Saturday, 18 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับคณะ 'ผู้ว่าฯ ไซตามะ' ขยายความร่วมมือ 'เศรษฐกิจ-การลงทุน' ทุกระดับ

(10 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับคณะของนายโอโนะ โมโตฮิโระ (Mr.OHNO Motohiro) ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้แทนสถาบันการเงินประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสการเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Saitama-Thai Network Exchange Meeting 2023 โดยหลังการต้อนรับได้มีการหารือทั้งสองฝ่ายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการลงทุนในอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลภายหลังการหารือว่า ภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเอกชนญี่ปุ่นให้ความสนใจขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลที่ได้จากการหารือขณะนี้พบว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นลำดับแรก จากศักยภาพความพร้อมในด้านทรัพยากร, การท่องเที่ยว, โลจิสติกส์ และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของทั้งสองประเทศ 

"ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าลงทุนในประเทศไทยแล้ว 262 บริษัท กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับรัฐบาลกลางญี่ปุ่น 4 แห่ง และรัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่น 24 แห่ง ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกที่ประสานความร่วมมือกับส่วนท้องถิ่น (Local to Local) ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับจังหวัดไซตามะ ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรของทั้งสองประเทศ"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวด้วยว่าได้มีการจัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น (DIPROM Japan Desk) แลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ของทั้งไทยและญี่ปุ่นเข้าปฏิบัติงานเพื่อประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกผสานความร่วมมือการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพันล้านและยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย 

กระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศไทย และผู้องค์กรธุรกิจภาคเอกชนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นและด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ จะสามารถยกระดับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนในทุกมิติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใจลงทุน เสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน 

สำหรับจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนประชากรกว่า 7.3 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการเติบโตด้านอุตสาหกรรมสูงสุดมูลค่า 5.7 ล้านล้านบาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

‘พิมพ์ภัทรา’ มอบ ‘อสจ.สุราษฎร์ฯ-ศูนย์ฯ ภาค 10’ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งขับเคลื่อนประเทศ สอดรับ ‘อุตสาหกรรมไทยเติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจราชการและมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (อสจ.สุราษฎร์ธานี) นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคใต้ สาขาย่อยจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้การภาค 7 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาสุราษฎร์ธานี ร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ผู้บริหาร บุคลากรทุกคนเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนองคาพยพของกระทรวงอุตสาหกรรม และยังต้องมีหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างชุมชนถึงโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าอยู่คู่ชุมชนได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ให้เติบโตคู่ชุมชนยั่งยืน’ ซึ่งเป็นแนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่สามารถเติบโตไปได้ อยู่ได้ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขนั่นเอง

อสจ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการ จำนวน 934 โรง มีจำนวนการจ้างงาน 36,419 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มการผลิตอื่น ๆ เช่น ขุดดิน ดูดทราย ผลิตไฟฟ้า คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 364 โรงงาน กลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ จำนวน 232 โรงงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผลิตน้ำแข็ง เครื่องดื่ม แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 135 โรงงาน กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 69 โรงงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จำนวน 10 โรงงาน มีเงินลงทุน จำนวน 65,334.48 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีประทานบัตรเปิดการทำเหมือง จำนวน 33 ประทานบัตร และยังได้รายงานการปฏิบัติงานที่เห็นผลสำคัญ คือ โครงการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ ที่มีแนวโน้มมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความสะดวกในการบริโภค มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม สามารถคงคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ได้ยาวนาน การเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต หรือเอสเอ็มอี มีขีดความสามารถพร้อมเข้าสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ภายใต้กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety)

ทั้งนี้ มีโครงการค่าใช้จ่ายแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน เสริมสร้างความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ต้นแบบ และทดสอบตลาด ในปี 2566 โดยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จ คือ ซอสคั่วกลิ้งปรุงสำเร็จ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านควนไทร ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ได้พัฒนาต่อยอดมาจากส่วนผสมพื้นถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังได้รายงานถึงการดำเนินงาน ‘พลอยได้…พาสุข’ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักอินทรีย์ ภายใต้โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ เป็นโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ ซึ่งเห็นผลและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย

'รมว.พิมพ์ภัทรา' เปิดงานประจำปี สศอ. OIE Forum 2566 พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย เผยวาระเร่งด่วน 6 ด้าน หนุน 'ภาคอุตฯ - ผู้ประกอบการไทย' เติบโตอย่างยั่งยืน

(13 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดงานและปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี OIE FORUM 2566 ครั้งที่ 15 'MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทย สู่ความยั่งยืน' จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เผยวาระเร่งด่วน 6 ด้านสำคัญเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจและสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การแข่งขันในภูมิภาคและสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั่วโลก รวมถึงความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น 

แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลอดจนภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการ SME ตามนโยบายรัฐบาล โดยหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย โดยไม่สร้างปัญหา Moral Hazard หรือการจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ ขณะที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ภาคเกษตรและส่งผลต่อเนื่องมายังวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่น ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดวาระเร่งด่วน 6 ด้านสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย...

1. อุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ แผงวงจร 

2. อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด 'เศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม' โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมฮาลาล ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ควบคู่กับการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อและเป็นฐานลูกค้ามุสลิมรายได้สูงของไทย รวมถึงยาและเครื่องสำอาง และสปาฮาลาล 

3. อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มงวดขึ้น 

4. มุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับปรุงฐานข้อมูลภาคอุตสาหกรรมให้เป็นระบบ 

5. การส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัป ให้มีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่านกลไกของหน่วยงานภายในกระทรวง 

และ 6. การเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สามารถนำพาประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตต่างๆ และเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งสู่ 'อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ' ที่ 'เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน' ใน 4 มิติ ได้แก่...

มิติที่ 1 ด้านความสำเร็จทางธุรกิจ 
มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม 
มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล 
และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 

นอกจากนี้ เพื่อยกระดับการทำงานสู่รัฐบาลดิจิทัล กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดแพลตฟอร์ม การบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (i-Industry) ให้ลูกค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงบริการของกระทรวงในด้านต่าง ๆ ทั้งการอนุมัติ อนุญาต การชำระค่าธรรมเนียม การส่งเสริมพัฒนาให้คำปรึกษาทางธุรกิจ รวมถึงการรายงานข้อมูลการประกอบกิจการผ่านระบบ iSingleForm เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ดัชนีอุตสาหกรรม ออกแบบนโยบายและสร้างกลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างตรงประเด็น ประกอบกับการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน ภายใต้กฎหมายของกระทรวงอย่างเข้มข้น ครอบคลุม 4 ด้าน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการมีการประกอบกิจการที่ดี ลดข้อขัดแย้งและขจัดปัญหาข้อร้องเรียนของชุมชนและสังคม

ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า สำหรับงานประจำปี OIE FORUM 2566 ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เข้าสู่ปีที่ 15 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีนำเสนอมุมมอง และแลกเปลี่ยนแนวคิดในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่การเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล โดยการจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมงาน ณ สถานที่จัดงาน จำนวนกว่า 550 คน และผู้เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ (Live Streaming) จำนวน 1,500 คน 

ทั้งนี้ ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ 'ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน' โดย รมว.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล, ผลการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงเสวนาในหัวข้อ 'MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน' จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากแวดวงอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำนวน 11 เรื่อง ตลอดจนการเสวนาออนไลน์ 3 หัวข้อย่อย เผยแพร่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 วัน โดยหัวข้อที่ 1 'Manpower : ยกระดับแรงงานยุคใหม่ พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน' หัวข้อที่ 2 'Empowering Innovation & Digital Transformation : เสริมพลัง สร้างอนาคตอุตสาหกรรมไทย' และหัวข้อที่ 3 'Next Moves to Net Zero : อุตสาหกรรมไทย ก้าวต่อไปสู่เป้าหมายโลก'

‘พิมพ์ภัทรา’ ชี้ภาพรวมอุตสาหกรรมไทย ต้องเร่งปรับตัวรับระเบียบโลกใหม่ ตามเทรนด์ความยั่งยืนและดิจิทัล ยัน!! รัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือการเปลี่ยนแปลง

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประจำปี OIE Forum 2566 ‘MIND: set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2566 จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า แนวโน้มการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลังที่มีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เซลส์แมนประเทศเดินทางเจรจาเชิงรุกเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่วมประชุมเอเปคที่สหรัฐ และติดตามความคืบหน้าการลงทุนที่สนใจเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการเชิญชวนลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งจะเป็นเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ

โดยไทยมีความเข้มแข็งในเรื่องซัพพลายเชนในประเทศที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีมาตรการสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมนักลงทุนใหม่ทั้งด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี รวมถึงมาตรการที่สนับสนุนนักลงทุนในประเทศโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจุบันมีรายใหม่ที่เข้ามาในประเทศไทย ทั้งค่ายรถยนต์และซัพพลายเชน โดยไทยจะยังดำเนินมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการยานยนต์เดิม และซัพพลายเชนในประเทศควบคู่กันไป

ทั้งนี้ สศอ. ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อุตสาหกรรมปี 2567 จะขยายตัวได้ 2-3% เป็นผลมาจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศภาระหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามนโยบายรัฐบาล โดยหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย โดยไม่สร้างปัญหาการจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ (Moral Hazard)

ขณะที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร และส่งผลต่อเนื่องมายังวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที

'พิมพ์ภัทรา' ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าศูนย์ทดสอบฯ มั่นใจ!! ไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน ด้าน 'ยานยนต์-ชิ้นส่วน'

(16 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก สามารถดึงดูดนักวิจัย และนักลงทุนจากทั่วโลกสู่ประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ 

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนสมัยมาเป็นรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังคงมีการสานต่อ พัฒนา และต่อยอด นโยบายได้เป็นอย่างดี โดยท่านนายกเศรษฐาก็ได้มีการกล่าวถึงการพัฒนาศูนย์สอบฯ แห่งนี้ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนยางรถยนต์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นในความสำเร็จของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียน ขณะนี้ศูนย์ทดสอบอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และจะพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2569 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบด้านมาตรฐานยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ภายในกรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท บนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ณ ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ คิดเป็นร้อยละ 55 ของวงเงินงบประมาณ โดยดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบแล้วเสร็จจำนวน 5 สนาม ได้แก่ 1) สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และทางวิ่ง 2) สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 4 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรกมือ / สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง / สนามทดสอบระบบเบรก และสนามทดสอบพลวัต

ยังเหลือการก่อสร้างอีก 1 สนาม คือ สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์ สู่สนามทดสอบยางล้อ รวมทั้งก่อสร้างทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 และสถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ ตลอดจนจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสาร เมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์ ทั้งหมดนี้จะดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2566 - 2568 ซึ่งคาดว่าศูนย์แห่งนี้จะสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2569

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการดำเนินงานศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว จำนวน 18 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ยางล้อรถมอเตอร์ไซค์ ยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถบรรทุก เข็มขัดนิรภัย และกระจกนิรภัย เป็นต้น ภายหลังการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ แล้วเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี ลดระยะเวลาและช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ ไปทดสอบที่ต่างประเทศ 30 - 50% สร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี เพิ่มปริมาณการผลิตและการแปรรูปยางพารา รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตยางล้อ ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รองรับ MRA ของอาเซียนด้านยานยนต์และยางล้อ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและยางล้อ ให้เป็น Super Cluster สู่อุตสาหกรรม 4.0 ดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชน ประชาชนในพื้นที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็น Landmark แห่งใหม่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอีกด้วย นายวันชัยฯ กล่าว

ก.อุตฯ ผุด 8 มาตรการรองรับกระแส ‘ฮาลาล’ คาด!! ดัน GDP โต 2.0%

เทรนด์ ‘ฮาลาล’ กำลังมาแรง รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญกับกระแสนี้อยู่ไม่น้อย โดยได้ออกมาตรการ 8 ข้อเพื่อขับเคลื่อนอาหารฮาลาล หวังดันไทยสู่ศูนย์กลางการผลิต นอกจากนี้ยังเตรียมก่อตั้ง ‘กรมฮาลาล’ เพื่อใช้ในการกำกับดูแลมาตรฐาน ประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยอีกด้วย

ส่วนมาตรการทั้ง 8 ข้อที่กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศออกมาจะมีอะไรบ้าง วันนี้ THE STATES TIMES สรุปรวมมาให้แล้ว มาดูกัน!!

‘พิมพ์ภัทรา’ เร่งขับเคลื่อน ‘อุตสากรรมฮาลาล’ ตั้งเป้า!! GDP เติบโต 1.2% ภายใน 3 ปี

(19 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก

โดยจากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก ร้อยละ 2.7 เป็นอันดับที่ 11 ของโลก

ซึ่งอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 78 เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือร้อยละ 22 ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน

ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งภารกิจของศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

โดยเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดตลาด ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (National Focal Point) และด้านพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน ซึ่งเน้นการทำวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ฮาลาล

โดยกำหนดสินค้าฮาลาลเป้าหมายในแต่ละปี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ฮาลาล ให้คำปรึกษาและแนะนำทางวิชาการ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการข้อมูลด้านการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของเรื่องดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรี ต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลทั่วประเทศต่อไป

นอกจากนี้ กรอบการดำเนินงานของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ประกอบด้วย ด้านการขยายตลาดการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลใหม่ ๆ ในต่างประเทศ ได้แก่ อาเซียน OIC/ GCC (เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย) แอฟริกา จีน ผ่านการเจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาล สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายฮาลาล (Thai Halal Network)

ส่งเสริมและขยายตลาดผ่านกิจกรรมจัดงาน Halal Expo 2024 และกิจกรรมทางการทูต เช่น งาน Thai Night เพื่อเผยแพร่สินค้าฮาลาลไทย ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ สินค้าและบริการฮาลาลไทยในภารกิจ MICE

รวมทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลต้นแบบเพื่อผู้บริโภคมุสลิม ได้แก่ การจัดอบรม การวิจัยและพัฒนา (R&D) การยกระดับบุคลากร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและจัดทำต้นแบบ (Role Model) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อการส่งออก เช่น โรงงานแปรรูป โรงฆ่าสัตว์ โดยผ่านการให้คำปรึกษา ตรวจประเมิน

โดยกำหนดสินค้าฮาลาลเป้าหมายในระยะแรก เช่น เนื้อสัตว์/อาหารทะเล อาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ แฟชั่นฮาลาล เครื่องสำอาง ยา/สมุนไพร ท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้ศูนย์ฯ คาดว่าจะทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ร้อยละ 1.2 ภายในระยะเวลา 3 ปี

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ บุกเมืองคอน งัดบิ๊กอีเวนต์ จัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์ฯ’ จับคู่ธุรกิจ-เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ คาดเงินสะพัดกว่า 200 ลบ.!!

(21 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน เตรียมจัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ส่งเสริมสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กิจกรรมจับคู่ธุรกิจและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งคาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 5 วันจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 คน และเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท

“เราจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ และมอบเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีทั้งการจำหน่ายสินค้าคุณภาพ การจัดสัมมนาให้องค์ความรู้ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคใต้ และระยะต่อไปมีแผนในการขยายพื้นที่การจัดงานในภาคอื่น ๆ ในอนาคต” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ‘งานอุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ จะจัดภายใต้แนวคิด ‘การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้’ (Southern Industrial Fair) โดยกิจกรรมภายในงานแบ่งออกเป็น 5 โซนต่าง ๆ ได้แก่ โซนที่ 1 การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าคุณภาพกว่า 300 บูธในราคาสุดพิเศษ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สมุนไพรและเกษตรแปรรูป พร้อมโปรโมชันพิเศษเฉพาะภายในงาน เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ โซนที่ 2 นิทรรศการแสดงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ การจัดแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกล การจัดแสดงต้นแบบรถยนต์ EV ต้นแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และนวัตกรรมต่าง ๆ

โซนที่ 3 การบริการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โซนที่ 4 การสัมมนาองค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้การประกอบธุรกิจในยุคใหม่ และโซนที่ 5 กิจกรรมพิเศษอื่น ๆ อาทิ การบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ฟรี การเปิดรับสมัครงานในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการมาตรฐาน (สมอ.) และมอบใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช

รวมถึง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยังจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสิ่งแวดล้อม ในกิจกรรม ‘Walk & Run for Ozone and Climate 2065 Net zero’ และ ‘จิตอาสาเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ณ เขาพลายดำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

‘พิมพ์ภัทรา’ สั่ง ‘ก.อุตฯ’ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ ส่ง ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ บรรเทาทุกข์ประชาชน 

(23 พ.ย. 66) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งมอบความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ภาคใต้ ขานรับข้อสั่งการ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ เร่งสำรวจความเสียหายในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร็ว 

ทั้งนี้จากข้อมูลที่ได้รับรายงานเบื้องต้น พบว่า มีบางพื้นที่ประสานขอความช่วยเหลือ ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิ พื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี  พร้อมกำชับให้มีการเฝ้าระวังการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย และกากอุตสาหกรรม จัดเตรียมแผนรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงการให้บริการการตรวจประเมิน และคำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งแบบลงพื้นที่ (Onsite) และระบบทางไกล (Remote Assessment)

พร้อมจัดตั้งให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ภาคใต้ ทำหน้าที่รวบรวมและกระจายความช่วยเหลือไปยัง 14 จังหวัดภาคใต้ สำหรับส่วนกลางให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นศูนย์รวบรวมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน และบริหารจัดการเพื่อส่งมอบไปยังพื้นที่ประสบภัยอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ 

ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนชาวไทย โดยโครงการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย’ ปีที่ 2 โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคเอกชน ผ่านอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม นำสิ่งของอุปโภค บริโภค และของใช้ที่จำเป็นแพ็กเป็น ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม ผ่านมารวมระยะเวลากว่า 1 เดือน  ซึ่งได้ส่งมอบไปยังพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ราชบุรี พิจิตร ขอนแก่น มหาสารคาม ชุมพร ระนอง และนครศรีธรรมราช ส่งมอบถุงยังชีพไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติไปแล้วกว่า 7,000 ราย

‘พิมพ์ภัทรา’ เข้ม!! คุมมาตรฐาน ‘บันไดเลื่อน-ลิฟต์’ สั่ง ‘สมอ.’ เร่งทำมาตรฐาน-บังคับเป็นสินค้าควบคุม

(23 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุบันไดเลื่อน หรือ ทางลาดเลื่อนในห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่าง ๆ หนีบขาประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ตนจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานบันไดเลื่อน ทางเดินอัตโนมัติ และ ลิฟต์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

โดยบอร์ด สมอ. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ให้จัดทำมาตรฐานดังกล่าวเพิ่มเติมเป็นการด่วนจากแผนการกำหนดมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่กำหนดไว้จำนวน 600 เรื่อง นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ ‘คาร์ซีท’ หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นสินค้าควบคุม โดยเร่งรัด สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานโดยเร็ว เพื่อให้เด็กเล็กที่ใช้คาร์ซีทได้รับความปลอดภัยในการโดยสารรถยนต์ 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สมอ. ครั้งนี้ ได้เห็นชอบร่างมาตรฐานและวิธีทดสอบอื่น ๆ อีก จำนวน 43 เรื่อง เช่น  มาตรฐานหลอดฟลูออเรสเซนส์สำหรับเปลี่ยนสีผิวเป็นสีแทน มาตรฐานวิธีทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐานระบบอัตโนมัติในกระบวนการอุตสาหกรรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานเพิ่มเติมในปี 2567 อีก 3 เรื่อง โดยเพิ่มเติมจากแผนการกำหนดมาตรฐานเดิมที่ สมอ. ตั้งเป้าไว้ 600 เรื่อง ได้แก่  

1) มาตรฐานบันไดเลื่อน ทางลาดเลื่อน คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยที่จำเป็น 
2) มาตรฐานบันไดเลื่อน ทางลาดเลื่อน พารามิเตอร์ตามคุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยที่จำเป็น 
และ 3) ฟิล์มติดกระจกรถยนต์ 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า บันไดเลื่อน เป็นสิ่งประชาชนได้พบเจอและใช้บ่อยมากในที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามบิน อาคารสำนักงาน ซึ่งที่ผ่านมา จะได้ยินข่าว บันไดเลื่อนไม่ได้มาตรฐาน หนีบขาคน หรือบางครั้ง ถึงขั้นตัดขาคนขาด ท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา จึงได้มีปรารภว่าจะปล่อยให้ประชาชนมารับเคราะห์กรรมจากการใช้บันไดเลื่อนไม่ได้มาตรฐาน แบบนี้ไม่ได้ สมอ. จึงได้เตรียมออกประกาศมาตรฐาน ‘บันไดเลื่อน ทางเลื่อน และลิฟต์’ เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยและระบบไฟฟ้า โดยอ้างอิงตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และทั่วโลกได้นำไปใช้ โดยจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ ส่วนประกอบ การติดตั้ง ความสูง ความเร็ว น้ำหนักบรรทุก รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและการลดความเสี่ยงจากการใช้งาน ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ใช้งาน ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนมีนาคม 2567  


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top