Saturday, 18 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ ผุดแผนยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ มุ่งส่งเสริมการลงทุนกว่า 359,000 คันต่อปี พร้อมชูรียูสแบตฯ 

'รมว.พิมพ์ภัทรา' นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เผยที่ประชุมรับทราบ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน หลัง สศอ. ในฐานะเลขานุการฯ นำเสนอ พร้อมเตรียมรับเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 ตามแผนส่งเสริมการลงทุนรวม 359,000 คันต่อปี 

(14 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ ได้แก่ ความคืบหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า, แนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (EV Conversion), แนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงแนวทางการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียด ข้อกฎหมาย และรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามระเบียบขั้นตอน เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภททั้งรถขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์, รถยนต์, รถกระบะ ไปจนถึงรถขนาดใหญ่ เช่น รถโดยสาร, รถบรรทุก และการส่งเสริมการผลิตและการจัดการซากตลอดช่วงชีวิตการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า หรือ End of Life Vehicle (ELV) 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในส่วนของการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติในกระบวนการผลิต และ EV Conversion อาทิ รถขนขยะมูลฝอย, รถบรรทุกน้ำ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมกระบวนการจัดการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อขยายความต้องการลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ด้าน นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการฯ ได้นำเสนอความคืบหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิต การใช้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผน 30@30 เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน และ มาตการ EV3 ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle : BEV) รวม 67,056 คัน ซึ่งเติบโตมากกว่าร้อยละ 690 หรือ 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 8,483 คัน ทำให้ตลาด EV ไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีผู้เข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิต BEV คิดเป็นมูลค่า 39,579 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 359,000 คันต่อปี และผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วน คิดเป็นมูลค่า 35,303 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ (EV Conversion) โดยเป็นการสร้างต้นแบบการดัดแปลงรถขนาดใหญ่ให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถขนขยะมูลฝอย และรถบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ในราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างมาตรฐานในการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการ โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดมาตรการ และกลไกในการขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ดัดแปลงประเภทต่างๆ ผ่านคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต ครอบคลุมมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี โดยมีมาตรการที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ System Integrator (SI) ผ่านการดำเนินงาน เช่น พัฒนาบุคลากร System Integrator (SI) จำนวน 1,301 คน และบุคลากรในสถานประกอบการ จำนวน 3,665 คน รวมทั้งพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 185 ต้นแบบ 

โดยปัจจุบันมี System Integrator (SI) ที่ขึ้นทะเบียนรายกิจการ จำนวน 121 กิจการ ผ่านกลไกศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ Center of Robotics Excellence (CoRE) มีผู้ประกอบการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 271 กิจการ มูลค่ารวม 27,710 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อแนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) ให้มีศักยภาพและเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของ SI ไทยที่จะสามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศได้

ขณะเดียวกัน ยังได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริม และจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ สร้างมูลค่าจากการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ประกอบด้วย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เนื่องจากแบตเตอรี่มีมูลค่าสูง ซึ่งจากผลการศึกษาที่ได้ประเมินว่าแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ซ้ำในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ การผลิตอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า (Energy Storage System: ESS) และส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น Cloud Service โดยคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุม และติดตามการจัดการแบตเตอรี่ให้เหมาะสม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อศึกษารายละเอียด และกำหนดแนวทางการส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 มีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิจาก หลายหน่วยงานเข้าร่วมการประชุม โดยมีนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ กระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.ปุ้ย' สั่งสมอ.เร่ง 8 มาตรการเชิงรุก กวาดล้างสินค้าไร้มาตรฐานสิ้นซาก

(18 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกระดับความเข้มข้นของ 8 มาตรการเชิงรุกภายใต้ภารกิจ Quick win ในการตรวจติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดและทางออนไลน์อย่างเข้มงวด เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่อยู่ในการควบคุมของ สมอ. ทั้ง 143 รายการ ที่มีการโฆษณาผ่านทางทีวีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐานอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 

ทั้งนี้ จึงได้สั่งการให้ สมอ. เข้มงวดกับร้านค้าออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มที่มีการโฆษณาขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ รวมถึงการรีวิวขายสินค้า หรือโฆษณาโบรชัวร์ออนไลน์ ซึ่งถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการขายสินค้าด้วยเช่นกัน หากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าควบคุมที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน จะต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงมือผู้บริโภค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในทุกช่องทาง

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้าออนไลน์พบว่ายังมีแพลตฟอร์มบางแห่งที่โฆษณาขายสินค้าโดยไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และ QR Code ทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นสินค้าได้มาตรฐานหรือไม่ 

สมอ. จึงได้เชิญผู้จำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ติ๊กต๊อก เซ็นทรัลเทรดดิ้ง ไลน์คอมพานี บุญถาวร สยามโกลบอลเฮาส์ ออฟฟิศเมท ฯลฯ กว่า 300 ราย เข้าร่วมหารือ เพื่อหาแนวทางในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน

โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น กระทะไฟฟ้า เตาปิ้งย่าง หม้ออบลมร้อน พัดลม ไดร์เป่าผม ที่หนีบผม ปลั๊กพ่วง เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมายังพบการกระทำความผิดอยู่บ่อยครั้ง

สมอ. จึงต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยกำชับให้ผู้ค้าดำเนินการดังนี้ 

-ตรวจสอบสินค้าว่าเป็นสินค้าควบคุมของ สมอ.หรือไม่  

-หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นสินค้าควบคุม ให้ตรวจสอบต่อไปว่าได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. ถูกต้องแล้วหรือไม่ หากถูกต้องแล้วสามารถโฆษณาและจำหน่ายได้ 
-ภาพที่ใช้ในการโฆษณาเพื่อการจำหน่ายสินค้า ต้องให้เห็นเครื่องหมายมาตรฐาน และ QR Code อย่างชัดเจน 

"สมอ. จะตรวจติดตามอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป หากพบว่าร้านค้าออนไลน์หรือแพลตฟอร์มรายใดยังไม่ปฏิบัติตาม จะดำเนินการตามกฎหมายทันที"

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งทุกหน่วยงาน เร่งมาตรการลด PM 2.5 ‘สอน.-กรอ-กพร.’ รับลูก เดินหน้ามาตรการต่อเนื่อง

(18 ธ.ค. 66) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการเพิ่มในการลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้มีความเข้มข้นขึ้น มีดัชนีชี้วัดตรวจสอบชัดเจน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน จะมีทั้งมาตรการส่งเสริมทั้งด้านการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษ องค์ความรู้ มาตรฐานต่าง ๆ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มงวดขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ส่วนมาตรการระยะสั้น ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินหน้ามาตรการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้มีการดำเนินงาน อาทิ เดินหน้าสนับสนุนแก้ปัญหาการเผาอ้อย มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ ให้ตัดอ้อยสด ล่าสุด ครม.ได้อนุมัติช่วยค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ให้ชาวไร่อ้อย 1.4 แสนราย เริ่มจ่ายประมาณเดือนม.ค. 67 และต่อไปอยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรการออกระเบียบรับซื้ออ้อยไฟไหม้ให้เข้มงวดมากขึ้น ขณะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เช่น ออกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 เตรียมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 วันที่ 1 ม.ค. 67 เพื่อควบคุมสารมลพิษจากรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล, ออกมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศ มอก.60335 เล่ม 2 (65)-2564 3. และมาตรฐานหน้ากากอนามัย รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณามาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เข้มงวดกรณีตรวจพบโรงงานปล่อยเกินมาตรฐาน จะถูกออกคำสั่งหยุดปรับปรุงแก้ไข และส่งดำเนินการทางกฎหมายต่อไป รวมทั้งได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล และได้ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล รวมทั้งตรวจด้านฝุ่นละอองโรงงานเข้มข้นที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“ได้ให้กรอ.นำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศ เลือกจุดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการให้มากขึ้น และต่อเนื่อง และที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจากการตรวจวัดนี้จะถูกส่งมาแสดงผลผ่านระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกลบนเว็บไซต์ของ กรอ. และบนมือถือแอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามผลการควบคุมการระบายมลพิษอากาศของโรงงานได้ตลอดเวลา” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้เข้มงวดตรวจสอบและเฝ้าระวังการประกอบการเหมืองแร่ โรงแต่ง แร่และโรงประกอบโลหกรรม ให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆอย่างถูกต้องและปลอดภัยแล้ว ยังให้คำปรึกษา และแนะนำ เพื่อให้สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้การประกอบการสร้างความเดือดร้อนด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย

'รมว.ปุ้ย' ขานรับ Soft Power สั่ง สมอ. ออกประกาศมาตรฐานท่องเที่ยว 6 ด้าน ดันผู้ประกอบการฯ ช่วยกันกระตุ้นคุณภาพการให้บริการแก่ นทท.

(18 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ถือเป็น Soft Power ด้านหนึ่งของประเทศไทย โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว สะสมรวมกว่า 1.045 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 613,030 ล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 432,194 ล้านบาท ตนจึงเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานที่ตอบโจทย์และรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกที่เน้นคุณภาพ 

โดย สมอ. เตรียมประกาศมาตรฐาน Soft Power ด้านการท่องเที่ยว จำนวน 6 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติ, วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภายในเดือนธันวาคมนี้ หากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทาง จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการ และนำไปสู่การกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. เตรียมประกาศมาตรฐาน Soft Power ด้านการท่องเที่ยว จำนวน 6 เรื่อง ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการต่างๆ ภายในหน่วยงาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่ผู้ประกอบการนำไปใช้ได้โดยไม่ได้มีกฎหมายบังคับ ได้แก่...

1) มาตรฐานการเยี่ยมชมสถานที่ทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับผู้ให้บริการสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม โดยพนักงานและไกด์นำเที่ยวต้องมีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ สามารถจัดเตรียมข้อมูลในการท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีแผนรองรับเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 

2) มาตรฐานการดำเนินงานเกี่ยวกับชายหาด เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ดูแล ผู้ประกอบการริมชายหาด และผู้ใช้บริการ โดยต้องมีการสร้างอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยว มีการเตรียมการด้านสุขภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว มีการดูแลความสะอาดของชายหาด รวมถึงมีแผนรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น  

3) มาตรฐานโรงแรมย้อนยุค เป็นมาตรฐานสำหรับเจ้าของกิจการโรงแรม นำไปใช้เป็นแนวทางในการให้บริการนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรมย้อนยุค โดยเน้นที่ความเข้ากันของอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ และรูปแบบการให้บริการของโรงแรมที่ตรงตามยุคสมัยนั้นๆ 

4) มาตรฐานร้านอาหารแบบดั้งเดิม เป็นมาตรฐานการให้บริการด้านอาหารในรูปแบบดั้งเดิม ได้แก่ รูปลักษณ์ภายนอก การผสมผสานทางวัฒนธรรม และการให้บริการที่สอดคล้องกับรูปแบบของร้าน เช่น การจัดสถานที่ อุปกรณ์ การจัดโต๊ะอาหาร การออกแบบรายการอาหาร เป็นต้น รวมทั้งต้องมีการรักษาความสะอาดของอาหาร อุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความปลอดภัยด้วย 

5) มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นมาตรฐานการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการรักษาทางการแพทย์ สำหรับผู้อำนวยความสะดวกและผู้ให้บริการสามารถใช้เป็นแนวทางในการให้บริการอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามความคาดหวังของนักท่องเที่ยว โดยผู้ให้บริการต้องมีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ และมีความรู้ด้านการเดินทางและดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลาการรักษา เพื่อให้การบริการมีความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว 

6) มาตรฐานการบริการนักท่องเที่ยวเพื่อสาธารณะประโยชน์โดยหน่วยงานคุ้มครองพื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ เป็นมาตรฐานสำหรับอุทยานหรือหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยเน้นการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ และสร้างความพึงพอใจแก่นักท่องเที่ยว เป็นแนวทางในการจัดเตรียมกิจกรรม ข้อมูลและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างเหมาะสม และมีความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการจัดการขยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวอย่างถูกต้องด้วย ซึ่งมาตรฐานทั้ง 6 เรื่องนี้ จะประกาศใช้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ผู้ประกอบการสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย และเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกได้ต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ จัดเต็ม!! 4 ของขวัญ ‘หนุนผู้ประกอบการ-ประชาชน’ ‘เติมทุน-เพิ่มโอกาส-กระจายรายได้-สินค้าดีราคาพิเศษ’ รับปีใหม่

(20 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ทุกกระทรวงจัดเตรียมแผนงานและโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 ให้กับประชาชน เพื่อช่วยเหลือในการลดค่าครองชีพช่วงเทศกาลสำคัญ เพื่อส่งความสุขให้กับประชาชน และลดค่าใช้จ่าย เพิ่มกำลังซื้อสินค้า อีกทั้งยังส่งเสริมการขายและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินการรวบรวมโครงการ/กิจกรรม ที่สามารถให้การช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย...

1. ด้านสินค้าและบริการดี ราคาพิเศษ กระทรวงฯ ร่วมกับค่ายรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด จัดโปรโมชั่น สิทธิพิเศษ ลดค่าใช้จ่าย (แต่ละค่ายรถยนต์เป็นผู้กำหนด) ให้กับประชาชนที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เช่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ฟรีค่าติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้า ฟรีประกันชั้น 1 เป็นต้น ขณะเดียวกันยังลดราคาหนังสือ มอก. และมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) 75 % ของราคาปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567 เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนนำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ ไปใช้ได้อย่างถูกต้องทั่วถึงในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

2. ด้านเติมทุน เสริมสภาพคล่อง กระทรวงฯ ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมและลดค่าบริการ เช่น เตรียมการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี พ.ศ. 2567 ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และใบแทนใบอนุญาต มอก. ฉบับละ 3,000 บาท ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบรับรองหน่วยตรวจสอบและรับรอง (หน่วยตรวจ หน่วยรับรอง ห้องปฏิบัติการ) ฉบับละ 10,000 บาท และคำขอใบรับรอง ฉบับละ 1,000 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เช่น สินเชื่อพิเศษเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ดีพร้อม (DIPROM PAY) วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการที่ต้องการระยะเวลาการกู้ยาว (Loan for SMEs by Tenor) วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด ไม่เกิน 10 ปี สินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (DIPROM Pay for BCG) วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 7 ปี เป็นต้น

3. ด้านเพิ่มโอกาส เสริมแกร่งธุรกิจ กระทรวงฯ ได้ให้คำปรึกษาแนะนำ/บริการด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งออกแบบตราสินค้า ฉลากสินค้าและต้นแบบบรรจุภัณฑ์ ฟรี แกะกล่องของขวัญ เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ฟรี ได้แก่ Workshop พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Tech Academy) Workshop นำเสนอเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย พร้อมสาธิตและทดลองใช้งาน หลักสูตรอบรม พัฒนาองค์ความรู้ด้าน Low Cost Automation และการผลิตแบบ Toyota และ Workshop พัฒนาบุคลากรไปสู่นักนวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมฝึกอบรมสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานระบบการบริหารจัดการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จำนวน 10 รุ่น เช่น หลักสูตรระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร และระบบการจัดการสุขลักษณะที่ดีในสถานประกอบการ (GHPs/HACCP version 2022) เป็นต้น

4. ด้านกระจายรายได้สู่ชุมชนรอบอุตสาหกรรม กระทรวงฯ ได้เร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา จัดหาเครื่องสางใบอ้อยมาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมใช้ แจกอ้อยพันธุ์ดี และดำเนินโครงการเหมืองแร่ปลอดภัยห่วงใยประชาชนปี 7 ซึ่งจะจัดกิจกรรมตรวจสุขภาพของประชาชน โดยรอบสถานประกอบการเหมืองแร่ จัดนิทรรศการให้ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ และต่อยอดจากการทำเหมือง มอบทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียน ให้แก่ชุมชนรอบเหมือง มอบเครื่องอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์ทางการแพทย์

"กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการและประชาชนให้สามารถดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และก้าวเข้าสู่ปี 2567 ด้วยความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยโครงการของขวัญปีใหม่ 4 ด้าน และโครงการต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตลอดทั้งปีจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแท้จริง และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย

'รมว.ปุ้ย' กำชับทุกนิคมฯ 'ควบคุม-ติดตาม' ฝุ่น PM 2.5 วอน!! ต้อง 'จริงจัง-ต่อเนื่อง' เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับควบคุม/ติดตามตรวจสอบฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง-จริงจัง เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม อยู่เคียงคู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

(21 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการเพิ่มสำหรับ การลดฝุ่น PM 2.5 ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนนั้น ที่ผ่านมา กนอ. มีการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อควบคุมติดตามตรวจสอบ ในการลด PM 2.5 ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง คือ...

1.กำหนดค่ามาตรฐานของการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบ Loading โดยคำนึงถึงความสามารถหรือรูปแบบในการรองรับมลพิษทางอากาศ ตามประกาศ กนอ. ที่ 79/2549 เรื่อง กำหนดอัตราการปล่อยมลสารทางอากาศจากปล่องของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และนำค่า Emission Loading ที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของนิคมอุตสาหกรรมใช้ในการอนุมัติจัดตั้งโรงงานในอนาคต ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมายังคงเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด 

2.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อการป้องกัน แก้ไข และลดปัญหาฝุ่นละอองรวม และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และ 3.กำหนดให้มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตามวิธีการตรวจวัดที่เป็นไปตามหลักวิชาการในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. กำกับดูแล จำนวน 14 แห่ง และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม โดยผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตั้งแต่ปี 2563-2565 นั้น มีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน

"กนอ. ยังคงมุ่งมั่นในการควบคุม ดูแล และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนและครอบคลุมทุกด้าน มั่นใจว่าสามารถช่วยให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถประกอบกิจการควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน" นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 (19 ธ.ค.66) พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาพรวมนั้นปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบพื้นที่เกินค่ามาตรฐานหลายแห่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 สูง และควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคอื่นๆ พบว่า ภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ภาคกลางและตะวันตก อยู่ในเกณฑ์ดี และ ภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์ดี

‘รมว.ปุ้ย’ ชม!! ‘กองพิสูจน์หลักฐานกลาง’ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำงานแบบมืออาชีพ-น่าเชื่อถือ จนได้รับการรับรองมาตรฐานสากล

(25 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ต่ออายุการรับรองระบบงานหน่วยตรวจ ตามมาตรฐาน มอก.17020 - 2556 (ISO/IEC 17020 : 2012) ให้แก่ กลุ่มงานตรวจสอบลายนิ้วมือแฝง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานสำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบ ว่ามีความเป็นกลาง มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีจรรยาบรรณ และมีความน่าเชื่อถือของขั้นตอนและวิธีการตรวจ รวมถึงความเหมาะสมของเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าการให้บริการงานตรวจ อยู่บนหลักวิชาการ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

โดยเฉพาะงานตรวจพิสูจน์หลักฐานในคดีต่าง ๆ ที่ต้องใช้กระบวนการด้านวิทยาศาสตร์และหลักนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งการตรวจสถานที่เกิดเหตุ การตรวจลายนิ้วมือ รวมทั้งตรวจสอบวัตถุพยาน เพื่อประกอบการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรม จะต้องมีความเป็นมืออาชีพ และได้รับการยอมรับ

“การต่ออายุการรับรองระบบงานให้แก่ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในครั้งนี้ ถือเป็นการยืนยันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีกระบวนการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานสากลระดับโลก สามารถสร้างความเชื่อมั่น ในกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น และเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก เพราะ สมอ. เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองระบบงานหน่วยตรวจตามมาตรฐานสากล ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองระบบงาน (The Asia Pacific Accreditation Cooperation : APAC) และองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation : ILAC) จึงทำให้กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยอมรับในระดับสากลด้วยเช่นกัน” รมต.พิมพ์ภัทรา กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “สมอ. ได้ต่ออายุใบรับรองระบบงานหน่วยตรวจ ตามมาตรฐาน มอก.17020 - 2556 (ISO/IEC 17020 : 2012) ให้แก่ กลุ่มงานตรวจสอบลายนิ้วมือแฝง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีก 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2571 โดยมีขอบข่ายในการรับรอง ดังนี้ 

1) การตรวจพิสูจน์จุดลักษณะสำคัญพิเศษของลายนิ้วมือ ฝ่ามือ และฝ่าเท้าแฝง 
2) การตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ และฝ่าเท้าแฝง เพื่อยืนยันตัวบุคคล 
3) การตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือแฝง และลายพิมพ์นิ้วมือกับฐานข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติของกองทะเบียนประวัติอาชญากร 

โดยการต่ออายุครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ครั้งแรกได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ซึ่งรวมระยะเวลากว่า 10 ปี ที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ยังคงรักษาคุณภาพและการตรวจพิสูจน์อย่างมีระบบตามมาตรฐานสากลไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งภายหลังจากที่ได้รับการรับรองระบบงานแล้ว จะทำให้ผลการตรวจสอบจากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล ลดความแคลงใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะคดีความที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น กรณีคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ หรือกรณีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีคนต่างชาติเกี่ยวข้องด้วย เป็นต้น” นายวันชัยฯ กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ กำชับคุมเข้มมาตรการความปลอดภัยหยุดยาวปีใหม่ ‘กนอ.’ รับลูก!! ย้ำ '68 นิคมฯ - 1 ท่าเรือฯ’ เฝ้าระวัง 24 ชม.

(25 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความห่วงใยในความปลอดภัยและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2567 ตามประกาศของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 1 มกราคม 2567 จึงสั่งการให้ กนอ.กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด ให้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเวลาดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กนอ.จึงขอความร่วมมือไปยังนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม ให้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรง (Highly Hazardous Chemicals) หรือมีปริมาณครอบครองของเหลวไวไฟหรือก๊าซไวไฟตามปริมาณที่กำหนด ตามระบบ ‘การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management : PSM)’ เพื่อป้องกัน ควบคุม และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ

“ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ผมจึงกำชับให้ทุกนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม มอบหมายให้พนักงานปฏิบัติงานนอกเวลาทำการในช่วงวันหยุดยาวตลอด 24 ชั่วโมง กำหนดมาตรการกำกับดูแล เฝ้าระวังต่างๆ และหากเกิดกรณีฉุกเฉินให้รีบประสานงานกับศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ศสป.) กนอ. สำนักงานใหญ่ รวมถึงต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กนอ.ในเรื่องของการรายงานข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุ และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรายงานเหตุการณ์ให้ผู้อำนวยการสำนักนิคมฯ / ท่าเรือฯ ทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อประเมินระดับความรุนแรงและผลกระทบได้อย่างทันท่วงที” นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ กนอ. ยังขอความร่วมมือจากผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม ให้จัดเตรียมบุคลากร อุปกรณ์ / เครื่องมือ ระบบสาธารณูปโภค การบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ / อุบัติภัยด้วย รวมถึงช่องทางประสานขอความช่วยเหลือจากผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม หรือผู้ดูแลระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม และหน่วยงานภายนอก อาทิ หน่วยงานป้องกันสาธารณภัย หน่วยงานท้องถิ่น และปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาภัยระดับนิคมอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ต้องสร้างความตระหนักกับผู้ประกอบการในการให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังอุบัติเหตุและอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงนั้น ให้ปฏิบัติตามกฎหมายโรงงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย พร้อมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรมทุกแห่งปฏิบัติการตามคำสั่ง กนอ. ที่ 285/2565 เรื่อง การรายงานข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม โดยสามารถประสานแจ้ง ศสป. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม ต้องเตรียมพร้อมรองรับกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุเพลิงไหม้ และต้องสามารถติดต่อสื่อสารประสานงานได้ตลอดเวลาด้วย
“ปัจจุบันอยู่ในช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศอาจจะแห้งแล้ง และยิ่งเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง มีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน กนอ. จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอัคคีภัยและอุบัติเหตุอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทุกท่าน” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย

'รมว.ปุ้ย' เผย!! โอนเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดีเข้าบัญชีวันนี้วันแรก  ภายใต้ความร่วมมือ 'ก.คลัง-ก.พาณิชย์-ก.อุตสาหกรรม'

(26 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินสนับสนุน 125,139 ราย ปริมาณอ้อยสดคุณภาพดี 64.53 ล้านตัน เป็นเงิน 7,743.859 ล้านบาท โดยรัฐบาลเริ่มโอนเงินวันนี้เป็นวันแรก ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

"ในวันนี้มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับเงิน 105,411 ราย เป็นเงิน 6,918.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 84% ของเกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับเงิน เกษตรกรที่ได้รับเงินสนับสนุนจะสามารถเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี รวมทั้งนำเงินไปปรับปรุงพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการเผาอ้อย ในอนาคตเราจะนำเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีมาบริหารจัดการในไร่อ้อย ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การเพาะปลูก การบำรุง และการเก็บเกี่ยว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธาน Kick off โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา ว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 7,990.60 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะดูแลและสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความสุขกับของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลได้มอบให้

‘รมว.ปุ้ย’ ส่ง ‘ดีพร้อม’ เร่งเดินหน้าผุดงานแฟร์ ปลุก ศก.ไทยทั่วประเทศ หลังงานแฟร์นครศรีฯ ตอบรับดี-คนแห่เที่ยวนับแสน รายได้สะพัดกว่า 340 ลบ.

(27 ธ.ค. 66) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ (DIPROM) เดินหน้าต่อเนื่อง จัดงานแฟร์ ปักหมุด 5 ภาค หวังกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ หลังกระแสตอบรับ ‘อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช-ชอป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด’ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนในพื้นที่เข้าชมงานตลอด 5 วัน อย่างล้นหลาม เผยยอดผู้เข้าชมงานกว่า 1 แสนคน โดยเฉพาะผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสนใจเข้ารับบริการโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ กว่า 5,600 คน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 340 ล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหน่วยงานหลักในการเดินหน้าจัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผนึกกำลังระดมสุดยอดผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง หน่วยงานพันธมิตรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าและบริการที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิด ‘การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้’ (Southern Industrial Fair) เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ จากการออกร้านของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 ร้านค้า

รวมถึงเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีและช่วยลดค่าครองชีพ ให้กับประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนช่วยพัฒนาพี่น้องประชาชนชาวใต้สู่การเป็นผู้ประกอบการ พร้อมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน อันจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย

สำหรับผลการจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช ที่ผ่านมา รวมจำนวน 5 วัน ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างดี โดยมียอดผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 1 แสนคน ยอดผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาเพิ่มองค์ความรู้ จำนวนกว่า 3,000 ราย ขณะที่ยอดขายภายในงาน ซึ่งเน้นการนำสินค้ามาทดสอบตลาดของผู้ประกอบการ ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพการประกอบการสู่ยุค ‘Now Normal’ มียอดการจำหน่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านบาท ยอดรับบริการขอสินเชื่อภายในงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 212 ล้านบาท

ยอดผู้ขอรับบริการคำปรึกษาแนะนำโครงการ/กิจกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2,520 ราย แบ่งเป็น โซนสุขสันต์วันทำธุรกิจ Happiness & Business จำนวน 600 ราย โซนดีพร้อมดิจิทัลสร้างฝันให้ธุรกิจเป็นจริง จำนวน 640 ราย โซน AGRO Solution จำนวน 260 ราย โซนสร้างสรรค์เติมฝันให้ดีพร้อม จำนวน 40 ราย โซนขยายธุรกิจด้วยสถาบันการเงิน จำนวน 15 ราย และยอดขอรับบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องฟรี จำนวนทั้งสิ้น 965 คัน

นอกจากนี้ ยังมีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ (Business Matching) จำนวน 60 คู่ ก่อให้เกิดมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาท โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้กว่า 340 ล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า “การจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ฯ ในครั้งนี้ ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ประกอบการ และพี่น้องประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างดี นอกจากเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยผลักดัน ฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในเชิงพื้นที่ให้เติบโตมากขึ้น รวมทั้งสอดรับกับ 6 นโยบายสำคัญเพื่อการพัฒนา และยกระดับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย”

“ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากจะเดินหน้ายกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยแนวทางการผลักดันอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้เศรษฐกิจ และสังคมยุคใหม่ รวมทั้งการพัฒนาชุมชน โดยบริบทของอุตสาหกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้วางแผนเดินหน้าจัดงานแฟร์ในพื้นที่ 5 ภาค ทั่วประเทศ เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาคึกคัก โดยจะดึงเอาจุดเด่นและศักยภาพของแต่ละพื้นที่มาเป็นแนวคิดของการจัดงานแฟร์ในแต่ละภาค อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี และคาดว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top