Thursday, 2 May 2024
นายหัวไทร

เจ้ากระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ไฟเขียว!! ตั้ง ‘อารี ไกรนรา’ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ‘นายอารี ไกรนรา’ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

ศึกเลือกตั้ง ‘เมืองคอน’ ครั้งหน้าส่อแววระอุ หลัง ‘นายหัวสิทธิ์’ ซบ ‘รทสช.’ ชิงเก้าอี้ ส.ส.โซนชะอวด

นายหัวสิทธิ์ ประกาศแล้วเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.โซนชะอวด-จุฬาภรณ์ ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยประกาศเจตนารมณ์ออกมาแล้ว

พี่น้องครับเรามาร่วมกันตามหาโอกาสที่สูญเสียไป กันนะครับ

ผมขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกบนถนนสายการเมือง ที่อาสาเข้ามาทำงาน เพื่อการรับใช้ประชาชน ด้วยเจตนาและอุดมการณ์ สำนึกรักบ้านเกิด เกิดมาต้องแทนคุณแผ่นดิน

นายสิทธิรัก ทิพย์อักษร (นายหัวสิทธิ์) ผู้เสนอตัว ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(ส.ส.) พรรครวมไทยสร้างชาติ เขตอำเภอชะอวด อำเภอจุฬาภรณ์ และอำเภอไกล้เคียง (เนื่องจากการแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ) จังหวัดนครศรีธรรมราช

ลุ้น!! ‘ประยุทธ์’ สลายขั้วขัดแย้งได้จริงหรือ เมื่อ ‘คู่กัด’ เมืองหอยใหญ่โคจรมาอยู่พรรคเดียวกัน

คุยกันสนั่นลั่นสภากาแฟแถวปักษ์ใต้ ตั้งแต่ชุมพร ยันสงขลาว่ามันจะเป็นไปได้เหรอที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เปิดอกแบไต๋ออกมาแล้วว่าจะทิ้งพลังประชารัฐ และไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมกับการเปิดตัว ‘บิ๊กเนม’ อย่าง ‘ไตรรงค์ สุวรรณคีรี’, ‘กำนันศักดิ์-พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว’ นายก อบจ.สุราษฏร์ธานี และ ‘ชุมพล กาญจนะ’ อดีต ส.ส.สุราษฏร์ 7 สมัย และ ‘ชัช-เตาปูน’ หรือ ‘ชัชวาลย์ คงอุดม’ จากพรรคพลังท้องถิ่นไทย

คนอื่นไม่เท่าไหร่ แต่สำหรับ ‘กำนันศักดิ์’ กับ ‘ชุมพล กาญจนะ’ ที่แม้จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ อีกสมัย แต่ทั้งคู่ คือ ‘คู่กัด’ ที่โคจรมาอยู่ในพรรคเดียวกัน

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อปลายปี 2563 กำนันศักดิ์ ผู้สร้างฐานอำนาจมาจาก สจ.มากบารมีจากฟาร์มหอยแครง กับ ชุมพล ซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ในศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.สุราษฏร์ธานีนั้น จะพบว่าต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์มาสู้กันทุกรูปแบบ และท้ายที่สุด กำนันศักดิ์ เอาชนะ ชุมพล กาญจนะ ไปได้ ม้วนเดียวจบ แต่มิวายก็มีการยื่นคำร้องเรียน ว่าทีมงานกำนันศักดิ์ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จ่ายเงินทำบุญงานบวช แต่สุดท้าย กำนันศักดิ์ ก็สู้จนชนะในชั้นศาลอุทธรณ์และนั่งเป็นนายกฯ อบจ.สุราษฎร์ธานีจนถึงทุกวันนี้

'ชวน' แฉ!! ยุครัฐบาล 'ยิ่งลักษณ์' ปัดซ่อมแซมถนนภาคใต้ 'ชัชชาติ' ยังอาย!! ส่วนอธิบดีทางหลวง ไม่กล้าขัดกลัวเด้ง

อึ้ง!!! 'นายหัวชวน' แฉเอง นอกจากไม่ซ่อมถนนภาคใต้แล้ว สมัยรัฐบาลเพื่อไทย ยังขวางอีก 'ชัชชาติ' ยังอาย อธิบดีทางหลวง ไม่กล้าขัดกลัวโดนเด้ง

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษในเทปก่อนปีใหม่กับรายการตอบโจทย์ ตอน 'การเมืองไทย 2566 มองผ่านเลนส์ ชวน หลีกภัย' เกี่ยวกับฉายาที่ได้รับ และการทำหน้าที่ประธานสภา รวมถึงการวิเคราะห์บริบทการเมืองไทยที่เปลี่ยนไป ในตอนหนึ่งมีการกล่าวถึงปัญหาการดูแลถนนหนทางในภาคใต้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่า...

"ถ้าเล่าอาจจะไม่เชื่อว่า บางยุคเนี่ย นอกจากไม่ทำให้แล้ว ยังไม่ซ่อมถนนให้ ถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปัจจุบันดู สมัยเป็น รมว.คมนาคม ท่านดร.ชัชชาติ เนี่ย พวกผมเนี่ยไปพึ่งท่าน ขอให้ท่านไปช่วยตรวจถนนภาคใต้ให้หน่อย ท่านก็ไปให้ แต่ในที่สุดท่านก็ทำอะไรไม่ได้ ผมเคยถามท่านว่า ท่านครับถนนภาคใต้ว่าไง ท่านพ้นตำแหน่งมาแล้ว ท่านบอกผมเลยว่า อย่าพูดถึงเลยครับ ผมอายครับ"

‘นายหัวสิทธิ์’ เปิดตัวลงชิง ส.ส.โซน ‘ชะอวด-จุฬาภรณ์’ ท้าชน ‘อาญาสิทธิ์’ จาก พปชร. คนที่ตนเองเคยหนุน

ได้เจอกับนายสิทธิรัก ทิพย์อักษร หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม ‘ นายหัวสิทธิ์’ ในวันที่ผมลงไปปลูกป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งนายหัวสิทธิ์เป็นคนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนโครงการ ‘หิ้วชั้น แบกจอบ ไปปลูกจาก’ และร่วมกิจกรรมปลูกจากจนจบสิ้น

นายหัวสิทธิ์ ถ้ามองจากภาพลักษณ์ภายนอก เขาน่าจะคือชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ไว้ผมยาว ไว้หนวด ไว้เครา ไม่พิถีพิถันกับการแต่งตัว แต่ลึก ๆ แล้ว นายหัวสิทธิ์ เขาเป็นนักธุรกิจในวงการอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างครบวงจรรายใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ เมื่อธุรกิจลงตัว เขาย้อนกลับมาดูแลบ้านเกิด มองเห็นปัญหามากมาย เขาจึงไม่นิ่งนอนใจ ด้วยการเริ่มต้นก่อตั้ง ‘ชมรมสำนึกรักษ์บ้านเกิด’ ไฟไหม้ น้ำท่วม โควิด ทุนการศึกษา ส่งเสริมกิจกรรมกีฬา เป็นภารกิจที่เข้าทำ และยังมีอีกมากมาย

นายหัวสิทธิ์ เปิดเผยกับ #นายหัวไทร ว่า ชมรมสำนึกรักษ์บ้านเกิด มีภารกิจในการอนุรักษ์ป่า ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ช่วยเหลือเกษตรกร ชาวบ้าน ทุกปัญหาเราไม่ได้นิ่งเฉย ต้องยื่นมือเข้าไปช่วย นอกเหนือจากการช่วยเหลือจากภาครัฐ เราเป็นส่วนของชาวบ้านจับมือกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน ที่ผ่านมาก็ทำหลายอย่าง น้ำท่วม ไฟไหม้ โควิดระบาด การส่งเสริมการเล่นกีฬา

“เราทำมาหลากหลายมาก ส่งเสริมคนดีให้มีความก้าวหน้า เยาวชนเราก็ให้ทุนการศึกษา ผมไม่ได้ถือว่าชะอวดคือบ้านเกิด แต่บ้านเกิดผมคือประเทศไทย ตรงไหนเดือดร้อนผมก็เข้าไปช่วยเหลือ”

นายหัวสิทธิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เพิ่งไปสร้างโรงเรียน ตชด.ที่เชียงใหม่ด้วยทุนส่วนตัวเกือบสองล้านบาท ใครเดือดร้อนอะไร เราก็จะมาพิจารณาเพื่อให้การช่วยเหลือ

นายหัวสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่คิดว่าจะทำแต่ยังไม่ได้ทำยังมีอีกมาก สรรหามาเป็นคำพูดยาก 

“ผมอยากสร้างความสุขให้กับตัวผมเอง อยากมีความสุขมาก ๆ ตอนนี้ก็มีความสุขระดับหนึ่ง แต่อยากเห็นคนอื่นมีความสุขด้วย ผมจะมีความสุขมาก ๆ ถ้าเห็นพี่น้องของผมมีความสุข”

สิทธิรัก กล่าวอีกว่า ภารกิจต่อไปที่ตั้งใจจะทำ คือการเป็นตัวแทนของชาวชะอวดในภาคการเมือง “ที่ผ่านมาผมก็ช่วยเหลือทุกคน แต่ไม่ได้ดั่งใจเท่าที่ควร จึงปรึกษาหารือกับทีมงาน และตัดสินใจลงสมัครเอง”

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สิทธิรัก ให้การสนับสนุน อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ในการเลือกตั้งซ่อม และอาญาสิทธิ์ ก็ชนะการเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ ส่วนสิทธิรัก เสนอตัวลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ รอ มติจากพรรค แต่ไม่น่ามีปัญหา จะสับหลีกกันกับพงศ์สิน เสนพงศ์

กล่าวสำหรับเขตเลือกตั้งในโซนชะอวด จุฬาภรณ์ เฉลิมพระเกียรติ จุฬาภรณ์ พระพรหม มีอาญาสิทธิ์ เป็น ส.ส.อยู่ ในนามพรรคพลังประชารัฐ คู่แข่งที่ปรากฏตัวชัดแล้ว มี ‘ณัฐกิตติ์ หนูรอด’ จากพรรคภูมิใจไทย ที่เวลานี้ถือว่าเป็นคู่แข่งเต็งหนึ่งอยู่ มีสิทธิรัก ทิพย์อักษร จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และถ้าแบ่งเขตชัดเจนแล้ว ร่อนพิบูลย์บางส่วนมาอยู่เขตนี้ด้วย ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ ส.ส.ประชาธิปัตย์ อาจจะมาลงเขตนี้ด้วย ให้ยุทธการ รัตนมาศ ไปลงโซนหัวไทร-เชียรใหญ่

กระจายอำนาจท้องถิ่นในแบบ ‘ปชป.’ ยืนหยัด ต้องให้จังหวัดจัดการตนเอง

ประชาธิปัตย์กับการกระจายอำนาจ ; จังหวัดจัดการตนเอง

ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาเจตนารมณ์ อุดมการณ์ ตั้งแต่ต้นของพรรคประชาธิปัตย์ โดย 'ควง อภัยวงค์' ผู้ก่อตั้งพรรค จะพบเจตนารมณ์ 10 ข้อ ที่ประกาศต่อสาธารณะ และถือเป็นเจตนารมณ์-อุดมการณ์ ที่ยังทันสมัย และใช้ได้ หนึ่งในนั้น คือเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการในระดับพื้นที่ที่เล็กลงไป โดยยึดถือหลักว่า คนในพื้นที่คือคนที่รู้ปัญหา รู้ความต้องการของประชาชนมากที่สุด รู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรที่จะมาบริหารจัดการ ให้บริการสาธารณะอย่างไร

แต่เจตนารมณ์-อุดมการณ์ ประชาธิปัตย์ เดินผ่านช่วงเวลามาร่วม 70 ปี บางอย่างสำเร็จแล้ว บางอย่างอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และยังจะเดินหน้าให้เกิดการกระจายอำนาจเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่ปัญหาใหญ่คือ 'ห่วงอำนาจ' รัฐบาลกลางยังไม่จริงจัง จริงใจกับการกนะจายอำนาจ เพราะกลับ 'สูญเสียอำนาจ' โดยเฉพาะกระทรวงใหม่ สายอำมาตย์ อย่างกระทรวงมหาดไทย ยังกวดอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อย

นี้คืออุปสรรคใหญ่ของการกระจายอำนาจ ในยุคที่ 'นิพนธ์ บุญญามณี' เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และถือว่าเป็นผู้รู้เรื่องกระจายอำนาจ รู้เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุดคนหนึ่ง ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้กำกับ-ดูแล กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐมนตรีว่าการฯกอดอำนาจไว้แน่น

ผลักให้นิพนธ์ไปดูกรมที่ดิน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย แต่คำว่านักการเมือง ไม่ว่าอยู่ตรงไหนก็สามารถคิดงานคิดการขึ้นมาได้ 'นิพนธ์' จึงเป็นที่ยอมรับในผลงานในช่วงสามปีกว่า ๆ ในกระทรวงมหาดไทย

หากย้อนกลับไปดูเรื่องการ กระจายอำนาจจะพบผลงานมากมายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากเดิมที่บริหาร-ดูแล โดยกำนัน เป็นนายกฯอบต.โดยตำแหน่ง ทำงานทั้งการพัฒนา และความสงบเรียบร้อย แม้ช่วงแรก ๆ จะมีอุปสรรค มีปัญหา มีข้อครหา แต่เวลาผ่านพ้นไป จะเป็นบทพิสูจน์ และกลั่นกรองคนเข้าสู่ระบบผ่านการเลือกตั้ง วันนี้ อบต.เริ่มก้าวข้ามคำว่า ผู้บริหารมาจากผู้รับเหมา มาจากผู้มีอิทธิพล เริ่มมีคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง กลับบ้านไปรับใช้บ้านเกิดมากขึ้น เกิดโครงการ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย แต่คำว่า อบต.ก็ยังต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนต่อไปอีกมาก เพื่อก้าวผ่านข้อครหา 'กินหัวคิว-กินเปอร์เซ็นต์' ไปให้ได้ แล้วเราจะเห็นแสงสว่างสดใสมากขึ้น รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นเข้มแข็ง 

การยกฐานะสุขาภิบาลมาเป็นเทศบาลทั่วประเทศ การให้นายกฯอบจ.มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน แทนที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวกสองใบ หรือให้สมาชิกซาวเสียงกันเองเลือกนายกฯอบจ.

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นผลงานการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดให้ผู้ว่าฯต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีสภาฯกทม.(สก.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาเขต (สข.)เป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขต ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯมาแล้วหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น 'อภิรักษ์ โกษะโยธิน' หรือ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาธิปัตย์ โดย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะพ่ายให้กับ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' แต่คะแนนก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ไล่มาอยู่ลำดับ 2 

ถามว่าการจายอำนาจจะเดินไปถึงจุดไหน พรรคการเมืองบางพรรค อย่างพรรคก้าวไกล เสนอแบบสุดขั้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกเลิกนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคด้วย พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเสนอเป็นนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชจังหวัดทุกจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่มาคราวนี้น่าจะเสนอในรูปแบบของ 'จังหวัดจัดการตนเอง' จังหวัดไหนพร้อมก็ยกฐานะขึ้นมา เช่น ภูเก็ต-เมืองท่องเที่ยว เหมือนกับพัทยา และเชียงใหม่-น่าน สมุทรปราการ เมืองอุตสาหกรรม-เมืองการบิน ระยอง-เมืองอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น เป็นการทดลองการจัดการตนเอง อันเป็นแนวคิดค่อยเป็นค่อยไป

การเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิด 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' ก็ยังแค่เสนอให้ลดจำนวนกระทรวง ทบวง กรม ลง ส่วนเพิ่มอำนาจประชาชนจะทำอย่างไร ยังอธิบายไม่ชัด

ก้าวไกลเสนอเลือกตั้งนายกจังหวัด (26 พ.ย. 65)
เพื่อไทยเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในทุกจังหวัดที่พร้อม (6 ธ.ค. 65)
รูปธรรมกว่านั้นคือ ในปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้ากระจายอำนาจจากโรงพยาบาลของรัฐไปยังท้องถิ่นในรูปแบบองค์การมหาชน หรือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ ส่วนก้าวไกลมีนโยบายจัดทำประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 4 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ส่วนกลางต้องแบ่งสรรให้ท้องถิ่นจากไม่เกิน 30% เป็นไม่น้อยกว่า 35% เป็นต้น

น่าเสียดายพรรคพลังท้องถิ่นไทย มี ส.ส.ในสภา มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น มี ส.ส.ที่มาจากการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนจริงจังกับการกระจายอำนาจ

นึกย้อนไปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 13 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ตอนนั้นมีอย่างน้อย 4 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังธรรม, พรรคความหวังใหม่ และพรรคเอกภาพ ส่วนหนึ่งเสนอในเชิงยุทธการวิธีหาเสียง เพราะเชื่อว่าประชาชนจะให้การสนับสนุน ทว่า เมื่อทั้ง 4 พรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว นโยบายนี้ก็หายไปจากนโยบายของรัฐบาล โดยพรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคความหวังใหม่เห็นว่านั่นเป็นเพียงนโยบายพรรคการเมือง ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปี 2563 มาจนถึงกลางปี 2565 ไล่ตั้งแต่ อบจ. เทศบาล อบต. มาจนถึงเมืองพัทยา และ กทม. ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเชิงของการพัฒนาพื้นที่ได้ ใช่ว่าผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้ไม่มีศักยภาพ แต่เป็นเพราะบทบาทอำนาจท้องถิ่นมีจำกัด งานสำคัญๆ ยังคงถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง แม้แต่ กทม.เองที่ได้ชื่อว่าเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษก็ยังทำอะไรได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอื่น ถ้าเห็นว่าประชาชนเริ่มตระหนักและเข้าใจถึงปัญหากันมากขึ้น การกระจายอำนาจกลายเป็นประเด็นที่ขายได้ และมีคนพร้อมซื้อ พรรคการเมืองจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแสดงท่าทีของตนออกมา ซึ่งต้องตรงไปตรงมากว่าการเลือกตั้งหนก่อน

‘เจะอามิง’ ความหวังของ ‘ประชาธิปัตย์’ กับภารกิจทวงคืนเก้าอี้ ส.ส. ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นอีกสนามที่พรรคการเมืองใหญ่หวังแจ้งเกิด หรือรักษาฐาน ขยายฐานของพรรค แน่นอนว่า จะเป็นการสับประยุทธ์กัน 4-5 พรรค ทั้งประชาชาติ (เจ้าถิ่น) ประชาธิปัตย์ อดีตเจ้าถิ่นที่หวังกลับมายึดฐานที่มั่นคืน พรรคพลังประชารัฐ ที่คราวที่แล้ว แจ้งเกิดไปหลายท่าน พรรคภูมิใจไทย ที่หวังจะขยายฐานมากขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

กล่าวถึงประชาธิปัตย์ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรค ลงไปคุมพื้นที่ด้วยตัวเอง พร้อมกับการคัดเลือกตัวผู้สมัคร และจัดกิจกรรมในพื้นที่ถี่ยิบ ด้วยความหวังว่า จาก 12 ที่นั่ง จะต้องได้กลับคืนมาอย่างสมน้ำสมเนื้อ ด้วยนโยบายที่ประกาศไปแล้ว ทั้งเรื่องให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคลังอาหาร การช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานร้านอาหารต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย และการเอาใจใส่ดูแลพี่น้องชาวประมงกับอีกหลากหลายปัญหาที่ยังต้องเจอ

สำหรับนราธิวาสเป็นอีกสนามเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์หมายมั่นปั้นมือว่า จะต้องกลับมายึดพื้นที่คืน ดึง ‘เจะอามิง โตะตาหยง’ อดีต ส.ส.5 สมัย กลับมาอยู่บ้านหลังเดิม ที่มั่นคง คราวที่แล้วไม่ได้ลงสนามเลือกตั้ง หลีกทางให้ลูกชาย อาจารย์ เจ๊ะ อิลย๊าส โตะตาหยง ที่ไปลงกับพรรคลุงกำนัน ‘รวมพลังประชาชาติไทย’ หรือพรรครวมพลังในปัจจุบัน แต่เลือกตั้งครั้งหน้า ‘นิพนธ์’ ดึง เจะอามิง กลับมาเข้าค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม  

พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาผงาดในจังหวัดนราธิวาสได้อีกครั้ง แต่ไม่ควรมองข้ามคู่ต่อสู้ที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน ทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคสร้างอนาคตไทย และพรรคภูมิใจไทย

‘พึ่งได้ ใกล้ชิด ติดดิน’ ตามหลักยึด ของ ‘เจะอามิง โตะตาหยง’ เข็มทิศทางความคิดที่มุ่งมั่นขันอาสาทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนพรรคประชาธิปัตย์นราธิวาส เขต 5 เดินหน้าต่อไป ในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างความมั่นคง ด้วยผลงาน ‘โฉนดชุมชน’ และจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดิน เพื่อพี่น้องชายแดนใต้มีที่ทำกิน ที่อยู่และสร้างอาชีพ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอ รือเสาะ ศรีสาคร บาเจาะ ยี่งอ สุคิรินทร์ จะแนะ ระแงะ สุไหงปาดี มีเอกสิทธิ์ที่เป็นโฉนดที่ดิน เป็นของตนเอง และผลงานสำคัญด้านการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่นเข้มแข็ง ทำได้ไว ทำได้จริง

‘เจะอามิง โตะตาหยง’ กล่าวถึงนโยบาย และแนวทางในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง คือพูดถึงนโยบายที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง พูดถึงในแง่การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ราคายางพารา ทำให้ภาพรวมความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น ก็เป็นที่พอใจของประชาชน เงินผู้สูงอายุที่ได้กันทุกคนทุกครัวเรือน นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านพอใจ เงิน อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) เข้าโรงพยาบาลรักษาโรคฟรีก็เป็นที่พอใจของชาวบ้าน

มีคำถามว่า ต่อไปว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์จะยังคงนโยบายเหล่านี้ไว้หรือไม่ ‘เจะอามิง’ ย้ำว่า เป็นแนวนโยบายที่ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะเดินหน้าต่อ เป็นการสานต่อนโยบายหลักของพรรค

ส่วนมิติการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจะอามิง บอกว่า ได้พยายามสื่อสารกับชาวบ้านว่า ณ วันนี้ รัฐบาลได้แสดงความตั้งใจและจริงใจโดยการออกกฎหมาย ศอ.บต.(พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553) ซึ่งประชาชนยังไม่ทราบว่า มีแนวนโยบายอย่างไรบ้าง ประชาชนยังไม่ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้

แต่เดิม การแก้ปัญหาที่ผ่านมา ที่ไม่ได้ผลส่วนหนึ่งมาจากความไม่เป็นเอกภาพของระบบราชการ วันนี้พอออกกฎหมายฉบับนี้ ทุกหน่วยงานต้องมาอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้หน่วยงานราชการเกิดเอกภาพ ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเดิมต่างคนต่างทำ ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถเดินหน้าไปได้เท่าที่ควร

“ความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือนายกรัฐมนตรีจะเข้ามาดูแลโดยตรง และมีรัฐมนตรีดูแลอีกหนึ่งคน ไม่สังกัดกระทรวงมหาดไทยแต่จะขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง สาระสำคัญคือ ชาวบ้านสามารถชี้แนวทางการแก้ปัญหาผ่านสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.(หมายถึง สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) แนวทางต่าง ๆ ไม่ว่า ด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ ศาสนา”

ส่วนในกรณีที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนสามารถร้องเรียนไปยังเลขาธิการ ศอ.บต. ถ้ามีมูลความผิดจริง เลขาธิการ ศอ.บต.ก็สามารถสั่งย้ายได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการลดเงื่อนไขต่อประชาชน

มิติการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจะอามิง กล่าวว่า เราจะขับเคลื่อนงบประมาณค้างท่อ ที่เคยสะท้อนติดตาม ขับเคลื่อน ในกระบวนการ สภาผู้แทนราษฎร จนได้รับการแก้ไข จากรัฐบาลจนสำเร็จ เช่น ที่ผ่านมา ถนนสาย ยะลา – สี่แยกดอนยาง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเดิมเป็นเงินค้างท่อ สร้างไม่เสร็จ เราจึงได้ลบล้างข้อครหาที่ว่า งบลงมาแล้วแต่ไม่ดำเนินการอะไรเลย เราดำเนินการจนสร้างเสร็จในสมัยรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ ถนนสายสี่แยกตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา – ปาลอบาต๊ะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส หรือ ถนนสาย 4066 ก็เกิดจากเงินค้างท่อ ซึ่งสร้างจนเสร็จอีกเส้นทางหนึ่ง

เจะอามิง กล่าวอีกว่า ในจังหวัดนราธิวาสเราได้พัฒนาสนามบินบ้านทอนให้เป็นสนามบินระดับนานาชาติ เพื่อรองรับชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะใช้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยรัฐบาลอภิสิทธ์ ฯ ได้จัดสรรงบประมาณขยายรันเวย์เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน ทำให้สามารถรองรับเครื่องบินบินตรงไปยังประเทศซาอุดิอาราเบีย ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ในส่วนของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เดิมมีแค่ป้าย แต่นักศึกษาไปฝากตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขอนแก่นบ้าง เชียงใหม่บ้าง กรุงเทพบ้าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บ้าง พอเรียนจบก็จะมาสวมชุดครุยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ตอนนี้รัฐบาล สมัยอภิสิทธิ์ ฯ ได้ให้งบไทยเข้มแข็งเกือบพันล้าน เพื่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สามารถรับนักศึกษา เรียนที่สถาบัน ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ตอนนี้ ยกระดับมาเป็นโรงพยาบาลศูนย์แล้ว นี่เป็นผลงานรัฐบาลอภิสิทธิ์เช่นกัน

ในด้านเยาวชน รัฐบาลได้ให้งบพัฒนาการกีฬา โดยทุ่มงบกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพัน สร้างสนามฟุตบอลในจังหวัดนราธิวาส ให้เป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนในจังหวัดยะลา รัฐได้ให้งบสร้างสนามบินเบตง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งได้เปิดให้บริการไปแล้ว เพื่อให้ผู้คนหลั่งไหลไปเที่ยว เบตง แล้วจะเป็นจุดขายต่อไป

- นโยบายทางด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแม้ที่ผ่านมาอาจจะดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แนวทางการแก้ปัญหาตราบใดที่ยังมีการสูญเสียของประชาชน ก็ยังไม่แฮปปี้ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ มีหลายขั้นตอนหลายเงื่อนไข การแก้ไขนับตั้งแต่นี้ไป ต้องแก้ไขในแต่ละเงื่อนไข แก้ปมไปทีละปม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

“ขอยืนยันว่า แนวทางการเมืองนำการทหารบวกกับการพัฒนา สร้างอาชีพ อย่างมั่นคงในอนาคตที่ดี แต่ความสำเร็จทั้งหลายมันต้องอยู่บนพื้นฐานกลไกของรัฐ คนที่รับผิดชอบต้องตั้งใจและจริงใจในการแก้ปัญหา”

‘ภูมิใจไทย’ ปรับเป้า ขอกวาด 5 ส.ส. เมืองคอน หลัง ‘อารี’ เดินสายถี่ยิบ ทำกระแสเริ่มมาแรง

‘อารี ไกรนารา’ นำทีมผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย เดินหน้าเต็มสูบ พบปะประชาชนวันละหลายจุด หลัง กก.บริหารพรรคตั้งเป้าหมายชนะเลือกตั้งเพิ่มเป็น 5 เขต ยืนยันคะแนนนิยมดีวันดีคืน

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค. 66) ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้านโคกเลา หมู่ 6 ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช นายอารี ไกรนรา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หัวหน้าทีมเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทีมงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ของนายณัฐกิตติ์ หนูรอด ว่าที่ผู้สมัคร โซนชะอวด-จุฬาภรณ์ ร่วมกันจัดกิจกรรม 'เหลียวหน้าแลหลัง พัฒนาบ้านเรา' เปิดตัวนายณัฐกิตติ์ หนูรอด ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.โซนนี้ของพรรคภูมิใจไทย จ.นครศรีธรรมราช โดยเชิญนายไพฑูรย์ อินทศิลา ผู้สื่อข่าวอาวุโส จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะที่เป็นคน ต.เคร็ง โดยกำเนิด มาร่วมปราศรัยทำความเข้าใจในกฎระเบียบการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นช่วงกลางปี 2566 มีประชาชนในพื้นที่หมู่ 6 ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช กว่า 200 คนเดินทางมาร่วมกิจกรรมและรับฟังการปราศรัยในแนวนโยบายของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป 

ในขณะที่พื้นที่ อ.ชะอวด และ ต.เคร็ง ประกาศชัดเจนที่จะสร้าง ส.ส.ของคนพื้นที่เขตป่าพรุควนเคร็งด้วยกันเอง โดยการเลือกนายณัฐกิตติ์ หนูรอด จากพรรคภูมิใจไทยที่เป็นคน ต.เคร็ง อ.ชะอวด โดยกำเนิด และในวันเดียวกันนี้ได้มีการเปิดเวที 'เหลียวหน้าแลหลัง พัฒนาบ้านเรา' ในพื้นที่บ้านเสม็ดงาม หมู่ 8 ต.เคร็ง อ.ชะอวด อีกด้วยและมีประชาชนมาร่วมกิจกรรมกว่า 200 คนเช่นเดียวกัน

นายอารี ไกรนรา กล่าวว่า ตนได้ตัดสินใจลาออกจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อชาติและย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยได้รับความไว้วางใจจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้รับผิดชอบพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ทั้ง 9 เขตเลือกตั้ง และจากการลงพื้นที่พบปะประชาชนในพื้นที่ทั้ง 9 เขตเลือกตั้ง พบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีกระแสดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะนายณัฐกิตติ์ หนูรอด ว่าที่ผู้สมัคร เขต อ.ชะอวด ,จุฬาภรณ์ และบางส่วน อ.ร่อนพิบูลย์ 

ล่าสุดพรรคภูมิใจไทยได้จัดประชุมว่าที่ผู้สมัครในภาคใต้ และสรุปว่าพรรคภูมิใจไทยมีโอกาสสูงที่จะชนะการเลือกตั้ง และบางจังหวัดมั่นใจว่าพรรคภูมิใจไทยจะชนะยกจังหวัด สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคตั้งเป้าว่าจะชนะการเลือกตั้ง 3 เขต แต่หลังจากที่มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครและตนลงพบปะประชาชนทั่วจังหวัดต่อเนื่องกว่า 1 เดือน และทางพรรคได้ทำโพลสำรวจพบว่าโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งมากถึง 6-7 เขต ทางผู้หลักผู้ใหญ่และคณะกรรมการพรรคจึงปรับการตั้งเป้าหมายที่จะชนะการเลือกตั้งเป็น 5 เขตจาก 9 เขตเลือกตั้ง

‘ประชาธิปัตย์’ ชู นโยบายเป็นไปได้ - ทำได้จริง สู่หมุดหมายทวงคืนเก้าอี้ 3 จ.ชายแดนใต้

ประชาธิปัตย์กับสามจังหวัดชายแดนใต้ นโยบายที่เป็นไปได้ ทำได้จริง ไม่วาดฝันแค่ช่วงเลือกตั้ง

‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องย้ำหลายครั้งถึงความอุดมสมบูรณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแต่มีปัญหาความไม่สงเรียบร้อย จึงต้องการให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคลังอาหารของภาคใต้ นอกจากภาคพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์แล้ว มีสองจังหวัดที่ติดทะเล คือปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งทางทะเลก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน และยังมีเป้าหมายในการ ‘สร้างสันติภาพให้เกิดสันติสุข’

การเลือกตั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อย มีเพียงครั้งที่ผ่านมา ที่สูญเสียที่นั่งส่วนใหญ่ไป ได้มาเพียงคนเดียว คือ ‘อันวาร์ สาและ’ จังหวัดปัตตานี โดยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามี ส.ส.ได้ 11 คน พรรคประชาชาติได้ไป 6 คน พรรคพลังประชารัฐ 3 คน ประชาธิปัตย์ 1 คน และภูมิใจไทย 1 คน การเลือกตั้งครั้งหน้ามี ส.ส.เพิ่มมา 1 คน เป็น 12 คน ยะลา 3 ปัตตานี 4 และนราธิวาสเพิ่มมา 1 คน เป็น 5 คน

สำหรับ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ นอกจากจะมีนโยบายใหม่ เช่น ‘สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ’ โดยภาพรวมแล้ว ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ หัวหน้าพรรค ยังเลือกที่จะใช้นโยบายเดิมที่เป็นนโยบายซึ่งทำได้จริงที่เคยประสบความสำเร็จ และเสริมนโยบายใหม่ ๆ ทันสมัย และทำได้จริงเข้าไปและถึงมือประชาชนจริง เช่น นโยบายการประกันรายได้ผลผลิตการเกษตรของเกษตรกร และจะขยายขอบเขตของการประกันรายได้ไปสู่อาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย

‘ประชาธิปัตย์’ เป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนและต่อเนื่อง ไม่ใช่มีนโยบายเฉพาะกิจในช่วงหาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง หวือหวาในช่วงหาเสียง แต่ยังไม่รู้ว่าทำได้จริงหรือไม่ เอางบประมาณมาจากไหน แต่เป็นนโยบายที่วางเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดี เช่น โครงการนมโรงเรียน โครงการอาหารกลางวัน เงินกู้ กยศ. และอีกหลายโครงการที่แยกย่อยลงมาในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อครั้งที่คนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเป็นรัฐมนตรี

หรือโครงการ อสม. เงินผู้สูงอายุ ยกระดับสถานีอนามัย 10,000 แห่งให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ รพ.สต. เมื่อครั้งที่ ‘จุรินทร์’ คนของประชาธิปัตย์เป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข

ประชาธิปัตย์ก้าวย่างเข้าไปในกระทรวงไหน ก็จะเข้าไปเป็นผู้วางรากฐาน ที่เป็นนโยบาย เพื่อให้เกิดความมั่นคงที่คนของพรรคการเมืองอื่น เมื่อเข้าไปเป็นเจ้ากระทรวงจะได้สานต่อทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น เพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม. และเพิ่มเงินผู้สูงอายุ และอื่น ๆ ที่ ‘ประชาธิปัตย์’ เป็นผู้ทำเอาไว้ และไม่มีโครงการไหนที่ประชาธิปัตย์ทำไว้แล้วถูกยกเลิก

นโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ในการเลือกตั้งสมัยที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์มี ส.ส.เพียงคนเดียวใน จ.ปัตตานี กับอีก 3 คนของ จ.สงขลา แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ละเลยในการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องของความยากจนของคนใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมกับเดินหน้าสรรหาคนเลือดใหม่เข้ามาเสริมทัพให้แข็งแกร่งขึ้น จะต้องมี ส.ส.ทุกจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

‘ศุภชัย’ มองเกม ‘ก้าวไกล’ ค้านย้าย ‘หมอสภัทร’ เข้าตำรา ‘น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า’ ของคนพวกเดียวกัน

‘ศุภชัย ใจสมุทร’ ตั้งข้อสังเกต ‘ก้าวไกล’ ออกตัวคัดค้าน ย้าย ‘หมอสุภัทร’ เข้าตำรา น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ชี้ โยกย้ายข้าราชการโดยไม่กลั่นแกล้งถือเป็นเรื่องปกติ

กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งย้ายนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ จากผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ประธานชมรมแพทย์ชนบทไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งไม่ห่างไกลกันมากนัก

ต้องยอมรับความจริงว่า ในช่วงที่นายแพทย์สุภัทร นั่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ได้ปรับปรุงระบบบริการ การบริหารจัดการโรงพยาบาลจะนะไปมากจนเป็นที่พอใจของประชาชน

อีกบริบทหนึ่งของนายแพทย์สุภัทร คือการขับเคลื่อนทางสังคมในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ ที่มีเยาวชนกลุ่มรักษ์บ้านเกิดจะนะ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการคัดค้าน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การผลักดันของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อให้เกิดเมืองต้นแบบของเหลี่ยมเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ เป็นหนึ่งในสี่ของเมืองเหลี่ยมเศรษฐกิจ

ถ้านิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะเกิดขึ้นจริง จะเกิดการลงทุนหลายแสนล้าน เกิดการจ้างงานหลายหมื่นอัตรา จะเกิดท่าเรือ ภายใต้การลงทุนของภาคเอกชน

แต่เมื่อมีกลุ่มคัดค้าน ทางภาครัฐก็ต้องรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน ทำให้โครงการนี้ยังชะลออยู่ โดยอยู่ระหว่างการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (SEA) โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2565 สศช.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการจัดทำ SEA แผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี วงเงินค่าจ้าง 28.22 ล้านบาท 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเริ่มต้นศึกษา SEA แผนแม่บทฯดังกล่าว ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 โดยใช้เวลาศึกษานาน 18 เดือน หรือแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567 ขณะที่การจัดทำ SEA ครั้งนี้ จะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรวม 40 เวที และมีผู้เข้าร่วมฯไม่น้อยกว่า 3,000 คน แบ่งเป็นปี 2566 จำนวน 32 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,100 คน และปี 2567 จำนวน 8 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 900 คน 

'สภาพัฒน์ฯ' พยายามที่จะให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทในครั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้ง และความซ้ำซ้อนในการทำงานลง เบื้องหากแผ่นแม่บทการพัฒนาพื้นที่สงขลา และ ปัตตานีแล้วเสร็จ จะมีการคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้สภาพัฒน์ฯคาดกการณ์ว่า หากแผนออกมาแล้วจะเกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

สภาพัฒน์ใช้คำว่า แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่สงขลา-ปัตตานี เข้าใจได้ว่ายังไม่เลือกพื้นที่ แต่ประชาชนทั่วไปรับรู้กันหมดแล้วว่า จะเกิดขึ้นในสามตำบลของอำเภอจะนะ ย่านตำบลตลิ่งชัน ต.สะกอม นั่นแหละ

‘ก้าวไกล’ ขวางย้าย ‘หมอสุภัทร’ 

โดย 'ก้าวไกล' ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วย ปมย้าย 'หมอสุภัทร' พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ทบทวนคำสั่ง

โดยแถลงการณ์ระบุว่า พรรคก้าวไกลขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว และขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการโยกย้ายด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากนายแพทย์สุภัทรเป็นข้าราชการที่ทำงานเป็นปากเสียงแทนประชาชน มีความกล้าหาญในการแสดงความเห็นคัดค้านผู้มีอำนาจ และเปิดเผยข้อมูลสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนคำสั่งดังกล่าวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชน

ด้านนายแพทย์สุภัทร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุตอนหนึ่งว่า ปี 2563 ผมรับภารกิจเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทอีกตำแหน่งหนึ่ง ทำหน้าที่ทักท้วงเสนอแนะเรื่องราวใน สธ. อาทิ การไม่เห็นด้วยต่อนโยบายกัญชาเสรี การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การบริหารจัดการโควิดและวัคซีน การไม่ลงนามงบส่งเสริมป้องกันปี 2566 หรือ การซื้อ ATK ที่มีข้อสงสัย สิ่งเหล่านี้สร้างความหงุดหงิดต่อใครบางคน จนนำมาสู่คำสั่งให้ย้ายผมให้ได้ก่อนยุบสภา

จริง ๆ การจะย้ายผมไม่ยากเลย เพียงแค่ปลัดกระทรวงสั่งย้ายตามอำนาจที่ท่านมี (แต่ต้องมีเหตุมีผลด้วยนะ) แต่เพราะตำแหน่งผมเป็นตำแหน่งวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ไม่มีเกณฑ์ที่ต้องถูกย้ายตามวาระ เหตุความผิดที่ต้องถูกย้ายก็ไม่มี ผมเองก็ไม่ได้สมัครใจย้าย ปลัดกระทรวงจึงไม่กล้าเซ็นเอง เพราะกลัวผิดกฎหมายอาญา ม. 157 ก็เลยต้องมีการสั่งการให้ผู้ตรวจราชการเป็นคนเซ็น ใครลงนามจะได้เลื่อนชั้นรวดเร็ว เรื่องราวจึงโกลาหล

เมื่อการโยกย้ายนายแพทย์สุภัทร มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง พรรคก้าวไกลคัดค้านเรียกร้องให้ทบทวน เจ้าตัวก็ไม่เต็มใจ แต่อาชีพรับราชการการโยกย้ายถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งแห่งหนใดก็สามารถแสดงความคิดเห็น จุดยืนได้อยู่แล้ว นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย จึงออกมาตั้งข้อสังเกตผ่านโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Suphachai  Jaismut) ว่า 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top