‘บังเลาะ’ เด็กปั้น ‘นิพนธ์’ มั่นใจแจ้งเกิด ปักธงช่วยประชาธิปัตย์เข้าวิน เขต 2 ยะลา

‘บังเลาะ’ ลั่นลงสนาม ส.ส.พิสูจน์ฝีมืออีกครั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 ยะลา เหมือนเดิม หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 พ่ายให้กับ ‘ซูการ์โน มะทา’ พรรคประชาชาติ

“การเลือกตั้งครั้งที่แล้วผมมีเวลาเตรียมตัวน้อย เพียงไม่กี่วัน แต่คราวนี้เราเตรียมตัวมา 4 ปี จึงมีความพร้อมมากกว่า จากการสัมผัสชาวบ้านรู้สึกได้ว่าเขาอิ่มตัวกับนักการเมืองเก่า ต้องการเปลี่ยนบ้าง” บังเลาะ หรือ อับดุลย์เล๊าะ บูวา กล่าว

สำหรับเขต 2 ยะลา น่าจะประกอบด้วย อ.เมืองยะลา (เฉพาะ ต.บุดี เปาะเส้ง และ ต.บันนังสาเรง) อ.รามัน ยะหา (ยกเว้นต.ยะหา ตาชี และ ต.บาโงยซิแน) อ.กาบัง ปัจจุบันมีซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ เป็น ส.ส.อยู่

อับดุลการิม เด็งระกีนา อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คราวที่แล้วลงสนามพร้อมสวมเสื้อพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของลุงกำนัน (สุเทพ เทือกสุบรรณ) แต่พ่ายให้กับซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ (ปช.) น้องชาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นักการเมืองมุสลิม และ แกนนำ ‘กลุ่มวาดะห์’ ซึ่งตัวซูการ์โนเคยเป็นผู้ช่วย ส.ส. เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยะลา 2 สมัย เคยเป็น ส.ส.สังกัดพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.คนเดียวของพรรคในพื้นที่ ภาคใต้ โดยปี 2554 ซูการ์โนได้ลงสมัครในสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) เขตเลือกตั้งที่ 2 แต่พ่ายให้กับ อับดุลการิม เด็งระกีนา จากพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมองข้ามอีกคนหนึ่งในเขตนี้ไปไม่ได้ นั่นคือ ริดวาน มะเต๊ะ จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีดีกรีเป็นอดีต ส.อบจ.เขต อ.รามัน และมีบิดาชื่อ มะโซ๊ะ มะเต๊ะ เป็นอดีตกำนันคนดังแห่ง ต.ตะโละหะลอ อ.รามัน และในอดีตยังเป็นหัวคะแนนให้กับ อดีต ส.ส.ในพื้นที่มาแล้ว แต่คราวที่แล้วเขายังเดินไปไม่ถึงฝั่งฝัน

กล่าวสำหรับ ‘บังเลาะ-อับดุลย์เล๊าะ บูวา’ ยังคงมุ่งมั่นกระโดดเข้าสู่การเมืองระดับชาติ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันเป็นรองนายกเทศบาลตำบลโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา

บังเลาะ เข้าศึกษาต่อในตลาดวิชา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยระบบการศึกษาแบบ ‘แพ้คัดออก’ เข้าร่วมทำกิจกรรม ร่วมกับ ชมรมมุสลิม ม.รามคำแหง และกลุ่ม PNYS ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษามุสลิมที่มีพลังมากในรามคำแหง บังเลาะสนใจการเมืองมาตั้งแต่ต้น จึงเข้าร่วมกับพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า คือนักศึกษา 7 คณะ พรรคสานแสงทอง เช่น กิจกรรมออกค่ายอาสา กิจกรรมอบรมทางวิชาการ กิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และอื่น ๆ อีกมากมาย

หลังจบการศึกษาเข้าทำงานที่บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด ทำงานที่เนชั่น 24 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือ หัวหน้าซับเอดิเตอร์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่เนชั่น ได้เรียนรู้ถึงข้อมูลข่าวสารและแนวทางการวิเคราะห์ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งได้เผชิญกับวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ มาหลายยุคหลายสมัย เมื่อถึงเวลาอิ่มตัวกับงาน จึงตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าเดินทางกลับบ้านเกิด หมายมั่นทำงานการเมืองรับใช้บ้านเกิด

“ออกจากเนชั่นด้วยความคิดที่ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าสักวันจะต้องกลับสู่บ้านเกิด สิ่งที่จะทำคือการได้มีโอกาสในการใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เพื่อนำไปพัฒนาในพื้นที่ รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่างท้องถิ่น กับ หน่วยงานภาครัฐ เพื่องานจะได้คล่องตัวและราบรื่น”

บังเลาะ กล่าวว่า การเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น คือ เป็นการทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่แคบ ๆ และจำกัด แต่การเมืองระดับชาติ ถือ เป็นงานใหญ่ที่จะได้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างกว้างขวาง ซึ่งในพื้นที่เขต 2 ที่รับผิดชอบจะมีนักการเมืองที่เกือบจะผูกขาดมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ได้ทำอะไรกับประชาชนพอสมควร ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โอกาสคนรุ่นใหม่ จะได้ช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อับดุลย์เล๊าะ บูวา มั่นใจว่า การเลือกตั้งรอบใหม่นี้ ผมมีความหวังเต็ม 100 ที่จะได้รับการเลือกตั้ง โดยการเข้าถึงชาวบ้านในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง โดยได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านว่า ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนสักที และด้วยนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ โดนใจชาวบ้านอย่างที่สุด เช่น การประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ปาล์ม เป็นต้น รวมทั้งการเร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนดและให้สิทธิ์ทำกินในที่ดินของรัฐ ถือเป็นหัวใจหลักที่ได้เสียงตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก

บังเลาะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยะลาเป็นเมืองเกษตรกรรม มีผลไม้มากมาย ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น รัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง อนาคตเราจะเสนอให้ยะลาเป็น ‘เมืองฮับทุเรียน’

เลือดใหม่ประชาธิปัตย์ ‘อับดุลย์เล๊าะ บูวา’ ที่ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จูงมือมาลงสมัคร และหมายมั่นปั้นมือจะปั้นให้แจ้งเกิดให้ได้

ข้อมูลเคียงข่าว

จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีพืชทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 4 ชนิด ทุเรียน  ลองกอง เงาะ และมังคุด โดยไม้ผลที่ปลูกมากที่สุด คือ ลองกอง มีพื้นที่ปลูก 157,300 ไร่ รองลงมาเป็น ทุเรียน มีพื้นที่ปลูก105,135 ไร่ มังคุด มีพื้นที่ปลูก 39,630 ไร่ และ เงาะ มีพื้นที่ปลูก 39,446 ไร่ ตามลำคับ

ส่วนไม้ผล ที่เป็นที่รู้จักและนิยมของผู้บริโภคมากที่สุด คือ ลองกอง โดยฉพาะลองกองตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากเป็นลองกองที่มีรสชาติทวาน หอม และอร่อย

นอกจากนี้ ทุเรียน ชายแดนใต้ นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิด ที่ได้รับความนิยมเพิ่มการปลูกมากขึ้น ด้วยปัจจัยจากราคา ทำให้ทุเรียน ออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ตลาดรับซื้อผลไม้ ที่ขึ้นชื่อ และเป็นที่นรับรู้กันมานานคือ ตลาด ‘ สี่แยกมลายูบางกอก ‘ บนถนนสาย 15 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นับเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ใหญ่ที่สุดในชายแดนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อผลไม้ ไปสู่ตลาดทั่วประเทศ รวมถึงตลาดต่างประเทศ

สภาพปัจจุบัน ตลาดสี่แยกมลายูบางกอก

ปัจจุบัน ‘ ตลาดสี่แยกมลายูบางกอก’  จะมีเกษตรกร และพ่อค้ารับซื้อผลไม้ จะนำรถยนต์กระบะ รถบรรทุก มาจอดเรียงรายตามไหลทาง เป็นจุดรับซื้อทุเรียน ตลอดริมถนนสาย 15 มลายูบางกอก ซึ่งนอกจากจะมีผลกระทบกับระบบการจราจร อาจเกิดอุบัติเหตุ และไม่เป็นระเบียบ ซึ่งอาจมีผลต่อความปลอดภัย ได้

สำหรับการรับซื้อ นั้น พ่อค้าแต่ละรายจะเรียกชาวสวนที่ขนทุเรียนมาขาย พร้อมกับต่อรองราคาเมื่อได้ราคาที่พอใจ ทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ จะขนทุเรียนใส่ท้ายกระบะรถยนต์ของตนเอง รับซื้อจากชาวสวนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเต็มคันรถ ตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงช่วงดึก เมื่อได้จำนวนตามที่ต้องการ จะขนส่งไปขายยังจังหวัดต่าง ๆ

ส่วนทุเรียนที่รับซื้อ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหมอนทอง เนื้อทุเรียนอยู่ที่ 75-80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้มีทุเรียนชะนี ก้านยาวและทุเรียนบ้าน ด้วย

สำหรับพื้นที่สี่แยกมลายูบางกอก นั้นถือได้ว่าเป็นพื้นที่ ที่มีเส้นทางคมนาคมสำคัญตัดผ่านที่ใช้ในการสัญจรเชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองยะลา ไปยังอำเภอสำคัญๆทั้งอำเภอกรงปีนัง บันนังสะตา ธารโต เบตง ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการปลุกทุเรียนของจังหวัดยะลา 

อีกทั้งยังเชื่อมต่อไปยัง อำเภอรือเสาะ ศรีสาคร สุคิริน บาเจาะ ของจังหวัดนราธิวาส และอยู่ในเส้นทางที่จะขนส่งผลผลิตผ่านจังหวัดสงขลา ขึ้นไปสู่ภาคใต้ตอนบน และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย

จากการประเมินผลผลิตผลไม้ พืชเศรษฐกิจชายแดนใต้ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น แต่ให้ผลตอบแทนเกษตรกร ผู้ประกอบการในพื้นที่ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

แนวทางการพัฒนา ตลาดบางกอกมลายู

ด้วยสภาพพื้นที่ ตลาดบางกอกมลายู ปัจจุบันมีการซื้อขายบนไหล่ทาง ซึ่งนอกจากไม่เป็นระเบียบ และอาจเกิดอุบัติเหตุและความไม่ปลอดภัยได้ จึงมีแนวทางในการยกระดับตลาดมลายูบางกอก ให้เป็นตลาดมาตรฐาน เพื่อขยายฐานการรับซื้อจากเป็นตลาดเฉพาะกิจ พัฒนาให้เป็นตลาดซื้อขายผลไม้ ได้ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่สามจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส สามารถนำผลผลิตออกสู่ตลาดได้ทั้งปี เพื่อขยายช่องทางการกระจายสินค้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

อีกทั้งยังจะสร้างฐานธุรกิจทางการเกษตร ให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน และมั่นคง ขยายฐานสู่ภาคแรงงานในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้มีงานทำ มีอาชีพ และสร้างเงินหมุนเวียนในชุมชน สู่ ฮับตลาดสินค้าการเกษตรชายแดนใต้


เรื่อง : นายหัวไทร