Thursday, 3 July 2025
จีน

กลัวแล้ว! สหรัฐฯ วอนจีนช่วยคุยอิหร่าน หวั่นปิด ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ เขย่าน้ำมันโลกพุ่ง

(23 มิ.ย. 68) วอชิงตันส่งสัญญาณตรงถึงปักกิ่ง เมื่อมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนใช้อิทธิพลเกลี้ยกล่อมอิหร่านไม่ให้ปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” หลังสื่อ Press TV รายงานว่ารัฐสภาเตหะรานลงมติหนุนแผนดังกล่าว แม้คำตัดสินสุดท้ายยังอยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของอิหร่าน

รูบิโอเตือนว่าการปิดช่องแคบซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของน้ำมันราว 20 % ของโลกจะเขย่าตลาดพลังงานทั่วโลก โดยเฉพาะจีนซึ่งนำเข้าน้ำมันอิหร่านมากที่สุดในโลก “ถ้าเตหะรานทำจริงก็เท่ากับฆ่าตัวตายทางเศรษฐกิจ” เขากล่าว พร้อมกระตุ้นชาติอื่นให้จับตาเพราะจะเจอผลกระทบจะรุนแรงยิ่งกว่าสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ผลพวงมาจากสหรัฐฯ และอิสราเอลโจมตีเป้าหมายนิวเคลียร์หลักของอิหร่านเมื่อสุดสัปดาห์ ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ พุ่งแตะ 78.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือประมาณ 2,865 บาท สูงสุดในรอบห้าเดือน ธนาคารเพื่อการลงทุน ‘โกลด์แมน แซคส์’ เตือนว่าหากการขนส่งในฮอร์มุซหยุดชะงัก ราคาน้ำมันอาจพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์ได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านพลังงานมองว่าอิหร่าน “มีอะไรต้องเสียมากกว่าจะได้” เพราะการปิดช่องแคบอาจทำให้ชาติผู้ผลิตน้ำมันอ่าวเปอร์เซียกลายเป็นศัตรู และยังเสี่ยงทำให้จีน และลูกค้าหลักต้องออกมาคัดค้าน

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนออกแถลงการณ์ตำหนิสหรัฐฯ ว่าเสียความน่าเชื่อถือจากการใช้กำลัง และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย “ยับยั้งการใช้กำลังที่รุนแรง และอย่าซ้ำเติมไฟสงคราม” บทบรรณาธิการ Global Times ยังระบุว่าการโจมตีของวอชิงตันทำให้สถานการณ์ตะวันออกกลาง “ส่อเค้าเลวร้ายจนควบคุมไม่ได้” 

นายกฯ จีน ชูแนวคิด ‘สร้างสรรค์-ร่วมมือ’ บนเวทีเศรษฐกิจโลก กระตุ้นนานาชาติปกป้องการค้าเสรี-พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

(25 มิ.ย. 68) นายหลี่ เฉียง (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีของจีน กล่าวเปิดการประชุม 'ดาวอส ฟอรัม ฤดูร้อน ครั้งที่ 16' ที่จัดขึ้นในนครเทียนจิน ทางตอนเหนือของจีน โดยเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรีของจีน อธิบายว่า “การดำเนินงานอย่างสร้างสรรค์” หมายถึง การลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปกป้องการค้าเสรีและระบบความร่วมมือระหว่างหลายประเทศ (พหุภาคี) พร้อมทั้งผลักดันให้เศรษฐกิจโลกมีความมั่นคงมากขึ้น แม้จะเผชิญกับความท้าทายรอบด้านในปัจจุบัน

นอกจากนี้ นายหลี่ เฉียง ยังเน้นถึงความสำคัญของการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าโดยสันติวิธีผ่านการเจรจาอย่างเท่าเทียม โดยชี้ว่าแม้ความขัดแย้งระหว่างประเทศจะเป็นเรื่องปกติในการทำการค้า แต่หากยึดหลักเคารพซึ่งกันและกันก็สามารถหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกันได้

เขายังเน้นย้ำให้ทุกประเทศร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันผ่านความร่วมมือที่เกื้อกูล พร้อมสนับสนุนให้มีการประสานนโยบายมหภาค เพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมโลก

ทั้งนี้ จีนจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับตลาดโลกอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความมั่นคงและความยืดหยุ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจโลก โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24–26 มิถุนายน ภายใต้แนวคิด 'ความเป็นผู้ประกอบการในยุคใหม่' และมีผู้นำจากกว่า 90 ประเทศเข้าร่วมมากกว่า 1,700 คน

นักวิชาการไทย ในอิหร่าน โพสต์เฟซ!! เผยข้อมูลสำคัญ ชี้!! ‘อิหร่าน’ สนใจจะซื้อระบบป้องกันภัย HQ-16 จากจีน

(28 มิ.ย. 68) ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด นักวิชาการชาวไทย ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอิหร่าน ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ HQ-16 ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ (SAM) พิสัยกลางของจีน โดยมีใจความว่า ...

HQ-16 เป็นระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ (SAM) พิสัยกลางของจีน พัฒนาโดย Shanghai Academy of Spaceflight Technology (SAST) สังกัด China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC)

ระบบนี้มีพื้นฐานมาจากระบบขีปนาวุธ Buk ของรัสเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภัยทางอากาศสำหรับกองทัพเรือและกองทัพบกของจีน 
คุณสมบัติและข้อมูลจำเพาะของ HQ-16:

ประเภท: ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ (SAM) พิสัยกลาง ผู้พัฒนา: Shanghai Academy of Spaceflight Technology (SAST)

ผู้ใช้งาน:กองทัพเรือและกองทัพบกของจีน

พื้นฐาน: ระบบขีปนาวุธ Buk ของรัสเซีย

รุ่น:HQ-16A: รุ่นพื้นฐานสำหรับกองทัพบก

HHQ-16: รุ่นสำหรับเรือรบของกองทัพเรือ

HQ-16B: รุ่นที่มีพิสัยการยิงไกลขึ้น

HQ-16C: รุ่นที่อยู่ในช่วงการพัฒนา 

พิสัย: สูงสุด 40 กม. สำหรับ HQ-16A และ 70 กม. สำหรับ HQ-16B ความเร็ว: มากกว่า Mach 3 ระบบนำวิถี: ผสมผสานระหว่างการนำวิถีแบบเฉื่อย การส่องสว่าง และการนำวิถีแบบกึ่งเรดาร์

การใช้งาน:ป้องกันภัยทางอากาศสำหรับเรือรบและฐานทัพของจีน 
ป้องกันภัยทางอากาศสำหรับพื้นที่ทางทหารและอุตสาหกรรม 
สามารถทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ เช่น HQ-9B เพื่อสร้างเครือข่ายป้องกันภัยทางอากาศ

HQ-16 มีความสำคัญอย่างไร?
ปกป้องน่านฟ้า:ช่วยปกป้องจีนจากภัยคุกคามทางอากาศ

ความทันสมัย:เป็นระบบ SAM พิสัยกลางที่ทันสมัยของจีน ความหลากหลาย: มีหลายรุ่นที่ปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกัน

ความน่าเชื่อถือ:มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเป้าหมายทางอากาศหลายประเภท

จีนปลด ‘พลเรือเอกเมี่ยว ฮัว’ พ้นคณะทหารสูงสุด ปมละเมิดวินัยร้ายแรง เอี่ยวคอร์รัปชันกองทัพ

(30 มิ.ย. 68) รัฐสภาสูงสุดของจีนมีมติปลด “พลเรือเอกเมี่ยว ฮัว” (Miao Hua) เจ้าหน้าที่ทหารอาวุโสวัย 69 ปี ออกจากตำแหน่งในคณะกรรมาธิการทหารกลาง ซึ่งเป็นองค์กรบัญชาการสูงสุดของกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) หลังมีรายงานว่าเขาถูกสอบสวนเรื่อง “การละเมิดวินัยอย่างร้ายแรง” ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายอุดมการณ์ทางการเมืองของ PLA

การปลดพลเรือเอกเมี่ยว ฮัว ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการเดินหน้ากวาดล้างคอร์รัปชันภายในกองทัพ โดยตลอดช่วงที่ผ่านมา มีทั้งนายพลระดับสูงและผู้บริหารในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศหลายรายถูกสอบสวนและถอดถอน ซึ่งเมี่ยวฮัวเองเคยร่วมงานกับสี จิ้นผิง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในมณฑลฝูเจี้ยน และเป็นบุคคลที่สี จิ้นผิงผลักดันให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งระดับสูงในกองทัพ

นอกจากพลเรือเอกรายนี้แล้วยังมีรายงานว่า “หลี่ ฮั่นจวิน” (Li Hanjun) รองผู้บัญชาการกองทัพเรือ ก็ถูกปลดจากสถานะผู้แทนรัฐสภา ขณะที่อีกหนึ่งนายพลระดับสูง “เหอ เว่ยตง” (He Weidong) ซึ่งเป็นอันดับสองในคณะกรรมาธิการทหารกลาง หายตัวไปจากสาธารณะตั้งแต่เดือนมีนาคม และยังไม่มีความชัดเจนว่าเขาเกี่ยวข้องกับการสอบสวนใด ๆ หรือไม่ แม้โฆษกกลาโหมจีนจะอ้างว่า “ไม่ทราบ” เรื่องข่าวการควบคุมตัว

ทั้งนี้ จีนเคยปลดรัฐมนตรีกลาโหมมาแล้วสองคนจากกรณีคอร์รัปชัน หนึ่งในนั้นคือ “หลี่ ซางฝู” (Li Shangfu) ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ส่วนรัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน “ตง จวิ้น” (Dong Jun) ยังปรากฏตัวในงานต่าง ๆ และเพิ่งเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้เมื่อไม่นานมานี้ ท่ามกลางกระแสจับตาเกี่ยวกับความโปร่งใสในกองทัพจีนที่ยังคงเป็นปริศนา

ผู้เชี่ยวชาญจีนเบรก ‘ฮุน เซน’ ย้ำอาวุธเขมรยิงไม่ถึงกรุงเทพฯ ชี้กัมพูชายังเป็นรอง!! ไทยเหนือกว่าหลายเท่า

(30 มิ.ย. 68) สถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชากลับมาเป็นที่จับตาหลังฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชาระบุว่า อาวุธที่ประเทศตนมีอยู่สามารถยิงถึงกรุงเทพฯได้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จีนเตือนว่าเป็นไปไม่ได้ทางเทคนิค โดยชี้ว่าระบบอาวุธจีนที่กัมพูชามีไม่สามารถยิงไกลถึงกรุงเทพฯ และกัมพูชาก็ไม่มีเครื่องบินรบที่ติดอาวุธพิสัยไกลเช่นกัน

ซ่ง จงผิง (Song Zhongping) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทหารของจีน กล่าวว่า อาวุธที่จีนขายให้ต่างประเทศนั้นออกแบบมาเพื่อการป้องกัน ไม่ใช่การรุกราน และเมื่อส่งมอบแล้ว ก็เป็นสิทธิของประเทศผู้ซื้อในการใช้งาน แต่จีนไม่อยากเห็นสองประเทศที่เป็นมิตรกับตนอย่างไทยและกัมพูชาต้องเปิดฉากสู้รบกัน โดยเฉพาะเมื่อข้อพิพาทชายแดนมีที่มาจากปัญหาที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเศสยังเป็นเจ้าอาณานิคม

จีนยังย้ำว่าศักยภาพทางทหารของไทยเหนือกว่ากัมพูชาหลายเท่า ทั้งงบประมาณที่สูงกว่าราว 10 เท่า และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า โดยไทยนำเข้าอาวุธจากจีนถึง 44% ขณะที่กัมพูชาพึ่งพาจีนเกือบทั้งหมด จีนจึงเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความอดกลั้น และเน้นเจรจาผ่านกลไกทวิภาคีและภูมิภาค

นอกจากนี้ จีนระบุอีกว่าไม่ใช่แค่จีนเท่านั้นที่ควรเข้ามาช่วย อาเซียนเองก็ควรมีบทบาทในการลดความตึงเครียด เพราะหากความขัดแย้งลุกลามเป็นความรุนแรง จะกระทบต่อเสถียรภาพของทั้งภูมิภาคโดยตรง

จีนหวังไทย มีเสถียรภาพ หลังศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องสว. พร้อมสั่ง ‘แพทองธาร’ หยุดปฏิบัติหน้าที่

(1 ก.ค. 68) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จีนออกมาแสดงความหวังว่าไทยจะยังคงมีเสถียรภาพ ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ 36 สว.พิจารณาให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว และมีมติ 7 ต่อ 2 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากปมคลิปเสียงพูดคุยกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาของกัมพูชา โดยนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันที่กรุงปักกิ่งว่า “นี่เป็นกิจการภายในของประเทศไทยและข้าพเจ้าจะไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน เราหวังว่าไทยจะรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาไว้ได้”

‘สนามบินปักกิ่งต้าซิง’ สุดคึกคักรับฤดูร้อน คาดผู้โดยสารพุ่งทะลุ 9.5 ล้านคนใน 2 เดือน

(2 ก.ค. 68) ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ต้าซิง ซึ่งเป็นสนามบินใหญ่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง คาดว่าช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ จะมีผู้โดยสารหมุนเวียนมากกว่า 9.52 ล้านคน รองรับเที่ยวบินรวมราว 60,400 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนทั้งจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร

คาดว่าการเดินทางจะคึกคักที่สุดในวันที่ 5 สิงหาคม โดยมีเที่ยวบินสูงสุดถึง 1,031 เที่ยว และผู้โดยสารหมุนเวียนถึง 170,500 คน สะท้อนถึงความต้องการเดินทางในช่วงวันหยุดที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

สำหรับการเดินทางภายในประเทศจีนยังคงได้รับความนิยม โดยเฉพาะปลายทางที่มีอากาศเย็นสบายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ ขณะที่เส้นทางต่างประเทศที่ได้รับความสนใจคือจุดหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออก รวมถึงยุโรป เช่น ลอนดอน มอสโก และอัมสเตอร์ดัม

นโยบายผ่อนคลายด้านวีซ่าของจีนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเดินทางระหว่างประเทศ โดยช่วงฤดูร้อนนี้คาดว่าจะมีเที่ยวบินระหว่างประเทศเฉลี่ยเกือบ 100 เที่ยวต่อวัน และผู้โดยสารข้ามพรมแดนเฉลี่ย 17,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ท่าอากาศยานฯ ต้าซิงได้ให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศไปแล้วมากกว่า 2.7 ล้านคน ตอกย้ำบทบาทสำคัญของสนามบินแห่งนี้ในฐานะประตูเชื่อมต่อจีนกับนานาประเทศ

Foxconn ถอนวิศวกรจีนออกจากอินเดียกว่า 300 คน สะเทือนแผน Apple ขยายฐานผลิต iPhone

(3 ก.ค. 68) Foxconn ผู้ผลิต iPhone รายใหญ่ของ Apple สั่งวิศวกรและเจ้าหน้าที่ชาวจีนกว่า 300 คน ที่ประจำโรงงานในอินเดียเดินทางกลับประเทศ สร้างอุปสรรคสำคัญต่อเป้าหมายของ Apple ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังอินเดีย โดยยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนเกี่ยวกับเหตุผลของการถอนตัวครั้งนี้

แหล่งข่าวระบุว่า การถอนทีมงานชาวจีนจะไม่กระทบต่อคุณภาพสินค้าโดยตรง แต่จะลดประสิทธิภาพการทำงานของสายพานผลิต โดยเฉพาะกระบวนการฝึกอบรมพนักงานท้องถิ่นและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนมายังอินเดีย ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

สถานการณ์เกิดขึ้นในช่วงที่ Apple กำลังเตรียมเพิ่มกำลังผลิต iPhone 17 และสร้างโรงงานแห่งใหม่ในอินเดีย Foxconn ได้แจ้งรัฐบาลอินเดียล่วงหน้าเกี่ยวกับการถอนพนักงาน แต่ไม่ได้เปิดเผยเหตุผล ขณะนี้บริษัทเริ่มปรับเครื่องจักรที่ใช้ซอฟต์แวร์ภาษาจีนให้รองรับพนักงานอินเดีย รวมถึงนำแรงงานจากไต้หวันและเวียดนามมาเสริมกำลัง

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและอินเดีย ซึ่งแม้จะมีการเจรจาระดับสูงเมื่อไม่นานมานี้ แต่ยังไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างสองประเทศ และอินเดียยังคงจำกัดวีซ่าให้พลเมืองจีน พร้อมแบนแอปพลิเคชันจีนหลายรายการ ขณะเดียวกันจีนยังคงห้ามส่งออกปุ๋ยบางประเภทมายังอินเดีย

ทั้งนี้ Apple มีแผนผลิต iPhone ส่วนใหญ่สำหรับตลาดสหรัฐฯ ในอินเดียภายในปี 2026 ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ แต่การผลิตในสหรัฐฯ ยังมีข้อจำกัดเรื่องค่าแรงสูง และจีนอาจสกัดไม่ให้วิศวกรย้ายฐานไปช่วยผลิตในสหรัฐฯ ได้อีกด้วย ซึ่งยิ่งทำให้ Apple ต้องพึ่งอินเดียมากขึ้นในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top