค ในเมื่อหมออ๋องยังไม่ทำผิดอะไรต่อพรรค ไม่ได้ทำอะไรให้พรรคเสียหาย

มีคนพยายามอธิบายว่า ก็อดีตเคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อ สส.กลุ่ม รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ต้องการออกจากพรรคพลังประชารัฐ เพื่อตั้งพรรคใหม่ พรรคเศรษฐกิจไทย ก็เสนอให้พรรคมีมติขับพวกเขาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และในที่สุดพรรคพลังประชารัฐก็มีมติขับ สส.กลุ่ม รอ.ธรรมนัสออกจากพรรคจริงๆ และไปขับเคลื่อนพรรคเศรษฐกิจไทย

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้จึงน่าจะเกิดกับหมออ๋อง-พรรคก้าวไกล เพียงแต่พรรคก้าวไกลต้องหาเหตุหาผลไปอธิบายกับสังคม กับการทำการเมืองแนวสร้างสรรค์ แนวก้าวหน้า แต่การทำแบบที่ว่า เป็นการทำแบบ 'ศรีธนนชัย' เพื่อรักษาไว้ทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และตำแหน่งรองประธานสภา

ใครจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ให้จับตาดูการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะเป็นใคร จะเป็นพริษฐ์ วัชรสินธุ์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, รังสิมันต์ โรม, ศิริกัญญา ตันสกุล หรือไม่หรือจะเป็นใคร

แต่สำหรับหมออ๋อง มีข่าวแพลมออกมาแล้วว่า เมื่อถูกขับออกจากพรรคก้าวไกล ก็จะไปสังกัดพรรคเป็นธรรม หรือไม่ก็พรรคสามัญชน แต่มีความเป็นไปได้กับพรรคเป็นธรรมมากกว่า

ที่มา: นายหัวไทร

คลี่สถานการณ์ 'ประชาธิปัตย์' ในจังหวะคลุมเครือ ยังเหลือโอกาสให้คงไว้ซึ่งสถาบันทางการเมืองอยู่

เงียบไปเลยสำหรับประชาธิปัตย์ จะจัดการกับปัญหาภายในพรรคอย่างไร เห็นตอบแรกๆ ดูขึงขัง เอาจริงเอาจัง หรือว่า "เขามีอะไรกันแล้ว"

ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์หลักๆ มีอยู่ 2-3 ประเด็น...

- ประเด็นแรกคือจะมีการประชุมใหญ่ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อไหร่ แทนชุดเก่าที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่พ่ายแพ้ยับเยิน หลังจากนัดประชุมกันมาสองรอบ แต่องค์ประชุมล่มทั้งสองครั้ง ซึ่งเป็นการล่มแบบ 'ผิดปกติ' มีการจัดการทำให้ล่ม

- ประเด็นที่สองคือ จะจัดการกับปัญหา สส.จำนวนหนึ่ง 16 คน ยกมือสวนมติพรรค ไปยกมือสนับสนุน 'เศรษฐา ทวีสิน' จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่มติพรรคให้ 'งดออกเสียง' มีการนินทากันว่า การโหวตสวนมติพรรค เป็นเกมเดินไปสู่การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เกมการเดินไปสู่การร่วมรัฐบาล ถูกกำหนดโดยทีม 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' เลขาธิการพรรค, เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของ สส.บางกลุ่มก้อน กลุ่มหนึ่งมาจากสายของเดชอิศม์ อีกกลุ่มหนึ่งมาจากสายชัยชนะ เดชเดโช อีกกลุ่มมาจากสายเฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่เป็นการเลือกทางเดินที่ผิดพลาด เพราะพรรคเพื่อไทย แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้ชายตามองมายังประชาธิปัตย์เลยแม้แต่น้อย แต่ สส.กลุ่มนี้ภายใต้การกุมทิศทางของ 'เฉลิมชัย-เดชอิศม์-แทน' ก็หวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้ร่วมรัฐบาล

สาทิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออก ยื่นหนังสือเป็นทางการถึงจุรินทร์ ให้ตั้งกรรมการสอบ 16 สส.ที่แหกมติพรรค แต่ 'เงียบกริบ' ไม่มีข่าวคราวการตั้งกรรมการสอบมาจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 'เงียบยิ่งกว่าเป่าสาก' แต่ #นายหัวไทร ได้รับเสียงกระซิบมาว่า "ตั้งแล้ว" แต่ไม่มีข่าวไม่มีคราว ใครเป็นประธาน ใครเป็นกรรมการสอบ และสอบไปถึงไหนแล้ว ต้องเสร็จเมื่อไหร่ ไม่มีอะไรออกมาให้ได้รับทราบกันเลยแม้แต่น้อย ยิ่งปล่อยไว้นานรังแต่จะเพิ่มความเสื่อมครับ

ได้เห็นภาพที่แปลกตาแปลกใจช่วงหาเสียงเลือกตั้งซ่อมระยอง เขต 3 มีคนประชาธิปัตย์มะรุมมะตุ้มกันไปช่วยหาเสียง ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์, สุทัศน์ เงินหมื่น, นิพนธ์ บุญญามณี พร้อมหน้าพร้อมตากันไปช่วยหาเสียง แต่ที่แปลกคือ มี 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' และ 'ชัยชนะ เดชเดโช' ไปร่วมเดินเคาะประตูบ้าน ช่วยหาเสียงด้วย ทั้งๆ ที่ถือว่าเป็นคนละขั้วกันชัดเจน

งานนี้จะขาดก็เพียง 'นายกฯ ชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง' ที่อาจจะไปก็ได้ แต่ #นายหัวไทร ไม่เห็น หรือติดภารกิจอะไร ถึงไม่ได้ไปร่วมภารกิจวัดดวงสำหรับประชาธิปัตย์

นายหัวไทรแอบคิดในใจว่า "หรือว่า เขาคุยกันแล้ว" คุยกันออกมาในแนวประนีประนอม เมื่อผลสอบออกมา ก็คือ "มีมูล" ว่า มีการละเมิดมติพรรค แต่ฐานความผิดต่างกัน บางคนแต่ทำตามผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำ ช่วงคนลงมติตามผู้มีพระคุณบอก แต่บางคนเป็นแกนนำ แถมวิจารณ์พรรค วิจารณ์ผู้อาวุโสของพรรค ถึงขั้นเชิงตั้งคำถามว่า "ใครจะขับใครกันแน่" เมื่อฝ่ายเขากุมเสียง สส.อยู่มากกว่า อย่างน้อยเห็นๆ 16-20 คน

ที่พาให้คิดได้ว่า "เขาคุยกันแล้ว" และจะออกมาแนวประนีประนอม ไม่อยากให้แตกหัก และ สส.บางคนก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ทำตามผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณสั่ง แนวทางของประชาธิปัตย์จึงน่าจะออกมาแบบ "ขับออกจาก" บางคน อาจจะ 1-2 คน ส่วนที่เหลืออาจจะว่ากล่าวตักเตือน จะด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร ขึ้นอยู่กับฐานความผิดที่กระทำขึ้น ซึ่งต้องไปกำหนดด้วยว่า ฐานความผิดแต่ละฐานะเมื่อโดนลงโทษแล้ว จะมีผลอย่างไรต่อไปในอนาคต

แต่สำหรับมุมมองของนายหัวไทร มองว่า น่าจะขับออก 1 ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร 1 ที่เหลือตักเตือนด้วยวาจา คนที่โดนขับออกก็ไปหาพรรคใหม่สังกัดตามช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนจะตักเตือนด้วยวาจา หรือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ยังอยู่กับประชาธิปัตย์ต่อไปได้ แต่จะมีผลอย่างไรในอนาคต ขึ้นอยู่กับพรรคกำหนด

จบข่าวสำหรับอนาคต 16 สส. แต่เรื่องใหญ่ของประชาธิปัตย์ จะฟื้นฟูพรรคอย่างไรให้กลับมาเฟื่องฟูเหมือนในอดีต ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องคิดหนัก คิดให้มาก ฟังให้มาก เสาะแสวงหาคนรุ่นใหม่ ดึงเข้ามาทำงาน "ร่วมคิดร่วมทำ" แบบซึมซับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ให้มาก

ในเวลานี้ประชาธิปัตย์ประกาศตัวชัดเจนแล้วว่า จะขอเป็นฝ่ายค้านแบบเข้มข้น ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และเป็นแนวทางที่ประชาธิปัตย์ถนัด ขอให้มุ่งมั่น ตั้งใจ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างจริงจัง เข้มข้น ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเรียกศรัทธากลับคืนมาได้

แต่หันซ้ายมองขวา ก็ยังไม่เห็นดาวเด่นในบริบทของการตรวจสอบในฐานะฝ่ายค้าน อาจจะมีแค่ดาวจรัสแสงในเชิงการหารือ ตั้งคำถาม อย่างเช่น 'สรรเพชญ บุญญามณี -ร่มธรรม ขำนุรักษ์' แต่ยังไม่เห็นแววว่าจะมีใครแสดงบทฝ่ายค้านที่เข้มข้นเหมือนในอดีตได้

ในอดีตที่เราเห็น ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ - วิทยา แก้วภารดัย-อาคม เอ่งฉ้วน - ไตรรงค์ สุวรรณคีรี - พิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล - สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นต้น นึกถึงคนเหล่านี้ ก็นึกภาพออกของการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน แต่มองไปยัง สส.ปัจจุบัน 20 กว่าคน เว้น 'ชวน-บัญญัติ' บอกตามตรงว่า "มองไม่เห็น"

ขออนุญาต #ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน เสนอแนะว่า เมื่อประชาธิปัตย์จัดทัพลงตัว มีหัวหน้าพรรค มีเลขาธิการพรรค มีกรรมการบริหารพรรคครบถ้วนแล้ว 'ชวน-บัญญัติ' ควรลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเปิดทางให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่ที่เข้มข้น ซึ่งถ้า 'ชวน-บัญญัติ' ลาออก ลำดับที่ 4 คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์ และลำดับที่ 5 นิพนธ์ บุญญามณี ก็จะขยับขึ้นมาเป็น สส.แทน แต่ไม่ใช่แค่นั้น คุณหญิงกัลยาก็ควรจะสละสิทธิ์ด้วย เพื่อให้ลำดับ 6 อย่าง 'องอาจ คล้ามไพบูลย์' ขยับขึ้นมาเป็น สส.บัญชีรายชื่อแทน

ประชาธิปัตย์ก็จะมี สส.แสดงบทบาทเด่นในสภาได้ 2 คน คือ นิพนธ์-อาอาจ ก็อาจจะมีคนถามว่าแล้วจะให้ 'ชวน-บัญญัติ' ไปทำอะไร เมื่อทั้งสองยังยึดมั่นอยู่กับประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น สำนึกรักประชาธิปัตย์ไม่เสื่อมคลาย ผมแนะนำว่า ให้ผู้อาวุโสทั้งสองท่าน และอาจจะรวมถึงคุณหญิงกัลยาด้วย ไปแสดงบทของนักบุญ ไปดูแลมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช ให้เป็นจริง เป็นเรื่องเป็นราว หรือไปขับเคลื่อนให้เป็นจริงเป็นจังในการผลักดันให้มีถนนคู่ขนาดขึ้น-ลงภาคใต้ ไปจนถึงนราธิวาส ตามเจตนารมณ์ของนายชวน ไปผลักดันงานพัฒนาภาคใต้ที่ต้องชดเชยจากการสูญเสียไปในบางรัฐบาล ที่นายชวนพล่ำบ่นมานาน

ทั้งหมดที่เขียนมาก็ด้วยความปรารถนาดีต่อพรรคการเมืองในตำนาน พรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองอย่าง 'ประชาธิปัตย์'

เรื่อง: นายหัวไทร

ส่องเกณฑ์เลือก สว.ชุดใหม่!! 200 คน ภายใต้ รธน. 2560 มีทั้งเลือกกันเองในกลุ่ม และเลือกข้ามกลุ่มตามขั้นตอน

(1 ต.ค. 66) มึนงงกับการศึกษาที่มา สว.ใหม่ สรุปคือมี 200 คน มีทั้งเลือกกันเองในกลุ่ม และเลือกข้ามกลุ่มตามขั้นตอน

นายหัวไทร หยิบ ‘รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560’ มาอ่านอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาจากสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแต่งตั้งพิเศษจาก คสช.ตามบทเฉพาะกาล 250 คน ใกล้จะหมดวาระในช่วงกลางปี 2567 (พฤษภาคม) และสว.ชุดใหม่ที่มาแบบใหม่เป็น สว.ตามบทหลักภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

แต่จากการอ่านหมวด ว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 107 เขียนไว้ซับซ้อนเข้าใจยากถึงที่มาจาก สว.ชุดใหม่ ต้องไปอ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ก็พอจะเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ลึกซึ้งมากนัก ต้องหาผู้รู้ด้านกฎหมายมหาชนมาอธิบายอีกครั้ง

เอาคร่าวๆ นะครับว่า ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้มี สว. 200 คน เลือกกันเองจากกลุ่มอาชีพต่างๆ และกลุ่มพิเศษคัดเลือกกันเอง

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหลักการที่มาและจำนวนวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก โดยให้ สว.มีแค่ 200 คน วาระดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล มีที่มาจากการที่ผู้สมัครตามแต่ละกลุ่มอาชีพ ‘เลือกกันเอง’ โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงานหรือเคยทำงานด้านๆ ต่าง ที่หลากหลายของสังคม ซึ่งรายละเอียดการจัดสรรกลุ่มอาชีพต่างๆ จำนวนและหลักเกณฑ์ขั้นตอนการเลือกกันเองอย่างชัดเจนจะถูกลงไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.วุฒิสภา)

พ.ร.ป.วุฒิสภา มาตรา 10 และมาตรา 11 กำหนดให้ผู้สมัคร สว.สามารถเลือกสมัครเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ได้ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 18 กลุ่ม และกลุ่มพิเศษอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มสตรี และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ รวมจำนวนทั้งหมด 20 กลุ่ม ดังนี้...

- กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาฯ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)
- กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- (กลุ่มพิเศษ) กลุ่มสตรี 
- (กลุ่มพิเศษ) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 
- กลุ่มอื่นๆ

โดยผู้สมัครจะต้องมีไม่มีลักษณะต้องห้ามต่างๆ ตามมาตรา 14 เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และต้องมีคุณสมบัติครบตามมาตรา 13 ดังนี้...

- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 
- อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี 
- ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก, มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก, เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี, เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอสมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา

ทั้งนี้ คุณสมบัติเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี นั้น จะไม่ถูกนำมาใช้กับผู้ที่สมัครในกลุ่มสตรีหรือกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น นอกจากนี้ หากเป็นผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ในข่าย ‘อื่นๆ หรือในทำนองเดียวกัน’ จะต้องเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย

ส่วนที่มา สว. ให้เวียนเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ

โดยที่มาของ สว.ชุดใหม่ เมื่อผู้สมัครคุณสมบัติผ่านฉลุย ก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่มและในหนึ่งอำเภอเท่านั้น (มาตรา 15) ซึ่งทุกกลุ่มจะทำการเลือกกันเองตั้งแต่ในระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัด จากนั้นค่อยไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ จนได้สมาชิกครบ 200 คน ซึ่งขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้...

>> ด่านแรก เลือกกันเองในระดับอำเภอ (มาตรา 40) 
- ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
เริ่มด้วยการเลือกกันเองภายในกลุ่มที่ผู้สมัครเลือกสมัครก่อน ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม

- ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สามอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับจังหวัด
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้ ผู้ได้คะแนนสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับจังหวัดต่อไป 

>> ด่านที่สอง เลือกกันเองในระดับจังหวัด (มาตรา 41) 
- ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม

- ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สองอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับประเทศ
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง ผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับประเทศต่อไป

>> ด่านที่สาม เลือกกันเองในระดับประเทศ (มาตรา 42)
- ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ 40 คนแรกของแต่ละกลุ่ม
ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในขั้นนี้หากแต่ละกลุ่มได้ไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน

- ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม โดย 10 คนแรก ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว.
กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละไม่เกินห้าคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้ ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นสว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น 

โดยสรุป เมื่อผ่านการเลือกกันเองของกลุ่มผู้สมัคร สว.ทั้งหมดสามด่านแล้ว ก็จะได้ตัวแทนจากแต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน เป็นตัวจริงที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น สว. ยกตัวอย่างเช่น...

นาย ก.เคยเป็นครู ทำงานมาแล้ว 20 ปี อยากเป็น สว. ดังนั้น นาย ก.จึงไปสมัครตามอำเภอที่ตนพำนัก เพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มอาชีพที่ตนเชี่ยวชาญคือ กลุ่มการศึกษา เมื่อตรวจคุณสมบัติผ่านก็ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกกันเองสามด่าน ซึ่งนั่นหมายความว่า นาย ก. จะเป็นทั้งผู้มีสิทธิเลือกสว.และเป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือกให้เป็น สว.ไปพร้อมกัน

และการที่ ‘นาย ก.’ จะเป็นสว.ได้นั้น นาย ก.ต้องติด Top 40 ของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจจากคนในกลุ่มอาชีพเดียวกัน และยังต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้สมัครกลุ่มอื่นๆ ถูกเลือกจนกลายเป็น Top 10 ของกลุ่มการศึกษา และเป็นหนึ่งใน 200 คนที่ได้รับตำแหน่ง สว. ในที่สุด

การได้มาซึ่ง สว. ด้วยวิธีการ ‘คัดเลือกกันเอง’ นับว่าเป็นแบบไม่ง้อการเลือกตั้งจากประชาชน โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยให้สัมภาษณ์ ไว้ว่า “ประชาชนเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง และไม่ต้องอิงกับพรรคการเมือง เพราะไม่ต้องหาเสียง เขาก็คุยกันเฉพาะแต่ในกลุ่มบุคคลที่สมัคร กลไกในลักษณะนี้จะทำให้ สว.ปลอดจากการเมือง มาจากทุกสาขาอาชีพ มาจากคนทั่วประเทศ และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็คือ ‘ประชาชน’”

อ่านทั้งรัฐธรรมนูญ และ พรป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ก็พอจะประมวลได้แค่นี้ แต่ก็ยังยากจะเข้าใจอยู่ ยังต้องหากูรูกฎหมายมหาชนมาอธิบายคำว่า ‘กลุ่ม’ กับ ‘สาย’ และ ‘ขั้น’ ต่างๆ ที่เขียนไว้ซับซ้อนไม่น้อย

สรุปง่ายๆ คือ สว.มี 200 คน ในขั้นต้นเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ค่อยไปเลือกข้ามกลุ่มเมื่อมีการแบ่งสาย ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปครับ

จับตา 'ตัวเต็ง' ศึกชิงตัวแทนเกษตรภาคใต้ เปิดตัวเต็งจ่อเข้าวิน 4 คน นั่งบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ

เหลือเวลาอีกเพียงสิบกว่าวันก็จะถึงวันที่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร จะต้องออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตัวแทนเกษตรในกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และการพัฒนา-ฟื้นฟูอาชีพ จะได้นำเงินรายได้มาชดใช้หนี้สิน

เกษตรกรสมาชิกที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 5.2 ล้านคน (ตัวเลขกลมๆ) ในโอกาสนี้จึงอยากขอเชิญชวนให้เกษตรกรสมาชิกทุกท่านออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรในวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 นี้ เพื่อจะได้มีผู้แทนของเกษตรกรทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้พี่น้องเกษตรกร ร่วมเสนอความคิดเห็น นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของเกษตรกรทั้งด้านหนี้สิน การพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร รวมถึงมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในด้านต่างๆ ด้วย

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีเกษตรกรสมัครเป็นตัวแทนเกษตรทั้งหมด 127 คน จากทุกภาค และต้องคัดเหลือแค่ 20 คน เข้าไปเป็นตัวแทนในบอร์ดกองทุนฟื้นฟู โดยภาคเหนือมีผู้สมัคร 28 คน ต้องคัดให้เหลือ 5 คน ภาคกลางมีผู้สมัคร 19 คน คัดให้เหลือ 4 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้สมัคร 57 คน คัดให้เหลือ 7 คน ภาคใต้มีผู้สมัคร 23 คน คัดให้เหลือแค่ 4 คน และในจำนวนตัวแทนเกษตรกร 20 คน จะคัดส่วนหนึ่งไปเป็นบอร์ดบริหาร

กล่าวสำหรับภาคใต้ มีผู้สมัคร 23 คน มีทั้งคนเก่า และคนใหม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และคัดให้เหลือแค่ 4 คน กล่าวโดยรวมผู้สมัครที่เป็นตัวแทนเกษตรกรคนเก่า ยังมีโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะมีชื่อเป็นที่ปรากฏ มีผลงานมีชื่อเสียงอยู่แล้ว ซึ่งภาคใต้มีตัวแทนเกษตรกรคนเก่าลงสมัครมากถึง 8 คน คะแนนก็จะกระจุกตัวอยู่ใน 8 คนนี้เป็นหลัก

จากการติดตามกระแสการเลือกตั้ง เกษตรกรสมาชิกส่วนใหญ่เกิน 70% ยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งตัวแทนเกษตรในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ และจะไปลงคะแนนที่ไหน อาจจะกล่าวได้ว่าสำนักงานกองทุน กฟก.ยังด้อยเรื่องการประชาสัมพันธ์ เชิญชวนเกษตรกรสมาชิกออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือแม้แต่สำนักงานกองทุนในแต่ละจังหวัด ก็ยังขาดการประชาสัมพันธ์ ทำไมเหมือนการเลือกตั้ง สส. มีทั้งรถแห่ มีแจกใบปลิว มีการส่งหนังสือถึงผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน หรือแม้กระทั่งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อกระแสหลัก วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ถ้าเป็นสื่อโซเชียลก็จะเป็นเว็บไซต์ เว็บเพจ ทวิตเตอร์ ยูทูบ เป็นต้น

ในภาคใต้ ผู้ที่มีโอกาสได้รับเลือก มีอยู่ 6-7 คน และทั้งหมดเป็นคนเก่า อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือว่า 'รุสดี บินหะยีสะมาแอ' น่าจะเป็นตัวเต็ง เป็นอดีต สว.และตัวแทนเกษตรกรมาแล้ว 2 สมัย จึงต้องหยุดตามกฎหมายกำหนด และส่งสมบูรณ์ จิตรเพ็ญ ลงสมัครแทน และได้รับการเลือกตั้งด้วย ภายใต้การขับเคลื่อนของรุสดี แต่คราวนี้การเจรจาไม่ลงตัว สองคนจึงลงแข่งกันเอง แต่รุสดียังมีความเหนือกว่า ทั้งในแง่ของผลงาน และชื่อเสียง ประสบการณ์

พจมาน สุขอำไพจิตร ผู้สมัครจากชุมพร เป็นตัวแทนกรรมกรในสมัยที่ผ่านมา และเป็นผู้หญิงคนเดียว จึงยังน่าจะได้รับคะแนนสงสาร เห็นใจอยู่ไม่น้อย การจัดการคะแนนก็เป็นระบบ เพียงแต่มีข้อด้อยตรงที่ผลงานไม่เด่นชัดนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกษตรกรสมาชิกอ้างได้ว่า "เราให้โอกาสคุณแล้ว" อาจจะถึงเวลาเปลี่ยนก็เป็นได้

ละม้าย เสนขวัญแก้ว ผู้สมัครจากนครศรีธรรมราช เคยเป็นตัวแทนสมัยที่ผ่านมา แต่ถูก คสช.ใช้ ม.44 ปลด และแต่งตั้งคนใหม่มาแทน แต่ละม้ายเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ลงสมัคร เข้าใจปัญหา และวิธีการในการแก้ไขปัญหาดีคนหนึ่ง ชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เคยเป็น สจ.หัวไทรหลายสมัย เคยเป็นประธานสภาฯ อบจ.นครศรีธรรมราช และเคยเป็นรองนายกฯอบจ.นครศรีธรรมราช และอีกหลายๆ ตำแหน่งที่สะท้อนประสบการณ์

สุภาพ คชบูด อดีตตัวแทนเกษตร มาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย ผลงานเป็นที่ปรากฏไม่น้อย เครือข่ายมีมาก การจัดการเป็นระบบ แต่ต้องเร่งมือในการแก้ข่าว กับการถูกโจมตี ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คู่ต่อสู้ต้องชกแชมป์ ไม่แตกต่างจาก 'ดรณ์ พุมมาลี' ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนเกษตรกรในสมัยที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นคนหนุ่มที่ขยับลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ร้องขอให้ช่วยเหลือ เขาเดินทางไปพบเกษตรกรไม่น้อย เดินทางอยู่ในพัทลุง, ตรัง, สงขลา, นครศรีธรรมราช ก็น่าจะได้รับแรงใจจากเกษตรกรสมาชิกไม่น้อย แต่ต้องก้าวให้ผ่านการถูกโจมตีให้ได้ เอาผลงานมาแจกแจงให้ชัดในช่วงโค้งสุดท้ายนี้

วีระพงศ์ สกล อดีตตัวแทนเกษตรกรเช่นกัน คราวที่แล้วต้องพัก เพราะเป็นมาแล้วสองสมัย เปิดทางให้ละม้าย เสนขวัญแก้ว มาลงแทน ในแวดวงเกษตร วีระพงศ์เป็นที่รู้จักกัน มีเครือข่ายเชื่อมโยง และเคยมีผลงานในการจัดการหนี้ให้เกษตรกรหลายราย วงเงินนับ 100 ล้าน แต่วีระพงศ์ กับละม้าย กลับต้องมาลงแข่งกันเอง และแบ่งคะแนนกันของคนนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซนลุ่มน้ำปากพนัง แต่ถ้าเปรียบเทียบกัน ละม้ายน่าจะมีระบบคิดที่เหนือกว่า ถ้าสองคนนี้ได้คุยกัน และลงสมัครเพียงคนเดียว จะได้คะแนนจากคนลุ่มน้ำไม่น้อย และน่าจะได้รับเลือกเป็นแน่แท้ แต่เมื่อมาแข่งมาแย่งคะแนนกันเอง ก็ต้องไปวัดดวงกันจากคะแนนโซนอื่นๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดเพียงอยากกระตุ้นเตือนให้เกษตรกรสมาชิก กฟก.ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ส่วนผู้สมัครคนอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึง บอกตามตรงว่า "ไม่มีข้อมูลมากพอ"

ใครจะได้รับเลือกตั้งก็ตามขอให้มีความสุขกับการช่วยเหลือเกษตรกร แก้ปัญหาหนี้ และฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรในช่วงที่รับหน้าที่อยู่ และมุ่งมั่น ตั้งใจ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้พ้นจากบ่วงที่ผูกรัดมัดคอมายาวนาน

'เทพไท' ยุติบทบาททางการเมือง เตรียมทำหนังสือแชร์ประสบการณ์ในเรือนจำ ลั่น!! เดินหน้าทำเพลง จัดรายการวิเคราะห์การเมือง ดูแล 'กาแฟเทพไท'

(10 พ.ย. 66) เทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับ 'ป้าจอย' ถึงทิศทางการทำงานการเมืองหลังได้รับอิสรภาพว่า มีคำถามเกี่ยวกับทิศทางการเมืองว่าจะเดินไปในแนวไหน?

“ผมได้คุยกับครอบครัวและตกผลึกว่า เรามีกับ 8 คนพี่น้อง ผมกับมาโนช ก็ต้องยุติบทบาททางการเมือง ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย”

ทั้งเทพไท และมาโนช เสนพงศ์ น้องชาย ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี วันนี้เทพไทในวัย 62 ย่าง 63 กว่าจะกลับมาทำงานการเมืองต่อได้ก็อายุย่าง 70 แล้ว จึงน่าจะยุติบทบาททางการเมืองยาว

เทพไท บอกอีกว่า มีการคุยกันว่า จะมีใครทำงานการเมืองต่อได้บ้าง ก็เหลืออยู่ 4 คนที่ทำงานการเมืองต่อได้ คนแรกคือ เชาร์วัศน์ เสนพงศ์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ยังมีพละกำลังทำงานการเมืองต่อได้

“อาจารย์เชาร์วัศน์ แนวโน้มยังติดอยู่กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถ้าอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค อ.เชาร์วัศน์ ก็คงจะอยู่ประชาธิปัตย์ต่อไป”

อีกคนคือ พงศ์สิน เสนพงศ์ อดีตผู้สมัคร สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ตอนนี้เป็นผู้ช่วยของ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ ก็คงจะอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติต่อไป

น้องมุก จริยา เสนพงศ์ ทำงานอยู่กรีนพีช เป็นเอ็นจีโอ ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม การเมืองภาคประชาชน เขาคุ้นเคยกับปิยบุตร แสงกนกกุล เรียนรุ่นเดียวกันที่ธรรมศาสตร์ พรรคก้าวไกลก็อยากให้เข้ามาช่วยทำงานการเมือง แต่เขาไม่สะดวก

เทพไท กล่าวอีกว่า น้องชายคนเล็ก ครรชิต เสนพงศ์ เขาเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว ก็คงอยู่ก้าวไกลต่อไป 

“4 คนนี้จะทำงานการเมืองต่อไป สำหรับผมก็ไม่มีบทบาททางการเมืองแล้ว ก็จะยังคงเป็นที่ปรึกษา สนับสนุนการเมืองสุจริต ไม่ซื้อเสียง ไม่หากินกับยาเสพติด และฮั้วประมูล”

เทพไท เปิดเผยว่า อนาคตจะทำพ็อกเก็ตบุ๊กสักเล่ม ท่านชวนแนะนำให้เขียนประสบการณ์ชีวิตในคุก 16 เดือน เผยแพร่ให้กับประชาชน

เทพไท ย้ำว่าเตรียมทำงานเกี่ยวกับเพลง เข้าห้องอัดเสียง เนื่องจากตอนอยู่ในเรือนจำได้แต่งเพลงเกี่ยวกับเรือนจำไว้ 15 เพลง และอื่น ๆ อีก 20 เพลง

เทพไทบอกว่า ยังเตรียมจัดรายการวิเคราะห์การเมือง เพราะเคยมีประสบการณ์จัดรายการ 'สายล่อฟ้า' ซึ่งเป็นรายการที่มีเรตติ้งดีมาก แต่เป็นทีวีดาวเทียม ต่อไปอาจจะจัดบนทีวีดิจิทัล ก็ต้องดูว่ามีช่องไหนสนใจ และรูปแบบรายการจะเป็นอย่างไร แต่คงจะยังมี 'ล่อฟ้า' อยู่

เทพไทบอกอีกว่า อย่างอื่นก็คงจะมีทำธุรกิจอยู่บ้าง โดยทำ 'กาแฟเทพไท' ให้บริการคอกาแฟบ้านเรา หลังจากนี้ก็จะทำอยู่ 3-4 เรื่องนี้

เปิดตัวแปร ‘สนธิญาณ’ ไขก๊อก!! งัดข้อใคร หรือ บ้านใหม่ไม่เวิร์ก 

การตัดสินใจทิ้ง ท็อปนิวส์ฯ ของ ต้อย-สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถานีข่าวท็อปนิวส์ น่าสนใจยิ่งกับเหตุผล ‘เนื่องด้วยทิศทางธุรกิจผมกับคณะบริหารไม่ตรงกัน’

ฟังดูเหตุผลแล้วดูเรียบง่าย แต่ภายในน่าจะเดือดปุด ๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว จนมาถึงจุดระเบิดในที่สุด

ทิศทางธุรกิจไม่ตรงกันกับคณะผู้บริหาร จนนำมาสู่การทิ้งบ้าน เป็นเรื่องน่าสนใจ แค่ไม่มีใครให้รายละเอียดเพิ่มเติม

พลิกดูข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีกรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย, นางลักขณา รัตน์วงศ์สกุล (ภรรยานายกนก รัตน์วงศ์สกุล), นายตระกูล วินิจนัยภาค, นายเอกชัย ชัยเชิดชูกิจ (คนสนิทของสนธิญาณ), นายชยธร ธนวรเจต, นายเอกพันธุ์ แป้นไทย, นางสาวกิ่งการะเกด ชื่นฤทัยในธรรม (บุตรสาวนายสนธิญาณ), นายพงษ์ศักดิ์ ชมสุวรรณ และนางสาวสุธิดา สาริกุล

โดยกรรมการลงชื่อผูกพัน นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม หรือ นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย หรือ นายเอกชัย ชัยเชิดชูกิจ หรือ นางลักขณา รัตน์วงศ์สกุล 

ส่วนข้อมูลงบการเงินพบว่า ปี 2564 ซึ่งเป็นปีเริ่มก่อตั้งท็อปนิวส์ฯ มีรายได้รวม 192,067,527.00 บาท กำไรสุทธิ 10,329,294.00 บาท และปี 2565 มีรายได้รวม 224,422,932.00 บาท เพิ่มขึ้น 16.84% กำไรสุทธิ 9,065,781.00 บาท ลดลง 12.23% โดยสรุปสองปีมีกำไร ไม่มีขาดทุน แต่ต้องหารายได้มีใช้จ่ายแบบเดือนต่อเดือน เหนื่อยกันอยู่ไม่น้อย

ท็อปนิวส์ฯ จะเล่นข่าวแนวหวือหวา ดุดัน ซึ่งมีแฟนคลับกลุ่มหนึ่งติดตามชมอยู่แม้นจะอยู่บนทีวีดาวเทียมก็ตาม มีพิธีกรที่เป็นแม่เหล็ก อย่างกนก รัตน์วงศ์สกุล, ธีระ ธัญญะไพบูลย์, ปอง-อัญชะลี ไพรีรัก, สันติสุข มะโรงศรี, สนธิญาณ เองก็ร่วมจัดรายการแนววิเคราะห์อยู่ด้วย

แต่ปัญหาความไม่ลงรอยน่าจะครุกรุ่นมานาน และขยายวงไปเรื่อย

ก่อนหน้านี้สถานีข่าวท็อปนิวส์ เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตรายการให้กับสถานีโทรทัศน์เจเคเอ็น 18 และยุบช่องทีวีดาวเทียมของตัวเอง แต่ยังใช้สถานที่สถานีท็อปนิวส์ฯ ย่านกิ่งแก้วเป็นที่ทำงาน ส่งสัญญาณมายัง JKN-18 ย่านแบริ่ง หลังจากเข้ามาร่วมผลิตกับ JKN ไม่นาน อัญชะลี ไพรีรัก ผู้ประกาศข่าวตัวแม้ก็โบกมือลาท็อปนิวส์ไปก่อนเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ก่อนจะไปรับหน้าที่ผู้อำนวยการข่าว เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์ แต่ต่างฝ่ายต่างไม่ให้เหตุผลที่แท้จริง แต่ก็มีกระแสข่าวว่า เกิดจากทัศนคติไม่ตรงกันระหว่างนายสนธิญาณ กับ อัญชะลี เรื่องแนวทางการทำงาน

แม้สนธิญาณจะให้เหตุผลชัดว่า ทิศทางการทำธุรกิจไม่ตรงกับคณะผู้บริหาร แต่เมื่อพลิกดูรายชื่อกรรมการบริหารแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคนของสนธิญาณเอง ไม่ว่าจะเป็นฉัตรชัย เอกชัย ที่หอบหิ้วกันมาตั้งแต่ทำทีนิวส์แล้ว หรือปุ้ม ลักขณา รัตน์วงศ์สกุล ภรรยาของกนก ก็หอบหิ้วกันมาจากเนชั่น หรือกิ่ง การะเกด ก็เป็นลูกสาวของสนธิญาณเอง มีบางคนที่ #นายหัวไทร ไม่รู้จัก แต่ถ้าดูรายชื่อคณะผู้บริหารส่วนใหญ่แล้วเป็นคนของสนธิญาณ จึงยังนึกไม่ออกว่า ขัดแย้งกันใครในคณะผู้บริหาร

มาดูรายชื่อผู้หุ้นในท็อปนิวส์ฯ ว่ามีใครบ้าง แน่นอนว่า เมื่อเริ่มก่อตั้งสนธิญาณถือหุ้นอยู่ถึง 95% คนอื่น ๆ อีกคนละเล็กน้อย เช่น ฉัตรชัย, กนก, ลักขณา, ธีระ, อัญชะลี, ชยธร, เอกชัย และอื่นๆ

แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น (น่าจะเพิ่มทุน) ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มชื่นฤทัยในธรรม เหลือแค่ 26% ฉัตรชัยเพิ่มเป็น 26% กนก 5% ลักขณา 5% อัญชะลี 4% ชยธร 4% ธีระ 4% เอกชัย 4% และอื่นๆอีก 21%

แม้กลุ่มสนธิญาณจะยังมีสัดส่วนการถือหุ้นมากเกิน 25% แต่ฉัตรชัยคนเดียวถือหุ้นมากถึง 26% รายอื่น ๆ ก็ 4-5%

ก็ไม่รู้ว่านี้จะเป็นสาเหตุทำให้สนธิญาณต้องไขก็อกหรือเปล่า กับการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ข้อมูลในเชิงลึกให้ข้อมูลน่าสนใจว่า การตัดสินใจเข้าไปร่วมผลิตรายการกับ JKN ก็น่าจะมีส่วนในการตัดสินใจถอยออกมาของสนธิญาณ เพราะโฆษณาไม่ได้เข้ามาตามเป้าที่วางไว้เมื่อเทียบกับงบลงทุน การที่โฆษณาไม่เข้าเป้าส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทีวีเลือกข้างจึงน่าจะประสบปัญหาในการสนับสนุนการผลิต นายทุนอาจจะถูกบีบโดยผู้มากบารมี ไม่ให้ซื้อโฆษณา หรือสนับสนุนท็อปนิวส์ฯ ก็เป็นได้

มองไปข้างหน้ากับตัวเลขรายได้กับเวลาอายุสัญญาทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ 6 ปี ไม่น่าจะคุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนไป

การถอยออกมาเวลานี้จึงน่าจะเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสม เพื่อไปดูแลธุรกิจโรงแรมที่สิชล ซึ่งลงทุนไปเยอะแล้ว หรือจะพลิกตัวไปสู่การเมืองก็ยังไม่สาย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top