Saturday, 18 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘พิมพ์ภัทรา’ เตือน!! ปชช. เลือกซื้อยางรถยนต์มีเครื่องหมาย มอก. หลังพบร้านค้า จ.ชลบุรี แอบขายยางไม่มีมาตรฐานกว่า 800 เส้น

(30 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากได้มอบนโยบายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาดภายใน 6 เดือน ภายใต้ภารกิจ ‘Quick win’ และติดตามความคืบหน้าของภารกิจ พบการยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภค

ล่าสุด สมอ. เข้าตรวจค้นร้านจำหน่ายยางรถยนต์แห่งหนึ่งในตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่มีการโฆษณาขายผ่านช่องทางออนไลน์ พบยางล้อรถยนต์ตกเกรดหลายขนาดที่นำมาลบยี่ห้อบนแก้มยาง จำนวน 684 เส้น และยางล้อที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. จำนวน 180 เส้น รวมทั้งสิ้น 864 เส้น มูลค่ากว่า 3.3 ล้านบาท ตนจึงสั่งการให้ สมอ. ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการรายนี้ และเร่งตรวจสอบขยายผลไปถึงผู้กระทำความผิดรายอื่นต่อไปด้วย

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิต ภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ยางล้อเป็นสินค้าที่ สมอ. ควบคุม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การทำ นำเข้า ต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อน รวมถึงร้านจำหน่ายต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย

สำหรับผู้ประกอบการรายนี้มีความผิดฐานจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากนี้ สมอ. จะตรวจสอบเพื่อขยายผลไปถึงผู้ทำผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ฝากถึงประชาชนที่กำลังมองหายางรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือกำลังจะเปลี่ยนยางใหม่ ให้สังเกต เครื่องหมาย มอก. คู่กับ QR Code โดยท่านสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของยางเส้นนั้นได้ เช่น ผู้รับใบอนุญาต รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับใบอนุญาต ก่อนตัดสินใจซื้อ และยังเป็นข้อมูลในการตรวจสอบหรือร้องเรียนในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ระบุไว้ นอกจากนี้ ให้สังเกตลักษณะภายนอกของยาง ต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ที่แก้มยางต้องไม่มีร่องรอยการลบยี่ห้อ

ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจให้เลือกซื้อจากร้านจำหน่ายที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านที่มีป้ายสัญลักษณ์ ‘ร้าน มอก.’ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนมั่นใจได้ เพราะผ่านการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ของ สมอ. แล้ว และขอเตือนไปยังผู้ประกอบการที่กำลังฝ่าฝืนกฎหมาย โดยนำยางตกเกรดมาดัดแปลงโดยการลบยี่ห้อออกแล้วส่งขาย หรือนำมาประทับตรายี่ห้อใหม่ว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยสังคม สร้างความเสียหายให้กับประชาชนถึงแก่ชีวิต หากพบการกระทำความผิดจะส่งเรื่องดำเนินคดีเพื่อเอาผิดให้ถึงที่สุด

‘รมว.อุตสาหกรรม’ เตรียมหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดูแลราคาอ้อย ไม่ให้กระทบเกษตรกร

"การปรับขึ้นราคา…หากราคาน้ำตาลในประเทศมีราคาถูก อาจเกิดการลักลอบขายออกนอกประเทศ และเกิดการกักตุนเก็งกำไร ซึ่งทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบในที่สุด ขณะที่การปรับขึ้น จะทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งที่ถูกกำหนดโดย พรบ.ด้วย ไม่ใช่เฉพาะโรงงาน และเงินบางส่วนจะไปที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศ PM2.5 หาปริมาณฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบกับอีกหลายระบบนิเวศ...

"รัฐบาลพร้อมดูแลเกษตรกร ภายหลังการเข้าควบคุมราคา โดยจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระให้กับประชาชนผู้บริโภคและเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม" 

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เผยว่ากระทรวงพาณิชย์มีมติไม่ให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาล 4 บาท ต่อกิโลกรัม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะกลับไปหามาตรการที่จะมาช่วยเหลือกลุ่มชาวไร่อ้อย เพราะที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)

เผยสาเหตุ!! 'การเสนอปรับขึ้นราคาน้ำตาล' 4 บาท/กก.

การประกาศกำหนดราคาน้ำตาลภายในราชอาณาจักรเพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำปีการผลิตในแต่ละฤดูการผลิต ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะเป็นการแจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้แก่ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล รับรู้รายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ 

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลสามารถจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ณ หน้าโรงงานในราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาที่ประกาศได้ แต่โรงงานต้องนำส่งรายได้ตามราคาที่ประกาศ

การปรับเพิ่มราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2566/2567 จากเดิมราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวธรรมดากิโลกรัมละ 19 บาท ปรับเป็นกิโลกรัมละ 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกิโลกรัมละ 20 เป็นกิโลกรัมละ 24 บาท โดยมีแนวทางการปรับเพิ่มรายได้และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตแก่ระบบอุตสาหกรรม โดยมีแนวทางการปรับเพิ่มราคาจำแนกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1) การปรับเพิ่มราคา 2 บาท/กิโลกรัม ส่วนที่ 1 
เป็นการปรับเพิ่มราคาตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยใช้หลักการ Cost Plus ประกอบด้วยต้นทุนการผลิตอ้อย ต้นทุนการผลิตน้ำตาล ค่าใช้จ่ายในส่วนการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ และผลตอบแทนในอัตราที่เหมาะสม 

ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่า หากมีการบริโภคน้ำตาลในประเทศที่ประมาณ 2.5 ล้านตัน (2,500 ล้านกิโลกรัม) จะทำให้มีรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานที่ ร้อยละ 70 : 30 ส่วนของชาวไร่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 3,500 ล้านบาท 

และจากประมาณการผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2566/2567 ที่ 82 ล้านตันอ้อย เป็นผลให้ราคาอ้อยมีราคาเพิ่มขึ้นอีกตันละ 42 บาท (3,500/82) ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยที่ชาวไร่อ้อยได้รับคุ้มต่อต้นทุนการผลิต โดยในเบื้องต้นจากการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเห็นสอดคล้องกัน

2) การปรับเพิ่มราคา 2 บาท/กิโลกรัม ส่วนที่ 2 
เป็นการปรับเพิ่มราคาเพื่อนำเงินส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในจำนวนที่เท่ากับส่วนที่ 1 โดยรายได้ที่นำส่งกองทุน ฯ ในส่วนนี้มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว และจะเป็นการช่วยเหลือทั้งในรูปแบบการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเก็บเกี่ยวอ้อยในพื้นที่ (In Kind) การช่วยเหลือต้นทุนการเก็บเกี่ยวอ้อยสด (In Cash) 

ทั้งนี้เพื่อให้เป็นตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีความเห็นต่อการขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่อ้อย ที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปศึกษาผลดีผลเสียและความคุ้มค่าของการดำเนินการ รวมทั้งแนวทางการลดต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ที่มีความยั่งยืนและไม่เป็นภาระงบประมาณ

ทั้งนี้ ในการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความกังวลว่าการปรับเพิ่มราคาในส่วนนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

'พิมพ์ภัทรา' สั่ง!! สอน.เร่งหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ ดูแล 'ชาวไร่อ้อย-ผู้บริโภค-ผู้ส่งออก' ทั้ง 'ผลผลิต-ราคา'

(2 พ.ย .66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง สถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรชาวไร่อ้อย ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างมาก จากต้นทุนการเพาะปลูกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบให้เกิดความแห้งแล้งและทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยลดน้อยลง กระทรวงอุตสาหกรรม จึงสั่งการและกำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งหาแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม 

ขณะเดียวกันต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมรับทราบการขึ้นทะเบียนน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม 1 ปี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่รัฐบาลเร่งควบคุมราคาเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค 

“กระทรวงอุตสาหกรรม ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และกระทรวงพาณิชย์ ที่มีความห่วงใยและเข้ามาร่วมช่วยทั้ง 3 ส่วน คือ ชาวไร่อ้อย ผู้ส่งออก และประชาชนผู้บริโภค โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมยกระดับความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องชาวไร่อ้อย ยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาล เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ” รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าว 

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เน้นย้ำว่า พร้อมสนับสนุนเงินชดเชยให้กับเกษตรกร และระบบอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทราย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งหามาตรการที่เหมาะสมสำหรับการส่งออก 

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (2 พ.ย.66) ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งน้ำตาลทราย ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง จะร่วมกันหารือแนวทางเพื่อหาทางออกต่อสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

‘ปลัดอุตฯ’ ยัน!! เดินหน้า ‘ศูนย์ทดสอบยานยนต์’ เฟส 2 ต่อเนื่อง ดัน ‘ไทย’ สู่ฮับทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียน-อันดับ 11 ของโลก

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดย นายณัฐพล ยืนยันว่า พร้อมเดินหน้าโครงการในเฟส 2 ต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เตรียมประกาศรายชื่อบริษัทผู้ชนะการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารและข้อมูล โดยคาดว่า 1-2 เดือนนี้ จะสามารถประกาศชื่อผู้ชนะได้แน่นอน

ขณะที่มีรายงานว่า บริษัทผู้ชนะการประกวดราคา โครงการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 นั้น พบมีข้อมูลอยู่ในระบบอี-บิดดิ้ง ว่า มีผู้แข่งขัน 2 ราย และมีผู้รับการคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทผู้รับคัดเลือกมีราคาต่ำสุด อยู่ที่ 844,230,000 บาท

ส่วนงบประมาณที่ได้รับอนุมัติมาในปี 2566 อีก 1,667.69 ล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการก่อสร้าง ได้แก่

1.) สนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117
2.) สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ (Work Shop)
3.) ทางวิ่ง (Run-In) ส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบมาตรฐาน UN R117
4.) LAB ทดสอบการชน

ทั้งนี้ หาก สมอ.มีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ชนะการประกวดราคาฯ ก็จะสามารถเดินหน้าก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้ในทันที เพื่อให้ดำเนินโครงการในแต่ละระยะแล้วเสร็จตามกรอบเวลาของโครงการทั้งหมด เปิดใช้บริการได้ในปี 2569

สำหรับโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ใช้พื้นที่ 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเป็นการลงทุนของภาครัฐทั้งหมด ภายใต้กรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่า 55% ใช้งบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินประมาณ 1,667.69 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 หากแล้วเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก

การก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทย เปลี่ยนผ่านจากการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน เป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน มีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ที่ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ

'รมว.พิมพ์ภัทรา' กำชับ 'สมอ.' เชิญ 8 สถาบันเครือข่าย เร่งกำหนดมาตรฐานให้ได้ตามเป้าหมาย ทันยุคอุตฯ ใหม่

(6 พ.ย. 66) นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ให้เชิญ 8 สถาบันเครือข่าย ได้แก่...

- สถาบันอาหาร 
- สถาบันพลาสติก 
- สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย  
- สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย  
- สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 
- สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  
- สถาบันยานยนต์ 
- และ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 

ซึ่งทั้งหมดเป็นหน่วยงานเครือข่ายที่มีภารกิจสนับสนุนการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. ทั้งการจัดทำมาตรฐาน และการตรวจสอบคุณภาพของสินค้า โดย สมอ. ให้การยอมรับว่าหน่วยงานเหล่านี้สามารถกำหนดมาตรฐานได้ หรือที่เรียกว่า SDOs (Standards Developing Organizations) มาประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรฐานในปี 2567

ทั้งนี้ สมอ.ได้มอบหมายนโยบายให้ SDOs ทั้ง 8 หน่วยงานเร่งรัดจัดทำมาตรฐานในปีนี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง เสริมเติมจากที่ สมอ. ได้วางแผนกำหนดมาตรฐานไว้แล้ว 600 เรื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการกำหนดมาตรฐานระยะ 5 ปี ของ สมอ. (พ.ศ.2566-2570) ที่มีอยู่จำนวน 1,777 เรื่อง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น มาตรฐาน EV, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมชีวภาพ, AI,  ฮาลาล และ Soft power

ปัจจุบัน สมอ. มี SDOs จำนวน 43 หน่วยงาน ที่มีศักยภาพสามารถกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุม 81 สาขา เช่น สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ, สีและวาร์นิช, วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์, นาโนเทคโนโลยี, ปิโตรเลียม,  ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, ระบบการจัดการความเสี่ยง  อาชีวอนามัยและความปลอดภัย, ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร, การยศาสตร์, ความรับผิดชอบต่อสังคม, ดิจิทัล, ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, ก๊าซธรรมชาติ, แบตเตอรี่, การสื่อสารโทรคมนาคม, ยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น

“เบื้องต้น สถาบันยานยนต์ จะเร่งจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะเร่งทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่พยายามขโมยข้อมูลสำคัญต่างๆ ของบุคคลหรือองค์กร เช่น บัญชีเงินฝาก ข้อมูลประจำตัว ข้อมูลด้านสุขภาพ หรือข้อมูลสำคัญขององค์กร เป็นต้น สถาบันสิ่งทอ จะจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสิ่งทอและด้านการป้องกันไฟ เช่น ผ้าม่าน, พรม, ถุงมือกันบาด และถุงมือกันสารเคมี เป็นต้น ทั้งนี้ สมอ. จะรวบรวมรายชื่อมาตรฐานที่ SDOs จะดำเนินการจัดทำทั้งหมด เสนอบอร์ด สมอ. ให้ความเห็นชอบต่อไป” นายวันชัยฯ กล่าว

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ หนุนรถแดงเชียงใหม่ใช้ EV สร้าง ‘ภาพจำที่ดี-อัตลักษณ์’ รถประจำถิ่น

รัฐมนตรีอุตสาหกรรม หนุน!! รถแดงเชียงใหม่ ใช้ EV คู่คงอัตลักษณ์รถสาธารณะประจำถิ่น มุ่งลดมลพิษและควันดำ สร้างภาพจำที่ดีให้นักท่องเที่ยว ชี้เป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เหตุจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น

(6 พ.ย. 66) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้รถแดงคู่เมืองเชียงใหม่เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์อีวี (EV) เช่นเดียวกับรถยนต์ขนส่งสาธารณะประจำเมืองต่างๆ ซึ่งควรปรับเปลี่ยนกลไกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของรถยนต์สาธารณะประจำท้องถิ่นไว้ และสร้างภาพจำที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว โดยการผลักดันระบบขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น การใช้รถยนต์สาธารณะจะมีมากขึ้น

เพราะถ้าหากยังเป็นรถยนต์สันดาป ปัญหามลพิษจากควันท่อไอเสียก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าจะลดควันดำและปัญหามลพิษไปในตัว

“จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองเหนือของเชียงใหม่ทำได้น่าสนใจมาก โดยรถแดงถือเป็นรถสาธารณะที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มานาน”

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้า มีหลายแนวทางที่สามารถใช้เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสในธุรกิจได้ หากมีความรู้เกี่ยวกับตลาดและอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจต้องใช้เวลา

แต่หากวางแผนที่ดีในแต่ละขั้นตอนจะช่วยให้สร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในไทยได้

'พิมพ์ภัทรา' จี้!! ผู้ประกอบการหลัก เร่งผลิต 'โปแตช' ห้ามล่าช้า หากเกษตรกรต้องแบกราคาปุ๋ยแพงนาน สั่งเปลี่ยนเจ้าทันที

'รมว.อุตสาหกรรม' จี้ผู้ประกอบการเร่งผลิต 'โปแตช' วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยเข้าสู่ระบบ ย้ำถ้าผลิตไม่ได้ต้องหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้าดำเนินการ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน โปแตช คือ วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก และในประเทศไทยก็มีแร่ชนิดนี้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากแคนาดา แต่ปัจจุบันมีการขาดแคลนโปแตช ที่เป็นวัตถุดิบต้นทางอย่างกว้างขวาง ทำให้ปุ๋ยที่ไปถึงมือเกษตรกรมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันความต้องการใช้ปุ๋ยในอุตสาหกรรมการเกษตรมีความจำเป็นอย่างมาก 

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้ติดตามสอบถามถึงผู้รับสัมปทานทั้ง 3 ราย ให้เร่งดำเนินการผลิตเพื่อนำวัตถุดิบเข้าระบบ แนวนโยบายและการสั่งการสำคัญขณะนี้คือ หากผู้รับสัมปทานทั้ง 3 รายที่ได้สัมปทานไปยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ได้ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหาผู้ดำเนินการรายใหม่เข้าดำเนินการแทน เพื่อให้มีวัตถุดิบเข้าไปในระบบการผลิตปุ๋ยเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าติดตามแล้ว

"นายกฯ ได้มีการสอบถามการผลิตแร่โปแตชในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกอบการเข้ารับสัมปทานจำนวน 3 ราย ในจังหวัดชัยภูมิ, อุดรธานี และนครราชสีมา โดยได้ให้นโยบายว่า จะต้องมีการเร่งรัดให้มีการผลิตแร่เข้าสู่ระบบ แต่จนถึงขณะนี้พบว่า ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ยังไม่ได้ดำเนินการทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา จึงได้มีการสั่งการให้เร่งรัดและหากปัญหาเกิดจากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องหาผู้ประกอบการรายใหม่" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

'พิมพ์ภัทรา' เดินหน้า!! เร่งก่อตั้ง 'กรมอุตสาหกรรมฮาลาล' หลังนายกฯ ไฟเขียว เพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่สากล

(8 พ.ย.66) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้เชิญตนเข้าร่วมหารือ โดยมีประเด็นข้อหารือสำคัญคือ การเร่งยกระดับอุตสาหกรรม 'ฮาลาล' ที่จะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดเพื่อความรวดเร็วและเห็นผลการปฏิบัติว่า จะต้องมีหน่วยงานหลักระดับ 'กรม' ซึ่งจะต้องเป็นอีกกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำงานรองรับอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะจากความละเอียดอ่อนในแง่มุมต่างๆ และการควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักการฮาลาลสากล

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มองเห็นโอกาสการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในระดับโลก เพราะมีผู้บริโภคที่กว้างขวางมากในประเทศกลุ่มมุสลิมหลายภูมิภาคของโลก ทั้งตะวันออกกลาง, แอฟริกา หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชียเอง

"มีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับความสำคัญของกลุ่มงานอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นรูปธรรม และมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในรูปของกรม ตามแนวบัญชาการของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้มีการสั่งการไปแล้ว และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ให้เร่งดูขั้นตอนของกฎหมายเพื่อยกระดับหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นหน่วยงานระดับกรมที่สังกัดอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม" รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

'พิมพ์ภัทรา' หารือ 'กมธ.อุตสาหกรรม' กรุยทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยก!! 'เปลี่ยนยุค EV - เหมืองโปแตซ - ฮาลาลสากล' วาระใหญ่

(9 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำเสนอแผนการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน การปรับภารกิจเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเป็นระบบ (Digital Government) การบูรณาการการกำกับดูแลโดยใช้กลไกทางกฎหมาย และกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนแผนการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด ในโอกาสที่คณะกรรมาธิการฯ เดินทางเข้าพบ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในชั้นกรรมาธิการต่อไป

โดยที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆ อาทิ การส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และการนำเสนอแนวโน้มทิศทางอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมปรับแผนการผลิต รวมทั้งการสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการทำเหมืองโพแตซ ให้สามารถผลิตปุ๋ยได้เองภายในประเทศ ซึ่งช่วยลดรายจ่ายจากการนำเข้าปุ๋ยปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ ประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และบริหารความสัมพันธ์ให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นสุข

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการควบคุมดูแลกากอุตสาหกรรม พร้อมชื่นชมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยขอให้พิจารณาเกณฑ์การรับรองมาตรฐานให้เหมาะสม และมีความรวดเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในการยกระดับหน่วยงานดำเนินการขึ้นเป็น กรมอุตสาหกรรมฮาลาล

"อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้ความร่วมมือกับ คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน รวมทั้งการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มศักยภาพ" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top