Sunday, 5 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘สุริยะ’ อำลาข้าราชการกระทรวงอุตฯ  เปรย!! อนาคตอาจได้ร่วมงานกันอีก ก็เป็นได้

(17 มี.ค.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการประชุมนัดสุดท้ายร่วมกับผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีทุกกรม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม จาก ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. และสถาบันเครือข่าย โดยระบุว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีความประทับใจ ซาบซึ้งใจ และความภาคภูมิใจต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมไทยทั้งระดับมหภาค เอสเอ็มอี และพี่น้องประชาชนโดยการฝึกอาชีพ ให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ไปได้อย่างดี อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่เคยถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในรายกระทรวง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพวกเราชาวอุตสาหกรรม

 

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ว่าที่ รมว.อุตสาหกรรม ในรัฐบาลนิด 1 ดีกรีมือศก.ขั้นเทพยุคบิ๊กตู่ ชายผู้ประกาศกร้าว หากทำงานไม่ดีให้มาด่า แต่อย่าด้อยค่าประเทศ

ชื่อของ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หรือ ‘หม่อมปืน’ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เริ่มปรากฏตามหน้าสื่อมากยิ่งขึ้น

แม้จะใหม่ในสนามการเมือง แต่ในแวดวงธุรกิจแล้ว ชื่อของ ม.ล.ชโยทิต เป็นที่รู้จักกันดี โดยหม่อมหลวงชโยทิต นอกจากจะเป็นผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว ยังเคยผ่านงานตำแหน่งสำคัญในภาคธุรกิจมาแล้วมากมาย เช่น กรรมการ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) / ประธานกรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) / กรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

โดยผลงานเด่นจากรัฐบาลลุงตู่ของหม่อมปืน คือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และยังเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในช่วงของการหาเสียงเลือกครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ภายใต้แคมเปญที่ติดหูคนไทยทุกคนอย่าง ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ เน้นการสานงานของรัฐบาลเดิม

อันที่จริงแล้ว ก่อนที่ ‘ม.ล.ชโยทิต’ จะเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ท่านเคยเข้ามางานให้กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อยู่พักหนึ่งแล้ว เป้าหมายเพราะอยากเข้ามาช่วยชาติเป็นสำคัญในวันที่วิกฤติเศรษฐกิจและโควิด19 ถาโถม 

ดังนั้นการเมืองครั้งล่าสุดนี้ จึงเปรียบเสมือนลูกติดพันที่ถ้าทำต่อ ก็จะได้เห็นความสำเร็จที่เริ่มไว้ โดยหากประเทศเสียโฟกัส เสียการขับเคลื่อนหรือผลักดันไป ประเทศอื่นจะเอาไป แล้วไทยจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว เช่น เสียอุตสาหกรรมอีวีไป หรือเสียอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไป เป็นต้น

ทั้งนี้หากตกผลึกแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ในมุมของหม่อมปืนนั้น จะพบหัวใจสำคัญหลักๆ ที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชนที่เปราะบางเป็นเรื่องสำคัญ

“เราช่วยอย่างมีวินัย และพุ่งเป้าตรง และช่วยอย่างมีโครงสร้างที่ชัดเจน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อะไรต่างๆ ที่ช่วยคนยากจน หรือผู้สูงอายุ นโยบายของรวมไทยสร้างชาติ มีครอบคลุมหมด แต่เราช่วยเขา เพื่อให้เขายืนขึ้นได้ และให้เขาปรับเปลี่ยนตัวเองในมิติใหม่ของเศรษฐกิจ เพื่อให้เขาแข็งแรงจริงๆ ไม่ใช่สอนให้เขาเป็นง่อย หรือแบมืออย่างเดียว”

หม่อมปืน เผยอีกด้วยว่า “รัฐบาลลุงตู่ได้แก้ปัญหาต่างๆ อย่างมีวินัย ไม่ให้มีผลกระทบกับสถานะการเงินการคลังของประเทศ นั่นหมายความว่า คอนเซปต์นโยบายเศรษฐกิจของรวมไทยสร้างชาติ จึงต้องช่วยทำให้มีการมาร่วมกันสร้างชาติให้แข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่ไปจิกเงินของใครมาแล้วเอาไปให้คนอื่น หรือกู้มาแจก สิ่งที่เยียวยาเราต้องเยียวยาเพื่อให้คนไทยแข็งแกร่งขึ้น และเราก็หวังว่ามันจะลดน้อยลง ไม่ใช่เพิ่มขึ้น”

ม.ล.ชโยทิต ยังบอกอีกว่า เมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าไปร่วมเป็นรัฐบาล ก็มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งเข้าไปทำไปแก้ปัญหาเช่นเรื่อง 'หนี้ครัวเรือน' ที่ต้องทำให้เสร็จ ทำให้ความไม่เป็นธรรม ได้รับการดูแลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไปปลดโซ่ตรวนตรงนั้นและทำเรื่อง Infrastructure ต่างๆ ของประเทศ / เรื่องพลังงาน อุตสาหกรรมอีวี / Smart Electronics ต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้เสร็จ 

“วันนี้หลายประเทศจ้องจะแย่งจากประเทศไทย หากเราไม่มีเอกภาพ มัวแต่ทะเลาะกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งบอกว่า เศรษฐกิจประเทศไทยยังนอนอยู่ ต้องกระตุ้นก่อน เราก็จะไปผิดทางได้ เพราะว่าความเป็นจริง เราฟื้นแล้ว รัฐบาลปักธงทุกอย่างไว้แล้ว ตอนนี้ต้องทำให้มันเดิม จะถอยหลังทำไม เรื่องเหล่านี้คือเรื่องเร่งด่วนทั้งสิ้น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม จะแย่งไทยเราอยู่ทุกวัน ในทุกวันนี้”

‘ม.ล.ชโยทิต’ ย้ำด้วยว่า หากคนไทยยังแตกแยกกัน มาเสนอไอเดีย สองขั้ว สามขั้ว จะเดินหน้าไปไม่ได้ และต้องเลิกมาด้อยค่าประเทศ หากมองว่าใครทำเศรษฐกิจย่ำแย่ หรือทำงานได้ไม่ดี ให้มาโทษคนทำ

“ประเทศไทยเรามีดีครับ มันพิสูจน์ให้เห็นแล้ว เศรษฐกิจเราโตต่อเนื่องตลอด แต่คู่แข่งเราตก เราต้องมีความภาคภูมิใจในประเทศตัวเอง ไม่ใช่มาด้อยค่า ก็รู้ว่าอยากจะมาด่ารัฐบาล แต่ก็โทษคนทำสิ อย่ามาด้อยค่าประเทศ มาคุยกันตรงๆ ผมจะได้ตอบ”

และนี่ก็คือเสียงจาก ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ในยุครัฐบาลนิด 1 ที่คงต้องรอตามดูผลงานกันต่อไป
...................................

ประวัติโดยสรุป
- ชื่อ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ชื่อเล่น ปืน 
- การศึกษา : ปริญญาตรี เกียรตินิยมสาขา Economy History, University of London, UK
- ความเชี่ยวชาญ : บัญชี การเงิน การบริหารจัดการและบริหารธุรกิจ การบริหารหรือกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเศรษฐศาสตร์
- การฝึกอบรม : หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (วตท.) รุ่นที่ 4 สถาบันวิทยาการตลาดทุน
- การอบรมหลักสูตรกรรมการ : หลักสูตร Corporate Governance for Capital Market Intermediaries (CGI 12/2016) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

ประสบการณ์ทำงานล่าสุด
- ปี 2565 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ ผู้แทนการค้าไทย
- ปี 2564 ที่ปรึกษารองนายกฯ และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุน
- ปี 2564 ประธานกรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
- ปี 2562 – 2563 กรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด

เพลาท้าทาย ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา’ ว่าที่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม แม้ส้มหล่นใส่จนตีนบวม ก็ต้องสวมหัวใจแกร่งคนคอนสะท้อนกึ๋น

ด้วยความเป็นห่วงยิ่ง ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ สส. 4 สมัย พรรครวมไทยสร้างชาติ มีอาการป่วยหลังติดโผเป็นรัฐมนตรี ‘เศรษฐา’ ด้วยคนหนึ่ง

ช่วงแรกโผออกมาว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ตอนหลังพลิกมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะภูมิใจไทยต้องการคุมมหาดไทยแบบเบ็ดเสร็จ (เว้นนายเกรียง กัลป์นันท์ จากพรรคเพื่อไทย จังหวัดอุบลราชธานี) โดยมหาดไทยจะมีรัฐมนตรีช่วยถึง 3 คน จึงต้องส่งปุ้ยไปกระทรวงอื่น โควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติจึงมีกระทรวงอุตสาหกรรม

แต่จริงๆ กระทรวงอุตสาหกรรม พรรครวมไทยสร้างชาติได้วางตัว 1 ‘พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ’ ทายาทของ ‘ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ’ ไว้แล้ว แต่เศรษฐาเป็นคนตัดสินใจเลือกปุ้ย เพราะต้องการคนที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมทำงาน ในขณะที่พิชชารัตน์ยังมีประสบการณ์น้อย

ที่บอกว่า ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ ป่วย เนื่องจากว่า เจอ ‘ส้มหล่น’ ใส่จนเท้าบวม ร้องไห้ขยี้ตา จนตาบวม เพราะได้ตำแหน่งมาอย่างไม่คาดคิด หรือใฝ่ฝันมาก่อนเลย แค่ได้รับเลือกเป็น สส.ก็พอแล้ว

“ถ้าเจอปุ้ย บอกด้วยว่า พี่จะซื้อรองเท้าให้ใหม่” นักการเมืองอาวุโสท่านหนึ่งกล่าวเชิงเย้าหยอก ฝากไปถึงปุ้ย เพราะเท้าบวม ใส่รองเท้าคู่เก่าไม่ได้แล้ว และถ้าเจอกันจะหายาหยอดตาไปฝาก… 5555

กล่าวสำหรับ ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ กับผม โดยส่วนตัวไม่รู้จักกัน เคยคุยกันบ้างสั้นๆ แค่สวัสดีกัน ปุ้ยเป็นคนง่ายๆ เจอใครก็ยกมือไหว้ อ่อนน้อมถ่อมตน

ปุ้ย พิมพ์ภัทรา เป็นทายาททางการเมืองของ ‘มาโนชญ์ วิชัยกุล’ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย (ผู้จากไป) ปุ้ยเข้ามารับบทบาททางการเมืองแทนต่อ

ตอนเด็กๆ ปุ้ยเข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมรสกับนายนิติรักษ์ ดาวลอย มีบุตร 2 คน

สมัยที่แล้ว ปุ้ย พิมพ์ภัทรา นั่งเป็นประธานกรรมาธิการศึกษา ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ที่ถือว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงสำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเล และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปุ้ย ตัดสินใจทางการเมือง ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยความรัก ความเมตตาของคนขนอม-สิชล ปุ้ยก้าวเข้ามาเป็นผู้แทนอีกสมัย และได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

ปุ้ย พิมพ์ภัทรา เข้าสู่เส้นทางทางการเมือง โดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แทน นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไปปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น สส.สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็น สส.อีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกเป็น สส.สมัยที่ 3

หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2566 ปุ้ย พิมพ์ภัทรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง เป็น สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ

ถือว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกภารกิจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ในวงการอุตสาหกรรมถือเป็นเครื่องยนต์อีกตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

หวังว่า ‘ปุ้ย พิมพ์ภัทรา’ จะไม่สร้างความผิดหวังให้คนไทย คนนครศรีธรรมราช ต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาดีๆ สร้างทีมประชาสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง เดินหน้าฝ่าทุกปัญหาไปให้ได้ โอกาสมีแล้วต้องทำให้เต็มที่

‘เท้าบวม-ตาบวม’ แป๊บเดียวก็หาย อย่าได้วิตกกังวลไปเลย ชาวบ้านทุกข์ยาก เดือดร้อนมากกว่าเยอะ

เรื่อง : นายหัวไทร

เปิดประวัติ-ผลงานเด่น!!

เปิดประวัติ-ผลงานเด่น!!

‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ สส.นครศรีธรรมราช เขต 10 สส. 4 สมัย ผู้มากประสบการณ์ในงานการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น โดดเด่นจนมีโอกาสได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25

อีกทั้งยังเป็นผู้นำแนวคิด ‘วาระเมืองสิชล’ ที่สามารถระดมความคิด ความร่วมมือจากท้องถิ่นรอบด้าน มาแก้ไขปัญหาต่างๆ จนกลายเป็น ‘ขวัญใจคนคอนฯ’ 

และวันนี้ ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็ได้รับการยอมรับขึ้นแท่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คนล่าสุดใน ‘ครม.เศรษฐา 1’

‘พิมพ์ภัทรา’ จัดให้!! ชงครม. เคาะ 8 พันล้าน ‘จ่ายอ้อยสด-ดึงเงินซื้อรถตัด’ แก้ขาดแรงงาน

(8 ก.ย.66) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประชุมร่วมกับตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 38 แห่งจากทั่วประเทศ ประมาณ 70 คน ถึงแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ โดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนความชัดเจนนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม หลังเปลี่ยนรัฐบาลเกี่ยวกับเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จำนวน 120 บาทต่อตัน และแนวทางการแก้ปัญหาภาวะภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำตาล

โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีพื้นที่เกษตรกรทำไร่อ้อย อาทิ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ, นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรับฟังด้วย

ด้าน นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาไร่อ้อย ทั้งที่จากข้อมูลระบุว่า ฝุ่นขนาดเล็กที่เกิดจากอ้อยไฟไหม้มีอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 10% ของฝุ่นที่เกิดขึ้น โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยยืนยันจะช่วยลดปัญหา PM 2.5 ด้วยการเข้าร่วมพันธสัญญาตามนโยบายภาครัฐในการตัดอ้อยสดที่มีต้นทุนสูง และรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 120 บาทต่อตัน ซึ่งได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว กระทั่งมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลเดิมสู่รัฐบาลใหม่ เงินสนับสนุนดังกล่าวถูกชะลอออกไปจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งประเทศที่ได้ลงทุนจ้างการตัดอ้อยสดไปแล้ว

“ขณะนี้กำลังจะถึงฤดูการหีบอ้อยใหม่ ประกอบกับภัยแล้งในอนาคต อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อเกษตรกร เพราะเกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือ ต้องใช้เงินทุน เรื่องเครื่องจักร หรือแรงงาน จึงอยากขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนเงินตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันของฤดูกาลที่ผ่านมาให้ถึงมือเกษตรกรภายในเดือนตุลาคม รวมทั้งขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการจ่ายเงินสนับสนุนในรอบปีใหม่ด้วย” นายปารเมศกล่าว

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวภายหลังรับฟังชาวไร่ว่า ปัญหาเรื่องอ้อย เป็นปัญหาสำคัญที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดทั้งในรัฐบาล และในสภาผู้แทนราษฎร สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการจ่ายเงินล่าช้า เป็นเพราะติดช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจึงทำให้เกิดล่าช้า โดยอยากชี้แจงว่าเงินสนับสนุน 120 บาทต่อตัน คือการลงทุนของรัฐ รัฐจึงอยากเห็นว่าการตัดอ้อยสดมากขึ้นจริง จนการเผาอ้อยลงได้ จึงอยากจะให้เกษตรกรสื่อสารออกมาว่าการที่รัฐสนับสนุนนั้น ทำให้ลดการเผาได้ตามเป้าหมายที่ชัดเจน หากทำได้เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการสนับสนุนต่อไป สำหรับเงินสนับสนุนของรอบปีที่ผ่านมานโยบาย จะต้องใช้งบประมาณราว 8,000 ล้านบาท ต้องขอวงเงินจากรัฐบาลใหม่ และหากได้อนุมัติจะพิจารณาการใช้เงินให้คุ้มค่า อาทิ แบ่งเงินครึ่งหนึ่งซื้อรถตัดอ้อย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ชาวไร่กังวล โดยงบประมาณดังกล่าวไม่ผูกพันกับงบประมาณใหม่ ปี 2567

“เบื้องต้นได้ปรึกษากับ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แล้ว เพื่อหาแนวทางในการใช้กรอบวงเงิน ก่อนที่จะนำเข้าหารือ กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ อาจไม่ทันเดือนตุลาคม เนื่องจากมีความล่าช้าของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่จะพยายามเร่งแก้ปัญหา เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ดังนั้นอยากให้ชาวไร่อ้อยทราบว่าทุกฝ่ายไม่ได้เพิกเฉย กำลังร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ บางช่วงเวลาอาจติดกรอบระยะเวลาที่มีอุปสรรค แต่ขอให้มั่นใจในรัฐบาลและข้าราชการ กระทรวงอุตสาหกรรมที่ตั้งใจทำงานเพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างจริงใจ” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังชาวไร่รับฟังคำชี้แจงของ น.ส.พิมพ์ภัทรา ต่างแสดงความพอใจพร้อมกล่าวว่า มีความชัดเจน หลังรอคอยคำตอบมานาน และมั่นใจว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ ก่อนเดินทางกลับไป

‘พิมพ์ภัทรา’ เผย!! เร่งผลักดันส่งเสริม ‘อุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้า’ หลังค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเข้าพบ-หารือแนวทางสนับสนุน

(12 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะทำงานในการพิจารณากำหนดแนวทางผลักดันมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือ EV 3.5 เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยด่วน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วที่สุด ก่อนที่มาตรการอีวี 3.0 จะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้

“ขณะนี้มีค่ายรถยนต์อีวีบางค่ายสอบถามเรื่องมาตรการส่งเสริมรถอีวี และเข้ามาพบ เพื่อหารือถึงแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบ้างแล้ว ซึ่งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุกฝ่าย อาจจะต้องมีการปรับรายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขบ้างบางข้อตามความเหมาะสม” นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว

นอกจากนี้จะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ดูแลผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ตามนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ฝากการบ้านถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ในการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา แม้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ออกมาจะไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรง แต่ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลเรื่องการพักหนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนเอสเอ็มอีรายใหม่ รวมถึงเตรียมกำหนดแนวทางสนับสนุนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์สอดรับนโยบายรัฐบาลด้วย

‘รมว.อุตฯ’ ชงปั้น ‘อาหารฮาลาล’ เป็นอุตสาหกรรมมุ่งเป้า ปั้นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นฐานส่งตลาดตะวันออกกลาง

(19 ก.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ชี้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor หรือ SEC) มีศักยภาพสามารถส่งเสริมสู่การเป็น ศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ทั้งยังมีอาณาเขตติดกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีตลาดรองรับทั้งกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่ และยังสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ

และสั่งการให้เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีทิศทางและสอดรับกับศักยภาพในแต่พื้นที่ เร่งชี้เป้าอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งกระตุ้นการดึงการลงทุนเข้าสู่พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคตามที่ได้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการลงทุนในพื้นที่ไว้แล้ว

พร้อมกันนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ สศอ. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานสะอาด การหาแนวทางเพื่อการส่งเสริม Soft Power ไทยในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการยกระดับการบริการผู้ประกอบการและประชาชนผู้อย่างเต็มที่ อำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน ปรับภาพลักษณ์ใหม่ ให้มีรอยยิ้มจากการใช้บริการ

ด้าน นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า สศอ. ขานรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สร้างเศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม โดยจะเร่งชี้เป้าอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ให้เกิดการผลักดันอย่างต่อเนื่อง การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรให้มีศักยภาพ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้สำหรับการพัฒนาการดำเนินงาน สศอ. จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้การกระบวนการทำงาน โดยใช้ระบบ iSingleForm เป็นระบบการรายงานเดียว ทั้งการให้บริการ Eco Sticker สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมุ่งเน้นการสื่อสารผ่านช่องทาง Platform ต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้สามารถนำข้อมูล ข่าวสาร มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม พร้อมเตรียมยกระดับการดำเนินงานทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อนำพาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมสำคัญระดับสากล ภายใน 4 ปี

‘พิมพ์ภัทรา’ รุกสร้างต้นแบบ ‘Smart Farmer’ พื้นที่ภาคใต้ มุ่งสร้างรายได้-ลดค่าใช้จ่ายด้วย ‘เทคโนโลยี-นวัตกรรมพลังงาน’

(22 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ มุ่งสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงาน

ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้มีผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม 2 แห่ง ในจังหวัดชุมพร ประกอบด้วย บริษัท ห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง และ บริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง ผู้ประกอบการฟาร์มโคนม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนม ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากิจการให้เป็นเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farmer ต้นแบบ โดยการนำระบบ IoT (Internet of Things) มาใช้ติดตาม วิเคราะห์พฤติกรรมโคนมที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม และบริหารจัดการนำผลิตภัณฑ์นมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า

รวมถึงนำของเสียจากฟาร์ม อาทิ มูลวัว มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ตามแนวทาง BCG Model หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 11.2 ล้านบาท เพื่อใช้จัดซื้อโคนม เครื่องผลิตอาหาร ปรับปรุงโรงเรือน โรงแปรรูป และเป็นเงินทุนหมุนเวียน จนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้ถึง 40 % ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 7 ล้านบาทต่อปี

ส่วนบริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัดผู้ประกอบการสวนผลไม้ผสมผสาน และโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรด้วยวิธีการแช่แข็ง และการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งหรือ Freeze Dry ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อโดรนเพื่อใช้ในการพ่นยาฆ่าแมลงภายในสวนทุเรียน รวมทั้งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน โดยสามารถลดต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และยกระดับการบริหารจัดการสวนผลไม้ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP โดยการพัฒนาโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีแช่แข็งและฟรีซดราย และได้รับมาตรฐาน GMP พร้อมทั้งส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เปลือกทุเรียนมาทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบผลิต

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ราย มีการขับเคลื่อนการดำเนินกิจการ ตามนโยบาย MIND 4 มิติ ได้แก่

-ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่มุ่งให้ผู้ประกอบการมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ

-ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและมีความสุข

-ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก

-การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ด้วยการกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิกระบวนการผลิต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และเป็นแหล่งสร้างงานให้กับชุมชน

'รมว.อุตฯ' ปลื้ม!! ผู้ประกอบการไทยร่วมดันหลากซอฟต์พาวเวอร์ ช่วยหนุนมูลค่าเศรษฐกิจโต เพิ่มรายได้ให้ชุมชนยั่งยืน

กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ความสำเร็จพัฒนา 3 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์อาหาร แฟชัน และงานแฟร์ ดันผ้าไหมไทยเข้าวงการแฟชั่นโลก ชู 22 เมนูอร่อยชุมชนดีพร้อม พร้อมจัดงานแฟร์เปิดพื้นที่โปรโมทสินค้า ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นชูผลิตภัณฑ์ เกิดผู้ประกอบการใหม่ ตอบโจทย์เทรนด์ตลาดโลก สร้างรายได้เข้าชุมชนต่อเนื่อง เผยเดินหน้าขยายผลพัฒนาต่อเนื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

(25 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันมุ่งสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนา 3 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ประกอบด้วย...

1. อาหาร (Food) 2.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) และ 3. การจัดงานแสดงสินค้า (Fair) ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนประสบความสำเร็จและยังคงเดินหน้าขยายผลพัฒนาต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชนให้มากขึ้น

“ประเทศไทยมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจนและมีชื่อเสียง ทั้งอาหาร วัฒนธรรม การแต่งกาย เครื่องดนตรี ฯลฯ จนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวและทั่วโลกได้รู้จักสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นชุมชน ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญและช่วยกันพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในส่วนของแฟชันไทยผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมทั้งจากคนไทยและต่างชาติ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เข้าไปยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมือง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ในรูปแบบใหม่ บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผสานเทคโนโลยี ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม จนสามารถผลิตผ้าไหมได้ถึง 24 ผลิตภัณฑ์ จาก 8 วิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 7,000,000 บาท ทำให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น 400,000 - 1,700,000 บาทต่อชุมชน 

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในงาน 'มัดทอใจ มรดกผ้าไทยร่วมสมัย' ภายใต้โครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk) ประจำปี 2566 รวมทั้งยังมีการจัดส่งผ้าไหมไทย เพื่อขยายตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิ เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, อิตาลี และยุโรป ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ซื้อเป็นอย่างดี

ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ที่นับเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญของไทย ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ดำเนินการจัดโครงการเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม 22 เมนู ปั้นเชฟชุมชนดีพร้อม 22 ชุมชน ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหารผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้สูงถึง 25,000,000 บาท และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น พร้อมขยายผลและต่อยอดเป็นโมเดลต้นแบบต่อไป

ซอฟต์พาวเวอร์อีกส่วนที่สำคัญคือ การจัดงานแสดงสินค้าหรืองานแฟร์ (Fair) เพื่อให้เกิดกลไกทางการตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ ผ่านการจัดกิจกรรมจัดงานแฟร์ตลอดทั้งปีทั่วประเทศ เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงฯ ได้มีช่องทางการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคได้ใช้ของดีมีคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง

โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน 'อุตสาหกรรมแฟร์' กระจายตามพื้นที่ต่างๆ จำนวน 14 ครั้ง สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 700 ล้านบาท โดยปี 2567 มีแผนการจัดงานแฟร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมขยายขอบเขตบกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปั้นผู้ประกอบการใหม่ที่สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สินค้าไทยสามารถเติบโตในตลาดโลกและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจชุมชนไทย

4 ผลพวง 'แลนด์บริดจ์' ดันเศรษฐกิจไทย เจริญไวตามสะพาน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (จ.ชุมพร จ.ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการจากการริเริ่มของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจภาคใต้และเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ จากการหารือกับภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร สภาหอการค้าจังหวัดชุมพร และสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ได้แสดงความกังวลต่อกระแสข่าวชะลอโครงการแลนด์บริดจ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อรองรับแลนด์บริดจ์และสอดรับกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือเอสอีซี (SEC) 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

โดยจะเน้น 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สำหรับการขับเคลื่อยกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา กระทรวงอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นการพัฒนา ดังนี้

-การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับเหมืองแร่และป่าไม้ เพราะแร่บางชนิดอยู่ในพื้นที่ป่าเขา 
-การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่

-การเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ

-เร่งส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะทุกจังหวัดทั่วประเทศ

“เอกชนได้สะท้อนถึงอุปสรรคกฎหมายต่อการประกอบธุรกิจ ดังนั้นจะเร่งแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ อาทิ กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มทักษะการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ โดยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top