‘พิธา’ กับวิกฤตหุ้นสื่อไอทีวีที่ต้องเผชิญ เมื่อสังคมต่างตั้งคำถาม แม้จะเจ้าตัวยืนยันว่า พร้อมชี้แจง กกต. และขอเดินหน้าจัดตั้ง รบ.ต่อ

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายอมรับว่า มีการโอนหุ้นสื่อไอทีวีของตนเองแล้ว และมีความพร้อมที่จะชี้แจงต่อ กกต.

ประเด็นถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา คงต้องรอ กกต.ว่าจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร จะยกคำร้อง หรือจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

‘หุ้นไอทีวี’ เป็นประเด็นที่กระทบต่อการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ยิ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไอทีวียังอยู่ และยังผลิตสื่ออยู่ จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อนายพิธาในการก้าวเดินต่อไป

จากประเด็นการถือหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา ทำให้เกิดข้อสงสัยและเกิดการตั้งคำถามตามมาอีกหลายประเด็น เช่น

- ข้อต้องห้ามการลงสมัคร ส.ส.ห้ามเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นสื่อ
- ข้อบังคับพรรคก้าวไกล ห้ามสมาชิกพรรคเป็นเจ้าของสื่อ และถือหุ้นสื่อ
- นายพิธาถือหุ้นไอทีวีมาตั้งแต่ปี 2549 หลังพ่อเสีย ทำให้หุ้นก้อนนี้ตกทอดมาถึงทายาท
- ปี 2562 นายพิธาลงสมัคร ส.ส.มาแล้วครั้งหนึ่ง และได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ การถือหุ้นไอทีวีของนายพิธาจะกระทบถึงการเป็น ส.ส.ปี 2562 หรือไม่?
- นายพิธาไม่มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล จะเป็นหัวหน้าพรรคได้หรือ?
- นายพิธาเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ จะถือเป็นโมฆะหรือไม่?
- ผู้สมัครก้าวไกลที่มีคะแนนนำ จะได้เป็น ส.ส.หรือไม่?
- คะแนนพรรคจะสามารถเอามาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อก้าวไกลได้หรือไม่?

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นประเด็นคำถามทั้งสิ้น ยังไม่นับรวมเรื่องรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตรา ตัวอย่างเช่น

1.) การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 นั้น ดำเนินการก่อนปิดรับสมัคร ส.ส. ซึ่งนายพิธาถือหุ้นไอทีวีอยู่
2.) มาตรา 89 (2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160
3.) มาตรา 160 (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
4.) มาตรา 98 (3) ห้ามผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ

ดังนั้น ถ้าตีความตามนี้ก็น่าจะถือว่า นายพิธา ‘ขาดคุณสมบัติ’ ตั้งแต่วันปิดรับสมัครตามมาตรา 88 ในวันที่ 4-7 เมษายน 2566 แล้วครับ (ตามความเห็นของ สว.สมชาย แสวงการ)

แต่หนทางที่ถูกต้องชอบธรรมที่สุด คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่สรุปข้อเท็จจริงส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติครับ คำวินิจศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด คำวิฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร