Thursday, 2 May 2024
นายหัวไทร

‘เชาว์’ สะกิตใจสมาชิก ‘ปชป.’ ร่วมปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่  ลั่น!! ถึงเวลา ‘ถอย’ เพื่อ ‘ถอด’ บทเรียน และก้าวไปข้างหน้า

‘สัจจัง เว อัมตะ วาจา’... วาจาจริงเป็นสิ่งไม่ตาย นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกรัฐบาล ได้หยิบยกเอาคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์มาสะท้อนการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านจากยุคตกต่ำที่สุดที่คณะกรรมการบริหารพรรค คนของพรรคจะต้องรักษาคำพูด รับผิดชอบต่อคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน โดยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เป็นเครื่องสะกิดเตือนในชาวประชาธิปัตย์ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งเรื่อง ถึงชาวพรรคประชาธิปัตย์ ได้เวลาถอยเพื่อถอดบทเรียน มีเนื้อหาระบุว่า…

ตนเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางวิกฤติความตกต่ำของพรรคอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กระทั่งการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาพรรคได้ ส.ส.มาเพียง 25 คน จนนำไปสู่การ แสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งด้วยการลาออก จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค ต้องพ้นตำแหน่งไปโดยปริยายด้วย

“ผมเชื่อว่าหลายคน ทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคและไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค คงจับตาดูว่า ก้าวต่อไปของประชาธิปัตย์จะเดินไปทิศทางไหน เพราะ 78 ปี บนเส้นทางการเมือง และการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่รุนแรงเท่านี้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ความตกต่ำของพรรคที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องถูกดิสรัปจากการสื่อสารสมัยใหม่ ที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเท่านั้น อุดมการณ์การเมือง ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งที่สุดของพรรคก็ถูกตั้งคำถามอย่างมาก นับจากที่ประชุมพรรคตัดสินใจมีมติร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สวนทางกับคำมั่นที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ไว้กับประชาชน จนท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจาก ส.ส.เพื่อรักษาจุดยืนทางการเมือง

ผมยังจำคำพูดวันนั้นของท่านอภิสิทธิ์ได้ดี ท่านบอกว่า “ยิ่งใหญ่กว่ามติพรรค คือ สัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ” ท่านบอกด้วยว่า ในวันนั้นท่านเหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิไม่เฉพาะตัวเอง แต่เป็นเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า สจฺ จํ เว อมตา วาจา ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบกับคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน” นายเชาว์ ระบุ

อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต่อไปว่า ที่เท้าความไปไกล เพื่อตอกย้ำว่า ถึงเวลาที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรค เราไม่เหมือนพรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็ดับสูญไปตามตัวบุคคล แต่ประชาธิปัตย์ เป็นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา เป็นที่พักพิงให้ประชาชนมาเนิ่นนาน เราจะกลับไปอยู่ในจุดที่ประชาชนศรัทธาไว้วางใจอีกครั้งได้อย่างไร ในสถานการณ์ ที่เรากำลังขาดบุคลากรที่โดดเด่น บวกกับสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องเฟ้นหาผู้นำทางที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ที่สำคัญต้องมากบารมี บททดสอบนี้จึงไม่ใช่แค่ ส.ส.เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพรรค ซึ่งผมทราบมาว่า วันที่ 21 มิถุนายนนี้ กรรมการบริหารพรรคจะมีประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 9 กรกฎาคม 2566

“น่าแปลกใจที่ทั้งพรรคเต็มไปด้วยความเงียบงัน ไม่มีการเปิดตัวผู้อาสามาเป็นหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคคนใหม่ ไม่มีการรณรงค์หาเสียงเหมือนอดีตที่ผ่านมาที่เราเคยเป็นต้นแบบระบบประชาธิปไตยภายในพรรค มีการแข่งขันกันอย่างเสรีเหมือนทุกครั้ง แต่กลับมีกระแสเล็ดลอดซุบซิบในในวงแคบ ๆ ว่า มีการ ล็อกสเปก บุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ไว้แล้ว โดยกลุ่มอดีตผู้บริหารที่กุมเสียงว่าที่ ส.ส.ชุดปัจจุบันได้กว่า 17 คน ซึ่งตามข้อบังคับพรรคจะให้น้ำหนักโหวต ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเป้าต้องการที่จะร่วมรัฐบาล ตนทราบมาว่าหลายคนอึดอัดกับท่าที ที่กำลังเป็นอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ เพราะทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเสมือนการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ เป็นการถอยเพื่อถอดบทเรียน รับฟังเสียงจากสมาชิกส่วนใหญ่ให้มีส่วนร่วมด้วย ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่ควรกระทำ เพราะถ้าหวังร่วมรัฐบาลเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจรักษาจุดยืนของพรรค การเลือกตั้งครั้งต่อไปเราอาจจะไม่มีที่ยืนในสภาฯ แม้แต่ที่เดียว” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย

อุดมการณ์ 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคสมัยนายควง อภัยวงศ์ เมื่อ 78 ปีทีีผ่านมา ชาวประชาธิปัตย์ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรอง โดยเฉพาะ 3 ข้อสำคัญ ต่อต้านเผด็จการ ไม่ทุจริตคอรัปชั่น และกระจายอำนาจ

การตัดสินใจโดยมติพรรคนำประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยของประชาธิปัตย์หรือไม่ สังคมภายนอกมองว่า ‘กอดขาเผด็จการ ร่วมรัฐบาล’ โดยลืมวาจา ลืมคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน

ถ้าชาวประชาธิปัตย์ยอมรับความจริง สิ่งที่เชาร์นำเสนอมานั่นคือความจริง ถ้าชาวประชาธิปัตย์หวังจะนำพาพรรคให้ฟื้นกลับคืนมาเฟื้องฟูอีกครั้ง จะต้องนั่งลงตรึกตรอง สุมหัวคิดถอดบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกร่วมกันภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ไม่ใช่สุมหัวคิด ล็อคสเปกผู้นำพรรคที่กระสันต์อย่างเป็นรัฐบาล โดยไม่ใส่ใจต่อสภาพของพรรค และอนาคตของพรรค เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ยังเดินไปภายใต้การกุมบังเหียนของคนบางกลุ่มจากขั้วอำนาจเก่า ล็อคสเปกผู้นำพรรคตามที่เชาร์ให้ข้อมูลมา ยิ่งจะทำให้ประชาธิปัตย์ตกต่ำลงไปอีก และการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะเป็นพรรคต่ำสิบ และอนาคตจะไม่มีที่ยืน ไม่แตกต่างจากพรรคกิจสังคม พรรคความหวังใหม่ ที่เคยยิ่งใหญ่ แต่ถึงเวลาก็ดับสลายไป

แต่ความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่สืบทอดเจตนารมณ์-อุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งพรรคมายาวนาน 78 ปี สภาพเช่นนั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพียงแต่ชาวประชาธิปัตย์กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาประกาศจุดยืน แนวทางของพรรค และกล้าพอที่จะปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่หรือไม่ในสถานการณ์ที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

วันนี้ประชาธิปัตย์ขาดบุคลากรที่ทรงคุณภาพที่จะเข้ามานำพาพรรค ถามว่าตำแหน่งหัวหน้าว่างมาเดือนกว่า จนถึงวันนี้มีใครกล้าลุกขึ้นมาประกาศตัวลงชิงหัวหน้าพรรคสักคนไหม ยังไม่เห็นมี มีแต่ข่าวลือว่า น่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ลงชิง แต่ข้อเท็จจริง คือไม่มีใครเปิดตัวออกมาเลยแม้แต่คนเดียว เงียบสนิทอย่างที่เชาร์ว่าจริงๆ เหลือเวลาไม่ถึงเดือนจะเลือกหัวหน้าพรรคแล้ว ถ้าเป็นสมัยก่อนประชาธิปไตยจะเบ่งบานสพลั่งเต็มหัวใจชาวประชาธิปัตย์ เดินสายพบปะ แสดงวิสัยทัศน์กับบรรดาโหวตเตอร์กับครึกโครม

สถานการณ์ที่เงียบงันของประชาธิปัตย์ ดูวิเวกวังเวงวิโหวเหวเหลือเกิน เศร้าสร้อย หดหู่ใจ เจ้าหน้าที่พรรคยังซุบซิบกันเลยว่า ถ้าคนนี้ลงสมัครเป็นฉัน ฉันก็ไม่เลือก และถ้าเขามาเราจะอยู่กันอย่างไร?

ร้องไห้เถิด ถ้าจะร้องเพื่อจะลุก ถอยเถอะ ถ้าจะถอยเพื่อทบทวน และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างหาญกล้าและท้าทาย ถอยมาดับเครื่อง เช็คเครื่อง สตาร์ท เดินรถใหม่

เรื่อง : นายหัวไทร

ศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค สะเทือนค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์-เดชอิศม์’ ใครจะได้เป็นผู้กุมบังเหียนประชาธิปัตย์

เริ่มชัดขึ้นแล้วสำหรับศึกชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์ มาถึงวันนี้ น่าจะเหลือเพียงสองคนชิงดำกัน ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จ้องจะเข้ามานานแล้ว วนเวียนพูดอยู่ตามเวทีเสวนาต่างๆ กับ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้

เดิมมีชื่อปรากฏผู้ที่จะลงชิงอยู่ 3-4 คน ตามที่เคยบอกกล่าวไปบ้างแล้ว นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ ‘นายกฯ ชาย’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ที่กล่าวอ้างว่า มี ส.ส.มากถึง 17 คน ให้การสนับสนุน มีแรงเชียร์จากชัยชนะ เดชเดโช รองเลขาธิการพรรค น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ ‘มาดามเดียร์’ ผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มเดียวกับที่เชียร์นายกฯ ชาย ถ้าคนใดคนหนึ่งถอยอีกคนจะสู้แทน แต่มาดาเดียร์น่าจะขาดคุณสมบัติ เพราะเพิ่งเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ครบ 5 ปี ตามข้อบังคับพรรค แต่ข้อบังคับพรรคมีการเปิดช่องให้ยกเว้นการบังคับใช้ได้ด้วยมติ 3/4 ของที่ประชุมใหญ่ แต่ยังถือว่า ‘อ่อนพรรษาทางการเมือง’ ด้วยอายุเพียง 37 ปี และเป็น ส.ส.1 สมัย และไม่ใช่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ มาดามเดียร์จึงน่าจะไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์มากุมบังเหียนพรรค

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าใครสนับสนุนบ้าง แต่ภาพลักษณ์ดี เป็นคนรุ่นใหม่ มีคุณสมบัติครบ และ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการพรรค บารมียังน้อย แต่ทำงานใกล้ชิดนายชวน หลีกภัย ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา ดร.อิสระ จะโดดเด่นขึ้นมาได้ ต้องได้รับการสนับสนุน หรือแรงเชียร์จากผู้อาวุโสในพรรคเท่านั้น ผลงาน 4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏชัด ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่ตัวชูโรง ถึงที่สุดแล้ว น่าจะถอยตามคำขอของผู้อาวุโส

โดยทั้งหมดเรียกว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ต้องการให้เข้ามากอบกู้วิกฤตพรรค ก่อนหน้านี้อาจจะมีชื่อ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ด้วยประวัติส่วนตัวบางอย่างยังคลุมเครือ จึงล่าถอยไปก่อน กลัวจะถูกขุดคุ้ยไม่ต่างจากพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอดีต ส.ส.และผู้อาวุโสของพรรคทั้งนายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค ต่างเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมจะมากอบกู้ฟื้นฟูพรรคในเวลานี้มีเพียงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้แจ้งต่อผู้ใหญ่ในพรรคแล้วว่าถ้าจะกลับมานำพาพรรคต้องเป็นฉันทานุมัติของคนในพรรคที่เห็นพ้องกัน และขอให้เชื่อมั่นในทิศทางที่จะนำพาพรรค โดยจะขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น

ท่าทีการขอเป็นฝ่ายค้านของนายอภิสิทธิ์ น่าจะตรงกับกระแสส่วนใหญ่ที่อยากเป็นประชาธิปัตย์ถอยมาตั้งหลัก ขบคิดทบทวน ถอดบทเรียนเรื่องราวในอดีต แต่แตกต่างจากท่าทีของกลุ่มหนุนนายเดชอิศม์ ที่ต้องการนำพาพรรคไปสู่การร่วมรัฐบาล เพื่อนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปสู่การปฏิบัติ รับใช้พี่น้องประชาชน

เอากันให้ชัดๆ สรุปว่า เวลานี้เหลือชิงดำกันระหว่าง ‘อภิสิทธิ์’ กับ ‘นายกฯ ชาย’ เท่านั้น

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เริ่มปรากฏภาพความเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นเมื่อ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.วทันยา บุนนาค เป็นต้น รวมถึงนายเชาว์ มีขวด และ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง ไปปรากฏตัวในงานเลี้ยงวันเกิดคุณติ๊งต่าง

‘คุณติ๊งต่าง’ คือใคร? คือ นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ‘ติ๊งต่าง’ เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม​ชาวไทยหัวใจรักสงบ แม่ยกสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

ในงานเลี้ยงของแม่ยกประชาธิปัตย์ที่มีผู้อาวุโส ผู้มากบารมีทางการเมืองไปร่วม คงไม่คุยกันเรื่องการทำนา ราคาทุเรียน หรือรับเหมาก่อสร้างเป็นแน่แท้ จริงไหมโฆษกขวด เชื่อมั่นว่าจะต้องคุยกันถึงเรื่องการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และจะเชียร์ใคร ถ้าไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ที่นั่งอยู่ในวงด้วย และคนในวงนี้ทั้งหมดเชียร์นายอภิสิทธิ์ทั้งนั้น

ไม่ต้องพูดถึงนายชวน-บัญญัติ-คุณหญิงกัลยา เชาว์ มีขวด เข้าสู่แวดวงการเมือง เพราะคำชักชวนของนายอภิสิทธิ์ เกียรติ์ สิทธีอมร ได้ดิบได้ดี เพราะนายอภิสิทธิ์สนับสนุนมิใช่หรือ

9 กรกฎาคมก็จะรู้ว่า ใครจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์’ กับ ‘นายกฯ ชาย’ แต่ก่อนถึงวันนั้นให้ติดตามการขับเคลื่อนของมวลสมาชิก เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย และให้จับตา ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ ว่าจะขยับไปหนุนช่วยฝั่งไหน

วิเคราะห์ทิศทาง ศึกชิง ‘หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์’  จับตาเดือด ‘อภิสิทธิ์-นายกฯชาย’ ใครจะได้นั่งตำแหน่งนี้

แทน-ชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่มีการล็อคสเปก ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แทนจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ลาออกรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่ล้มเหลว

ก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์ทางการเมืองออกมาระบุว่า มีการล็อคสเปก ว่าที่หัวพรรคคนใหม่ โดยอดีตกลุ่มผู้บริหารบางกลุ่ม เพื่อให้เป็นไปตามที่กลุ่มเขาต้องการ และจะสามารถเข้ามากุมทิศทางของพรรคได้

แน่นอนว่า ถึงแม้นจะมีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพยายามจะล็อคสเป็คว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แต่ไม่ใข่เรื่องง่ายในการเดินไปสู่ชัยชนะ เพราะระเบียบพรรคประชาธิปัตย์ในกำหนดเรื่องการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคไว้ค่อนข้างละเอียด โดยมีโหวตเตอร์หลากหลายกลุ่ม

โหวตเตอร์กลุ่มแรกคือ ส.ส.ชุดปัจจุบัน 25 คน มีน้ำหนัก 70% ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซนต์ เป็นอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขาพรรค ตัวแทนพรรคในแต่ละจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นี้คือกลุ่มของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ของประชาธิปัตย์

กล่าวสำหรับกลุ่มแรก เป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ทางภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ 2 คน นครศรีธรรมราช 6 คน พัทลุง 2 คน สงขลา 6 คน ปัตตานี 1 คน ตรัง 2 คน ส่วนที่เหลือเป็นแม่ฮ่องสอน 1 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน คือ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 

อาทิตย์หน้าจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าใครจะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บ้าง แต่เบื้องหลังเห็นชื่ออยู่ 4 คน แต่เจ้าตัวเองไม่เคยออกมาพูดว่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่นักข่าว นักวิเคราะห์เห็นร่องรอยของการเคลื่อนไหว และความพยายาม เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้า นายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ วทันยา บุนนาค หรือตั๊ก จิตภัสร์ กฤษดากร เป็นต้น หรือแม้กระทั่ง ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

แต่เข้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคต้องการให้เห็นความเป็นเอกภาพ มีผู้สมัครจำนวนน้อย แต่เพื่อให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยในพรรค ก็อาจจะมีคนลงชิง 2-3 คน แต่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม หลังจากประเมินการหยั่งเสียงแล้ว น่าจะมีคนทยอยถอนตัว หรืออาจจะเกิดจากการล็อบบี้ของผู้อาวุโสที่มากบารมี 

แต่ถ้าให้สวยงาม อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค มีนายกฯชายเป็นเลขาธิการ ส่วนแทน-ชัยชนะ ในฐานะนำทีมนครศรีธรรมราชเข้ามาถึง 5 คน ก็ก้าวขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้แทนนายกฯชาย ประเด็นคือนายกฯชายก็อยากเป็นหัวหน้าพรรคและจากการประเมินเสียงน่าจะสู้จริง ผู้ใหญ่ในพรรคคงต้องล็อบบี้กันหนัก ให้นายกฯชายไม่ลง รอหัวหน้าพรรคคนใหม่เสนอชิงเลขาธิการพรรค

ที่สำคัญทีมบริหารพรรคชุดใหม่ต้องให้เห็นภาพว่า เป็นคนรุ่นใหม่ ใหม่จริงๆ ไม่ใช่แค่ทีมใหม่ ดร.อิสระ / ดร.เอ้ / ตั๊น / วทันยา / แทน /ร่มธรรม เป็นต้น ต้องเข้ามาเป็นกรรมการบริหาร เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพรรค กำหนดแนวทาง ทิศทางของพรรค ให้ทันสมัยขึ้น พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ส่วนคนเก่าๆก็ต้องไม่ทิ้ง ตะเคียนทองที่ถูกฝังอยู่ใต้น้ำก็ต้องขุดขึ้นมาใช้งาน แล้วแต่ผู้บริหารชุดใหม่จะวางบทบาทอะไรให้ทำ ถ้าเป็นที่ปรึกษาก็ต้องปรึกษาจริง ไม่ใช่ตั้งไว้ลอยๆ แล้วไม่เคยปรึกษาเลย 

ถ้าวิเคราะห์กันอย่างตรงไปตรงมาถึงปัจจัยแพ้ชนะ ส.ส.ปัจจุบันมีสัดส่วนน้ำหนักมากถึง 70%
-ทีมนายกฯชาย ส.ส.น่าจะมีแค่ 14-16 คือ 
-ประจวบคีรีขันธ์ 2
-นครศรีธรรมราช 5
-สงขลา 3
-ตรัง 2
-พัทลุง 2 (ไม่ชัวร์ว่าฝ่ายไหน)
-ที่เหลือนึกไม่ออกว่ายังจะมีใครอีก

ทีมชวน-อภิสิทธิ์
-ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์ (3)
-นครศรีธรรมราช 1
-สงขลา 3
-ปัตตานี 1
-อิสาน 2 (อุบลราชธานี-สกลนคร)
-แม่ฮ่องสอน 1
-ที่เหลือนึกไม่ออกว่าจะมีเพิ่มตรงไหนอีก

ถ้าพิจารณาตามข้อมูลที่ #นายหัวไทร จะเห็นว่า ทีมนายกฯชาย น่าจะมีอยู่ 14 เสียง ทีมของชวน-อภิสิทธิ์ น่าจะมีอยู่ 11 เสียง ยังอยู่ในสถานการณ์ที่เสียงเปรียบ

โหวตเตอร์ อีกกลุ่มที่น่าสนใจว่าจะอยู่สายไหน ทั้งสายตัวแทนจังหวัด / ประธานสาขา / ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค/ อดีต ส.ส./อดีตรัฐมนตรี 90% อยู่สายชวน
แต่ต้องจับตาดูว่า นิพนธ์ บุญญามณี ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มนี้สูงในฐานะอดีตรองหัวหน้าพรรคฝ่ายกิจการสาขา จะช่วยทีมไหน จะเอาเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด หรือจะเอานายหัวเก่า นายหัวไทรเชื่อว่าช่วยอภิสิทธิ์

การปรากฏตัวของชวน หลีกภัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เชาร์ มีขวด และผู้อาวุโสอีกหลายท่านในงานวันเกิดของแฟนคลับประชาธิปัตย์ผู้เหนียวแน่น ไม่ใช่เป็นการปรากฏตัวขึ้นธรรมดาแบบไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดธรรมดาเป็นแน่แท้ ต้องมีอะไรมากกว่านั้น คือการหารือถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่

อาทิตย์หน้าบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์จะคึกคักขึ้นกับบรรยากาศของการเดินสายหาเสียงกับโหวตเตอร์ทั้งหลาย ขออย่าให้ได้ยินเสียงอีกนะครับว่า ใช้เงินหว่านซื้อเสียงให้เข้าหูอีก เพราะนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยสุจริต
นายหัวไทร

การประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังตกลงกันไม่ได้เรื่อง ประธานสภาฯ ‘พิธา’ บอกยังมีเวลา ขอทำงานเป็นขั้นเป็นตอน

การประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 2 ชั่วโมง น่าจะจบลงแบบไม่ราบรื่นนัก
ที่ประชุม 8 พรรคร่วม ยังตกลงกันไม่ได้เรื่อง #ประธานสภา จะเป็นของพรรคใดระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย พิธาบอกว่า ยังมีเวลา ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน อย่าเปิดประเด็นใหม่ 

ดูจากสีหน้าของทุกคู่ ไม่สดใสร่าเริงเหมือนตอนแถลงจับมือ ส่งรอยนิ้ว จับมือรูปหัวใจ แต่วันนี้ไม่ใช่ ไม่มีรอยยิ้มให้เห็น

ยังมีเวลา ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน ถ้าพิจารณากันตามข้อเท็จจริง คือมีเวลาแค่วันนี้ เพราะพรุ่งนี้ทุกพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมีการประชุม ส.ส.ของพรรค ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องแจ้งเรื่องทิศทางในการเลือกประธานสภาว่าจะเป็นอย่างไร จะต้องเลือกใครจากพรรคไหน

พรุ่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมสภา จากนั้นวันที่ 4 กรกฎาคม ก็จะเป็นการประชุมสภานัดแรกเพื่อเลือกประธานสภา และรองประธานสภาสองตำแหน่ง

หรือการโหวตเลือกประธานสภาจะย่างเข้าสู่โหมตฟรีโหวตจริงๆ แต่ถึงแม้นจะฟรีโหวต และพรรคก้าวไกลเสนอชื่อคนของพรรค ก็เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ ยังจะยกมือให้คนของพรรคก้าวไกลเป็นประธานสภา เพื่อให้การจัดตั้งเดินหน้าต่อไปได้ แบะทอดเวลาไปสำหรับการเจรจาต่อรองทางการเมือง เพราะเมื่อโหวตเลือกประธานสภาแล้ว มีเวลาอีก 10 วัน ในการกำหนดวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

เกมต่อไปคือเกมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จนถึงวันนี้ ทำไมพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไทย ว่าที่นายกรัฐมนตรี ถึงยังไม่บอกกล่าวกับใครว่า “ตกลงซาวเสียง สว.แล้ว เขาจะเลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีสักกี่คน”

ทำให้สงสัยได้ว่า “หรือ 1 เดือนของความพยายามในการกล่อม สว.ให้กลับใจมาเลือกพิธา ยังย่ำอยู่ที่เดิม ที่เดิมที่ 6-7 เสียง หรือ 19-20 เสียง ยังไม่ขยับเข้าไปใกล้ 64 เสียง เพื่อให้ได้ 376 เสียง คือเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา

หรือใจมันสั่นๆที่จะพูดความจริง ความจริงที่ว่า “เรามีเสียง ส.ส.อยู่ 312 เสียง และมีสว.ใจเต็มร้อยให้พิธาแค่ 6-7 เสียง ที่เหลือรับปาก แต่ไม่ยืนยัน แน่นอนว่าทางการเมืองใครไปหาเขาก็รับปากหมดแหละ ไม่มีใครปฏิเสธต่อหน้าหรอก

เหมือนเวลา ผู้สมัคร ส.ส.ไปพบหัวคะแนน ไปคุยกับชาวบ้าน ทุกคนรับปากจะช่วยรับปากจะเลือกทุกคน จนทำให้ผู้สมัครหลงตัวเองว่า “เสียงดี-กระแสตอบรับดี”

แต่ผลคะแนน ผลโหวตจะเป็นตัวขี้วัด ระบอบประชาธิปไตย คือระบอบการมีส่วนร่วม ทั้งทางตรง และทางอ้อม ทางตรงผ่านขบวนการเลือกตั้ง ทางอ้อม คือตัวแทนที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ทำหน้าที่แทน

14 ล้านเสียงนั่นคือทางตรงที่ประชาชนออกไปเลือกพรรคก้าวไกล และเป็น 14 ล้านเสียงที่ทรงพลัง หนุนก้าวไกล หนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความอ่อนด้อยในประสบการณ์ในการเจรจา ในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ด้อยกว่าเพื่อไทยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย

วันนี้ก้าวไกล 151 เสียง จึงตกเป็นรองต่อเพื่อไทย 141 เสียง ทำนอง “ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก” ซึ่งข้อเท็จจริงก้าวไกลขาดเพื่อไทยก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ หันซ้ายก็เห็นศัตรู หันขวา เราก็เคยตั้งป้อมจะปลดล็อคเขา เดินไปข้างหน้าก็เห็นป้อมปราการที่มีอายุหนักเล็งอยู่

โอ้…ก้าวไกลจะเดินต่ออย่างไรดี หรือปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บอกได้เลยครับว่า “เจ๊ง” การเมืองไม่มีธรรมชาติ มีแต่การล็อบบี้ ต่อรองทั่งนั้น

ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เชื่อได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลเดิมจะเสนอคนลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย และชื่อคนลงชิง ถ้าพรรครวมไทยสร้างชาติเสนอ ก็จะเป็นชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ถ้าพรรคพลังประชารัฐเสนอก็จะเป็นชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

พีระพันธุ์ ยอมสละเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมกับทิ้งประโยคเด็ด “ไม่ทิ้งลุงตู่ จะอยู่ช่วยจนคนสุดท้าย” มีความหมายโดยนัยยะทางการเมืองอย่างไม่น่ามองผ่าน

วันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่า ซีก 188 เสียงต้องโหวตให้พีระพันธุ์ แล้วดันมี สว.200 คนโหวตเลือกพีระพันธุ์ จะทำให้เสียงพีระพันธุ์มี 388 เสียง “ส้มก็จะหล่น”ใส่ พีระพันธุ์แบบเต็มตีน

ไม่ใช่เชียร์พีระพันธุ์ แต่ถ้าก้าวไกลไม่ชัด คำตอบของโจทย์ยาก อาจจะมาในรูปนี้ก็เป็นได้

‘ทนายเชาร์’ ขย่ม ‘เฉลิมชัย’ รักพรรคจริงเลิกกินรวบ  เสนองดใช้ข้อบังคับพรรค เลิกใช้สัดส่วน 70 % ของ ส.ส.ชี้ขาดใครนั่ง หน.พรรค 

อีกรอบแล้วที่เชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Chao Meekhuad ) หัวเรื่อง "1 เสียง 1 โหวต ทางออก ฟื้น ปชป. " อันเป็นข้อเสนอที่แหลมคมยิ่ง หวังให้เป็นทางออกจากวิกฤติของประชาธิปัตย์ และทิ่มแทงตรงๆไปยัง “ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน”อดีตเลขาธิการพรรค ที่ถูกมองว่า แม้นจะประกาศเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต หากประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าเดิม แต่เงาดำทมึนยังคลุมงำประชาธิปัตย์อยู่

การเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มปรากฏชัดถึงความถดถอย ได้ ส.ส.มาแค่ 52 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้เป็น 100 เริ่มถดถอยในช่วงที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”เป็นหัวหน้าพรรค และมี “จุติ ไกรฤกษ์” เป็นเลขาธิการพรรค อันเกิดจากสารพัดปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะการชุมชุมของกลุ่ม นปช.จนไม่มีเวลามาบริหารราชการแผ่นดิน และอภิสิทธิ์ ต้องหอบหิ้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหนีม็อบครั้งแล้วครั้งเล่าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด 

เฉลิมชัยก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” การเลือกตั้งปี 2566 เฉลิมชัยลั่นวาจาครั้งแล้วครั้งล่าว ถ้าประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต วันนั้นมาถึงแล้ว ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มาเพียง 25 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “เฉลิมชัย”จึงน่าจะวางมือทางการเมือง และจัดวางตัวเองให้เป็นอาจารย์ใหญ่ เหมือน “เนวิน ชิดชอบ” ผู้อยู่เบื้องหลังภูมิใจไทย

เชาร์ระบุว่า พรรคประชาะปัตย์ มีกำหนดประชุมใหญ่ วาระสำคัญคือการเลือกผู้บริหารชุดใหม่ มาแทนชุดเดิม ที่พ้นตำแหน่งไป จากการลาออกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เพื่อรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในคราวนี้ แตกต่างไปจากอดีตที่เคยมีมา แทบจะไม่มีใครเสนอตัวออกมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลย ยกเว้น นายอลงกรณ์ พลบุตร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนในพรรครู้ดีแก่ใจว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรค รวมถึงผู้บริหารทั้งหมด ในตอนนี้ อยู่ในอาณัติของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคฯ ที่กุมเสียง สส.ในมือราว 20 คน จากทั้งหมด 25 คน สั่งให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคคนนั้นก็จะได้เป็น 

เชาร์ อธิบายว่า เนื่องจากข้อบังคับพรรคให้น้ำหนัก ส.ส.เป็นสัดส่วนถึง 70 % ขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ในการลงคะแนน ข้อบังคับพรรคไม่ได้ผิดอะไร ที่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ในอดีตก็มีการแก้ไขสัดส่วนคะแนนเสียง ส.ส. มาตลอดเพื่อให้สมดุลเข้ากับสถานการณ์แต่ละยุค ซึ่งตอนแก้ข้อบังคับเมื่อปี 61 ก่อนหน้านี้พรรคมีส.ส.เกินหลักร้อยมาตลอด และใครก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะตกต่ำเหลือแค่ 25 คนในยามนี้ จากพรรคขนาดใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง และกำลังเป็นพรรคขนาดเล็ก ถือเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้จึงไม่สมควรที่จะให้ส.ส. 25 คน มากุมชะตากรรมพรรคเพียงลำพัง 

เชาร์เสนอให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติสามในห้าขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้ยกเว้นข้อบังคับข้อ 87 (1),(2) ที่ให้ถือเกณฑ์คำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสัดส่วน สส. 70 % และสมาชิกอื่นที่เป็นองค์ประชุม 30 % เสีย โดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้ลงคะแนนเสียง เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ มีหนึ่งเสียง หนึ่งโหวตเท่ากันในการกำหนดชะตาครั้งสำคัญของพรรค

"ถ้ารักพรรคจริง ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมตัดสิน ไม่ใช่ใช้ข้อได้เปรียบจากข้อบังคับพรรคมาจ้องกินรวบพรรคอย่างที่เป็นอยู่ คนชอบพูดว่าผมเป็นคนของนายกฯอภิสิทธิ์ ผมไม่ปฏิเสธว่าเคารพรักท่าน แต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคสำหรับผม จะชื่ออะไรก็ได้ สำคัญที่คน ๆ นั้น ต้องมีบารมี มีเจตจำนงค์ทำ พรรคให้เป็นพรรค ไม่ใช่คิดแต่ใช้พรรคเป็นบันไดในการแสวงหาอำนาจ เรามีบทเรียนมามากพอแล้วกับการละทิ้งคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน”

เชาร์ย้ำว่า ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เปราะบาง ประชาธิปัตย์ต้องเข้มแข็งเพื่อเป็นหลักให้กับบ้านเมือง ส่วนจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ชี้วัดกันที่การเลือกหัวหน้าพรรควันที่ 9 ก.ค. ที่ผมยืนยันว่า ต้องยกเว้นข้อบังคับ เลิกสัดส่วน 70 % ของสส. เป็นให้ทุกคะแนนมีค่าเท่ากัน 

อย่างที่เชาร์กล่าวไว้ ทำไมการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งคราวนี้ถึงเงียบเชียบ ที่ปรากฏตัวชัดแล้วมีแค่ “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรค 4 สมัย และ 30 ปี ยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะแพ้การเลือกตั้งชิงหัวหน้าพรรค ที่บางคนพอแพ้ก็ทิ้งพรรคไป ไม่ว่าจะเป็น “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” ออกไปตั้งพรรคไทยภักดี พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ กรณ์ จาติกวณิชย์ ออกไปตั้งพรรคกล้า 

หันซ้ายมองขวาในประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นคนเก่า หรือคนใหม่ ยังไม่เห็นใครว่าจะนำพาพรรคประชาธิปัตย์กลับไปยืนอยู่แถวหน้าได้ แต่พอจะเห็นเค้าอยู่บ้างสำหรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แม้ว่าจะไม่ใหม่นัก แต่ไม่เก่าจนเกินไป และเป็นคนมีบารมี มีอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ และมีจุดยืนชัดเจน และแม้จะลาออกจาก ส.ส.คราวนั้น ก็ยังเป็นสมาชิกประชาธิปัตย์อยู่ และเชื่อว่า ถ้าอภิสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะมีแรงสนับสนุนจาก “ชวน หลีกภัย”บัญญัติ บรรทัดฐาน-นิพนธ์ บุญญามณี” รวมถึงโหวตเตอร์สายอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขา และตัวแทนพรรคอยู่ไม่น้อย ยิ่งถ้ายกเว้นข้อบังคับตามข้อเสนอของทนายเชาร์ โหวตเตอร์สาย ส.ส.อาจจะเหวี่ยงหลุดแห มาทางอภิสิทธิ์บ้างก็ได้

แม้บนบกจะดูคลื่นลมเงียบสงบ แต่เชื่อว่าใต้น้ำ ประชาธิปัตย์กำลังเกิดภาวะน้ำวน มีการเคลื่อนไหวที่พอเห็นร่องรอยอยู่บ้าง

นับถอยหลัง 9 กรกฎา เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รายชื่อแคนดิเดตเริ่มชัด!! เหลือวิสัยทัศน์ที่ต้องงัดมาโชว์

'ตั๊น จิตภัสร์' โพสต์ข้อความเจ็บจี๊ด หยุดเอาชื่อตัวไปคั่วชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันไม่เคยอยู่ในสมอง ซัดคนอยากเป็น 'หยุดวิ่งหาผู้ใหญ่ในพรรค' แนะนำตัวสมาชิกพรรคทั่วไทยดีกว่า ฝากถึงใคร! 'ผู้นำ' เดินคนเดียว ไร้คนเดินตาม ไม่เรียก 'ผู้นำ'

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ในพรรคเกี่ยวกับการแข่งขันเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ มีใจความว่า...

"หยุดเอาชื่อตั๊น ไปร่วมกับแต่ละท่านที่อยากจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลยค่ะ เรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรคไม่เคยอยู่ในความคิดของตั๊นเลย ทุกวันนี้มีความสุขกับการได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนอยู่ ไม่ว่าจะในพื้นที่ไหน ถึงแม้วันนี้ยังไม่ได้เข้าไปทำงานในสภา แต่บางปัญหาก็ไม่สามารถรอรัฐบาลชุดใหม่ได้  

"ถ้าตั๊นอยากจะเป็นหัวหน้าพรรค ตั๊นแมนพอที่จะออกตัวลงสมัครมานานแล้วค่ะ สมาชิกที่บอกเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย แต่ละท่านที่อยากเสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค แทนที่จะมานั่งปล่อยข่าว หรือ วิ่งเข้า วิ่งออก บ้านผู้ใหญ่ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แนะนำเอาเวลามาหาเสียงกับสมาชิกพรรคทั่วประเทศน่าจะดีกว่านะคะ (อย่างน้อยไปทำความรู้จักให้สมาชิกได้รู้จักว่า แต่ละท่านเป็นใคร เพราะตอนนี้แต่ละชื่อที่เสนอมาบอกเลย สมาชิกบางท่านยังไม่รู้จักเลยว่าคุณคือใคร)! อยากจะเป็นผู้นำ อย่าลืมลูกพรรคด้วยนะคะ! พรรคเป็นองค์กรที่ใหญ่มีสาขาพรรค สมาชิกหลากหลายในทุกภูมิภาค ไม่ใช่แต่ใน กทม. ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งนั้น การจะเป็นผู้นำเดินคนเดียว แต่ไม่มีคนเดินตามเค้าไม่เรียกว่าผู้นำหรอกนะคะ"

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (9 กรกฎาคม) สถานการณ์ดูจะเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ ขาเชียร์คุณตั๊นก็จบข่าวไป มี 'อลงกรณ์ พลบุตร' ที่ชัดเจนแล้ว

รอการตัดสินใจของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' และนายกฯ 'ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง' ว่าจะเปิดตัวกันวันไหน 

แต่ #นายหัวไทร ทราบว่า ทั้งนายกฯ ชาย และอภิสิทธิ์ ต่างเดินสาย พร้อมทีมงานผู้สนับสนุน พบปะโหวตเตอร์อย่างต่อเนื่อง โดยขั้วนายกฯ ชายมั่นใจว่า ถ้าลงแข่งเขาจะชนะ เพราะมีโหวตเตอร์สาย ส.ส.อยู่มากถึง 16-17 เสียง และโหวตเตอร์สาย ส.ส.มีน้ำหนักมากถึง 70% ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่แน่ว่า ส.ส.สายนี้จะยังอยู่ครบ 16-17 เสียงหรือไม่ เมื่อมีเสียงอันแผ่วเบาไปจากผู้มากบารมี ขอให้เปลี่ยนใจ กลับใจ

ส่วนสายอภิสิทธิ์ มีโหวตเตอร์สาย ส.ส.8-9 คน แต่สายอภิสิทธิ์ก็จะมีเสียงสนับสนุนที่หนาแน่จากสาขาพรรค ตัวแทนจังหวัด อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.และผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค รวมถึงอดีตผู้ว่าฯ กทม.อีกสองเสียง คือ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ถ้าการประชุมในวันที่ 9 กรกฎาคม มีคนเสนอให้ยกเว้นการใช้ข้อบังคับพรรคบางข้อ เกี่ยวกับการให้น้ำหนักกับโหวตเตอร์สาย ส.ส.มากถึง 70% ตามที่ทนายเชาว์ มีขวด เสนอ และให้โหวตเตอร์ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน คือ 1 คน 1 เสียง และผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 3 ใน 4 ขั้วนายกฯ ชายก็จะมั่วเหมือนกัน

การให้ที่ประชุมใหญ่มีมติงดเว้นการบังคับใข้ข้อบังคับพรรคบางข้อเคยมีปฏิบัติกันมาแล้วในพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' เอา 'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' มาเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะปริญญ์เป็นสมาชิกพรรคได้ครบตามข้อบังคับพรรค

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันแล้วจะถึงวันเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ #นายหัวไทร อยากจะเรียกร้องให้ผู้ที่สนใจจะลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนเปิดเผยตัวออกมา แสดงวิสัยทัศน์ให้สมาชิกพรรคได้รับทราบ โหวตเตอร์จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ถ้าเป็นไปได้ เมื่อเปิดตัวออกมาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์เองควรจะตั้งเวทีดีเบต ให้ผู้สมัครทุกคนมาดีเบตกัน ท่ามกลางสมาชิกพรรคจากทั่วทุกทิศ อันเป็นบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย หรือถ้าพรรคไม่จัด สื่ออาจจะจัดก็ได้ ถ้าผู้สมัครเปิดตัวออกมา ก็จะเป็นเวทีที่สนุก สะท้อนความเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริงของประชาธิปัตย์

ผมไม่ติดใจว่า คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเป็นคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ เพียงแต่ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิรูปพรรค เป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ทันโลก ทันสมัย พร้อมจะรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย เพื่อนำพาประชาธิปัตย์กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่

ประชาธิปัตย์เคยยิ่งใหญ่ เคยมี ส.ส.เป็น 100 คนมาแล้ว สร้างนักการเมือง สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน แต่ผู้บริหารชุดใหม่จะต้องถอดบทเรียนถึงข้อผิดพลาดที่ผ่านมาให้ออก รับฟังเสียงสะท้อน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข เชื่อว่าความเป็นประชาธิปัตย์ ยังไปได้ ประชาธิปัตย์ยังไม่ตาย อุดมการณ์ประชาธิปัตย์ยังฝังอยู่ในจิตใจของแฟนคลับอีกไม่น้อย เพียงแต่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 'หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์' พลิกพรรคฟื้นคืนกลับ หรือจะดับเป็น 'พรรคต่ำสิบ'

เหลือเวลาอีกแค่ 4 วัน สำหรับศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และทีมบริหารชุดใหม่ที่มีภารกิจหนักในการฟื้นฟูพรรค

“ต้องยอมรับความจริงว่า พรรคประชาธิปัตย์อาการหนัก” เป็นคำกล่าวของนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรค 

“หัวหน้าพรรคคนใหม่จะเป็นใครก็ได้ แต่ขอให้เป็นมติของที่ประชุมพรรค จากความเห็นพ้องต้องกันของสมาชิกพรรค และที่สำคัญต้องเป็นคนที่ตั้งใจ ทุ่มเท และพร้อมทำงาน รวมถึงควรจะมุ่งไปสู่การฟื้นฟูพรรค โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารพรรคมากขึ้น” นิพนธ์ กล่าวย้ำ

ชัดแล้ว 3 คน คนแรก 'อลงกรณ์ พลบุตร' ลงชิงหัวหน้าพรรคแน่นอน เปิดตัวแสดงวิสัยทัศน์ไปแล้ว

'ตั๊น จิตภัสร์ กฤษดากร' ยืนยันว่าไม่ลง และไม่เคยมีความคิดอยู่ในสมอง 

'ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ' ที่เคยมีข่าวว่าจะลงชิงด้วย แต่มาถึงวันนี้ออกมาเปิดตัวชัดเจนแล้ว 'ไม่ลง'

ส่วนที่ยังไม่มีท่าทีออกมา แต่มีข่าวว่าจะลงชิง คือ...

- นายกฯ ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สมัย 2 ของสงขลา
- อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรี
- และมีข่าวว่า กลุ่มเฉลิมชัย ศรีอ่อน ชักชวน ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มาลงสมัคร และจะให้นายกฯชาย นั่งเป็นเลขาธิการ แต่ ดร.เอ้ ก็ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ แต่ยอมรับว่า มีผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามจริง

นอกจากนี้ ยังมีข่าวอีกด้วยว่า กลุ่มของเฉลิมชัย ยังจะให้มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค (วงศ์โอกาศรี) ขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกรุงเทพมหานคร แทน องอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่จะถูกดันเป็นรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ

ส่วนกลุ่มของนายอภิสิทธิ์นั้น ยังไม่ชัดเจนในเชิงโครงสร้าง แต่มี ชวน หลีกภัย / บัญญัติ บรรทัดฐาน / นิพนธ์ บุญญามณี ให้การสนับสนุน และร่วมขับเคลื่อนผ่านตัวแทนจังหวัด และสาขาพรรค ที่เป็นโหวตเตอร์ด้วย

ในส่วนของโหวตเตอร์ ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน อยู่ในมือของกลุ่มเฉลิมชัย 14 คน คือ ประจวบคีรีขันธ์ 2 คน นครศรีธรรมราช 5 คน พัทลุง 2 คน ตรัง 2 คน สงขลา 3 คน ที่เหลืออยู่ในกลุ่มของนายหัวชวน 11 คน คือ นครศรีธรรมราช 1 คน สงขลา 3 คน ปัตตานี 1 คน แม่ฮ่องสอน 1 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน และมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน คือ ชวน หลีกภัย / บัญญัติ บรรทัดฐาน และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

โหวตเตอร์ในส่วนของสาขาพรรค และตัวแทนจังหวัด ทั่วภาคเหนือ และภาคอีสาน ชัดเจนแล้วว่า สนับสนุนอภิสิทธิ์ ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร แต่เข้าใจว่าจะสนับสนุนอภิสิทธิ์ เช่นเดียวกัน

โหวตเตอร์อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี อดีตนายรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าฯ กทม. 2 คน และผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค ก็น่าจะสนับสนุนอภิสิทธิ์เช่นกัน

ถ้ามองสถานการณ์ภาพรวมในวันนี้ซึ่งเหลือเวลาอีกแค่ 4 วันจะเลือกตั้งแล้ว (9 ก.ค.66) เกมซีกของอภิสิทธิ์เหนือกว่า ที่ยึดโหวตเตอร์ส่วนอื่นๆ ไว้ได้เกือบหมด จะแพ้ก็เป็นโหวตเตอร์ในส่วนของ ส.ส.ซึ่งแพ้ก็ไม่มาก 14:11 

สถานการณ์นี้ แม้ขั้วของเฉลิมชัยจะมั่นใจในโหวตเตอร์ที่มีอยู่ แต่การดิ้นรนไปทาบทาม ดร.เอ้ ให้มาลงในนามกลุ่ม สะท้อนให้เห็นว่า การขับเคลื่อนที่ผ่านมาให้นายกฯ ชายลงชิงหัวหน้าพรรค กระแสตอบรับยังไม่ดีนัก จึงต้องเปลี่ยนหัวเป็น ดร.เอ้แทน และให้นายกฯ ชายนั่งเป็นเลขาธิการ

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 9 กรกฎาคม จะเป็นวันชี้ชะตาอนาคตประชาธิปัตย์ว่า 'จะฟื้นกลับมา' หรือจะกลายเป็น 'พรรคต่ำสิบ' ในสถานการณ์ที่อาการหนัก ถอดสายน้ำเกลือก็ไม่รอดแล้ว...ต้องติดตามดูกัน

'เชาว์ มีขวด' ขยับเกม นัดระดมพลคนรัก ปชป. จี้!! งดใช้ข้อบังคับพรรค ใช้สัดส่วน ส.ส.ชี้ชะตา

เมื่อไม่นานมานี้ นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงรอบสาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Chao Meekhuad’ เรื่อง จากใจ ถึงใจ คนรัก ปชป. วันที่ 8 ก.ค.เจอกันที่ลานพระแม่ธรณีฯ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า

หลังจากที่ได้เสนอแนวคิดในการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์โดยเรียกร้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของพรรคผ่านเฟซบุ๊กไปแล้วสามครั้ง ปรากฏว่า ได้รับเสียงตอบรับจำนวนมาก จึงขอขอบคุณสมาชิกพรรคทั้งอดีตและปัจจุบันรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีความห่วงใยต่อพรรคประชาธิปัตย์ แม้ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาบางท่านอาจจะไม่เลือกคนของพรรค แต่ก็ยังมีความห่วงใยต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนจะได้กลับมาร่วมกันพัฒนาพรรคให้เติบโตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

มีหลายคนประสานมายังผมต้องการให้ช่วยนัดวันพบปะกันระหว่างสมาชิก เพื่อแสดงจุดยืนก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม โดยได้ข้อสรุปว่า จะนัดเจอกันในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. ณ ลานพระแม่ธรณี พรรคประชาธิปัตย์ โดยเริ่มต้นด้วยการสักการะขอพรพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต่อจากนั้นก็จะเปิดเวทีเสวนาเล็ก ๆ เพื่อให้สมาชิกได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดทั้งวัน จึงประกาศเชิญชวนทุกท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ตามวันเวลาข้างต้นครับ

“ขอยืนยันว่าการพบปะกันในหมู่คนรักพรรค ปรารถนาที่จะเห็นการฟื้นฟูพรรคให้กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองในครั้งนี้ มิได้มีวาระซ่อนเร้นเพื่อผลักดันใครเป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องการเห็นพรรคกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้องในทางการเมือง เปิดโอกาสให้ทุกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ได้ร่วมชี้ชะตากำหนดอนาคตพรรค ด้วยการงดเว้นการใช้ข้อบังคับที่กำหนดให้ สัดส่วนของ ส.ส.คิดเป็น 70 % ขององค์ประชุมทั้งหมด เป็นทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ผมเชื่อว่าถ้าลดเพดานความอยากลง หลายคนจะเห็นความจริงตรงหน้ามากขึ้นว่า หัวหน้าพรรคคนต่อไปมีความสำคัญต่อพรรค มากกว่าการเป็นหุ่นเชิดให้ใครใช้เพื่อก้าวสู่อำนาจเท่านั้น

‘ทนายเชาว์’ ขย่มครั้งที่สองเสนอให้พรรคงดใช้ข้อบังคับพรรคในที่ประชุมใหญ่ ข้อที่กำหนดให้น้ำหนักกับ ส.ส.ถึง 70% ในการลงคะแนน ทนายเชาว์จึงเสนอให้งดใช้ขัอบังคับพรรคข้อนี้ และให้ทุกคนมีเสียงเท่ากับ 1 คน 1 เสียง และเปิดฉากที่สามด้วยการนัดแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์เจอกันวันเสาร์นี้ ก่อนการประชุมใหญ่ 1 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทั่วไป ที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงพลัง แสดงความคิดเห็นกันทั้งวันบริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม

เกม 'ล้มประชุม' เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เบรกความฮอตขั้ว 'เฉลิมชัย' อีก 1 เดือนวัดกันใหม่

การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มขึ้นเวลา 09.00 น.ของวันที่ 9 กรกฎาคม โดยการกล่าวต้อนรับสมาชิกโดยผู้อำนวยการพรรค จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยดำเนินการไปตามระเบียบวาระ เมื่อจะเข้าวาระ 4 ว่าด้วยเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ที่ประชุมได้เชิญสื่อมวลชนออกจากห้องประชุม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคกรุงเทพมหานคร เสนอให้ยกเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรค ในขณะที่นายสาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าพรรค เสนอให้งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคเกี่ยวกับสัดส่วน-น้ำหนัก ส.ส.กับโหวตเตอร์อื่นๆ 70:30 ทำให้นายจุรินทร์ เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น มีสมาชิกแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายองอาจจึงเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน พี่น้องภายในพรรคไปคุยตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนว่าจะเอาอย่างไร

การประชุมยังเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ในขณะที่ด้านนอกมีกระแสข่าวมาเรื่อยๆ 'อลงกรณ์ พลบุตร' ถอนตัวจากการชิงหัวหน้าพรรคกระทันหัน และไม่เข้าร่วมประชุมด้วย

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ให้คำตอบในนาทีสุดท้าย ปฏิเสธลงชิงหัวหน้าพรรค เกมเริ่มพลิก ขั้วของเฉลิมชัย ศรีอ่อน ขาดหัวในการชิงหัวหน้าพรรค จึงดึง 'นราพัฒน์ แก้วทอง' จากพิจิตร มาเสนอตัวแทน และ 'ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล' ตัวจี๊ดขันอาสามาสมัครอีกคน

บรรยากาศในห้องประชุมยังดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดกับข้อเสนอให้งบใช้ข้อบังคับการประชุม การประชุมลากยาวไปถึงภาคบ่าย และสไตล์ประชาธิปัตย์ เมื่อเห็นไม่ตรงกันก็จบลงด้วยการลงมติ ที่ประชุมไม่ให้เลื่อนการประชุมออกไป และยังใช้ข้อบังคับพรรคในสัดส่วน 70:30 ต่อไป

กว่าจะได้พักรับประทานอาหารการประชุมลากยาวมาถึงบ่ายโมง พัก 1 ชั่วโมง นัดประชุมใหม่ 14.00 น. 

ผู้ล้ำลึกในเกมวิเคราะห์ถึงการชิงไหวชิงพริบกันในภาคเช้า ขั้วของเฉลิมชัยยังอยู่ในฐานะได้เปรียบในทุกประตู ทั้งไม่เลื่อนการประชุม และงดใช้สัดส่วน 70:30

แต่หลังรับประทานอาหารเสร็จ ภาพที่เห็นคือ คนที่เป็นองค์ประชุมเริ่มเช็กเอาต์ ลากกระเป๋าออกจากห้องพัก ซึ่งเป็นไปตามกติกา ถ้าไม่พักต่อก็ต้องเช็กเอาต์ก่อนบ่ายสองโมง 

สัญญาณเริ่มได้ยิน "ล้มการประชุม" องค์ประชุมหลายคนจึงลากกระเป๋าออกจากโรงแรม บางคนอ้างจองตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว จองตั๋วรถทัวร์ไว้แล้วบ้าง

14.00 น.การประชุมช่วงบ่ายเริ่มขึ้น คนเริ่มโหรงเหรง เหลือครึ่งหนึ่ง จึงมีคนเสนอให้นับองค์ประชุม เป็นไปตามคาด 'ไม่ครบองค์ประชุม'

จริงๆ แล้ว การนับองค์ประชุม เป็นเกมที่ไม่ต้องการให้การประชุมเดินต่อไปได้ ซึ่งหมายถึงไม่สามารถเดินไปสู่การเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต่อได้นั่นเอง และถ้าดูผลการประชุมในช่วงเช้า ขั้วของเฉลิมชัย ที่ดันนราพัฒน์ ยังเป็นต่ออยู่ เกมล้มการประชุมด้วยการนับองค์ประชุมจึงถูกกำหนดขึ้น และบรรลุเป้าหมาย ยังมีเวลาอีก 1 เดือนในการล็อบบี้ 

งานนี้นักการเมืองหนุ่มขั้วเฉลิมชัยถึงกับส่ายหน้ากับเกมล้มการประชุมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ประเด็นเวลานี้คือ อลงกรณ์มีเหตุผลอะไรถึงถอนตัวจากการลงชิงหัวหน้าพรรค และไม่เข้าร่วมประชุม เกิดอะไรขึ้น 1 วันก่อนการประชุม เช่นเดียวกับ ดร.เอ้ ที่มาปฏิเสธในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ดูท่าทีดีใจที่ถูกผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามให้ลงชิงหัวหน้าพรรค แต่กลับมาตัดสินใจ และบอกกล่าวในนาทีสุดท้าย จนขั้วเฉลิมชัย เกือบพลิกตัวไม่ทัน ยังดีที่ไปคว้านราพัฒน์ไว้ได้ทัน

ชัดเจนครับว่า การประชุมครั้งหน้า ก็จะเริ่มต้นด้วยการเสนอชื่อผู้ที่จะลงชิงหัวหน้า ไม่ต้องมาหารือ หรือลงมติเรื่องอื่นกันให้เสียเวลาอีก แต่ 1 เดือนที่เหลือ น่าจะเป็นช่วงเวลาของการล็อบบี้-หาคะแนนกันอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายสนับสนุน 'นราพัฒน์ แก้วทอง' และฝ่ายสนับสนุน 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ'

ส.ว.สายโหวต ‘พิธา’ จี้ กกต. ส่งศาล รธน.สอบคุณสมบัติ หวั่น!! โหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง

รีบเลย!! ‘ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม’ ส.ว. ซึ่งมีชื่อว่าจะโหวตเลือก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับออกมาจี้ กกต. รีบส่ง #ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย คุณสมบัติ #พิธา โดยเร็ว ก่อน #โหวตนายก 13 ก.ค. กลัวต้องโหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง ยันที่ประชุมรัฐสภา สามารถเลื่อนการประชุมโหวตได้ 

พฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม จะเป็นวันนัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก้าวไกลจะเสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแกนนำบางคนออกมายืนยันแล้วว่า มีเสียงสมาชิกวุฒิสภาให้การสนับสนุนครบแล้ว ถ้าครบแล้ว หมายถึงได้รับการสนับสนุนจาก สว.แล้วไม่น้อยกว่า 66คน

ต้อง 66เสียง เพราะว่า พรรคก้าวไกลหายไป 1 คน จากเหตุเมาแล้วขับ และ กกต.ยังไม่รับรองในการเลื่อนลำดับถัดมา จึงยังไม่ได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่ง ส่วนอีกคน ต้องทำหน้าที่ประธาน จะงดออกเสียงหรือไม่

แต่ประเด็นมาถึงวันนี้ สว.บางคนที่เคยเอ่ยปากสนับสนุน ‘พิธา’ เริ่มลังเลในการโหวต กลัวว่าจะเป็นการรับรองคนผิดเข้าสู่ตำแหน่ง แล้วจะถูกเล่นงานตลบหลัง ส่วนคนที่ตั้งใจ มุ่งมั่นแล้วก็ว่ากันไป แต่จำนวนเท่าไหร่แน่ ไม่มีใครยืนยัน

วันนี้ กกต.นัดประชุมสรุปอีกรอบในการดำเนินการตามคำร้องของเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของพิธาว่าเข้าข่ายต้องห้ามหรือไม่กรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) ซึ่งเมื่อวานได้พิจารณาแล้ว แต่พรรคก้าวไกลทำหนังสือแย้งไปว่า กกต.ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือเรียกผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจง กกต.จึงเลื่อนมาพิจารณาต่อในวันนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top