Friday, 19 April 2024
นายหัวไทร

‘ปชป.-ภท.’ เปิดศึก 4 ตระกูลดังถือหางคนละข้าง ‘เกี่ยวข้อง-ภูเก้าล้วน-กิตติธรกุล-เอ่งฉ้วน’

58 ที่นั่งส.ส.ของภาคใต้ หลายพรรคการเมืองจดจ้องจองเก้าอี้ ทั่งรักษาฐานเดิม และขยายฐานจากเดิมที่มีอยู่แล้ว ฐานเดิมประชาธิปัตย์เคยยึดครองมาเกือบทั้งภาคมาแล้ว แต่การเลือกตั้งปี 2562 มีพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย เข้ามาเบียดแทรก เจาะฐานประชาธิปัตย์ไปบางเขต เช่น ที่สงขลา พัทลุง สตูล หรือกระบี่ เป็นต้น

พรรคภูมิใจไทยฮึกเหิมหนัก หมายมั่นปั้นมือว่า จะต้องได้ สส.มากกว่าเดิม ตีความได้ว่าเป็นการรุกเข้าไปในฐานของประชาธิปัตย์นั้นเอง และหรือรุกฆาตเข้าไปยังพื้นที่ของพลังประชารัฐที่กำลังอยู่ในภาวะอ่อนกำลัง คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยู่มานานร่วม 8 ปี ก็เริ่มถดถอย

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม 2565 อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และโกเกี๊ยะ-พิพัฒน์ รัชกิจประการ นำทัพหลวง หิ้วแม่ทัพใต้ ยกทีมไปเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.กระบี่ ทั้ง 3 เขต ที่ลานพระอาทิตย์ อบจ.กระบี่
 
การเลือกตั้งปี 2562 กระบี่ มี ส.ส. 2 คนคือ เขต 1 สาคร เกี่ยวข้อง พรรค ปชป. ส่วนเขต 2 สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย  สมัยหน้า กระบี่ จะมี ส.ส.เพิ่มเป็น 3 คน พรรคภูมิใจไทย ได้วางตัวผู้สมัคร ส.ส.ไว้เรียบร้อยแล้ว
 
เขต 1 โกหนึ่ง-กิตติ กิตติธรกุล เลขานุการนายก อบจ.กระบี่, เขต 2 สจ.ม้อ-ถิรเดช ตั้งมั่นก่อกิจ  อดีต ส.อบจ.กระบี่ เขต อ.อ่าวลึก และเขต 3 โกสุทธิ์-สฤษฏพงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ โดยมีท่านขุน เอ่งฉ้วน รองนายกฯอบจ.กระบี่ เป็น สส.บัญชีรายชื่อ
 
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้วางตัวผู้สมัคร ส.ส.กระบี่ ไว้แล้วเช่นกัน ได้แก่เขต 1 โกเคี่ยง ธนวัช ภูเก้าล้วน ลูกชายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่, เขต 2 สาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ และเขต 3 พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลูกสาวพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล 

แม่ทัพตัวจริงของภูมิใจไทย เมืองกระบี่คือ โกหงวน- สมศักดิ์ กิตติธรกุล นายก อบจ.กระบี่ 7 สมัย สหายร่วมรบของเนวิน ชิดชอบ
 
หนที่แล้ว โกหงวน ตั้งเป้าปั้น สฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นหัวหอกในการเจาะฐานเสียง ปชป. และโกสุทธิ์ทำได้สำเร็จ เอาชนะสุชีน เอ่งฉ้วน พรรค ปชป.ไปได้
 
ดูรายชื่อขุนพลทั้ง ปชป. และภูมิใจไทย รับประกันว่า สมัยหน้าสนามกระบี่ดุเดือดเลือดพล่านแน่นอน สายภูมิใจไทย ก็จะมี “ตระกูลเกี่ยวข้อง-กิตติธรกุล-เอ่งฉ้วน” เป็นกลไกขับเคลื่อน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็มี “ตระกูลภูเก้าล้วน-เกี่ยวข้อง-เอ่งฉ้วน” เป็นมือไม้สำคัญ งานนี้ จุรินทร์-นิพนธ์-เดชอิศม์” จะต้องทำงานหนักเพื่อรักษา และขยายฐานไปสู่เป้าหมาย 35 ที่นั่งให้ได้

'สมคิด' เจอมวยเด็กค่ายพระแม่ธรณีสวนปลายคางน็อกคา 'โพเดียม' เมื่อ 'ประกันรายได้' ไม่เคยสร้างปัญหาเท่านโยบายเฮียก(ล)วง

#นายหัวไทร

คงจะเป็นประเด็นร้อนไปอีกสักพัก สำหรับวาทกรรมทางการเมืองของ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' ประธานยุทธศาสตร์พรรคสร้างอนาคตไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคสร้างอนาคตไทย กับการพูดบนเวทีสัมมนา 'อันดามันรอด ประเทศไทยรุ่ง' ที่ จ.ภูเก็ต โจมตีการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยระบุว่า "ภาคใต้มี ส.ส.มาตลอด ส.ส.ทำอะไร ผมนั่งอยู่ใน ครม.ไม่ได้ยินสักแอะเลย หรือเป็นเสาไฟฟ้า มีแต่ประกันรายได้ ประกันทั้งปีเลย ของหมูๆ อย่างนั้นใคร ๆ ก็ทำได้ ว่าจะไม่ว่าแล้วเชียว"

แน่นอนว่าในทางการเมืองก็ต้องชกเสยคางแชมป์อย่างประชาธิปัตย์ ภูเก็ตเป็นถิ่นเดิมของประชาธิปัตย์ แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถูกพรรคพลังประชารัฐยึดไปทั้งสองเขตเลือกตั้ง ภูเก็ตจึงกลายเป็นสนามเลือกตั้งที่หลายพรรคหวังเข้าไปแย่งชิง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และได้ข่าวว่าพรรคชาติพัฒนาของ 'สุวัจน์ ลิปตพัลลพ ก็ซุ่มเงียบเก็บตัวฟิตซ้อมอยู่เหมือนกัน เตรียมประกาศท้าชกในไม่นานนี้ หลังจากเสี่ยสุวัจน์ไปซุ่มลงทุนทำธุรกิจอยู่ในภูเก็ตเหมือนกัน

คำพูดของ 'สมคิด' มันทิ่มแทงยอดอกของประชาธิปัตย์ตรง ๆ เสือปืนไวอย่าง 'แจ็ค-วัชระ เพชรทอง' อดีต สส.ประชาธิปัตย์ ออกโรงตอบโต้สมคิดแต่เช้า "สมคิดไปนอนห้าวอยู่ที่ไหน จึงไม่ได้ยิน สส.ใต้พูด และเป็นการปรามาท สส.ใต้ว่าเป็นวัตถุเสาไฟฟ้า ไม่มีชีวิตจิตใจ วัชระออกโรงไล่สมคิดให้กลับไปเลี้ยงลูกคนเล็กดีกว่า"

สัมทับด้วย 'แทน' ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ว่า นายสมคิด คงไม่ทราบว่า นโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ผลตรงตามที่ทางพรรคฯ ตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยมีขั้นตอนน้อยที่สุด และรบกวนงบประมาณน้อยที่สุด ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ไม่มีปัญหาให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลัง ไม่เหมือนกับนโยบายที่นายสมคิด คิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยู่พรรคไทยรักไทย จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ต่างมีปัญหาวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเป็นอย่างมาก เช่น พักหนี้เกษตรกรรายย่อย 3 ปี วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทนั้น ปรากฏว่า เป็นเพียงการไม่จ่ายหนี้ แต่ดอกเบี้ยกลับสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ และเกษตรกรผู้เข้าโครงการต้องกลายเป็นเหยื่อของหนี้นอกระบบ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท กว่าจะเข้ารูปเข้ารอยได้ ก็ถูกวิจารณ์ถึงการกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยมาบำเรอความสุขของตัวเอง โดยเงินจำนวนดังกล่าวหมุนกลับไปยังกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาลในเวลานั้น รวมถึง นโยบายที่มีการดำเนินการในปัจจุบัน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ผู้ที่ได้รับสิทธิใหม่ เพราะมีหลายรายที่ควรจะได้สิทธิ์ แต่ก็ไม่ได้สิทธิ์ หลายรายที่จนไม่จริง แต่กลับได้ใช้สิทธิจริง

แลกกันคนละหมัด 'ประชาธิปัตย์' vs 'ภูมิใจไทย' เลือกตั้งครั้งใหม่ ความเกรงใจคงไม่ต้องมีให้กัน

น่าสนใจยิ่งกับการช่วงชิงฐานทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ถึงขั้น 'อนุทิน ชาญวีรกูล' หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ลั่นวาจาออกมาแล้วว่า “เลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ไม่ต้องเกรงใจกัน”

ที่กล่าวมาต้องการสื่อให้เห็นว่า เกมแย่งชิงพื้นที่ภาคใต้ถูกลากเข้ามาเล่นกันในสภาแล้ว 'ประชาธิปัตย์ จับมือกับ 'เพื่อไทย' ให้ถอน พ.ร.บ.กัญชา - กัญชง ออกไปปรับปรุงก่อน เพื่อให้ครอบคลุมการควบคุมดูแลเด็กและเยาวชนในการเข้าถึงกัญชา กัญชง รวมถึงต้องการให้กัญชา กัญชง เป็นยาเพื่อการแพทย์อย่างแท้จริง โดยมี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นำทีม 

แน่นอนว่า โดยธรรมชาติของกฎหมายจากฟากรัฐบาลนั้น ยังไงทางฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างพรรคเพื่อไทย เขาก็ต้องออกมาคัดค้านอยู่แล้ว แต่การที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมค้านด้วย ย่อมเป็นประเด็นที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยไม่พอใจ

“คนที่พูดในสภา ผมฟังแล้วไม่รู้จะเถียงอย่างไร ในเมื่อไม่ใช่ความจริง เอาการเมืองนำผลประโยชน์ของประชาชน ก็จะเห็นว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร ผู้สื่อข่าวยังคิดได้เลย ใกล้ช่วงเลือกตั้งเลยเอาเรื่องการเมืองมาโยงเพื่อหาคะแนน” อนุทินกล่าวและว่า

“ดีเสียอีกที่เป็นแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนกันเอง ใกล้เลือกตั้งที่จะถึง ก็จะได้ไม่ต้องเกรงใจ” 

ด้าน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ย้ำจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ไม่ได้คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยเฉพาะการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่มีเจตนาที่ต้องการเห็นเนื้อหาในการกำกับควบคุมการใช้กัญชา ให้อยู่ในกรอบที่คำนึงถึงผลกระทบต่อเด็ก และเยาวชน เนื่องจากร่างกฎหมายที่รับหลักการ และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ มีการแก้ไขโดยเพิ่มเนื้อหาจำนวนมาก จากเดิมมี 45 มาตรา แต่คณะ กมธ. ปรับแก้เพิ่มเป็น 95 มาตรา คือ มีการเพิ่มใหม่ 69 มาตรา และมีการตัดบางมาตราทิ้ง โดยเฉพาะมีบางส่วนที่เห็นว่าอาจจะกำกับดูแลควบคุมไม่ดีพอ เช่น การให้ประชาชนทั่วไปขอจดแจ้งปลูกกัญชาครัวเรือนบ้านละ 15 ต้น ใช้เพื่อประโยชน์ในครัวเรือน แต่มีการบัญญัติไว้ว่าเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน เพื่อประโยชน์ในการรักษาสุขภาพ แต่ไม่มีการกำหนดมาตรการควบคุมที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก และเยาวชน

“หากไม่ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป อาจทำให้ร่างกฎหมายค้างอยู่ในการพิจารณาของสภา ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถนำไปแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความรอบคอบรอบด้านได้ แต่หากถอนออกไป จะทำให้แก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายได้” สาทิตย์ กล่าว

ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แต่ในสภายังลามมาถึงการแก้ไข พ.ร.บ.เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีบางพรรคการเมืองเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง เหลือ 2% บ้าง 1% บ้าง 0.50% บ้าง แต่ด้าน พรรคภูมิใจไทย ก็ได้เสนอให้ดอกเบี้ยเป็น 0% คือ ไม่คิดดอกเบี้ย พ่วงท้าย ไม่มีคิดเพิ่มสำหรับคนผิดนัด ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังด้วย

จะเรียกว่า พรรคภูมิใจไทย หาเสียงกับ กยศ.เต็มสูบ เพื่อยกมาเป็นผลงานของพรรคเลยก็ไม่ผิด ทั้งๆ ที่แต่ข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ริเริ่มขึ้นมาสมัย 'นายหัวชวน' ครั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

และนั่นก็ทำให้ก่อนหน้า ได้มีข้อท้วงติงมากมายกับการแก้กฎใหม่ของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะในประเด็นของการไม่คิดดอกเบี้ย ไม่เอาเรื่องเอาราวกับคนผิดนัด ซึ่งมันจะทำให้นักศึกษาที่กู้ยืมเงินไปบางคนขาดระเบียบ ขาดวินัยทางการเงิน คือมีงานทำแล้วก็ไม่จ่าย ไม่หนีไปไหน เพราะดอกเบี้ยก็ไม่มี ไม่มีคนตามทวงเงินกู้ นายประกันก็ไม่ต้อง อนาคตของเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาจะเป็นอย่างไร จะขาดสภาพคล่องไหม? เมื่อเงินเก่าไม่ไหลคืน รัฐบาลต้องตั้งงบใหม่เข้ากองทุนงั้นเหรอ? ยังมีงบบริหารจัดการอีกปีละ 2,000 กว่าล้าน จะเอามาจากไหน? โอ๊ย!! สารพัด!!

แล้วคนที่มีวินัยทางการเงิน จ่ายครบ ไม่บิดไม่เบี้ยว มันจะเป็นธรรมกับคนเหล่านี้ไหม? เข้าใจได้ว่ากฎหมายล้าสมัยก็ต้องมีการปรับปรุง แต่การปรับปรุงแบบ 'สุดซอย' เช่นนี้ มันจะส่งผลกระทบต่ออนาคตเพียงใด? ใครจะรับผิดชอบ? ต้องเจียดเงินจากภาษีประชาชนไปโปะทุกปีจากการออกนโยบายหาเสียงแบบสุดโต่งงั้นเหรอ?

อันที่จริงแล้ว หากย้อนกลับไปถึงปฐมเหตุของเรื่องความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลระหว่าง 'ประชาธิปัตย์' กับ 'ภูมิใจไทย' นั้น มีมานานพอควร แต่ขยายผลมากขึ้นเมื่อพรรคภูมิใจไทยประกาศจะยึดพื้นที่ 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน 15 ที่นั่ง ตั้งแต่ ระนอง, ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, ตรัง และสตูล ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เดิมเป็นของประชาธิปัตย์ทั้งหมด และนั่นก็ทำให้ประชาธิปัตย์ กร้าว!! ประกาศเป็นยุทธศาสตร์เลยว่า ต่อจากนี้จะต้องยึดคืนพื้นที่หลังจากครั้งเลือกตั้งปี 2562 ได้สูญเสียที่นั่งหลายพื้นที่ให้กับพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ

ป้ายสี!! ยกสอง 'ประชาธิปัตย์' ปะทะ 'ภูมิใจไทย' ศึกภาคใต้!! ใต้ประชาธิปไตย 'เงินสด'

หลังจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ออกมาพูดว่า ในฐานะ ส.ส.ภาคใต้ ภาคใต้ไม่มีการซื้อเสียง แม้แต่สลึงเดียวก็ไม่เคยใช้ในทางการเมือง แต่ก็ต้องเหนื่อยและต้องรับใช้ประชาชนตลอดชีวิต เห็นทุกพรรคบอกจะแลนด์สไลด์ ไว้รอดูตอนเลือกตั้ง

แน่นอนครับว่า เมื่อพูดถึงความว่า ภาคใต้ไม่มีการซื้อเสียงในเวลานี้ ทุกคนก็นั่งยิ้มมุมปาก เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า มีการใช้เงินซื้อเสียงกันมโหฬาร เพียงแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่มีศักยภาพพอในการตรวจจับการทุจริตการเลือกตั้ง จึงรับรองผลว่า 'การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม'

นายชวนคนเดียวอาจจะเป็นข้อยกเว้นไม่มีการซื้อเสียง ไม่เลี้ยงน้ำชา-กาแฟใคร แต่ในสังคมนักเลือกตั้ง ตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล อบจ. ส.ส. มีการใช้เงินเพื่อการเลือกตั้งทั้งนั้น และการใช้เงิน (Money Politic) ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และวงเงินมากขึ้น (ประชาธิปไตยเงินสด) เป็นยอดเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าหวาดหวั่นกับการเข้าไปใช้ตำแหน่งหน้าที่ทุจริตฉ้อโกงในอนาคต และนี้คือวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย

ถ้าเป็นเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน ก็พอจะพูดได้ว่า ส.ส.ภาคใต้ไม่มีการซื้อเสียงการเลือกตั้ง แต่ปัจจุบันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปหมดแล้ว 'เงิน' เป็นปัจจัยหนึ่งในการชี้วัดผลการเลือกตั้ง

เมื่อนายชวนออกมาพูดว่าภาคใต้ไม่มีการซื้อเสียง จึงเกิดปฏิกิริยาโต้กลับจากคู่ต่อสู่ทางการเมืองทันที

นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา เขต 7 พรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัว ระบุใจความว่า "ในอดีตอาจจะไม่มีจริง แต่ปัจจุบันมีการเตรียมการในพื้นที่เขต 7 บ้านผม อำเภอนาทวี และ อำเภอสะบ้าย้อย คนที่เคยเป็นอดีต ส.ส. ประกาศตัวเคยทำงานใกล้ชิดท่าน ทำงานการเมืองสุจริตแบบท่าน สั่งให้ทีมเดินเก็บบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และ สัญญาว่าจะให้เงิน 500 บาท บอกกับคนทั่วไปอย่างไม่ละอาย ว่ารอบนี้เลือกตั้ง จะใช้เงิน 100 ล้านบาท เพื่อซื้อให้ชนะ ขอให้ท่านตรวจสอบมีจริงหรือไม่"

ด้าน นายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา ที่แพ้ให้กับ นายณัฏฐ์ชนน ในการเลือกตั้งปี 2562 และ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สงขลา เขต 7 พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอบโต้ด้วยความดุเดือด โดยมีการแคปโพสต์ที่ นายณัฏฐ์ชนน ระบุไว้ ก่อนตอบกลับดังนี้...

"ผมเห็นท่านโพสต์เรื่อง 'เด็กขี้ร้อง' มาหลายหนหลายครั้ง ก็ยังสงสัยว่า 'เด็กขี้ร้อง' นั้นคือใคร บัดนี้กระจ่างแล้วครับว่าเป็นตัวท่าน ขนาดยังไม่มีการเลือกตั้งก็ร้องแล้ว อย่าไปร้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหมายถึงผู้นำท้องที่และผู้นำท้องถิ่น เพราะเขาเหล่านั้นย่อมมีสิทธิ์ที่จะเอือมระอากับนักการเมืองประเภท 'คางคกขึ้นวอ' มาร้องผมนี่สิครับ"

นายศิริโชค ระบุอีกว่า "ท่านเห็นด้วยกับผมมั้ยครับ ว่านักการเมืองสมัยนี้บางคนหน้าด้านมาก ได้มาเพราะการซื้อเสียงแต่ตอนนี้เกลียดการซื้อเสียงมาก (เวลาออกสื่อ) คงจะลืมว่าในอดีตเคยหอบเงิน 60 กว่าล้านบาทมาหล่นเรี่ยราดไว้แถวนี้ ผมแนะนำครับให้กินน้ำมันตับปลาให้มากๆ จะได้ไม่หลงลืมว่าตัวเองเคยทำอะไรไว้ในอดีต"

"ท่านไม่ต้องกลัวจนขี้ขึ้นสมอง เฝ้าท่องคาถาเสียงดี เสียงดี และส่งคลิป เสียงดี ไปตามกลุ่มต่าง ๆ เท่านั้นก็พอครับ แต่สำหรับผมขอเลือกที่จะลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้วเจอกันวันเลือกตั้ง ขอให้โชคดีครับ"

ศึกชิงเก้าอี้นายกฯนครสงขลา ‘สมศักดิ์-วันชัย’ วัดดวง ‘นิพนธ์’ จะเชียร์ใคร

เรื่อง : นายหัวไทร

เมื่อตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสงขลาว่างลงจากการที่นายศรัญ บิลพัฒน์ นายกเทศมนตรีนครสงขลา ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี พร้อมค่าจัดการเลือกตั้งอีก 2 ล้านกว่าบาท ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

สัญญาณแรกที่ผมได้ยินจากต้นสายโทรศัพท์คือ ‘วันชัย ปริญญาศิริ’ สส.เขต 1 สงขลา พรรคพลังประชารัฐ จะลาออกจาก ส.ส.มาลงสมัครชิงนายกเทศมนตรีนครสงขลาด้วยคนหนึ่ง

เป็นช่วงจังหวะปะเหมาะพอดี ถ้าลาออกจาก ส.ส.หลังวันที่ 24 กันยายนนี้ กกต.ไม่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ถ้าอายุของสภาเหลือไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ‘วันชัย’ จึงมีช่องทางโล่ง ไม่ถูกวิจารณ์เรื่องลาออก และต้องเลือกตั้งใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ

ไม่ต้องมีสัญญาณอะไร เชื่อว่า ‘สมศักดิ์ ตันติเศรณี’ อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา จะต้องลงชิงแชมป์คืนแน่นอน เพราะคราวที่แล้ว ‘สมศักดิ์’ แพ้ให้กับ ‘ศรัญ’ แค่ 42 คะแนนเท่านั้นเอง ออกแรง เพิ่มพลังอีกหน่อยก็น่าจะได้คะแนนเพิ่มขึ้น เพียงแต่ว่าคะแนนที่เพิ่มขึ้นจะเอาชนะ ‘วันชัย’ ได้หรือไม่

สนามเลือกตั้งท้องถิ่นเกี่ยวโยงกับสนามเลือกตั้งระดับชาติด้วย คราวเลือกตั้งปี 2562 วันชัย เอาชนะ สรรเพชญ บุญญามณี ลูกชายของนิพนธ์ บุญญามณี แต่การทำหน้าที่ ส.ส.ของวันชัย สามปีครึ่งที่ผ่านมาไม่โดดเด่นมากนัก จึงหันหัวเรือมาลงท้องถิ่น ด้วยอาจจะเห็นว่า นิพนธ์ ลาออกจาก ส.ส.มาลงชิงนายกฯอบจ.ก็สำเร็จ ไพร พัฒโน ลาออกจาก ส.ส.มาลงชิงนายกฯนครหาดใหญ่ก็สำเร็จ

ศึกชิงนายกเทศมนตรีนครสงขลา ปัจจัยชัยชนะไม่ได้อยู่แค่ตัวบุคคลที่ลงสมัครเพียงด้านเดียว ต้องจับตาว่า นิพนธ์ บุญญามณี จะสนับสนุนใครระหว่าง ‘สมศักดิ์ กับ วันชัย’ มีคนตั้งข้อสังเกตว่า สมศักดิ์เข้าออกบ้านนิพนธ์ย่านเขารูปช้างทุกเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งสมศักดิ์อาจจะได้รับการสนับสนุนจากนิพนธ์ แต่มีข้อแลกเปลี่ยนว่า สมศักดิ์ต้องช่วยสรรเพชญ ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้มีคะแนนชนะ ‘นายกฯแบน’ ประสงค์ บุรีรักษ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เขต 1 สงขลา ในนามพรรคภูมิใจไทย ซึ่งหมายถึงแข่งกับสรรเพชญนั้นเอง

แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือการที่วันชัย ปริญญาศิริ ลาออกจาก ส.ส.ไปลงชิงนายกเทศมนตรีนครสงขลา เป็นการเปิดทางให้ ‘สรรเพชญ’ กับข้อแลกเปลี่ยน ‘น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า’ หรือเปล่า นิพนธ์ช่วยวันชัย วัยชัยก็หลีกทางให้สรรเพชญ และช่วยสรรเพชญให้ถึงฝั่งฝันของพ่อด้วย

กล่าวสำหรับ ‘วันชัย-สมศักดิ์’ จะเป็นคู่แข่งที่คู่คี่สูสีกันมาก สมศักดิ์ได้ในแง่การอยู่กับท้องถิ่นสงขลามายาวนาน เคยเป็นรองนายกเทศมนตรี จนมาเป็นนายกเทศมนตรีต่อจาก ‘พีระ ตันติเศรณี’ ที่ถูกลอบสังหารกลางเมืองสงขลาในแง่ปัจจัยสมศักดิ์ก็พร้อม มีธุรกิจอู่ต่อเรือทั้งฝั่งเมือง และฝั่งสิงหนคร ส่วนวันชัยก็คลุกคลีกับการเมืองมายาวนาน ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หลายครั้ง เพิ่งมาสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งปี 2562 ธุรกิจในสงขลาก็มี ชื่อเสียงคนรู้จัก

เพื่อไทย ปาดเหงื่อ!! สนามใหญ่เลือกตั้งถิ่นปทุมธานีหนหน้า เมื่อ เกียรติศักดิ์ ตีจาก 'บิ๊กแจ๊ส' หนีไปซบอก 'ลุงป้อม'

แค่เห็นบริบทแรกของการเมืองแห่งเมืองปทุมธานี ก็ดูท่าจะสนุกแล้ว หลังจากเดิมสนามแห่งนี้พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าอยู่ แต่อาจจะมีพรรคโน้นพรรคนี้แซมเข้ามาบ้าง พรรคละคนอะไรประมาณนี้!!

หลังจาก “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้มีวันนี้เพราะพี่ให้ ได้รับเลือกเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี 'การใหญ่ก็แว่บขึ้นมา'  เพราะลูกชายก็ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครรังสิตด้วยอีกคน 

การใหญ่ที่ว่าคือสนามเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยต้องยึดทั้งจังหวัด

บิ๊กแจ๊สขอจัดทีมเอง และเลือกคนของตนเองลงสมัครเป็นส่วนใหญ่ นั่นจึงทำให้ ส.ส.เก่าบางคนก็ไม่ได้รับการพิจารณาส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ทัพจึงเริ่มแตก โดยมี “เกียรติศักดิ์ ส่องแสง” อดีต ส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนแรกๆ ที่เดินออกมาจากทีมบิ๊กแจ๊ส

“ผมตัดสินใจแล้วครับ 
ยอมตายในดาบหน้า 
แพ้เท่ากับศูนย์ เสมอได้กำไร 
ชนะคือกำไรมหาศาล
ไม่มีอะไรจะต้องเสียไปมากกว่านี้แล้วครับ”

“ผมขอเดินทางไปกับพรรคที่ให้เกียรติผม ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้คิดถึงเขาเลย ผมขอขอบคุณ พรรคที่ให้เกียรติผม (พปชร.) แต่บางคนในพรรคที่ผมอยากไปอาศัยชายคาด้วย ไม่ให้ราคากันบ้างเลย

“ผมขอพิสูจน์ครับ ผมขอน้อมรับครับ ผมขอเกาะไปกับขบวนตู้ท้ายนี้แล้วครับ ถึงจะเปลี่ยนผู้โดยสารคนสุดท้ายให้ใหม่ ผมมิอาจรอได้จริงๆ”

กล่าวถึงเกียรติศักดิ์ ส่องแสง สมัยอยู่ประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็น ส.ส.ที่ขยันลงพื้นที่ต่อเนื่อง แม้จะเป็นคนต่างถิ่น แต่ก็แจ้งเกิดในสนามยากได้ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน เกียรติศักดิ์หันหัวเรือไปยังพรรคเพื่อไทยกับกระแสแลนด์สไลด์ แต่เมื่อเข้าไปแล้วเจอตอ ก็ต้องถอยออกมาดีกว่าให้เรืออับปาง หรือเดินออกมหาสมุทรแล้วเจอหินโสโครก ที่ไม่อาจรู้อนาคตได้ พายุใหญ่ก่อตัวอยู่กลางมหาสมุทรใหญ่ด้วย

พลันที่ เกียรติศักดิ์ เดินออกจากเพื่อไทย ฟาก “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็อ้าแขนรับเข้าสู่อ้อมอกอันอบอุ่น ในสนามเลือกตั้ง “แพ้-ชนะ” ว่ากันในอีก 7 เดือนข้างหน้า

เลือกตั้งครั้งหน้าปทุมธานี จึงเป็นอีกสนามเลือกตั้งที่น่าจะฟาดฟันกันดุเดือด ไม่ว่าจะเป็น ทีมก้อย พรพิมล ธรรมสาร ที่ถีบตัวออกจากเพื่อไทยอีกคน และมีคนพร้อมจะลุยสู้ศึก เปิดหน้าลุยกันอยู่แล้ว ย่านลาดสวาย ลำลูกกา ก็มี “โอม-จิรชาติ” เจ้าของแนวคิดลาดสวายโมเดล ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ก็พร้อมขึ้นเวทีตะบันหน้ากับทุกพรรค แม้คราวที่แล้วโอมจะลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐและก้าวไม่ถึงฝัน แต่ประสบการณ์และความขยันลงพื้นที่คลุกคลีชุมชน ก็น่าจะเรียกคะแนนได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมในนามพรรคสร้างอนาคตไทย เรียกว่าเป็นอีกเขตพื้นที่สุดท้าทายเพื่อไทยไม่น้อยกับฝันยึดจังหวัดของบิ๊กแจ๊ส

ยังไม่พูดถึงเขตอื่นที่พรรคภูมิใจไทยก็จ่อจ้องเข้ามาเบียดแทรกอยู่เหมือนกัน อย่าลืมว่าสนามเล็กอย่างคลองหลวง เด็กบิ๊กแจ๊สก็แพ้ให้กับ “เอกพจน์ ปานแย้ม” นักร้องลูกทุ่งดังในอดีตมาแล้วกับตำแหน่งนายกเทศมนตรีคลองหลวง เพราะดีกรีอดีต ส.ส.ของเอกพจน์ก็ยังมีอยู่

ก่อนหน้านี้ เมื่อเกียรติศักดิ์ เข้ามาอยู่พรรคเพื่อไทยใหม่ ๆ ก็เจอแรงต้านจากเจ้าของพื้นที่เดิมตั้งแต่ก้าวแรกแล้ว

ด้าน นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัวนายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง อดีตส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ ขนทีมงานร่วม 80 ชีวิต มาสมัครเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกมองว่าอาจจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งสมัยหน้า เรื่องนี้ทำให้พี่น้องประชาชนจังหวัดปทุมธานี สับสน เดิมทีนายเกียรติศักดิ์ เคยเป็นส.ส.ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ เคยเคลื่อนไหวสมัยการชุมนุมกลุ่มกปปส. เคยขึ้นเวทีด่า นายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเสียหาย ทำให้ต่อมาเกิดการรัฐประหารจากพล.อ.ประยุทธ์ และชาวบ้านเองก็ไม่ยอมรับ คนที่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร ไม่รู้ว่าทาง ผู้ใหญ่ในพรรคได้ทราบประเด็นตรงนี้หรือไม่ ในเวลาต่อมานายเกียรติศักดิ์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน ทราบมาว่า การเดินทางมาสมัครของนายเกียรติศักดิ์ ได้รับการทาบทามจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายอบจ.ปทุมธานี

นายชัยยันต์ กล่าวว่า กรณีนี้เหมือนเป็นการบีบตน พยายามทำให้เห็นว่า มีความขัดแย้งกับพรรค เป็นพวกงูเห่า สุดท้ายทนไม่ได้จึงต้องหนีไป ทั้งที่ยังไม่มีความคิดจะย้ายพรรค ยังรักอุดมการณ์พรรคเพื่อไทย ยังยืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ไม่เอาลุงตู่ อยากให้ทางพรรคเข้ามาจัดการ แก้ปัญหา เพราะชาวบ้านเองคงไม่ยอมรับแน่ ในการนำคนที่เคยสนับสนุนรัฐประหาร ขึ้นเวทีโจมตีนายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาอยู่กับพรรค รวมทั้งอาจเป็นช่องทางให้พรรคการเมืองอื่นเข้ามาแทรกแซงได้อีกด้วย

เช็คความพร้อม 'ประชาธิปัตย์' นครศรีธรรมราช เตรียมเปิดตัวผู้สมัคร 9 เขต มั่นใจกวาดยกจังหวัด

"นครศรีธรรมราชไม่เงียบนะ" เป็นคำตอบมาจาก 'แทน-ชัยชนะ เดชเดโช' ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ รองเลขาธิการพรรค

"พรรคเตรียมเปิดตัวผู้สมัครทั้ง 9 เขต ในเดือนพฤศจิกายน ขณะเราได้ตัวผู้สมัครแล้ว 8 คน 8 เขต อีก 1 เขตรอการทำโพลล์"

8 คนที่ได้ตัวผู้สมัครแล้ว เป็น ส.ส.ปัจจุบัน 4 คน และเลือดใหม่ 4 คน ประกอบด้วย...

ส.ส.4 คน ประกอบด้วย ชัยชนะ เดชเดโช, ชินวรณ์ บุณยเกียรติ์, ประกอบ รัตนพันธ์ และพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล' ซึ่งใครลงเขตไหนยังระบุชัดไม่ได้ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศเขตเลือกตั้งออกมา 

ส่วนเลือดใหม่ 4 คน ประกอบด้วย ราชิต สุดพุ่ม, พิทักษ์เดช เดชเดโช, อวยพรศรี เชาวลิต และ ลูกชายของชินวรณ์

ส่วนอีก 9 คน เพราะ ส.ส.นครศรีธรรมราชมี 9 คน คือ โซนหัวไทร ชะอวด เชียรใหญ่ อยู่ระหว่างเตรียมการทำโพลล์ เนื่องจากมีผู้เสนอตัวลงสมัครมากกว่า 1 คน พรรคจึงต้องทำโพลล์ เป็นการทำโพลล์ระหว่าง 'ยุทธการ รัตนมาศ' อดีตรองนายกฯอบจ.นครศรีธรรมราช นายกสมาคมกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช กับ 'พงศ์สิน เสนพงศ์' น้องชายของเทพไท เสนพงศ์ เคยลงสมัครเมื่อครั้งเลือกตั้งซ่อม เขต 3 คือพื้นที่โซนนี้แหละ แต่แพ้ให้กับอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ก็คิดว่า เวลาในการพบปะแนะนำตัวเหลือน้องลงทุกวัน

ไม่ว่าจะเป็นพงศ์สิน หรือยุทธการ ในมุมมองของ #นายหัวไทร เชื่อว่า มีฐานเสียงเดียวกัน คือโซนชะอวด ฐานเสียงโซนหัวไทรจะเบาบางทั้งคู่

"เรามีวิธีในการเรียกคะแนนจากประชาชน ขอให้สนามเลือกตั้งเปิดก่อน" เป็นคำยืนยันจาก 'ชัยชนะ'

'แทน-ชัยชนะ' ยังเชื่อมั่นว่า เลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนพรรคประชาธิปัตย์จะชนะยกจังหวัด 9 ที่นั่ง

ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงสำหรับสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ แต่ก็ต้องเชื่อในฝีมือของ ส.ส.แทน กับปัจจัยเกื้อหนุน แต่ก็ไม่ควรปรามาสคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งจากพรรคพลังประชารัฐที่เขามีอยู่ครึ่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช 4 ที่นั่ง ทั้ง ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ, สายัณห์ ยุติธรรม, อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ และสัญหพจน์ สุขศรีเมือง ที่พวกเขาฝ่าด่านมาได้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา รวมถึงเลือกตั้งซ่อมด้วย และไม่ควรมองข้ามพรรคภูมิใจไทยที่กระแสดี มีผลงาน “พูดแล้วทำ” เขากำลังจัดทัพสู้เต็มที่เหมือนกัน ปัจจัยพร้อม กระสุนดินดำมี ถ้าได้ผู้สมัครที่มีชื่อชั้น ก็จะมีราคามาต่อรองกับพรรคประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐได้เช่นกัน

ส.ส.แทน คงจะประเมินในสถานการณ์ที่ชินวรณ์ และพิมพ์ภัทรา ยังยืนหยัดสู้อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีกระแสข่าวหนาหูว่าทั้งสองคนถูกพรรคอื่นทาบทาม ซึ่งในสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงแย่งฐานภาคใต้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งสองคนจะถูกแซะจากพรรคคู่แข่ง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทั้งสองคน และขึ้นอยู่กับประชาธิปัตย์ว่าจะให้บทบาทให้ความสำคัญกับทั้งสองคนแค่ไหนในระดับไหน

ศึกเลือกตั้ง ‘เมืองคอน’ ส่อแววระอุ ‘วิทยา’ ดันลูกชายลงชิงเก้าอี้ เขต 1 แข่ง พปชร.

การเมืองนครศรีฯสนุกแล้วครับ

ปรากฏโฉมขึ้นมาอีกรายเพื่อท้าชิงเก้าอี้ ส.ส.เขต 1 นครศรีธรรมราช คือ ‘พูน แก้วภารดัย’ ลูกชายของพี่น้อย ‘วิทยา แก้วภารดัย’ที่สไลด์ตัวเองออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปอยู่ร่วมหัวจมท้ายกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

พี่น้อยโพสต์ด้วยตัวเองว่า พูน-ลูกชายจะลงสมัคร ส.ส.เขต 1 นครศรีธรรมราช ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค มีแนวทางชัดเจนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่เอกนัฐ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคยืนยันว่า พรรคจะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเป็น ‘แคนดิเดต’ นายกรัฐมนตรี

กล่าวถึงพูน เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคลุงกำนัน รวมพลังประชาธิปไตย ที่เวลานี้เปลี่ยนมาเป็นพรรครวมพลัง

ปัจจุบันพูนอยู่ในทีมที่ปรึกษาของ ดร.โจ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช แต่น่าแปลกใจว่า ทำไมพี่น้อยให้ลูกชายลงเขต 1 ทำไมไม่ไปลงเขตปากพนัง หัวไทร ซึ่งพี่น้อยมีฐานคะแนนอยู่ เป็น ส.ส.อยู่หลายสมัย จนอาจจะพูดได้ว่า ‘ผูกขาด’ เพิ่งมาพลาดให้กับ ดร.สัญหพจน์ สุขศรีเมือง จากพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้เอง และพี่น้อยมีดีกรีเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เข้าใจว่า พี่น้อย และพูนเองหวังการสนับสนุน ช่วยเหลือจาก ดร.โจ ที่ชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีด้วยคะแนนล้นหลาม เอาชนะอภิชาติ ศักดิเศรษฐ์ ไปได้อย่างเกินความคาดหมาย

แต่การเปิดตัวช้าของพูนมันจะช้าไปหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้ ดร.โจ เดินพาน้องติ๊ก-จรัญ ขุนอินทร์ นายธนาคารจาก ธกส. ศิษย์เก่าเบญจมราชูทิศ และปัจจุบันเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าเบญจมะอยู่ด้วย ออกแนะนำตัวมานานพอสมควรแล้ว ‘ฝากด้วย น้องผม’ ซึ่งน้องติ๊กจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทย

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ดร.โจจะช่วยเหลือใคร การเมืองเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยนได้ ดร.โจจะช่วยที่ปรึกษา หรือจะช่วยเหลือทีมร่วมสถาบัน

แต่เท่าที่รู้ สมนึก เกตุชาติ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครศรีธรรมราชหลายสมัย และเป็นพ่อของ ดร.โจ ช่วยเหลือ ‘ราชิต สุดพุ่ม’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงสมัครเขต 1 เหมือนกัน เพราะลุงนึกกับราชิตเป็นญาติกัน เป็นคนถิ่นหัวไทรด้วยกันและน่าสังเกตว่า รูปพูนที่พี่น้อยนำมาลง เป็นรูปที่พูนใส่เสื้อสีเหลือง และปักที่หน้าอกว่า ‘ทีม ดร.โจ’

โค้งสุดท้ายของรัฐนาวา เปิด 4 ภารกิจยากที่ 'ประยุทธ์' ต้องตัดสินใจ จะเดินหน้า หรือพอแค่นี้ในวัยย่าง 68 ปี

หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังอยู่ในตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อถึงปี 68 เดินทางกลับเข้าทำเนียบทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้

ภารกิจเริ่มต้นในวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2565 เข้าทำเนียบให้บรรดาเอกอัครราชทูต, ทูตที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใหม่เข้าพบ วันอังคารก็จะทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติ และวันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม ก็จะเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมจากฤทธิ์ของพายุโนรู ที่จังหวัดอุบลราชธานี

แต่หลังจากนี้ยังมีภารกิจที่ต้องตัดสินใจทันทีอีก 4 เรื่องที่รออยู่...

>> ภารกิจแรก คือ การตัดสินใจว่าจะปรับคณะรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่หรือไม่ 4 ตำแหน่ง คือ 

1.) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แทนนิพนธ์ บุญญามณี จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกไปสู้คดีในชั้นศาลกับ ป.ป.ช.ที่ถูก ป.ป.ช.กล่าวหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่เบิกจ่ายงบให้บริษัทเอกชนผู้ชนะการประมูลรถอเนกประสงค์ซ่อมบำรุงทางของ อบจ.สงขลา สมัยเป็นนายกฯอบจ.สงขลา ด้วยเหตุผลว่า พบมีการฮั้วประมูล

2.) แทนตำแหน่งของกนกวรรณ วิลาวัลย์ พรรคภูมิใจไทย ที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา หลังศาลประทับรับฟ้องคดีบุกรุกป่าเขาใหญ่ ถือเป็นการละเมิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย มีคดีตัวอย่างที่ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐโดนมาแล้ว ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต

3.) ปรับแทนตำแหน่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง จากปฏิบัติการล้มประยุทธ์กลางสภา แต่แผนรั่วเสียก่อน จึงถูกเตะออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

4.) ปรับแทน ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกปลดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อม ร.อ.ธรรมนัส จากปฏิบัติการล้มประยุทธ์เช่นกัน

โดยในกรณี ร.อ.ธรรมนัส และ ดร.นฤมล ถือเป็นเด็กในคาถาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และหลังจากถูกปลดก็ยังไม่มีการแต่งตั้งใครมาแทน แต่ในสถานการณ์ใกล้เลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง จึงน่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ในเร็ววัน เพราะคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็จะหมดวาระลงพร้อมวาระของสภาในวันที่ 23 มีนาคม 2566 

>> ภารกิจที่สอง คือ การเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมเอเปกในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่สำคัญคือจะแก้หน้าอย่างไรกับการที่ผู้นำโลกอย่าง 'โจ ไบเดน' ไม่มาร่วมประชุมด้วย แค่ขออยู่ร่วมงานแต่งงานของหลาน ที่สำคัญคือในฐานะเจ้าภาพต้องจัดงานให้เป็นที่ประทับใจ เกิดประโยชน์กับชาติประเทศ และประเทศไทยให้มากที่สุดด้วย

'ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย' สู้กันทุกเม็ดบนสนามกระบี่ จุดเริ่มเกมปั้นสถานะ 'พรรคใหญ่' ต้องได้เลือก ไม่ใช่ถูกเลือก

สนามเลือกตั้งฝั่งอันดามัน ดูจะกลายเป็นสนามเดือดในการช่วงชิง 14 ที่นั่งในสภา จาก 6 จังหวัด อันประกอบด้วย ระนอง 1 ภูเก็ต 2 พังงา 2 กระบี่ 3 ตรัง 4 และสตูล 2 ซึ่งจะเป็นการเชือดเฉือนกันของสองพรรคการเมืองหลัก คือ 'ประชาธิปัตย์' และ 'ภูมิใจไทย'

ทั้งสองพรรคประกาศยึดฝั่งอันดามัน จากเดิมที่มีประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ แบ่งกันอยู่แล้ว อย่าวกระบี่ ในการเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทยมีอยู่แล้ว 1 คือ สฤษดิ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประชาธิปัตย์มีอยู่แล้ว 1 เช่นกัน คือสาคร เกี่ยวข้อง คราวที่แล้ว 'ตระกูลเกี่ยวข้อง' ตกลงกันได้แบ่งกันพรรคละเขต เลือกตั้งครั้งใหม่กระบี่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น จำนวน ส.ส.จึงเพิ่มเป็น 3 คน

แน่นอนว่าทั้งประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ต่างหมายมั่นปั้นมือรักษาของเก่า และเพิ่มของใหม่ โดยทั้งสองพรรคตั้งเป้ายึด 3 ที่นั่งของกระบี่ ซึ่งต่างเปิดตัวผู้สมัครกันไปหมดแล้ว เพื่อยืนยันความพร้อม

ย้อนไปเมื่อวันเสาร์ที่ (13 ส.ค. 2565) อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และโกเกี๊ยะ-พิพัฒน์ รัชกิจประการ แม่ทัพใต้ ได้ยกทีมไปเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.กระบี่ ทั้ง 3 เขต ที่ลานพระอาทิตย์ อบจ.กระบี่

พรรคภูมิใจไทย ได้วางตัวผู้สมัคร ส.ส.ไว้เรียบร้อยแล้วเขต 1 โกหนึ่ง-กิตติ กิตติธรกุล เลขานุการนายก อบจ.กระบี่ ถือเป็นตระกูลการเมืองใหญ่ของกระบี่ เขต 2 สจ.ม้อ-ถิรเดช ตั้งมั่นก่อกิจ อดีต ส.อบจ.กระบี่ เขต อ.อ่าวลึก และเขต 3 โกสุทธิ์-สฤษดิ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ 

พรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ปล่อยให้ภูมิใจไทยเหยียบจมูกในฐานะเจ้าถิ่นเก่า โดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรีฑาทัพหลวง ทั้งบัญญัติ บรรทัดฐาน, เฉลิมชัย ศรีอ่อน, นิพนธ์ บุญญามณี ไปจัดสัมมนาที่กระบี่ พร้อมเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.กระบี่ ทั้ง 3 เขต ประกาศความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง 'จุรินทร์' มั่นใจว่า จะกลับมายึดกระบี่คืนได้ทั้ง 3 เขต

3 คนของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะลงสู้ศึกครั้งหน้าชื่อเสียงเรียงนามไม่ธรรมดาเหมือนกัน เขต 1 โกเคี่ยง ธนวัช ภูเก้าล้วน ลูกชายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ มีฐานะจัดอยู่ในระดับเศรษฐีเขต 2 สาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ และเขต 3 พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลูกสาวพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล นั่นเอง

แม่ทัพตัวจริงของภูมิใจไทย เมืองกระบี่คือ โกหงวน- สมศักดิ์ กิตติธรกุล นายก อบจ.กระบี่ 7 สมัย สหายร่วมรบของ 'เนวิน ชิดชอบ' แห่งเมืองบุรีรัมย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top