Thursday, 2 May 2024
นายหัวไทร

'วันนอร์' เคาะเริ่มโหวตเลือกนายกฯ 5 โมงเย็น 13 ก.ค. จับตา 8 ชั่วโมงแห่งการตัดสินชะตานายกฯ คนที่ 30

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยมติที่ประชุม 3 ฝ่ายเตรียมความพร้อมในการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยสรุป คือ จะมีการอภิปรายและจะโหวตกันได้ในเวลา 17.00 น. โดย ส.ว. ได้เวลา 2 ชั่วโมง และ ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองได้เวลารวม 4 ชั่วโมง

น่าจะสนุก...เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต่อด้วยให้สมาชิกอภิปราย ส.ว.ได้เวลาอภิปราย 2 ชั่วโมง ส.ส.ได้เวลาถึง 4 ชั่วโมง แต่ไม่มีรายละเอียดว่า ให้เวลากับคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีกี่นาที กี่ชั่วโมง

เข้าใจว่า 6 ชั่วโมงที่สมาชิกรัฐสภาได้มาเป็นช่วงเวลาของการซักฟอกยกแรกสำหรับชื่อ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' และจะเป็นโอกาสของพิธาในการได้อธิบายนโยบาย หรือแนวทางของพรรคก้าวไกล ที่สังคม และสมาชิกรัฐสภายังกังขาอยู่

เป็น 6 ชั่วโมง บวกกับการชี้แจงของพิธาอีก 2 ชั่วโมง รวมเป็น 8 ชั่วโมง น่าจะเป็น 8 ชั่วโมงที่น่าสนใจติดตามชมการถ่ายทอดสดเป็นอย่างยิ่ง

คอการเมืองไม่ควรพลาดสำหรับ 8 ชั่วโมงนี้ จะได้กระจ่างกันทั้งสองฝ่าย และจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ตรงประเด็น ไม่ต้องถามกันไปมา และทำให้การสื่อสารผิดเพี้ยนไปอีก

ส่องปฏิกิริยา 'พิธา' หลัง กกต.มีมติส่งศาล รธน.ปมไอทีวี ท่าทีเคร่งขรึม รับวันรัฐสภาเดินหน้าโหวตเลือกนายกฯ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รับเดินทางออกจากห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรทันที หลังทราบข่าวคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) 42,000 หุ้น พร้อมให้ฝ่ายสำนักงาน ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญทันที

พิธาเดินออกไปด้วยท่าทีเคร่งขรึม ผิดไปจากแต่ก่อน ซึ่งก็ควรจะเคร่งขรึม เพราะพรุ่งนี้รัฐสภานัดลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี กำลังจะโหวตอยู่แล้ว แต่กลับมีเรื่องใหญ่มาดักหน้าพอดี

แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า คุณสมบัติของพิธาในเวลานี้ยังครบถ้วนสมบูรณ์ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมา ขบวนการในวันนี้ จะเป็นแค่งานธุรการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็จะรับเรื่องไว้ แต่โดยขั้นตอนยังไม่น่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทันในวันนี้ คงต้องผ่านขั้นตอนปกติในคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ก่อนนำเข้าที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยสรุปพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) ก็จะเป็นการประชุมตามปกติของรัฐสภา และเดินหน้าโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส.ได้เวลาอภิปราย 4 ชม. สว.ได้เวลา 2 ชม.ส่วนฝ่ายตอบยังไม่ได้จำกัดเวลา ขึ้นกับดุลยพินิจของประธานรัฐสภา

ชื่อนี้ต้องจารึก!! รู้จัก 'ชาดา ไทยเศรษฐ์' ส.ส. สายอิทธิพล มี 'พาวเวอร์' ไว้เพื่อทำงานให้บ้านเมืองไทย

“ผมมีอิทธิพลจริง แต่ไม่เคยทำร้ายใคร มีอิทธิพลไว้ทำงานเพื่อบ้านเมือง” 
.
นี่คือถ้อยคำส่วนหนึ่งจาก 'นายชาดา ไทยเศรษฐ์' ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย...ส.ส.ที่ถูกกล่าวขานอีกครั้ง หลังจากเขาอภิปรายอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน ประกอบภาษากาย ที่บางคนอาจจะบอกว่า “มันเป็นบุคลิกของนักเลง” ไม่สำรวมกาย
.
ชาดาอภิปรายอย่างดุเด็ด เผ็ดร้อน ตั้งคำถามพุ่งตรงไปยังพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เรื่องจุดยืนในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ รวมถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พิธาให้ความกระจ่างต่อรัฐสภา ก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีชื่อพิธาเพียงคนเดียว ซึ่งพิธายังคงตอบยืนยันว่า เป็น “พันธกิจ” ที่ให้ไว้กับประชาชน อันเป็นการยืนยันว่าจะแก้ ม.112 ผ่านกลไกของสภา ในนามพรรคก้าวไกล
.
กล่าวสำหรับชาดา ชื่อของชาดาเริ่มเป็นที่ปรากฏนับตั้งแต่เขาก้าวเข้าสู่การเมืองในฐานะนักการเมืองท้องถิ่น เขาเริ่มเล่นการเมือง ในฐานะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ต่อมาในปี 2543 เข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคถิ่นไทย และในการเลือกตั้ง 2550 เขาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดอุทัยธานี สังกัดพรรคชาติไทย และได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา
.
ก่อนที่ ในปี พ.ศ. 2561 เขาย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ชบแนบอก อนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมกับการผลักดันให้ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” ขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากเคยส่งเสริมให้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีแทนเขามาก่อนหน้านั้น

ลุ้น!! ‘ก้าวไกล’ เสนอชื่อพิธาอีกรอบ 19 ก.ค.นี้ แต่ผลคะแนน ‘คาด’ ยังไม่เปลี่ยนจากหนแรก

ฉากทัศน์การเมืองตอนนี้เป็นอย่างไร? ภายหลังผลโหวตนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นชอบ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล

- ก้าวไกลเสนอชื่อพิธาอีกรอบ 19 ก.ค.นี้

- สถานการณ์ด้านคะแนนยังไม่น่าเปลี่ยน ไม่น่าจะแตกต่างจากเดิม

- พิธา ก้าวไกล ตอกย้ำ แก้ ม.112 เป็นพันธกิจที่ให้ไว้กับประชาชน

- แปลความว่าก้าวไกลเดินหน้าแก้ ม.112 แบบไม่ถอย

- ก้าวไกลแก้เกมรุกด้วยการเสนอแก้ รธน.มาตรา 272 ปลดล็อก ส.ว. ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ทันโหวตเลือกนายกฯครั้งสอง ครั้งสามแน่นอน ไม่มีประโยชน์อะไร

- ยิ่งจะเป็นการขยายแผลให้ ส.ว.กว้างเข้าไปอีก

- แก้ รธน.มาตรา 272 ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ต้องพึ่งเสียง ส.ว.1/3 หรือ 84 เสียง

- หา 64 เสียงยังไม่ได้ จะหา 84 เสียงมาปิดสวิตช์ตัวเองจากไหน

- สมัยเพื่อไทยขอแก้ ม.272 ก้าวไกลงดออกเสียง วันนี้จะขอแก้เอง หนุกหนาน

- เพื่อไทยเตรียมตัวแล้ว ถ้าพิธาไม่ผ่านรอบสอง เพื่อไทยจะเสนอคนของพรรค

- น่าสนใจ ชลน่านบอกว่า เมื่อพิธาไม่ผ่าน เป็นความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามเสนอแข่ง ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

- ประเด็นต้องพิเคราะห์ เพื่อไทยจะเอาใครเป็นนายกฯ

- ลดความเสี่ยงของอุ๊งอิ๊ง ในการพาพ่อกลับบ้าน น่าจะส่งเศรษฐา เป็นนายกฯ

- ตาโทนี่น่าจะเลื่อนกลับไทย จากเดิมบอกว่าจะมาก่อนวันเกิด 26 กรกฎาคม

- จับตาลุงป้อมจะต่อรองอะไรกับเพื่อไทย ถ้าเพื่อไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนขั้ว ทิ้งก้าวไกล

- สูตรใหม่ จึงน่าจะเป็นเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ (ลุงตู่ลาออกเปิดทางให้แล้ว) ไทยสร้างไทย (เจ้หน่อยลาออกเปิดทางให้แล้ว) ประชาชาติ (ต้องเอาวันนอร์ประธานสภาไว้) ชาติไทยพัฒนา (พรรคกลางๆ)

- ส่วนประชาธิปัตย์ รอดูท่าทีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ถ้าขั้วเฉลิมชัยชนะ ก็ร่วมรัฐบาล ถ้าอภิสิทธิ์ชนะก็เป็นฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะขั้วไหน

จับตา!! คู่ชิงหัวหน้าพรรค 'อภิสิทธิ์' ปะทะ 'ดร.เอ้' พร้อมข่าวลือสะพัด 16 ส.ส.หักเห ปันใจซบ 'เสี่ยหนู'

ประชาธิปัตย์เดือด…ลือสะพัด 16 ส.ส.ปันใจให้ภูมิใจไทย ถกร่วมเพื่อไทยตั้งรัฐบาล ศึกชิงหัวหน้าพรรคไม่ลงตัว ขั้ว 'เฉลิมชัย' ขอเปลี่ยนหัวจาก 'นราพัฒน์' เป็น 'ดร.เอ้'

หลังเสร็จภารกิจการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่รัฐสภาตอกฝาโลงไปแล้ว ในสมัยประชุมนี้ไม่สามารถเสนอกลับมาได้อีก เกมจึงเปลี่ยนไปอยู่ในมือเพื่อไทย

หันมาดูศึกในค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผมบ้าง (ประชาธิปัตย์) ที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหอบหิ้วเข้าสภามาได้แค่ 25 คน จุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รับผิดชอบด้วยการลาออก ที่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการล้มการประชุมเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ด้วยการล้มองค์ประชุม (องค์ประชุมไม่ครบ) ในช่วงบ่าย อันเป็นเกมที่ถูกกำหนดขึ้นจากฝ่ายที่ส่อว่าจะแพ้โหวต

12 กรกฎาคม มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ มีกรรมการบางคนเสนอให้เพิ่มองค์ประชุม เพื่อแก้ปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ โดยให้เพิ่มองค์ประชุมอีกภาคละ 25 คน คือเพิ่มอีก 125 ให้รองหัวหน้าพรรคในแต่ละภาคเป็นคนคัดเลือกจากสมาชิกพรรคมาเป็นองค์ประชุม จากเดิมองค์ประชุมมีอยู่ 250 คน เป็น 375 คน รองหัวหน้าพรรคประจำภาคก็เตรียมการคัดสมาชิกพรรค จาก ส.อบจ.บ้าง จากนายกเทศมนตรีบ้างที่เป็นพวกของตัวเองมาเป็นองค์ประชุม

จริงๆ ในการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่องค์ประชุม เพราะช่วงเช้าองค์ประชุมครบ เพียงแต่ว่าองค์ประชุมเป็นคนของใครมากกว่า เมื่อเช็คจากการประลองกำลังกันสองรอบในตอนเช้า ยังไม่เห็นแววชนะ จึงใช้เกมล้มการประชุมมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

การเสนอเพิ่มองค์ประชุม กรรมการบริหารพรรคหลายคนอภิปรายแย้ง เพราะยังไม่ใช่เวลา พรรคยังไม่วิกฤติถึงขนาดขาดองค์ประชุมตามข้อบังคับพรรค แต่ท้ายที่สุดกรรมการบริหารพรรคฝ่ายเสียงข้างมากก็ลากไปมีมติพรรคก็ให้เพิ่มองค์ประชุม แต่เวลานี้มีกรรมการบริหารพรรคที่คัดค้าน หรือเห็นแย้งก็ยังไม่ยอมแพ้ 5 กรรมการบริหารพรรคทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรค (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และเลขาพรรค (เฉลิมชัย ศรีอ่อน) เช่น สาทิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์ รองหัวหน้าพรรค ผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมการบริหารพรรค ให้พิจารณาทบทวน

เข้าใจว่าการทำหนังสือโต้แย้งน่าจะมีผลให้ต้องเลื่อนการประชุมใหญ่วิสามัญออกไปก่อน จากเดิมที่กำหนดไว้เป็นวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม แต่การเลื่อนการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ได้แจ้งต่อสมาชิกอย่างเป็นทางการ

สำหรับศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วคาดว่าจะเป็นการแข่งกันระหว่าง 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' อดีตหัวหน้าพรรค กับ 'นราพัฒน์ แก้วทอง' รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนขั้ว 'เฉลิมชัย' จึงขอเปลี่ยนตัวเล่น เป็น 'ดร.เอ้' สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงชิงแทน โดยมีติ่ง มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ร่วมแจม ด้วย

แต่คู่ชิงน่าจะมีเพียง 2 คนนี้ คือ 'มาร์ค' อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อดีตนายกรัฐมนตรี และ 'ดร.เอ้' ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีลาดกระบัง (สจล.)

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ที่ต้องติดตาม 77 ปี ย่าง 78 ปี ก็ถือว่าเป็นพรรคที่มีของดี มีประวัติ มีความเป็นมามีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับหนึ่งให้คนได้กล่าวขาน ถึงอยู่ยงคงกระพันมาได้ สู้คดียุบพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง และรอดมาได้ ผ่านหัวพรรคมาแล้ว 8 คน กำลังจะเลือกคนที่ 9 สร้างคน สร้างนักการเมืองมามาก สร้างนายกรัฐมนตรี สร้างประธานสภามาแล้ว นัดการเมืองในบางพรรคก็เกิดจากท้องประชาธิปัตย์

แต่พลันที่พิธาตกสวรรค์ กลับมาข่าวลือสะพัดหนาหูว่า การประชุม ส.ส.ประชาธิปัตย์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เห็นพ้องต้องกันว่า จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่การจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องเป็นมติกรรมการบริหารพรรค และน่าจะรอผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ประชาธิปัตย์มีข่าวลือหนักกว่านั้น คือเพจของพรรคโพสต์ว่า มี 16 ส.ส.ภาคใต้ ปันใจให้ภูมิใจไทยไปแล้ว มีนักการเมืองสงขลาคนหนึ่งเป็นคนเปิดดีล และรับผิดชอบเลี้ยงดูกันอยู่ 

อนาคตประชาธิปัตย์จะก้าวเดินไปอย่างไร หรือจะขุดหลุมฝังตัวเอง น่าสนใจติดตามยิ่งในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านนี้

6 สิงหา ชี้ชะตา!! 77 ปี ‘ประชาธิปัตย์’ เส้นทางการเมืองที่มาจรดอยู่บนปากเหว

(23 ก.ค. 66) เกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จะรอดไหม? ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป (คนที่ 9) เป็นคำถามยอดฮิตที่เข้าใจว่า แฟนคลับยังอาลัยอาวรณ์กับพรรคการเมืองที่มีอายุยืนยาว ยืนหยัดผ่านพงหนามมา 77 ปี ย่าง 78 ปี สร้างนักการเมือง สร้าง ส.ส.สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 4 คน ประธานรัฐสภาก็มี

“พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาอย่างยาวนาน แต่ในทางการเมืองไม่ได้อยู่อย่างมั่นคง ราบรื่นตลอด แต่พรรคก็ผ่านมาได้ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเหมือนโรงเรียน สถาบันที่สร้างนักการเมือง หลายคนที่ผู้ในพรรคอื่นล้วนแล้วแต่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา พรรคจึงมีประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน มีหัวหน้าพรรคมาถึง 8 คน” นายชวน หลีกภัย กล่าวในวันครบ 77 ปี ประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นพรรคเก่าแก่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และพรรคนี้ก่อตั้งขึ้นหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษฏร์ พระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ภายใต้รัฐธรรมนูญ) อันเกิดจากการก่อการของคณะราษฎร มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาบังคับใช้ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ตั้งพรรคการเมือง เข้าร่วมในการบริหารประเทศ

‘ควง อภัยวงค์’ และคณะขึ้นให้กำเนิดก่อเกิด ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ขึ้นมา พร้อมกับเจตนารมณ์ หรืออุดมการณ์ของพรรค 10 ข้อ และถ้าได้นั่งลงพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ และจิตใจที่เป็นกลาง จะพบว่าอุดมการณ์ทั้ง 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ยังทันสมัย โดยเฉพาะเรื่องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านการทุจริต-คอร์รัปชัน ไม่เอาเผด็จการ และการกระจายอำนาจ

พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 นี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ซึ่งเป็นการประชุมที่เลื่อนมาจากวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ไม่ครบองค์ประชุม ก็เป็นที่จับตากันว่า ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป และจะนำพาพรรคไปในทิศทางไหน

77 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประชาธิปัตย์เจอขวากหนามมากมาย บนถนนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เคยตกต่ำถึงขีดสุดๆ  และเฟื่องฟูสูงสุดมาแล้ว ผ่านวิบากกรรมคดียุบพรรคมาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยความเชี่ยวของคนในประชาธิปัตย์ จึงพารอดมาได้ทุกครั้ง เคยตกต่ำถึงขั้นในกรุงเทพฯ เหลือ ส.ส.อยู่คนเดียว จากที่เคยเฟื่องฟู มี ส.ส.100 กว่าคน

แต่น่าใจหายเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มถดถอยอีกครั้ง เหลือ ส.ส.อยู่เพียง 52 คน รันทดใจมากกว่านั้นในช่วงการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ต้องเผชิญกับ ‘จุดต่ำสุด’ อีกครั้ง ดำดิ่งที่สุดอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะ นำ ส.ส. เข้าสภาฯ ได้เพียง 25 คน ส.ส.เขตเหลือแค่ 22 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรคให้เร่ง ‘กอบกู้’ และ ‘ฟื้นฟู’ พรรคประชาธิปัตย์ โดยเร็วก่อนถึงจุดจบ ท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่เป็นเอกภาพในพรรค

เสียงเรียกร้องให้เร่งฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ เกิดจากความห่วงหาอาทร อาลัยรัก พรรคเก่าแก่ พรรคที่เคยรักเคยชอบ เคยให้ความไว้วางใจ เวลานี้ ‘ทั้งรัก ทั้งชัง’

คนที่ยังรัก ปรารถนาดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ก็มีข้อเสนอมากมาย ที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องนำมาพิจารณาทบทวน กำลังยุทธศาสตร์ แนวทางของพรรคใหม่ ส่วนคนชังก็ซ้ำเติม “พรรคเอาแต่พูด ไม่เห็นทำอะไร” / “พรรคเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น” เหล่าเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ถาโถมเข้าใส่ประชาธิปัตย์แบบกอดรัดฟัดเหวี่ยงจนยากจะสลัดออก จนมาถึงวันนี้ประชาธิปัตย์เหมือนคนที่ยืนอยู่ปากเหว จะกระโดดไปข้างหน้าก็กลัวตกเหว จะถอยหลังก็กลัวเหยียบอุจจาระตัวเองที่ถ่ายทิ้งไว้

6 สิงหาคม จะเป็นวันชี้ชะตาอนาคตประชาธิปัตย์ว่าจะเดินลงเหว หรือเดินถอยหลังไปเหยียบอุจจาระตัว หรือนั่งลงตั้งสติ ขบคิดทบทวน แสวงหาแนวร่วมมาช่วยคิด ช่วยทำ #นายหัวไทร เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ได้คนที่มีวิสัยทัศน์ มีมุมมอง เป็นคนทันสมัย ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ประชาธิปัตย์ก็ยังไปได้ ยังฟื้นฟูได้ เพียงแค่ให้ตั้งสติ ขบคิด ทบทวน ถอดบทเรียนในอดีต แล้วกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีใหม่ ร่วมกันเดิน ช่วยกันตี ‘สะตอต้องมารวมฝัก’ เป็น ‘สะตอสามัคคี’ กำหนดยุทธศาสตร์ ‘อีสานประสานใต้’

ถึงมวลสมาชิกประชาธิปัตย์ ลองหลับตานึกผลการเลือกตั้งปี 2500 ที่พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 31 คนทำให้พลพรรคประชาธิปัตย์ประสานเสียงเรียกร้องให้เร่งปฏิรูป-ฟื้นฟูพรรคไม่แตกต่างจากหลังเสร็จศึกเลือกตั้ง 2566 เสียงอื้ออึงระงมไปทั่วแผ่นดิน เป็นเสียงที่ชาวประชาธิปัตย์ต้องขบคิด และรับฟังอย่างตั้งใจ เพราะไม่ใช่เสียงกบ เสียงเขียด เสียงอึ่งอ่าง ยามหน้าฝน แต่เป็นเสียงจากคนที่รักประชาธิปัตย์ ยังอยากเห็นชื่อประชาธิปัตย์โลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมือง

ลดฐิติ ลดความอยากลงบ้าง แล้วมานั่งตั้งสติว่า จะกระโดดข้ามเหว ถอยหลัง ตั้งสติ อย่าเอาอัตตาของตัวเองเป็นตัวตั้ง ‘หัวหอก หัวขาว หัวดำ’ ก็ต้องรับฟัง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ คือ พรรคของประชาธิปัตย์ ไม่ใช่พรรคของเรา

เปิด 8 รายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
1.) พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2489-2511 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4
2.) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2511-2522 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6
3.) พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2522-2525
4.) พิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2525-2534
5.) ชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2534-2546 เคยเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 20
6.) บัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2546-2548
7.) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2548-2562 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27
8.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2562-2566

เมื่อรัฐบาลรักษาการ ไม่ใช่จะทำได้ทุกเรื่อง  ปล่อยนาน ‘ศก.ฟุบ-ลงทุนหด-ประเทศชาติพัง’

มีบางคนเสนอว่า ให้รออีก 10 เดือน เพื่อให้ 250 สว.หมดวาระ และหมดสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเสนอเช่นนั้น ผมตั้งสมมติฐานว่า เป็นการเสนอเป็นทางออกให้กับพรรคก้าวไกล ในการเสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบใหม่เมื่อไม่มี สว.คอยขัดขวางแล้ว

แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่เป็นการเสนอเพื่อให้เป็นทางออกของการเมือง ไม่ใช่ทางออกของประเทศ เวลานี้การเมืองยังมีไพ่ให้เล่นอีกหลายใบ บางพรรคอาจจะอมสเปโตอยู่ แต่ตีบทใจแข็ง ‘ก็ไม่ถอย’ ระวังเพื่อน ‘น็อคมืด’ ตัวเองติดสเปโตด้วย

แต่บางพรรคอาจจะไม่มีไพ่ดีในมือ แค่ส่งเสียงขู่ คำราม ตีไพ่เสียงดัง หรือตีไพ่ให้เพื่อนกิน เผื่อตัวเอง ‘น็อคมืด’

พรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ควรเร่งรีบเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็แล้วแต่ เพราะยิ่งช้าประชาชนจะยิ่งเสียโอกาส

รัฐบาลรักษาการไม่ใช่ทำได้ทุกเรื่อง บางอย่างมีข้อจำกัดอยู่ ปล่อยให้มีรัฐบาลรักษาการไปนานๆ ประเทศชาติจะเสียหาย กระทบกับเศรษฐกิจ การลงทุน

สิ่งที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทย คือ ต้องยอมรับความจริงว่า เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ภาคเอกชนเป็นตัวเสริม

อีกสองเดือนพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก็จะจบลงแล้ว และ 1 ตุลาคม ต้องเริ่มต้นปีงบประมาณให้ 2567 แต่จนถึงขณะพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา 100% ไม่อาจพิจารณาให้ทันใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นแน่แท้

กระบวนการพิจารณางบประมาณประจำปี ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน จึงเชื่อได้ว่า วงเงินงบประมาณใหม่ปี 2567 น่าจะใช้ได้ประมาณเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ ขึ้นอยู่กับการเมืองว่าจะจบ หรือเข้ารูปเข้ารอยเมื่อไหร่ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้วางกรอบและจัดทำร่างไว้เสร็จแล้ว รอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาเท่านั้นเอง

เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ จึงต้องใช้กรอบวงเงินงบประมาณปี 2566 ไปก่อนได้ สำหรับใช้เป็นงบบริหาร เช่น เงินเดือนข้าราชการ แต่จะใช้งบลงทุนใหม่ไม่ได้ ตรงงบลงทุนที่ทำอะไรไม่ได้นี้แหละจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ แน่นอนว่าเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวย่อมกระทบต่อประชาชนด้วย การจ้างงานก็อาจจะมีปัญหา

รัฐบาลหน้าจึงมีเวลาในการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 เพื่อการลงทุนภาครัฐเพียงประมาณ 8 เดือนเท่านั้นเอง

ปัญหาที่เห็นอยู่ข้างหน้า...

1. การจัดทำ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าออกไปอีก 
2. นักลงทุนต่างชาติเข้าสูโหมด Wait&See รอนโยบายจากรัฐบาลใหม่
3. ภาคเอกชนในประเทศรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่เช่นกัน
4. ประเทศขาดรัฐบาลมาวางนโยบาย ในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ
5. GDP ปีหน้าน่าจะขยายตัวได้ในระดับที่เรียกว่า ‘แย่’ ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้

ฉะนั้นการเสนอให้รออีก 10 เดือนจะยิ่งไปกันใหญ่ พรรคการเมืองก็ไม่ควรคิดในกรอบนี้ อันเป็นข้อเสนอที่หาทางออกให้พรรคการเมืองบางพรรค ไม่ใช่หาทางออกให้ประเทศ ประเทศชาติยังมีทางออก ถ้าพรรคการเมืองบางพรรคผ่อนคลายเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลลงมาบ้าง ไม่ใช่ตึงจนขาด

รัฐบาลผสมไม่มีพรรคไหน หรือใครได้ไป 100% เพราะรัฐบาลผสมก็ต้องมาจากนโยบายของหลายพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องของการเจรจา ต่อรอง บนผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน อย่ารักชาติ รักประชาชนแค่ลมปากบนเวทีปราศรัยต่อหน้ามวลชน หรือให้สัมภาษณ์สื่อ ต่างกอดรัดฟัดประชาชนไว้ด้วยความรัก

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายที่ถูกส่งให้ไปเป็นฝ่ายอนุรักษ์ก็ตาม ควรจะใช้ทันสมองที่มีอยู่คิดร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ อันไหนยอมได้ก็ต้องยอม ผ่อนได้ก็ต้องผ่อน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้

เวลานี้พรรคหนึ่ง อย่างก้าวไกลก็ไม่ยอมเรื่องแก้ ม.112 อ้างว่าเป็นเรื่องที่รับปากไว้กับประชาชน ยังยืนยันเดินหน้าด้วยกลไกของสภา แม้ไม่มีอยู่ใน MOU ก็ตาม กลัวว่าจะเสียสัจจะ จนทำให้แพ้โหวตในสภามาแล้ว เมื่อสมาชิกวุฒิสภาไม่ยกมือสนับสนุน

อีกขั้วหนึ่ง 4-5 พรรค ทั้งพลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ต่างเสียงแข็งไม่เอาก้าวไกล ไม่อาจทำงานร่วมกันได้ ไม่ร่วมงานกับพรรคที่แก้ ม.112

การเมืองจึงมาติดกับดักอยู่ตรงนี้ เดินหน้าไปยาก แต่ถ้าพรรคการเมืองผ่อนหนักผ่อนเบา อันไหนยอมได้ก็ยอม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แล้วไปหาเหตุผลอธิบายกับประชาชน อธิบายกับมวลชนของพรรค เวลานี้แต่ละพรรคผวากับ ‘ผิดสัจจะ’ หรือ ‘ตระบัดสัตย์’ จนขยับตัวไปไหนไม่ได้ กลัวเลือกตั้งสมัยหน้าจะสูญพันธุ์บ้าง

การเมืองอธิบายได้หมด ขอให้เป็นทางออกที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน แต่อาจจะไม่ถูกใจคนทั้ง 100 เท่านั้นเอง

ไม่อยากเห็นวงจรอุบาทว์เข้ามาอาศัยจังหวะเบียดแทรกเข้ามาในสถานการณ์ที่การเมืองยังไม่ลงตัว

ศึกชิงหัวหน้า ‘ประชาธิปัตย์’ ดัชนีชี้วัดการเข้าร่วมรัฐบาล ใต้ความ ‘มืดมน-ไม่ชัดเจน’ บุคคลที่จะลงชิงหัวหน้าพรรค

‘มืดมน’ คือคำตอบที่ได้รับจากปากของแกนนำประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในวันที่ 6 สิงหาคม คำว่ามืดมนสะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นบุคคลที่มีแววว่าจะนำพาพรรคไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ต้องเป็นบุคคลที่กล้าคิด กล้าทำ กล้านำการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือต้องยึดมั่นใน 'เจตนารมณ์ อุดมการณ์ของประชาธิปัตย์'

มีวิธีคิด มุมมองใหม่ๆ กับสถานการณ์ที่ ‘ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม ผู้นำพาพรรคจะต้องมากบารมี’ (แคริทม่า)

ก่อนหน้านี้ที่ปรากฏชื่อ โดยที่เจ้าตัวไม่เคยพูดไม่เคยเปิดเผย ‘หล่อใหญ่-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้า อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจนถึงนาทีนี้ก็ยังไม่รู้ว่า ‘อภิสิทธิ์’ จะยังยืนหยุดลงชิงอยู่อีกหรือไม่ ซึ่งถ้าอภิสิทธิ์ลงชิง แม้จะไม่ใหม่ซิงๆ แต่ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง พอจะเห็นแวว เห็นแนวทาง ซึ่งถ้าเป็นไปตามข่าว ถ้าอภิสิทธิ์มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะไม่นำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล จะใช้เวลากับการคิด การทำงาน เพื่อฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ ในบทบาทของฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ในการแก้ไขปัญหาชาติเป็นด้านหลัก

‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ รองหัวหน้าพรรคจากภาคเหนือ ภายใต้การผลักดันของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รักษาการเลขาธิการพรรค ‘เดชม์อิศ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ซึ่งนราพัฒน์ เข้ามาสู่วงการการเมืองสืบทอดต่อจากบิดา ‘ไพฑูรย์ แก้วทอง’ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าพรรคจะเฟื้องฟู หรือตกต่ำ ‘แก้วทอง’ ไม่เคยตีจากประชาธิปัตย์ ร่วมยืนหยัดต่อสู้มาตลอด แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป ยังไม่มีใครยืนยันว่า นราพัฒน์ ยังยืนยันจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่

มีบางกระแสบอกว่า สายเฉลิมชัยอาจจะส่ง ‘ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ลงชิงแทน แต่ก็เป็นแค่กระแสข่าวเช่นกัน ไม่มีใครยืนยัน ซึ่งถ้าส่ง ดร.เอ้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านด่านข้อบังคับพรรค คนชิงหัวหน้าพรรค ต้องเป็นสมาชิกอย่างน้อย 5 ปี ถ้าข้อมูลไม่ผิดพลาด ดร.เอ้น่าจะเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคก่อนลงสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็สามารถเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของดเว้นใช้ข้อบังคับได้ แต่ด่านหินคือต้องใช้เสียงขององค์ประชุม 3/4 ถ้ามั่นใจว่าจะผ่านด่านนี้ไปได้ ก็ลงชิงได้ ถ้ามั่นใจ และไม่กลัวถูกขุดคุ้ยปูมหลัง

ส่วน ‘ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข’ ที่เปิดตัวจะลงชิงด้วย ก็เป็นน้ำจิ้ม หรือผักเหนาะ ให้สีสันความเป็นประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์ 

ด้าน ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ รองหัวหน้าพรรค ที่เปิดตัวก่อนใคร ก็ถอนตัวไปตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมแล้ว โดยไม่รู้ว่าสาเหตุลึกๆ จริงๆ คืออะไร ซึ่งต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังแน่นอน หรือเป็นการถอนตัวเพื่อส่งต่อคะแนนให้ทีมเฉลิมชัย เพราะต้องไม่ลืมว่าอลงกรณ์ทำงานใกล้ชิดเฉลิมชัยในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ปรึกษาใหญ่ และแสดงบทบาทนำมาโดยตลอด

แต่ประเด็นใหญ่ของประชาธิปัตย์ คือ จะเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของเพื่อไทย มีข่าวหนาหูหลัง ‘นายกฯ ชาย เดชม์อิศ ขาวทอง’ เดินทางไปฮ่องกง และได้พบปะพูดคุยกับทักษิณ ชิณวัตร กับข้อเสนอ 19 เสียง พร้อมสนับสนุนเพื่อไทย แต่เข้าใจว่าเพื่อไทยคงไม่อยากได้ 19 เสียง คงอยากได้ทั้งพรรค 25 เสียง และเข้าร่วมโดยมติพรรค ซึ่งแน่นอนว่าซีกของผู้อาวุโส คงไม่ประสงค์เข้าร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย เพราะถือว่า เพื่อไทยคือคู่แข่ง และสู้รบปรบมือกับระบอบทักษิณมาตั้งแต่ปี 2543 ในยุคทักษิณ ไล่มาจนถึงยุคสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สมัคร สุนทรเวช และยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร จู่ๆ จะนำทัพไปร่วมสมทบแบบ ‘ลืมอดีต’ น่าจะเป็นไปได้ยาก

แต่ถ้าพิจารณา จุดยืนของพรรค ประชาธิปัตย์ ได้แก่…
1.) ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่แก้ไขมาตรา 112
2.) ไม่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.)
3.) ไม่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย
4.) พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีแนวทางอย่างไร ตามที่ ชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาธิการพรรคกล่าว

ถ้าดูเงื่อนไข 4 ข้อกับช่องทางที่เพื่อไทยเปิดไว้ ประชาธิปัตย์ ก็ไม่น่าจะติดตรงไหนในการเข้าร่วมรัฐบาล แต่สภาพความเป็นพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร อนาคตจะต่ำสิบตามคำสบประมาทหรือไม่ การเข้าร่วมรัฐบาล ได้นำนโยบายพรรคไปใช้แก้ปัญหาชาติ จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับฟื้นคืนชีพจากภาวะสลบไสลได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่แกนนำพรรคจะต้องคิดให้จงหนัก นำบทเรียนในอดีตมาถอด อย่างการนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่ได้ทำให้ประชาธิปัตย์ดีขึ้น นโยบายหลายข้อของประชาธิปัตย์ก็ได้นำไปใช้ เช่น ประกันรายได้เกษตรกร

ประชาธิปัตย์เคยมีคะแนนมากถึง 10 ล้านเสียง แต่พอเลือกตั้งปี 62 ลดลงเหลือ 3 ล้านกว่าเสียง ยิ่งหนักเข้าไปอีกเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ประชาธิปัตย์ได้คะแนนมาเพียง 9 แสนกว่าคะแนน ได้ สส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน คือ ‘ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์’

ถ้านำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาลกับขั้วที่เคยเป็นคู่แข่ง คู่รักคู่แค้นกันมา น่าสนใจยิ่งว่า อนาคตประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร จะดีขึ้น หรือตกต่ำกว่าเดิม

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 6 สิงหาคม จะเป็นวันชี้ชะตาว่าอนาคตประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ คงต้องรอชม…

'ตระกูลฉายแสง' ไม่เห็นด้วย 'พท.' จับ 'รทสช.-พปชร.' 'อึดอัดใจ-นอนไม่หลับ' หาเสียงคนพื้นที่ไว้เยอะ

'ฐิติมา ฉายแสง' สส.ฉะเชิงเทรา เพื่อไทย ถึงกับ ‘อึดอัด-นอนไม่หลับ’ กับข่าวเพื่อไทยจะจับมือรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาล ยืนยันไม่เห็นด้วย หาเสียงไว้เยอะ คนพื้นที่อึดอัด

มาถึงเวลานี้ก็ยังไม่ชัดว่า รัฐบาลของเพื่อไทยจะประกอบด้วยพรรคไหนบ้าง ไม่เห็นร่องรอยของการทาบทาม-เจรจา จะจับมือกับรวมไทยสร้างชาติ หรือพลังประชารัฐ ก็มีวาจามัดคออยู่ 'ไม่เอาลุง'

ถ้าไม่เอาพรรค 'ลุงพี่-ลุงน้อง' จะเอาเสียงที่ไหนมาสนับสนุนให้เพียงพอ และมั่นใจว่า สว.จะโหวตให้ด้วย เพราะคร่าวๆ ต้องใช้มือจาก สว.ไม่น้อยกว่า 110 เสียง

ฝ่ายที่กำลังฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลก็คงจะยุ่งยากลำบากใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยลั่นวาจาไว้ว่า ในนามหัวหน้าพรรค ถ้าร่วมกับพรรคลุง "ผมลาออก"

ดูท่าทีของสองพี่น้อง 'ตระกูลฉายแสง' ทั้ง 'จาตุรนต์ ฉายแสง' และ 'ฐิติมา ฉายแสง' ก็อึดอัด กระอักกระอ่วนใจกับการจะดึงพรรคลุงมาร่วมรัฐบาล

แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือดึงมาหมดเกือบทุกพรรคแล้ว 13-14 พรรค ก็จะได้แค่ 266-267 เสียงเท่านั้น ถ้าไม่เพิ่มพรรคลุงเข้ามา ต้องอาศัยเสียง สว.มากถึง 110 เสียง เป็นอย่างน้อย

ถามว่า เวลาของเพื่อไทยเกือบเดือน 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าคณะเจรจากับ สว.ได้คุยกับใครแล้วบ้าง ได้มาแล้วกี่เสียง ซึ่งจนถึงวินาทีนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ทั้งจาก 'สุริยะ' และจากน้ำเสียงของ สว.เองว่าจะโหวตให้

ที่ไม่ควรลืมคือ สว.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช.ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีกรรมการสรรหา ที่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการสรรหา

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อเกิดขึ้นจากการชุมนุมขับไล่เครือข่ายทักษิณ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2543 ตั้งแต่ยุคทักษิณ ชินวัตร ยุคสมชาย วงศ์สวัสดิ์, สมัคร สุนทรเวช และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จึงถูกเฟ้นหามาจากคนที่ไม่เอาทักษิณ ไม่ชอบระบอบทักษิณ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเรื่องยากที่ สว.จะยกมือสนับสนุนคนของพรรคเพื่อไทยที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าพรรคของใคร และมีเป้าหมายคือ 'เอาทักษิณกลับบ้าน'

วันนี้ 'ทักษิณ' เลื่อนกลับบ้านอย่างไม่มีกำหนด หลังการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยยังไม่เรียบร้อย โดยอ้างว่า 'หมอนัดด่วน' จะนัดด่วนจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ยืนยันไม่กลับไทยตามกำหนดเดิม 10 สิงหาคม แต่เห็นเตร็ดเตร่อยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศข้างบ้านเรา ไปโผล่ร่วมงานวันเกิดนายกฯ ฮุนเซ็น ของกัมพูชา

ทางการไทยไม่มีขยับ หรือไม่รู้ว่าทักษิณเดินทางเข้าพนมเปญ ทำไมไม่แจ้งขอความร่วมมือกัมพูชา ส่งตัว 'ผู้ร้ายทักษิณ' กลับมารับโทษ เพราะไทย-กัมพูชา มีข้อตกลงเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันอยู่ และลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2541 แล้ว

ระวังนะสักวันหนึ่ง 'ทักษิณ' อาจจะเดินทางเข้าไทย ผ่านทาง 'ช่องทางหมาลอด' หรือช่องทางธรรมชาติ ก็เป็นได้ ที่บอกว่าจะกลับมาอย่างแมนๆ เท่ห์ ผ่านสนามบินดอนเมือง อาจจะไม่จริงก็ได้ เป็นแค่ละครตบตาเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น

มาถึงนาทีนี้บอกได้เลยว่า การจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยยากขึ้นทุกที ยังไม่เห็นวี่แววของความสำเร็จ มีอุปสรรคมากมาย...

- การรวมเสียง แม้จะได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่ผ่านด่าน 367 เสียงของรัฐสภา (สส./สว.)
- เพื่อไทยยังต้องการเสียงสนับสนุนจาก สส./สว.อีกอย่างน้อย 110 เสียง
- จะดึงพรรคลุงพี่-ลุงน้อง เข้าร่วมก็มีวาทะมัดคออยู่ แถมคนในเองก็ไม่เห็นด้วย

- การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วในพรรคเพื่อไทยเองก็ยังเห็นแย้ง ไม่มีความเป็นเอกภาพเช่นกัน
- จะย้อนกลับไปคืนดีกับก้าวไกล ก็มาไกลเกินไปแล้ว ไกลเกินกว่าจะกลับไปร่วมเรียงเคียงหมอนกันอีก
- ท่าทีของผู้ใหญ่บางคนในพรรคเพื่อไทย กับพรรคข้ามขั้ว ยังไม่ให้เกียรติ์กันพอ เช่น เขามาเอง เราไม่ได้เชิญ เป็นต้น

- กว่าจะถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คาดิเดตของเพื่อไทย 'เศรษฐา ทวีสิน' น่าจะถูกตีน่วมไปก่อน ซึ่งประเดิมด้วย 'ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์' ผิดถูกอย่างไรไม่รู้ แต่มัวหมองไปแล้ว เรื่องอื่นๆ ก็น่าจะพลั้งพรูออกมาเรื่อยๆ

บอกตามตรงว่า ถึงเวลานี้ยัง 'มืดมน' กับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย มืดมนพอๆ กับการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่เห็นแววว่าจะสำเร็จเมื่อไทย

จึงเริ่มมีคำถามในสื่อโซเชี่ยลว่า สามคำถาม อันไหนยากกว่ากัน อันไหนจะสำเร็จก่อน...
- จัดตั้งรัฐบาล
- ทักษิณกลับบ้าน
- เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

โดยส่วนตัว #นายหัวไทร ไม่เชียร์ใคร ไม่หยามใคร แต่อยากให้การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จลงโดยเร็ว เพราะยิ่งช้า ประเทศชาติ และประชาชนจะเสียประโยชน์ ใครมองเห็น มองไม่เห็นผมไม่ทราบ แต่ผมมองไม่เห็นว่า ถ้ามีรัฐบาลช้า 'หายนะ' รออยู่ โดยเฉพาะหายนะด้านเศรษฐกิจ

ผมไม่ถึงกับ 'อึดอัด-นอนไม่หลับ' แต่กลุ้มใจกับภาวะที่เป็นอยู่ และไม่สบายใจกับผลที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

'ประชาธิปัตย์' ยังมึนไม่เลิก!! หลัง 2 ขั้วท่าจะเคลียร์ให้จบยาก ฟากคนในชี้!! ใครโหวต 'พท.' คงเป็นได้แค่ไส้เดือนคลุกขี้เถ้า

หลังจากการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ล่มมาสองรอบอันเนื่องมาจากไม่ครบองค์ประชุม และเป็นการไม่ครบองค์ประชุมแบบไม่เป็นธรรมชาติ ง่ายๆ คือ มีคนจัดการให้ไม่ครบองค์ประชุม ส่วนใครจัดการ ง่ายๆ คือ ฝ่ายที่กำลังจะแพ้โหวตนั่นแหละ 

หลังจากการประชุมล่มลงสองครั้ง ยังมีไม่เค้าโครงว่าจะมีการนัดประชุมกันใหม่วันไหน แต่มีการเคลื่อนไหวคึกคักให้มีการแก้ไขระเบียบพรรคในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระเบียบพรรคข้อบังคับของพรรคฯ ข้อ 87 ระบุ ให้เสียงของ สส.ชุดปัจจุบันถือเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของคะแนนเสียงของที่ประชุมใหญ่ คะแนนเสียงส่วนที่เหลือทั้งหมดนับรวมกันแล้วมีน้ำหนักเพียงแค่ร้อยละ 30 หรือสัดส่วน 70 : 30

ระเบียบพรรคข้อนี้กลายเป็นกติกาที่ถูกยกขึ้นมากล่าวอ้างว่า "เป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม" โดยในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีสมาชิกพรรคเสนอให้งดเว้นข้อบังคับนี้ และขอให้ทุกคะแนนเสียงมีน้ำหนักเท่ากัน เพื่อความเป็นธรรม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จที่ประชุมใหญ่ยังไม่เห็นด้วย

องค์ประชุมพรรคประกอบไปด้วย สส., อดีต สส., อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, อดีตรัฐมนตรี, อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าฯ กทม.ผู้ดำรงตำแหน่งในส่วนท้องถิ่น, หัวหน้าสาขาพรรค ฯลฯ องค์ประชุมพรรคต้องมีจำนวน 'ไม่น้อยกว่า 250 คน'

แต่ที่ผ่านมามีตัวแทนลงชื่อเข้าร่วมประชุมประมาณ 220 กว่าคน และสัปดาห์นี้คณะรักษาการกรรมบริหารพรรคน่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากำหนดวันประชุม

ในท่ามกลางความไม่ลงตัวของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีกระแสแรงเรื่องการขอเข้าร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางเสียงค้าน เพราะถือเป็นพรรคคู่แข่ง คู่รักคู่แค้นกันมายาวนาน และประวัติศาสตร์ของเครือข่ายเพื่อไทย ตั้งแต่ไทยรักไทย, พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ จึงไม่น่าร่วมกับเพื่อไทยได้ แต่ฝ่ายที่อยากจะร่วม อาจคิดอีกมุมหนึ่ง

มีการอ้างว่า สส.21 คน อยากนำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งก็ไม่รู้เอาตัวเลข 21 มาจากไหน น่าจะเป็นตัวเลขที่ยกขึ้นมาเพื่อต่อรองตำแหน่งทางการเมืองมากกว่า และน่าจะเอาตัวเลขมาจากการนับจำนวน สส.ที่เข้าร่วมขบวนการ 'จัดการ' คืนก่อนการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ที่มีการ 'จัดการ' เพื่อให้ได้เสียงกัน ยกเว้น 'ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ สรรเพรช บุญญามณี' จึงคิดว่า จาก สส.25 คน หักออกไป 4 เหลือ 21 คน

ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่ ถามว่า ราชิต สุดพุ่ม, สมยศ พลายด้วง, สุรินทร์ ปาลาเร่ หรือแม้แต่ สส.หนึ่งเดียวของปัตตานี อยู่กับขั้วที่อยากร่วมรัฐบาลหรือ? คำตอบไม่น่าจะใช่!! ส่วน สส.แม่ฮ่องสอน, สส.สกลนคร และ สส.อุบลราชธานี ยังไม่รู้ว่าอยู่กับขั้วไหน แต่โดยสายสัมพันธ์ น่าเชื่อได้ว่า อยู่ในขั้วผู้อาวุโส

ซึ่งถ้า สส.แม่ฮ่องสอน, สกลนคร และอุบลราชธานี อยู่ในขั้วของผู้อาวุโส จึงเหลือ สส.ที่อยู่ในขั้วอยากร่วมรัฐบาลเพียง14 คนเท่าเอง และอยู่ในขั้วผู้อาวุโสที่ต้องการเป็นฝ่ายค้าน 11 คน

นี่คือประเด็นข้อเท็จจริง ฝ่ายที่อยากร่วมรัฐบาล อยากไปเจอทักษิณ ชินวัตร อีกรอบ ไม่ควรทึกทัก คิดไปเองว่า'จัดการ' ไปแล้ว จะถือเป็น 'ของตาย' นำไปใช้ต่อรองตำแหน่งทางการเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ที่มีข่าวว่าจะลงสมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ด้วยคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า "ทำไมต้องรังเกียจเพื่อไทย คนดีๆ ในเพื่อไทยที่รู้จักก็มีเยอะ แล้วจะไปบอกว่าเพื่อไทยเขาโกง เขายังไม่ทันได้โกง ควรไปร่วมงานกับเขาก่อน แต่หากเขาโกงอะไร เราค่อยถอนตัว กลับตัวได้"

ไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีต สส.อาวุโส พรรคประชาธิปัตย์ แถลงทิ่มกลางอก 'นราพัฒน์' ยืนยันได้ว่า "ประชาธิปัตย์ไม่ได้โกรธเคืองอะไรนายทักษิณ ชินวัตร หรือ สส. ของพรรคเพื่อไทย แต่เราถืออุดมการณ์ของพรรค ที่นายทักษิณหนีไปต่างประเทศ 17 ปี ไม่ใช่เพราะโกงหรือ รัฐมนตรีหลายคนติดคุกไม่ใช่เพราะโกงหรือ"

นายไชยวัฒน์ กล่าวอีกว่า "ที่ผ่านมาเราเคยเรียกว่าระบอบทักษิณ ตั้งแต่ยังเป็นสมัยไทยรักไทย โกงอย่างเดียว เอารัฐมนตรีมาโกง จนติดคุกติดตารางกันเป็นแถวในเวลานี้ ทุกวันนี้ก็ยังมีนายทักษิณกับน้องสาวหนีไปต่างประเทศ แบบนี้ยังไม่โกงอีกหรือ ถ้าเราไปร่วมกับพรรคที่เราเรียกว่าระบอบทักษิณ แล้วยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น เหตุการณ์ที่เกรือเซะ-นโยบายปราบยาเสพติด แบบนี้คือ ระบอบทักษิณ ที่เรารับไม่ได้แล้วเราจะไปร่วมกับเขา 

"แต่คนในพรรคที่ต้องการไปร่วมรัฐบาลบอกว่า เพื่อไทยมีคนดีๆ เยอะแยะ เขายังไม่ทันโกงจะไปว่าเขาแล้ว รอให้ร่วมรัฐบาลก่อน หากเขาโกงค่อยว่ากัน มันไม่ใช่อย่างนั้น ประวัติศาสตร์มันสอน จะมาเถียงกันทำไม เถียงว่าพรรคเพื่อไทยไม่โกง เพราะยังไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ว่าเคยโกง ตนไม่กลัวโดนฟ้อง อย่างนายทักษิณ เดิมมียศเป็น พ.ต.ท.แต่ตอนนี้เป็นนายทักษิณ เพราะผูกถอดยศ ไม่ใช่เพราะโกงหรือ

"หากประชาธิปัตย์ไปร่วมตั้งรัฐบาลด้วย เลือกตั้งคราวหน้า ประชาธิปัตย์ สส.คนเดียวก็จะไม่ได้ คนจะไม่เลือกประชาธิปัตย์ อาจเป็นพรรคที่ไม่มี สส.สักคน แต่ก็จะทำพรรคต่อไป คือ สส.ของพรรคหากจะไปโหวตนายกฯ ให้เพื่อไทย เขาก็มีสิทธิ์ทำได้ เป็นเอกสิทธิ์ของ สส. แต่ว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคตลอดชีพเสียคนละสองพันบาทเท่ากันหมด ส่วนรายปีก็คนละสองร้อยบาท ถ้าจะไปทำแบบนั้น ผมเชื่อว่า สมาชิกพรรคที่เหลืออยู่ สิ้นปีนี้ เขาจะไม่ต่ออายุ ไม่เสียเงินค่าสมาชิกพรรครายปี กันหลายแสนคน" นายไชยวัฒน์ ระบุ

เมื่อถามว่า หากจะมี สส.ของพรรคไปร่วมโหวตนายกฯ ให้พรรคเพื่อไทย จะถือเป็นงูเห่าหรือไม่ นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า'ไม่ใช่งูเห่า แต่เป็นไส้เดือนคลุกขี้เถ้ามากกว่า งูเห่ามีศักดิ์ศรี ออกจากพรรคที่เคยอยู่แล้วออกไปอยู่พรรคอื่น แต่นี้ไปซุกเขา เป็นไส้เดือนคลุกขี้เถ้า ผมขอให้ฉายาใหม่ พวกอยากไปร่วมรัฐบาล กระสันมาก คุณไปเอาไส้เดือน โยนใส่กองขี้เถ้า คุณจะเห็นอาการ มันจะดิ้นทุรนทุราย แบบนี้ไม่ใช่งูเห่า"

ยิ่งเนิ่นนานประชาธิปัตย์ก็จะยิ่งเสื่อม ควรจะเด็ดขาด เร่งรีบจัดการกับปัญหา "ไม่ควรเชื่องช้า"...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top