‘พิมพ์ภัทรา’ ชี้ภาพรวมอุตสาหกรรมไทย ต้องเร่งปรับตัวรับระเบียบโลกใหม่ ตามเทรนด์ความยั่งยืนและดิจิทัล ยัน!! รัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือการเปลี่ยนแปลง

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประจำปี OIE Forum 2566 ‘MIND: set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2566 จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า แนวโน้มการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลังที่มีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เซลส์แมนประเทศเดินทางเจรจาเชิงรุกเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่วมประชุมเอเปคที่สหรัฐ และติดตามความคืบหน้าการลงทุนที่สนใจเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงการเชิญชวนลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งจะเป็นเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ

โดยไทยมีความเข้มแข็งในเรื่องซัพพลายเชนในประเทศที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีมาตรการสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมนักลงทุนใหม่ทั้งด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี รวมถึงมาตรการที่สนับสนุนนักลงทุนในประเทศโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจุบันมีรายใหม่ที่เข้ามาในประเทศไทย ทั้งค่ายรถยนต์และซัพพลายเชน โดยไทยจะยังดำเนินมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการยานยนต์เดิม และซัพพลายเชนในประเทศควบคู่กันไป

ทั้งนี้ สศอ. ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อุตสาหกรรมปี 2567 จะขยายตัวได้ 2-3% เป็นผลมาจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศภาระหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามนโยบายรัฐบาล โดยหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย โดยไม่สร้างปัญหาการจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ (Moral Hazard)

ขณะที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร และส่งผลต่อเนื่องมายังวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที