Saturday, 18 May 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ โชว์ 3 ผลงานเด่น ‘โรงงาน-กระตุ้นศก.ใต้-ขับเคลื่อนอุตฯ อีวี’ ด้าน 'บิ๊กโปรเจกต์' ช่วยชาวไร่อ้อย หนุนอุตฯ น้ำตาลทรายเป็นรูปธรรม

'รมว.พิมพ์ภัทรา' โชว์ผลงาน 90 วัน ผ่านการดำเนินงานขับเคลื่อน 3 แกนหลัก ย้ำการบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด พัฒนาระบบการรายงาน ด้านสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยมลพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม แร่โพแทช ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(16 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 7 กันยายน 2566 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 3 เดือนที่สามารถทำได้ทันที เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้ มวลรวมของประเทศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม โดยแบ่งการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เน้นบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงพัฒนาระบบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ) จัดงาน 'อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช' เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ภายใต้แนวคิด 'ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด'

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ สมอ. ยังเร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกำหนดมาตรฐาน EV แล้วเสร็จ จำนวน 150 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษเป็น EURO 5 และ EURO 6

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทช 3 โครงการ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ภายใน 3 ปี โครงการเหมืองแร่โพแทชจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร นอกจากนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทชยังจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566 โดยมีราคาเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 1,197.53 บาทต่อตัน กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยมีราคาที่ 1,420 บาทต่อตัน และแจกพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปปลูกและขยายพันธุ์ จำนวน 900,000 ต้น

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มุ่งเน้นดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจตาม Mega Trend ของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้น สศอ. ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 5 สาขา เพื่อเป็น New Growth Engine ในการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สศอ. ยังได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลและคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม นอกจากนี้ กนอ. ยังได้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ในอนาคต ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมรวม 68 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีพื้นที่รวม 190,150 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมรวม 4,862 โรง มูลค่า การลงทุนรวม 10.84 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 984,723 ราย

“ในช่วง 90 วัน ของการทำหน้าที่ ดิฉัน ได้กำกับดูแลให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม มุ่งเน้น การบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ ส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) เร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมแร่โพแทช รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด สร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ เร่ง!! สมอ. ประกาศสินค้าควบคุม 46 รายการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน-คุ้มครองความปลอดภัย ปชช.

(17 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. กำหนดมาตรฐานเพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

โดยในปีนี้ สมอ. ได้ขออนุมัติบอร์ดกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ไว้ทั้งสิ้นจำนวน 600 เรื่อง แบ่งเป็นมาตรฐานกำหนดใหม่ 443 เรื่อง และมาตรฐานเดิมที่ต้องทบทวนอีกจำนวน 157 เรื่อง ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve 105 เรื่อง เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ กลุ่ม New S-curve 120 เรื่อง เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ฯลฯ กลุ่มมาตรฐานตามนโยบาย 32 เรื่อง เช่น นวัตกรรม สมุนไพร ฯลฯ กลุ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ 163 เรื่อง เช่น หลอดรังสีอัลตราไวโอเลตใช้สำหรับการทำผิวสีแทน สายไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ฯลฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 23 เรื่อง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งในจำนวน 600 เรื่องนี้ เตรียมประกาศเป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชนจำนวน 46 เรื่อง เพิ่มเติมจากที่ สมอ. ประกาศไปแล้ว 144 เรื่อง 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าที่จะประกาศเป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567 นี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 46 เรื่อง แบ่งเป็นมาตรฐานบังคับใหม่ 25 เรื่อง เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การชนด้านข้างและด้านหน้าของรถยนต์ ตู้กดน้ำดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติมปรอท คาร์ซีทสำหรับเด็ก ดวงโคมไฟฟ้า ชิ้นส่วนท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ รถยนต์ขนาดเล็กที่ติดตั้งระบบก๊าซเพิ่มเติม ลวดชุบแข็งและอบคืนตัวสำหรับคอนกรีต
อัดแรง เหล็กแผ่นเคลือบอะลูซิงค์ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม ถังดับเพลิงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร และกระดาษสัมผัสอาหาร เป็นต้น และมาตรฐานที่บังคับต่อเนื่องอีก 21 เรื่อง เช่น เหล็กแผ่นสำหรับงานโครงสร้าง เข็มพืด เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการดูแลผม ขน หรือผิว เครื่องทอดน้ำมันท่วมปริมาณน้ำมันไม่เกิน 5 ลิตร กระทะทอด เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่โน๊ตบุ๊ค สวิตช์ไฟฟ้า เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย และเคเบิลเส้นใยนำแสงโทรคมนาคมภายนอกอาคาร เป็นต้น 

โดยในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ สมอ. จะประกาศให้เหล็กแผ่นเคลือบอะลูซิงค์ และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีเป็นสินค้าควบคุมก่อน ตามด้วยสินค้าที่เหลือตามลำดับ จึงขอฝากถึงผู้ประกอบการที่ทำ และนำเข้าสินค้าดังกล่าว เตรียมยื่นขอ มอก. เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เลขาธิการ สมอ. 

‘รมว.ปุ้ย’ เสียใจ เหตุระเบิดโรงงานพลุ จ.สุพรรณบุรี ลั่น!! แม้ไม่ใช่โรงงาน แต่ก็สั่งดูแลความปลอดภัยรอบด้าน

(18 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์ระเบิดสถานประกอบการผลิตพลุ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 

และได้สั่งกำชับหน่วยงานในสังกัด อก. ในการป้องกันการเกิดเหตุอุบัติภัยและอัคคีภัยจากสถานประกอบการและเหมืองแร่ อก. ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบกิจการรายนี้มีใบอนุญาตเกี่ยวกับดอกไม้เพลิง ซึ่งเป็นการออกให้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยสถานประกอบการดังกล่าวมีเป็นการผลิต ประกอบประทัดลูกบอลไล่นก ชนวนดำใช้กับพลุ โดยวัตถุดิบที่ใช้ประกอบ ได้แก่ ถ่านดินปืน ซึ่งบด ผสม มาจากที่อื่น และมีโพแทสเซียมคลอเรต (POTASSIUM CHLORATE) ที่เป็นสารประกอบหลัก ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในการควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มีคนงานในการประกอบกิจการทั้งหมด ประมาณ 30 คน ไม่มีเครื่องจักรในการประกอบกิจการ จึงไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการเป็นโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

“แม้การประกอบกิจการดังกล่าว จะไม่เป็นโรงงานตามกฎหมายโรงงาน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานบูรณาการกับหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุม และไม่ให้เกิดเรื่องทำนองนี้อีก โดยกระทรวงฯ จะเข้าไปมีส่วนในการกำหนดเงื่อนไขการประกอบกิจการ เพื่อกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรม ทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเหมาะสมต่อไป” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด อก. แจ้งเตือนและกำชับทุกสถานประกอบกิจการและเหมืองแร่ให้ระมัดระวังการประกอบกิจการในทุกขั้นตอน รวมถึงบริเวณที่มีการผลิต การจัดเก็บวัตถุดิบ สารเคมีและผลิตภัณฑ์ ต้องไม่มีแหล่งกำเนิดประกายไฟ หรืออยู่ใกล้กับเชื้อเพลิงและสารไวไฟทุกชนิด รวมถึงกำชับพนักงานให้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน และปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานอย่างปลอดภัยและเคร่งครัด ก่อให้เกิดประกายไฟขึ้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสถานประกอบกิจการ ตลอดจนประชาชนในบริเวณใกล้เคียง และ อก. ได้จัดทำข้อปฏิบัติฯ และคู่มือความปลอดภัยด้านต่าง ๆ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) http://www.diw.go.th 

‘ก.พ.ร.’ แจง!! ข้อมูล ‘แร่ลิเทียม’ ในไทย เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ชี้!! ไทยไม่ใช่อันดับ 3 ของโลก แต่มีความสมบูรณ์กว่าหลายๆ แห่ง

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 67 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ก.พ.ร.) ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่ กรมฯได้เผยแพร่ข่าวว่ามีการพบแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน และสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 25 จะนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคันนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงว่า คำว่า ‘Mineral Resource’ มีความหมายถึง ‘ปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่’ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า ‘Lithium Resource’ ซึ่งหมายถึง ‘ปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม’

ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า ประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ เป็น ‘แร่เลพิโดไลต์’ (lepidolite) ที่พบใน ‘หินเพกมาไทต์’ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียม หรือเกรดลิเทียมออกไซด์ เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติม หากมีการสำรวจในอนาคต

ปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จ.ราชบุรี และ จ.ยะลา

โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป

นอกจากนี้ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ชี้แจงว่า ตัวเลข 14.8 ล้านตัน เป็นปริมาณของหินเพกมาไทต์ ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่เฉลี่ย 0.45% เมื่อถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาแล้ว จะได้ลิเทียมประมาณ 6-7 หมื่นตัน

เปรียบเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา โมเดล S หนึ่งคัน ใช้ลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเทียมไป 62,600 ตัน

ปริมาณลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ เท่ากับ 6.66 หมื่นตัน ซึ่งหากนำมาเทียบกับข้อมูลแหล่งลิเทียมของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พบว่า ไทยยังห่างไกลจากประเทศ Top 10 เป็นอย่างมาก โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ โบลิเวีย 21 ล้านตัน, อาร์เจนตินา 20 ล้านตัน, ชิลี 11 ล้านตัน, ออสเตรเลีย 7.9 ล้านตัน และ จีน 6.8 ล้านตัน

‘รมว.ปุ้ย’ ล็อกเป้า!! ผลักดันหลากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่ชุมพร ยกระดับสู่ ‘อุตฯ ชุมชน’ ไม่ต้องใหญ่ถึงขั้นโรงงาน แต่มั่นคง ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘สมุนไพรไทยที่ชุมพร คุณค่าทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในชุมชน’ ระบุว่า…

“วันนี้ปุ้ยจะเล่าให้ฟังเรื่องสมุนไพรไทยค่ะ ปุ้ยอยากให้สมุนไพรไทยเป็นประกายหนึ่ง ที่สามารถต่อยอดทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในชุมชน หลายชุมชนในประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องนี้ค่ะ ที่จะสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ และแน่นอนค่ะ กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริม สนับสนุน”

นี่เป็นสิ่งที่ รมว.พิมพ์ภัทรา กำลังเตรียมการหลังจากได้เดินทางไปชุมพร เพื่อร่วมในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร ‘การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่อยู่ในโครงการ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน ในการจัดการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า หนึ่งในแนวนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมหลัก คือ การส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และที่สำคัญคือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง สามารถพัฒนาสร้างรายได้จากต้นทุนในชุมชนทั้งทุนวัฒนธรรม วัตถุดิบในท้องถิ่นอาศัย พยายามเน้นการผนวกวิชาการด้านอุตสาหกรรมเข้ากับวิถีชุมชน เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างรายได้ 

“คำว่า ‘อุตสาหกรรม’ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องโรงงานใหญ่ๆ เครื่องจักรใหญ่โตเสมอไป”

รมว.ปุ้ย กล่าวต่อ “มาที่เรื่องสมุนไพร ที่ชุมพร หลักสูตร ‘การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ เทคนิค วิธีการต่างๆ สร้างความเชื่อมโยงที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจในชุมชน จากทรัพยากรสมุนไพรในท้องถิ่นในชุมชนที่เป็นจุดแข็ง ไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ… ที่ปุ้ยเห็นมีตะไคร้, ขมิ้น, ไพลหอม สมุนไพรเครื่องหอมต่างๆ อีกสารพัดที่มีคุณสมบัติดีต่อสุขภาพทั้งผิวพรรณ น้ำมันหอมระเหย…

“สมุนไพรเหล่านี้สามารถนำไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพ และสามารถโยงไปสร้างโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มกับการท่องเที่ยวในชุมชน อันนี้น่าสนใจมาก พี่องอีกหลายชุมชนมีของดีสมุนไพรดีๆ ในท้องถิ่น ลองร่วมกันคิดร่วมกันทำค่ะ สร้างความร่วมมือในชุมชน ปุ้ยจะนำกรมกองต่างๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ไปร่วมสร้าง ร่วมส่งเสริมองค์ความรู้สร้างเศรษฐกิจในชุมชนด้วยกันนะคะ”

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งทีมตรวจเข้มมาตรการป้องกัน ‘อัคคีภัย-อุบัติเหตุ’ ในโรงงาน ด้าน ‘ปลัดฯ ณัฐพล’ รับลูก ‘สำรวจ-ตรวจตรา’ ทุกโรงงานเสี่ยงอัคคีภัย

(21 ม.ค. 67) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเหตุอัคคีภัยและอุบัติเหตุจากการประกอบกิจการในช่วงฤดูแล้ง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุอุบัติภัยและอัคคีภัยจากการประกอบกิจการและเหมืองแร่ ว่า...

ตนได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินการแจ้งเตือนสถานประกอบการและเหมืองแร่ในพื้นที่ให้ระมัดระวังการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง เช่น โรงงานแป้งมัน, โรงงานสิ่งทอ-ปั่นด้าย-ทอผ้า, โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า, โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้, โรงงานผลิตกระดาษ, โรงงานประกอบกิจการสี-ทินเนอร์, โรงงานทำพลุและดอกไม้เพลิง, โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือประเภทอื่นๆ และขอให้ทุกหน่วยแนะนำและเผยแพร่ข้อปฏิบัติฯ คู่มือด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่กระทรวงฯ ได้จัดทำไว้ให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันอัคคีภัยและอุบัติเหตุจากการประกอบกิจการ เช่น การตรวจสอบ บำรุงรักษา หรือสับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรตามระยะเวลาที่กำหนด การให้ความรู้ด้านมาตรการป้องกันอัคคีภัย และอุบัติเหตุแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ

“มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มอบหมายและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทุกปี หรือในพื้นที่ที่เกิดขึ้นซ้ำตามกฎหมายโรงงาน โดยให้รวบรวมและศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน ซึ่งสอดรับกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเป็นห่วงและเสียใจต่อเหตุการณ์พลุระเบิดในจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีผู้เสียชีวิต 23 ราย และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม สำรวจการจัดตั้งโรงงาน ระบบความปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ดูแลสภาพแวดล้อมต่างๆ และกระทรวงแรงงาน ให้ช่วยเหลือเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต และขอให้ทุกฝ่ายตรวจสอบโรงงานประเภทที่มีวัตถุอันตรายทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์กรณีเดียวกันเกิดขึ้นอีก” ปลัดฯ ณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยแนะนำและเผยแพร่ข้อปฏิบัติฯ คู่มือด้านความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยสามารถดาวน์โหลดข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของ กรอ. : www.diw.go.th

'รมว.ปุ้ย' ลงพื้นที่ จว.ใต้ ฝั่งอันดามัน ปักหมุดจังหวัดแรก 'ชุมพร' 'เยี่ยมชม-ให้กำลังใจ-รับฟังปัญหา' กลุ่มผู้ประกอบการ

'รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา' นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ปักหมุดจังหวัดแรก 'ชุมพร' เยี่ยมชมและให้กำลังใจ พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ จาก 2 ผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ ผลักดันสู่เป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งด้านผลิตภาพ ดูแลสิ่งแวดล้อม ใส่ใจชุมชน รวมทั้งพัฒนาอาชีพ กระจายรายได้ให้กับชุมชน

(22 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปตรวจราชการ และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

โดยในวันนี้ (22 ม.ค. 67) ได้นำคณะตรวจเยี่ยมผู้ประกอบกิจการโรงงานในจังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดแรก เพื่อเยี่ยมชมและให้กำลังใจพร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ จากการประกอบกิจการ รวมทั้งข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในด้านการเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง

โดยการลงพื้นที่จังหวัดชุมพรครั้งนี้ จุดแรกได้ไปตรวจเยี่ยม บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) จังหวัดชุมพร ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ ประกอบกิจการสกัดน้ำมันปาล์ม กลั่นและแยกไข บรรจุน้ำมันพืช ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และผลิตปุ๋ยจากตะกอนน้ำเสีย โดยบริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มตาม Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) และมาตรฐาน ISO 9001:2015, GHPs, HACCP, HALAL และ KOSHER 

ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจรอย่างยั่งยืน ตามแนวนโยบาย MIND อุตสาหกรรมวิถีใหม่ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบการอื่น ๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มมูลค่า by product จากการสกัดและแยกไขสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล (Oleochemical) สนับสนุนเงินทุนหรือขยายเวลาเรื่องการติดตั้งระบบ CEMs และระบบดักฝุ่น (ESP) ของหม้อน้ำ

จากนั้นได้เดินทางไปยังจุดที่ 2 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง โดยวิสาหกิจชุมชนฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานสาธารณสุข อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และได้เข้าร่วมโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (OPOAI -C) ประจำปีงบประมาณ 2566 ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกอมกาแฟ มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 23,600 บาทต่อปี ซึ่งในปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะเข้าไปให้การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนฯ ในด้านต่าง ๆ อาทิ พัฒนากระบวนการผลิต เช่น การปรับปรุงอาคารล้าง การขยายขนาดเครื่องอบร้อน เป็นต้น หรือการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่งเสริมการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ลูกอมกาแฟ และส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

"ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ถือได้ว่าเป็นสถานประกอบการที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับการยอมรับและการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดได้เป็นอย่างดี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนตามการร้องขอของผู้ประกอบการ เพื่อให้การพัฒนาธุรกิจมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าไว้ คือ การเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันในส่วนของปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ได้ร้องขอมานั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วยังถูกมองว่าเป็นขยะ ผู้ประกอบการขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียน และระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการในพื้นที่ยังไม่เพียงพอนั้น ดิฉันขอรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการให้เรียบร้อย และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ หรือเกิดการสะดุดในระหว่างประกอบกิจการได้" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ทั้งนี้ จังหวัดชุมพร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP : Gross Provincial Product) 130,074 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 22 ของประเทศ และลำดับ 4 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรายได้ GPP (GPP Per Capital) ต่อคนมูลค่า 259,853 บาทต่อคนต่อปี อยู่ในลำดับที่ 11 ของประเทศ และลำดับที่ 1 ของภาคใต้ โดยมีภาคธุรกิจหลัก ๆ คือ อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว ร้อยละ 35.64 มูลค่า 46,362 ล้านบาท  ภาคการเกษตรกรรม ร้อยละ 56.75 มูลค่า 73,812 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 7.61 มูลค่า 9,899 ล้านบาท และมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ยางพารา มะพร้าว และกาแฟ เป็นต้น

"จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหลายด้าน ซึ่งหากมีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเหมาะสม จะช่วยให้จังหวัดชุมพรสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

'รมว.ปุ้ย' กร้าว!! ผลักดัน 3 อุตสาหกรรมแชมป์เปี้ยน ปลุก ศก.ไทย ภายใต้ ‘กติกาโลก-เทรนด์ผู้บริโภค’

(24 ม.ค. 67) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถา ‘เปิดโฉมอุตสาหกรรม ในมุมมอง รมต. NEW GEN ในงานสัมมนา Thailand 2024: The Great Challenges’ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้สอดรับกับกติกาโลกและเทรนด์ของผู้บริโภคโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยวางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเป็นแชมป์เปี้ยนหรือ CHAMPION INDUSTRIES เบื้องต้นหลัก ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมฮาลาล และจะมีการมองในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ตามมาเป็นลำดับ

ทั้งนี้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีโอกาสมากสุดคือ EV ที่รัฐบาลได้เริ่มสนับสนุนจากมาตรการ 3.0 จนขณะนี้สู่ 3.5 โดยไม่ใช่มองแค่ดึงดูดลงทุนแต่มองทั้งระบบการตั้งฐานผลิต แบตเตอรี่ มองครบวงจร แม้แต่การนำไปรีไซเคิลที่ยังมองไปถึงการก้าวไปสู่การเป็นฐานนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ด้วยนอกเหนือจากเป้าหมายที่ไทยวางไว้ว่าจะเป็นฐานผลิตรถ EV และ รถยนต์สันดาปภายในหรือ ICE ในภูมิภาค

นอกจากนี้โอกาสอีกอย่างคืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ผู้ผลิตในไทยขณะนี้ได้มีการผลิตยุทโธปกรต่าง ๆ เช่น รถถัง เรือรบ ปืน อาวุธ นี่เป็นอีกประเภทหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งส่งเสริม ที่จะเป็นแชมป์เปี้ยน อินดัสเตรียล แต่ยอมรับว่าหลายอย่างยังเป็นอุปสรรคที่ต้องหารือกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่นการนำเข้าเรือมาทั้งลำ และชิ้นส่วนมาประกอบภาษีฯ ก็ต่างกันทำให้คนผลิตในประเทศสู้นำเข้าทั้งลำไม่ได้ จึงต้องทำอย่างไรให้ผู้ผลิตในไทยมีโอกาสแข่งขันได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมสนับสนุนและลดอุปสรรค

อีกกลุ่มหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมวางไว้คืออุตสาหกรรมฮาลาล ที่เห็นโอกาสจากการที่ตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ไทยส่งออกเพียง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีคิดเป็นเพียงแค่ 2.7% ของตลาดโลก ขณะที่ศักยภาพของทรัพยากรของไทยยังมีโอกาสสูง ดังนั้นมติครม.เมื่อพ.ย.66 กระทรวงฯ จึงเสนอตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล โดยจะรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงต่าง ๆ ตั้งที่สถาบันอาหารเพื่อการขับเคลื่อน โดยเตรียมเสนอครม.ให้เห็นรูปร่างของกรมฮาลาลในรายละเอียดอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นสร้างเชื่อความมั่นให้ผู้ซื้อเนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม ทำอย่างไรให้รับรองมาตรฐาน ให้สอดรับก็นำมาตรฐานผู้ซื้อแม้ว่าเราจะมีเครื่องหมายฮาลาลแล้วก็ตาม ซึ่งเชื่อมั่นว่าระยะ 1-2 ปีจากนี้อุตสาหกรรมฮาลาลจะมีการเติบโต 1-2 เท่าตัวจากปัจจุบันแน่นอน

“กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ทำหน้าที่วิเคราะห์ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยเพื่อส่งสัญญาณในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ที่จะเข้ามาเสริมช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยกลุ่มที่จำเป็นต้องเร่งสนับสนุนคืออุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่อุตสาหกรรมเดิมที่เริ่มมีปัญหาที่ต้องยกเครื่องเช่น สิ่งทอ เหล็ก ฯลฯ ได้มีการแยกประเภทและส่งสัญญาณเพื่อเตือนรวมถึงการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ รวมไปถึงอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่จะมาช่วยเสริมบางกิจการที่เป็นขนาดเล็ก ๆ อีกมากเช่นกัน” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว

อย่างไรก็ตามการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA ที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมก็จะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างแต้มต่อให้ภาคการส่งออกของไทยซึ่งการที่ได้เดินทางไปซาอุดีอาระเบียก็ยังไม่มีทั้งที่ตลาดใหญ่เป็นโอกาสของประเทศทั้งด้านสาธารณสุข การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ปศุสัตว์ ฯลฯ รวมไปถึงการปรับตัวรับกับกติกาใหม่ ๆ โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งล่าสุดกระทรวงพลังงานได้มีนโยบายในเรื่องของ Green Energy ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็จะต้องขับเคลื่อนไปสู่ Green Industries เพื่อต่อสู้ต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่เราต้องช่วยผู้ประกอบการให้ทันยุค ทันเหตุการณ์ เช่นเดียวกัน

'นักวิชาการอิสระ' รับ!! กระทรวงอุตฯ คอยสกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เข้ม 'มาตรฐานอุตสาหกรรม' ก่อนคนไทยหลงซื้อของห่วย-ใช้แล้วไฟไหม้บ้าน

(24 ม.ค.67) นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

ขณะที่รัฐบาลกำลังตีข่าวเรื่องการดึงนักลงทุนจีนเข้ามาภายในประเทศโดยมีสิ่งล่อใจจากภาครัฐโน่นนี่นั่น ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลรู้หรือไม่ว่าข้อมูลทางการค้าในปีที่ผ่านมาเราขาดดุลการค้ากับจีนถึง 1.3 ล้านล้านบาท (แต่ผมคิดว่ามากกว่านั้น)

เพราะสิ่งที่พวกคุณกำลังทำอยู่นั่นคือการฆ่า SME ของไทยอย่างเลือดเย็น เราแข่งราคากับจีนไม่ได้หรอกครับ เขาต้นทุนต่ำกว่าจากการสนับสนุนของรัฐบาลจีน แต่ของเราเองได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้สู้ราคากับจีนได้ไหม ทั้งที่สินค้าไทยไม่มีค่าขนส่งมาไกลเหมือนจีน เอาแค่ผักสดของเรายังสู้ราคาผักสดจากจีนที่เข้ามาจากท่าเรือแม่น้ำโขงยังไม่ได้เลย ผลไม้บางอย่างที่เคยเป็นของแพงเพราะเราผลิตเองไม่ได้ ก็ราคาถูกลงจนกลายเป็นคู่แข่งของผลไม้ไทย เราเหลือแค่ทุเรียนอย่างเดียวที่จีนยังต้องเอามาจากไทยและเรายังได้ดุลอยู่ ส่วนลำไยที่เราเคยส่งออกจีนได้มากมายแต่วันนี้เราเสียตลาดไปเรียบร้อยหลายปีแล้ว

ผมไม่ได้เกลียดจีนหรอกนะครับ ผมเองก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน แต่นโยบายของรัฐบาลต้องปกป้องธุรกิจภายในประเทศของเราก่อนที่จะคิดถึงแต่ตัวเลขการลงทุนที่เข้ามาจากจีน สิ่งนี้ไม่ยั่งยืนหรอกครับ พอจีนมีที่อื่นลดต้นทุนได้หรือมีข้อเสนอทางภาษีมากกว่าไทย จีนก็พร้อมจะย้ายออกไปไม่ต่างกับตั๊กแตนย้ายไปไร่อื่นที่มีอาหารมากกว่า แต่ธุรกิจ SME ของไทยเราเองต้องอยู่ได้ไม่โดนจีนถล่มตลาดจนต้องปิดตัวลง

เอาง่ายๆ ดูที่รองเท้าเด็กนักเรียนว่านันยางเสียตลาดให้จีนไปเท่าไร ทั้งที่รองเท้าจีนคู่นั้นต้องเดินทางมาหลายพันกิโลเมตร แต่ทำไมเขาขายได้ถูกกว่าของภายในประเทศ พัดลมไฟฟ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของโรงงานภายในประเทศไทยที่มีใช้กันทุกบ้านก็โดนจีนบุกเข้ามาแย่งตลาด แม้กระทั่งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐก็ยังเปิดทางให้สินค้าจีนเข้ามาแข่งกับสินค้าผลิตในประเทศได้ ถ้าเป็นแบบนี้สักวันธุรกิจ SME ของเราก็อยู่ไม่ได้ ยังไม่รวมสินค้าคอนซูมเมอร์อื่นๆ ที่เรากำลังเสียตลาดให้จีนไปเรื่อยๆ สักวันโรงงานสบู่ผงซักฟอกบะหมี่สำเร็จรูปของบ้านเราอาจจะเจ๊งก็ได้ เพราะจีนที่เอาสบู่มาจากระยะทางหลายพันกิโลเมตรแต่กลับขายได้ถูกกว่า 

นั่นคือตัวอย่างที่ผมอยากจะยกขึ้นมาให้มอง อย่างน้อยหน่วยงานที่รัฐสามารถใช้เพื่อกีดกันการบุกของสินค้าจีนได้ก็คือ 'มาตรฐานอุตสาหกรรม' ถ้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มอก. ก็ไม่ต้องเอาเข้ามาขายให้ซื้อไปใช้แล้วไฟไหม้บ้านหรือใช้แล้วสามวันพัง สินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่างไม่ผ่าน อย.ก็ไม่ต้องยอมให้เข้ามาขาย ตอนนี้สินค้าที่ไม่แน่ใจว่ากินแล้วตายผ่อนส่งหรือใช้แล้วเป็นอันตรายระยะยาวจากจีนเกลื่อนตลาดไปหมด อย่างที่ผมยกตัวอย่างนั่นแหละครับว่าสักวันโรงงานสบู่ผงซักฟอกรองเท้าถุงเท้าของใช้ในครัวเรือนของไทยก็ยังอยู่ไม่ได้ถ้ายังปล่อยให้ SME ของไทยเราโดนสินค้าจีนถล่มราคากันขนาดนี้ 

เรื่องนี้ผมอยากให้ดูตัวอย่างของกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นตัวอย่าง สินค้าไม่ได้มาตรฐานก็ห้ามเอาเข้ามาขาย กำแพงตัวนี้สามารถทำให้สินค้าจีนราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐานไม่สามารถเข้าไปถล่มตลาดด้วยราคาที่ถูกกว่าของภายในประเทศของพวกเขาได้ อย่างที่ผมบอกไว้ก่อนหน้านี้ SME ของไทยโดนกฎหมายบังคับต้องผลิตสินค้าที่ผ่านมาตรฐาน มอก. หรือมาตรฐาน อย. แต่ต้องขายแข่งราคากับสินค้าจีนที่คุณภาพต่ำที่ไร้มาตรฐานอะไรทั้งนั้น แต่สามารถวางขายบนชั้นวางสินค้าเดียวกันได้ แล้ว SME ของเราจะอยู่รอดได้อีกสักกี่ปี 

ยังไม่รวมสินค้าที่ขายกันบนออนไลน์ที่นำเข้าซอยเป็นล็อตเล็กๆ ราคาต่ำกว่าหมื่นบาทที่เลี่ยงการเสียภาษี แต่นำเข้าหลายสิบหลายร้อยล็อตโดยมีบริษัทโลจิสติกส์ของจีนเข้ามาดำเนินการให้สินค้าพวกนี้เข้ามาได้สะดวกขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมวงเล็บไว้ข้างบนว่าน่าจะขาดดุลเกินกว่าตัวเลขทางการนั้นมาก

แหกตาดูความจริงกันบ้าง อย่าเอาแต่มุมมองสวยๆ แต่ไร้สมองทางภูมิศาสตร์การเมือง หรืออยากได้แต่ข่าวที่ออกมาแล้วดูเท่ๆ บนหน้าสื่อ 

คนที่หย่อนบัตรส่วนใหญ่เขาไม่ได้ตั้งใจเลือกพรรคของคุณเข้ามาเป็นรัฐบาลหรอกครับ คุณคือเสียงส่วนน้อยที่โชคดีเท่านั้นเอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top