คลี่สถานการณ์ 'ประชาธิปัตย์' ในจังหวะคลุมเครือ ยังเหลือโอกาสให้คงไว้ซึ่งสถาบันทางการเมืองอยู่

เงียบไปเลยสำหรับประชาธิปัตย์ จะจัดการกับปัญหาภายในพรรคอย่างไร เห็นตอบแรกๆ ดูขึงขัง เอาจริงเอาจัง หรือว่า "เขามีอะไรกันแล้ว"

ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์หลักๆ มีอยู่ 2-3 ประเด็น...

- ประเด็นแรกคือจะมีการประชุมใหญ่ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อไหร่ แทนชุดเก่าที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่พ่ายแพ้ยับเยิน หลังจากนัดประชุมกันมาสองรอบ แต่องค์ประชุมล่มทั้งสองครั้ง ซึ่งเป็นการล่มแบบ 'ผิดปกติ' มีการจัดการทำให้ล่ม

- ประเด็นที่สองคือ จะจัดการกับปัญหา สส.จำนวนหนึ่ง 16 คน ยกมือสวนมติพรรค ไปยกมือสนับสนุน 'เศรษฐา ทวีสิน' จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่มติพรรคให้ 'งดออกเสียง' มีการนินทากันว่า การโหวตสวนมติพรรค เป็นเกมเดินไปสู่การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เกมการเดินไปสู่การร่วมรัฐบาล ถูกกำหนดโดยทีม 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' เลขาธิการพรรค, เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของ สส.บางกลุ่มก้อน กลุ่มหนึ่งมาจากสายของเดชอิศม์ อีกกลุ่มหนึ่งมาจากสายชัยชนะ เดชเดโช อีกกลุ่มมาจากสายเฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่เป็นการเลือกทางเดินที่ผิดพลาด เพราะพรรคเพื่อไทย แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้ชายตามองมายังประชาธิปัตย์เลยแม้แต่น้อย แต่ สส.กลุ่มนี้ภายใต้การกุมทิศทางของ 'เฉลิมชัย-เดชอิศม์-แทน' ก็หวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้ร่วมรัฐบาล

สาทิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออก ยื่นหนังสือเป็นทางการถึงจุรินทร์ ให้ตั้งกรรมการสอบ 16 สส.ที่แหกมติพรรค แต่ 'เงียบกริบ' ไม่มีข่าวคราวการตั้งกรรมการสอบมาจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 'เงียบยิ่งกว่าเป่าสาก' แต่ #นายหัวไทร ได้รับเสียงกระซิบมาว่า "ตั้งแล้ว" แต่ไม่มีข่าวไม่มีคราว ใครเป็นประธาน ใครเป็นกรรมการสอบ และสอบไปถึงไหนแล้ว ต้องเสร็จเมื่อไหร่ ไม่มีอะไรออกมาให้ได้รับทราบกันเลยแม้แต่น้อย ยิ่งปล่อยไว้นานรังแต่จะเพิ่มความเสื่อมครับ

ได้เห็นภาพที่แปลกตาแปลกใจช่วงหาเสียงเลือกตั้งซ่อมระยอง เขต 3 มีคนประชาธิปัตย์มะรุมมะตุ้มกันไปช่วยหาเสียง ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์, สุทัศน์ เงินหมื่น, นิพนธ์ บุญญามณี พร้อมหน้าพร้อมตากันไปช่วยหาเสียง แต่ที่แปลกคือ มี 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' และ 'ชัยชนะ เดชเดโช' ไปร่วมเดินเคาะประตูบ้าน ช่วยหาเสียงด้วย ทั้งๆ ที่ถือว่าเป็นคนละขั้วกันชัดเจน

งานนี้จะขาดก็เพียง 'นายกฯ ชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง' ที่อาจจะไปก็ได้ แต่ #นายหัวไทร ไม่เห็น หรือติดภารกิจอะไร ถึงไม่ได้ไปร่วมภารกิจวัดดวงสำหรับประชาธิปัตย์

นายหัวไทรแอบคิดในใจว่า "หรือว่า เขาคุยกันแล้ว" คุยกันออกมาในแนวประนีประนอม เมื่อผลสอบออกมา ก็คือ "มีมูล" ว่า มีการละเมิดมติพรรค แต่ฐานความผิดต่างกัน บางคนแต่ทำตามผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำ ช่วงคนลงมติตามผู้มีพระคุณบอก แต่บางคนเป็นแกนนำ แถมวิจารณ์พรรค วิจารณ์ผู้อาวุโสของพรรค ถึงขั้นเชิงตั้งคำถามว่า "ใครจะขับใครกันแน่" เมื่อฝ่ายเขากุมเสียง สส.อยู่มากกว่า อย่างน้อยเห็นๆ 16-20 คน

ที่พาให้คิดได้ว่า "เขาคุยกันแล้ว" และจะออกมาแนวประนีประนอม ไม่อยากให้แตกหัก และ สส.บางคนก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ทำตามผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณสั่ง แนวทางของประชาธิปัตย์จึงน่าจะออกมาแบบ "ขับออกจาก" บางคน อาจจะ 1-2 คน ส่วนที่เหลืออาจจะว่ากล่าวตักเตือน จะด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร ขึ้นอยู่กับฐานความผิดที่กระทำขึ้น ซึ่งต้องไปกำหนดด้วยว่า ฐานความผิดแต่ละฐานะเมื่อโดนลงโทษแล้ว จะมีผลอย่างไรต่อไปในอนาคต

แต่สำหรับมุมมองของนายหัวไทร มองว่า น่าจะขับออก 1 ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร 1 ที่เหลือตักเตือนด้วยวาจา คนที่โดนขับออกก็ไปหาพรรคใหม่สังกัดตามช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนจะตักเตือนด้วยวาจา หรือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ยังอยู่กับประชาธิปัตย์ต่อไปได้ แต่จะมีผลอย่างไรในอนาคต ขึ้นอยู่กับพรรคกำหนด

จบข่าวสำหรับอนาคต 16 สส. แต่เรื่องใหญ่ของประชาธิปัตย์ จะฟื้นฟูพรรคอย่างไรให้กลับมาเฟื่องฟูเหมือนในอดีต ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องคิดหนัก คิดให้มาก ฟังให้มาก เสาะแสวงหาคนรุ่นใหม่ ดึงเข้ามาทำงาน "ร่วมคิดร่วมทำ" แบบซึมซับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ให้มาก

ในเวลานี้ประชาธิปัตย์ประกาศตัวชัดเจนแล้วว่า จะขอเป็นฝ่ายค้านแบบเข้มข้น ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และเป็นแนวทางที่ประชาธิปัตย์ถนัด ขอให้มุ่งมั่น ตั้งใจ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างจริงจัง เข้มข้น ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเรียกศรัทธากลับคืนมาได้

แต่หันซ้ายมองขวา ก็ยังไม่เห็นดาวเด่นในบริบทของการตรวจสอบในฐานะฝ่ายค้าน อาจจะมีแค่ดาวจรัสแสงในเชิงการหารือ ตั้งคำถาม อย่างเช่น 'สรรเพชญ บุญญามณี -ร่มธรรม ขำนุรักษ์' แต่ยังไม่เห็นแววว่าจะมีใครแสดงบทฝ่ายค้านที่เข้มข้นเหมือนในอดีตได้

ในอดีตที่เราเห็น ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ - วิทยา แก้วภารดัย-อาคม เอ่งฉ้วน - ไตรรงค์ สุวรรณคีรี - พิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล - สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นต้น นึกถึงคนเหล่านี้ ก็นึกภาพออกของการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน แต่มองไปยัง สส.ปัจจุบัน 20 กว่าคน เว้น 'ชวน-บัญญัติ' บอกตามตรงว่า "มองไม่เห็น"

ขออนุญาต #ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน เสนอแนะว่า เมื่อประชาธิปัตย์จัดทัพลงตัว มีหัวหน้าพรรค มีเลขาธิการพรรค มีกรรมการบริหารพรรคครบถ้วนแล้ว 'ชวน-บัญญัติ' ควรลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเปิดทางให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่ที่เข้มข้น ซึ่งถ้า 'ชวน-บัญญัติ' ลาออก ลำดับที่ 4 คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์ และลำดับที่ 5 นิพนธ์ บุญญามณี ก็จะขยับขึ้นมาเป็น สส.แทน แต่ไม่ใช่แค่นั้น คุณหญิงกัลยาก็ควรจะสละสิทธิ์ด้วย เพื่อให้ลำดับ 6 อย่าง 'องอาจ คล้ามไพบูลย์' ขยับขึ้นมาเป็น สส.บัญชีรายชื่อแทน

ประชาธิปัตย์ก็จะมี สส.แสดงบทบาทเด่นในสภาได้ 2 คน คือ นิพนธ์-อาอาจ ก็อาจจะมีคนถามว่าแล้วจะให้ 'ชวน-บัญญัติ' ไปทำอะไร เมื่อทั้งสองยังยึดมั่นอยู่กับประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น สำนึกรักประชาธิปัตย์ไม่เสื่อมคลาย ผมแนะนำว่า ให้ผู้อาวุโสทั้งสองท่าน และอาจจะรวมถึงคุณหญิงกัลยาด้วย ไปแสดงบทของนักบุญ ไปดูแลมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช ให้เป็นจริง เป็นเรื่องเป็นราว หรือไปขับเคลื่อนให้เป็นจริงเป็นจังในการผลักดันให้มีถนนคู่ขนาดขึ้น-ลงภาคใต้ ไปจนถึงนราธิวาส ตามเจตนารมณ์ของนายชวน ไปผลักดันงานพัฒนาภาคใต้ที่ต้องชดเชยจากการสูญเสียไปในบางรัฐบาล ที่นายชวนพล่ำบ่นมานาน

ทั้งหมดที่เขียนมาก็ด้วยความปรารถนาดีต่อพรรคการเมืองในตำนาน พรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองอย่าง 'ประชาธิปัตย์'

เรื่อง: นายหัวไทร