หักหน้า 'กกต.' เมื่อ 8 จังหวัดต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ หลังบทสรุป 'ราษฎรไทย' ไม่ได้หมายรวมถึงคนต่างด้าว

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86 (1) ซึ่งกำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ที่ประกาศในปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า ‘ราษฎร’ ไม่หมายรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย

เป็นคำวินิจฉัยที่ตรงใจประชาชน และหักหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ใส่ต่างด้าวเข้ามาเป็นฐานคำนวณในการแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย 

โดยให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันนี้ (3 มี.ค.66) เป็นต้นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมา

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง(2) ว่า การคิดคำนวณจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค. ของปีที่ล่วงมามาใช้ในการคิดคำนวณจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ถูกต้องหรือไม่ เป็นการยื่นคำร้องหลังจากมีเสียงค้านอื้ออึงในการนำต่างด้านเข้ามาร่วมคำนวณการแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย ทำนองว่า ต่างด้าวเกี่ยวอะไรกับการเมืองบ้านเรา และมีการร้องไปยัง กกต.บ้าง ร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินบ้าง เพื่อให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และ กกต.ก็สุดจะทนแรงเสียดทาน หรือกลัวคุกก็ไม่ทราบได้ ตัดสินใจส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลให้ กกต.จะต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยจะต้องไม่นำผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณ ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงาน กกต.ได้มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแบ่งเขต โดยไม่นำผู้ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณไว้คร่าวๆแล้ว

เบื้องต้นการคำนวณใหม่จะมีผลให้ 8 จังหวัด มีความเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง คือ 4 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.ลดลง ประกอบไปด้วย 1.ตาก 2.เชียงราย 3.เชียงใหม่ และ 4.สมุทรสาคร

ส่วนจังหวัดที่จำนวน ส.ส. เพิ่ม คือ 1.อุดรธานี 2.ลพบุรี 3.นครศรีธรรมราช และ 4.ปัตตานี 

และจากการคำนวนโดยนำเฉพาะจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ 65,106,481 หากด้วย 400 เขต จะมีค่าเฉลี่ยประชากรต่อ 1 เขต 162,766 ซึ่งเดิมค่าเฉลี่ยที่นับรวมราษฎรที่นับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยคือ 165,226 คนต่อเขต

รอดูท่าทีของ กกต.ว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนในการแบ่งเขตเลือกตั้ง จะทันตามกรอบเวลาที่สภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงในวันที่ 23 มีนาคมนี้หรือไม่ หรือถ้านายกรัฐมนตรียุบสภา จะแบ่งเขตทันหรือไม่

เรื่อง: นายหัวไทร