Thursday, 3 July 2025
จีน

จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ดิ่งหนักสุดรอบ 5 ปี ค้ากับยุโรป-อาเซียนพุ่งแทนที่ โตแตะแสนล้านดอลล์

(10 มิ.ย. 68) การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคม 2025 ลดลงถึง 34.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯ ก็ลดลงกว่า 18% ส่งผลให้ดุลการค้าของจีนกับสหรัฐฯ หดตัวลง 41.55% เหลือ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้การค้ากับสหรัฐฯ จะลดลง แต่จีนยังคงรักษาการเติบโตของการส่งออกโดยรวมได้ที่ 4.8% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย ขณะที่การนำเข้าลดลง 3.4% จากภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ

การค้ากับสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว ทำให้จีนเร่งปรับทิศทางการส่งออกไปยังตลาดอื่น โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 15% สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 12% และแอฟริกาเพิ่มขึ้นกว่า 33% ส่งผลให้ดุลการค้ารวมของจีนในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนหน้า แตะ 103,200 ล้านดอลลาร์

ภายใต้แรงตึงเครียดทางการค้า จีนและสหรัฐฯ ยังคงใช้มาตรการภาษีตอบโต้ แม้สหรัฐฯ จะลดภาษีสินค้าจีนจาก 145% เหลือ 51.1% แต่จีนยังเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ อยู่ที่ 32.6% การปรับเปลี่ยนทิศทางการค้าครั้งนี้สะท้อนยุทธศาสตร์ของจีนที่พึ่งพาตลาดทางเลือกในช่วงวิกฤต

ขณะที่สหรัฐฯ ถอยห่างจากจีน แต่ยุโรปกลับเดินเกมตรงข้าม โดยเพิ่มการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง บริษัทในยุโรปไม่ได้ถูกกดดันให้กระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนเท่ากับฝั่งสหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับยุโรปยังแน่นแฟ้น ส่งผลให้จีนสามารถชดเชยการส่งออกที่หายไปจากตลาดสหรัฐฯ ได้บางส่วน

เครื่องบินรบจีน J-36 เผยโฉมดุจหนังไซไฟ ผู้เชี่ยวชาญยกให้ น่าสนใจสุดในรอบหลายสิบปี

(10 มิ.ย. 68) ภาพล่าสุดของเครื่องบินรบล้ำยุค J-36 และ J-50 ของจีน จุดกระแสถกเถียงอีกครั้งถึงความก้าวหน้าทางอากาศของปักกิ่งในเวทีโลก โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า จีนกำลังเข้าใกล้การครองความเป็นใหญ่ด้านอำนาจทางอากาศในยุคถัดไป

บิล สวีทแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศยานให้สัมภาษณ์กับ South China Morning Post ว่า “ดีไซน์ของ J-36 และ J-50 นั้นน่าทึ่งยิ่งกว่าภาพยนตร์ฮอลลีวูด” พร้อมยกย่องว่าเป็น “หนึ่งในเครื่องบินรบที่น่าสนใจที่สุดในรอบหลายทศวรรษ”

ปีเตอร์ เลย์ตัน อดีตนายทหารอากาศของออสเตรเลีย ระบุว่า J-36 มีความสามารถด้านล่องหน ระยะปฏิบัติการไกล และเร่งความเร็วเหนือเสียงได้โดยไม่ต้องเปิดใช้งานระบบเผาไหม้หลัง ซึ่งทำให้มัน “ยากต่อการสกัดก่อนปล่อยอาวุธ” และถือเป็น “ข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์อย่างมีคุณภาพ”

สำหรับเครื่องบิน J-36 และ J-50 ถูกมองว่าเป็นหมากตัวใหม่ในเกมอำนาจทางทหารของจีน ท่ามกลางการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานขั้นสูงกับสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

เอกสารลับรัสเซียเผย FSB กลัวจีนแทรกซึมล้วงข้อมูล อ้างปักกิ่งวางแผนผนวกดินแดน ‘วลาดิวอสต็อก’

(11 มิ.ย. 68) เอกสารลับของหน่วยข่าวกรองภายในรัสเซีย (F.S.B.) ที่เพิ่งถูกเปิดเผย ระบุว่าจีนเป็น 'ศัตรู' และกำลังแทรกซึมเพื่อขโมยเทคโนโลยีทางทหารของรัสเซีย รวมถึงพยายามชักชวนผู้เชี่ยวชาญรัสเซียให้ทำงานเป็นสายลับ

แม้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จะประกาศมิตรภาพแน่นแฟ้นกับจีนอย่างเป็นทางการ แต่ภายใน F.S.B. ได้ดำเนินแผนต้านการจารกรรมจากจีนตั้งแต่ต้นปี 2022 ภายใต้ชื่อ 'Entente-4' พร้อมจับตานักวิชาการ นักข่าว และเจ้าหน้าที่ที่มีความเชื่อมโยงกับจีน

รายงานระบุว่าจีนพยายามล้วงข้อมูลการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน โดยมุ่งเรียนรู้เทคโนโลยีโดรน การรับมืออาวุธตะวันตก และกำลังจับตานักวิทยาศาสตร์การบินและอดีตวิศวกรโครงการยุทธศาสตร์โซเวียตที่ถูกยุบ

จีนยังถูกกล่าวหาว่าใช้มหาวิทยาลัยและบริษัทเหมืองแร่เป็นฉากหน้าในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาภูมิภาคอาร์กติกของรัสเซีย พร้อมทั้งขยายอิทธิพลในเอเชียกลางผ่านยุทธศาสตร์แลกเปลี่ยนเชิงมนุษยธรรม โดยเริ่มที่อุซเบกิสถาน

F.S.B. แสดงความกังวลว่าจีนกำลังพยายามสร้างข้ออ้างทางประวัติศาสตร์เพื่อเรียกร้องดินแดนในภาคตะวันออกไกลของรัสเซียอย่าง 'วลาดิวอสต็อก' และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการวิจัยที่อาจเชื่อมโยงถึงแนวคิด 'ทวงคืนดินแดน' 

สำหรับ วลาดิวอสต็อก (Vladivostok) เป็นเมืองท่าสำคัญทางตะวันออกไกลของรัสเซียในปัจจุบัน เคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจักรวรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ชิง ก่อนที่จะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียอย่างเป็นทางการในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ผ่านสนธิสัญญาที่ฝ่ายจีนมองว่าเป็น 'สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม'

นอกจากในรายงานยังอ้างถึงเจ้าหน้าที่รัสเซียได้รับคำสั่งให้สอดแนมผู้ใช้งานแอป WeChat รวมถึงตรวจสอบนักศึกษารัสเซียกว่า 20,000 คนในจีน โดยจีนยังพยายามสรรหาชาวรัสเซียที่แต่งงานกับชาวจีนเป็นสายลับ

แม้เอกสารจะแสดงความกังวลอย่างชัดเจน แต่ก็ระบุว่าการรักษาความสัมพันธ์กับจีนยังสำคัญยิ่ง เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องได้รับอนุมัติจากระดับสูงสุดก่อนจะดำเนินการใด ๆ ที่อาจกระทบสัมพันธ์ทวิภาคี

ซีอีโอของหัวเว่ย ยอมรับชิปจีนล้าหลังสหรัฐฯ แต่ไม่ยอมแพ้!!...มั่นใจใช้เทคนิคพิเศษทดแทนได้

(11 มิ.ย. 68) เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของหัวเว่ย เทคโนโลยี (Huawei) เปิดเผยว่า ชิป Ascend ของบริษัทยังล้าหลังกว่าของสหรัฐฯ ราวหนึ่งเจเนอเรชัน แต่สามารถบรรลุประสิทธิภาพระดับสูงสุดได้ด้วยเทคนิคการจัดเรียงและการประมวลผลแบบกลุ่ม โดยหัวเว่ยได้จดสิทธิบัตรเทคโนโลยีในการวางชิปซ้อนกันเพื่อลดขนาดโปรเซสเซอร์

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ People's Daily ซีอีโอของหัวเว่ยระบุว่า การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ไม่สามารถหยุดยั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน โดยเฉพาะในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมชี้ว่าจีนมีข้อได้เปรียบหลายด้าน เช่น พลังงานไฟฟ้า เครือข่ายสื่อสาร และเยาวชนที่เก่งจำนวนมาก

เหริน เจิ้งเฟย กล่าวอีกว่า AI คือ “การปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งสุดท้ายของมนุษยชาติ” ควบคู่กับพลังงานสะอาดจากนิวเคลียร์ฟิวชัน และระบุว่าอัลกอริธึม AI จะถูกใช้งานจริงในภาคพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ถ่านหิน และยา ไม่ใช่แค่ในวงการเทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้น

บทสัมภาษณ์นี้มีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ออกคำแนะนำใหม่ว่า การใช้ชิป Ascend ของหัวเว่ยในที่ใดก็ตามทั่วโลก อาจละเมิดมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ

ซีอีโอวัย 80 ปี เน้นย้ำว่าหัวเว่ยเป็นเพียงหนึ่งในบริษัทชิปของจีนอีกจำนวนมาก พร้อมระบุว่าสหรัฐฯ “พูดเกินจริง” ถึงความสำเร็จของหัวเว่ย และย้ำว่าจีนควรลงทุนในงานวิจัยพื้นฐานเพื่อพึ่งพาตนเองในระยะยาว แทนที่จะนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ

‘ทรัมป์’ ประกาศสงครามการค้ากับจีนจบลง แต่ยังตรึงภาษีสินค้านำเข้าไว้ที่ 55%

(12 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ 'จบแล้ว' โดยมีการคงอัตราภาษีสินค้าจีนไว้ที่ 55% โดยไม่ปรับเพิ่มอีก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และค้าปลีกเตือนว่า ความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจ และผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังไม่สิ้นสุด

อัตราภาษีที่สูงถึง 55% ทำให้บริษัทในสหรัฐฯ หลายพันแห่งเผชิญความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนหรือตั้งราคาขายเพิ่มได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายรับภาระต้นทุนแทน ซึ่งอาจกระทบต่อราคาสินค้าช่วงเปิดเทอมและเทศกาลปลายปี

ขณะเดียวกัน ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนล่าสุดแสดงการเพิ่มขึ้นของราคาที่ต่ำกว่าคาด แต่ความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีทำให้ผู้ประกอบการยังคงระวังต่อแผนสั่งสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีนและสหภาพยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญความลังเลจากผู้นำเข้าสหรัฐฯ

ภาคขนส่งและโลจิสติกส์ยังไม่ฟื้นตัว โดยปริมาณการขนส่งทั้งทางรถบรรทุกและรถไฟลดลงจากปีก่อนอย่างต่อเนื่อง ดัชนีการจองตู้คอนเทนเนอร์ทะเล (Ocean TEU Index) แสดงว่าปี 2025 มีปริมาณการขนส่งน้อยกว่าปีก่อนถึง 14% ซึ่งถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าถึงความต้องการผู้บริโภคที่ลดลง

ในขณะที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์พยายามเร่งนำเข้าสินค้าช่วงระยะเวลาชั่วคราวที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเว้นหรือชะลอการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ก่อนหมดเขตกลางเดือนสิงหาคม ปัญหาการสะสมของตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ท่าเรือลอสแอนเจลิสและลองบีชยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ผู้ส่งออกในสหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดแคลนตู้สำหรับส่งสินค้า

แม้จะมีข้อตกลงเบื้องต้นกับจีน แต่ภาคธุรกิจยังรอการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากทั้งสองผู้นำ และจับตาว่าจะมีการเจรจาใด ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงยังเลือก 'รอดูท่าที' ก่อนจะเดินหน้าลงทุนหรือสั่งสินค้าเพิ่มเติมจากต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

จีนประณามอิสราเอลละเมิดอธิปไตยอิหร่า เสนอตัวไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง สร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง

(16 มิ.ย. 68) รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ แถลงเมื่อวันเสาร์ (15 มิ.ย.) ว่าจีน “ประณามอย่างชัดเจน” ต่อการโจมตีของอิสราเอล ซึ่งละเมิดอธิปไตย ความมั่นคง และบูรณภาพแห่งดินแดนของอิหร่าน พร้อมแสดงการสนับสนุนอิหร่านในการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตน

หวัง อี้ โทรศัพท์หารัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งอิหร่านและอิสราเอล โดยระบุว่าจีนยินดีช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้การเจรจาแก้ไขความขัดแย้ง

ขณะที่สหรัฐฯ ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับอิสราเอล จีนกลับเลือกประณามการใช้กำลังและเรียกร้องให้ประเทศที่มีอิทธิพลต่ออิสราเอลช่วยฟื้นฟูสันติภาพ สะท้อนภาพการขยับบทบาทของจีนในภูมิภาคและเวทีโลก

สำหรับ จีนถือเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการทูตที่สำคัญของอิหร่านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยทั้งสองประเทศมีความร่วมมือด้านพลังงาน การทหาร และการต่อต้านมาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกอย่างชัดเจน

จีนหวังสหรัฐฯ รักษาสัญญา รับนักเรียนจีนเรียนต่อ ตามที่ทรัมป์กล่าว

(20 มิ.ย. 68) กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า จีนคัดค้านการเมืองนำหน้าความร่วมมือด้านการศึกษา พร้อมแสดงความหวังว่าสหรัฐฯ จะปฏิบัติตามคำพูดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่ายินดีต้อนรับนักศึกษาจีนไปเรียนต่อในสหรัฐฯ

กัว เจียคุน (Guo Jiakun) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่าจีนติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด และเห็นว่าความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ควรถูกแทรกแซงด้วยปัจจัยทางการเมือง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ย้ำว่าจีนคาดหวังให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของนักศึกษาและนักวิชาการจีนในสหรัฐฯ อย่างแท้จริงและต่อเนื่อง

เด็กสาวบ้านนาจีน ใช้ไม้คานหาบกระเป๋ากลับบ้าน หลังสอบเกาเข่า สะท้อนความมุ่งมั่นเข้ามหาวิทยาลัย

(21 มิ.ย. 68) คลิปไวรัลจากเมืองกุ้ยหลิน มณฑลกวางสี ประเทศจีน เผยภาพ 'หลิว' นักเรียนมัธยมที่เพิ่งสอบเกาเข่าเสร็จ กำลังเดินกลับบ้านลำพังในเสื้อผ้าธรรมดา โดยใช้ไม้คานหาบกระเป๋าสัมภาระเดินกลับบ้านอย่างไม่อายใคร ขณะที่เพื่อนนักเรียนส่วนใหญ่มีผู้ปกครองขับรถมารับถึงที่ กลายเป็นภาพเรียบง่ายแต่กินใจผู้ชมทั่วจีน

หลิวเล่าว่าถุงใบโตบรรจุผ้าห่มหนา ถึงสามผืนเพราะเธอขี้หนาว ส่วนที่ดูเหมือนเธอเดินคนเดียวจริง ๆ นั้น มีแม่ขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังพร้อมกระเป๋าลาก โดยการสอบเกาเข่าครั้งนี้เธอบอกว่าถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตนักเรียนจีนทุกคน

ขณะที่ครูประจำชั้นเผยว่า หลิวมาจากชนบท ขยัน และสู้ไม่ถอย ข่าวดังทำให้ชาวเน็ตร่วมเอาใจช่วย เจ้าของร้านชาในเฉิงตูเสนองานพิเศษช่วงปิดเทอม ส่วนทางด้านอดีตศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประกาศพร้อมสนับสนุนค่าเล่าเรียน

อย่างไรก็ตาม หลิวขอบคุณน้ำใจทุกฝ่ายแต่ปฏิเสธเงินช่วยเหลือ เพราะอยากอยู่ใกล้แม่ที่บ้าน เนื่องจากพ่อและพี่ชายออกไปทำงานต่างถิ่น เหลือเพียงสองแม่ลูกดูแลกัน เธอบอกว่าครอบครัวให้ความรักเท่าเทียม “แม้ครอบครัวจะไม่ได้มีสิ่งสวยหรูเหมือนคนอื่น แต่การได้อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นก็เหมือนมีช่อดอกไม้ที่สวยที่สุดอยู่แล้ว”

ช่วงปิดเทอมหลิวตั้งใจตั้งแผงขาย 'เหลียงเฟิ่น' วุ้นถั่วเย็นริมทางเพื่อเก็บเงิน และหวังเข้าคณะศึกษาศาสตร์เป็นครูในอนาคต ชาวเน็ตพากันอวยพร  “คานไม้ไผ่ของเธออาจหนัก แต่ก้าวเดินมั่นคงยิ่งกว่าคำพูดใด ขอให้หนทางข้างหน้าบานสะพรั่ง”

ดีลการค้า ‘สหรัฐฯ–จีน’ ยังไม่ปลดล็อก ‘แร่หายาก’ ใช้ทางทหาร จุดขัดแย้งที่ยังไม่คลี่คลาย

(21 มิ.ย. 68) แม้สหรัฐฯ และจีนจะบรรลุข้อตกลงหยุดยั้งข้อพิพาททางการค้าระลอกใหม่ที่กรุงลอนดอน แต่ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการส่งออกแม่เหล็กแร่หายากที่ใช้ในงานทหารยังไม่คลี่คลาย โดยจีนยังไม่ให้คำมั่นเรื่องการอนุมัติส่งออกแม่เหล็กเฉพาะทางที่จำเป็นต่อการผลิตเครื่องบินรบและระบบขีปนาวุธของสหรัฐฯ

การเจรจาระหว่างสองประเทศกลับมาพัวพันกับประเด็นควบคุมการส่งออก โดยจีนแสดงท่าทีว่า จะไม่พิจารณาผ่อนคลายการส่งออกแม่เหล็กทหาร หากสหรัฐฯ ยังจำกัดการขายชิป AI ขั้นสูงให้จีน ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวเชิงเชื่อมโยงใหม่ระหว่างความมั่นคง เทคโนโลยี และการค้า

ขณะที่สหรัฐฯ เตรียมขยายมาตรการภาษีสินค้าจีนต่ออีก 90 วันเกินกำหนดเดิมในเดือนสิงหาคม ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์ยังยืนยันว่า ข้อตกลงนี้เป็น “ดีลที่ดี” และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ แม้กระทรวงพาณิชย์และการต่างประเทศของทั้งสองประเทศยังไม่ให้ความเห็นทางการ

จีนยอมอนุมัติใบอนุญาตส่งออกแม่เหล็กแร่หายากให้ผู้ผลิตพลเรือนในสหรัฐฯ ผ่านช่องทางพิเศษ “green channel” แต่ยังไม่รวมแม่เหล็กเฉพาะทาง เช่น Samarium ซึ่งสำคัญต่อการผลิตอาวุธ ส่งผลให้การควบคุมของจีนในอุตสาหกรรมนี้ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อข้อตกลงถาวร

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ความไม่ลงตัวด้านแร่หายากอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ระหว่างสองมหาอำนาจ และสะท้อนว่าความพยายามของรัฐบาลทรัมป์ในการใช้การค้าเป็นเครื่องมือกดดันจีนยังคงต้องเผชิญอุปสรรคจากข้อเท็จจริงที่ว่าจีนยังผูกขาดทรัพยากรที่สำคัญระดับโลกอยู่

‘จีน’ รุกสร้างคนรุ่นใหม่ผ่านระบบการศึกษา เด็กเก่งวิทย์-คณิต + คิดสร้างสรรค์ คือเป้าหมายของรัฐ

(22 มิ.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘สะใภ้จีนbyฮูหยินปักกิ่ง’ ได้โพสต์ข้อความว่า ชนชั้นกลางจีนจะพาลูก “รอด” จากระบบการศึกษาใหม่ได้อย่างไร?

หลังสอบ Gaokao (高考) หรือ “เอนทรานซ์จีน” ปี 2025 เพิ่งจบ
ตามด้วยการสอบ Zhongkao (中考) หรือสอบ ม.3 ขึ้น ม.4 กำลังสิ้นสุด
ลูกฮูหยินเองที่อยู่ประถมก็กำลังจะสอบวันศุกร์นี้เหมือนกัน

สิ่งที่เรามองเห็นชัดขึ้นคือ…
ระบบการศึกษาจีน กำลัง “เปลี่ยนครั้งใหญ่”
จีนยุคใหม่ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อสอบ แต่เป็นการปั้น “สมองของชาติ”
เพราะการศึกษาไม่ใช่แค่นโยบาย…แต่มันคือ “ยุทธศาสตร์ชาติ”
จีนจึงออกนโยบาย 教育强国 (การศึกษาพัฒนาชาติ) ปี 2024-2035
ที่ปีนี้เริ่มนำ AI เข้ามาสู่ห้องเรียนเด็กประถมและมัธยมแล้ว

การศึกษาในจีนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
 • ลืมคำว่า “双减” (ลดการบ้าน ลดติวเตอร์) ไปได้เลย
 • รัฐบาลอนุญาตให้กลับมาเปิดสถาบันกวดวิชาอีกครั้ง
 • วิชาภาษาอังกฤษกลับมาเป็นที่สำคัญ
 • ข้อสอบยากขึ้น 20% เพื่อ “คัดกรองเพชร” ออกจาก “ก้อนกรวด”
รัฐจีนต้องการเด็ก “อัจฉริยะ” มารับใช้ชาติ
ส่วนคนธรรมดา… ก็ไปเป็นแรงงาน มีหน้าที่ต่างกันไป
ฟังดูโหด แต่ “ความจริง” ก็โหดกว่า

แล้วพ่อแม่ชนชั้นกลางอย่างเรา…จะช่วยลูกยังไง?
 1. การวางแผน คือ อาวุธสำคัญของครอบครัวยุคใหม่
เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทุกอย่างเปลี่ยนหมด – ระบบสอบ การคัดเลือกที่นั่ง
กีฬา ศิลปะ การประเมินแบบองค์รวมล้วนถูกนำมาใช้
ใครวางแผนได้ไว เข้าถึงข้อมูลได้ก่อน ย่อมได้เปรียบ
เพราะ “การขึ้นรถถูกคัน” สำคัญกว่าการ “วิ่งให้เร็ว”

2. ข้อสอบใหม่ ไม่ใช่แค่ท่องได้ แต่ต้อง “คิดให้ลึก”
 • ลดการใช้สูตรสำเร็จ
 • ลดการท่องจำ
 • ลดการคิดแบบเส้นตรง
เด็กต้องอ่านให้เยอะ คิดให้ลึก และเชื่อมโยงเป็น
แม้แต่วิชาที่เคยเปิดตำราหาคำตอบได้ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้อีกแล้ว

3. วิทย์-คณิต กลับมาอย่างสง่างาม
ตอนนี้ “เด็กเก่งวิทย์-คณิต + คิดสร้างสรรค์” คือเป้าหมายของรัฐ
โจทย์ไม่ใช่แค่คิดเลขเก่ง แต่ต้องอ่านบทความ เข้าใจและวิเคราะห์
แม้แต่เด็กสายภาษาก็หนีไม่พ้น เพราะทุกอย่างต้องเริ่มจาก “การอ่าน”

เด็กจีนต้อง “อ่าน” เพื่อรอด
ไม่ใช่แค่ภาษาจีนหรืออังกฤษ…
แต่ต้องอ่าน วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งสองภาษาได้ด้วย
อ่านให้เข้าใจลึก
อ่านแล้ววิเคราะห์
อ่านแล้วประยุกต์ใช้ได้

จีนกำลังสร้างคนรุ่นใหม่แบบ “รอบด้าน”
เด็กเรียนกฎหมาย ก็ต้องเรียนคอมพิวเตอร์
เด็กสายวิทย์ ก็ต้องมีมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยจีนชั้นนำเริ่มผสม “สายวิชา” เพื่อสร้างเด็กที่แข็งแกร่งรอบด้าน

สรุปสุดท้าย: 
เด็กสมัยนี้“แค่ขยันอย่างเดียว ไม่พอแล้ว”แต่ต้อง “ขยันให้ถูกทาง” เดินให้ตรงจุดแล้วลูกเราจะไปได้ไกลกว่าใคร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top