Saturday, 4 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.อุตฯ’ ดัน 5 วาระด่วน ชวน ‘อุตฯ ไทย’ รักษ์โลก เชื่อมการค้านานาชาติ หลังทุก ปท.มุ่งสู่อุตฯ สีเขียว

‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม’ เดินหน้านโยบายเร่งด่วนยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาด ผ่านแนวคิด ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ’ ที่ ‘เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’ ปรับโหมดยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อลดโลกร้อนและสอดรับกับ BCG Model (บีซีจี โมเดล) เพื่อก้าวสู่บริบทการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ เข้มมาตรฐานการผลิต ใช้เทคโนโลยี อำนวยความสะดวกเพิ่มการติดตาม ด้านสิ่งแวดล้อม เปิดทางให้ชุมชนมีส่วนร่วม มุ่งขับเคลื่อนภาคการผลิต เติบโตแบบยั่งยืน

(2 ต.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายเร่งด่วนให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาผู้ประกอบการทุกขนาดยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืนโดยนำแนวคิด ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ’ ที่ ‘เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ที่ไทยวางเป้าหมายสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ปีค.ศ. 2065 และสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการเกิดของเสียโดยจัดการใช้ทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

“กระทรวงอุตสาหกรรมต้องมีบทบาทเป็นหน่วยงานส่งเสริมแทนการกำกับดูแลที่เน้นให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดให้มากขึ้นด้วย เพื่อให้โรงงานมีความคล่องตัวในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความทันสมัย มีต้นทุนแข่งขันได้ ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยยึดหลัก อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นไปแบบยั่งยืนที่แท้จริง” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

ทั้งนี้ ทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ประเทศพัฒนาแล้วกำหนดมาตรการต่างๆ ในการลดภาวะโลกร้อนที่ทำให้มีระเบียบ ข้อบังคับสำหรับการนำเข้าสินค้าที่เป็นลักษณะกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งยกระดับผู้ประกอบการผ่านกลไกต่างๆ ที่จะทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมไม่เป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด 

ดังนั้นวาระเร่งด่วนจึงให้ความสำคัญดังนี้…

1. มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมที่รองรับบริบทการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การใช้พลังงานสะอาดและการลดการใช้ฟอสซิล อุตสาหกรรม Soft power ฯลฯ

2. การผลักดันให้หน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมก้าวสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัล (Digital Government) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นกลไกในการให้บริการ การขออนุมัติ/อนุญาต และบูรณาการการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบ One Stop Service เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลโรงงาน เหมืองแร่ และมาตรฐานอย่างจริงจัง

3. เร่งแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และกากของเสีย โดยกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่นให้เข้มงวดขึ้น การรวมพลังของกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในการกำกับดูแลแม่น้ำลำคลอง การทิ้งกากอุตสาหกรรม และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบการต่างๆ

4. กำหนดมาตรการแก้ไขฝุ่นมลพิษ PM 2.5 โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การยกระดับการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษไปสู่มาตรฐาน EURO 6 ในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป การกำกับการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอย่างเข้มงวด การส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ไม่มีการลักลอบเผา ตลอดทั้งการช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลที่ไม่รับอ้อยลักลอบเผา

5. ขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมโดยใช้แนวทางของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ EEC ในภูมิภาคต่างๆ โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาด และมาตรการลดราคาที่ดินและบริการเพื่อเป็นกลไกดึงดูดการลงทุนรายใหม่ 

‘รัดเกล้า’ เผย!! ‘ก.อุตสาหกรรม’ มุ่งแก้ปัญหา PM2.5 ยั่งยืน ผุดมาตรการ ‘คุม รับ รุก’ สร้าง ‘อุตฯ สีเขียว’ สอดรับ BCG Model

(9 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับทราบและไม่ได้นิ่งนอนใจในความกังวลใจของชาวภูเก็ตเรื่องมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้เดินหน้าสั่งการอุตสาหกรรมจังหวัด ทำการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และกำกับติดตามดูแลตามมาตรการระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทันที

นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังย้ำอีกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ และเดินหน้าแก้ไขปัญหา PM2.5 ด้วยมาตรการ ‘คุม รับ รุก’ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางวาระ PM2.5 เป็น 1 ใน 5 วาระเร่งด่วน ยกระดับสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า มาตรการ ‘คุม รับ รุก’ ได้แก่ 

1.คุม ควบคุมการระบายอากาศเสียจากโรงงาน โดยใช้อำนาจตาม พรบ. โรงงาน แก้กฎหมาย 
2.รับ การรับและรวบรวมข้อมูลด้านมลพิษอากาศจากโรงงานอย่าง Real-time 
3.รุก การตรวจโรงงานเชิงรุก กทม. ปริมณฑล เหนือ

โดย กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองการเชิงรุกกับโรงงานทั่วประเทศที่จำนวนกว่า 7 หมื่นโรงงาน ทั้งการตรวจโรงงานเชิงรุกในพื้นที่ กทม. และ ปริมณฑล ของโรงงานในกลุ่มเสี่ยงแล้วกว่า 896 โรงงาน (กทม. 260 โรงงาน ปริมณฑล 636 โรงงาน) ดำเนินการตรวจโรงงานเชิงรุกในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 668 โรงงาน

รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ควบคุมการผลิต และตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ออกกฎหมายควบคุมด้านมลพิษอากาศ ออกกฎหมายกำหนดให้โรงงานบางประเภทที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ให้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMS) ตลอดจนการจัดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล (Pollution Online Monitoring System) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาติดตามและตรวจสอบ

“รัฐบาลเร่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยสอดรับ BCG Model มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) พัฒนาพาอุตสาหกรรมไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งไปสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงต้องร่วมกับผู้ประกอบการและฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ปรับตัวตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ” นางรัดเกล้าฯ กล่าว

'พิมพ์ภัทรา' ลั่น!! สินค้าด้อยคุณภาพต้องหมด ภายใน 6 เดือน สั่ง!! สมอ. จัดการกวาดล้างให้สิ้นซากจากท้องตลาด

(10 ต.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สินค้าด้อยคุณภาพที่มีราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงความปลอดภัยของประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้เข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้านำเข้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าดังกล่าวเข้าประเทศ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายภายใน 6 เดือน จะต้องกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. จะเข้มงวดในทุกช่องทางเพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. จำนวน 143 รายการ ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หากมีสินค้านำเข้าที่ใช้พิกัดและรหัสสถิติที่เชื่อมโยงไว้ ผู้นำเข้าจะต้องยื่นข้อมูลการนำเข้าผ่านระบบ NSW และได้รับใบอนุญาตก่อนรับมอบสินค้าจากกรมศุลกากร เพื่อป้องกันการนำสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ นอกจากนี้ ยังตรวจสอบการนำเข้าสินค้าที่ผ่านพิธีการทางศุลกากรผ่านระบบ e-Tracking เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของการนำเข้า และตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงมีการตรวจติดตามผู้รับใบอนุญาตผ่านระบบ e-Surveillance ซึ่งเป็นการนำระบบมาช่วยอำนวยความสะดวกในการแจ้งข้อมูลของผู้ได้รับอนุญาต 

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดและทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม โดยนำระบบ e-Market surveillance มาใช้ในการตรวจติดตามสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศ พร้อมทั้งกำชับทีมนักรบไซเบอร์ ทำหน้าที่ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าทางโทรทัศน์ และ Platform Online ต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย

“สินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกที่ทะลักเข้ามาในไทย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและความปลอดภัยของประชาชน สมอ. จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุมและกำกับติดตามสินค้าไม่ได้มาตรฐานในทุกช่องทาง หากผู้ผลิตและผู้นำเข้าฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้จำหน่ายหากขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดย สมอ. จะดำเนินการกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย” นายวันชัยฯ กล่าว

‘ก.อุตฯ’ กาง 8 มาตรการ ดันอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก พร้อมตั้งเป้ายก ‘ไทย’ เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค

(16 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระทรวงให้ความสำคัญ โดยตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 136,503 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ ในขณะที่กลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์-อาหารทะเล อาหารแปรรูป ฯลฯ มีอัตราการเติบโตลดลง 7.5% และ 10.3% ตามลำดับ

โดยไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ดังนั้น หากจะผลักดันให้อาหารฮาลาลของไทยขยายตลาดมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงได้เตรียมมาตรการและแผนงาน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ เป็นต้น

โดยมีมาตรการที่สำคัญ 8 มาตรการ ได้แก่

1. ขับเคลื่อน Soft Power สู่การยกระดับอาหารฮาลาล ท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เช่น แกงปูใบชะพลู ข้าวยำปักษ์ใต้ แกงเหลือง สะตอผัดกุ้ง และอาหารฮาลาลไทยต้นตำรับ เช่น ต้มยำกุ้ง มัสมั่นเนื้อ ข้าวซอยไก่ โดยสนับสนุนให้เป็นอาหารแนะนำที่เสิร์ฟบนเครื่องบินเพื่อเป็นการโปรโมต

2. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาลที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิมกับแหล่งอาหารฮาลาลในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม การขนส่ง ฯลฯ โดยประสานกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแนะนำและขึ้นทะเบียนเมนูอาหารตลอดจนส่งเสริมอาหารฮาลาลในเทศกาลต่าง ๆ เพื่อโปรโมตและสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก

3. ลดข้อจำกัดและปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคเกี่ยวกับการขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล โดยให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการรับรอง

4. เจรจา MOU เพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลใหม่ในต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และสาธารณรัฐทูร์เคีย เช่น มาตรการทางด้านภาษี มาตรการการตรวจปล่อยสินค้าให้มีความรวดเร็วมากขึ้น

5. พัฒนาผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทยตอบโจทย์ผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ เช่น ขนมขบเคี้ยว และอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีการสนับสนุนพื้นที่ในห้างโมเดิร์นเทรด

6. สร้างเครือข่ายความร่วมมืออาหารฮาลาลไทย กับประเทศเป้าหมาย โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ roadshow ในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้

7. พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของ กนอ. ร่วมกับ ศอ.บต. ในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งยกระดับศูนย์พัฒนาสินค้าอาหารของสถาบันอาหารใน จ.สงขลา ให้ครอบคลุมการพัฒนาสินค้าอาหารฮาลาลต้นแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดเชิงพาณิชย์

8. พัฒนาและจัดทำ role model ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เช่น โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ฯลฯ ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์วัวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกไปยังประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

ทั้งนี้ ในการดำเนินการจะร่วมเป็นเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมในภูมิภาค โดยทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุน ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางฮาลาลภูมิภาคอย่างยั่งยืน

'พิมพ์ภัทรา' สั่งเคลียร์ของเสีย 1.3 หมื่นตัน โรงงาน 'แวกซ์ กาเบ็จ' หลังพบปัญหายืดเยื้อ 20 ปี ลั่น!! ต้องจบภายใน มี.ค.67

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.66 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่โรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ว่า ได้เร่งรัดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการโรงงานที่เป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานมากกว่า 20 ปี

แม้ว่าจะสั่งการตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังคงมีกากอุตสาหกรรมและของเสียเคมีวัตถุตกค้างในพื้นที่ของบริษัทฯ ซึ่งกระทบกับประชาชนและชุมชนรอบโรงงานในภาคเกษตรกรรมและน้ำอุปโภค บริโภค

"การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้เห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจริงจังและตระหนักถึงปัญหาของประชาชนโดยรอบโรงงาน โดยกรณีนี้ได้รับงบกลางปี 2566 วงเงิน 59.8 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหากากของเสียทั้งระบบ 13,439 ตัน ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายศุภเวศ ทองประยูร ผู้อำนวยการสำนักน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้เร่งเตรียมแผนโครงการศึกษาฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่าย บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงาน คาดว่าจะดำเนินการครอบคลุมได้ในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ของตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

‘พิมพ์ภัทรา’ เตรียมประกาศมาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลฯ จากลมหายใจ’ รับนโยบายรัฐ ‘ขจัดเมาแล้วขับ’ คาด!! ประกาศใช้จริงภายใน 2 เดือน

(19 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้เตรียมประกาศมาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ’ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านการเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตลอดจนส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้อ้างอิงในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะนักดื่มสายแข็งที่เมาแล้วขับ และมักจะร้องเรียนกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ บอร์ด สมอ. ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า นอกจากบอร์ดจะเห็นชอบมาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ’ แล้ว ยังเห็นชอบแผนการจัดทำมาตรฐานของ สมอ. ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่เสนอทั้งหมด 600 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานกำหนดใหม่ 443 มาตรฐาน และมาตรฐานเดิมที่ต้องทบทวนให้ทันสมัยอีก 157 มาตรฐาน ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve 105 มาตรฐาน เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ กลุ่ม New S-curve 120 มาตรฐาน เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์  เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ฯลฯ กลุ่มมาตรฐานตามนโยบาย 32 มาตรฐาน เช่น นวัตกรรม สมุนไพร ฯลฯ กลุ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ 163 มาตรฐาน และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 23 มาตรฐาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ฯลฯ

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ’ มีข้อกำหนดที่สำคัญ เช่น วัดความเที่ยงตรงแม่นยำของเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยการฉีดก๊าซเข้าเครื่องวัดแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องซ้ำ ๆ 20 ครั้ง เพื่อจำลองลมหายใจของผู้ขับขี่ ต้องได้ค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่อ่านได้จากเครื่องวัดที่มีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ในเกณฑ์การยอมรับของเครื่องมือ คือ ไม่เกิน 4 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยกำหนดปริมาณลมที่หายใจออก ต้องไม่น้อยกว่า 1.2 ลิตร และเวลาที่หายใจออกต้องไม่น้อยกว่า 5 วินาที เครื่องวัดแอลกอฮอล์ต้องจัดเก็บข้อมูลผลการวัดสำหรับการใช้งาน และสามารถเรียกดูได้แต่ไม่สามารถปรับแก้ไขข้อมูลได้ และแสดงผลเป็นตัวเลขที่ถูกต้องชัดเจน เป็นต้น คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานนี้ได้ภายใน 2 เดือน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้” นายวันชัยฯ กล่าว

'ก.อุตฯ' เผย!! โครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ฉะเชิงเทรา รุดหน้า!! เตรียมพาอุตฯ ยานยนต์ไทยทะยาน หลังได้ผู้รับเหมาครบ 'ตอบโจทย์-ราคาเหมาะสม'

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยดำเนินอยู่บนพื้นที่ 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการลงทุนของภาครัฐทั้งหมดภายใต้กรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท

ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 55% ใช้งบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินประมาณ 1,667.69 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 หากแล้วเสร็จสมบูรณ์ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก

การก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายในเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญ ในภูมิภาคอาเซียนมีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศที่ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ

สำหรับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติมาในปี 2566 อีก 1,667.69 ล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการก่อสร้าง ได้แก่

1. สนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117  
2. สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ (Work Shop) 
3. ทางวิ่ง (Run-In) ส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบมาตรฐาน UN R117
4. LAB ทดสอบการชน 

รวมทั้งจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบ 3 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง  ชุดเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์เลี้ยวสำหรับยานยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้าง

ทั้งนี้ ตามแผนที่วางไว้ศูนย์ทดสอบฯ นี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก คาดว่าศูนย์ทดสอบฯ จะมีรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 968 ล้านบาท รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศประมาณ 30-50% และสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี

ล่าสุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดให้มีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีข้อมูลอยู่ในระบบอีบิดดิ้ง มีผู้แข่งขัน 2 รายและมีผู้รับการคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทผู้รับคัดเลือกมีราคาต่ำสุดอยู่ที่ 844,230,000 บาท โดยคาดว่าจะมีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ชนะการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ ให้สามารถดำเนินโครงการในแต่ละระยะให้แล้วเสร็จทั้งโครงการและเปิดใช้บริการได้ในปี 2569 ตามกรอบเวลาของโครงการทั้งหมดได้

'พิมพ์ภัทรา' เอาจริง!! ออก 8 มาตรการปราบสินค้าออนไลน์ไร้มาตรฐาน ลั่น!! ต้องกวาดล้างให้หมดไปจากท้องตลาดภายใน 6 เดือน

(26 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากการลงพื้นที่ดูแลประชาชน มักจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีมาตรฐานอยู่เป็นระยะ ตนจึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ต้องกวาดล้างให้หมดไปจากท้องตลาดภายใน 6 เดือน 

ทั้งนี้ ภายใต้ภารกิจ 'Quick Win' ได้ออก 8 มาตรการเร่งด่วน เพื่อกำกับดูแล ควบคุม และส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ถูกหลอกจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ได้แก่...

1) มาตรการ 3 ร. (เร่งตรวจ เร่งกำกับ เร่งปราบ)  
2) มาตรการจับจริง-ปรับจริง 
3) มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล 
4) มาตรการให้ความรู้  
5) มาตรการขยายผลอย่างยั่งยืน 
6) มาตรการสร้างความตระหนัก 
7) มาตรการใกล้ชิดประชาชน 
8) มาตรการเพิ่มอาวุธ 

โดยคาดว่าทั้ง 8 มาตรการจะสามารถกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพที่จำหน่ายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ให้หมดไปจากท้องตลาด

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ลงพื้นที่ตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด และทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปภายใน 6 เดือน รวมทั้ง ได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ได้แก่...

1) มาตรการ 3 ร. (เร่งตรวจ เร่งกำกับ เร่งปราบ) โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และนำข้อมูลที่ได้มาขยายผล เพื่อให้รู้ถึงพิกัดโกดังเก็บสินค้า พิกัดการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ และให้ทราบถึงแหล่งที่มาทั้งโรงงานที่ผลิตและช่องทางการนำเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างสูงสุด  

2) มาตรการจับจริง-ปรับจริง หากพบสินค้าไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. สมอ. จะออกหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้มาให้ข้อมูลร้านค้า และรายละเอียดของสินค้า หากพบว่ามีความผิดจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

3) มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล โดยการชี้แจงให้ทุกแพลตฟอร์มทราบมาตรการในการดำเนินคดีกับสินค้าที่มีการโฆษณาโดยไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. และให้ทุกแพลตฟอร์มจัดทำระบบที่บังคับให้ผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมต้องแสดง QR Code ข้อมูลใบอนุญาต และภาพในการโฆษณาต้องแสดงเครื่องหมาย มอก. ด้วย 

4) มาตรการให้ความรู้  สมอ. จะเชิญร้านค้าออนไลน์ และแพลตฟอร์ม หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการป้องกันการโฆษณา การจำหน่าย และการลักลอบขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และให้ทราบถึงการกระทำความผิดฐานเป็นผู้ให้พื้นที่ในการโฆษณาและเป็นผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าดังกล่าว 

5) มาตรการขยายผลอย่างยั่งยืน โดย สมอ. จะขยายผลให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเพื่อให้ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการ หรือผู้เกี่ยวข้อง ที่แจ้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสินค้า 

6) มาตรการสร้างความตระหนัก โดยขอความร่วมมือแพลตฟอร์มให้แสดงอินโฟกราฟิกแจ้งเตือนผู้บริโภคให้รู้วิธีการสังเกตสินค้าที่มีมาตรฐานทุกครั้งที่มีการค้นหา Keyword (คีย์เวิร์ด) เช่น คำว่า 'ปลั๊กพ่วง' / 'พาวเวอร์แบงค์' หรือ 'หลอดไฟ' ฯลฯ 

7) มาตรการใกล้ชิดประชาชน สมอ. จะทำคอนเทนต์ออนไลน์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน 

8) มาตรการเพิ่มอาวุธ มีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจศึกษาข้อกฎหมาย ข้อจำกัด และแนวทางการแก้ปัญหาในการลงโทษร้านค้าออนไลน์ที่กระทำความผิด รวมทั้งผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์จากการขายสินค้าด้วย 

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ภารกิจ 'Quick Win' เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปภายใน 6 เดือน นายวันชัยฯ กล่าว

‘ที่ปรึกษา รมว.อุตฯ’ ร่วมเปิดงาน ‘LogiMAT 2023’ หนุน ‘โรงงาน-คลังสินค้า’ เป็นต้นแบบอุตฯ ไร้คาร์บอน

(26 ต.ค. 66) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน LogiMAT | Intelligent Warehouse 2023 จัดโดย บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอลเน็ทเวอร์ค จำกัด ร่วมกับสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย โดยมีภาคส่วนเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ อิมแพค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ธุรกิจคลังสินค้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ และเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สามารถกระตุ้นรายได้มวลรวมของประเทศ โดยในปัจจุบัน ระบบคลังสินค้าได้มีการปรับเปลี่ยนสู่ระบบอัจฉริยะ ที่นำระบบคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี จนถึงระบบอัตโนมัติ เข้ามาสนับสนุนธุรกิจ โดยสามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรวมถึงการขยายสายป่านของผลิตภัณฑ์และขอบเขตการให้บริการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทำให้ระบบอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยสามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 

การจัดงาน ‘LogiMAT Intelligent Warehouse’ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความเหมาะสมให้เข้ามาเป็นส่วนช่วยทำให้ธุรกิจอินทราโลจิสติกส์ (Intralogistics) ในประเทศไทยเกิดการเติบโตได้อย่างมั่นคง อีกทั้งช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนในส่วนของโรงงานและการบริหารจัดการคลังสินค้าให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนที่เป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry) เพื่อรองรับการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นในภาคการผลิต การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นกลไกหลักในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ในภาคอุตสาหกรรมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมยินดีที่จะร่วมขับเคลื่อน สนับสนุนและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดการผลักดันและขับเคลื่อนที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

ทั้งนี้ งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีคลังสินค้าและระบบจัดการ ‘LogiMAT IntelligentWarehouse 2023’ จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2566 ณ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

‘พิมพ์ภัทรา’ ลงพื้นที่ชลบุรี เร่งหารือพัฒนาภาคอุตสาหกรรม หวังปั้นเมืองชลฯ สู่เมืองเศรษฐกิจชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน

(27 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอจ.ชลบุรี) พร้อมหารือแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีนางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม, นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (หน.ผตร.อก.), นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเตมีย์ พันธุ์วงค์ราช ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือ และมีนางสาวอังศุมาลิน ฉัตรสุวรรณวารี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (อสจ.ชลบุรี), นางสาวภารดี เสมอกิจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรม รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 (ศภ.9) ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สอจ.ชลบุรี และ ศภ.9 และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอท.ชลบุรี) ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ชั้น 7 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 จังหวัดชลบุรี

อสจ.ชลบุรี ได้รายงานว่า จังหวัดชลบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 4,248 โรงงาน อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ แหลมฉบัง ปิ่นทอง ดับบลิวเอชเอ และปิ่นทอง (แหลมฉบัง) จำนวน 1,099 โรงงาน นอกนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 3,149 โรงงาน มีวิสาหกิจชุมชน จำนวน 620 กลุ่ม มี OTOP จำนวน 1,395 ราย มีเหมืองแร่ในจังหวัดได้ประทานบัตร 31 แปลง เปิดการทำเหมือง 22 แปลง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิต หินปูน และอยู่ระหว่างต่ออายุ 6 แปลง หยุดการทำเหมือง 3 แปลง

นอกจากนี้ สอจ.ชลบุรี ได้รายงานแนวทางปฏิบัติงานภายใต้นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) MIND ใช้ ‘หัว’ และ ‘ใจ’ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ ที่ทันสมัย และเป็นสากล ซึ่งจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีนักลงทุนชาวต่างชาติ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป มาลงทุนเป็นจำนวนมาก และได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ เช่น โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว, โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมในภูมิภาค, โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และได้มีการจัดทำระบบ LINE Open Chat เป็นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ SME ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 1,800 ราย เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

ด้านนายณัฏฐ์ธน สารทจีนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี ‘เมืองเศรษฐกิจชั้นนำอาเซียน นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า แลนด์มาร์ก การท่องเที่ยว สังคมคุณภาพ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน’ การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG และ ESG ของจังหวัดชลบุรี ในด้านยุทธศาสตร์ทางจังหวัดได้ตั้งเป้าในลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดลงร้อยละ 16 ผ่านการดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งจังหวัด โดยเฉพาะแสงสว่าง ปรับเปลี่ยนพลังงานเป็นพลังงานสะอาด จัดรูปแบบการขนส่งและการขนส่งสาธารณะ แบบ multimodal transportation โครงการปลูกป่า 1 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 1 ป่า 1 ไร่ ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ได้มีการตั้งค่าเป้าหมายระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับที่ 5 ภายในปี 70

ทั้งนี้ สอท.ชลบุรี มีข้อเสนอในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ดังนี้

1.) ส่งเสริมให้มีนิคมอุตสาหกรรมของรัฐฯ เนื่องจากราคาที่ดินในการนิคมของภาคเอกชนมีราคาค่อนข้างสูงเป็นอุปสรรคปัญหาของนักลงทุนที่ต้องการสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

2.) ต่อยอดพัฒนาเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านเทคโนโลยี เงินทุนหมุนเวียน และการตลาด ซึ่งการต่อรองกับผู้ประกอบการที่เป็นแบรนด์ของสินค้าให้มีการเลือกใช้ผู้ประกอบการไทยเป็นหลัก

3.) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางพี่ช่วยน้อง (big brother) ในการช่วยบริหารจัดการแบบมีผลประโยชน์ร่วมกัน

4.) การพัฒนาการตรวจประเมินรับรองและสร้างมาตรฐาน เรื่อง Carbon Neutrality เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

5.) การพัฒนาฝีมือแรงงานภาคอุตสาหกรรมและการยกระดับฝีมือแรงงานตามคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งยังไม่ตรงเป้าหมายตามความต้องการ

6.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีวัตถุดิบภายในประเทศ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย พืชสมุนไพร เป็นต้น

นอกจากนี้ ทาง สอท. ยังได้เพิ่มเติมในเรื่อง FTA (Free Trade Area) เขตการค้าเสรี ซึ่งเป็นการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ โดยขอให้มีการเปิดเขตการค้าเสรีให้มากยิ่งขึ้น ควรมีการพัฒนากฎหมายให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และภาครัฐควรมีการรวบรวมฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันนี้ได้รับทราบข้อเสนอแนะของทางภาคเอกชน และจะนำข้อเสนอแนะของท่านไปหารือกับคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้งหรือน้ำหลาก มีนโยบายเตรียมการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาว

และสุดท้ายนี้ ขอให้กำลังใจพี่ๆ น้องๆ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกท่านไม่ว่าจะเป็น สอจ.ชลบุรี ศภ.9 สอท.ชลบุรี ที่ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ให้กับ อก. หรือการบริหารจัดการความขัดแย้งระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มาก ขอเป็นตัวแทนของ อก. ขอบคุณทุกท่านที่เสียสละ และสนับสนุนในทุกๆ กิจกรรมของกระทรวง

หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีฯ ได้เยี่ยมชมบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด (เครือสหพัฒน์) ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค แบบครบวงจร โดยมีนายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวรจักร สถาพรภิญโญ นายอำเภอศรีราชา และคุณสายชล ศีติสาร กรรมการบริหารการผลิต บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top