Sunday, 28 April 2024
จีน

'โฆษกจีน' ย้อน 'ออสซี่' ทำข้อตกลง AUKUS กันแบบลับๆ แต่กลับป้ายสีข้อตกลง 'จีน-โซโลมอน' ไม่โปร่งใส

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนตำหนิ นายสก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรี และนายปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีกลาโหมของออสเตรเลียว่า มีเจตนาบิดเบือน และใส่ร้ายป้ายสีซ้ำซาก กรณีรัฐบาลปักกิ่งลงนามข้อตกลงความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอนไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

โดยนายกรัฐมนตรีออสซี่พูดอยู่เสมอว่า จีนกำลังสร้างฐานทัพบนหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งตั้งอยู่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และยังบอกอีกว่า สำหรับออสเตรเลีย และสหรัฐฯ แล้ว นี่ถือเป็นการก้าวข้าม “เส้นสีแดง” ซึ่งมีความหมายว่า ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ จะไม่ยอมทนอีกต่อไป

ในการแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันจันทร์ที่ 25 เม.ย. 65 โฆษกหวัง ได้ชี้แจง โดยกล่าวเน้นย้ำว่า การก่อสร้างฐานทัพอย่างที่นายกรัฐมนตรีออสซี่ว่านั้น เป็นเฟกนิวส์ทั้งเพ

โฆษกหวัง ยังกล่าวต่อไปว่า "สหรัฐฯ กับออสเตรเลียเอาแต่ก่นด่าข้อตกลงฉบับนี้ว่า ขาดความโปร่งใส ก็แล้วทีสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ทำข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคง “ออกัส” (AUKUS) เล่า ก็วางแผนกันใต้โต๊ะมิใช่หรือ โดยซุ่มกันทำปราศจากการเปิดเผย และไร้ความโปร่งใส!!"

"เมื่อใดกันเล่าที่สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย จะส่งข้อตกลง “ออกัส” ให้บรรดาชาติในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ได้พิจารณาไตร่ตรองเนื้อหา และเมื่อใดกันเล่าที่สหรัฐฯ จะปิดฐานทัพของตัวเองที่มีอยู่ 800 แห่งในกว่า 80 ประเทศ และภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งได้ก่อความวิตกกังวลในหมู่นานาชาติ" โฆษกหวังย้อนถาม

‘ชาวไต้หวัน’ ครึ่งเกาะไม่เชื่อ จีนบุก!! แล้วมะกันจะมาช่วย 

ผลสำรวจล่าสุด ชี้หัวเด็ดตีนขาดชาวไต้หวันก็ไม่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะส่งทหารมาปกป้องเกาะมังกรน้อย หากถูกจีนโจมตี โดยชาวไต้หวันที่หมดศรัทธาเพิ่มจำนวนขึ้น 2 เท่า จากผลสำรวจในช่วงก่อนหน้าที่รัสเซียจะบุกยูเครน

มูลนิธิความคิดเห็นสาธารณชนไต้หวัน (Taiwanese Public Opinion Foundation) เผยแพร่ผลสำรวจเมื่อวันอังคารที่ 26 เม.ย. 65 ระบุว่า ผู้ถูกสำรวจชาวไต้หวันร้อยละ 53.8 ค่อนข้างไม่เชื่อ หรือไม่เชื่ออย่างเด็ดขาดว่า วอชิงตันจะส่งทหารมาปกป้องเกาะมังกรน้อย หากถูกจีนโจมตี ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.5 จากการสำรวจก่อนหน้าเมื่อเดือนตุลาคม 64 

ผลสำรวจยังระบุอีกด้วยว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวเกาะมังกรน้อยสูญเสียความเชื่อถือไว้วางใจในกองทัพอเมริกา คือ ‘เหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครน’ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ปฏิเสธการส่งกองทหารไปช่วยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับยูเครน จึงทำให้ชาวไต้หวันกังขาว่า ถ้าพญามังกรกรีธาทัพบุกเกาะมังกรน้อยบ้าง พี่กันจะทำแบบเดียวกับกรณียูเครนหรือไม่

UK ผุด 'นาโตโลก' สร้างหลักประกันความปลอดภัย เหล่าชาติประชาธิปไตย ให้ปกป้องตนเองได้

“ระเบียบโลกที่สร้างขึ้นมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ดังนั้นตะวันตกจึงต้องการ ‘นาโตโลก’ เพื่อเสาะหาภูมิรัฐศาสตร์ใหม่” คำแถลงด้านนโยบายต่างประเทศครั้งสำคัญของ ‘ลิซ ทรัสส์’ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรเมื่อวันพุธ (27 เม.ย.) ที่หวังเร่งเร้าให้ชาติพันธมิตร ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ส่งมอบอาวุธหนัก, รถถัง และเครื่องบินรบให้ยูเครนเพิ่มเติม และเตือนว่าอาจต้องปฏิบัติกับจีนแบบเดียวกับรัสเซีย หากว่าปักกิ่งไม่ยอมเล่นตามกฎ

“วิสัยทัศน์ของฉันคือโลกใบหนึ่งๆ ที่ประเทศเสรีทั้งหลายมีความแน่วแน่และมีอำนาจ โลกที่เสรีภาพและประชาธิปไตยถูกเสริมความเข้มแข็งผ่านเครือข่ายความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและความมั่นคง” ทรัสส์ กล่าวในลอนดอน

ทรัสส์ ให้คำจำกัดความความตกลงนี้ว่า ‘เครือข่ายแห่งเสรีภาพ’ พร้อมอ้างว่า “มันมีความจำเป็น เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งหลายที่จัดตั้งขึ้นหลังปี 1945 อาทิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั้น ปัจจุบันเริ่มคดงอและบิดเบี้ยวไปแล้ว” เธอกล่าว

เธอกล่าวต่อว่า “ตะวันตกและพันธมิตรจำเป็นต้องร่วมกัน จัดหาอาวุธหนัก รถถังและเครื่องบิน มอบแด่ยูเครน ขุดคุ้ยคลังสำรองของเรา ยกระดับกำลังผลิต เพราะว่าเป้าหมาย คือ ผลักดันรัสเซียออกจากทุกตารางนิ้วของยูเครน และสร้างประเทศแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ตามกรอบของแผนมาร์แชล (แผนงานฟื้นฟูยุโรป)”

นอกเหนือจากนั้น ทรัสส์ ได้กล่าวต่อว่า ‘นาโต’ ต้องหาทางรับประกันว่าบรรดาชาติบอลข่าน และประเทศต่างๆ อย่าง มอลโดวา และ จอร์เจีย จะมีความยืดหยุ่นและมีศักยภาพธำรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยและเสรีภาพ และยึดมั่นนโยบายเปิดกว้าง

ขณะเดียวกัน ทรัสส์ ยังแสดงออกถึงความทะเยอทะยานไกลออกนอกยุโรป อีกว่า “ในโลกสมัยใหม่ เราต้องการ ‘นาโตโลก’ และเราจำเป็นต้องรับประกันว่าบรรดาประชาธิปไตยทั้งหลาย อย่างเช่นไต้หวัน จะสามารถป้องกันตนเองได้”

รัฐมนตรีต่างประเทศรายนี้ ยังได้ระบุถึงความพยายามคว่ำบาตรรัสเซียหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของสหราชอาณาจักร โดยบอกว่า “มันคือการตัดขาดไม่ให้รัสเซียเข้าถึงทางเศรษฐกิจอีกต่อไป มันจำเป็นต้องมีสิ่งตอบแทน และประเทศต่างๆ ที่ปรารถนาได้รับสิ่งตอบแทน พวกเขาจำเป็นต้องเล่นตามกฎ และในนั้นรวมถึงจีน”

'จีน' เมินประณามคว่ำบาตร หันจับมือการค้า 'รัสเซีย' ตั้งเป้าเงินสะพัด 200,000 ล้านดอลฯ ในปี 2024

รัสเซียเมื่อวันเสาร์ (30 เม.ย.) คาดว่าการไหลเวียนของสินค้ากับจีนจะเติบโตขึ้น และการค้ากับปักกิ่งจะแตะระดับ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2024 ในขณะที่มอสโกกำลังถูกตะวันตกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น

จีนปฏิเสธประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน และวิพากษ์วิจารณ์มาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงอย่างไม่เคยมีมาก่อนของตะวันตกที่กำหนดเล่นงานมอสโก สองประเทศยกระดับความสัมพันธ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในนั้นรวมถึงคำแถลง "ความเป็นหุ้นส่วนแบบไร้ขีดจำกัด" ในเดือนกุมภาพันธ์

"เรามุ่งเน้นไปที่การบรรลุเป้าหมาย ตามที่ทางประมุขแห่งรัฐตั้งเป้าไว้ว่าจะนำพาการค้าทวิภาคีสะพัดสู่ 200,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2024" จอร์จี ซิโนเวียฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกิจการเอเชียของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์ "ยิ่งไปกว่านั้น เราคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะบรรลุตัวเลขแห่งความทะเยอทะยานนี้เร็วกว่าแผนที่วางเอาไว้"

จีนเริ่มวางขายทุเรียนไทยแล้ว ฟากชาวจีนรอซื้อแม้ราคาสูง

(5 พ.ค. 65) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนทยอยวางจำหน่ายทุเรียนไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ส่งสัญญาณว่าฤดูทุเรียนมาถึงแล้ว โดยปีนี้ทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนช้ากว่าปกติและราคาสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคชาวจีนยังคงเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ

ทุเรียนจากสวนในไทย จะถูกเก็บเกี่ยวและส่งออกด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำสู่ท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจว ไป๋อวิ๋นในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน และกระจายไปยังทุกภูมิภาคของจีนอย่างรวดเร็ว เฉกเช่นร้านค้าในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

หวงเหม่ยเสีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารในเครือเจริญโภคภัณฑ์ประจำกว่างซี เผยว่า ร้านค้าของบริษัทได้รับทุเรียน 100 กล่อง ซึ่งถูกกระจายสู่ร้านสะดวกซื้อในท้องถิ่นและขายให้ลูกค้าขาจรจนหมดอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกังวลแม้ราคาจะสูงขึ้นกว่าปีก่อน

โดยทุเรียนยังคงเป็นผลไม้ยอดนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ครองตำแหน่งผลไม้นำเข้าดาวเด่น และปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีนี้ ซึ่งการนำเข้าทุเรียนสดในปี 2564 สูงกว่าในปี 2560 ราว 4 เท่า ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย รวมถึงมีกว่างตง กว่างซี และฉงชิ่ง เป็นแหล่งนำเข้าหลัก

ด้าน คุณนิศาชล ไทยทอง หรือไท่ลู่ลู่ หญิงไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในหนานหนิง และทำธุรกิจนำเข้าทุเรียนจากสวนในไทยมาขายในจีนจนมีกลุ่มลูกค้าในมือ เผยว่า เมื่อก่อนคนจีนรู้จักแต่ทุเรียนหมอนทอง แต่ตอนนี้เริ่มรู้จักทุเรียนพันธุ์อื่นๆ กันมากขึ้น ทั้งกระดุมทอง ก้านยาว และพวงมณี

ด้านเหว่ยพ่าน พ่อค้าไลฟ์สดขายของในกว่างซี จับมือทำธุรกิจกับคุณนิศาชลมานานหลายปี ส่วนปีนี้ทั้งสองนำเข้าทุเรียนไทยสู่กว่างโจว คุนหมิง และเมืองอื่น ๆ ทางเครื่องบิน ซึ่งใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ทำให้ทุเรียนยังคงสดใหม่เปลือกยังเป็นสีเขียวเงางามดูน่าซื้อไปรับประทาน

ปัจจุบันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและห้างสรรพสินค้าในจีนวางจำหน่ายทุเรียนกันแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ถูกขนส่งทางเครื่องบินเช่นกัน โดยบริษัทไทยหลายแห่งเริ่มขนส่งทุเรียนทางเครื่องบิน แม้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 35-40 บาทในปีก่อน เป็นราว 100 บาทต่อกิโลกรัมในปีนี้

ทั้งนี้ ช่องทางขนส่งทุเรียนไทยสู่จีนนั้นหลากหลาย นอกจากเครื่องบินแล้วยังมีรถบรรทุกที่วิ่งเข้าจีนผ่านเมืองผิงเสียงของกว่างซี หรือเรือที่แล่นจากท่าเรือแหลมฉบังสู่ท่าเรือชินโจวของกว่างซีและท่าเรือหนานซาของกว่างโจว คุณวรรณลดา รัตนพานิช กงสุลฝ่ายการพาณิชย์ประจำสถานกงสุลใหญ่ของไทย ณ นครหนานหนิง กล่าวว่าชาวจีนชื่นชอบทุเรียนไทยเป็นทุนเดิม โดยปีนี้ผู้ส่งออกหลายรายเลือกขนส่งทางเครื่องบินแทน

โซโลมอนสงสัย สหรัฐฯ หายตัวไป 30 ปี พอจีนมาลงทุน กลับมากดดัน | NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช EP.49

✨ ขอได้ไหม? อย่าเอา TikTok มาลง Instagram วอนผู้ใช้อย่า ‘รีโพสต์’ หนุนจูงใจให้สร้างเนื้อหาของตัวเอง
✨ โซโลมอนสงสัย สหรัฐฯ หายตัวไป 30 ปี พอจีนมาลงทุน กลับมากดดัน
✨อินเดียเนื้อหอม!! ชาติตะวันตกแห่ตบเท้าเข้าพบ หวังสกัดให้เลิกค้าขายกับรัสเซีย
✨3 ชาติ...ขอชิ่ง!! หลังชาติยุโรปเริ่มเจ็บหนัก เหตุร่วมคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย
✨รัสเซียจับมือจีน พัฒนาระบบนำทางร่วมกัน พร้อมยกเลิกใช้ GPS ของสหรัฐฯ

NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช

โดย อ.ต้อม - กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

.

.

'โซโลมอน' หวั่น!! ออสเตรเลีย 'ข่มขู่-รุกราน' หลังไปทำข้อตกลงความมั่นคงกับจีน

นายกรัฐมนตรีประเทศหมู่เกาะโซโลมอน กล่าวหาเป็นนัยว่า ออสเตรเลียข่มขู่จะ “รุกราน” และดูหมิ่นหมู่เกาะโซโลมอน สืบเนื่องจากการทำข้อตกลงความมั่นคงกับจีน ด้านผู้นำออสเตรเลียยืนยันการจัดการความสัมพันธ์กับหมู่เกาะโซโลมอนจะใช้วิถีทางการทูตต่อไป

นายกรัฐมนตรี มานาสเซห์ โซกาแวร์ ของหมู่เกาะโซโลมอน ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก กล่าวต่อรัฐสภาหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อ 4 พ.ค. 65 กล่าวหาว่า มีประเทศอื่นๆ ที่ข่มขู่จะ “รุกราน” หมู่เกาะโซโลมอน หลังจากที่โซโลมอนทำข้อตกลงความมั่นคงกับจีน 

และเขารู้สึกถูก “ดูหมิ่น” และหมู่เกาะโซโลมอนถูกปฏิบัติราวกับเป็น “นักเรียนอนุบาล” ที่ถือปืนเดินไปมา และจำเป็นต้องถูกควบคุมดูแล 

อย่างไรก็ตาม ผู้นำหมู่เกาะโซโลมอนไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศ แต่มีนัยถึงออสเตรเลีย สืบเนื่องจากก่อนหน้าที่ผู้นำโซโลมอนเพิ่งแสดงความไม่พอใจ ที่ออสเตรเลียไม่แจ้งให้โซโลมอนทราบ เกี่ยวกับการก่อตั้งพันธมิตรความมั่นคงใหม่ “ออคัส” (AUKUS) ที่ออสเตรเลียร่วมก่อตั้งขึ้นกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่โซกาแวร์ระบุว่า เขาเพิ่งรู้เรื่องข้อตกลงออคัสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง ทั้งๆ ที่ข้อตกลงนี้ จะทำให้มีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ในน่านน้ำแปซิฟิก

ด้านนายกรัฐมนตรี สก็อต มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย กล่าวในวันนี้ (5 พฤษภาคม) ยืนยันว่า จะยังคงจัดการความตึงเครียดกับหมู่เกาะโซโลมอนด้วยวิถีทางการทูต และความสัมพันธ์จะยังคงเป็นการที่ออสเตรเลียคอยสนับสนุนหมู่เกาะโซโลมอน รับฟังปัญหา และให้ความมั่นใจต่อหมู่เกาะโซโลมอนว่า ออสเตรเลียพร้อมจะสนับสนุนประชาชนในโซโลมอนเสมอมาเหมือนที่ผ่านมาและต่อไปในอนาคตด้วย แม้ว่าออสเตรเลียจะถูกกดดันและรู้สึกกังวล แต่จะจัดการปัญหาในแปซิฟิกอย่างรับผิดชอบ

จีนเข้ม สั่ง 'กิจการของรัฐ-บริษัทจีนใน/นอกประเทศ' เลิกใช้ PC ต่างชาติภายใน 2 ปี พร้อมหยุดซื้อเพิ่ม

นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ระบุว่า...

ด่วน!!

จีน สั่งให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนจีนทั่วประเทศ ยกเลิกการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ PC จากต่างประเทศภายใน 2 ปี ซึ่งจะมีจำนวนถึง 100 ล้านเครื่อง 

หมายความว่า...

1.) นับตั้งแต่วันนี้ไป บริษัทและกิจการของรัฐในประเทศจีนหรือนอกประเทศจีนจะต้องไม่ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ PC ของต่างประเทศอีก ซึ่งกว่า 80% เป็นของสหรัฐฯ

2.) เครื่องคอมพิวเตอร์แบบ PC ที่มีใช้อยู่จะต้องค่อยๆ ปลดระวางออกไป ก่อนกำหนด (ซึ่งปกติจะมีกำหนดปลดระวาง 5 ปี) หมายความว่าต้องปลดระวางให้หมดภายใน 2 ปี

สหรัฐฯ ใช้โอกาสสถานการณ์ทหารในยูเครนเร่งยอดขายอาวุธตัวเองให้ไต้หวัน เพื่อป้องกันการรุกรานจากจีน 

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานวานนี้ (7 พ.ค.) ว่า สหรัฐฯ กดดันให้ไต้หวันเพื่อสั่งซื้ออาวุธอเมริกันเพิ่มอีกล็อตใหญ่ อ้างอิงจากแหล่งข่าวอดีตและปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และไต้หวัน 9 คนที่รู้ในเรื่องนี้ โดยระบุว่า อาวุธล็อตใหม่มีเพื่อทำให้มั่นใจว่าไต้หวันจะสามารถมีศักยภาพขับไล่การรุกรานทางทะเลจากจีนได้

ในรายงานกล่าวว่า ประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิง-เหวิน พยายามที่จะทำการปรับปรุงยุทโธปกรณ์ของตัวเองเพื่อให้สามารถใช้ได้กับสถานการณ์สู้รบแบบอสมมาตร (asymmetrical warfare ) จากข้าศึกที่ใช้ในกรณีที่ขนาดกำลังและความสามารถของ 2 ฝ่ายแตกต่างกันมาก

ไช่ได้มองไปที่สหรัฐฯ เพื่อต้องการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความสามารถการทำลายล้างและเคลื่อนที่ได้เป็นจำนวนมาก

นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า นับตั้งแต่สงครามยูเครนเริ่มต้นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ล่าสุด สหรัฐฯ ได้เพิ่มความพยายามในการปรับปรุงการป้องกันประเทศให้แก่ไทเปอย่างรีบด่วนเพราะสหรัฐฯ และไทเปถูกทำให้เชื่อว่าสงครามยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้อาจเกิดขึ้นกับไต้หวันโดยฝีมือปักกิ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านั้นกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญ และเชื่อว่าสงครามที่เล็กกว่าพร้อมกับอาวุธที่เหมาะสมถูกใช้ในยุทธศาสตร์การทำสงครามแบบอสมมาตร ซึ่งตั้งเป้าไปที่ความสามารถในการเคลื่อนที่สูงและการโจมตีแบบแม่นยำนั้นจะมีความสามารถต้านกลับไปกองกำลังข้าศึกที่มีกำลังมากกว่าได้สำเร็จ และในรายงานระบุว่า เฮลิคอปเตอร์ ซีฮอว์ก MH-60R (MH-60R Seahawk) ของบริษัท ไชกอร์สกี แอร์คราฟ (Sikorsky Aircraft) ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทล็อกฮีดมาร์ตินโดยที่ระบุว่าไม่มีความเหมาะสมในสถานการณ์รบกับการรุกรานจีน

ซึ่งการศึกระหว่างจีนและไต้หวันนั้นคาดว่าจะแตกต่างจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และเชื่อว่าจะเป็นสงครามที่มีความยากลำบากมากกว่า ซึ่งคำสั่งซื้อจากไต้หวันเมื่อไม่นานมานี้นั้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การรบแบบอสมมาตร แต่ทว่ามีผู้เชื่ยวชาญทางการทหารในไต้หวันบางส่วนไม่เห็นด้วยและต้องการให้ไทเปเตรียมพร้อมทางการทหารสำหรับการรบแบบปกติมากกว่าซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมที่ใช้กับ "จีน" เช่นกัน

จีนเซ็นเซอร์!! โซเชียลบ่นแนวทางคุมโรค หลัง WHO โหมโควิดเป็นศูนย์ ‘ไม่ยั่งยืน’

จีนใช้มาตรการเซ็นเซอร์เพื่อปิดกั้นการถกเถียงในหมู่ชาวเน็ตแดนมังกร หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาวิจารณ์นโยบายคุม ‘โควิดเป็นศูนย์’ ของปักกิ่งว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ ‘ไม่ยั่งยืน’

จีนถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายเดียวของโลกที่ยังคงยึดนโยบายลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เหลือศูนย์ และใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเพื่อยับยั้งการระบาด

ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่จากทั้งหมด 25 ล้านคนในนครเซี่ยงไฮ้ถูกบังคับกักตัวอยู่แต่ในที่พักอาศัยแบบไม่มีกำหนด ระหว่างที่รัฐบาลกำลังต่อสู้เพื่อยุติการระบาดครั้งใหญ่

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO ออกมาเรียกร้องเมื่อ 10 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ให้จีนปรับแนวทางการควบคุมโรคเสียใหม่ เนื่องจากการคุมโควิดให้เป็นศูนย์อยู่ตลอดเวลานั้น “ไม่ยั่งยืน” ท่ามกลางการอุบัติขึ้นของเชื้อสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ที่แพร่กระจายได้เร็ว

การ “แทรกแซง” ของ WHO ในครั้งนี้ ทำให้จีนต้องระดมหน่วยเซ็นเซอร์ เพื่อเร่งปิดกั้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาในสื่อออนไลน์

โดยแฮชแท็ก #Tedros และ #who ถูกปิดกั้นการค้นหาในไมโครบล็อกเวยปั๋ว ขณะที่ผู้ใช้แอปพลิเคชัน WeChat ก็ไม่สามารถแชร์บทความที่เผยแพร่ลงในบัญชีทางการขององค์การสหประชาชาติได้

อย่างไรก็ดี ก่อนที่แฮชแท็กและคำค้นหาเหล่านี้จะถูกปิดกั้นไปเมื่อช่วงเช้า ชาวเน็ตจีนจำนวนมากได้คอมเมนต์และตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายปลอดโควิดของรัฐบาลปักกิ่ง โดยมีคนหนึ่งบอกว่า “แม้แต่ ผอ.อนามัยโลกก็ยังเปลี่ยนจุดยืนแล้วเลย” ขณะที่อีกคนตั้งคำถามว่า “รัฐบาลของเราจะฟังคำแนะนำของผู้อำนวยการ WHO ไหม?”

ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มเหลืออดกับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดเกินไป และไม่พอใจที่ภาครัฐดูเหมือนจะสั่งล็อกดาวน์แบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่เซี่ยงไฮ้ก็มีเหตุปะทะระหว่างตำรวจกับประชาชนเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ 

ทว่า ด้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ให้เหตุผลว่า หัวใจของยุทธศาสตร์คุมโควิดเป็นศูนย์ คือ การถือ “ชีวิตคน” สำคัญกว่าความสะดวกสบายด้านวัตถุ และมันก็ช่วยให้จีนรอดพ้นจากวิกฤตด้านสาธารณสุขอย่างที่หลายๆ ประเทศเคยเจอกันมาแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top