Saturday, 4 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

'สุริยะ' เผยแผนศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ คาดเสร็จ 100% พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ปี 2569

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center – ATTRIC) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการบนพื้นที่ 1,235 ไร่ ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่ 

สนับสนุนให้มีการออกแบบ วิจัยพัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองในภูมิภาคอาเซียน มีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์      

ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในประเทศที่ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการพัฒนาและเจริญเติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์ทดสอบเพื่อรองรับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ยางล้อ ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 3,705.7 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรแล้ว 1,872.7 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการของบประมาณ ปี 2566 อีก 1,833 ล้านบาท โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้...

'​​​สุริยะ' ดันแผนพัฒนาอุตฯ กัญชง ยกระดับสู่พืชเศรษฐกิจใหม่ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตฯ แห่งอาเซียนภายใน 5 ปี

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ผลักดันแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้และการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน พร้อมตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ BCG เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน เผยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน (Industrial Hemp Hub of ASEAN) ภายใน 5 ปี สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อไร่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกัญชงในตลาดโลกมีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในนานาประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, สหภาพยุโรป, จีน รวมถึงญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หลังจากเริ่มผ่อนคลายกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าตลาดอุตสาหกรรมทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 1.42 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 22.4 ต่อปี และคาดว่าภายในปี 2570 จะมีมูลค่าประมาณ 5.58 แสนล้านบาท 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์และมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ก่อให้เกิดการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานกัญชง ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก พร้อมตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน (Industrial Hemp Hub of ASEAN) ภายใน 5 ปี สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อไร่

ก.อุตฯจับมือมหาดไทย-ก.ทรัพย์-ผู้ว่า 39 จ. ร่วมขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์

กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง มหาดไทย ก.ทรัพย์ สภาอุตฯ ลงนาม MOU พร้อมผู้ว่าฯ 39 จังหวัดเป้าหมาย พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เน้นบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ครบทั้ง 5 มิติ คือ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 5 การสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริม สนับสนุน ผลักดัน ยกระดับเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรมตามเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมอบหมายให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพดำเนินงาน

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรอ. กับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และจังหวัดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 39 จังหวัด เพื่อการแสดงเจตนารมณ์ที่เห็นพ้องต้องกัน ในการร่วมบูรณาการความร่วมมือพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของหน่วยงานภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมขับเคลื่อนและพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม (Ecosystem) เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

โดยได้รับเกียรติจาก นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายธัญญา เนติธรรมกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยาน และลงนามบันทึกความเข้าใจโดย นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการ (ประจำสำนักผู้ว่าการ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด 39 จังหวัดเป้าหมาย แบ่งเป็น…

‘สุริยะ’ ชี้ MPI ฝ่าวิกฤตศก. ครึ่งปีโต 0.48% เผยอานิสงส์เปิดประเทศ หนุนปิโตรเลียม – สิ่งทอ ฟื้น

อก. เผย MPI 6 เดือนแรกปี 65 ขยายตัวร้อยละ 0.48 อานิสงส์เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หนุนอุตฯ น้ำมันปิโตรเลียมและอุตฯ สิ่งทอ ฟื้นต่อเนื่อง

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ครึ่งปีแรก ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอบรับสถานการณ์การผลิตกลับมาฟื้นตัวหลังรัฐบาลเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว พร้อมผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 หนุนกำลังการบริโภคประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยประมาณการ MPI ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.0 – 3.0 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง มีคำสั่งซื้อและเพิ่มกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลก คาดว่าในปีนี้การส่งออกอาหารแปรรูปจะสร้างมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท และจะเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สำหรับภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ใน 6 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.48 ขณะที่เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ในระดับทรงตัว และอัตราการใช้กำลังการผลิต 6 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 63.81 ทั้งนี้ คาดว่าดัชนี MPI ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป 

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ระดับ 98.05 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 62.41 โดย สศอ. ได้ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.0 - 3.0 จากการบริโภคในประเทศส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบประกอบกับประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี อาทิ ยานยนต์ เครื่องประดับ อัญมณี รองเท้า กระเป๋า และเบียร์ รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดย สศอ. ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบ ประเทศคู่ค้าเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศ อาทิ ศรีลังกา เมียนมาร์ และลาว อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนของไทย

‘อินเดีย’ บล็อกนำเข้าแอร์ไทยที่ใส่สารทำความเย็น อ้าง!! ปฏิบัติตามพันธกรณีพิธีสารมอนทรีออล

ก.อุตฯ เร่งช่วยเหลือผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทย เหตุอินเดียห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่มีสารทำความเย็น อ้างความปลอดภัยด้านสุขภาพ ตามพันธกรณีพิธีสารมอนทรีออล สั่ง สมอ. จี้อินเดียแจ้งเวียนมาตรการต่อ WTO พร้อมขอหลักฐานพันธกรณีที่อ้าง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศอินเดียกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่บรรจุสารทำความเย็น (น้ำยาแอร์) ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทยเป็นอย่างมาก ตนจึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Committee on Technical Barriers to Trade : TBT) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยอย่างเร่งด่วน

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการที่สมอ. ได้รับเมื่อเดือนกันยายน 2564 สมอ. ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยหยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าในการประชุม Committee on TBT ครั้งที่ 86 เมื่อวันที่ 8-11 มีนาคม 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ตามพันธกรณีความตกลงที่ประเทศสมาชิกต้องถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันระหว่างสินค้าที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ และถือเป็นอุปสรรคทางการค้าโดยไม่จำเป็น 

'สุริยะ' กำชับ กรอ.ดูแลถ่ายโอนภารกิจกำกับโรงงาน จำพวก 1 และ 2 ให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

'สุริยะ' กำชับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นพี่เลี้ยงดูแลการถ่ายโอนภารกิจกำกับโรงงานจำพวกที่ 1 และจำพวกที่ 2 ให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จนกว่าบุคลากร อปท. จะสามารถดูแล 1,860 โรงงาน ที่ได้รับการถ่ายโอนได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ ตามที่กฎหมายกำหนด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) รับนโยบายรัฐบาล ในการถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และจำพวกที่ 2 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เทศบาล และเมืองพัทยา ซึ่งปัจจุบันถ่ายโอนภารกิจให้ อปท. เรียบร้อยแล้ว จำนวน 1,860 โรงงาน เพื่อให้ อปท. มีบทบาทอำนาจในการควบคุมดูแลกิจการโรงงานในพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. โดยแต่งตั้งให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นของ อปท. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน จึงกำชับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เป็นพี่เลี้ยง โดยการสนับสนุนให้คำปรึกษาแนะนำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ อปท. ให้ปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานได้อย่างถูกต้อง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติงาน และเกิดประสิทธิผลสูงสุด

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอ. เดินหน้าสนับสนุนแนะนำและให้คำปรึกษาแก่ อปท. ในการควบคุมดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ จำพวกที่ 2 โดยได้ถ่ายโอนภารกิจการกำกับดูแล ให้แก่ กทม. เทศบาล และเมืองพัทยา ไปแล้วทั้งสิ้น 1,860 โรงงาน โดยในส่วนของ กทม. 660 โรงงาน เทศบาลและเมืองพัทยา 1,200 โรงงาน ที่ผ่านมา กรอ. ได้ให้การสนับสนุน แนะนำและให้คำปรึกษาทางเทคนิควิชาการ และดำเนินการฝึกอบรมแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ กทม. เทศบาล และเมืองพัทยา ในการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ กรอ. ได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้งานระบบสารสนเทศ เพื่อออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 สำหรับข้าราชการ กทม.” เพื่อให้ข้าราชการ กทม. มีความเข้าใจ สามารถใช้งานระบบสารสนเทศในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และการติดตามชำระค่าธรรมเนียมรายปีได้อย่างถูกต้อง เป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรายเดิม และเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรายใหม่

‘สุริยะ’ ชูนโยบาย BCG ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด ผ่านเวทีประชุมเอเปคด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตฯ ชูนโยบาย BCG โชว์ศักยภาพเจ้าภาพการประชุมเอเปคด้านมาตรฐาน จับมือ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค พลิกฟื้นเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 พร้อมแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในเวทีการค้าโลก เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ตามแนวคิด “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.”  

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการรับรองของเอเปค (Sub-Committee on Standards and Conformance: SCSC) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SCSC ครั้งที่ 2/2565 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18 - 20 สิงหาคม 2565  ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ และผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ สมอ. ได้ผลักดันภารกิจสำคัญเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล 4 ด้าน ได้แก่ 1.) การพัฒนาและผลักดันกิจกรรมด้านมาตรฐานและการรับรองเกี่ยวกับ BCG Model 2.) สนับสนุนและส่งเสริมแนวทางใหม่ เพื่อให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 และฟื้นฟูการค้าและการลงทุน 3.) ส่งเสริมด้านนวัตกรรมและดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนตลาดและเชื่อมโยงสู่สากล และ 4.) สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการค้าให้ผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs)  โดยมีผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน จีนฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม เข้าร่วมประชุมกว่า 80 คน ภายใต้หัวข้อ "Open. Connect. Balance." หรือ "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล" ผ่านแนวคิด โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้มุ่งผลลัพธ์ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกันกับมาตรฐานระหว่างประเทศโดยมุ่งเน้นมาตรฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (2) การจัดกิจกรรม/การประชุมเชิงปฏิบัติการ/การสัมมนาเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และ BCG Model เช่น แนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ การส่งเสริมความโปร่งใสในการออกกฎระเบียบ การออกใบรับรองดิจิทัล และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

'สุริยะ' จี้!! ทุกหน่วยงาน ก.อุตฯ ติดตามสถานการณ์น้ำ หากกระทบ 'ธุรกิจ-ประชาชน' ในพื้นที่ท่วม ให้รุดช่วยทันที

'สุริยะ' สั่งการหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนัก เตรียมความพร้อมหากเกิดผลกระทบแก่ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์ เตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วมผลกระทบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยให้เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งให้เตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับในทุกสถานการณ์ ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัดที่กำกับดูแลสถานประกอบการอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรมในนิคมฯ กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ดูแลเขตประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และรวมไปถึงธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ให้ดูแลสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

‘สุริยะ’ ชี้!! บอร์ด สมอ. ดีเดย์ 1 ม.ค.67 คุมมลพิษยานยนต์ ตามมาตรฐานยูโร 5

บอร์ด สมอ. เห็นชอบให้บังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 คุมมลพิษรถบรรทุก, รถบัส, รถกระบะ และรถยนต์เล็ก ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน มีผล 1 มกราคม 2567 มุ่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และรักษาสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายรัฐบาล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) หรือบอร์ด สมอ. ประจำเดือนสิงหาคม 2565 ว่า บอร์ด สมอ. ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมรถบรรทุก, รถบัส, รถกระบะ และรถยนต์เล็ก ทุกรุ่นทุกคัน ต้องได้มาตรฐานยูโร 5 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ได้กำชับให้ สมอ. เร่งรัดกำหนดมาตรฐานเพื่อควบคุมปริมาณสารมลพิษจากยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดมาตรฐานแล้วจำนวน 34 มาตรฐาน อาทิ รถยนต์ขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน รถมอเตอร์ไซค์ การทดสอบสารมลพิษจากเครื่องยนต์ และมลพิษทางเสียงที่เกิดจากรถยนต์ตั้งแต่ 4 ล้อขึ้นไปเป็นต้น

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานยูโร 5 นี้จะควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ออกไซด์ของไนโตรเจน และปริมาณสารมลพิษอนุภาคหรือฝุ่นจากเครื่องยนต์ โดยมีระบบวินิจฉัยอุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษ ซึ่งเป็นระบบที่จะแจ้งผู้ขับขี่ในกรณีที่อุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษทำงานผิดปกติ รวมทั้งมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์ที่ผ่านการใช้งานไประยะเวลาหนึ่งแล้ว ยังคงสามารถควบคุมมลพิษตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรฐานได้

‘สุริยะ’ เคาะ 4 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย เน้นสอดรับแผนพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

กอช. เคาะ 4 แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยฝ่าวิกฤตสู่ความยั่งยืน เน้นบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันนี้ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565 มีการพิจารณา 4 เรื่องสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคการผลิตเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศมีทิศทางที่สอดรับกับแผนพัฒนาประเทศในทุกระดับ รวมทั้งจะเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็วภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีเอกภาพภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอย่างรอบด้าน ครอบคลุม ตลอดห่วงโซ่มูลค่าในทุกมิติ โดยที่ประชุม กอช. ได้มีมติเห็นชอบใน 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้

1. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570)

สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570)  โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน และมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 : ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเดิม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มาตรการที่ 2 : กระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และมาตรการที่ 3 : สร้างและพัฒนา Eco System สําหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2570) และมอบหมายให้ อก. นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)/ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป

2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570)
สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566- 2570) โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรม  แห่งอาเซียน (Industrial Hemp Hub of ASEAN)  ภายใน 5 ปี ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง 2) ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์ 3) ส่งเสริมด้านการตลาด และ 4) สร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการประกอบการ โดยแบ่งการดําเนินการเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะ 1 ปี : เร่งสร้าง Enabling และความมั่นคงทางวัตถุดิบ 2. ระยะ 3 ปี : ยกระดับการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์กัญชง และ 3. ระยะ 5 ปี : สนับสนุนการผลิตนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก ระยะ 5 ปี

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) และมอบหมายให้ อก. นํา (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอ สศช./ ครม. เพื่อพิจารณาตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป

3. การส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยประเด็นพิจารณา 2 ประเด็น คือ 1. พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ กรอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งเป็นแผนระดับ 3 ด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย ภายใต้การบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 10 กระทรวง 2. พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ การจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการโรงงาน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แก้ไขปัญหาการกระทําผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน รวมทั้งใช้เป็นเงินช่วยเหลือ อุดหนุนกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการโรงงาน หรือเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการเกิดอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กอช. มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี พ.ศ. 2566-2570 และแนวทางการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้าน สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

4. กลไกขับเคลื่อนการดําเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ 
สาระสำคัญของเรื่อง เพื่อให้การขับเคลื่อนการดําเนินงานของ กอช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อก. จึงเสนอที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้ กอช. เพื่อทําหน้าที่กําหนดกรอบและแนวทางการดําเนินงาน จัดทําและเสนอแนะนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรค รวมทั้งประสานและบูรณาการการดําเนินงานในประเด็นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อ กอช. เป็นระยะ ตามความเหมาะสม ประกอบด้วย 3 กลไกสำคัญ ดังนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top