Monday, 29 April 2024
หุ้นสื่อ

‘สนธิญา’ ร้อง กกต. สอบคุณสมบัติ ‘พิธา’ ปมถือหุ้นสื่อ ชี้!! หากผิดจริง อาจพาผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกลเป็นโมฆะไปด้วย

(12 พ.ค. 66) ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง ​(กกต.)​ นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคฯ หลังถูกตรวจสอบแล้วพบว่า ยังถือครองหุ้นในบริษัทสื่อสารมวลชน อาจเข้าข่ายขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ​(พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

นายสนธิญา กล่าวว่า​ การถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา​หากตรวจสอบแล้วพบว่า นายพิธามีความผิดจริงจะส่งผลให้จำนวน ส.ส.ไม่ถึง 90% และจะทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากนายพิธาเป็นหัวหน้าพรรคที่ต้องรับรองคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล แต่เมื่อนายพิธาขาดคุณสมบัติเสียเอง ก็จะส่งผลทำให้การรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครพรรคก้าวไกลทุกคนเป็นโมฆะ

นายสนธิยา ยังกล่าวว่า ตนได้เปิดแฟนเพจเพื่อรับเรื่องร้องทุกข์แจ้งเหตุการณ์ทุจริตการเลือกตั้งซึ่งพบว่ามีหลายคนส่งข้อความมาแจ้งเรื่องของการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง มีหัวคะแนนของพรรคการเมืองและผู้สมัครตระเวนเก็บบัตรประชาชนและจดรายชื่อของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยสัญญาว่าจะให้เงิน ซื้อเสียง แต่จนถึงตอนนี้ใกล้วันเลือกตั้งแล้วหัวคะแนนยังไม่ยอมมาจ่ายเงินตามที่สัญญาไว้จึงอยากให้กรรมการการเลือกตั้งส่งผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีข้อเท็จจริงอย่างไร โดยได้นำหลักฐาน เป็นภาพและเบอร์ของผู้สมัครพร้อมทั้งข้อความการพูดคุยผ่านทางเมสเซนเจอร์แฟนเพจมายื่นให้กับกกต.ประกอบการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป

‘พิธา’ กับวิกฤตหุ้นสื่อไอทีวีที่ต้องเผชิญ เมื่อสังคมต่างตั้งคำถาม แม้จะเจ้าตัวยืนยันว่า พร้อมชี้แจง กกต. และขอเดินหน้าจัดตั้ง รบ.ต่อ

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายอมรับว่า มีการโอนหุ้นสื่อไอทีวีของตนเองแล้ว และมีความพร้อมที่จะชี้แจงต่อ กกต.

ประเด็นถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา คงต้องรอ กกต.ว่าจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร จะยกคำร้อง หรือจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

‘หุ้นไอทีวี’ เป็นประเด็นที่กระทบต่อการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ยิ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไอทีวียังอยู่ และยังผลิตสื่ออยู่ จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อนายพิธาในการก้าวเดินต่อไป

จากประเด็นการถือหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา ทำให้เกิดข้อสงสัยและเกิดการตั้งคำถามตามมาอีกหลายประเด็น เช่น

- ข้อต้องห้ามการลงสมัคร ส.ส.ห้ามเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นสื่อ
- ข้อบังคับพรรคก้าวไกล ห้ามสมาชิกพรรคเป็นเจ้าของสื่อ และถือหุ้นสื่อ
- นายพิธาถือหุ้นไอทีวีมาตั้งแต่ปี 2549 หลังพ่อเสีย ทำให้หุ้นก้อนนี้ตกทอดมาถึงทายาท
- ปี 2562 นายพิธาลงสมัคร ส.ส.มาแล้วครั้งหนึ่ง และได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ การถือหุ้นไอทีวีของนายพิธาจะกระทบถึงการเป็น ส.ส.ปี 2562 หรือไม่?
- นายพิธาไม่มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล จะเป็นหัวหน้าพรรคได้หรือ?
- นายพิธาเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ จะถือเป็นโมฆะหรือไม่?
- ผู้สมัครก้าวไกลที่มีคะแนนนำ จะได้เป็น ส.ส.หรือไม่?
- คะแนนพรรคจะสามารถเอามาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อก้าวไกลได้หรือไม่?

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นประเด็นคำถามทั้งสิ้น ยังไม่นับรวมเรื่องรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตรา ตัวอย่างเช่น

1.) การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 นั้น ดำเนินการก่อนปิดรับสมัคร ส.ส. ซึ่งนายพิธาถือหุ้นไอทีวีอยู่
2.) มาตรา 89 (2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160
3.) มาตรา 160 (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
4.) มาตรา 98 (3) ห้ามผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ

ดังนั้น ถ้าตีความตามนี้ก็น่าจะถือว่า นายพิธา ‘ขาดคุณสมบัติ’ ตั้งแต่วันปิดรับสมัครตามมาตรา 88 ในวันที่ 4-7 เมษายน 2566 แล้วครับ (ตามความเห็นของ สว.สมชาย แสวงการ)

แต่หนทางที่ถูกต้องชอบธรรมที่สุด คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่สรุปข้อเท็จจริงส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติครับ คำวินิจศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด คำวิฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

จตุพร’ มั่นใจ!! ‘พิธา’ อาจก้าวไม่ไกลถึง ‘นายกฯ’ ปมถือหุ้นสื่อ-ไม่สามารถรวมเสียงได้ถึง 376 เสียง

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 66 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน ‘หนีความจริงไม่พ้น….’

นายจตุพร กล่าวตอนหนึ่งว่า คุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. และแคนดิเดตนายกฯ นั้น ไม่ใช่เรื่องจะนำมาวัดค่าว่า เป็นคนดีหรือไม่ดี อีกทั้งไม่เกี่ยวกับความชอบหรือไม่ชอบ แต่เป็นข้อกฎหมายห้ามไว้ให้กระทำได้หรือทำไม่ได้ ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นหลักในการชี้ขาดคุณสมบัติทางการเมือง

กรณีการถือหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ล้วนเป็นต้นตอมาจากตัวเองฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมาย โดยตอนแรกอาจไม่คาดคิดจะเกิดปัญหาขึ้น ส่วนวันนี้จะยอมรับความจริงหรือไม่ก็ตาม ก็หนีไม่พ้น อย่างไรก็ตาม แม้เทขายหรือโอนหุ้นออกไปจากตัวเองแล้ว แต่ไม่มีผลอะไรที่จะหนีข้อห้ามตามกฎหมาย ซึ่งได้กระทำมาตั้งแต่ต้นแล้ว

“ปมการถือหุ้นของนายพิธา ขณะนี้ทุกฝ่ายล้วนเล่นเกมกันหลายฝ่าย เป็นเกมที่เริ่มตั้งแต่การออกกติกา แล้วช่วงแข่งขันเลือกตั้งก็ยังเล่นเกมลำหักลำโค่นชิงชัยชนะกันอยู่ อีกทั้งยังมีเกมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาผสมส่วนร่วมเล่นกรณีแจกใบเหลือง แดง ส้มกับว่าที่ ส.ส. ประมาณ 30 คนด้วย หากในจำนวนนี้มีบางส่วนหรือบางคนเป็นกรรมการบริหารพรรค ก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาถมทับหนักเข้าไปอีก โดยอาจถึงขั้นมีความผิดอาจลามไปถึงยุบพรรค ดังนั้น จึงควรจับตาในช่วง กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส. ในเดือน มิ.ย. นี้จะได้ครบถ้วนจำนวน 95% ของจำนวน ส.ส. 500 คนหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การเปิดประชุมสภาได้เลือกตำแหน่งประธานสภา” นายจตุพร กล่าว

นายจตุพรกล่าวว่า นายพิธา ควรต้องทำใจเย็นเอาไว้ พร้อมทั้งต้องคิดถึงการแก้ปัญหาจะเป็นอย่างไร หากจะสู้ให้รอด จะเป็นได้จริงหรือไม่ หรือถ้ารอดโดยให้มีโทษจะลดน้อยไม่ก่อกระทบกับคนอื่นอย่างไร ดังนั้น หลักคิดจึงอยู่ที่ความรับผิดชอบ ไม่ใช่เรื่องดี-ชั่ว ถึงอย่างไร แม้ไม่มีคดีหุ้นเป็นอุปสรรคในชัยชนะแล้วก็ตาม แต่โอกาสได้เป็นนายกฯ ยังยากอยู่ดี เพราะไม่ได้เสียงครบ 376 เสียงจากทั้งหมด 750 เสียงของสองสภารวมกัน

“พวก คสช.คณะยึดอำนาจชุดนี้ เหมือนทำวิจัยในช่วง 90 ปีมาอย่างดี โดยพิจารณาข้อดี ข้อด้อยของแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา และยังศึกษาความบกพร่องและอารมณ์ของคนไทย ดังนั้น ถ้า 3 ป. เป็นคนหักไม่ยอมงอ ประเภทคำไหนคำนั้น พวกเขาคงไปจากอำนาจนานแล้ว แต่คนพวกนี้กลับมีทั้งเล่นบทอ่อนและแข็งยึดหยุ่นกันไป เมื่อเสนอเรื่องอะไรถ้าถูกค้านก็ถอย ดังนั้นพวกเขาปกครองด้วยการไม่ใช่วิถีคนจริง แต่เป็นการลู่แรงลมต้านในบางช่วงขณะให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลาย แล้วคนไทยก็เบาใจมาตลอด 9 ปี” นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ มีปัจจัยภายนอกเป็นเงื่อนไขทับซ้อนมากมาย 
วันนี้คนคิดเป็นนายกฯ ยังเห็นหน้าลอยในมุมมืดเฝ้ารอคอยอยู่ ส่วนนายพิธา ตนมั่นใจว่า ไม่ได้เป็นนายกฯ 100% เพราะมีคุณสมบัติต้องห้ามและไม่สามารถรวบรวมเสียงได้ถึง 376 เสียง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางกฎหมายและเกมกติกากำหนด โดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ตามที่อารมณ์ความรู้สึกต้องการ

เล็งชง ‘นิกม์’ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ มาเป็นพยานปากเอกคดีถือหุ้นสื่อไอทีวีของ ‘พิธา’

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจะเชิญนายนิกม์ แสงศิรินาวิน ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เขต 17 คลองสามวา กทม. มาเป็นพยานกรณีการถือหุ้นสื่อไอทีวีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล

นายนิกม์เป็นผู้ให้สัมภาษณ์คนแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยนายนิกม์เคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และได้ถือหุ้นไอทีวีเช่นเดียวกับนายพิธา ซึ่งตอนนั้นพรรคอนาคตใหม่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิ์นายธนาธร นายนิกม์ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แต่นายพิธาได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยที่ขณะนั้นนายพิธายังไม่ได้มีการขายหุ้น กกต.จึงควรเอานายนิกม์เข้ามาเป็นพยานบุคคล

ถ้า กกต.ไม่สามารถเชิญนายนิกม์มาให้ปากคำเป็นพยานได้ ก็ควรจะเชิญสื่อมวลชนที่สัมภาษณ์นายนิกม์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นพยาน

‘ไพศาล’ ยัน!! ไอทีวีไม่ใช่สื่อ ใช้เรื่องนี้สอย ‘พิธา’ ไม่ได้ เนื่องจากช่องถูกยึดคลื่นสัญญาณ ตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว!!

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 66 นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องหุ้นสื่อไอทีวี ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Paisal Puechmongkol’ โดยมีรายละเอียดว่า “เรื่องหุ้นสื่อไอทีวี ประเด็นชี้ขาดเรื่องหนึ่ง คือ ‘ไอทีวี’ เป็นสื่อและทำธุรกิจสื่อหรือไม่?

1.) ตั้งร้านชื่อรุ่งฟ้าอาภรณ์ แต่ที่ทำคือขายข้าวมันไก่ ร้านนี้เป็นร้านข้าวมันไก่ ทำการขายข้าวมันไก่ จึงไม่ใช่ร้านตัดเสื้อผ้าฉันใด ไอทีวีก็ฉันนั้น

2.) ไอทีวีเป็นสื่อประเภทวิทยุโทรทัศน์ จะทำธุรกิจได้ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 2 อย่าง คือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรทัศน์วิทยุ และคลื่นสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเป็นของรัฐ ถ้าไม่มีสองสิ่งนี้แล้ว ก็ทำธุรกิจสื่อไม่ได้

3.) ไอทีวีทำสัญญาร่วมการงานกับรัฐฯ คือ สำนักปลัดสำนักนายกทำธุรกิจสื่อวิทยุโทรทัศน์ จึงได้รับอนุญาตให้ทำวิทยุโทรทัศน์ และคลื่นสัญญาณจากทางราชการ

4.) ต่อมาสำนักนายกฯ ได้ยกเลิกสัญญาร่วมการงาน และยึดเอาคลื่นวิทยุสัญญาณ กลับมาเป็นของรัฐทำให้ไอทีวี ทำสื่อไม่ได้ และเลิกทำสื่อตั้งแต่บัดนั้น เรียกว่า ‘ไอทีวี’ จอดำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา โดยไม่ได้ทำธุรกิจอื่นใดอีก ความเป็นสื่อและการประกอบธุรกิจสื่อจึงสิ้นสุดลง ตั้งแต่เกือบ 20 ปีที่ผ่านมาแล้ว!!!

5.) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไอทีวีก็ไม่ได้ทำธุรกิจสื่อใดๆ อีกเลย จึงไม่ได้เป็นสื่อและไม่ได้ทำธุรกิจสื่อด้วย

6.) ไอทีวีได้ดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ จึงยังเลิกบริษัทไม่ได้ เพราะรอรับค่าเสียหาย และชนะคดีตลอดมา ซึ่งศาลฎีกาจะตัดสินคดีในที่สุดในไม่กี่วันข้างหน้านี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไอทีวีมีรายได้จากดอกเบี้ยของเงินฝาก และมีค่าเช่า จากการนำเอาอุปกรณ์ให้เช่า ซึ่งไม่ใช่กิจการสื่อ

ดังนั้น ตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา ไอทีวีจึงไม่ใช่สื่อ และไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อ และไม่ได้ทำธุรกิจใดๆ 

ดังนั้น หุ้นของไอทีวีจึงไม่ต้องห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะถือหุ้นดังกล่าว ต่อให้ใครถือหุ้นไอทีวีสักเท่าใดก็ไม่ผิด ไม่ขาดคุณสมบัติในการเลือกตั้ง

เมื่อประเด็นสำคัญนี้ ยุติว่าไอทีวีไม่ใช่สื่อแล้ว ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อแล้ว ก็สอยนายพิธา ไม่ได้
เงิบๆๆๆ”

‘โบว์ ณัฏฐา’ ชำแหละรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ชี้!! เป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบได้ ไม่มีผลต่อ ‘พิธา’ ปมถือหุ้นสื่อ

วันที่ (12 มิ.ย. 66) คุณโบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมอิสระ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ ‘Bow Nuttaa Mahattana’ ถึงกรณี ความถูกต้องของรายงานการประชุม เพื่อการตรวจสอบความโปร่งใสของไอทีวี โดยระบุว่า…

แม้การตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องของรายงานการประชุมจะทำได้และควรทำ เพื่อการตรวจสอบความโปร่งใสของบริษัทมหาชน แต่จะไม่มีผลกับการวินิจฉัยประเด็น ‘การถือหุ้นสื่อ’ (ส่วนที่ว่าไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่) ของคุณพิธานัก (หากถูกส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญหลังรับรอง ส.ส.) เพราะ

1.) หากศาลให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการประกอบกิจการ ว่าไอทีวียังมีการผลิตสื่ออยู่หรือไม่ ก็ต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงอยู่แล้ว

2.) หากศาลให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ของบริษัท ตามเอกสารจดทะเบียนบริษัท ก็มีปรากฏอยู่แล้ว และไม่เคยถูกเปลี่ยน

จึงต้องพิจารณาว่าความเป็นสื่อนั้น นับตามนิตินัยจากเอกสาร หรือพฤตินัยเฉพาะช่วงเวลา หรือประกอบกัน

คำตอบในเอกสารรายงานการประชุม จึงเป็นเพียงการยืนยันว่า บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์อย่างกว้างๆ เท่านั้น ไม่ได้เจาะจงว่าทำอะไรแน่ชัด ซึ่งวัตถุประสงค์ทั้งหมดมีถึง 45 ข้อ

(ส่วนคดี ม.151 เป็นอีกประเด็น จะตั้งต้นได้ต้องวินิจฉัยประเด็นนี้ให้ชัดก่อน)
ที่มาเอกสารอ้างอิง : https://www.isranews.org/.../118460-inves09-545-4.html

ส่วนความเห็นส่วนตัวโบว์ที่พูดมาตลอด คือ กฎหมายนี้ไม่ควรมีอยู่แต่แรก ไม่สมเหตุสมผลทั้งในเชิงหลักการและการปฏิบัติ ทันทีที่ทำได้ควรแก้ไขค่ะ

นอกจากนี้ คุณโบว์ ยังได้โพสต์ข้อความอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ประเด็น คือ ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร คำตอบต่อคำถามนั้นในรายงานการประชุมก็ไม่มีผลต่อคดีคุณพิธา เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบได้อยู่แล้ว คำตอบตามเอกสารนี้จึงไม่ได้ให้คุณให้โทษกับใคร ไม่ว่าคนที่โยนคำถามจะมีเจตนาพิเศษอะไรหรือไม่ก็ตาม

ด้อมส้ม อย่าอ่านโพสต์นี้ด้วยอคติ (หรือไม่อ่านแต่พิมพ์ด่า) เพราะไม่มีส่วนไหนที่เป็นโทษกับคุณพิธาค่ะ ประเด็นคือ รายงานการประชุมนี้ ไม่สามารถให้คุณให้โทษกับคุณพิธาได้ในทางคดี

‘ปรเมษฐ์ ภู่โต’ ชี้สาระสำคัญคดี ‘พิธา’ ไอทีวี ยังถือว่าเป็นสื่อ ส่วนเรื่องคลิป-รายงานประชุม ต้องไปพิสูจน์กันอีกเรื่อง

นายปรเมษฐ์ ภู่โต นักข่าวสื่อมวลชนอาวุโส และผู้ดำเนินรายการคุยถึงแก่น ซึ่งออกอากาศทางช่อง NBT ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงกรณีการถือครองหุ้นไอทีวี โดยมีใจความว่า ...

คิดเอง จากข่าว....
ถ้าเอาตามที่ นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. ออกมาให้ความเห็น สาระสำคัญแห่งคดี น่าจะอยู่ที่ Itv ยังไม่ได้ไปจดเลิกกิจการ หรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์ ดังนั้นจึงยังถือว่า เป็นบริษัทที่ยัง "ประกอบกิจการสื่อ" 

ส่วนเรื่องคลิปการประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ตรงกับ รายงานการประชุมที่เป็นเอกสารนั้นเป็นคนละประเด็น

ประเด็นสำคัญคือ

1.พิธา ถือหุ้น Itv ณ วันสมัครรับเลือกตั้งจริง

2.บริษัท ItV ยังคงเป็นบริษัท ที่ถือว่าดำเนินการสื่อจริง
แม้ว่าวันนี้จะไม่มีสถานีโทรทัศน์ Itv แพร่ภาพอยู่ก็ตาม แต่ บริษัท ยังคงมีความประสงค์จะประกอบกิจการสื่อ ตามวัตถุประสงค์ ไม่ได้มีการแจ้งยกเลิก

3.พิธา รู้ว่า ตัวเองถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้าม แต่ก็ยังไปสมัคร 

4.ถ้าจะสู้ว่า ก็รู้ว่าถือหุ้น แต่คิดว่าItv ไม่ได้เป็นสื่ออีกแล้ว

ฟังขึ้นหรือไม่ กะอีแค่ให้คนไปคัดเอกสาร ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อมาตรวจสอบให้แน่ใจ มันยากตรงไหน

5.ส่วนคลิปที่ข่าว3มิติ ที่ไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ตัดต่อ หรือ ไม่ เป็นคนละส่วนที่ต้องไปพิสูจน์ความจริง

อาจจะมีผลในแง่สนับสนุนคำกล่าวของพิธาที่ว่า มีขบวนการฟื้นItv เพื่อสกัดไม่ให้เป็นนายกฯ 
แต่ไม่น่าจะมีผลต่อคดี

จบ....สวัสดี
 

‘สุริยะใส’ ผ่าปมคลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ชี้!! ข้อมูลมัดตัวแน่น คลิปและเอกสาร ขัดแย้งกันชัดเจน

เมื่อไม่นานนี้ ได้มีเอกสารรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 ที่ลงนามโดย นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานในที่ประชุม โดยระบุว่า มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งถามในที่ประชุมว่า “ไอทีวียังประกอบกิจการสื่อหรือไม่?” ซึ่งในบันทึกการประชุมระบุไว้ว่า “ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงิน และยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”

จนกระทั่ง เมื่อไม่นานนี้ ได้มีการนำเอาคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี ประจำปี 2566 บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ออกมาเปิดเผย โดยในคลิปวีดิโอดังกล่าว มีเสียงคำถามที่ถามโดยผู้ถือหุ้นว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อ หรือไม่” โดย นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานในที่ประชุม ให้ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”

ซึ่งทำให้ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาล่าสุด มีความขัดแย้งกับเอกสารรายงานการประชุมที่ถูกเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ จนทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อเรื่องดังกล่าวในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในทวีตเตอร์ ที่ได้มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวอย่างแพร่หลาย และมีการติดแฮชแท็ก #หุ้นitv ไปแล้วมากกว่า 1 แสนทวีต

ล่าสุด วันนี้ (12 มิ.ย. 66) ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกมาโพสต์คลิปผ่านสื่อโซเชียลติ๊กต็อกส่วนตัว ชื่อ ‘suriyasai_k’ โดยได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวนี้ ว่า…

“เรื่องหุ้นไอทีวีของคุณพิธา นับวันจะยิ่งเป็นมหากาพย์ และได้กลายเป็นมหากาพย์ของการเมืองไทยไปแล้ว และดูเหมือนไม่มีท่าทีจะจบลงง่ายๆ ประเด็นเก่าหลุดไป ก็มีประเด็นใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอีกตลอดเวลา จนล่าสุดก็ได้มีประเด็นบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นหลุดออกมาเป็นคลิปวิดีโอจากสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง และได้มีการแชร์กันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ ณ ขณะนี้”

นอกจากนี้ ผศ.ดร. สุริยะใส ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า คลิปวิดีโอบันทึกการประชุมที่หลุดออกมานั้น มีรายละเอียดคนละอย่างกับที่บันทึกในเอกสาร ซึ่งในบันทึกการประชุมรูปแบบเอกสาร โดยเฉพาะในช่วงคำถามที่ผู้ถือหุ้นถามถึงประเด็นที่ว่า ไอทีวียังประกอบกิจการอยู่หรือไม่นั้น ในเอกสารได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ว่า คำตอบคือ ยังประกอบกิจการสื่ออยู่ปกติ แต่ในคลิปวิดีโอที่หลุดออกมาโดยสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง ไม่ได้กล่าวแบบนั้น และยังกล่าวตรงกันข้าม ว่า ไม่ได้ดำเนินกิจการอะไร ยังต้องรอศาลปกครองตัดสินในคดีที่เป็นคู่ขัดแย้งกับสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะมีคำตัดสินออกมาในปลายเดือน มิ.ย.นี้

คำถามที่ต้องคิดต่อจากนี้ คือ

1.) หากคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมนี้เป็นความจริง แสดงว่าเอกสารฉบับนั้น เป็นของปลอม และมีคนไปแก้บันทึกการประชุม ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมาไล่เรียงกันว่า ใครบ้าง ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีตัวละครเกี่ยวคนที่ต้องดำเนินคดีกันอย่างถึงที่สุด

2.) หากคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมนั้นไม่ใช่ของจริง ก็ต้องมาตรวจสอบว่ามีการตัดต่อคลิปวิดีโอหรือไม่ และความจริงหรืออะไร เพราะมีผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่า เสียงและภาพในคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมนั้น มีความไม่สอดคล้องกัน ไม่ตรงกัน 100% จึงตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะมีการตัดต่อหรือไม่

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีการตรวจสอบกันต่อไป ว่าคลิปวิดีโอที่ถูกปล่อยออกมานั้น เป็นของจริงหรือผ่านการตัดต่อ และถ้าหากเป็นคลิปวิดีโอจริงที่ไม่ผ่านการตัดต่อ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเอกสารบันทึกการประชุมก่อนหน้านั้น ซึ่งมีรายละเอียดไม่ตรงกัน

“ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ สมมติว่า บันทึกที่เป็นเอกสารนั้นเป็นของปลอมก็ไปไล่จับผู้ที่ทำการแก้ไขกันต่อไป และหากคลิปวิดีโอที่ปล่อยออกมานั้นเป็นของจริง คดีจะหายไปหรือไม่? อย่าลืมนะครับว่า คดีที่มีการสอบสวนอยู่ ณ ขณะนี้ คือ “คุณพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวีอยู่หรือไม่?” คำตอบคือ “ยังถือหุ้นอยู่จริง” และคำถามที่ว่า “ไอทีวี ยังเป็นสื่ออยู่หรือไม่?” ตรงนี้ผมไม่ทราบ แต่ ไอทีวียังไม่ได้แจ้งยกเลิกการประกอบกิจการ ซึ่งหมายความว่า ไอทีวีจะกลับมาประกอบกิจการเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้น ในประเด็นนี้ยังไม่สามารถตัดออกไปได้ อาจจะเป็นคนละประเด็นกับคลิปบันทึกการประชุมว่าเป็นของจริงหรือของปลอม แต่คดีการถือหุ้นสื่อนี้ ยังคงอยู่ บางคนอาจจะบอกว่าคดีจะเบาลง แต่ผมว่าก็คงจะเบาลงเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ยังคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะเรื่องนี้จะยังไม่จบลงง่ายๆ ครับ” ผศ.ดร.สุริยะใส กล่าวทิ้งท้าย

‘อลงกรณ์’ ฟันธง ‘พิธา’ รอดคดีหุ้นไอทีวี เชื่อ จบในชั้นกกต. ภายใน 45 วัน

นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรีและอดีตส.ส.หลายสมัยเขียนเฟซบุ๊กวิเคราะห์คดีหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เรื่อง “กรณีหุ้นไอทีวี จบในชั้น กกต. เรื่องง่ายๆไม่มีอะไรซับซ้อน” โดยสรุปว่านายพิธาไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี จึงไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา151 และชี้ว่าคดีนี้จะจบลงในชั้น กกต. ภายใน45วันโดยมีข้อความดังนี้

ผมติดตามเรื่องหุ้นไอทีวี และมีความเห็นส่วนตัวในฐานะอดีต ส.ส.และอดีตรัฐมนตรี
จึงขออนุญาตแสดงความเห็นตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในข้อเขียนสั้นๆเรื่อง
”กรณีหุ้นไอทีวี จบในชั้น กกต. เรื่องง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน” ดังนี้ครับ

“กรณีหุ้นไอทีวี จบในชั้น กกต.
เรื่องง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการระบุไว้ในมาตรา 98(3) ซึ่งว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”

ดังนั้นกฎหมายลูกคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 จึงบัญญัติมาตรา 151 ความว่า “..ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร …(ลักษณะต้องห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ)

กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถือครองเป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี จะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 151ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 หรือไม่ เรื่องนี้มีหลายมุมมอง แต่สำหรับผมมีความเห็นดังนี้ครับ

1.ประเด็นหุ้นไอทีวี.ไม่มีอะไรซับซ้อนเพราะมีคำถามเดียวที่ต้องพิสูจน์คือ หุ้นไอทีวี เป็นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือเป็นของกองมรดกที่นายพิธาเป็นผู้จัดการมรดก เป็นปมสำคัญที่สุด

2.การพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องหุ้นไอทีวี ของนายพิธาคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยเฉพาะ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก

3.จากการประมวลข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบโดยปราศจากอคติจากทุกฝ่ายได้ความว่า นายพิธาถือหุ้นในนามผู้จัดการมรดกไม่ใช่ถือในนามส่วนตัวและในฐานะทายาทได้สละมรดกแล้วซึ่งมีผลว่าไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นตั้งแต่ปี2550 

4.เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจึงสรุปได้ว่า นายพิธาไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 151 

5.ดังนั้นประเด็นเรื่องหุ้นไอทีวี จะปิดสำนวนในชั้น กกต. ภายใน 30 วันหรือ 45 วัน
การพิจารณาประเด็นหุ้น ไอทีวี. ต้องยึดหลักความยุติธรรมโปร่งใสเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัย อย่าทำให้เป็นคดีการเมือง

ผมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งแข่งขันกับนายพิธาและพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องช่วยผดุงความยุติธรรมเมื่อเห็นว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับใครก็ตามแม้แต่คู่แข่งทางการเมือง เพราะความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมจะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมือง การบริหารประเทศด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรมสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในวันนี้และวันข้างหน้าครับ.
 

โบว์ ณัฏฐา’ ชี้ มีความพยายาม เบนความสนใจ กรณีหุ้นไอทีวี ทั้งที่ ความจริงมีแค่ ไอทีวีเป็นสื่อ - พิธาถือหุ้น

วันนี้ (14 มิ.ย. 66) นางสาวณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมอิสระ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ที่ชื่อ ‘โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา - Nuttaa Mahattana’ เกี่ยวกับเรื่องที่ ไอทีวี ยังคงดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท มีการส่งงบการเงินและเสียภาษีอยู่ โดยระบุว่า…

สิ่งที่ระบุในรายงานผู้ถือหุ้นไอทีวี เป็นความจริงเกี่ยวกับธุรกิจ คือบริษัทยังดำเนินการตามวัตถุประสงค์บริษัท ส่งงบการเงินและเสียภาษีอยู่ 

ซึ่งวัตถุประสงค์บริษัทมี 45 ข้อ ไอทีวีอาจไม่ได้ดำเนินการตามข้อ 40 ที่ว่าด้วยการประกอบการวิทยุโทรทัศน์ แต่ยังดำเนินการตามข้อ 41 ที่ว่าด้วยการผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตามที่ระบุในงบการเงินตั้งแต่ปี 65 

เรื่องทั้งหมดเป็นกิจการของบริษัทที่เกิดขึ้นตามปกตินานก่อนจะมีเรื่องการร้องเรียนคุณสมบัติคุณพิธาปมถือหุ้นสื่อ ก่อนคุณพิธาจะได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกฯของพรรคก้าวไกล ก่อนจะมีการเลือกตั้งและรู้ผลกัน

การพยายามสร้างทฤษฎีสมคบคิดต่างๆนานา คือความพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในคดีที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ ส.ส. และแคนดิเดทนายกฯตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแค่ …

- ไอทีวี เป็นสื่อฯหรือไม่?
- คุณพิธาถือหุ้นไอทีวีขณะสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่?
เท่านี้เอง.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top