Saturday, 4 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

'ก.อุตฯ' เดินหน้าขับเคลื่อน EV ชงมาตรฐานเข้ม 'แบตเตอรี่-สถานีชาร์จ' เป็นสินค้าควบคุมต้องได้มาตรฐาน

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV เร่งรัด สมอ. ชงมาตรฐาน 'แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า - รถยนต์ไฟฟ้า' และ 'สถานีชาร์จ' เป็นสินค้าควบคุมต้องได้มาตรฐาน พร้อมนำทีมลงพื้นที่พบผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของไทย เพื่อศึกษาข้อมูลประกอบการทำมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นำมาตรฐานแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทั้งมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ รวมทั้งสถานีชาร์จ เสนอบอร์ดเพื่อขอความเห็นชอบในการบังคับใช้มาตรฐาน โดยกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศใช้แล้วจำนวน 128 มาตรฐาน เช่น จักรยานยนต์ไฟฟ้า, รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า, ระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า  ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, เซลล์และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, ระบบจอดอัตโนมัติของรถยนต์, สมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้ามอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ EV เป็นต้น  

ซึ่งในการกำหนดมาตรฐานดังกล่าว อ้างอิงมาจากข้อกำหนดและมาตรฐานระหว่างประเทศ ครอบคลุมทั้งด้านความปลอดภัย และด้านการใช้พลังงาน และทั้ง 128 มาตรฐานนั้นยังเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยื่นขอการรับรอง แต่เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกระแสโลก ขณะเดียวกันแนวคิดการยกเลิกการใช้ยานยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป รวมถึงกระแสการตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องมีการพิจารณาบังคับใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย

‘สุริยะ’ กำชับ! อุบัติเหตุจากแอมโนเนียรั่วต้องเป็นศูนย์ สั่ง กรมโรงงานฯ ให้ความรู้ผู้ประกอบการเครื่องทำความเย็น

สุริยะ ลั่น!! อุบัติเหตุจากแอมโนเนียรั่วต้องเป็นศูนย์ กรมโรงงานฯ เด้งรับ จับมือ สมาคมเครื่องทำความเย็นไทย จัดงาน 'THAI AMMONIA REFRIGERATION 2022' ยกระดับความปลอดภัยในอุตสาหกรรมที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีโรงงานที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นกว่า 3,000 โรงทั่วประเทศ สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำแข็งหลอด โรงงานผลิตน้ำแข็งซอง โรงงานห้องเย็นและโรงงานแปรรูปอาหาร เมื่อเกิดเหตุการรั่วไหลของแอมโมเนียของโรงงานเหล่านี้ พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน และดูแลบำรุงรักษาระบบทำความเย็นอย่างถูกต้อง จึงสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระตุ้นผู้ประกอบการโรงงานที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นให้เกิดการตื่นตัว รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานและการดูแลรักษาระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนีย โดยมีเป้าหมายอุบัติเหตุแอมโมเนียรั่วไหลต้องเป็นศูนย์

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากแอมโมเนียรั่วไหล มักเกิดความเสียหาย และอาจส่งผลกระทบถึงประชาชนโดยรอบโรงงาน กรอ. จึงได้ร่วมมือกับสมาคมเครื่องทำความเย็นไทย จัดงาน 'THAI AMMONIA REFRIGERATION 2022' เพื่อยกระดับด้านความปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบทำความเย็นที่ใช้สารแอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถก้าวสู่การแข่งขันในเวทีโลก เสริมแกร่งด้วยความรู้ด้านกฎหมายและมาตรฐานการใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น เพื่อมุ่งลดอุบัติเหตุจากแอมโมเนียรั่วไหลเป็นศูนย์

‘สุริยะ’ ผนึก METI สานต่อความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น ยัน ‘โซนี่กรุป’ ปักหมุดไทย ขยายรง.เซมิคอนดัคเตอร์

รมว.อุตสาหกรรรม ผนึก METI ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นลงทุนในไทยเพิ่ม ยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เสริมศักยภาพเศรษฐกิจไทย ยัน ‘โซนี่กรุปคอร์ปอเรชัน’ เตรียมขยายโรงงานการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ในไทย ส่วนโตโยต้า ลุย EV

(16 พ.ย. 65) กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI ประเทศญี่ปุ่น หารือกรอบความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรม 2 ประเทศ หวังดึงกลุ่มทุนข้ามชาติร่วมพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีไทย กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยศักยภาพต่างแดน พร้อมเร่งสร้างบุคลากรเชี่ยวชาญเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ภายใต้กรอบการทำงานร่วมกันตลอดจนพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาเพื่อรองรับบุคลากรที่ผ่านการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้จากโครงการต่าง ๆ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Digitalization เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการสร้าง System Integrator ตลอดจนยกระดับภาคการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียน ล่าสุดข้อมูลต้นปี 2565 ญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นการลงทุนไทย ผ่านการลงทุนโครงการต่าง ๆ เป็นจำนวนร้อยละ 23 ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry, METI) ได้ร่วมมือกันในด้านการพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมประชุมกับ นายนิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และ อุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น ผ่านการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและกำหนดแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือในอนาคต ระหว่างการประชุมเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ 

โดยการประชุมครั้งนี้มุ่งส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม พร้อมกำหนดความร่วมมือในอนาคต ภายใต้ กรอบการทำงาน Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0 ผ่าน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1. แนวทางการร่วมกันพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 2. การขับเคลื่อนนโยบาย BCG ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานผ่านแนวคิดการร่วมสร้าง (Co-creation) และการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่น 

“การแลกเปลี่ยนกรอบความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย มุ่งเน้นการสร้างโอกาสด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ผ่านการถอดบทเรียนหลังการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG Model ของไทย” นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม และ METI ร่วมกันยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับภาคการผลิตตามเป้าประสงค์ต่าง ๆ อาทิ โครงการ Lean Automation and System Integrators (LASI) และการใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรือ โมโนซึกุริ ที่ใช้พลังกลที่มีอยู่ในธรรมชาติแก้ปัญหาซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าพลังงาน ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน โดยกรอบการทำงานที่ทั้งสองกระทรวง ได้มีการแลกเปลี่ยนกันไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 และจะได้รับการยกระดับไปอีกขั้น โดยเฉพาะในด้านการสร้างบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมด้วยการแลกเปลี่ยนกรอบความร่วมมือในวันนี้ 

ยิ่งไปกว่านั้นภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาเพื่อรองรับบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้จากโครงการต่าง ๆ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Digitalization เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการสร้าง System Integrator เพื่อยกระดับภาคการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียน

‘สุริยะ’ มอบ กนอ. เร่งดำเนินการ หลัง ‘ไทย-จีน’ เซ็น MOU ปั้นนิคมฯ ในไทย พร้อมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน 

‘สุริยะ’ มอบ กนอ.เร่งดำเนินการประสานงาน หลังกระทรวงอุตสาหกรรม (MOI) จับมือ กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณประชาชนจีน (MOFCOM) ลงนามบันทึกความเข้าใจตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม แห่งราชอาณาจักรไทย และ กระทรวงพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมนโยบายความคิดริเริ่ม ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road initiatives) เชื่อมโยงสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เร่งศึกษาและดำเนินการประสานงานต่อไป

‘บิ๊กตู่’ คิกออฟ งานอุตสาหกรรมแฟร์ อิมแพ็ค 1-4 ธ.ค.นี้ ชวน ‘ซื้อของไทย-ใช้ของดี-สร้างอาชีพ-เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม’

‘บิ๊กตู่’ ยกทัพอุตสาหกรรมแฟร์ ดันผลงานพลิกเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน คาดบูมเศรษฐกิจมากกว่า 500 ล้านบาท

(1 ธ.ค. 65) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานใหญ่แห่งปี อุตสาหกรรมแฟร์ ภายใต้แนวคิด ‘ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม’ เพื่อต่อยอดผลสำเร็จของโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม ด้านการเสริมทักษะในการประกอบธุรกิจ ให้สามารถพึ่งพาตัวเองและมีอาชีพใหม่ พร้อมทั้งระดมสุดยอดผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมกว่า 1,200 ราย นำสินค้าดี มีคุณภาพ ราคาถูก เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนการเปิดตลาดไอเดียสำหรับประชาชนเพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจที่มั่นคง ระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2565 ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9-12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยได้รับเกียรติจาก นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะวิกฤติ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาและการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกด้านอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาผลกระทบและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้เศรษฐกิจสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานรากที่จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘คน’ ที่เป็นประชาชนในระดับท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานและกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศ ด้วยการเสริมทักษะและฝึกอาชีพแก่ประชาชนให้สามารถพึ่งพาตัวเองและมีรายได้ มีอาชีพใหม่ อันจะก่อให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

สำหรับการจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ ‘ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม’ ในวันนี้ ถือเป็นการจัดงานครั้งใหญ่ในรอบหลายปี ซึ่งเป็นการต่อยอดและขยายผลโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นการสะท้อนภาพความสำเร็จของการนำนโยบายสำคัญของรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะใหม่ในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่และภูมิปัญญาของคนในชุมชนที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งได้จากภายใน สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนและเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงช่วยผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่สภาวะปกติต่อไปได้

ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘ชุมชนดีพร้อม’ และการพัฒนา ‘คน’ ที่เป็นประชาชนในระดับท้องถิ่นและชุมชน ผ่าน ‘กลไก 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม’ ได้แก่ แผนชุมชนดีพร้อม, คนชุมชนดีพร้อม, แบรนด์ชุมชนดีพร้อม, ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม, เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม, ตลาดชุมชนดีพร้อม และเงินทุนหมุนเวียนดีพร้อม ซึ่งหนึ่งในกลไกข้างต้น กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่า ‘คน’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในก้าวแรกที่จะพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการเสริมทักษะและฝึกอาชีพแก่ประชาชนในรูปแบบการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองและมีรายได้ มีอาชีพใหม่ผ่านโครงการ ‘พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม’ โดยที่ผ่านมาสามารถพัฒนาทักษะอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายไปแล้วกว่า 600,000 คน ในกว่า 2,100 พื้นที่ และกำลังดำเนินการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

นอกจากนั้น อีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญ คือ การพัฒนาตลาดชุมชนดีพร้อมให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งในการพัฒนา ‘ตลาดชุมชนดีพร้อม’ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเลือกที่จะใช้งานอุตสาหกรรมแฟร์ ‘ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม’ เป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับชุมชน ระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2565 ณ เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี 

กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศมาตรฐาน มอก. เอส “การบริการดัดแปลงรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า” รับกระแสความนิยมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค พร้อมเปิดโผ มอก.เอสที่จะประกาศปีหน้าอีก 80 มาตรฐาน 

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างต่อเนื่อง  โดยล่าสุดได้ออกประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ มอก.เอส ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ SMEs หรือวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการเครื่องหมายการันตีสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าและการบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หลังผู้บริโภคให้ความสนใจเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ในขณะเดียวกันผู้บริโภคบางส่วนเลือกที่จะนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอยู่ไปดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อรถไฟฟ้าคันใหม่ จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ หรือ อู่ซ่อมรถต่าง ๆ จำนวนหลายร้อยรายในประเทศ จะได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพการให้บริการ และมีเวลาปรับตัวเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และหากพัฒนาจนได้รับการรับรองมาตรฐานการบริการดัดแปลงรถไฟฟ้า ก็สามารถสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า  (EV Conversion) ได้ 

'สุริยะ' เอื้อ!! 'คนตัวเล็ก-เอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน' คลอด 'มอก.เอส' อนุมัติอู่รถแปลงเครื่องยนต์เป็นอีวี

(13 ธ.ค.65) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ออกประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการเครื่องหมายการันตีสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค จำนวน 2 มาตรฐาน

ได้แก่ 1. การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าและ 2. การบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หลังผู้บริโภคให้ความสนใจเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันผู้บริโภคบางส่วนเลือกที่จะนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอยู่ไปดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อรถไฟฟ้าคันใหม่ จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่อยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ หรือ อู่ซ่อมรถต่าง ๆ จำนวนหลายร้อยรายในประเทศ จะได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพการให้บริการจนสามารถสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้

'สุริยะ' สั่งเร่งเครื่องหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ หลังยอดจองรถไฟฟ้าในงาน Motor Expo 2022 พุ่ง!!

'สุริยะ' เผยยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าทะลุ 5,800 คัน ในงาน Motor Expo 2022 สั่งเร่งเครื่องหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ!

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลื้มกระแสตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมาแรง ดันยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า ภายในงาน Motor Expo 2022 รวมทั้งสิ้น 5,800 คัน สั่งการเร่งขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หลังพบว่าประชาชนมีความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 39 หรือ Motor Expo 2022 ที่ปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.3 ล้านคน และมียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 36,679 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท โดยเป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 5,800 คัน คิดเป็นร้อยละ 15 ของยอดรวมจองรถยนต์ แบ่งเป็น BYD 2,714 คัน ORA 1,212 คัน MG 600 คัน Neta 827 คัน Mine 32 คัน Volt  210 คัน Pocco 30 คัน Porsche 70 คัน Mercedes-Benz 30 คัน และอื่น ๆ 75 คัน 

โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน มาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทำให้มีราคาลดลง ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ มีการเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่แนะนำในช่วงงานหลายรุ่น ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายของแต่ละค่ายที่อัดโปรโมชันแบบจัดเต็ม 

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนจากค่ายรถต่าง ๆ เข้ามาประกอบกิจการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มียอดการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 กว่า 1,534,754 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 12.36 ทำให้คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2565 ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 1.75 ล้านคัน ได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2568 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 10 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี

‘สุริยะ’ เร่งนโยบายพัฒนา EV คู่มาตรฐานยูโร 6 ชี้ ไทยต้องเร่งปรับตัว ก่อนเสียตลาดส่งออกรถยนต์

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ผลักดันการใช้มาตรฐานยูโร 6 เพื่อยกระดับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ชี้ หากไม่ปรับตัวอาจสูญเสียตลาดส่งออกรถยนต์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับผลักดันยานยนต์ที่มีมาตรฐานการปล่อยมลพิษตามมาตรฐานยูโร 6 (EURO 6) ให้เร็วขึ้น เพื่อยกระดับการส่งออกและการผลิตตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ซึ่งประเทศชั้นนำส่วนใหญ่ในตลาดโลกได้ปรับตัวใช้มาตรฐานยูโร 6 แล้ว เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และ จีน ดังนั้น อก. จึงมีนโยบายเร่งผลักดันอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ที่สอดรับกับเทรนด์ตลาดโลก และเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ลดอัตราการเจ็บป่วย ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตลอดจนเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเจตนารมณ์ที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งสอดรับกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ที่มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพการผลิตให้เป็นมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกได้อย่างยั่งยืน

“การก้าวข้ามการพัฒนามาตรฐานการปล่อยมลพิษจากยูโร 4 ไปสู่ยูโร 6 ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในหลากหลายมิติ ทั้งการสร้างความเชื่อมั่น การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและพลังงานสะอาด ช่วยสนับสนุนการจ้างงานภายในประเทศ สร้างแต้มต่อในการเป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกรถยนต์ในภูมิภาค ซึ่งหากประเทศไทยไม่เร่งปรับตัวอย่างจริงจังอาจสูญเสียโอกาสในการเป็นฐานการผลิต 10 อันดับแรกในตลาดโลก และอันดับ 1 ในอาเซียนได้ ดังเช่นเวียดนามที่มีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า VINFAST รวมทั้งประกาศใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุนในประเทศ และพยายามแย่งชิงโอกาสในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาค หากประเทศไทยไม่ปรับตัว อาจสูญเสียตลาดส่งออกรถยนต์ที่มีการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษที่สูงกว่า และในระยะยาวอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตยานยนต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ประมาณ 650,000 คน” นายสุริยะ กล่าว

'สุริยะ' กำชับเลิกเผาอ้อย – ขอโรงงานเลิกรับซื้อ หวังคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทย – หนุนการท่องเที่ยว

'สุริยะ' สั่ง กอน. เร่งประชุมเคาะมาตรการดูแลชาวไร่ กำชับเลิกเผาอ้อย ขอโรงงานเลิกรับซื้อ ประสานมหาดไทย-ทส. อัพเดตข้อมูลลอบเผาอ้อยแบบเรียลไทม์แจ้งเตือน ปชช.ทั่วประเทศ พร้อมคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทย-หนุนการท่องเที่ยว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญตัวแทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย มาหาทางออกร่วมกันสำหรับมาตรการส่งเสริมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการกำหนดราคา และมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจาการลักลอบเผาอ้อยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยที่ประชุมได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ เพื่อดูแลชาวไร่ ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและชาวไร่อ้อย จะร่วมกันเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย โดยกำหนดเป้าหมาย ลดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเกษตรกรที่ให้ความร่วมมือตัดอ้อยสดรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือแน่นอน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top